Thursday, 24 April 2025
เมืองกีฬา

จับตา ‘สงขลา’ ก้าวสู่เมืองกีฬาภูมิภาค โมเดลใหม่ถอดด้าม พัฒนาเศรษฐกิจเมือง

(11 ต.ค. 67) เวลา 19.30 น. ของวันนี้จะเป็นนัดแรกของการแข่งขันคิงส์คัพ ครั้งที่ 50 ที่จะจัดฟาดแข้งกันที่ ‘สนามติณสูลานนท์’ จังหวัดสงขลา 

เป็นครั้งแรกของการเปิดสงขลาเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันคิงส์คัพ ถือเป็นการซ้อมย่อย ๆ ก่อนที่ในปีหน้าจะรับอีกหนึ่งบทบาทคือการเป็นเจ้าภาพการแข่งขัน ‘ซีเกมส์’ ร่วมกับกรุงเทพมหานคร และเชียงใหม่ 

2 มหกรรมกีฬาที่ใช้สงขลาเป็นรังเหย้าติด ๆ กัน น่าจะทำให้เห็นเค้าโครงของการเป็นเมืองกีฬามากยิ่งขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้เมื่อพูดถึงเมืองกีฬาภาพแรกที่คิดถึงจะเป็น ‘บุรีรัมย์’

แต่การเป็นเมืองกีฬาของสงขลานั้นมีโมเดลเป็นของตัวเอง ไม่ใช่การลงทุนมหาศาล

ส่วนใหญ่ใช้การปรับปรุงสนามเดิม หรือพื้นที่เดิมให้มีมาตรฐานระดับสากล คล้ายกับกีฬาโอลิมปิกที่จัดที่ปารีส เพราะที่ผ่านมามีหลายบทเรียนให้เห็นว่าการลงทุนสร้างโครงสร้างมหาศาลสุดท้ายถูกทิ้งร้างอย่างน่าเสียดาย

แล้วเรื่องนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากขนาดไหน นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ในนามประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดการแข่งขันกีฬาฟุตบอล ชิงถ้วยพระราชทาน 'คิงส์คัพ' ครั้งที่ 50 ประจำปี 2567 กล่าวไว้ว่า

"จังหวัดสงขลามีความเชื่อมั่นว่า การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาฟุตบอล ชิงถ้วยพระราชทาน 'คิงส์คัพ' ครั้งที่ 50 ประจำปี 2567 ในครั้งนี้ จะเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้ต้นกล้าเด็ก เยาวชนสงขลามีแรงบันดาลใจในการเป็นนักกีฬาฟุตบอลอาชีพ ส่งเสริมและพัฒนากีฬาฟุตบอลในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง การจัดการแข่งขันกีฬาฟุตบอล ชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ สงขลาครั้งนี้ 

จะช่วยตอบโจทย์ด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ อันได้แก่ จังหวัดสงขลา นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สตูล พัทลุง และนครศรีธรรมราช โดยในช่วงการแข่งขันวันที่ 11 และ 14 ตุลาคม 2567 จังหวัดสงขลาคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย สิงคโปร์เดินทางเข้ามาท่องเที่ยว ในพื้นที่จังหวัดสงขลาหลายหมื่นคน จะสามารถกระตุ้นระบบเศรษฐกิจที่ซบเซาในพื้นที่ได้หลายร้อยล้านบาท และรายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้ว เจ้าภาพการแข่งขันจะมอบให้แก่กลุ่ม ชมรม สมาคมที่เกี่ยวข้องกับการกีฬาใน 16 อำเภอของจังหวัดสงขลา เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความสำเร็จ 'สงขลาเมืองกีฬา' ส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นระบบเศรษฐกิจในพื้นที่"

สุดท้ายที่อยากเห็นคือรัฐบาล และทุก ๆ ภาคส่วนต้องลงมาวางแผนชี้นำเศรษฐกิจที่ใช้กีฬานำ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของรัฐบาลที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรม MICE อย่างจริงจัง 

ย้อนตำนาน ‘สนามติณสูลานนท์’ จ.สงขลา สนามแห่งความประทับใจของคนไทยทั้งชาติ

(15 ต.ค. 67) ค่ำวานนี้คนไทยทุกคนคงมีความสุขใจไปกับผลการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน หรือ คิงส์คัพ ครั้งที่ 50 ที่ทีมชาติไทยสามารถคว้าถ้วยพระราชทานมาไว้ในมือได้ อีกทั้งตัวผู้เล่นที่เฮดโค้ชทีมชาติไทยจัดลงสนามต่างโชว์ความสามารถได้อย่างเต็มที่

อีกทั้งยังเชื่อมโยงเอา 2 ยุคสมัยที่แสดงสัญญะผ่าน ‘พลุ’ และ ‘โครน’ ที่แปรขบวนน้อมรำลึกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ยิ่งสร้างความอิ่มเอมใจให้กับคนไทยทั้งชาติอีกไม่น้อย ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นที่ ‘สนามติณสูลานนท์’ สนามที่สร้างความประทับใจทั้งหมดนี้

The States Times จะพาทุกท่านย้อนถึงตำนานของสนามติณสูลานนท์ สนามกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้

สนามกีฬาติณสูลานนท์ ตั้งอยู่ที่จังหวัดสงขลา มีความจุประมาณ 35,000 ที่นั่ง สร้างขึ้นเพื่อส่งเสริมกีฬาของจังหวัดและใช้จัดการแข่งขันกีฬาระดับชาติและนานาชาติ

สนามกีฬาติณสูลานนท์ถูกสร้างขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2530 ในสมัยที่ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งเป็นบุคคลที่ชาวสงขลาให้ความเคารพและนับถือ ได้ดำรงตำแหน่งเป็น นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย สนามกีฬานี้ถูกตั้งชื่อตามท่านเพื่อเป็นการให้เกียรติและระลึกถึงคุณูปการของท่านต่อจังหวัดสงขลาและประเทศไทย

นายนิพนธ์ บุญญามณี ในขณะดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาได้ขอรับการถ่ายโอนสนามกีฬาติณสูลานนท์จากการกีฬาแห่งประเทศไทย มาเป็นขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาและได้สานต่อการปรับปรุงและพัฒนาสนามกีฬาติณสูลานนท์อย่างเป็นรูปธรรมในช่วงที่ดำรงตำแหน่ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (อบจ.) โดยการปรับปรุงครั้งสำคัญเกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2558 เพื่อให้สนามกีฬาได้มาตรฐานและสามารถรองรับการแข่งขันระดับประเทศและนานาชาติได้อย่างเต็มที่

การปรับปรุงสนามกีฬาครั้งนี้ใช้งบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (อบจ.) และการสนับสนุนจากรัฐบาล โดยมีงบประมาณรวมในการพัฒนาสนามอยู่ที่ประมาณ 300 ล้านบาท ซึ่งครอบคลุมการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน, ที่นั่งผู้ชม, ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับการแข่งขันกีฬาในระดับสากล

ด้วยความมุ่งมั่นให้สนามกีฬาติณสูลานนท์เป็นสนามกีฬาที่มีมาตรฐานสากล พร้อมรองรับการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ เช่น การแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ, การแข่งขันฟุตบอลไทยลีก และกิจกรรมกีฬาอื่น ๆ ที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้จังหวัดสงขลากลายเป็นศูนย์กลางด้านกีฬาของภาคใต้

และค่ำวานนี้คือบทพิสูจน์ที่สำคัญครั้งหนึ่งของ ‘สนามติณสูลานนท์’


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top