Tuesday, 22 April 2025
เงินดิจิทัลวอลเล็ต

'สวนดุสิตโพล' เผยผลสำรวจ ‘ประชาชนอยากบอกอะไร ครม.เศรษฐา 1’ พบ!! ขอให้บริหารชาติด้วยความโปร่งใสและอย่าลืมเงินดิจิทัล 10,000

(8 ก.ย. 66) ‘สวนดุสิตโพล’ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง ‘ประชาชนอยากบอกอะไร ครม.เศรษฐา 1’ กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,042 คน (สำรวจทางภาคสนามและออนไลน์) ด้วยแบบสอบถามแบบปลายเปิด (ให้ผู้ตอบเขียนคำตอบด้วยตนเอง) สำรวจระหว่างวันที่ 4 - 7 กันยายน 2566 พบว่า

สิ่งที่อยากบอกกับนายกรัฐมนตรี คือ อยากให้บริหารประเทศด้วยความโปร่งใส คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ร้อยละ 45.99 ใช้ความสามารถในการเป็นผู้บริหารธุรกิจมาใช้ในการบริหารประเทศ ร้อยละ 31.02 และทำตามนโยบายที่ให้ไว้ โดยเฉพาะเงินดิจิทัล 10,000 บาท ร้อยละ 28.10

สิ่งที่ประชาชนอยากบอกรัฐมนตรีแต่ละกระทรวง อันดับ 1 มีดังนี้

1.รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทำงานรวดเร็ว สื่อสารชัดเจน ร้อยละ 51.43

2.รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม บังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ ร้อยละ 65.76

3.รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ควบคุมราคาสินค้ าไม่ให้แพงเกินไป ร้อยละ 65.47

4.รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ไม่เป็นเครื่องมือทางการเมือง รับฟังความเห็นทุกฝ่าย ร้อยละ 48.90

5.รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข เพิ่มสิทธิสวัสดิการรักษาให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง ร้อยละ 72.50

6.รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ยกระดับประเทศไทยสู่สากล สร้างชื่อเสียงให้เป็นที่ยอมรับ ร้อยละ 61.11

7.รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ควบคุมราคาพลังงาน แก้ปัญหาราคาแพง ร้อยละ 68.25

8.รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง บริหารงบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีวินัยทางการเงิน ร้อยละ 70.77

9.รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระตุ้นการท่องเที่ยวและการกีฬา ร้อยละ 40.96

10.รัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดูแลผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ คนยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ ร้อยละ 46.13

11.รัฐมนตรีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พัฒนาการวิจัยเทคโนโลยี นำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ ร้อยละ 42.26

12.รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แก้ปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ ประกันราคา ร้อยละ 64.14

13.รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม ขยายเส้นทาง เชื่อมต่อการคมนาคม ร้อยละ 54.79

14.รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แก้ปัญหามิจฉาชีพ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ร้อยละ 42.51

15.รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์ ฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ร้อยละ 59.45

16.รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ไม่รับสินบน โปร่งใส ตรวจสอบได้ ร้อยละ 43.61

17.รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ร้อยละ 65.97

18.รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม สืบสานวัฒนธรรมไทยให้สืบต่อไป ร้อยละ 53.98

19.รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายทุนเรียนฟรีถึงปริญญาตรี ร้อยละ 53.09

20.รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ส่งเสริมสินค้าอุตสาหกรรมไทย สินค้าการเกษตร ร้อยละ 45.45 

นางสาวพรพรรณ บัวทอง นักวิจัย สวนดุสิตโพล กล่าวว่า จากผลการสำรวจจะเห็นได้ว่า หลังจากที่มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่และประกาศรายชื่อคณะรัฐมนตรีเศรษฐา 1 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ประชาชนก็อยากให้แต่ละกระทรวงทำงานบนความรับผิดชอบตามเนื้องานของแต่ละกระทรวงให้ดียิ่งขึ้น ทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ แก้และสะสางปัญหาเก่า พัฒนาสิ่งใหม่ ส่งเสริมจุดเด่นของประเทศไทยนำไปต่อยอด นำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งนี้มาตรฐานขั้นพื้นฐานในการทำงานคือต้องมีความซื่อสัตย์ โปร่งใส และทำเพื่อประเทศชาติ จึงนับว่าเป็นโอกาสอันดีที่รัฐบาลใหม่จะสร้างผลงานให้เป็นรูปธรรมเพื่อพิสูจน์ผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ต่อไป

 

'แพทองธาร' วอน!! อดใจรอเงินดิจิทัลวอลเล็ต อาจไม่ทัน 1 ก.พ.นี้ ส่วนความพร้อมนั่งแท่นหัวหน้าพรรค เจ้าตัวยัน!! "พร้อม"

(20 ต.ค. 66) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาระบุว่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตอาจเริ่มใช้ไม่ทัน วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ตามกรอบเวลาเดิม ที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ ว่า เราก็ต้องทำให้มั่นคง ซึ่งตอนที่เราเสนอนโยบายนี้ เราก็ศึกษามากพอสมควร แต่แน่นอนว่าในขั้นตอนปฏิบัติ มีปัจจัยอื่น ๆ มากมายที่รัฐบาลและคณะรัฐมนตรีกำลังหาคำตอบเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดประชาชน ฉะนั้น “ก็ขอให้อดใจกันหน่อยนะคะ” 

ส่วนความพร้อมในการจัดประชุมวิสามัญพรรคเพื่อไทยวันที่ 27 ตุลาคมนี้ ส่วนตัวมีความพร้อมแล้วหรือไม่ นางสาวแพทองธาร ปฏิเสธตอบคำถาม ก่อนกล่าวว่า “วันที่ 27 นี้ใช่ไหมคะ” พร้อมยิ้มรับ และพยักหน้า

เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า พร้อมจะเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยหากถูกเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง หรือไม่นางสาวแพทองธาร กล่าวว่า "พร้อมค่ะ"

'ก้าวไกล' เย้ย!! ทางตัน 'ดิจิทัลวอลเล็ต' ปรับเงื่อนไขไร้กระตุ้น ศก. ลั่น!! รอบนี้ฝ่ายค้านใจดี แต่เปิดสมัยประชุมหน้า จองกฐินถล่ม

(26 ต.ค. 66) ที่รัฐสภา น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลที่มีการปรับลดเงื่อนไขว่า ปัญหาสำคัญที่จำเป็นต้องมีการปรับหลักเกณฑ์โดยการที่คัดกรองคนรวยออก ก็ชัดเจนแล้วว่ารัฐบาลน่าจะมีปัญหาเรื่องงบประมาณที่จะนำมาใช้กับนโยบายนี้แน่นอนจึงจำเป็นต้องทำจำนวนคนที่ได้รับผลประโยชน์ให้ลดลง ซึ่งถึงแม้ว่าจะลดลงแล้วก็ยังมีคนที่จะได้รับอยู่ที่ประมาณ 43-49 ล้านคนอยู่ดีดังนั้นโอกาสที่จะใช้เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ก็มีค่อนข้างน้อย และมีข้อเสนอออกมาอีกว่าจะใช้งบผูกพันปีละ 1 แสนล้านบาทภายใน 4 ปี ตนคิดว่าก็ยิ่งชัดเจนว่างบประมาณปี 2567 มีที่ว่างให้ทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตเพียงแค่ 1 แสนล้านบาทเท่านั้น

“กรณีจำเป็นที่ต้องผูกพันไปถึง 4 ปี ก็เท่ากับว่าจะมีร้านค้าบางส่วนที่ไม่ได้เงินสดไปทันที และต้องรอแลกเป็นหลายรอบปีงบประมาณ ก็จะกระทบกับร้านค้า อาจจะไม่มีแรงจูงใจมากพอ ถ้าหากต้องการเงินสดมาหมุนเวียนในร้านค้าของตนเอง ก็อาจจะไม่เข้าร่วมโครงการด้วยซ้ำไป” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า สิ่งที่ตนพูด ตอกย้ำว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมาถึงทางตันแล้ว เนื่องจากไม่สามารถให้ธนาคารของรัฐ ธนาคารออมสินดำเนินโครงการนี้ไปก่อนได้ จึงติดข้อจำกัดหลักที่เป็นตอใหญ่คือเรื่องแหล่งที่มาของเงิน ซึ่งตนคิดว่าการปรับเงื่อนไขครั้งนี้ต้องพิจารณาด้วยว่ายังคงสามารถทำได้ตามวัตถุประสงค์ดั้งเดิมผลที่คาดว่าจะได้รับดั้งเดิมหรือไม่ ถ้าเงื่อนไขเปลี่ยนไปหมดแล้ว อาจจำเป็นที่ต้องทบทวนวิธีการใหม่ทั้งหมด ทบทวนนโยบายใหม่ทั้งหมด

เมื่อถามว่าการปรับเงื่อนไขทำให้จำนวนผู้ได้รับลดลงมากน้อยอย่างไร และสะท้อนอะไรบ้าง น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่าลดไปได้นิดเดียวเองสำหรับคนที่มีเงินเดือนเกิน 25,000 บาท รวมถึงเงื่อนไขบัญชีเงินฝาก ลดไปได้ 13 ล้านคน

“ถ้าเกิดเงินเดือนเกิน 50,000 บาท ยิ่งลดไปได้น้อยใหญ่เลย ลดไปได้แค่ 7 ล้านคน ดังนั้น เกณฑ์นี้อาจจะไม่ได้ช่วยอะไรมากนักในแง่ของการที่จะประหยัดงบประมาณลง ก็เป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องคำนึงถึงว่าจะทำอย่างไรกันต่อ” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวอีกว่า ถ้าสุดท้าย รัฐบาลกลับไปทางเลือกที่ 3 ที่ให้เฉพาะคนที่ได้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตนมองว่าอาจจะไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยซ้ำไป อาจจะเป็นโครงการประคับประคองเยียวยาค่าของชีพคนที่มีรายได้น้อยหรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแทน จะกลายเป็นการเปลี่ยนรูปแบบวัตถุประสงค์ของโครงการเป็นชัดเจน ย้ำว่าคำว่าทบทวนหมายถึงอาจจะให้เปลี่ยนวิธีการมากกว่ายกเลิกโครงการ ตนเข้าใจดีว่าสัญญาที่เคยให้ไว้กับประชาชนก็สำคัญ

“ดิฉันเข้าใจว่าเพื่อไทยได้หาเสียงไว้ แต่ก็สามารถที่จะบอกกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมาว่าติดปัญหาในเรื่องอะไรดิฉันคิดว่าประชาชนน่าจะเข้าใจได้ว่ารัฐบาลได้พยายามอย่างเต็มที่แล้ว แต่มีอุปสรรคชิ้นใหญ่คืองบประมาณ” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

เมื่อถามว่าสุดท้ายจะเหมือนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ต้องรอดูว่าจะเป็นรูปแบบนั้นหรือไม่ตอนนี้งบประมาณที่ไปทบทวนในแต่ละหน่วยงานของรัฐทำการเสร็จแล้ว และเริ่มทยอยส่งกลับมาที่สำนักงบประมาณดังนั้น สำนักงบประมาณมีข้อมูลอยู่ในมือแล้วว่าจะสามารถที่จะตัดลดงบหรือไกล่เกลี่ยงบประมาณปี 2567 ได้เท่าไหร่

“ดังนั้น ถ้าไม่ทำงบประมาณผูกพันข้ามปีทางออกทางเดียวก็คือให้เฉพาะคนที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มันก็จะไม่ใช่โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกต่อไปเป็นเพียงแค่เยียวยาค่าของชีพ” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ฝ่ายค้านจะยังรอให้มาติผลการประชุมกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ออกมาก่อน เรายังใจดีให้รัฐบาลกลับไปคิดทวนลงรายละเอียดทุกอย่าง และให้คณะกรรมการชุดใหญ่มีข้อเสนอกับคณะรัฐมนตรี เราจะได้ทำการตรวจสอบกันต่อไป หลายกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรก็รอที่จะพูดคุยอยู่ ถึงแม้ว่าจะเป็นช่วงปิดสมัยประชุม แต่หากเปิดสมัยประชุมเราก็จะมีการพูดคุยเรื่องนี้กันอย่างแน่นอน พร้อมย้ำสื่อมวลชนให้สอบถามร้านค้าว่าหากมีการทยอยจ่ายเงินสดไม่ได้ทันที ร้านค้าเข้าร่วมโครงการอยู่หรือไม่

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวด้วยว่า ตอนนี้แหล่งเงินจากธนาคารออมสินไม่สามารถใช้ได้แล้ว ถ้าจะใช้ธนาคารออมสินต้องแก้ไขกฎหมาย ส่วนการออก พ.ร.ก.กู้เงินเหมือนช่วงโควิดนั้น เป็นทางออกที่ง่ายที่สุด แต่ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจนว่า พ.ร.ก. จะออกได้เมื่อมีความจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น ซึ่งต้องกลับไปถามสำนักบริหารหนี้สาธารณะว่าจะยอมหรือไม่ ในกรณีที่ไม่ได้มีความจำเป็นเร่งด่วนและเสี่ยงต่อการขัดต่อรัฐธรรมนูญ บอกว่าอาจเป็นการฆ่าตัวตายได้

รัฐบาลไทยตั้งเป้ายกระดับเศรษฐกิจปี 2568 ทุ่ม 150,000 ล้านบาท หวังดัน GDP โตเกิน 3%

(12 มี.ค. 68) สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า รัฐบาลไทยตั้งเป้ายกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจให้สูงกว่า 3% ในปี 2568 โดยอาศัยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม มูลค่า 150,000 ล้านบาท (ราว 4,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งจะถูกนำไปปฏิบัติภายในสิ้นไตรมาสที่ 3 โดยนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา

“เรามีกระสุนเตรียมไว้เพียงพอ” นายเผ่าภูมิกล่าว พร้อมย้ำว่าการใช้จ่ายของรัฐจะเป็นไปอย่างชาญฉลาดและเหมาะสมกับช่วงเวลา

หนึ่งในมาตรการสำคัญที่รัฐบาลให้ความหวังคือโครงการ “เงินดิจิทัลวอลเล็ต” มูลค่า 450,000 ล้านบาท (13,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งมีเป้าหมายโอนเงิน 10,000 บาท (ราว 300 ดอลลาร์สหรัฐ) ให้ประชาชนราว 45 ล้านคน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังซบเซาตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19

อย่างไรก็ตาม นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่าการบริโภคยังคงเป็นปัญหา แม้ว่าการชำระเงินในระยะก่อนหน้าจะถูกนำไปใช้บางส่วน แต่มีประชาชนจำนวนหนึ่งนำเงินไปชำระหนี้มากกว่าการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้วอยู่ที่เพียง 3.2% ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้

ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ขยายตัวเพียง 2.5% ซึ่งต่ำกว่าที่รัฐบาลคาดการณ์ และตามหลังประเทศคู่แข่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยนายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เฟสต่อไปของโครงการแจกเงิน ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล จะใช้ช่องทางดิจิทัลในการส่งเงินให้กับประชาชนอายุระหว่าง 16-20 ปี จำนวน 2.7 ล้านคน โดยจะเริ่มต้นในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้

นายจุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์ รอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเสริมว่า “เพราะเราใช้กลไกของเงินดิจิทัลวอลเล็ต มันจึงสามารถควบคุมและส่งเงินไปยังที่ที่ต้องการมากขึ้นได้”

นอกจากนี้ รัฐบาลไทยเดินหน้าผลักดันโครงการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจ โดยเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ เช่น โครงการรถไฟทางคู่สายใต้และโครงการแลนด์บริดจ์ เพื่อยกระดับระบบขนส่งและการเชื่อมต่อระหว่างประเทศ พร้อมทั้งส่งเสริมภาคการส่งออกและการบริการด้วยมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวและ Soft Power

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ โดยเฉพาะโครงการแลนด์บริดจ์ที่คาดว่าจะช่วยให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ที่สำคัญในภูมิภาค
"โครงการเหล่านี้ไม่เพียงช่วยให้การขนส่งสินค้าเร็วขึ้นและลดต้นทุนทางเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการเติบโตในอนาคต" นายเผ่าภูมิกล่าว

นอกจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแล้ว รัฐบาลยังเดินหน้าผลักดันภาคบริการและการส่งออก โดยใช้มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวและการพัฒนา Soft Power เช่น การสนับสนุนอุตสาหกรรมบันเทิง อาหาร และวัฒนธรรมไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติและสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจไทยในระยะยาว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top