Tuesday, 22 April 2025
เซเลนสกี

ทรัมป์ซัดเซเลนสกี ขู่ให้รีบเลือกตั้ง กดดันถ้าไม่เร่งสันติภาพ ยูเครนอาจถึงจุดจบ

(20 ก.พ.68) อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ วิจารณ์ประธานาธิบดียูเครน โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี อย่างรุนแรง โดยเรียกเขาว่าเป็น "เผด็จการที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง" และเตือนว่าหากไม่เร่งสร้างสันติภาพ ยูเครนอาจต้องเผชิญความเสี่ยงที่จะสูญเสียประเทศ คำพูดของทรัมป์ตอกย้ำความตึงเครียดระหว่างผู้นำทั้งสองและสร้างความกังวลให้กับพันธมิตรยุโรป

ถ้อยแถลงดังกล่าวมีขึ้นเพียงหนึ่งวันหลังจากที่ทรัมป์กล่าวโทษยูเครนว่าเป็นต้นเหตุของสงครามที่ปะทุขึ้นในปี 2565 จุดยืนนี้ทำให้พันธมิตรของสหรัฐฯ ในยุโรปวิตกกังวลว่าแนวทางของทรัมป์อาจเอื้อประโยชน์ต่อรัสเซียมากกว่ายูเครน

ทรัมป์โพสต์บนโซเชียลมีเดียว่า “เผด็จการเซเลนสกีควรเร่งแก้ปัญหา เพราะถ้ายังไม่ลงมือ จะไม่มีประเทศให้ปกครองอีกต่อไป”

แม้เพิ่งกลับมาดำรงตำแหน่งได้ไม่นาน ทรัมป์ก็ปรับเปลี่ยนนโยบายของสหรัฐฯ ต่อสงครามยูเครน-รัสเซียอย่างมีนัยสำคัญ โดยละทิ้งแนวทางการโดดเดี่ยวรัสเซีย มีการติดต่อพูดคุยโดยตรงกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน และมีการจัดประชุมระดับสูงระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซีย ขณะที่ยูเครนถูกกันออกจากเวทีเจรจา

ตามกำหนดการเดิม วาระการดำรงตำแหน่งของเซเลนสกีจะสิ้นสุดลงในปี 2567 แต่การเลือกตั้งยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากกฎอัยการศึกที่บังคับใช้ตั้งแต่รัสเซียเริ่มรุกรานยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565

คำพูดของทรัมป์มีขึ้นไม่นานหลังจากเซเลนสกีออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า อดีตผู้นำสหรัฐฯ ตกเป็นเหยื่อของ “ข่าวปลอมจากรัสเซีย” ที่กล่าวหายูเครนว่าเป็นฝ่ายจุดชนวนสงคราม ทั้งที่ความขัดแย้งเริ่มต้นจากการรุกรานของรัสเซียเมื่อสามปีก่อน

นอกจากนี้ เซเลนสกียังปฏิเสธคำกล่าวอ้างของทรัมป์ที่ว่า คะแนนนิยมของเขาในยูเครนเหลือเพียง 4% โดยระบุว่าข้อมูลดังกล่าวมาจากแหล่งข่าวของรัสเซีย และยืนยันว่าเขายังได้รับการสนับสนุนจากประชาชน

“เรามีหลักฐานว่าข้อมูลเหล่านี้ถูกเผยแพร่ผ่านช่องทางของรัสเซีย น่าเสียดายที่อดีตประธานาธิบดีทรัมป์หลงเชื่อ” เซเลนสกีกล่าวในการให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ของยูเครน

เซเลนสกีตกบัลลังก์ลูกรักสหรัฐฯ หมดสิทธิ์อ้อนวอชิงตัน หลังพ้นยุคไบเดน

(21 ก.พ.68) เพียงหนึ่งเดือนหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กลับสู่ทำเนียบขาว ท่าทีของเขาที่มีต่อโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน กลับแตกต่างจากอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน อย่างสิ้นเชิง

หากย้อนไปในยุคของโจ ไบเดน เขามักหยอดคำหวานซึ่งกันและกันหลายครั้ง โดยเมื่อปลายปี 2022 ไบเดนเคยกล่าวกับเซเลนสกีว่า "เป็นเกียรติที่ได้ยืนเคียงข้างคุณ" พร้อมยกย่องเขาว่าเป็น 'บุคคลแห่งปี'

ขณะที่ในปี 2023 ไบเดนกล่าวสุนทรพจน์ที่กรุงวอร์ซออย่างดุดันราวกับฉากในภาพยนตร์ฮอลลีวูด โดยกล่าวว่าเซเลนสกีเป็น "บุรุษผู้มีความกล้าหาญที่ถูกหล่อหลอมจากไฟและเหล็กกล้า" และเป็นผู้นำของ "รัฐบาลที่ได้รับเลือกตามระบอบประชาธิปไตยและเป็นตัวแทนของประชาชนยูเครน"

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของไบเดนต่างยกย่องเซเลนสกีอย่างต่อเนื่อง อาทิ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ที่ยกให้เซเลนสกีเป็นผู้นำที่มี "ความกล้าหาญและความสำเร็จอย่างไม่ธรรมดา" ขณะที่ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหม กล่าวในปี 2023 ว่า "การต่อสู้เพื่ออิสรภาพของยูเครนเป็นหนึ่งในภารกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคของเรา"

นอกจากคำชมแล้ว รัฐบาลไบเดนยังให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนยูเครนอย่างไม่ลดละ โดยในเดือนมิถุนายน 2024 ไบเดนกล่าวว่า "เราจะยืนเคียงข้างยูเครนจนกว่าพวกเขาจะได้รับชัยชนะ"

ถึงขนาดที่บลิงเคนเคยไปเยือนสถานีรถไฟใต้ดินในเคียฟเมื่อเดือนพฤษภาคม 2024 และเล่นเพลง Rockin' in the Free World ของนีล ยัง พร้อมประกาศว่า "เราจะอยู่เคียงข้างคุณ และจะยืนหยัดจนกว่ายูเครนจะมีความมั่นคงและอธิปไตยที่ได้รับการรับรอง"

ตรงข้ามกับแนวทางของโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเขามักโพสต์ลง Truth Social กล่าวหาว่าเซเลนสกีติดอยู่ใน 'วงจรข้อมูลเท็จ' ของรัสเซีย "ลองคิดดูให้ดี นักแสดงตลกที่พอไปวัดไปวาได้อย่างเซเลนสกี สามารถโน้มน้าวให้สหรัฐใช้เงินกว่า 350,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อเข้าสู่สงครามที่ไม่มีวันชนะ สงครามที่ไม่ควรเกิดขึ้นแต่แรก" 

"แถมเซเลนสกียังยอมรับเองว่า เงินครึ่งหนึ่งที่เราส่งไปให้ ‘หายไป’ เขาปฏิเสธที่จะจัดการเลือกตั้ง คะแนนนิยมในยูเครนต่ำเตี้ย และสิ่งเดียวที่เขาทำได้ดีคือหลอกใช้ไบเดนได้อย่างแยบยล" ทรัมป์ระบุ 

"เผด็จการที่ไม่มีการเลือกตั้ง เซเลนสกีควรรีบจัดการตัวเองก่อนที่เขาจะไม่มีประเทศเหลือให้ปกครองอีกต่อไป" ทรัมป์เตือน

ก่อนหน้านี้ ทรัมป์เคยประชดประชันเซเลนสกีในช่วงหาเสียงเลือกตั้งปี 2024 ว่า "เป็นนักขายที่เก่งที่สุดในบรรดานักการเมือง" แต่ครั้งนี้ภายหลังทรัมป์กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ อีกสมัย เขากล่าวหาเซเลนสกีอย่างตรงไปตรงมาว่าเป็นนักต้มตุ๋นและจอมเผด็จการ

ทรัมป์ยังส่งสัญญาณถึงแนวทางใหม่ของรัฐบาลสหรัฐที่มีต่อยูเครน โดยเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ เขายืนยันว่าเซเลนสกีจะไม่ได้เข้าร่วมการประชุมระหว่างสหรัฐและรัสเซียที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบีย และกล่าวว่า "ผมไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องจริงจัง" ที่ยูเครนจะเข้าร่วม NATO ซึ่งเป็นจุดยืนที่รัสเซียถือเป็นเส้นตายมาโดยตลอด

ก่อนหน้านั้นเพียงสองวัน ทรัมป์ได้เสนอข้อตกลงให้ยูเครน โดยระบุว่าสหรัฐอาจให้ความช่วยเหลือหากยูเครนมอบทรัพยากรแร่หายากมูลค่า 500,000 ล้านดอลลาร์เป็นการแลกเปลี่ยน ซึ่งแน่นอนว่าเซเลนสกีปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว

จากที่เคยได้รับการเชิดชูในยุคไบเดน เซเลนสกีกลับต้องเผชิญกับแรงกดดันจากผู้นำสหรัฐคนใหม่ที่มองว่าเขาเป็นภาระและอุปสรรคของนโยบายใหม่ของอเมริกา ขณะที่ความช่วยเหลือจากวอชิงตันก็เริ่มไม่แน่นอนเช่นกัน

ในช่วงเวลาที่ยูเครนกำลังต้องการความช่วยเหลือจากพันธมิตรอย่างยิ่ง คำถามสำคัญคือ เซเลนสกีจะสามารถรักษาความสัมพันธ์กับสหรัฐได้หรือไม่ ท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

‘ทรัมป์ – เซเลนสกี’ ปะทะคารมเดือดต่อหน้าสื่อ สุดท้ายดีลแร่ธาตุหายากล่มไม่เป็นท่า

(1 มี.ค.68) เอพี รายงานความคืบหน้าหลังการหารือข้อตกลงธาตุหายาก หรือธาตุแรร์เอิร์ธระหว่าง ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน กับ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐอเมริกา เมื่อวันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ ลงเอยด้วยความล้มเหลว

โดยเซเลนสกียืนกรานว่า จะไม่เข้าร่วมการเจรจาสันติภาพกับรัสเซีย จนกว่าจะมีหลักประกันด้านความปลอดภัยในการต่อต้านการโจมตีอีกครั้ง

ก่อนเสริมว่า การโต้เถียงอย่างดุเดือดกับประธานาธิบดีทรัมป์นั้น “ไม่ดีสำหรับทั้งสองฝ่าย” และว่า ทรัมป์ซึ่งยืนกรานว่าประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย พร้อมจะยุติสงครามที่ยืดเยื้อมากว่า 3 ปี จำเป็นต้องเข้าใจว่ายูเครนไม่สามารถเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อรัสเซียได้ในทันที ขณะที่นายทรัมป์ตำหนินายเซเลนสกีว่าไม่ให้เกียรติและยกเลิกการลงนามข้อตกลง

การประชุมพิเศษที่ห้องทำงานรูปไข่ของทำเนียบขาวในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เปลี่ยนจากการหารือที่อาจสร้างประวัติศาสตร์ให้กลายเป็นเหตุที่สร้างความตกตะลึงและอาจส่งผลกระทบไปทั่วโลก กำหนดเดิมนายเซเลนสกีคาดว่าจะลงนามในข้อตกลงที่อนุญาตให้สหรัฐเข้าถึงแร่ธาตุหายากของยูเครนได้มากขึ้น และจัดงานแถลงข่าวร่วมกัน แต่แผนดังกล่าวถูกยกเลิก หลังมีการโต้เถียงดุเดือดระหว่างสองผู้นำต่อหน้าสื่อมวลชน และยังไม่ชัดเจนว่าการพลิกผันครั้งนี้ จะส่งผลต่อข้อตกลงที่นายทรัมป์ยืนกรานว่ายูเครนจำเป็นต้องชดใช้เงินช่วยเหลือของสหรัฐกว่า 180,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 6.1 ล้านล้านบาทอย่างไร

เซเลนสกีและคณะเดินทางออกจากทำเนียบขาวไม่นาน หลังจากนายทรัมป์ตะโกนใส่ และแสดงออกว่าดูถูกอย่างเปิดเผย ทรัมป์กล่าวกับเซเลนสกีว่า “คุณกำลังพนันกับสงครามโลกครั้งที่สามและสิ่งที่คุณทำอยู่นั้นไม่เคารพประเทศนี้เลย ประเทศนี้สนับสนุนคุณมากกว่าที่หลายคนบอกว่าควรสนับสนุนเสียอีก”

ช่วง 10 นาทีสุดท้ายของการประชุมเกือบ 45 นาที กลายเป็นการปะทะคารมอย่างตึงเครียดระหว่างนายทรัมป์ รองประธานาธิบดีเจดี แวนซ์ ของสหรัฐ และนายเซเลนสกี ซึ่งต้องการกดดันนายทรัมป์ไม่ให้ละทิ้งยูเครนและเตือนว่าอย่าไว้ใจนายปูตินมากเกินไป เพราะผู้นำรัสเซียล่มข้อตกลงหย่าศึกด้วยตัวเองมากถึง 25 ครั้ง

แต่นายทรัมป์กลับตะโกนใส่นายเซเลนสกี ก่อนตอบว่า นายปูตินไม่ได้ทำลายข้อตกลงกับตน และส่วนใหญ่หลบเลี่ยงคำถามเกี่ยวกับการเสนอหลักประกันความปลอดภัยให้กับยูเครน

สถานการณ์ยิ่งตึงเครียดหลังจากแวนซ์ท้าทายเซเลนสกีว่า “ท่านประธานาธิบดี ด้วยความเคารพผมคิดว่าการที่คุณมาที่ห้องรูปไข่เพื่อพยายามฟ้องร้องเรื่องนี้ต่อหน้าสื่ออเมริกันถือเป็นการไม่ให้เกียรติ”

เซเลนสกีพยายามคัดค้าน และทำให้นายทรัมป์พูดเสียงดังว่า “คุณกำลังพนันกับชีวิตของผู้คนนับล้าน” ในช่วงหนึ่งนายทรัมป์ประกาศว่าตัวเองอยู่ “ตรงกลาง” และไม่ได้อยู่ฝ่ายยูเครนหรือรัสเซียในความขัดแย้งนี้

ทั้งยังเยาะเย้ยความเกลียดชัง ที่เซเลนสกีมีต่อปูตินว่าเป็นอุปสรรคต่อสันติภาพ “คุณเห็นความเกลียดชังที่เขามีต่อปูตินไหม มันยากมากสำหรับผมที่จะทำข้อตกลงด้วยความเกลียดชังแบบนั้น”

ขณะที่พรรคเดโมแครตวิจารณ์นายทรัมป์ และรัฐบาลทันทีที่ล้มเหลวการบรรลุข้อตกลงกับยูเครน นายชัค ชูเมอร์ หัวหน้าวุฒิสภาพรรคเดโมแครต กล่าวว่า ทรัมป์และแวนซ์ “กำลังทำงานสกปรกให้ปูติน”

นายกฯอังกฤษ เคียร์ สตาร์เมอร์ ต้อนรับประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี เมื่อบินมาเจรจาถึงลอนดอน หลังปะทะกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

(2 มี.ค. 68) ฝูงชนในกรุงลอนดอนต้อนรับ ประธานาธิบดีเซเลนสกี อย่างล้นหลาม เมื่อเขาเดินทางมาเจรจาที่สำนักนายกรัฐมนตรีบนถนนดาวนิง ก่อนประชุมผู้นำยุโรปในวันนี้ ที่ เซเลนสกี จะร่วมประชุมด้วยเพื่อหารือ แผนสันติภาพยูเครน

“ผมหวังว่าคุณคงได้ยินเสียงเชียร์บนท้องถนน นั่นคือประชาชนแห่งสหราชอาณาจักรออกมาแสดงให้เห็นว่าพวกเขาสนับสนุนคุณมากแค่ไหน และเรามุ่งมั่นอย่างที่สุดที่จะยืนเคียงข้างคุณ” สตาร์เมอร์กล่าวกับเซเลนสกีและว่าเขาได้รับ “การสนับสนุนเต็มที่จากทั่วสหราชอาณาจักร”

“เรายืนเคียงข้างคุณตราบนานเท่านาน” นายกฯอังกฤษ ย้ำ 

ด้านเซเลนสกีเผยว่า เขาได้คุย “เรื่องสำคัญและอบอุ่น” กับสตาร์เมอร์ หารือเรื่องเสริมสร้างสถานะยูเครนให้แข็งแกร่ง และได้การรับประกันความมั่นคงที่เชื่อถือได้

ก่อนพบกับนายกฯ อังกฤษเซเลนสกีเพิ่งปะทะคารมกับทรัมป์ที่ห้องทำงานรูปไข่ในทำเนียบขาว เมื่อวันศุกร์ ( ก.พ.) ทรัมป์ขู่จะเลิกสนับสนุนยูเครน ที่ถูกรัสเซียรุกรานมานานสามปี ร้อนถึงประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงของฝรั่งเศสต้องทำหน้าที่เป็นกาวใจคุยกับทั้งสองฝ่ายและเรียกร้องผ่านสื่อให้ใจเย็นๆ

มันจบแล้วกี้ บทเรียนของ ‘ขี้ข้า’ ประเทศมหาอำนาจ หลัง ‘เซเลนสกี’ ถูกถีบออกมาจาก ‘ห้องทำงานรูปไข่’

เป็นมีมไปทั่วโลกหลังที่ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ เรียกประธานาธิบดีของยูเครน โวโลดีมีร์ เซเลนสกีไปหารือแต่สุดท้ายกลายเป็นภาพที่เซเลนสกีถูกถีบออกมาจากห้องทำงานรูปไข่ นั่นทำให้ประเทศอื่นๆที่ยืนเคียงข้างยูเครนอย่างยุโรปสั่นคลอน เพราะหากมองกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของสงครามคือการที่ยูเครนต้องการจะเข้านาโต้ โดยการสนับสนุนจากชาติสมาชิกนาโต้โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ในเวลานั้น

ย้อนกลับไปในการประชุมสุดยอดผู้นำองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO (North Atlantic Treaty Organization) ประจำปี 2024 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 9-11กรกฎาคมที่ผ่านมา มีการประกาศถึงกร้าวในที่ประชุม NATO ระบุข้อความชัดเจนในปฏิญญาวอชิงตันว่า “พันธมิตร NATO จะยับยั้งและป้องกันภัยคุกคามทางอากาศและขีปนาวุธทั้งหมดด้วยการปรับปรุงการป้องกันทางอากาศและขีปนาวุธแบบผสมผสาน” และยืนยันว่า “NATO ยังคงมุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามขั้นตอนที่จำเป็นทั้งหมด เพื่อรับประกันความน่าเชื่อถือ ความมีประสิทธิผล ความปลอดภัย และความมั่นคงของภารกิจป้องปรามด้วยนิวเคลียร์” โดยขณะนั้นพี่ใหญ่ของนาโต้คือ สหรัฐอเมริกา นั่นเอง

คำถามคือเวลาเปลี่ยน คนเปลี่ยน นโยบายระดับชาติเปลี่ยนได้หรือ….?

ต้องยอมรับข้อหนึ่งว่าชาติสมาชิกนาโต้ในยุโรปต้องไขว้เขวเมื่อประธานาธิบดีทรัมป์ขึ้นมาและประกาศกร้าวว่าจะเป็นคนกลางเพื่อจบปัญหาสงครามยูเครน จุดนี้นี่แหละที่ทำให้การสนทนา 10 นาทีสุดท้ายเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างยูเครนและสหรัฐจาก ดีล เป็น โดดเดี่ยว  หากมองว่ามาถึงวันนี้ที่ยูเครนเข้าประเทศชาติ และพลเรือนมาเป็นตัวแปรในขณะที่สหรัฐอเมริกาไม่ได้รับผลกระทบอะไรเลย แถมยังมาขอเรียกร้องค่าใช้จ่ายที่วันนั้นสัญญาว่าจะให้เองตามที่ปรากฏในหน้าสื่อ ทำให้เซเลนสกี ถึงเลือกที่จะพูดว่าก็ใช่ไงสงครามมันไม่ได้เกิดที่หน้าบ้านคุณนี่ และคำนี้นี่แหละที่ทำให้โดนัลด์ ทรัมป์สติหลุด

นับตั้งแต่เหตุการณ์ที่อ่าวเพิร์ล ฮาร์เบอร์มา อเมริกาก็ซ่อนตัวอยู่หลังสงครามมาตลอด แม้ฝ่ายตนจะบอบช้ำจากการทำสงครามแต่หากเทียบกับคนในประเทศที่อเมริกาไปทำสงครามนั้น เทียบความสูญเสียกันไม่ได้เลยแถมการทำสงครามที่ผ่านมาหลายครั้งอเมริกาเลือกจะใช้วิธีการใช้ตัวแทนในการทำสงครามไม่ว่าจะในยูเครน ตะวันออกกลางหรือแม้กระทั่งใกล้บ้านเราอย่างผู้ก่อการร้ายทางภาคใต้หรือข้างบ้านเราอย่างสงครามระหว่างกองทัพกะเหรี่ยงและกองทัพเมียนมา  หลายครั้งจะเห็นได้ว่าการที่ฝ่ายต่อต้านมีอาวุธที่ทันสมัยขนาดกองทัพเมียนมายังไม่มีนั่นคงไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆกองกำลังเหล่านี้จะสามารถผลิตมันขึ้นมาเองได้หากไม่ได้มีเงินทุนจัดหาและสนับนุน

จากที่มีรายการรายงานเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาว่า มีการตรวจพบหลักฐานสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่ากลุ่ม NGO สัญชาติอเมริกันและ USAIDS ให้การสนับสนุนทั้งด้านเงินทุนและยุทโธปกรณ์ให้กับเครือข่ายกบฏในพื้นที่ โดยหลักฐานที่พบประกอบด้วยเอกสารการโอนเงิน จากเครือข่าย NGO และ USAIDS ไปยังบุคคลที่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มกบฏ  อาวุธและอุปกรณ์สื่อสาร บางส่วนที่ตรวจพบมีเครื่องหมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ NGO ต่างชาติ  รวมถึงข้อมูลปฏิบัติการลับ ที่บ่งชี้ว่าเงินทุนที่ได้รับจากองค์กรเหล่านี้ ถูกนำไปใช้เพื่อสนับสนุนกิจกรรมที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของไทย  นั่นเป็นหลักฐานชั้นดีที่แสดงให้เห็นว่าองค์กรเหล่านี้เคลื่อนไหวภายใต้คำสั่งลับของสหรัฐฯนั่นเอง  เช่นกันในฝั่งเมียนมาก็มีรายงานว่าองค์กร NGO อย่าง Free Burma Ranger ก็เป็นหนึ่งในองค์กรที่รับเงินทุนจาก NGO เหล่านี้ด้วยเช่นกันในการสนับสนุนสงครามให้แก่กองกำลังกะเหรี่ยงที่ทำสงครามกับกองทัพเมียนมาในช่วงเวลาที่ผ่านมา

ทรัมป์มองออกว่าการที่เขาจ่ายเงินไปในสงครามแบบนี้มันคือการจ่ายเงินไปให้คนอื่นใช้แต่ผลที่ได้ในแต่ละที่ไม่ได้เกิดประโยชน์กับสหรัฐฯอย่างเป็นรูปธรรมเลย หากสหรัฐฯจะมองใหม่ว่าเข้าไปขอคืนดีกับผู้นำกองทัพเมียนมาและช่วยเมียนมาแก้ปัญหาภายในประเทศนั่นอาจจะทำให้เมียนมามีทางเลือกที่จะไม่ไปคบค้ากับจีนและรัสเซียมากไปกว่านี้  ซึ่งน่าจะเป็นการหยุดการแผ่ขยายอำนาจของจีนและรัสเซียในภูมิภาคนี้ได้ด้วย

สุดท้ายเอย่าก็หวังแค่ว่ากลุ่มกองกำลังทั้งหลายคงได้ตระหนักถึงสิ่งที่สหรัฐฯ กระทำกับยูเครน  หากกองกำลังเหล่านั้นคิดแค่เพียงว่า “สู้แล้วรวย” คนซวยคือชาวบ้านที่เป็นกองเชียร์ต่อไป แต่หากคิดได้ว่าที่เขาให้มาไม่มีอะไรฟรี  หากคิดถึงคนของตัวเองในวันที่สหรัฐฯจะมาขอค่าอาวุธคืนโดยจ่ายเป็นทรัพยากรที่คุณมี  คุณจะยอมไหม  อย่างน้อยวันนี้กี้ก็เห็นธาตุแท้ของอเมริกาแล้ว

‘เซเลนสกี’ เยือนซาอุฯ เข้าเฝ้าเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน หารือความร่วมมือทวิภาคีท่ามกลางสงครามยูเครน-รัสเซีย

(11 มี.ค. 68) สื่อซาอุดีอาระเบียรายงานว่า เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย ได้พบปะกับประธานาธิบดียูเครน โวโลดีเมียร์ เซเลนสกี ที่พระราชวังอัล-ซาลาม ในเมืองเจดดาห์ เมื่อช่วงค่ำวันจันทร์ (10 มี.ค.) โดยมีพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะหารือเกี่ยวกับประเด็นสำคัญระดับทวิภาคีและระดับนานาชาติ

การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างยูเครนและรัสเซีย ขณะที่ซาอุดีอาระเบียยังคงรักษาบทบาทเป็นมหาอำนาจในตะวันออกกลางที่ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ทางการทูตและเศรษฐกิจในระดับโลก

สำนักข่าวของทางการซาอุดีอาระเบียระบุว่า มกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน และประธานาธิบดีเซเลนสกี ได้หารือถึงแนวทางการกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และพลังงานระหว่างสองประเทศ รวมถึงการสนับสนุนยูเครนในด้านมนุษยธรรมและการฟื้นฟูประเทศจากผลกระทบของสงคราม

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ความมั่นคงระหว่างประเทศ รวมถึงความพยายามในการหาทางออกทางการทูตสำหรับความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่

แหล่งข่าวระบุว่า ซาอุดีอาระเบีย มีบทบาทสำคัญในเวทีโลกด้านพลังงาน และการไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง โดยได้แสดงท่าทีสนับสนุนแนวทางสันติภาพ รวมถึงการแก้ไขปัญหาผ่านกระบวนการทางการทูตมาโดยตลอด

การพบปะครั้งนี้สะท้อนถึงความพยายามของทั้งสองประเทศในการกระชับความสัมพันธ์และร่วมมือกันในหลายมิติ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และความมั่นคงของหลายประเทศ

อนาคตของ ‘เซเลนสกี’ อยู่ในภาวะวิกฤต หลังสหรัฐฯ กังวลความสามารถในการรักษาความมั่นคงยูเครน

(14 มี.ค. 68) โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน กำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ในการดำรงตำแหน่งผู้นำของเขา โดยมีความกังวลเพิ่มขึ้นในวอชิงตันเกี่ยวกับความชอบธรรมของเขาในการเป็นผู้นำยูเครนในช่วงเวลาที่ประเทศเผชิญกับวิกฤตสงครามกับรัสเซีย

ตามรายงานจากหลายแหล่งข่าวในกรุงเคียฟและวอชิงตัน ระบุว่าในขณะนี้หลายฝ่ายในสหรัฐฯ เริ่มแสดงความกังวลเกี่ยวกับอนาคตของเซเลนสกี และความสามารถของเขาในการรักษาความมั่นคงของประเทศในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ ทั้งในด้านการทูตและความคืบหน้าในการเจรจาทางการทหาร

แหล่งข่าวในวอชิงตันกล่าวว่า มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับการบริหารจัดการของเซเลนสกี โดยเฉพาะในการจัดการทรัพยากรทางทหารและการดำเนินนโยบายภายในที่อาจมีผลต่อความน่าเชื่อถือของเขาในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มพันธมิตรทางทหารของยูเครน

“เราอยู่ในการทำหน้าที่ท้ายๆ ของประธานาธิบดีเซเลนสกี” เจ้าหน้าที่ระดับสูงของยูเครนบอกกับไฟแนนเชียลไทม์ส

คำกล่าวนี้สะท้อนถึงความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับอนาคตทางการเมืองของโวโลดิมีร์ เซเลนสกี โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของยูเครนอ้างว่า การบริหารงานของเขาในช่วงท้ายๆ ของวาระกำลังเผชิญกับความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ ทั้งในด้านการทูต การรักษาความมั่นคงของประเทศ และการจัดการวิกฤตสงครามที่ยืดเยื้อกับรัสเซีย 

ในขณะเดียวกัน เซเลนสกีก็ยังคงเดินหน้าพยายามรักษาความเป็นผู้นำของเขา โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ยูเครนจะต้องได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติเพื่อรับมือกับภัยคุกคามจากรัสเซียอย่างต่อเนื่อง 

สำหรับวาระการดำรงตำแหน่งของโวโลดิมีร์ เซเลนสกีในฐานะประธานาธิบดียูเครนจะหมดลงในปี 2024 โดยเขาได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีครั้งแรกในวันที่ 31 มีนาคม 2019 และได้รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 พฤษภาคม 2019

‘เซเลนสกี’ ยกหูคุย ‘ทรัมป์’ 1 ชั่วโมง การสนทนาเป็นไปด้วยดี เชื่อสันติภาพเกิดขึ้นได้ในปีนี้

(20 มี.ค. 68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯ เปิดเผยว่า เขาได้สนทนาทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกีแห่งยูเครนเป็นที่เรียบร้อย โดยการสนทนาดังกล่าวเป็นไปด้วยดีและใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง

ทรัมป์ระบุผ่าน Truth Social ว่า “การหารือส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการที่ผมได้สนทนากับประธานาธิบดีปูตินเมื่อวานนี้ เพื่อทำให้ความต้องการของรัสเซียและยูเครนสอดคล้องกัน ซึ่งเรากำลังเข้าใกล้เป้าหมายดังกล่าว”

ก่อนหน้านี้ เซเลนสกีได้กล่าวว่า เขาจะสนทนาทางโทรศัพท์กับทรัมป์ เพื่อเรียกร้องให้สหรัฐฯ จับตาการบังคับใช้ข้อตกลงหยุดยิง 30 วันระหว่างรัสเซียและยูเครน

“เราเห็นชอบร่วมกันว่ายูเครนกับสหรัฐฯ ควรทำงานร่วมกันต่อไป เพื่อบรรลุจุดจบที่แท้จริงของสงครามและสันติภาพที่ยั่งยืน” เซเลนสกี กล่าว “เราเชื่อว่าการร่วมมือกับอเมริกา กับประธานาธิบดีทรัมป์ และภายใต้การนำของอเมริกา จะนำพาสันติภาพที่ยั่งยืนที่สามารถเกิดขึ้นได้ในปีนี้”

ทั้งนี้ ทรัมป์ได้สนทนาทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินแห่งรัสเซียเมื่อวานนี้ (19 มี.ค.) โดยปูตินเห็นพ้องที่จะให้มีการหยุดยิงเป็นเวลา 30 วันต่อเป้าหมายโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานในยูเครน

เซเลนสกีกล่าวว่า คำพูดของปูตินยังคงไม่เพียงพอ และยูเครนจะเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าในประเทศ เพื่อให้สหรัฐฯ และพันธมิตรช่วยจับตาการบังคับใช้ข้อตกลงหยุดยิง

“ผมหวังว่าจะมีการควบคุมในเรื่องนี้ ซึ่งผมเชื่อว่าควรจะมาจากสหรัฐฯ ขณะที่ยูเครนพร้อมปฏิบัติตามข้อตกลงหยุดยิง ซึ่งถ้ารัสเซียไม่โจมตีโรงไฟฟ้าของเรา เราก็จะไม่โจมตีโรงไฟฟ้าของพวกเขา” เซเลนสกีกล่าว

การสนทนาระหว่างทรัมป์และเซเลนสกีในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดเหตุปะทะคารมกันในทำเนียบขาว ซึ่งการพูดคุยล่าสุดผู้นำทั้งสองต่างบอกว่าเป็นไปด้วยดี

นอกจากนี้ มีรายงานว่าทรัมป์และเซเลนสกีได้หารือเกี่ยวกับกระบวนการสร้างสันติภาพ และโอกาสที่สหรัฐฯ จะเข้าไปเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในยูเครน

หลายฝ่ายเฝ้าจับตามองการพูดคุยกันทางโทรศัพท์ระหว่างทรัมป์และปูตินที่เกิดขึ้นนานกว่า 2 ชั่วโมงเมื่อวานนี้ ในขณะเดียวกัน เซเลนสกีได้ขอให้ทรัมป์สนับสนุนด้านการป้องกันทางอากาศเพิ่มเติม เพื่อปกป้องจากการโจมตีของรัสเซีย โดยทรัมป์กล่าวว่าจะช่วยหาอุปกรณ์ทางทหารที่จำเป็น

อย่างไรก็ดี การสนทนาระหว่างผู้นำทั้งสองในครั้งนี้ ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการสร้างสันติภาพและความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในภูมิภาค


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top