Sunday, 20 April 2025
เมียวดี

กลุ่มต่อต้านรบ. เมียนมา ก่อเหตุคาร์บอมบ์ ย่านเศรษฐกิจในเมียวดี ใกล้ 'สะพานไทย-เมียนมา' 

24 เม.ย. 65 ที่ชายแดนไทย-เมียนมา จังหวัดเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง สหภาพเมียนมา ตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก ทางการเมียวดี สหภาพเมียนมา ได้เสริมกำลังทหาร เข้ามาประจำการในพื้นที่ย่านเศรษฐกิจในเมืองเมียวดี รวมทั้งเร่งให้หน่วยสืบสวนและหน่วยข่าวกรอง เร่งสืบสวน หาข่าวและติดตาม หากลุ่มคนร้ายที่ก่อเหตุระเบิดคาร์บอมบ์ ที่ได้ก่อเหตุรุนแรงเมื่อช่วงกลางดึกคืนที่ผ่านมา

รายงานข่าวแจ้งว่า ได้เกิดเหตุมีกลุ่มต่อต้านรัฐบาลเมียนมา ได้ก่อเหตุคาร์บอมบ์ ระเบิดแสวงเครื่อง บริเวณหน้าโรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดเมียวดี เชิงสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 1 ซึ่งนับเป็นการโจมตีที่ค่อนข้างรุนแรง ซึ่งเสียงระเบิดคาร์บอม ได้ดังสนั่นหวั่นไหวได้ยินชัดเจนถึงฝั่งไทยที่ อ.แม่สอด ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ ได้รับความเสียหายอย่างหนัก เนื่องจากบริเวณจุดเกิดเหตุ เป็นย่าน ธุรกิจ การค้า พาณิชย์ มีตึกแถว อาคารพาณิชย์ บ้านเรือนประชาชน รถยนต์ สิ่งของ เครื่องใช้ บริเวณดังกล่าว ฯลฯ ได้รับความเสียหายอย่างมาก เบื้องต้นทราบว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต

‘กลาโหม’ แจง เครื่องบินพาณิชย์ ‘เมียนมา’ ลงจอด แม่สอด จ.ตาก กองทัพดูแล ตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยไม่ยุ่งเกี่ยวทางการเมือง

(8 เม.ย.67) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าว ถึงกรณีเครื่องบินพาณิชย์เมียนมาลงจอดที่ประเทศไทย ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก  ว่า 

ประเด็นแรก ผู้ลี้ภัยจากสงครามเมียนมา ที่หลบหนีเข้ามาทางฝั่งไทย ทางด้านกองทัพภาคที่ 3 มีการเตรียมการ มาตั้งแต่ปี 2566 ที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์สู้รบฝั่งตรงข้ามอำเภอแม่สอด และอำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก มีการสู้รบในฝั่งเมียวดี ประเทศเมียนมา มาโดยตลอด ซึ่งตลอด 1 ปีที่ผ่านมา มีผู้ลี้ภัยเข้ามายังค่ายผู้อพยพ ที่อำเภอแม่สอด และอำเภอแม่สะเรียง และทางกองทัพ  ก็ได้ดูแลช่วยเหลือ และให้ความเป็นธรรม ตามหลักสิทธิมนุษยชน

ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ (7เม.ย.67) รัฐบาลของเมียนมาที่จังหวัดเมียวดี สูญเสียฐานที่มั่น กองทัพไทย จึงให้ทางรัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศ ได้เจรจากัน ในเรื่องของความช่วยเหลือ ทั้งการนำเครื่องบินพาณิชย์ มารับข้าราชการ และครอบครัว ที่อยู่ในจังหวัดเมียววดี ซึ่งจะเป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศ ที่จะต้องไปพูดคุยกับรัฐบาลของประเทศเพื่อนบ้าน

วิเคราะห์!! ไทยได้อะไร? เสียอะไร? หากกะเหรี่ยงประกาศเอกราชได้

ดูเหมือนสงครามกะเหรี่ยงที่รบกันมา 75 ปีจนถึงตอนนี้เหมือนจะทำให้ชาวกะเหรี่ยงมีความฝันมากที่สุด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสงครามข่าวสารที่ทางฟากฝั่งเมียนมายังเงียบกริบ ในขณะที่ฝ่ายต่อต้านออกข่าวมาตลอดทั้งภาษาพม่าและภาษาอังกฤษ

แต่เอาเป็นว่าวันนี้ 'เอย่า' จะมาวิเคราะห์ให้ดูดีกว่าว่าอะไรจะเกิดขึ้นหากกะเหรี่ยงประกาศเอกราชสำเร็จ

1. ด่านพรมแดนแม่สอดและด่านเจดีย์สามองค์ที่เคยเป็นพรมแดนการค้าในการส่งสินค้าจากไทยไปเมียนมาจะกลายเป็นด่านของกะเหรี่ยง และหากทางฝั่งเมียนมาไม่เปิดด่านแผ่นดินที่ติดพรมแดนในดินแดนกะเหรี่ยง ก็เท่ากับไม่สามารถส่งสินค้าผ่านด่านแผ่นดินไปยังผู้ซื้อในเมียนมาจาก 2 ด่านนี้ได้ อาจจะต้องส่งไปด่านอื่น ๆ หรือวิธีการอื่นแทน

2. ระบบการเงินการธนาคารล้มเหลว ผู้คนในเมียวดีจะไม่เหลือเงินมาจับจ่ายใช้สอย แม้ต่อให้รัฐบาลกะเหรี่ยงจะออกธนบัตรของตนเอง แต่หากไม่ได้รับการยอมรับในทางสากล ผู้คนฝั่งเมียวดีก็ไม่มีเงินมาแลกเงินบาทอยู่ดี อันจะก่อให้เกิดภาวะเงินสกุลกะเหรี่ยงเฟ้อเพราะต้องเอาไปแลกเงินกับร้านรับแลกที่ผิดกฎหมายและโก่งราคาเงินสกุลกะเหรี่ยงเพราะไม่มีเสถียรภาพ

3. ปัจจุบันสาธารณูปโภคอย่างไฟฟ้าที่ใช้ในเขตกะเหรี่ยงได้มา 2 ทางคือ โรงไฟฟ้าที่ได้ก๊าซมาปั่นจากฝั่งมอญและซื้อไฟจากไทย หากกะเหรี่ยงประกาศเอกราชจริง การหยุดจ่ายไฟจากไทยเกิดขึ้นได้ เพราะสัญญาจ่ายไฟเป็นสัญญาระหว่างไทยกับเมียนมาไม่ใช่ไทยกับกะเหรี่ยง ส่วนก๊าซที่ได้มาจากทางเมาะละแหม่ง ก็มีสิทธิ์ถูกปิดเช่นกัน

4. ภาวะข้าวยากหมากแพงในเขตกะเหรี่ยง เพราะของอุปโภคต่าง ๆ ที่ราคาไม่แพงได้มาจากผู้ผลิตที่อยู่ลึกเข้าไปในเมียนมา และอาจจะส่งออกไม่ได้ยกเว้นการส่งแบบผิดกฎหมายที่น่าจะมี ส่วนสินค้าจากฝั่งไทยที่เข้ามาเป็นไปได้ที่จะเข้ามาแบบกองทัพมด แต่ราคาก็จะสูงกว่าปกติ

5. ทางการไทยอาจจะปิดด่านพรมแดน เพราะการเปิดด่านพรมแดนเป็นการเจรจาระหว่างรัฐต่อรัฐหากกะเหรี่ยงยังไม่มีใครรับรองให้เป็นประเทศ ฝั่งไทยยย่อมมีสิทธิ์ปิดด่านพรมแดนได้

6. ฝั่งไทยจะทำการผลักดันผู้อพยพกลับภูมิลำเนาได้มากขึ้นและยกเลิกศูนย์พักพิงต่าง ๆ ที่เปิดมาตลอด 75 ปี

7. ฝั่งไทยน่าจะจัดการกับ NGO ที่แอบแฝงทั้งฟอกเงิน ค้าอาวุธและเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กะเหรี่ยงมาตลอด 75 ปี เพื่อที่จะคืนพื้นที่และความปลอดภัยให้ชาวแม่สอดได้ โดยการจัดระเบียบชาวกะเหรี่ยงและลูกหลานชาวกะเหรี่ยง ซึ่งเอย่ามั่นใจว่าทางฝ่ายความมั่นคงไทยและรัฐไทยมีข้อมูลเหล่านี้มาตลอด แต่ไม่กล้าทำอะไรเพราะเกรงใจประเทศมหาอำนาจ

8. รัฐไทยจะสามารถควบคุมจัดการเรื่องยาเสพติดที่ในอดีตถูกผลิตและนำส่งออกมาจากเขตกะเหรี่ยงโดยมีชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงเป็นผู้กระจายสินค้าดังข่าวที่เคยปรากฏในอดีตให้สิ้นซากได้ ด้วยการหารือกับรัฐบาลกะเหรี่ยงที่ต้องการแรงสนับสนุนจากไทย

9. ในแง่ลบหากรัฐบาลกะเหรี่ยงไม่สามารถตกลงกันได้ว่าใครจะเป็นผู้นำ สงครามภายในกะเหรี่ยงเองก็อาจจะเกิดขึ้นต่อเนื่องและลุกลามเป็นสงครามแย่งชิงอำนาจในชาติพันธุ์เดียวกันแทน แน่นอนฝั่งไทยก็จะได้รับผลกระทบยาวต่อไป

ชัยชนะที่เมียวดี เป็นก้าวเล็ก ๆ ที่ดูเหมือนจะสำคัญ แต่สำหรับฝั่งไทยแล้วการที่กองทัพพม่าเสียเมืองเมียวดี สร้างผลกระทบนับพันล้านบาท และสิ่งที่ตามมาคือ ค่าขนส่งที่แพงขึ้นอันส่งผลให้ต้นทุนสินค้าในเมียนมาสูงขึ้นด้วย  

สุดท้ายไม่ว่าผลจะเป็นเช่นใดทั้งหมดทั้งมวลไม่ได้ส่งกระทบแค่เฉพาะคนไทยหรือคนพม่า แต่ชาวกะเหรี่ยงเองนั่นแหละคือ ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง

'หน่วยความมั่นคง' ยัน!! มีเพียงการสู้รบรอบนอกเมียวดีห่างออกไป 1-40 กม. ยัน!! ไม่กระทบไทย และไม่มีสถานการณ์ใดน่ากังวลตามที่ปรากฏบนหน้าสื่อ

'หน่วยความมั่นคง' ยัน!! ไม่มีการสู้รบในเมืองเมียววดี มีเพียงรอบนอกที่ห่างออกไป 1-40 กม. ขอคนไทยอย่ากังวล เพราะไม่กระทบ เผย BGF ผันมาเป็น KNA ร่วมกับกะเหรี่ยง พร้อมประสาน รบ.ทหารเมียนมา เจรจาผลประโยชน์ลงตัว

(12 เม.ย. 67) แหล่งข่าวความมั่นคง กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวการโจมตี และเข้ายึดพื้นที่เมืองเมียวดีได้แล้ว ว่า จากการข่าวที่รายงานมา ยังไม่มีการสู้รบในตัวเมืองเมียวดี มีแต่การสู้รบล่าสุดคือ ที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ 10 เม.ย.67 บริเวณที่ตั้งของ พัน 275 ซึ่งอยู่ห่างจาก ตัวเมืองเมียวดีประมาณ 1 กม. ห่างจากอำเภอแม่สอด 5 กม. โดย พัน 275 มีทหารอยู่ประมาณ 140 นาย ขณะที่กองกำลังพันธมิตรกะเหรี่ยงเข้าตี ซึ่งประกอบไปด้วย KNLA, KNA (BGF), PDF, KTLA และในช่วงเย็นของวันที่ 10 ทางกองกำลังพันธมิตรกะเหรี่ยง ก็สามารถเข้ายึดค่ายได้โดยทางกองกำลังพันธมิตรกะเหรี่ยงได้เปิดทางให้ ทหารของ พัน 275 วางอาวุธและเดินทางออกจากค่าย ด้วยความปลอดภัย 

ส่วนการสู้รบวานนี้ (11) ที่บริเวณรอบ ๆ พัน 275 ทาง กองทัพอากาศเมียนมาได้นำเครื่องบินมาทิ้งระเบิด ทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณรอบ ๆ ที่ตั้งดังกล่าวพากันอพยพหนีการสู้รบจากบริเวณนั้นดังที่ปรากฏในข่าว 

โดยพิกัดดังกล่าวอยู่บริเวณ อ.กอการเร็ก ซึ่งห่างจากแม่สอดประมาณ 60 - 80 กม. ส่วนตามที่ปรากฏในข่าวสาร ว่ามีการเพิ่มเติมกำลังเข้ามาจาก พล ร.เบา 55 นั้น จริง ๆ แล้วการสู้รบในพื้นที่ดังกล่าว เป็นสู้รบที่เกิดขึ้นมานาน และต่อเนี่องมาหลายเดือน และผลจากการต่อสู้ดังกล่าว ไม่ได้ส่งผลกระทบใด ๆ กับชายแดนไทย เพราะการอพยพของประชาชนดังกล่าว จะอพยพไปยังเมือง ไปร่จง, นาบู และ ตามันยะ ที่ไทยเพิ่งส่งความช่วยเหลือเข้าไป เมื่อวันที่ 25 มี.ค.67 ที่ผ่านมา  

สำหรับประเด็นสำคัญ ที่หลายคนอาจจะไม่เข้าใจคือ เมืองเมียวดี เป็นเมืองที่ถือได้ว่าเป็นเส้นเลือดใหญ่ของประเทศเมียนมา ที่ผ่านมามี กองกำลัง BGF ซึ่งเป็นกองกำลังดูแลรักษาความสงบเมืองนี้ โดย BGF เป็นกองกำลังที่ได้รับผลประโยชน์จากประเทศเมียนมาในการดูและรักษาความสงบเรียบร้อยในเมืองเมียวดี 

ทว่า ปัจจุบัน BGF ได้ถอนตัวจากการอยู่ภายใต้รัฐบาลเมียนมา เมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา และเปลี่ยนเป็น กองกำลัง KNA เพื่อมาร่วมกับกะเหรี่ยงกลุ่มอื่นๆ แต่ถึงจะถอนตัวออกมาจากเมียนมาแล้ว ทาง KNA (BGF) ก็ยังสามารถติดต่อสื่อสารพูดคุยกับทางรัฐบาลของเมียนมาได้ 

นอกจากนี้ ทาง KNA (BGF) ยังปรากฏข่าวสารว่าเป็นผู้ที่เจรจา ให้ทหารพม่ากลุ่มต่าง ๆ ในเมียวดี วางอาวุธโดยไม่ต้องสู้รบ เพื่อที่จะได้ไม่สร้างความเสียหาย ให้กับเมืองเมียวดีและประชาชน โดยมีข่าวสารจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือได้ กล่าวว่า เริ่มมีการพูดคุยถึงการขับเคลื่อนเมืองเศรษฐกิจเมืองเมียวดี ให้กลับมาปกติ ดำเนินชีวิตอย่างเดิมกันต่อไป โดยทางรัฐบาลเมียนมา อาจจะให้ทางพันธมิตรกะเหรี่ยง เป็นผู้ดูแลบริหารจัดการสะพานมิตรภาพทั้ง 2 แห่ง โดยแบ่งปันสัดส่วนผลประโยชน์ให้เป็นที่พึงพอใจกันทุกฝ่าย สถานการณ์ในเมืองเมียวดี จึงยังไม่มีความน่าวิตกกังวลใด ๆ

"ที่ผ่านมาประชาชนส่วนใหญ่ก็เริ่มกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม ใครที่ออกจากบ้าน ไปด้วยความกังวลสถานการณ์สู้รบ ก็จะเริ่มเดินทางกลับเข้าไป โดยสรุปสถานการณ์ ในเมืองเมียวดี น่าจะกลับมาปกติในเร็ววัน ไม่มีสถานการณ์ใดที่น่ากังวลตามที่ปรากฏตามสื่อต่าง ๆ ในห้วงที่ผ่านมา" แหล่งข่าวความมั่นคง ระบุ

กลุ่มติดอาวุธ KNU ถอนกำลังออกจากเมียวดีชั่วคราว  หลังทหารฝ่ายรัฐกลับเข้าพื้นที่ และมีกองหนุนอาสาช่วย

(24 เม.ย.67) สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ได้ถอนกำลังออกจากเมืองเมียวดีชั่วคราว โฆษกของกลุ่มระบุ หลังจากทหารฝ่ายรัฐบาลได้กลับเข้าไปยังพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญที่เป็นช่องทางการค้าต่างประเทศมูลค่ากว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี

“กองกำลังทหารของ KNLA จะทำลายทหารฝ่ายรัฐและกองหนุนของพวกเขาที่เคลื่อนพลไปยังเมืองเมียวดี” ซอ ตอ นี โฆษกของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงกล่าว โดยอ้างถึงกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยงที่เป็นฝ่ายกองกำลังติดอาวุธของพวกเขา

แต่อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้ระบุว่าความเคลื่อนไหวครั้งต่อไปของกลุ่มคืออะไร

ทั้งนี้ การต่อสู้ปะทุขึ้นเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาในเมืองเมียวดี ที่ส่งผลให้พลเรือนมากถึง 3,000 คน ต้องอพยพหลบหนีภายในวันเดียว ในขณะที่กลุ่มติดอาวุธต่อสู้เพื่อขับไล่ทหารฝ่ายรัฐที่ซ่อนตัวอยู่บริเวณเชิงสะพานมิตรภาพ

อย่างไรก็ตาม ในวันพุธ (24 เม.ย.) ไทยกล่าวว่า การต่อสู้คลี่คลายลงแล้ว และหวังว่าจะสามารถเปิดจุดผ่านแดนได้อีกครั้ง หลังจากการค้าได้รับผลกระทบจากการสู้รบ โดยระบุว่า พลเรือนส่วนใหญ่เดินทางกลับประเทศแล้ว และยังเหลืออยู่เพียง 650 คน

“สถานการณ์ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่อย่างไรก็ตาม เรากำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งมีความไม่แน่นอนสูงและสามารถเปลี่ยนแปลงได้” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของไทยระบุ

ไทยได้รับรายงานว่าการเจรจาอาจกำลังเริ่มต้นขึ้นระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ในฝั่งพม่า และไทยได้เสนอให้ลาว ประธานสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) จัดการประชุมเพื่อหาข้อยุติวิกฤตพม่า

กองทัพพม่าเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เข้าควบคุมพม่าเป็นครั้งแรกในปี 2505 โดยติดอยู่กับความขัดแย้งในหลายแนวรบ และพยายามที่จะต่อสู้เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่พังลงนับตั้งแต่รัฐประหารในปี 2564 ที่ยุติการปกครองระบอบประชาธิปไตย และการปฏิรูปที่ดำเนินมาได้เพียงไม่นาน

ประเทศติดอยู่กับสงครามกลางเมืองระหว่างกองทัพฝ่ายหนึ่งและอีกฝ่ายหนึ่งคือพันธมิตรที่จับมือกันอย่างหลวม ๆ ของกองทัพชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์และขบวนการต่อต้านที่เกิดขึ้นจากการปราบปรามนองเลือดของรัฐบาลทหารต่อผู้เห็นต่างต่อต้านการรัฐประหาร

รัฐบาลทหารสูญเสียการควบคุมพื้นที่ชายแดนสำคัญให้กลุ่มติดอาวุธ และภาพถ่ายที่โพสต์ในกลุ่มโซเชียลมีเดียที่สนับสนุนรัฐบาลทหารบางกลุ่มเผยให้เห็นทหารจำนวนหนึ่งกำลังชูธงที่ฐานทหารแห่งหนึ่งซึ่ง KNU ควบคุมไว้เมื่อไม่กี่วันก่อนและได้ชูธงของตนเอง

ด้าน โฆษกของ KNU ระบุว่า รัฐบาลทหารที่ดำเนินการตอบโต้เพื่อยึดคืนเมืองเมียวดี ได้กลับเข้ามาในพื้นที่ด้วยความช่วยเหลือจากกองกำลังทหารอาสาในพื้นที่ ที่เคยเคียงข้าง KNU เมื่อครั้งเข้าปิดล้อมเมืองเมื่อต้นเดือน เม.ย.

รัฐบาลทหารและกองกำลังกะเหรี่ยงแห่งชาติ (KNA) ที่เคยเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดนรัฐกะเหรี่ยง (หรือกะเหรี่ยงบีจีเอฟ- Karen BGF) ไม่ตอบรับโทรศัพท์ที่รอยเตอร์ติดต่อเพื่อขอความคิดเห็น

KNA ที่ก่อนหน้านี้เป็นฝ่ายเดียวกับรัฐบาลทหาร ได้ยืนยันที่จะแยกตัวออกจากกองทัพพม่าที่อ่อนแอลงในปีนี้ แต่ไม่ได้ให้คำมั่นต่อสาธารณะว่าจะเข้าพวกกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหาร

อดีตกองกำลังพิทักษ์ชายแดนรัฐกะเหรี่ยงกลุ่มนี้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของ พ.อ.ซอ ชิด ตู่ และมีผลประโยชน์เชิงพาณิชย์อย่างมากในเมืองเมียวดีและพื้นที่โดยรอบ ที่รวมทั้งกาสิโน บ่อนการพนันออนไลน์ และแก๊งคอลเซ็นเตอร์

ท่าขี้เหล็กหันพึ่งไฟฟ้า สปป.ลาว เผยเตรียมต่อสายไฟไว้แล้ว

(5 ก.พ.68) เพจ Tachileik News Agency สื่อท้องถิ่นเมียนมารายงานว่า  หลังจากรัฐบาลไทยประกาศเตรียมตัดไฟที่ส่งไปยังเมืองท่าขี้เหล็กและเมียวดี ทางแผนกพลังงานไฟฟ้าของเมืองท่าขี้เหล็กได้เตรียมแผนสำรอง โดยจะใช้ไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ทดแทนในพื้นที่ดังกล่าว

เจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับระบบไฟฟ้าของเมืองท่าขี้เหล็กระบุว่า ทางคณะกรรมการได้วางแผนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินล่วงหน้าแล้ว โดยได้ดำเนินการสร้างสายส่งไฟฟ้าใหม่เพื่อให้สามารถรับไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ได้ทันทีหากไฟฟ้าจากไทยถูกตัดขาด

รัฐบาลไทยตัดสินใจระงับการจ่ายไฟฟ้าไปยังฝั่งเมียนมา รวมถึงเมืองท่าขี้เหล็กและเมียวดี โดยให้เหตุผลว่ามาตรการดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการดำเนินการปราบปรามการฟอกเงินของกลุ่มอาชญากรรมชาวจีนในพื้นที่ชายแดน การตัดไฟดังกล่าวมีผลตั้งแต่ช่วงค่ำของวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2025

นอกจากนี้ ทางการไทยยังมีคำสั่งระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตและการขนส่งเชื้อเพลิงไปยังพื้นที่ชายแดนเมียนมาด้วย ซึ่งเป็นมาตรการที่อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจและการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่

ผลจากการตัดไฟฟ้าของไทยส่งผลกระทบโดยตรงต่อเมืองท่าขี้เหล็ก เมืองต่าแล และเมืองขอบเขต ซึ่งเดิมพึ่งพาไฟฟ้าจากไทย แม้ว่าเมืองท่าขี้เหล็กจะสามารถใช้ไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ได้ แต่ปัญหาการขนส่งเชื้อเพลิงที่ถูกระงับอาจส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและการดำเนินชีวิตของประชาชนในระยะยาว

ในขณะนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่าผู้ประกอบการในพื้นที่จะสามารถปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวได้อย่างไร แต่คาดว่าการพึ่งพาพลังงานจาก สปป.ลาว จะเป็นแนวทางหลักในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

แก้ปัญหาคอลเซนเตอร์ไม่ตรงจุด เผย 2 วิธีปราบจากปากนายทหารประสบการณ์สูง

(5 ก.พ.68) ข่าวช่วงนี้คงไม่มีข่าวไหนดังเท่าข่าวตัดไฟเมืองสแกมเมอร์อีกแล้ว  แถมคนเชียร์ก็เชียร์อย่างสุดลิ่มทิ่มประตูด้วย เอาว่าวันนี้เอย่าจะมาเล่าให้ทุกคนได้ทราบกันดีกว่าว่าตัดไฟใครลำบาก และทางแก้ปัญหาที่แท้จริงที่เคยมีนายทหารแก่ๆท่านหนึ่งบอกเอย่าไว้ถึงวิธีจัดการเมืองสแกมเมอร์คือยังไง

ก่อนอื่นทุกคนต้องควรรู้ก่อนว่าเมียนมาซื้อไฟจากไทยใช้โดยส่วนใหญ่ผู้ใช้ไฟคือชาวบ้านตามชายแดนฝั่งเมียนมา  ดังนั้นหากตัดไฟกลุ่มที่ลำบากก่อนเลยคือชาวบ้านตามริมชายแดน  ส่วนคาสิโนนั้นมีบางส่วนดึงไฟที่มาจากไทยมาใช้แต่ฝั่งนั้นทุกคาสิโนมีเครื่องปั่นไฟขนาดใหญ่หลายเครื่องใช้ปั่นไฟในกรณีที่ไฟดับ  ดังนั้นต่อให้ไทยตัดไฟไปเมืองเขาก็ปั่นไฟใช้กันเองอยู่ดี

ประการต่อมาคือต้องเข้าใจว่าการที่เป็นศูนย์สแกมเมอร์ได้  เขาไม่ได้ใช้ไฟแค่ 220 โวลต์เหมือนบ้านเรือนประชาชนนะ  เพราะไหนจะต้องมีไฟเลี้ยงระบบ ตลอด เอาเป็นว่าหากใครเคยขุดบิทคอยน์จะเข้าใจเลย  ว่าใช้ไฟจำนวนมหาศาล  ดังนั้นกลุ่มสแกมเมอร์พวกนี้เลือกจะลักไฟจากไทยโดยการต่อสายไฟตรงข้ามประเทศไปยังฝั่งเมียนมาตามที่เอย่าเคยบอกไปแล้วในบทความก่อนหน้านี้

สุดท้ายรู้หรือไม่ว่าตอนนี้ในเมืองสแกมเมอร์เหล่านี้กำลังสร้างโรงไฟฟ้าเองโดยมี โรงไฟฟ้าผลิตจากแก๊ส 2 โรง โรงไฟฟ้าผลิตจากน้ำมัน 1 โรงและโรงไฟฟ้าถ่านหินอีก 1 โรง ไม่นับฟาร์มโซลาร์เซลล์​ที่ขึ้นเป็นดอกเห็ดในฝั่งเมียนมาหากโรงไฟฟ้าเหล่านี้สำเร็จ  เมืองสแกมเมอร์เหล่านี้ก็ไม่ต้องพึ่งพาไฟจากไทยอีกต่อไป  ดังนั้นถามว่าการตัดไฟยังใช่วิธีแก้ไขไหม..?

นายทหารแก่ท่านหนึ่งที่เอย่ารู้จักเคยเล่าให้เอย่าฟังว่าวิธีปราบกลุ่มสแกมเมอร์ให้ได้ผลชะงักมี 2 วิธีวิธีแรก  คือโมเดลแบบเมืองเล้าก์ก่าย ซึ่งสิ่งที่เอย่าจะเล่าของปฎิบัติการ 1027 นี้ อาจจะต่างไปจากสื่อื่นสักเล็กน้อยตรงที่ ตามที่ข้อมูลที่ท่านลุงทหารเล่ามานั้นปฎิบัติการ 1027 เป็นปฏิบัติการที่ใช้กองกำลังชนกลุ่มน้อย 3 กลุ่มภายใต้การสนับสนุนจากจีนและทางกองทัพเมียนมาก็ไฟเขียวให้เพราะไม่สามารถส่งกองทัพตนเองขึ้นไปจัดการได้ท  ดังนั้นสงครามที่เกิดขึ้นในเล้าก์ก่ายแท้จริงคือสงครามของกลุ่ม BGF ที่ให้การสนับสนุนกลุ่มจีนเทากับกองกำลัง 3 พี่น้องที่ได้รับการสนับสนุนทั้งอาวุธและเงินทุนจากจีนนั่นเอง คุณลุงกล่าวต่อว่า  ฝั่งไทยน่าจะไม่รับวิธีนี้เพราะใช้เงินทุนมหาศาล

วิธีที่ 2 คือการทำเป็นวาระระหว่างประเทศแล้วให้ไทยประสานกับรัฐบาลเมียนมาในการเข้าไปจัดการกับต้นเหตุของปัญหา

การแก้ปัญหาโดยการตัดไฟ หรือจับเสบียงที่จะขนของไปขายให้กลุ่มจีนเทารวมถึงจัดการกับข้าราชการท้องถิ่นที่รับส่วยคนกลุ่มนี้เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุตราบใดที่ไม่ถล่มรังก็ไม่มีวันยุติปัญหาได้และการแก้ปัญหาแบบปลายเหตุนั้นนอกจากจะกระทบคนเมียนมาทีาเป็นผู้บริสุทธิ์แล้วยังกระทบต่อการค้าชายแดนด้วย นั่นยิ่งทำให้กลุ่มไทยเทาฉวยโอกาสนี้ในการกอบโกยผลประโยชน์ตรงนี่ต่อไปอีก

อีกประเด็นที่น่าคิดคือการตัดไฟจะทำให้ประชาชนและได้รับผลกระทบเนื่องจากปริมาณไฟสำรองของชาติมีมากขึ้นกว่าช่วงที่ขายให้กับพม่า จึงจำเป็นให้ต้องมาคิดค่าไฟส่วนนี้ที่ไม่สามารถขายได้กับคนไทยโดยการขึ้นค่าเอฟพีหรือค่าส่วนต่างต่างๆสรุปแล้วการตัดไฟช่วยใครกันแน่ทำร้ายใครกันแน่

เมียนมาลุยสร้างโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ 11 แห่ง อัดกำลังผลิตทะลุ 1,026 เมกะวัตต์

(5 ก.พ.68) สื่อท้องถิ่นเมียนมารายงานว่าปัจจุบันเมียนมามีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ระหว่างก่อสร้างและพัฒนาทั้งหมด 11 โครงการ ซึ่งคิดเป็นกำลังการผลิตรวม 1,026 เมกะวัตต์ โดยรัฐบาลเมียนมากำลังเร่งรัดโครงการพลังงานหมุนเวียนเพื่อกระตุ้นการผลิตไฟฟ้าอันจะตอบสนองความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น

คณะกรรมาธิการพัฒนาไฟฟ้าและพลังงานของเมียนมาระบุว่า 4 โครงการอยู่ในเนปิดอว์ 3 โครงการอยู่ในภูมิภาคมัณฑะเลย์ 1 โครงการอยู่ในภูมิภาคพะโค และ 1 โครงการอยู่ในรัฐฉาน คิดเป็นกำลังการผลิต 530 เมกะวัตต์ ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าไฮบริด (เครื่องยนต์ก๊าซและพลังงานแสงอาทิตย์) ในภูมิภาคมัณฑะเลย์และภูมิภาคมาเกว มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 496 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ ตั้งเป้าหมายให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้าและพลังงาน เพื่อสนับสนุนการดำรงชีวิตประจำวันและการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยอาศัยความช่วยเหลือจากการลงทุนของท้องถิ่นและต่างประเทศ

รายงานเสริมว่าเมียนมาเดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ 28 แห่ง โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน 27 แห่ง และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 8 แห่ง ซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 6,371 เมกะวัตต์

สื่อนอกเผยไทยตัดไฟเมียนมา ชาวบ้านเดือดร้อน แต่ธุรกิจจีนเทายังลอยตัว

(5 ก.พ.68) สื่อต่างประเทศรายงานว่า ไทยได้ดำเนินการตัดไฟฟ้า อินเทอร์เน็ต และเชื้อเพลิงในพื้นที่ชายแดน 5 จุดของเมียนมา เพื่อกดดันแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่เป็นปัญหาด้านความมั่นคง แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกลับไม่สะท้อนถึงกลุ่มธุรกิจจีนเทา

รายงานจากรอยเตอร์ระบุว่า ไทยได้หยุดการส่งไฟฟ้าและอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ชายแดนของเมียนมาใน 5 จุด ได้แก่ เมืองพญาตองซู รัฐมอญ เมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน และเมืองเมียวดี ในรัฐกะเหรี่ยง โดยการตัดไฟฟ้านี้เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่เป็นอาชญากรรมข้ามชาติที่กำลังเติบโตขึ้น

รอยเตอร์ยังกล่าวถึง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การดำเนินการนี้มีจุดประสงค์ที่จะหยุดการสนับสนุนแก๊งมิจฉาชีพ และขณะนี้ไม่มีใครสามารถกล่าวหาว่าไทยมีส่วนสนับสนุนการกระทำที่ผิดกฎหมาย

ก่อนหน้านี้ในเดือนมกราคม สื่อของเมียนมาได้เผยแพร่ข้อมูลว่า เมียนมามีการพึ่งพาไฟฟ้าและอินเทอร์เน็ตจากประเทศอื่น ซึ่งอาจมีการกล่าวถึงไทยอย่างไม่เป็นทางการ

หลังจากที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคของไทยเริ่มตัดการจ่ายไฟฟ้าไปยัง 5 จุดที่กล่าวถึง ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการขาดไฟฟ้าในช่วงเช้าของวันที่ 5 กุมภาพันธ์ โดยชาวบ้านในเมืองพญาตองซูกล่าวว่ากับรอยเตอร์ว่า ธุรกิจของชาวจีนยังสามารถดำเนินการได้จากเครื่องปั่นไฟ ขณะที่ธุรกิจท้องถิ่นได้รับผลกระทบอย่างหนัก

“ในช่วงสองวันที่ผ่านมา เราเห็นเครื่องปั่นไฟขนาดใหญ่มาถึงเมือง และตอนนี้เครื่องปั่นไฟเหล่านั้นกำลังทำงาน ธุรกิจของพวกเขา รวมถึงฐานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ยังคงดำเนินการได้ แต่ธุรกิจของชาวบ้านท้องถิ่นต้องหยุดลง” ชาวบ้านในเมืองพญาตองซูรายหนึ่งกล่าว

จเรตำรวจแห่งชาติสั่งเพิกถอนวีซ่าชาวญี่ปุ่น 4 ราย ลักลอบข้ามแดนไปฝั่งเมียวดี พบมีหมายจับคดีอาญาและยาเสพติดของญี่ปุ่นหลายคดี  

เมื่อวานนี้ (7 ก.พ.68) พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (จตช./ผอ.ศตคม.ตร./ผอ.ศปอส.ตร.) เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการอย่างเข้มข้น ต่อเนื่อง ตาม 7 มาตรการเข้มข้น ของ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในการแก้ไขปัญหาคนต่างด้าวลักลอบหลบหนีเข้าเมือง ถูกหลอกลวง หรือประกอบธุรกิจผิดกฎหมาย และอาชญากรรมข้ามชาติ เน้นการสกัดการเคลื่อนย้ายข้ามแดนตามช่องทางธรรมชาติ ท่าข้ามแดนต่าง ๆ 

ล่าสุดพบมีกรณีนักท่องเที่ยวสัญชาติญี่ปุ่น จำนวน 4 ราย ที่เดินทางด้วยรถยนต์ตู้โดยสารเข้ามาในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก โดยเข้าพักที่โรงแรมแห่งหนึ่ง ถ.อินทรคีรี ต.แม่สอด เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2568 เวลา 19.17 น. ต่อมาสืบสวนทราบว่าได้เช็คเอาท์ออกจากโรงแรม เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 และมีรถแท็กซี่มารับคนต่างด้าวทั้ง 4 ราย จากโรงแรมดังกล่าว พาไปส่งถึงที่บริเวณตลาดริมเมย ข้างสะพานมิตรภาพไทย - เมียนมา แห่งที่ 1 เวลาประมาณ 12.00 น. และได้เดินดูของที่ตลาดริมเมยเหมือนนักท่องเที่ยวทั่วไปก่อนหายตัวไป โดยในวันเดียวกันนั้น เวลา 11.00 น. ได้มีนายไหน่ สัญชาติเมียนมา เดินทางโดยรถยนต์จากฝั่งเมียวดี ประเทศเมียนมา มายังประเทศไทย ผ่านสะพานมิตรภาพไทย - เมียนมา แห่งที่ 1 เพื่อมารับกระเป๋าของคนต่างด้าวทั้ง 4 ราย ที่โรงแรม และเดินทางกลับไปฝั่งประเทศเมียนมาโดยไม่ผ่านการตรวจศุลกากรประเทศไทย 

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้พิจารณามีความคาดว่านักท่องเที่ยวสัญชาติญี่ปุ่นจำนวน 4 รายดังกล่าว น่าจะลักลอบข้ามแดนไปฝั่งประเทศเมียนมาแล้ว และน่าจะเป็นกลุ่มขบวนการหลอกลวง แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ค้ามนุษย์ และอาชญากรรมข้ามชาติ ที่จะหลอกลวงคนญี่ปุ่น ประกอบกับประสานข้อมูลประวัติอาชญากรรมของคนต่างด้าวสัญชาติญี่ปุ่นทั้ง 4 ราย จากสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย พบว่ามีประวัติอาชญากรรมและมีหมายจับคดียาเสพติดของทางการญี่ปุ่นหลายคดี ทั้งนี้ คนต่างด้าวสัญชาติญี่ปุ่นทั้ง 4 ราย ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2568 โดยการอนุญาตยังไม่สิ้นสุด ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดตากพิจารณาแล้วเห็นว่าคนต่างด้าวสัญชาติญี่ปุ่นทั้ง 4 ราย มีพฤติการณ์ที่มีลักษณะเป็นบุคคคลต้องห้ามเข้ามาในราชอาณาจักร จึงเสนอเพิกถอนการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร 

พล.ต.อ.ธัชชัยฯ กล่าวว่า กรณีชาวญี่ปุ่นทั้ง 4 รายดังกล่าว พบว่าเป็นกลุ่มอาชญากรรมมีพฤติกรรมเป็นภัยต่อสังคม และมีแนวโน้มเป็นกลุ่มแก๊งที่เข้าร่วมขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ จึงสั่งเด็ดขาดเพิกถอนวีซ่าทั้ง 4 ราย และขึ้นแบล็คลิสต์ห้ามเข้าไทย ยืนยันว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติเดินหน้าเต็มกำลังปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ทั้งขบวนการ โดยดำเนินการทุกมาตรการอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่องอย่างไม่ลดละ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top