Tuesday, 22 April 2025
เมืองย่าโม

‘โคราช’ ชู ‘กางเกงแมว’ ซอฟต์พาวเวอร์น้องใหม่ หวังช่วยสร้างอาชีพ - ส่งเสริมการท่องเที่ยวในท้องถิ่น

เมื่อวานนี้ (20 พ.ย. 66) เพจ ‘Korat Next Step’ โพสต์ข้อความในหัวข้อ #กางเกงแมวโคราช โคราชผุดไอเทมใหม่ 'กางเกงแมว' ชูเป็นซอฟต์พาวเวอร์ใหม่ โชว์อัตลักษณ์โคราชเเละส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยระบุว่า…

หลังจากโคราชจัดประกวดออกแบบ KORAT MONOGRAM (โคราช โมโนแกรม) เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2566 ที่ลานกิจกรรมชั้น 1 ศูนย์การค้า ‘เซ็นทรัลโคราช’ เพื่อนำผลงานออกแบบที่ชนะเลิศ เพื่อนำไปต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ ที่มีสัญลักษณ์เมืองโคราช เพื่อสร้างการจดจำให้กับนักท่องเที่ยว ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์และบริการด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

ล่าสุดในงาน ‘มามูย่าโคราช’ ที่ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี จัดระหว่างวันที่ 16-26 พฤศจิกายน 2566 เทศกาลและการท่องเที่ยวสายมู พบกับตลาดวัฒนธรรม สินค้าชุมชนท้องถิ่น อาหารพื้นบ้านจากท้องถิ่น และกิจกรรมการเเสดงศิลปะวัฒนธรรมจากเยาวชนและศิลปินโคราชมากมาย ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์สินค้าท้องถิ่นโดยใช้ลาย ‘โคราช โมโนแกรม’ ที่ชนะเลิศประกวดมาพิมพ์ลงบนเสื้อ หมวก กระเป๋า ถุง และไฮไลต์ ‘กางเกงแมว’ คล้าย ‘กางเกงช้าง’ ที่กำลังนิยมของไทย

นายไพจิตร มานะศิลป์ กรรมการหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า “หลังจากทางหอการค้าฯ ร่วมกับจังหวัด ได้จัดกิจกรรมการประกวด KORAT MONOGRAM (โคราช โมโนแกรม) เป้าหมายของกิจกรรมเพื่อต้องการพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเศรษฐกิจ ด้านการท่องเที่ยว และด้านการกีฬา โดยเฉพาะในเรื่องของการนำเรื่องราวประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต วัฒนธรรม และอัตลักษณ์พื้นถิ่นของชาวโคราช สื่อผ่านลวดลายโมโนแกรมที่มีเอกลักษณ์”

“เนื่องจากการสร้างลวดลายโคราช หรือ KORAT Monogram เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของเมืองโคราช และความเป็นโคราชอย่างชัดเจน ให้เป็นที่จดจำว่าลาย Monogram นี้ เป็นรูปแบบลวดลายที่เป็นของคนโคราชอย่างแท้จริง เป็นจังหวัดแรกของประเทศที่ริเริ่มให้มีลายประจำจังหวัด”

นายไพจิตร กล่าวอีกว่า “ซึ่ง ‘กางเกงแมว’ เหมือน ‘กางเกงช้าง’ ถ้านักท่องเที่ยวมาโคราชก็ต้องซื้อ ‘กางเกงแมว’ เป็นซอฟต์พาวเวอร์โคราช โดยจะขอพื้นที่ข้างลานย่าโมกับเทศบาลเพื่อตั้งบูธขายประจำตลอดไปด้วย เพื่อให้คนที่มาไหว้ย่าโมได้มาซื้อของที่ระลึกจากบูธอีกด้วยไม่ใช่มาสักการะย่าโมอย่างเดียว โดยเฉพาะสินค้าทุกชิ้นเราสั่งทำในโคราชทั้งหมด ต่อไปก็จะเอาลายนี้ไปให้ชาวบ้านทอเป็นผ้าลายต่อยอด ส่งเสริมอาชีพให้ชาวบ้านอีกด้วย ถ้าฮิตชาวบ้านก็ทอขายเองได้เลย ๆ เป็นลิขสิทธิ์ของจังหวัด ซึ่งต้องมาคุยรายละเอียดอีกครั้ง”

“และที่ฮือฮาเมื่อวันที่ 18-19 พ.ย.ที่ผ่านมา ทีมหอการค้าโคราชได้ใส่ ‘กางเกงแมว’ ไปร่วมงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ที่กรุงเทพฯ ถูกชาวหอการค้าที่มาร่วมงานถามถึงที่มา แถมสั่งซื้อ 100 กว่าตัวส่วนที่โคราชไปซื้อได้ในงาน ‘มามูย่า’ ถึงวันอาทิตย์ที่ 26 พฤศจิกายนนี้ที่ลานย่าโม” นายไพจิตร กล่าวทิ้งท้าย

‘ญี่ปุ่น’ ซื้อกล้วยหอมทองเมืองย่าโม 5 พันตัน กว่า 100 ลบ. หลังได้ชิมแล้วติดใจ เพราะ ‘ผลใหญ่ หวาน หอม อร่อย’

เมื่อวันที่ 28 พ.ย.66 ที่ผ่านมาที่ห้องประชุมลำตะคอง โรงแรมแคนทารี่ จังหวัดนครราชสีมา นางสาวณัฐิยา สุจินดา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ พร้อมด้วย นายสยาม สิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา, นายฉันทพันธ์ ปัญจมานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว, MRS.PIMJAI MATSUMOTO กรรมการผู้จัดการ บ.พีแอนด์เอฟ เทดโน จำกัด ผู้นำเข้าญี่ปุ่น และนายสมศักดิ์ แสงรัมย์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกล้วยหอมตำบลสุขไพบูลย์ หัวหน้าส่วนราชการ พาณิชย์จังหวัดนครราชสีมา-จ.ขอนแก่น หอการค้าฯ ภาครัฐ ภาคเอกชน พี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอมทอง อ.เสิงสางฯ ร่วมพิธี

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ได้ทำพิธีเซ็นสัญญาซื้อกล้วยหอมทองระหว่างคณะตัวแทนผู้ซื้อจากประเทศญี่ปุ่นกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกล้วยหอม ต.สุขไพบูลย์ อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา โดยมีการเซ็นสัญญาซื้อปริมาณ 5,000 ตัน มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท เป็นการช่วยขยายช่องทางในการจำหน่ายกล้วยหอมทองให้กับเกษตรกรในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกล้วยหอมตำบลสุขไพบูลย์ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่จะได้นำผลผลิตกล้วยหอมในพื้นที่ส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ

นางสาวณัฐิยา สุจินดา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า พิธีเซ็นสัญญาในครั้งนี้ เกิดขึ้นตามการผลักดันภายใต้นโยบายกระทรวงพาณิชย์ โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ และขยายโอกาสให้กับกลุ่มเกษตรกร โดยใช้การทำงานเชิงรุก และบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างพาณิชย์จังหวัด และทูตพาณิชย์ รวมทั้งให้เร่งใช้ประโยขน์จากผลของการเจรจา FTA ที่มีอยู่ มาใช้ในการผลักดันให้มีปริมาณการส่งออกของสินค้าไทยสู่ตลาดโลกได้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

โดยประเทศไทยเองก็ได้รับสิทธิประโยชน์จาก กรอบความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น JTEPA ซึ่งยกเว้นภาษีให้กล้วยจากประเทศไทยถึง 8,000 ตันอยู่แล้ว และที่ผ่านมาเราเองก็ยังใช้ประโยชน์ได้ไม่ถึงครึ่งของโควต้า จึงเป็นโอกาสอันดีในการเร่งผลักดันเชิงรุกผ่านช่องทางดังกล่าวนี้ จนสามารถสร้างผลลัพธ์เร่งด่วน Quick win ภายใน 100 วัน ด้วยยอดขายได้ถึง 100 ล้านบาทได้สำเร็จ

สำหรับที่มาของการเซ็นสัญญาสั่งซื้อกล้วย จำนวน 5,000 ตัน ของผู้ซื้อชาวญี่ปุ่นในครั้งนี้ นายฉันทพัทธ์ ปัญจมานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว กล่าวว่า หลังจากที่ได้จับมือทำงานบูรณาการร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครราชสีมาเพื่อมุ่งขยายตลาดกล้วยไทยในประเทศญี่ปุ่นแล้ว ตนก็ได้นำผู้เชี่ยวชาญด้านกล้วยชาวญี่ปุ่นลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เพื่อพัฒนาเทคนิคการปลูกให้กล้วยในพื้นที่มีคุณภาพ และปริมาณตามความต้องการของตลาดญี่ปุ่นโดยทันที

นอกจากนี้กล้วยหอมของไทยนั้น เป็นพันธุ์กล้วยหอมทอง ซึ่งนอกจากรสชาติอร่อยแล้ว ในปัจจุบันไทยยังเป็นแหล่งผลิตที่ยังคงเหลืออยู่แห่งเดียวในโลก ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นหนึ่งในจุดขายในการทำการตลาดได้เป็นอย่างดี และเมื่อได้พาคณะผู้ซื้อชาวญี่ปุ่นไปเยี่ยมชม และลองชิมผลผลิตกล้วยหอมทองนั้น ต่างก็ได้รับความพอใจอย่างมาก จนตกลงทำสัญญาซื้อขายในทันที

นายสมศักดิ์ แสงรัมย์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกล้วยหอมตำบลสุขไพบูลย์ กล่าวว่า ตนในฐานะประธานกลุ่มฯ รู้สึกดีใจและภูมิใจที่กล้วยหอมทองจากอำเภอเสิงสาง ได้ส่งไปขายยังต่างประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกที่กล้วยหอมในพื้นที่ถูกนำไปขายยังต่างประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ผลผลิตกล้วยหอมของกลุ่มฯ นั้น จำหน่ายเฉพาะภายในประเทศ โดยตนเชื่อมั่นว่ากล้วยหอมจากอำเภอเสิงสางนั้นจะถูกใจคนญี่ปุ่นอย่างแน่นอน เนื่องจากผลผลิตลูกใหญ่ หวาน หอม อร่อย ซึ่งจากการเซ็นสัญญาซื้อกล้วยหอมจากตัวแทนประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มโอกาสให้กับเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น

ด้านนายสยาม สิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมานั้นเป็นแหล่งผลิตกล้วยหอมทองใหญ่ที่สุดในจังหวัดนครราชสีมา โดยมีพื้นที่เพาะปลูกกล้วยหอมทองมากถึง 1,350 ไร่ ให้ปริมาณผลผลิตถึง 8,100 ตันต่อปีและทางจังหวัดนครราชสีมาก็เตรียมส่งเสริมในด้านการขยายพื้นที่การผลิตกล้วยหอมทองในพื้นที่ แต่ขณะนี้ยังคงต้องมุ่งเน้นไปที่คุณภาพของกล้วยหอมทองให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่ผู้ซื้อจากประเทศญี่ปุ่นต้องการ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top