Tuesday, 22 April 2025
เงินเฟ้อ

'อ.พงษ์ภาณุ' ติง 'ธปท.' ไร้ความรับผิดชอบ ค้านรัฐปรับกรอบเงินเฟ้อ ยัน!! ควรจะทำนานแล้ว ไม่ถือเป็นการแทรกแซงนโยบายการเงิน

(20 มิ.ย.67) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ กล่าวถึงกรณีเมื่อวานนี้ ผู้ว่า ธปท. ออกมาค้านการปรับกรอบเงินเฟ้อ โดยอ้างเหตุผลต่าง ๆ ซึ่งล้วนฟังไม่ขึ้นและสะท้อนถึงการขาดวุฒิภาวะและการไร้ความรับผิดชอบของ ธปท. ในยุคนี้ แถมยังขู่ว่าจะไม่ขอต่อสัญญาเป็นผู้ว่าการต่ออีก 1 สมัย ว่า...

"ผมเห็นว่าท่านพูดถูกข้อหลังอยู่ข้อเดียว เพราะถึงจะอยากอยู่ต่อรัฐบาลก็คงจะไม่ต่อสัญญาให้ ความจริงท่านควรจะไปตั้งนานแล้ว เพราะ ธปท. ภายใต้การนำของท่านล้มเหลวในการดำเนินนโยบายการเงินมาอย่างต่อเนื่องทุกปี เงินเฟ้อหลุดกรอบที่ตกลงไว้กับรัฐบาลเป็นประจำจนไม่รู้จะมีเป้าเงินเฟ้อไว้ทำไม มีการเล่นการเมืองในการดำเนินนโยบายการเงินเกินกว่าเหตุ สังเกตได้จากการดีเลย์การขึ้นดอกเบี้ยในปี 2565 ในยุครัฐบาลเผด็จการ ในขณะที่ธนาคารกลางทั่วโลกขึ้นดอกเบี้ยกัน เป็นเหตุให้เงินเฟ้อไทยในปี 2565 ขึ้นไปสูงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง แล้วจึงมาเร่งขึ้นดอกเบี้ยหลังการเลือกตั้งเดือนพฤษภาคม 2566 เมื่อมีรัฐบาลประชาธิปไตยแล้ว ทำให้ไทยมีเงินเฟ้อติดลบ สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล"

อ.พงษ์ภาณุ กล่าวอีกว่า "ดังนั้นนโยบายปรับกรอบเงินเฟ้อ (Inflation Targets) ของรัฐบาลจึงมีความเหมาะสม และไม่ถือเป็นการแทรกแซงนโยบายการเงินแต่อย่างใด และก็ควรจะทำมานานแล้ว เมื่อมีการดำเนินการผิดเป้าซ้ำแล้วซ้ำอีก ธปท.ยังคงมีอิสระอย่างเต็มที่ในด้านการดำเนินการและเครื่องมือ (Operational and Instrumental Inddependence) แต่ไม่สามารถทำอะไรตามใจชอบแบบไร้ขอบเขตและไร้ความรับผิดชอบต่อสังคม (Accountability) เหมือนเช่นที่ผ่านมา ซึ่งเป็นความเคยตัวและการใช้อำนาจในทางที่ผิด (Abuse of Power)"

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังและ ธปท. ควรที่จะร่วมพิจารณากันอย่างรอบคอบและเป็นการภายใน และไม่ใช่ออกมาคัดค้านผ่านสื่ออย่างที่ผู้ว่า ธปท. ทำ เพราะอาจมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาดได้ จึงไม่เข้าใจจริง ๆ ว่าการออกข่าวลักษณะเช่นนี้จะประสงค์ดีหรือประสงค์ร้ายต่อประเทศชาติ

‘ศรีลังกา’ จัดเลือกตั้ง หลังมีการประท้วงครั้งใหญ่ จากวิกฤติเศรษฐกิจ นักวิเคราะห์ ชี้!! ขับเคี่ยวสูสี ปชช. คาดหวังให้มีการปฏิรูป ฟื้นฟูประเทศ

(21 ก.ย.67) การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั่วไปของศรีลังกา ถือเป็นการลงประชามติที่สำคัญต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจ มุ่งหวังผลักดันการเดินหน้าการฟื้นฟูประเทศ

ประชาชนศรีลังกายังคงดิ้นรน เพื่อหารายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต เนื่องจากการขึ้นภาษี รวมถึงการตัดเงินสนับสนุนและสวัสดิการรัฐ

นักวิเคราะห์หลายคนคาดการณ์ว่า ความกังวลทางเศรษฐกิจศรีลังกาได้เป็นประเด็นสำคัญอันดับแรกของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในการแข่งขันชิงประธานาธิบดีที่ขับเคี่ยวกันอย่างสูสี

นักวิจัยสถาบัน Observer Research Foundation ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศอินเดียกล่าวกับบีบีซีว่า “เงินเฟ้อของศรีลังกาที่พุ่งสูงขึ้น ค่าของชีพที่เพิ่มอย่างรวดเร็ว ประกอบกับสถานการณ์ความยากจน ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสิ้นหวังจะหาทางออก เพื่อรักษาระดับคุณภาพชีวิตให้คงที่”

หนึ่งในผู้ชิงชัยคือ รานิล วิกรมสิงเห วัย 75 ปี ประธานาธิบดีศรีลังกา กำลังหาเสียงหวังอยู่ในตำแหน่งต่ออีกสมัย ซึ่งเมื่อสองปีก่อน วิกรมสิงเหได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐสภา หนึ่งสัปดาห์ภายหลังจากอดีตประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา ถูกขับพ้นตำแหน่ง

บีบีซีรายงานว่า หลังวิกรมสิงเหเข้ารับตำแหน่งไม่นาน ก็ได้ปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงที่ยังคงเคลื่อนไหว ทั้งนี้เขาถูกกล่าวหาว่าปกป้องครอบครัวราชปักษาจากการถูกดำเนินคดี ซึ่งวิกรมสิงเหได้ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้มาตลอด

ขณะที่ผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีศรีลังกาที่น่าจับตามองอีกคนคือ นักการเมืองฝ่ายซ้าย อนุรา กุมารา ดิสซานายาเก ได้ชูนโยบายต่อต้านการทุจริต ซึ่งทำให้เขาได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามการชิงชัยครั้งนี้ มีผู้สมัครจำนวนมากกว่าครั้งใดๆ ในประวัติศาสตร์ของศรีลังกา หรือประมาณ 30 คน แต่จะมีเพียง 4 คนเท่านั้นที่ดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ

นอกจากวิกรมสิงเหและดิสซานายาเกแล้ว ยังมีผู้นำฝ่ายค้านอย่างซาจิด เปรมทาสา และหลานชายของอดีตประธานาธิบดีนามาล ราชปักษา วัย 38 ปี

การนับคะแนนผลการเลือกตั้งจะเริ่มขึ้นหลังปิดหีบลงคะแนนแล้วในเวลา 16.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น ของวันนี้ ซึ่งคาดว่าจะยังไม่ทราบผลเลือกตั้งที่ชัดเจนไปจนกว่าจะถึงเช้าวันอาทิตย์

‘EBC Financial Group’ วิเคราะห์!! แนวโน้มของเศรษฐกิจประเทศไทย อัตราเงินเฟ้อในประเทศ เริ่มผ่อนคลาย แต่ยังมีความเสี่ยง ที่ยังคงต้องติดตาม

(8 ก.พ. 68) เมื่อก้าวเข้าสู่ปี 2568 เศรษฐกิจในไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายในด้านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ นโยบายการเงิน และความผันผวนของตลาดทั่วโลก แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจกลับได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่อ่อนแอ ความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ และปัญหาทางโครงสร้าง ซึ่งปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคงเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐและภาคการท่องเที่ยว EBC Financial Group (EBC) ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจในประเทศ โดยให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับภูมิทัศน์ทางการเงินที่กำลังเปลี่ยนแปลง พร้อมทั้งเสนอแนวโน้มและโอกาสการลงทุนในปี 2568

อัตราเงินเฟ้อและนโยบายการเงินที่มีผลต่อเศรษฐกิจในช่วงปลายปี

ในปี 2567 อัตราเงินเฟ้อในประเทศไทยต่ำกว่าเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ตั้งไว้ระหว่าง 1% ถึง 3% โดยในเดือนธันวาคม ปี 2567 ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ขยับขึ้น 1.23% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก เดือนพฤศจิกายน 0.95% ซึ่งถือเป็นการกลับเข้าสู่ช่วงเป้าหมายครั้งแรกในรอบ 7 เดือน แม้จะมีการปรับตัวขึ้นในช่วงปลายปี แต่ค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อทั้งปี 2567 ยังคงอยู่ที่ 0.4% ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี
.
เพื่อรับมือกับภาวะเงินเฟ้อระดับต่ำและความกังวลเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 2.25% ในเดือนตุลาคม 2567 ซึ่งถือเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 หลังจากนั้น ได้ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวในเดือนธันวาคม โดยอ้างถึงความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นและความจำเป็นในการรักษาความยืดหยุ่นทางนโยบายเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ธปท. คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ที่ 2.9% และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงเป้าหมายที่ 1%-3% โดยคาดว่าจะอยู่ที่ 1.1%

นักวิเคราะห์จาก EBC เตือนว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจมีข้อจำกัดจากความท้าทายเชิงโครงสร้างที่ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะภาคการส่งออกของประเทศไทยยังคงเผชิญปัญหาจากการชะลอตัวของการค้าระหว่างประเทศ ขณะเดียวกันการลงทุนจากภาคเอกชนยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งทำให้การกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงที่เศรษฐกิจโลกยังคงไม่แน่นอน และเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก

นายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงความเป็นไปได้ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม พร้อมเน้นย้ำความสำคัญของการร่วมมือระหว่างมาตรการการเงินและการคลังในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์ในเอเชีย แต่ตลาดการเงินของไทยยังคงเผชิญความท้าทายจากปัจจัยภายนอก อาทิ การเปลี่ยนแปลงนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ EBC มองว่า ปัจจัยภายในประเทศไทยและแรงกดดันจากภายนอก สร้างทั้งความเสี่ยงและโอกาสสำหรับนักลงทุน เราเน้นย้ำถึงความสำคัญของการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในตลาด

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐฟื้นฟูและภาคการท่องเที่ยว

การฟื้นตัวเศรษฐกิจของประเทศไทยได้รับแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยว ในปี 2567 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 35.5 ล้านคน ซึ่งมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)

ยังคงเผชิญกับความท้าทายอย่างต่อเนื่อง โดยผลการดำเนินงานยังต่ำกว่าตลาดหุ้นในภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งเกิดจากความไม่สงบทางการเมืองและความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจ ความไม่สอดคล้องระหว่างการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและผลประกอบการของตลาดหุ้น สะท้อนถึงความท้าทายทางเศรษฐกิจที่อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งมองว่าเป็นโอกาสสำหรับการลงทุน

รัฐบาลไทยรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ โดยดำเนินมาตรการทางการคลังหลายด้าน เช่น โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 490,000 ล้านบาท ที่มุ่งเป้าไปยังประชากรประมาณ 45 ล้านคน การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2.9% ซึ่งมีผลตั้งแต่เดือนมกราคม 2568 และมาตรการภาษีที่ให้สิทธิประโยชน์สูงสุดถึง 50,000 บาท เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในภาคต่าง ๆ EBC ระบุว่า มาตรการเหล่านี้อาจช่วยสนับสนุนธุรกิจในภาคสินค้าอุปโภคบริโภคและการท่องเที่ยว ขณะเดียวกัน โครงสร้างพื้นฐานที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศ อาจเป็นโอกาสการเติบโตสำหรับนักลงทุนระยะยาว ผลสำเร็จของมาตรการเหล่านี้จะขึ้นอยู่กับความสามารถของไทยในการดำเนินการปฏิรูปเชิงโครงสร้างเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

ผลกระทบจากภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ต่อจีนและแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศไทย

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่กำหนดแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2568 คือ ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่กำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ภาษีศุลกากรใหม่ของสหรัฐฯ ที่จะมีผลบังคับใช้ในปีนี้ อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของจีนและอาจทำให้จีนต้องเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หากการใช้จ่ายของผู้บริโภคในจีนยังคงอ่อนแอ การท่องเที่ยวออกนอกประเทศอาจชะลอตัวลง

แม้ว่าจะมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยในภาคการท่องเที่ยว แต่ประชาชนจีนยังคงเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยมากที่สุดในปี 2567 ความไม่แน่นอนนี้อาจสนับสนุนให้ทองคำมีบทบาทมากขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมทองคำยังคงได้รับความนิยมและมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย

นักวิเคราะห์ แนะนำว่า นักลงทุนควรติดตามสถานการณ์การค้าอย่างใกล้ชิด เนื่องจากสินทรัพย์ทองคำและสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ อาจมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในกลยุทธ์การบริหารความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน เพื่อตอบสนองต่อความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลกที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น

‘ผู้ว่าฯ ธปท.’ ส่งหนังสือถึง ‘รมว.คลัง’ หลังเงินเฟ้อ หลุดกรอบ เผย!! มาจากเหตุปัจจัย ด้าน ‘อุปทานพลังงาน-อาหารสด’

(12 เม.ย. 68) นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีข้อตกลงร่วมกัน เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 กำหนดให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 1-3% เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสำหรับระยะปานกลาง และเป็นเป้าหมายสำหรับปี 2568 รวมถึงระบุให้ กนง. มีจดหมายเปิดผนึกหากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาหรือประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมาย นั้น

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่เผยแพร่โดยกระทรวงพาณิชย์ของเดือนมกราคม 2568 อยู่ที่ 1.3% ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา (เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ถึงเดือนมกราคม 2568) อยู่ที่ 0.6% ซึ่งต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินในปัจจุบัน ดังนั้น กนง. จึงขอเรียนชี้แจงรายละเอียด ดังนี้ 1.การดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น2.สาเหตุที่เงินเฟ้ออยู่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายและแนวโน้มในระยะข้างหน้า และ 3.นัยของอัตราเงินเฟ้อต่ำกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ

1.การดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเพื่อแบบยืดหยุ่น

การดำเนินนโยบายการเงินมีพันธกิจหลักในการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน (macro-financial stability) ผ่านการรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่ไปกับการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับศักยภาพ โดยเสถียรภาพราคา หมายถึง ภาวะที่เงินเฟ้อต่ำและไม่ผันผวน ซึ่งไม่สร้างอุปสรรคหรือเป็นภาระต่อการวางแผนบริโภคและลงทุนของประชาชนโดยที่เงินเพื่อระยะปานกลางยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย

ทั้งนี้ การดูแลเสถียรภาพด้านราคา ภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (Flexble Inflation Targeting: FIT) โดยมีกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบช่วง (range target) ที่ 1-3% หมายความว่านโยบายการเงินจะมุ่งดูแลให้อัตราเงินเฟ้อไประยะปานกลางเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบเป้าหมายและไม่จำเป็นต้องอยู่ที่ค่าใดค่าหนึ่งตลอดเวลา โดยอัตราเงินเฟ้ออาจผันผวนออกนอกกรอบในระยะสั้นได้

กรอบเป้าหมายเงินเพื่อแบบยืดหยุ่นเหมาะสมกับการดูเสถียรภาพราคาในบริบทเศรษฐกิจไทย เนื่องจากประเทศไทยเป็นเศรษฐกิจขนาดเล็กและเปิด พึ่งพาการนำเข้าพลังงาน และมีสัดส่วนของการบริโภคอาหารที่สูง ทำให้เงินเฟ้อไทยมักผันผวนทั้งจากปัจจัยต่างประเทศและปัจจัยด้านอุปทานในประเทศ อาทิ ราคาน้ำมันโลกหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ นโยบายการเงินจะมีบทบาทจำกัดในการตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงของราคาที่เป็นผลจากปัจจัยด้านอุปทาน (supply shock) โดยนโยบายการเงินจะมีบทบาทมากกว่าในการดูแลเงินเฟ้อที่มาจากการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการในวงกว้างที่สะท้อนอุปสงค์ที่สูงหรือต่ำกว่าศักยภาพเศรษฐกิจ (demand shock) หรือการคาดการณ์เงินเฟ้อที่หลุดลอยและอาจนำไปสู่ปัญหาเงินเฟ้อที่สูงหรือต่ำยืดเยื้อจนกระทบเสถียรภาพด้านราคาได้

ทั้งนี้ กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ยืดหยุ่นแบบ range target และกำหนดเป้าหมายเป็นเงินเฟ้อระยะปานกลาง เอื้อให้นโยบายการเงินสามารถมองข้ามความผันผวนระยะสั้น และไม่จำเป็นต้องปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายบ่อยหรือแรงเกินไป ซึ่งอาจสร้างความผันผวนและส่งผลลบต่อเศรษฐกิจและระบบการเงิน

กรอบ FIT มีความยืดหยุ่นส่งผลให้นโยบายการเงินสามารถดูแลเสถียรภาพด้านราคาควบดูไปกับการรักษา macro-financial stability การที่นโยบายการเงินสามารถรักษาเงินเฟ้อในระยะปานกลางให้อยู่ในระดับต่ำและไม่ผันผวน ทำให้การกำหนดกลยุทธ์นโยบายการเงินสามารถหันมาดูแลเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ในระดับที่เหมาะสมและสอดคล้องกับศักยภาพ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สอดรับกับแนวนโยบายแห่งรัฐที่ต้องการให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างยั่งยืน รวมถึงดูแลความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินควบคู่กันไปได้ด้วย

ทั้งนี้ ในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จำเป็นต้องคำนึงถึงและชั่งน้ำหนักระหว่างความเสี่ยงด้านต่างๆ ต่อ macro-financial stability ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยล่าสุดนโยบายการเงินให้น้ำหนักกับการดูแลความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ โดยในการประชุม กนง.เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากประเมินว่า

1.แนวโน้มเศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้และมีความเสี่ยงสูงขึ้น 2.ความเสี่ยงเสถียรภาพระบบการเงินปรับลดลง สะท้อนจากการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ที่ดำเนินต่อเนื่อง ขณะที่ภาวะการเงินมีแนวโน้มตึงตัวขึ้น และสินเชื่อชะลอตัวลง และ 3.เสถียรภาพด้านราคาที่อยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยแนวโน้มเงินเฟ้อทรงตัวอยู่ใกล้เคียงขอบล่างของกรอบเป้าหมาย ในขณะที่เงินเฟ้อคาดการณ์ระยะยาวยังยึดเหนี่ยวได้ดี

การใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายควบคู่ไปกับการใช้เครื่องมือเชิงนโยบายอื่น (integrated policy) เข้ามาช่วยตอบโจทย์อย่างตรงจุดจะช่วยให้การดำเนินนโยบายการเงินมีประสิทธิผลและไม่สร้างผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ ทั้งนี้ กนง. ตระหนักว่าในภาวะปัจจุบันบางภาคส่วนของเศรษฐกิจยังมีปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข โดยภาคครัวเรือนมีภาระหนี้อยู่ในระดับสูง และธุรกิจ SMEs มีปัญหาในการเข้าถึงสินเชื่อจากความเสี่ยงด้านเครดิต กนง.จึงสนับสนุนการดูแลกลุ่มเปราะบางและการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจ เพื่อช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนและการขยายตัวของเศรษฐกิจ

อาทิ การสนับสนุนนโยบายของ ธปท. ที่ผลักดันให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงมาตรการแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง ตลอดจนโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ซึ่งเป็นความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และ ธปท. เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและ SMEs

2.สาเหตุที่อัตราเงินเฟ้อใน 12 เดือนที่ผ่านมาต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย และแนวโน้มในระยะข้างหน้า

อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาต่ำกว่ากรอบเป้าหมายจากปัจจัยด้านอุปทานในหมวดพลังงานและอาหารสด โดยในหมวดพลังงานเป็นผลจากการลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลก ประกอบกับมาตรการดูแลค่าครองชีพของภาครัฐที่มีต่อเนื่อง อาทิ มาตรการลดราคาน้ำมันผ่านกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและการลดภาษีสรรพสามิต รวมทั้งมาตรการลดค่าไฟฟ้า ทำให้ราคาหมวดพลังงานขยายตัวเพียง 1.0%

อย่างไรก็ดี หากไม่รวมผลของมาตรการดังกล่าว ราคาหมวดพลังงานจะขยายตัว 4.9% และทำให้ค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือน เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.1% สำหรับราคาหมวดอาหารสดขยายตัวในระดับต่ำที่ 0.4% โดยเป็นผลจากปริมาณสุกรที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาผักที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากจากปีก่อนหน้า ทั้งนี้ แรงกดดันด้านต้นทุนที่ขยายตัวต่ำนี้ทำให้การส่งผ่านไปยังราคาสินค้าและบริการอื่นๆ อยู่ในระดับต่ำด้วย ทำให้ค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.6%

อย่างไรก็ดี ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทยอยปรับเพิ่มขึ้นจาก 1.ผลของฐานราคาพลังงานในปีก่อนที่อยู่ระดับต่ำตามราคาน้ำมันในตลาดโลกและมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ และ 2.แรงกดดันด้านอุปทานที่ทำให้ราคาหมวดอาหารสดอยู่ในระดับต่ำมีแนวโน้มคลี่คลาย ซึ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปตั้งแต่เดือนธันวาคม 2567 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2568 กลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย

ทั้งนี้ ในระยะข้างหน้า อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มทรงตัวใกล้ขอบล่างของกรอบเป้าหมายและมีโอกาสที่จะต่ำกว่ากรอบเป้าหมายในบางช่วง โดยอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำนั้นมาจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก รวมถึงปัจจัยเฉพาะ อาทิ การแข่งขันจากสินค้านำเข้าราคาถูกจากจีน

3.นัยของอัตราเงินเฟ้อต่ำกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ

กนง.ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อไทยที่ต่ำในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงแนวโน้มในระยะข้างหน้าไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เนื่องจาก

1.อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพด้านราคา โดยอัตราเงินเฟ้อถูกขับเคลื่อนโดยปัจจัยด้านอุปทานเป็นสำคัญ อาทิ ราคาน้ำมันโลกและมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ รวมทั้งสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อผลผลิตทางการเกษตร นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อปัจจุบันได้กลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายแล้ว

ขณะที่เงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางยังคงยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ใน 5 ปีข้างหน้าทั้งจากผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจของ Asia Pacific Consensus Economics ณ เดือนตุลาคม 2567 และข้อมูลตลาดการเงิน ณ เดือนธันวาคม 2567 อยู่ที่ 1.8% ซึ่งแสดงถึงความเชื่อมั่นว่านโยบายการเงินจะดูแลเสถียรภาพราคาในระยะปานกลางได้ดี

2.อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำไม่ได้เป็นสัญญาณของภาวะเงินฝืด เนื่องจากราคาสินค้าและบริการไม่ได้ปรับลดลงในวงกว้าง โดยราคาสินค้าและบริการกว่า 3 ใน 4 ของตะกร้าเงินเฟ้อยังเพิ่มขึ้นหรือไม่เปลี่ยนแปลง ประกอบกับการบริโภคภาคเอกชนในช่วงที่ผ่านมายังขยายตัวได้ที่ 4.4% ในปี 2567 จึงไม่ได้สะท้อนปัญหาด้านอุปสงค์

3.อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันและการลงทุน โดยปัจจัยที่ทำให้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่ำไม่ได้มาจากอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำ แต่มาจากการที่ภาคเอกชนขาดแรงจูงใจให้ขยายกำลังการผลิต โดยภาคการผลิตถูกกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้างและการแข่งขันสินค้าจากสินค้าต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีนในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ปิโตรเคมี ยางและพลาสติก และรถยนต์ EVเป็นต้น

ในขณะเดียวกันแนวโน้มเงินเฟ้อที่ต่ำและไม่ผันผวนมีส่วนช่วยให้ต้นทุนการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ของทั้งภาครัฐและเอกชนอยู่ในระดับต่ำ และช่วยรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของผู้ประกอบการผ่านต้นทุนการผลิตที่ไม่เร่งสูงขึ้นและผ่านอัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริง (real exchange rate)

นอกจากนี้ เงินเฟ้อที่ต่ำในช่วงที่ผ่านมายังมีส่วนช่วยบรรเทาค่าครองชีพของประชาชนหลังจากที่ราคาสินค้าหลายรายการเพิ่มสูงขึ้นมากตั้งแต่หลังวิกฤตโควิด โดยราคาพลังงานและอาหารที่จำเป็นต่อการครองชีพของประชาชน อาทิ เนื้อสัตว์ น้ำมันพืช และน้ำมันเชื้อเพลิง ยังอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงก่อนวิกฤตโควิดถึงประมาณ 20%

ในระยะต่อไป กนง. จะประเมินนัยของเงินเฟ้อต่อเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อดูแลให้อัตราเงินเฟ้อไม่สูงหรือต่ำจนเกินไปจนกระทบต่อเศรษฐกิจและสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมในการแข่งขันและลงทุน โดยจะติดตามพัฒนาการของปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายที่เหมาะสม ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อแนวโน้มเงินเฟ้อ ได้แก่ แนวโน้มราคาพลังงานที่อาจต่ำลงจากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวต่ำกว่าราคา และความผันผวนของสภาพภูมิอากาศที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาอาหารสด

ตามข้อตกลงร่วมกันระหว่าง กนง. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 หากใน 6 เดือนข้างหน้า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา หรือประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า ยังคงเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมาย กนง. จะมีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกครั้ง เพื่อเป็นการสื่อสารและสร้างความเชื่อมั่นในการดูแลเสถียรภาพด้านราคาให้แก่สาธารณชนเป็นการทั่วไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top