Monday, 21 April 2025
เมียนมา

นักวิชาการ จี้รัฐ!! เร่งแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าว ‘เมียนมา’ แย่ง!! อาชีพคนไทย-ตั้งธนาคารเอง-ตั้งตัวเป็นเจ้าของตลาด

เมื่อวานนี้ (13 ก.ย.67) นักวิชาการด้านเศรษฐกิจ และฝ่ายความมั่นคง เห็นตรงกันว่า ปัญหาแรงงานต่างด้าวเป็นภาระด้านงบประมาณของประเทศ โดยเฉพาะด้านสาธารณสุขและการศึกษา ซึ่ง สพฐ.ต้องให้เด็กต่างด้าวเรียนฟรีถึง 15 ปี อีกทั้งเข้ามาแย่งสารพัดอาชีพของไทย ผันตัวสู่เจ้าของธุรกิจ เดินรถสองแถว รับเหมาก่อสร้าง ปล่อยเช่าคอนโด ‘พล.ท.นันทเดช’ เผย ‘เมียนมา’ ล้ำเส้น ถึงขั้นตั้งธนาคาร มีกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านของตัวเอง ตั้งตัวเป็นเจ้าของตลาด แถมมี สส.บางพรรค อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหว ด้าน ‘รศ.ดร.อัทธ์’ แนะ เร่งจัดระเบียบ ขึ้นทะเบียน จัดทำฐานข้อมูล เพื่อง่ายต่อการควบคุมและจัดเก็บภาษี

กล่าวได้ว่าปัญหาแรงงานต่างด้าวกลายเป็นประเด็นร้อนต่อเนื่องมานานนับเดือน โดยเฉพาะแรงงานเมียนมาที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องเกินขอบเขต บ้างก็รวมตัวจัดกิจกรรมระดมทุนโดยไม่ขออนุญาต บ้างก็โชว์กร่างข่มขู่คุกคามคนไทย ขณะที่บางพื้นที่มีการลักลอบเปิดโรงเรียน อีกทั้งยังร้องเพลงชาติเมียนมาแบบไม่เกรงใจเจ้าของประเทศ จนเริ่มเกิดกระแสต่อต้านจากคนไทยถึงขั้นที่อยากให้ผลักดันแรงงานเหล่านี้ออกจากประเทศ จนหลายฝ่ายเกรงว่าจะกลายเป็นปัญหาลุกลามบานปลาย และเรียกร้องให้รัฐบาลลงมาจัดการก่อนที่จะสายเกินไป

ส่วนว่าปัญหาแรงงานต่างด้าวที่เกิดขึ้นในขณะนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของไทยอย่างไร รวมทั้งจะมีหนทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวหรือไม่นั้น คงต้องไปฟังความเห็นจะผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ขณะนี้แรงงานต่างด้าว ทั้งเมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน ที่เข้ามาทำงานและอยู่อาศัยในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และรวมกันเป็นชุมชนที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ยากต่อการควบคุม โดยปัจจุบันคาดว่ามีแรงงานเมียนมาเข้ามาอยู่ในประเทศไทยประมาณ 3-5 ล้านคน รองลงมาคือ แรงงานกัมพูชา 1-2 ล้านคน ตามด้วยแรงงานลาวไม่เกิน 1 ล้านคน ขณะที่แรงงานเวียดนามอยู่ที่ประมาณ 4-5 แสนคน ซึ่งแรงงานที่เริ่มสร้างปัญหาคือแรงงานเมียนมาเนื่องจากจับกลุ่มกันเป็นจำนวนมาก จึงเริ่มมีการชุมนุมเคลื่อนไหวที่นั่นที่นี่ มีการนัดรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมที่อาจจะเกี่ยวข้องกับการเมือง บ้างทำตัวเป็นมาเฟีย เกะกะระราน ทำให้เกิดปัญหาสังคมและอาชญากรรมตามมา

ซึ่งแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในไทยนั้นมีทั้งที่ขึ้นทะเบียนถูกกฎหมายและลักลอบทำงาน แน่นอนว่าคนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนก็ไม่อยู่ในระบบภาษี ไม่ต้องเสียภาษี อีกทั้งต่างด้าวที่ลับลอบทำธุรกิจในไทยก็ไม่ต้องเสียภาษี แต่เขาใช้ระบบสาธารณูปโภคของไทย ใช้บริการการแพทย์ของไทย แรงงานเหล่านี้เมื่อเข้ามาอยู่แล้วบางคนก็จะมีลูกมีหลาน ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เพราะหากเจ็บป่วย เด็กเหล่านี้ก็เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของไทย และเมื่อถึงวัยเรียนก็มีสิทธิเข้าเรียนในระบบการศึกษาของไทย เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) มีนโยบายให้เด็กต่างด้าวสามารถเข้ารับการศึกษาได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ซึ่งถือเป็นภาระด้านงบประมาณของไทยอย่างมาก

สอดคล้องกับ พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) ซึ่งระบุว่า การที่ชาวเมียนมาเข้ามาอยู่ในประเทศไทยจำนวนมากนั้นส่งผลกระทบต่องบประมาณและการบริการด้านสาธารณสุขของไทย เพราะเรามีการจัดสรรงบประมาณด้านสาธารณสุขไว้จำนวนหนึ่ง เมื่อชาวเมียนมาที่เข้ามาอยู่ในไทยใช้บริการสาธารณสุขที่เราเตรียมไว้เพื่อดูแลคนไทย งบประมาณและบุคลากรการแพทย์ของไทยก็จะถูกแบ่งไปดูแลแรงงานต่างด้าวเหล่านี้รวมถึงลูกหลานที่เกิดขึ้นมา เพราะแม้แรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องจะใช้สิทธิการรักษาตามระบบประกันสังคมที่เขาส่งเงินสมทบ แต่ก็มีแรงงานอีกส่วนหนึ่งที่เข้ามาแบบผิดกฎหมาย รวมถึงบรรดาลูกหลานของแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้ส่งเงินสมทบแต่ใช้บริการสาธารณสุขด้วยเหมือนกัน ทำให้คนไทยได้รับบริการไม่เต็มที่ แม้แต่ชาวเมียนมาที่อยู่ในพม่าเมื่อเจ็บป่วยหรือจะคลอดบุตรก็เข้ามารักษาและทำคลอดที่โรงพยาบาลในประเทศไทย มาใช้ระบบสาธารณสุขในไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก

นอกจากนั้นแรงงานเหล่านี้ยังพยายามเรียกร้องให้แรงงานเมียนมาสามารถขอต่อใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย(Work Permit) โดยไม่ต้องเดินทางกลับประเทศต้นทางคือประเทศเมียนมาก่อน ซึ่งไม่สามารถทำได้เช่นกัน เพราะขัดกับระเบียบของไทย และเชื่อว่าจะมีปัญหาอื่น ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆเพราะชาวเมียนมากำลังเรียกร้องให้มีการขึ้นค่าแรงเป็น 400 บาทต่อวัน ซึ่งเมื่อประกาศขึ้นค่าแรงไปแล้วผลประโยชน์ไม่ได้ตกอยู่กับแรงงานไทย เพราะงานที่ไม่ได้ใช้ทักษะฝีมือนั้นแรงงานส่วนใหญ่ไม่ใช่คนไทย ขณะเดียวกันผลกระทบที่ตามมาคือภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการ ทำให้สินค้าไทยไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น จีน หรือเวียดนาม อีกทั้งคนไทยยังต้องเผชิญกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาสินปรับตัวสูงขึ้น

“ปัญหาที่หนักมากในขณะนี้คือชาวเมียนมาเข้ามาประกอบอาชีพต่าง ๆ แข่งกับคนไทย ไม่ว่าจะเป็นเปิดร้านขายอาหาร ขายสินค้าต่าง ๆ ตลาดสดบางแห่งพ่อค้าแม่ค้ามีแต่คนเมียนมา บางพื้นที่เจ้าของตลาดเป็นเมียนมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันผิดกฎหมายของไทย แต่ขบวนการควบคุมแรงงานต่างด้าวของเรามันล้าหลังมาก เจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ใต้อิทธิพลของชาวเมียนมา เพราะเขาจ่ายเงินให้” พล.ท.นันทเดช กล่าว

สำหรับปัญหาที่ต่างด้าวเข้ามาแย่งอาชีพคนไทย โดยเฉพาะแรงงานเมียนมานั้น 'รศ.ดร.อัทธ์' มองว่า ชาวเมียนมาที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยในปัจจุบันได้เปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิม โดยยุคแรกจะเป็นแรงงานที่เข้ามาทำงานในภาคการผลิต โดยเฉพาะกิจการที่คนไทยไม่นิยมทำ เช่น ประมง ก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรม ยุคที่สองแรงงานเมียนมาเริ่มเข้าไปสู่ภาคบริการ เช่น พนักงานเสิร์ฟ พนักงานปั๊มน้ำมัน แม่บ้าน ลูกจ้างขายของ และปัจจุบัน คือยุคที่สาม ได้ขยายไปสู่การเป็นเจ้าของกิจการ ซึ่งแบ่งเป็น 1.ธุรกิจที่คนไทยทำอยู่แล้ว เช่น เปิดร้านขายของ เปิดบริษัททัวร์ รับเหมาก่อสร้าง บริษัทรับจัดสวนตัดแต่งต้นไม้ 2.ธุรกิจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเมียนมา เช่น เปิดร้านขายสินค้าให้ชาวเมียนมาโดยเฉพาะ ขับรถสองแถวรับส่งชาวเมียนมาในไทย ซื้อคอนโดฯและปล่อยให้นักธุรกิจชาวเมียนมาเช่า ธุรกิจค้าส่งค้าปลีกระหว่างไทยกับเมียนมา ธุรกิจท่องเที่ยว และ 3.ธุรกิจที่ใช้ประเทศไทยเป็นฐานเพื่อทำธุรกิจกับประเทศอื่น

“นักธุรกิจเมียนมาจะเข้ามาหลายรูปแบบ บ้างก็เข้ามาแต่งงานกับคนไทยและหาลู่ทางทำธุรกิจ บางคนก็เข้ามาทำธุรกิจโดยตรง เช่น เข้ามาซื้อคอนโดเพื่อปล่อยเช่า เนื่องจากกฎหมายของไทยอนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของคอนโดได้ 49% ของพื้นที่ขายทั้งหมด และตอนนี้เรากำลังจะแก้สัดส่วนให้ซื้อได้ถึง 75% ของพื้นที่ ต่างด้าวบางคนก็เปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้างโดยซับงานจากผู้รับเหมาไทยอีกที พวกนี้มีทั้งที่เป็นเมียนมาและกัมพูชา บ้างก็เปิดบริษัทรับทำความสะอาดและรับจัดสวนแบบเหมาทำทั้งหมู่บ้านเลย ซึ่งบางธุรกิจอาจจะผิดกฎหมายแต่เขามีวิธีซิกแซ็ก และให้บริการในราคาที่ถูกกว่าของไทย หรือบางธุรกิจคนไทยก็ไม่ทำ” รศ.ดร.อัทธ์ กล่าว

ขณะที่ พล.ท.นันทเดช ชี้ว่า ปัจจุบันมิติของแรงงานต่างด้าวไม่ได้อยู่แค่ปัญหาแรงงานแต่ขยายไปยังเรื่องอื่นๆ ด้วยโดยเฉพาะแรงงานเมียนมาซึ่งขณะนี้ได้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องในหลายประเด็น เช่น เรียกร้องให้รัฐบาลให้สัญชาติไทยแก่เด็กเมียนมาที่เกิดในไทย ซึ่งเรื่องนี้ไม่สามารถทำได้ อีกทั้งปัญหาแรงงานเมียนมาอาจจะนำไปสู่ปัญหาทางการเมืองระหว่างประเทศ เนื่องจากไทย เมียนมา และ สปป.ลาว นั้นมีสัญญาชัดเจนว่าจะไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการภายในระหว่างกัน แต่แรงงานเมียนมาที่เข้ามาอยู่ในไทยส่วนใหญ่จะต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า อีกทั้งยังตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของพรรคการเมืองไทยบางพรรค โดยมี สส.ของพรรคดังกล่าวเข้าไปยุยงแรงงานเมียนมาให้ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหว และมีการเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ

“เรามีชาวเมียนมาที่เข้ามาทำงานแบบไม่ถูกต้องตามกฎหมายนับล้านคน พอมีลูกก็พยายามจะเรียกร้องสิทธิให้ลูก อยากให้ลูกได้สัญชาติไทย บางส่วนก็ออกเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา มีการรวมกลุ่มเคลื่อนไหว ระดมทุน ขณะเดียวกันในชุมชนที่มีแรงงานเมียนมาอยู่เยอะๆก็จะมีธนาคารของตัวเอง โดยมีคนที่เป็นโต้โผรับฝาก-ถอนเงิน มีตลาดซื้อขายสินค้าของตัวเอง อย่างเช่นที่ตลาดพระโขนง นอกจากนั้นยังมีกำนันผู้ใหญ่บ้านของตัวเอง เช่น ที่ จ.สมุทรสาคร โดยจะมีไลน์กลุ่มชาวเมียนมา คนเมียนมาไปทำงานที่ไหน เขาเข้าไปดูแลหมด” พล.ท.นันทเดช ระบุ

ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายเห็นว่ารัฐบาลควรเร่งแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวนั้น 'รศ.ดร.อัทธ์' กล่าวว่า ตนเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าถึงเวลาที่รัฐบาลจะจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวทั้งหมด เนื่องจากปัจจุบันเราไม่รู้ว่าแรงงานแต่ละคนทำงานที่ไหน อย่างไร และพักอยู่ที่ไหน เราจึงต้องมีการสำรวจ ขึ้นทะเบียน และจัดทำฐานข้อมูลว่าปัจจุบันมีแรงงานประเทศใดเข้ามาในไทยบ้าง จำนวนเท่าไหร่ ทำงานอะไรหรือเข้ามาทำธุรกิจอะไร พักอยู่ที่ไหน มีลูกหรือเปล่า ซึ่งนอกจากจะทำให้สามารถจัดเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยแล้ว หากแรงงานเหล่านี้สร้างปัญหาอะไรหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้สามารถจัดการได้ทัน

โดยเฉพาะในส่วนของแรงงานเมียนมานั้นรัฐควรจะแยกกลุ่มให้ชัดเจน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.แรงงานไร้ฝีมือ ซึ่งต้องสำรวจให้ชัดเจนว่ามีจำนวนเท่าไหร่ อยู่ในอุตสาหกรรมใดบ้าง 2.แรงงานที่มีทักษะฝีมือ จบปริญญาตรี กลุ่มนี้สามารถบรรจุเข้าไปในสายงานที่ไทยขาดแคลนแรงงานเพื่อเพิ่มศักยภาพให้ระบบเศรษฐกิจไทยและช่วยพัฒนาประเทศ และ 3.กลุ่มนักธุรกิจที่มีเงิน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคลื่นลูกที่สามของเศรษฐกิจเมียนมา กลุ่มนี้มีศักยภาพด้านเงินทุนแต่ต้องมาจัดระเบียบว่าธุรกิจอะไรที่ทำได้หรือทำไม่ได้ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะธุรกิจ SME ซึ่งหากแต่ละกลุ่มเข้าสู่ระบบภาษีที่ชัดเจนจะทำให้รัฐสามารถจัดเก็บรายได้ได้มากขึ้น

“เมื่อแรงงานเหล่านี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะมีพลังในการเคลื่อนไหวเรียกร้องเรื่องต่างๆ จึงจำเป็นที่รัฐต้องเร่งจัดระเบียบ ไม่อย่างงั้นเละแน่ ๆ ส่วนแรงงานที่ชอบเคลื่อนไหวหรือยุ่งเกี่ยวกับการเมืองนั้นเมื่อจัดระบบแล้ว เราก็จะสามารถติดตามพฤติกรรมได้ง่ายขึ้น หากพบว่ามีการกระทำผิดก็สามารถดำเนินการได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นประเด็นที่จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้” รศ.ดร.อัทธ์ กล่าว

ด้าน ‘พล.ท.นันทเดช’ เห็นว่า เจ้าหน้าที่ควรเข้าไปดูแลและควบคุมแรงงานเมียนมาที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม หากไม่จัดการก็จะลุกลามไปยังแรงงานกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะแรงงานกัมพูชา ส่วนแรงงานจาก สปป.ลาวนั้นไม่น่าจะมีปัญหาเพราะเขาอยู่ในกรอบกฎหมายของไทย ซึ่งในยุค 20 ปีก่อนไทยเคยมี 'หน่วยปฏิบัติงานพิเศษ' ที่ทำหน้าที่ควบคุมชาวเมียนที่อยู่ในประเทศไทย เป็นการทำงานรูปแบบหนึ่งของหน่วยข่าวกรอง โดยชาวเมียนมาทุกคนต้องมารายงานตัวต่อหน่วยงานดังกล่าวว่าเข้ามาทำอะไรในประเทศไทย พักอยู่ที่ไหน หน่วยงานนี้จะรู้หมดว่ามีชาวเมียนมาเข้ามาในไทยกี่คน อยู่ที่ไหนบ้าง เราสามารถลงไปตรวจว่ายังอยู่ที่เดิมไหม สร้างปัญหาอะไรหรือเปล่า ทำให้เรามีฐานข้อมูลที่ชัดเจนและสามารถควบคุมแรงงานเหล่านี้ได้ แต่ภายหลังได้ยกเลิกไป โดยปัจจุบันหน่วยงานที่ทำงานด้านข่าวกรองของไทยไม่ได้เป็นหน่วยงานอิสระ แต่เป็นหน่วยงานที่ทำงานเพื่อตอบสนองฝ่ายการเมือง จึงละเลยเรื่องความมั่นคง ต่างจากเมื่อก่อนที่ทำงานโดยยึดเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก

“แนวทางในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวนั้นรัฐบาลไทยสามารถดำเนินการในรูปแบบเดียวกับที่สหรัฐอเมริกาทำ คือออกกฎหมายให้ต่างด้าวที่เข้ามาในประเทศไทยทุกคนต้องแจ้งต่อหน่วยงานความมั่นคงภายใน 7 วัน ทำให้รัฐมีฐานข้อมูลเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว สามารถส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบว่าเข้าอยู่แล้วได้ทำงานไหม ทำงานอะไร ใบอนุญาตทำงานหมดอายุหรือยัง ถ้าไม่มีใบอนุญาตก็ต้องผลักดันออกนอกประเทศ” พล.ท.นันทเดช กล่าว

'เพจดังแฉ' พบเอกสารขอสัญชาติไทยให้คนพม่าใน 'อุ้มผาง' เกลื่อนเมือง ชาวเน็ตจี้ฝ่ายมั่นคงลงพื้นที่ตรวจสอบด่วน หวั่นบางพรรคการเมืองหนุน

(18 ก.ย. 67) เพจ 'วันนี้พรรคส้มโกหกอะไร' ได้โพสต์คลิปข่าวตำรวจและท่องเที่ยว พร้อมระบุว่า "คิดเห็นอย่างไรกับคลิปนี้ ชาวพม่าได้สัญชาติไทย ต่อมาได้เป็นผู้ใหญ่บ้าน และช่วยเหลือให้พวกพ้องได้เป็นสัญชาติไทย ส่วนตัวหนู ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมายก็โอเค แต่ถ้าไม่ตรงไปตรงมา หรือมีการเมืองแอบแฝง ก็รับไม่ได้ทีมงานกำลังตรวจสอบข้อมูลอยู่"

นอกจากนี้ ทางเพจยังโพสต์ด้วยว่า "พบเอกสารและภาพกิจกรรม ขอสัญชาติไทยให้ชาวเมียนมาจำนวนมาก ในพื้นที่ หมู่ 2 ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก ซึ่งเป็นพื้นที่ของ สส.พรรคส้ม ที่มีนโยบายให้สัญชาติไทยกับต่างด้าวภายใน 3 ปี"

พร้อมระบุเพิ่มเติมว่า 'เจ้าหน้าที่ชี้แจงว่า รายชื่อตามภาพนี้ เป็นบุตรคนต่างด้าวเกิดในประเทศไทย ซึ่งมีสิทธิ์ในสัญชาติไทยตามกฎหมาย เค้ามีสัญชาติไทยโดยชอบ แต่ขณะเกิด เค้าไม่ได้รับการรับรองสัญชาติไทย จึงไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน เพื่อให้มีชื่อในทะเบียนบ้าน เค้าต้องไปยื่นคำขอต่อนายอำเภอ เพื่อลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้าน ส่วนประเด็นที่กำลังเป็นกระแสว่า เกี่ยวข้องกับพรรคส้มหรือไม่ เจ้าหน้าที่ไม่สามารถยืนยันได้ โดยทางเพจระบุเพิ่มเติมว่า ตอนนี้ต้องตรวจสอบต่อว่า การขอสัญชาติดังกล่าว มีการเร่งรัดและไม่ตรงไปตรงมาหรือไม่ กำลังเจาะอยู่ค่ะ"

นอกจากนี้ ทางเพจยังได้โพสต์ภาพที่ นายชัยธวัช ตุลาธน อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล สวมชุดชนเผ่า ถ่ายร่วมกับคนในพื้นที่ ซึ่งก็ไม่ทราบว่าเป็นคนไทยหรือชนเผ่าอะไร ส่วนคนขวาสุด คือ สส.พรรคส้ม ที่รับผิดชอบในพื้นที่นั่นเอง

หลังโพสต์นี้ถูกเผยแพร่ออกไป มีชาวเน็ตเข้ามาคอมเมนต์ถกเถียงกันเป็นจำนวนมาก เช่น...

- "เห็นคลิปยูทูบเบอร์ต่างชาติ บอกว่า ไทยขอสัญชาติยากมาก ทำไมคนพม่าถึงขอได้ง่าย ๆ ฝ่ายความมั่นคงต้องเข้าตรวจสอบเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน"

- "ถ้ามีพรรคการเมืองหนุน อันนี้เรื่องใหญ่เลยครับ เกี่ยวกับความมั่นคงชัดเจน เรื่องขอสัญชาติเป็นการขอที่ยากมาก ขนาดเรียนและโตในไทยยังขอไม่ได้เลย"

- "เข้าข่ายขายชาติหรือเปล่าครับ"

- "ถ้าได้สัญชาติแบบไม่โปร่งใส ยื่นถอนสัญชาติได้ไหมคะ"

- "ที่นี่ คือ สถานที่เดียวกันกับหมู่บ้านที่ มีผู้ใหญ่บ้านเป็นคนพม่า หรือไม่?"

อย่างไรก็ตาม ทางเพจยังได้ออกแถลงการณ์ทำความเข้าใจกับแรงงานชาวเมียนมาด้วย ระบุว่า "ทุกคนคะ หนูและทีมงานขอชี้แจงดังนี้ พวกเรายินดีให้รัฐบาลไทยช่วยเหลือพี่น้องชาวเมียมา จากภัยสงคราม ตามหลักมนุษยธรรม อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และการรักษาพยาบาล ปัจจุบันเรามีค่ายผู้ลี้ภัยรองรับได้ถึง 1 แสนคน พวกเรากังวลว่า พี่น้องชาวเมียนมา กำลังถูกหลอกใช้เป็นเครื่องมือ จากบางพรรคการเมือง โฆษณาขายฝัน ให้สิทธิพิเศษต่าง ๆ เพื่อเป็นคนไทย โดยเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ ด้วยปัญหาภายในประเทศ และการเก็บภาษีของไทย ที่มีผู้จ่ายเพียง 4 ล้านคน ไทยเราอาจไม่ซัพพอร์ตได้ทุกอย่าง แต่เชื่อว่ารัฐบาลจะช่วยพวกคุณให้ถึงที่สุด ขอย้ำอีกครั้ง อย่าหลงเชื่อนโยบายขายฝันจากบางพรรคการเมือง เพราะเขาโกหกเป็นสันดาน ขอบคุณค่ะ จากน้องหนู"

เดินหน้าคัดสำมะโนครัว ขจัดกลุ่มต่อต้าน แยกเมียนมา 'น้ำดี-น้ำเสีย' ไทยต้องรับมือ 'พายุไร้สัญชาติ' ให้ดี มีกลุ่มหนุนที่ต้องรีบกำราบ

ดูเหมือนการที่ NGO ฝั่งไทยและบางพรรคที่พยายามหาเรื่องเข้าช่วยชาวเมียนมาที่อพยพเข้ามาอยู่ในไทยแบบโจ่งแจ้ง จะกลายเป็นการเสริมแรงให้แผนของฝั่งกองทัพเมียนมาที่กำลังจะมีการสำรวจสำมะโนประชากรในเดือนหน้า เพื่อคัดแยกคนในชาติตัวจริง ดูจะยิ่งเป็นสิ่งเข้าล็อกยิ่งขึ้น

เพราะมุม เอย่า คาดว่า การทำสำมะโนประชากรครั้งนี้ เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของกองทัพเมียนมาที่จะแยก 'น้ำดี-น้ำเสีย' แบบจริงจัง พูดง่าย ๆ ก็คือ ฝั่งกองทัพฯ เองก็คงจะถือโอกาสนี้กรองจำนวนผู้ไม่รักชอบในกองทัพเมียนมา และตีตราให้เมียนมาชังทหาร กลายเป็นพวกไร้สัญชาติ จนต้องบีบตนเองให้เผ่นหนีออกนอกประเทศไปเอง

ขยายภาพให้...หลังจากที่กองทัพฯ ทำการสำรวจสำมะโนประชากรเสร็จ จะเกิดภาพแบบไหนขึ้น? ตรงนี้ เอย่า เชื่อว่า ทางการจะเริ่มกำหนดให้ว่า ใครคือ คนเมียนมาที่แท้จริง แล้วมีอยู่เท่าจำนวนที่เขาสำรวจหรือไม่ เพื่อจะเตรียมตัวไปสู่การเลือกตั้งครั้งต่อไป ส่วนเศษที่เหลือจะไม่นับว่าเป็นชาวเมียนมา และความซวยของคนกลุ่มหลัง ก็คือ พาสปอร์ตของคนเหล่านั้นจะต้องหมดอายุลง โดยที่คนเหล่านี้จะไม่สามารถดำเนินการต่ออายุพาสปอร์ตได้อีกต่อไปด้วย

แน่นอนว่า เรื่องนี้เหมือนพวก NGO พม่าในไทยและ NGO ไทยจะรู้ดี จึงพยายามเปิดทางให้ พายุไร้สัญชาติเหล่านี้เข้ามาในอยู่ระบบของประเทศไทย ซึ่งหากไทยตามเกมไม่ทันแล้วล่ะก็ คนเหล่านี้จะค่อย ๆ กลายร่างเป็นประชากรไทยในอนาคตได้ไม่ยาก ผ่านเครื่องมือที่เลื่องลืออย่าง 'ไทยแลนด์คอร์รัปชัน' 

และ ๆ ๆ การคอร์รัปชันนี้ จะเป็นผลดีต่อพรรคการเมืองบางพรรคที่มีแผนการบางอย่างต่อการดึงมวลชนเมียนมาเข้าไทย ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ที่เริ่มเบิกเนตรคงจะเริ่มทราบจุดประสงค์กันดี เพราะมีหลักฐานมากมายที่ 'คน-พรรค' นี้ ไปร่วมกิจกรรมกับเหล่าผู้อพยพและชาติพันธุ์อยู่บ่อยหน

อย่างไรก็ดี ก็ไม่ต้องไปกลัวชาวเมียนมาไร้สัญชาติจนเกินเหตุ เพราะไทยจะเอาจริงก็จัดการได้ เพียงแต่เรื่องนี้ เอย่า แค่อยากมาช่วยกระตุกให้ท่านผู้มีอำนาจในบ้านเมืองวันนี้ ตระหนักถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นไว้เท่านั้น ซึ่งพวกท่านสามารถที่จะช่วยป้องกันแก้ไขสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อยู่แล้ว

วิเคราะห์ต่ออีกนิด หากการเลือกตั้งในเมียนมาเกิดขึ้นได้แบบสำเร็จลุล่วง เอย่า เชื่อว่าประเด็นหลาย ๆ อย่างในเมียนมาจะเบาลง แต่กลุ่มชาวเมียนมาไร้สัญชาติที่อยู่นอกประเทศตัวเอง จะทวีความเคลื่อนไหวแบบรุนแรง เพื่อหาทางมอบสัญชาติให้ตัวเอง ซึ่งถ้าไทยเล่นไม้แข็งก็จบเห่ ไอ้ครั้นจะหนีไปยุโรปก็ยาก เพราะขณะนี้ยุโรปต่างก็ออกนโยบายไม่เอาผู้อพยพลี้ภัยถ้วนหน้าแล้ว 

ฉะนั้น จุดนี้คงจะเป็นเหมือนระเบิดเวลาที่ เอย่า แค่อยากมากระตุ้นรัฐบาลและผู้ใหญ่ในบ้านเมืองไทยให้ช่วยหาทางจัดการกับคนพวกนี้ไว้แต่เนิ่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อย่าปล่อยให้บรรดา NGO และพรรคการเมืองหนึ่งที่พยายามดิ้นรนแบบสุดลิ่ม กรุยทางลากคนไร้สัญชาติเข้ามาล้นแผ่นดินสยาม 

เพราะฐานคนไร้สัญชาติ ที่พร้อมกลายเป็นสัญชาติไทยเหล่านี้ อาจเขย่าอำนาจการเมืองและความมั่นคงของไทยในระยะยาวได้ ถึงตอนนั้นไม่รู้ด้วย...

อย่าโทษสายตา ‘คนไทย’ ที่มอง ‘เมียนมา’ เปลี่ยนไป ชี้!! หลายพฤติกรรม และ คำพูด ล้วนบั่นทอนความเป็นมิตร

(3 ต.ค. 67) ช่วงนี้โซเชียลเน็ตเวิร์กชาวเมียนมาหลายคนออกมาร้องไห้กันว่าถูกคนไทยมองด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป ในขณะที่หลายคนเริ่มจะกลัวที่จะออกไปเดินตลาด หรือ เดินทางไปไหนมาไหน เพราะเจ้าหน้าที่เคร่งครัด และตรวจสอบคนต่างด้าวกันมากขึ้น

จากที่เอย่าให้ทีมงานในไทยไปสังเกตการณ์ตามตลาดที่เคยเป็นแหล่งที่มีชาวเมียนมาพลุกพล่าน ก็พบว่ามีคนเมียนมาบางตาไปจริงๆ ส่วนหนึ่งเพราะกลัว และไม่มีความรู้ ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งนั้น คือ คนที่เข้ามาอย่างไม่ถูกต้อง

คงจะมาว่าต่อว่าคนไทยไม่ได้ เพราะเอย่า ย้ำเสมอว่า ประเทศไทยให้โอกาสคนต่างด้าวเสมอ เพียงแต่ต้องอยู่ และกระทำตัวให้เหมาะสมกับการที่เข้ามาอาศัยในต่างบ้านต่างเมือง

จากการที่มีคลิปออกตามโซเชียลที่ผ่านมา ตั้งแต่มีชาวต่างด้าวเข้าชุมนุมทางการเมืองขับไล่ผู้นำไทยในรัฐบาลก่อนก็ดี หรือการไปชุมนุมตามที่สาธารณะก็ดี หรือการออกคลิปตามโซเชียลที่กระทำ หรือพูดอะไรที่ไม่เป็นไปตามครรลองของประเทศไทย นั่นคือ ชนวนที่เป็นระเบิดเวลาทำลายความเชื่อมั่นของคนไทยที่มีต่อคนต่างด้าวในไทย

ยิ่งด้วยสภาพเศรษฐกิจในไทยทุกวันนี้ด้วยแล้ว คนไทยหลายคนที่ได้รับผลกระทบจากการถูกต่างด้าวแย่งงานแย่งอาชีพคงไม่ได้รู้สึกยินดีที่คนเหล่านั้นมาได้ดีในประเทศไทย

และดูเหมือนว่าคนพม่าที่อยู่ในเมียนมาก็ไม่ได้แยแสกับคนเมียนมาที่อยู่ในไทยเช่นกัน หลายคนกล่าวว่าก็เลือกจะไปเองก็ต้องยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นให้ได้ เอย่าก็ขอเป็นกำลังใจให้พี่น้องชาวเมียนมาที่เข้ามาอย่างถูกต้องไม่ต้องกลัว หากเรามีเอกสารสามารถสำแดงตัวตนว่าเราเข้ามาทำงานอย่างถูกต้องเจ้าหน้าที่ก็คงจับเราไม่ได้ ส่วนเรื่องความไว้เนื้อเชื่อใจของคนไทยก็คงต้องอาศัยเวลา และอัธยาศัยของคนเมียนมาที่มีน้ำใจไมตรีค่อย ๆ เปลี่ยนภาพลักษณ์ และมุมมองของคนไทยที่มีต่อชาวเมียนมานั้นขอให้อดทน

ต่อไปไม่ง่ายอีกแล้ว!! ‘ข้าราชการน้ำดี’ เริ่มขยับเอาจริง สกัดขบวนการ ช่วยต่างด้าวฟอกขาวเป็นคนไทย

(9 ต.ค. 67) ต้องขอบคุณสื่อหลักที่เริ่มมองเห็นภัยคุกคามที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะกับกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมา ซึ่งถึงวันนี้ต้องยอมรับว่า คนพวกนี้เคลื่อนไหวเงียบ ๆ ใต้ปีก NGO  มานับสิบๆปี สร้างเครือข่ายใต้ดินจนแข็งแกร่งยิ่งใหญ่และนำพาเหล่าคนเมียนมาเข้ามาฟอกขาวเป็นคนไทยนานนับหลายศตวรรษ 

ที่ผ่านมาเอย่าไปคุยกับพี่ ๆ หลายคน และมีพี่ท่านหนึ่งที่ให้ความเห็นที่น่าสนใจ  เธอคนนั้นบอกว่าสมัยเธอยังเป็นนักเรียน ย่านวงเวียนใหญ่ สมัยนั้นใคร ๆ ก็เรียกว่าลาวเซ็นเตอร์ เพราะทุกวันหยุดจะมีแรงงานชาวลาวที่ทำงานในตลาดแถวนั้นหรือร้านค้าบริเวณนั้นเข้ามาจับกลุ่มใต้ต้นไม้ที่วงเวียนใหญ่ยึดเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ชาวลาวก็เริ่มหายไปกลายเป็นชาวพม่าเข้ามาแทน จนเธอรู้สึกตัวอีกทีทุกหนแห่งก็อุดมไปด้วยคนพม่าหมดแล้ว ที่น่าตลกคือเธอที่เป็นคนไทยไปตลาดไม่สามารถซื้อผักในราคา 10 บาทได้ ในขณะที่เด็กคนพม่าคนงานข้างบ้านเธอซื้อได้เพราะคนขายเป็นชาวพม่า ทำให้เธอรู้สึกว่าแม้เธอเป็นคนไทยแต่กลายเป็นคนที่มีต้นทุนการใช้ชีวิตที่สูงกว่าคนพม่าในไทยเสียอีก

แม้เธอคนนั้นจะพูดติดตลกก็ตาม สำหรับเอย่าคงไม่รู้สึกตลกกับเรื่องแบบนี้ เพราะกลายเป็นว่ากลุ่มคนเหล่านี้ได้ลอบเร้นเข้ามากันเป็นหลายสิบปี พร้อมฟอกขาวออกลูกหลานเตรียมการเป็นคนไทยจนหลายคนได้สัญชาติไปแล้วก็มี

เหตุการพวกนี้เราคงไปว่าคนพม่าอย่างเดียวไม่ได้ คงต้องว่าคนไทยด้วยกันเองนี่แหละ เพราะเหล่ากรรมาธิการกลุ่มต่าง ๆ ในสภาที่มีการเลือกมาเป็นกลุ่มย่อย ต่างก็เป็นคนในอาณัติของท่าน สส. ผู้ทรงเกียรติกันทั้งนั้น  คนเหล่านั้นคือกำลังหลักในการผลักดันร่างกฎหมาย ข้อบังคับต่าง ๆ ที่ช่วยเอื้อให้ต่างชาติเหล่านี้ อย่างว่าเอย่าได้ข่าวว่าแม้เงินเดือนกรรมาธิการเหล่านี้ไม่ได้สูง แต่รายได้พิเศษนี่มาจากไหนไม่รู้ทอนกันมา 7 หลักขึ้นทั้งนั้น รายได้ดีขนาดนี้ จ้างผีโม่แป้งยังได้ ทำไมจะจ้างคนไทยให้ขายจิตวิญญาณไม่ได้

อีกอย่างสำหรับคนดีมีอุดมการณ์ที่หลุดเข้าไปเป็นกรรมาธิการพวกนี้ พอไม่ทำตามที่ท่าน สส. ผู้ทรงเกียรติต้องการก็ต้องมีอันกระเด็นจากตำแหน่ง อย่างว่ากฎหมายให้อำนาจ สส. คุมคนพวกนี้อีกทีจะกล้าหือได้อย่างไร

สงสารก็เพียงคนไทยที่พยายามเป่าปากโห่ร้องหาประชาธิปไตย 3 นาทีในคูหา แล้วต้องก้มหน้าก้มตาดูคนที่เลือกมาให้โอกาสพวกต่างชาติมีต้นทุนการใช้ชีวิตที่ถูกกว่าคนไทย ก็ช่วยไม่ได้รักชอบเลือกกันเข้ามาเองทั้งนั้น

สุดท้ายเอย่าคงได้แต่หวังว่า คนไทยเราได้ตื่นรู้แล้ว ข้าราชการดีๆเริ่มขยับแล้ว ทำให้แผนฟอกขาวตามชายแดนเริ่มลำบากขึ้น และแผนของกลุ่มคนบางกลุ่มที่ต้องการเอาคนพวกนี้มาเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไม่เป็นไปดังหวัง 

เอย่าต้องขอบคุณข้าราชการน้ำดีที่เริ่มตรวจตราเอาจริงเอาจังกับทุกกลุ่ม อย่างที่บอกคนพวกนี้ไม่ใช่แค่แรงงานแต่คนส่วนใหญ่เป็นคนมีความรู้และใช้ประเทศไทยเป็นฐานเคลื่อนไหวสร้างปัญหาในเมียนมา ทั้งเรื่องการระดมทุน ซื้ออาวุธ ซื้อเสบียง ซึ่งหากข้างบ้านไม่สงบ ไทยเราจะสงบสุขได้อย่างไร เพราะตอนนี้เราได้เห็นแล้วว่าเมื่อประเทศเพื่อนบ้านเดือดร้อน ไทยได้รับผลกระทบอย่างไร

สถานการณ์ความรุนแรงใน ‘เมียนมา’ เริ่มจะเบาบางลง เหตุ!! ‘งบน้อย-จีนออกมาปราม-เตรียมเดินหน้าเจรจา’

(12 ต.ค. 67) หลายวันก่อนเอย่าไปคุยถึงสถานการณ์เมียนมากับมิตรสหายสายข่าวกรองในเมียนมาท่านหนึ่งว่าทำไมช่วงนี้ความรุนแรงในเมียนมาเหมือนจะเบาบางลงอย่างเห็นได้ชัด มิตรสหายท่านนั้นได้บอกเหตุผลที่น่าสนใจทีเดียว

อันแรกคือการที่ประเทศผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการกำลังมีการจะมีเลือกตั้งผู้นำ  ทำให้นโยบายต่างประเทศไม่ชัดเจนดังนั้นพอเงินที่มาน้อยลงใบเสร็จก็ลดลงตาม

ประเด็นที่ 2 การที่จีนผู้เคยเป็นผู้สนับสนุนหลักของกลุ่มกองกำลัง 3 พี่น้องออกโรงมาปรามกลุ่มกองกำลัง 3 พี่น้องอันมาจากเหตุที่เข้าไปยึดล่าเสี้ยว ทำให้สถานการณ์ทางเหนือของเมียนมาเงียบลง

ล่าสุดทางรัฐบาลทหารเมียนมาได้ออกประกาศเชิญชวนชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ รวมถึงกลุ่ม PDF ไปถึง NUG ให้เข้ามาเจรจาสันติภาพเพื่อเปิดทางสู่การเลือกตั้งในเมียนมา ซึ่งแน่นอนว่าประกาศนี้ถูกฝ่าย NUG ออกมาตอบโต้ทันทีว่าไม่เข้าร่วม ซึ่งถ้าถามเอย่าว่าแปลกใจไหมบอกเลยว่าไม่มีอะไรน่าแปลกใจ เพราะทางรัฐบาลทหารเมียนมาก็ต้องการคำตอบนี้จาก NUG เช่นกันและผลักดันให้ NUG กลายเป็นตัวร้ายในสายตาชาวโลก

การที่เมียนมากล้าทำแบบนี้เพราะมีพันธมิตรที่แข็งแกร่งให้การช่วยเหลือ อันได้แก่รัสเซีย จีน และอินเดีย ดังปรากฏให้เห็นแล้วว่าเมื่อจีนกับอินเดียเป็นแบ็กอัปให้เมียนมาทำให้สถานการณ์ทางเหนือและฝั่งตะวันตกเบาบางลงเหลือเพียงสถานการณ์ฝั่งตะวันออกเท่านั้น

จากสถานการณ์สงครามในเมียนมาฝั่งตะวันออกติดแนวชายแดนไทยทำให้มูลค่าส่งออกลดลงนับหลายพันล้านบาทนี่ไม่นับปัญหาที่ไทยจะต้องมานั่งรับผิดชอบไม่ว่าจะเป็นปัญหาผู้อพยพหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย ผู้อพยพเข้ามาแย่งงานแย่งอาชีพคนไทยไปถึงการฟอกขาวเป็นคนไทย ปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติดสุดท้ายคือการที่ไทยกลายเป็นแหล่งระดมทุนซื้อขายอาวุธส่งให้ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเมียนมา

ทั้งหมดที่เอย่ากล่าวมานี้คือผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย แต่ทว่ารัฐบาลไทยก็ดี กองทัพไทยก็ดี ยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ หรือจะเข้ามาเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ช่วยสร้างความสงบสุขในเมียนมา

เอย่าก็ไม่ได้อยากจะต่อว่ารัฐบาลและกองทัพไทยในเวลานี้เข้าใจว่าทั้งรัฐบาลไทยและกองทัพคงกำลังช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนกับสถานการณ์วาตภัยอยู่ แต่การละเลยปัญหาประเทศเพื่อนบ้าน คนที่ได้รับผลกระทบก็ไม่ใช่ใครอื่นนอกจากคนไทยด้วยกันเอง

สุดท้ายผู้นำรัฐบาลและผู้นำกองทัพไทยควรหัดมาถามชาวบ้านตาดำ ๆ ว่าเขารู้สึกอย่างไรที่มีต่างด้าวมากมายเพ่นพ่านในประเทศไทย

‘เมียนมา’ เตรียมเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่ม ‘BRICS’ เพื่อยกระดับ!! บทบาทของตน ในเวทีระดับโลก

(23 ต.ค. 67) ไม่นานมานี้มีสำนักข่าวหลายสำนักไม่ว่าจะมาจากฝั่งอินเดียหรือจีนรายงานตรงกันว่าเมียนมากำลังดำเนินการสมัครเข้าเป็นประเทศในกลุ่ม BRICS  ก่อนอื่นที่เราจะมารู้ว่าทำไมเมียนมาถึงสมัครเข้า BRICS เรามาทำความรู้จักกันก่อนว่า BRICS คืออะไร

BRICS เป็นการรวมกลุ่มกันของประเทศตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ ก่อตั้งขึ้นโดยสมาชิกผู้ก่อตั้ง 4 ประเทศ คือ บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย และจีน ในปี 2009 ซึ่งเริ่มแรกใช้ชื่อกลุ่มว่า BRIC โดยเป็นการนำอักษรตัวแรกของแต่ละประเทศมาเรียงต่อกัน ต่อมาได้รับแอฟริกาใต้เพิ่มเข้ามาในปี 2010 ทำให้เปลี่ยนไปเป็น BRICS และใช้มาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าต้นปี 2024 จะรับสมาชิกเพิ่มมาอีก 5 ประเทศอันได้แก่  อียิปต์, เอธิโอเปีย, อิหร่าน, ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และล่าสุดมี 34 ประเทศที่ยื่นคำร้องขอเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการแล้ว อันได้แก่ แอลจีเรีย อาเซอร์ไบจาน บาห์เรน บังกลาเทศ เบลารุส โบลิเวีย คิวบา ชาด สาธารณรัฐคองโก อิเควทอเรียลกินี เอริเทรีย ฮอนดูรัส อินโดนีเซีย คาซัคสถาน คูเวต ลาว มาเลเซีย เมียนมา โมร็อกโก นิการากัว ไนจีเรีย ปากีสถาน เซเนกัล ซูดานใต้ ศรีลังกา ปาเลสไตน์ ซีเรีย ไทย ตุรกี ยูกันดา อุซเบกิสถาน เวเนซุเอลา เวียดนาม และซิมบับเว

ข้อดีของการเป็นสมาชิกใน BRICS มีหลายประการกล่าวโดยสรุปคือ

1. การเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS จะช่วยยกระดับบทบาทของประเทศตนในเวทีระหว่างประเทศ 

2. ทำให้ประเทศที่เป็นสมาชิกมีจุดยืนในฐานะพหุภาคีและความสมดุลระดับโลก 

3. โอกาสที่จะเข้าถึงการลงทุนและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี อันยกระดับให้ประเทศมีการพัฒนามากขึ้น

4. สร้างความมั่นคงและเสถียรภาพในระดับภูมิภาค

5. ได้รับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้า

เฉกเช่นเดียวกันกับไทยที่มองหาโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนและเทคโนโลยีในการพัฒนาประเทศ รัฐบาลทหารเมียนมาก็แสวงหาลู่ทางในการที่จะลืมตาอ้าปากจากการถูกแซงชั่นจากประเทศตะวันตกและประเทศพันธมิตรของตะวันตกโดยมีหัวหอกเป็นอเมริกาด้วยเช่นกัน  จากที่เอย่าคาดการณ์แล้วหากเมียนมาเข้าเป็นสมาชิก BRICS ได้สำเร็จ เมียนมาจะบรรลุถึงการส่งออกสินค้าเกษตรของตนไปยังตลาดใหม่ๆโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศของ BRICS เอง  อีกทั้ง BRICS ยังเปิดโอกาสทางการค้าที่เสรีโดยไม่จำเป็นต้องค้าขายผ่านสกุลเงินใครเป็นสกุลเงินหลักแต่เปิดโอกาสให้ทำธุรกิจผ่านสกุลเงินของประเทศตนเองได้โดยตรงอันจะช่วยให้ลดปัญหาการได้เปรียบหรือเสียเปรียบอันเนื่องมาจากการใช้ระบบ SWIFT

อีกอย่างเมียนมาจะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ที่จะช่วยในการพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืนได้มากขึ้นหลังถูกโดดเดี่ยวมาตั้งแต่รัฐประหารและประเทศในกลุ่ม BRICS ก็น่าจะเข้ามาลงทุนในเมียนมามากขึ้นด้วยเหตุที่ค่าแรงถูกและยังมีที่ดินเป็นจำนวนมากที่ที่สามารถพัฒนาได้

สุดท้ายหากเกิดสงครามขึ้นมาประเทศในกลุ่ม BRICS ก็จะได้รับการช่วยเหลือทางอาหารจากประเทศในกลุ่มสมาชิกที่มีการส่งออกสินค้าเกษตรเป็นหลักซึ่งนอกจากไทยแล้วเมียนมาก็เป็นอีกประเทศที่มีการส่งออกสินค้าทางการเกษตรในราคาถูกและสามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดได้ดีเช่นกัน

South China Morning Post ระบุในถ้อยแถลงว่าทางรัฐบาลทหารเมียนมาแสดงความปรารถนาของเมียนมาที่จะเข้าร่วมกับกลุ่มประเทศ BRICS ในฐานะผู้สังเกตการณ์ระหว่างการเยือนมอสโคว์เมื่อไม่นานมานี้ และจากท่าทีของจีนและรัสเซียที่เป็นหัวเรือใหญ่ใน BRICS เชื่อว่าสามารถนำพาเมียนมาเข้าเป็น 1 ในสมาชิกของ BRICS ได้อย่างไม่ยากเย็นนัก

การที่ทางรัฐบาลเมียนมาคิดแบบนี้น่าจะเป็น 1 ในแผนระยะยาวในการสร้างเสถียรภาพของประเทศและสร้างความเจริญที่ยั่งยืนในประเทศอันจะส่งผลให้ความขัดแย้งในประเทศจบลงไวขึ้นนั่นเอง และนั่นก็รวมถึงการผลักดันผู้คิดต่างให้ออกไปอยู่นอกวงและกลายเป็นคนไร้สัญชาติในที่สุด

ส่องเบื้องลึกเบื้องหลัง ‘นางงามเมียนมา’ ทิ้ง เหตุรับไม่ได้กับพฤติกรรมเจ้าของเวที – วิธีให้คะแนนไม่แฟร์

ช่วงที่ผ่านมาเหมือนจะมีประเด็นใหญ่อยู่ 2 เรื่องที่ดูจะเป็นเรื่องใหญ่ในประเทศไทย

เรื่องแรกเหมือนเป็นเรื่องเป็นราวไม่รู้จบกับเวทีนางงามที่มีแต่เรื่องฉาวได้ทุกปี และปีนี้ก็เช่นกันกับเรื่องที่เกิดกับนางงามตัวแทนของเมียนมาและผู้จัดของเขา แต่ความต่างอยู่ตรงที่ฝั่งนางงามและผู้จัดขอยกเลิกสัญญาและไม่รับตำแหน่งด้วยเหตุผลการตัดสินที่ไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะเรื่องการโหวตที่ทางผู้จัดฝั่งเมียนมาอ้างว่ามีคนของเจ้าของฝั่งไทยพยายามให้โหวตโดยจ่ายเงินนอกระบบและรางวัล Country Popular Vote ที่ในนาทีสุดท้ายก่อนประกาศผลนางงามเมียนมาอยู่ในอันดับ 1 แต่ปรากฏว่าพอประกาศกลับไม่ใช่ชื่อเขา โดยเจ้าของฝั่งไทยออกมาบอกว่านับผลโหวตแค่นี้  Follower ซึ่งถ้าคิดแบบนี้ดูคงจะไม่แฟร์กระมัง  

อย่างไรก็ตามทั้งนางงามและผู้จัดฝั่งเมียนมาเลือกจะทิ้งมงกุฎและยกเลิกสัญญาหรือกล่าวง่าย ๆ คือเลือกจะทิ้งอนาคตเพราะความไม่เป็นธรรมนั้น แต่ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่าที่น่าตกใจคือผู้จัดฝั่งไทยกลับเป็นคนเล่นนอกเกมขุดคุ้ยอดีตมาด่า รวมถึงกล่าวหาว่าผู้จัดเมียนมาขายบริการและนางงามเมียนมาอยากได้ที่ 1 เพราะมีเสี่ยมาเปย์ หากข้อสังเกตของผู้เขียนเป็นจริงคือมันเป็นการเล่นนอกเกมส์ที่สกปรกมาก และไม่ดูเป็นมืออาชีพเลย อีกทั้งในโซเชียลฝั่งไทยก็ผสมโรงจนเหมือนดูจะขาดสติทั้งที่ควรจะคิดพิจารณาก่อนว่าใครเป็นผู้เสียโอกาสจากการเลือกทำแบบนี้แต่เขายังเลือกที่จะทิ้งโอกาสนั่นแปลว่ามีบางสิ่งไม่ชอบมาพากลหรือไม่

อีกทั้งการประกวดในปีนี้ได้มีหลายประเทศทั้งขอถอนตัวและถูกถอนออกก่อนไปนับ 10 ประเทศได้ ถ้าเอาคร่าว ๆ แค่ประเทศที่เป็นเรื่องนอกจากเมียนมาแล้วก็ยังมี

1. กัมพูชา ที่ทางกองประกวดอ้างว่าไม่มีความพร้อมในการจัดการประกวดกรณีมีคลิปหลุดเรือทานอาหารแต่ภายหลังก็มีภาพเรือที่ถูกเตรียมไว้หลุดออกมาพร้อมกับเหตุผลวว่าผู้จัดฝั่งไทยขอเปลี่ยนในนาทีสุดท้ายเพราะในขณะนั้นอาหารยังไม่เสร็จเพราะผู้จัดไม่รอ

2. ยูเครน โดยมิสแกรนด์ยูเครนให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศว่าเธอขอถอนตัวเพราะเธอไม่ได้พักผ่อนเลยตลอดเวลาในการประกวด 11 วันในการเก็บตัวเธอต้องตื่นและเข้าร่วมกิจกรรมจนถึงดึกดื่น ทั้งที่เธอเป็นไข้สูง 37.5-38.2 ตลอดทั้งวัน ทำให้เธอไม่สามารถรับได้ถึงมาตรฐานการประกวดเพราะแพทย์ประจำตัวของเธอที่พัทยาและแพทย์ของโรงแรม Wyndham พัทยา ได้บันทึกถึงสุขภาพที่เสื่อมลงของเธอ ซึ่งยืนยันว่าความดันโลหิตของเธออยู่ในระดับอันตราย นั่นทำให้เธอเลือกจะเก็บชีวิตมากกว่าเลือกจะชิงมงกุฎ

3. กรณีล่าสุดคือการปลดนางงามตัวแทนหมู่เกาะเวอร์จิ้น ของสหรัฐอเมริกาโดยให้เหตุผล 3 ข้อคือ
- เปลี่ยนแปลงสายสะพายอย่างเป็นทางการอย่างไม่สามารถแก้ไขได้ ทำลายโลโก้ขององค์กรและบ่อนทำลายความสำคัญของตำแหน่งที่ได้รับ
- ล้มเหลวในการใช้บริการเที่ยวบินที่องค์กรจัดให้ ส่งผลให้สูญเสียเงินหลายพันเหรียญสหรัฐ
- ไม่สนใจเสื้อผ้าที่ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการซึ่งองค์กรจัดซื้อและจัดเตรียมโดยผู้สนับสนุน โดยเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงการออกแบบชุดประจำชาติเดิม และไม่สวมชุดราตรีที่ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการ ซึ่งออกแบบโดยนักออกแบบควบคู่ไปกับองค์กรที่ได้รับการอนุมัติล่วง

เอาเป็นว่าเรื่องแบบนี้ผู้อ่านลองไปใช้ความคิดพิจารณาเองว่าทำไมการประกวดอื่นๆก็น่าจะมีปัญหาไม่ต่างกันแต่กลับไม่เคยมีข่าวพวกนี้ออกมา แต่ที่สำคัญคือการวิจารณ์ใดๆก็ตามที่เป็นการกระทำที่บูลลี่ทั้งต่อนางงามและผู้อยู่เบื้องหลังเป็นสิ่งที่ไม่ควรเพราะนี่เราคือภาพลักษณ์ของประเทศไม่ใช่แค่ปัจเจกชนที่แสดงออกสู่สายตาชาวโลก อย่าลืมว่าถ้าเราไม่อยากให้ใครมาดูถูกชาติเราหรือคนในชาติเรา ก็ควรเริ่มต้นจากการไม่ดูถูกใครเช่นกัน

อีกเรื่องเป็นเรื่องที่ ครม. เห็นชอบจะมอบสัญชาติไทยให้แก่ คนไร้สัญชาติ 483,000 คน โดยตั้งเป้ามอบให้แก่คน 4 กลุ่มที่เป็นผู้ที่อพยพมาอยู่ที่ประเทศไทยเป็นเวลานาน
กลุ่มที่ 1 คือ ตั้งแต่ปี 2527-2542 มีประมาณ 120,000 คน
กลุ่มที่ 2 เมื่อปี 2548-2554 มีประมาณ 215,000 คน
ส่วนกลุ่มที่ 3 กลุ่มบุตรที่เกิดในราชอาณาจักรไทย ของชนกลุ่มน้อย มีประมาณ 29,000 คน
กลุ่มที่ 4 กลุ่มบุตรที่เกิดในราชอาณาจักรไทย ของบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนโดยมีการสำรวจไปแล้วประมาณ 113,000 คน

ประเด็นคือทาง ครม. รับทราบไหมว่าที่ผ่านมามีการคอร์รัปชันทางทำบัตรหัว 0 และสวมบัตรคนตายกันมากมาย โดยเฉพาะราคาสวมบัตรคนตายพุ่งไปเป็นหลักล้านและนั่นเองทำให้คนบางกลุ่มไม่เชื่อว่าจำนวนนี้คือจำนวนที่แท้จริง แต่นี่คือการฟอกขาวในคนต่างด้าวจำนวนหนึ่งที่มีเงินพอหาซื้อบัตรหัว 0 หรือบัตรคนตายเข้ามาเป็นคนไทยได้อย่าง

เอย่าขอแนะนำว่ารัฐบาลควรให้มีการสอบสัมภาษณ์ด้วยก็ดีนะ ถ้าอยู่ไทยมานานจริงควรพูดไทยได้ อ่านไทยคล่อง เขียนไทยเป็น มิฉะนั้นคงได้ฟอกขาวให้ตนบางคนได้เป็นคนไทยสมใจอยาก

เมื่อไบเดนพลาด ทรัมป์อาจพลิกกระดาน ใช้การทูตฟื้นสัมพันธ์ ลดแซงชั่นเนปิดอว์

เป็นที่ทราบกันมาพอสมควรถึงการที่ชาติตะวันตกให้การช่วยเหลือกองกำลังป้องกันตนเอง (PDF)​ และกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหลายที่ต่อสู้กับกองทัพเมียนมาที่ผ่านมา ซึ่งในอดีตมีการส่งทั้งกำลังบำรุงและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ซึ่งส่วนใหญ่มาจากฝั่งไทย

และสิ่งที่เกิดขึ้นมาก่อนที่จะมีการเลือกตั้งคือการทะลักของผู้อพยพไปยังประเทศรอบข้างเมียนมาไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดียและไทย แต่ทว่าจีนกับอินเดียก็ใช้นโยบายผลักดันคนที่แห่หนีออกมาให้กลับประเทศซึ่งต่างจากไทยที่อ้าแขนรับแถมจะทำให้อยู่แบบถูกกฎหมายเสียด้วย

เอาเป็นว่าเอย่าขอไม่บ่นเรื่องนี้แต่มาเข้าเรื่องระหว่างอเมริกากับเมียนมาดีกว่า ในสมัยประธานาธิบดี โจ ไบเดน อเมริกาและชาติตะวันตกแสดงออกอย่างชัดเจนว่าสนับสนุนชนกลุ่มน้อยทั้งทางตรงหรือทางอ้อมก็ดี เราจะเห็นได้จากคลิปที่หลุดออกมาตามสื่อโซเชียลจนบางทีก็ต้องขอบคุณคนเหล่านั้นที่ถ่ายภาพเบื้องหลังให้ชมกัน แต่การสนับสนุนทั้งกลุ่มต่อต้านรัฐบาลก็ดี ชนกลุ่มน้อยก็ดีเป็นการผลักดันให้กองทัพเมียนมาหันหน้าหาจีนและรัสเซียมากขึ้น ยิ่งจีนและอินเดียเป็นพันธมิตรแนบแน่นกับรัสเซียด้วยแล้วทำให้เส้นทางตะวันตกจากจีนสู่อินเดียหากสงครามในเมียนมาสงบลงดินแดนฝั่งนี้แทบจะเป็นของกลุ่มโลกใหม่ทั้งแถบ

ซึ่งคิดว่านี่เป็นเกมส์ที่ไบเดนก้าวพลาดมาก แต่ทรัมป์ก็น่าจะมองเห็น หากทรัมป์ยังให้การสนับสนุนสงครามต่อไป ไม่เพียงแต่เมียนมาจะยิ่งตอบโต้อย่างแข็งกร้าวกับสหรัฐมากขึ้น และถ้าวันหนึ่งเกิดเหตุการณ์สงครามโลกจริงละก็ ประเทศอย่างเมียนมาจะเป็นตัวสำคัญในการสนับสนุนด้านอาหารแก่ประเทศที่เป็นพันธมิตรเขา

เอย่ามองว่าทรัมป์น่าจะใช้วิธีทางการทูตเข้าหากองทัพเมียนมา ลดหรือเลิกการแซงชั่นอันจะส่งผลให้ความสัมพันธ์ทางการทูตของ 2 ประเทศดีขึ้นด้วยเช่นกัน

เรื่องเหล่านี้อาจจะลุกลามไปถึงการเลิกสนับสนุนกลุ่มต่อต้านหรือพลิกขั้วขายกลุ่มต่อต้านให้รัฐบาลเมียนมานั้นไหมก็ไม่อาจจะทราบได้คงต้องดูต่อไป แต่ที่สำคัญคือจะเหลือทางไหนที่จะให้สหรัฐเดินเพื่อรักษาเสถียรภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้มากกว่า

งานนี้ดูว่าจะมีความเป็นไปได้โดยเฉพาะการที่ทรัมป์แสดงออกในการไม่แยแสคนต่างด้าวในประเทศตนเองพร้อมไล่ออกจากสหรัฐนี่ก็เป็นการแสดงออกว่าจากนี้กลุ่มต่อต้านรัฐบาลเมียนมาคงไม่ได้อยู่สุขสบายเหมือนในอดีตอีกต่อไปแน่นอน

ปักกิ่งชิงเดินเกมเหนือสหรัฐ เสริมสัมพันธ์เมียนมา

(19 พ.ย. 67) จีนชิงลงมือก่อนสร้างพันธมิตรกับเมียนมาก่อนสหรัฐ ไม่นานมานี้มีข่าวบนสื่อสังคมออนไลน์ฝั่งเมียนมาว่าทางรัฐบาลจีนได้จับกุม เผิง ต้า ซุน ผู้นำกองกำลังโกกั้ง (MNDAA) ที่บ้านพักในเมืองคุนมิง ประเทศจีน. ตั้งแต่สิ้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา  เนื่องจากทางจีนต้องการให้ทางกองกำลังโกกั้งคืนเมืองล่าเสี้ยวให้กับรัฐบาลเมียนมา  นอกจากนี้ เป่า จุน เฟิง รองผู้บัญชาการกองกำลังว้า (UWSA) ที่ถูกควบคุมตัวจากปฏิบัติการ1027 ก็มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับกลุ่มจีนเทาในเมืองเล้าก์ก่าย  ซึ่งขณะนี้ก็ยังถูกควบคุมตัวต่อไปเพื่อกดดันกลุ่มกองกำลังว้าที่คอยให้การช่วยเหลือกแงกำลังโกกั้ง เข้ายึดเมืองล่าเสี้ยวจากกองทัพเมียนมา

การแสดงของเช่นนี้เป็นการแสดงออกที่ชัดเจนที่สุดแล้วถึงรัฐบาลจีนที่พยายามจะดึงรัฐบาลทหารเมียนมาเข้ามาเป็นพวกโดยพยายามที่จะสร้างความสงบสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว  ซึ่งต่างจากในอดีตที่รัฐบาลจีนจะเป็นผู้สนับสนุนกองกำลังโกกั้งและว้า

ผมเปลี่ยนทิศของจีนครั้งนี้เป็นการเลือกข้างที่ชัดเจนครั้งแรกตั้งแต่มีการรัฐประหารแม้จีนจะเอ่ยปากกับทางเมียนมาว่าจีนยอมรับรัฐบาลทหารเมียนมาและพยายามช่วยเหลือด้านต่างๆให้แก่เมียนมา  แต่ก็ยังไม่มีครั้งใดที่ชัดเจนเท่าครั้งนี้ที่ถึงกับยอมหักคอพันธมิตรเก่าอย่างว้าและโกกั้งเพื่อให้ศิโรราบต่อกองทัพเมียนมา

จากข่าวสารที่ปรากฏออกมาหากทางจีนสามารถกดดันจนกองกำลังโกกั้ง ยอมปฏิบัติตามข้อตกลงกับกองทัพเมียนมาได้เมื่อไร ทางกองทัพเมียนก็จะสามารถเข้ายึดคืนเมืองล่าเสี้ยวและพื้นที่สำคัญในยุทธศาสตร์ในรัฐฉานตอนเหนือได้อย่างเบ็ดเสร็จเป็นอันปิดฉากการรบทางเหนืออย่างถาวรและก็เป็นไปได้ว่าสิ่งที่จีนจะได้ตอบกลับมานั้นย่อมเป็นผลประโยชน์อันมหาศาลที่ทางรัฐบาลเมียนมาจะให้ในอนาคตนี่ไม่นับกับการลงทุนที่จีนได้ลงทุนไปแล้วในนโยบายเส้นทางสายไหมยุคใหม่ที่จะเปิดเส้นทางออกสู่มหาสมุทรอินเดียผ่านเมียนมาลงสู่ทะเลทางอ่าวเบงกอล

ล่าสุดฝั่งอินเดียก็มีข่าวเรื่องกดดันขับผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาที่อยู่ในเมืองชายแดนเมียนมาอย่างรัฐมิโซรัม มณีปุระ นาคาแลนด์ และอรุณาจัลประเทศให้กลับสู่มาตุภูมิเช่นกัน  คงเหลือเพียงแนวรบฝั่งไทยว่าหลังการเปลี่ยนแปลงประธานาธิบดีสหรัฐทางฝ่ายความมั่นคงไทยจะเลือกปฏิบัติต่อเมียนมาอย่างไร


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top