Monday, 21 April 2025
เงินดอลลาร์

‘รัสเซีย’ ยุกลุ่มเศรษฐกิจ ‘BRICS’ เทดอลลาร์ ยกระดับสกุลเงินของแต่ละประเทศ ใช้จ่ายนำเข้า-ส่งออก รวมถึงระบบชำระเงินแบบบูรณาการระหว่างกัน

รัฐบาลรัสเซียเร่งเร้า BRICS กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ซึ่งมีศักยภาพสูงที่จะเติบโตขึ้นมาทัดเทียมกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ยกระดับการใช้สกุลเงินของแต่ะละประเทศ สำหรับปฏิบัติการนำเข้าและส่งออก รวมถึงระบบชำระเงินแบบบูรณาการ

ภายหลังจากรัสเซีย เปิดฉากบุกยูเครน เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มอสโกถูกตะวันตกกำหนดมาตรการคว่ำบาตรหนักหน่วงที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยตัดขาดพวกเขาออกจากระบบการเงินโลก รวมถึงอายัดทองคำและทุนสำรองระหว่างประเทศของพวกเขาเกือบครึ่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ที่ราวๆ 606,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงต้นเดือนเมษายน

ขณะเดียวกัน วีซ่าและมาสเตอร์การ์ด บัตรชำระเงินระหว่างประเทศได้ระงับให้บริการในรัสเซียในช่วงต้นเดือนมีนาคม ส่วนธนาคารรายใหญ่ของรัสเซียก็ถูกตัดขาดจากระบบ SWIFT เครือข่ายการเงินระดับโลกที่ช่วยให้การโอนเงินข้ามพรมแดนเป็นไปอย่างราบรื่นและรวดเร็ว

อันทอน ซิลูอานอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของรัสเซียบอกกับที่ประชุมระดับรัฐมตรีของกลุ่ม BRICS เมื่อวันศุกร์ (8 เม.ย.) ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกเลวร้ายลงอย่างมาก สืบเนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรต่างๆ นอกจากนี้ มาตรการลงโทษเหล่านั้นยังทำลายรากฐานระบบการคลังและการเงินโลกที่มีอยู่ในปัจจุบัน บนพื้นฐานของดอลลาร์สหรัฐ

"เหล่านี้มันผลักให้เราจำเป็นต้องดำเนินการในขอบเขตต่างๆ ดังต่อไปนี้ ใช้สกุลเงินประเทศสำหรับปฏิบัติการนำเข้าและส่งออก บูรณาการระบบชำระเงินและบัตรต่างๆ ระบบการโอนเงินระหว่างประเทศของตัวเองและจัดตั้งสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อของ BRICS ที่เป็นอิสระ"

BRICS มหาอำนาจน้ำมันใหม่ กดดัน 'ดอลลาร์' สูญค่า!!

‘BRICS’ ได้กลายเป็นมหาอํานาจด้านน้ำมันอย่างเป็นทางการของโลกแล้ว ทำให้ตอนนี้ ‘ดอลลาร์สหรัฐ’ ต้องสะดุ้งสะเทือน เพราะว่าตําแหน่งของความเป็น reserve currency (สกุลเงินสำรอง) กําลังสั่นคลอน

ปัจจุบันประเทศที่ผลิตน้ำมันได้มากที่สุดในโลกก็คือ สหรัฐอเมริกา ผลิตได้ 20 เปอร์เซ็นต์ของโลก ส่วนในกลุ่มประเทศ G7 ก็มีแคนาดาผลิตได้ 6 เปอร์เซ็นต์ของโลก ทำให้ 2 ประเทศนี้รวมกัน 26 เปอร์เซ็นต์

ทางด้าน BRICS สมาชิกดั้งเดิม ได้แก่ รัสเซีย จีน บราซิล โดย 3 ประเทศนี้ผลิตรวมกันได้ 27 เปอร์เซ็นต์ และตอนนี้ได้รับสมาชิกเข้ามาใหม่ นําโดยซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิหร่าน แค่เฉพาะซาอุดีอาระเบีย ก็คือผลิตได้ 12 เปอร์เซ็นต์ อาหรับเอมิเรตส์ 4% อิหร่าน 4% รวมกันผลิตได้ 20 เปอร์เซ็นต์

ดังนั้นถ้า BRICS ดั้งเดิมรวมกับสมาชิกใหม่ จะผลิตน้ำมันได้ถึง 47 เปอร์เซ็นต์ของโลก เกือบครึ่งหนึ่งของโลก ทำให้ BRICS มีอํานาจในการตั้งราคา กําหนดปริมาณการผลิตน้ำมันทั้งหมด

ซึ่งสิ่งนี้สะเทือน reserve currency ของดอลลาร์สหรัฐ ยังไง?

เดิมทีสหรัฐฯ เคยมีข้อตกลงกับซาอุดีอาระเบีย เมื่อปี 1971 ว่าจะต้องขายน้ำมันให้สหรัฐอเมริกา และทั่วโลก โดยใช้เงิน ‘ดอลลาร์’ เท่านั้น โดยมีเงื่อนไขแลกเปลี่ยนกันว่า สหรัฐอเมริกาจะให้ความช่วยเหลือด้านการทหาร อาวุธ แปลว่าถ้าใครอยากจะได้น้ำมันก็จะต้องมีเงินดอลลาร์ไว้ในมือ

ซึ่งความต้องการที่แท้จริงของคน คือต้องการน้ำมัน ไม่ใช่ดอลลาร์ จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่คนจําเป็นจะต้องมีดอลลาร์เป็นสกุลเงินสํารองระหว่างประเทศ เหมือนดูจากแนวโน้มในช่วงนี้แล้ว เงินดอลลาร์สหรัฐฯ กำลังหมดความสำคัญลงเรื่อย ๆ

เหตุผลที่สนับสนุนเรื่องนี้คือ ปัจจุบันซาอุดีอาระเบีย ไม่ได้อยากจะพึ่งพาดอลลาร์แล้ว โดยเลือกทิ้งบอนด์ของสหรัฐฯ อย่างมีนัยสำคัญ และเริ่มทำมาแล้วตั้งแต่ปี 2020 หรือ 3 ปีมาแล้ว และที่สําคัญประเทศต่าง ๆ เช่น อินเดีย ซื้อน้ำมันจาก UAE ด้วยเงินรูปี โดยซื้อมากถึง 1 ล้านบาร์เรล ส่วนจีนซื้อน้ำมันจากรัสเซียเป็นเงินหยวนอยู่แล้ว

และรายงานจากบลูมเบิร์กได้ระบุว่ายังมีอีก 24 ประเทศทั่วโลกที่อยากจะเข้าเป็นสมาชิกของ BRICS ซึ่งหนึ่งในนั้นมี ‘ประเทศไทย’ ด้วย

'เงินบาท' แข็งค่าแตะ 32.91 ต่อดอลลาร์ เผย 5 เดือน แข็งพรวด 11.6% ฉุด!! ‘การท่องเที่ยว – การส่งออกไทย’ หลัง 'เฟด' ลดดอกเบี้ย

(21 ก.ย.67) เงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ล่าสุดช่วงค่ำคืนที่ผ่านมา (20ก.ย.) แข็งค่าหลุดระดับ 33 บาท มาเคลื่อนไหวที่บริเวณ 32.91 บาทต่อดอลลาร์ เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งเป็นระดับการแข็งค่าสุดในรอบ 20 เดือน นับจากสิ้นเดือนม.ค.2566

การแข็งค่าของเงินบาทนับเป็นเรื่องน่ากังวล เพราะแข็งค่าอย่างรวดเร็ว แม้ว่าตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นเพียง 3.7% แต่หากนับจากจุดที่เงินบาททำสถิติอ่อนค่าสุดในปีนี้ที่ระดับ 37.25 บาทต่อดอลลาร์ (วันที่ 29 เม.ย.2567) จะพบว่า เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาแล้วถึง 11.6% ในเวลาไม่ถึง 5 เดือน จึงเป็นเรื่องยากในการบริหารค่าเงินของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าและส่งออก

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า เงินบาทกำลังแข็งอย่างรวดเร็วที่สุดในรอบ 26 ปี นับตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจเอเชียในปี 2541 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกของไทยที่กำลังฟื้นตัวอย่างช้า ๆ 

ขณะที่เงินดอลลาร์ก็แข็งค่าอย่างรวดเร็วถึง 10% เมื่อเทียบกับเงินบาทนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 20 ปี ทำให้ผู้ประกอบการเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาดูแลสถานการณ์ดังกล่าว

ล่าสุด ทั้งพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังได้ออกมาเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เข้ามาดูแลและดำเนินมาตรการเพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินดอลลาร์และลดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน

ด้าน เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า กรณีที่เฟดลดดอกเบี้ย ผลที่มีผลต่อตลาดเงิน ที่เห็นคือ การอ่อนค่าของดอลลาร์ ซึ่งอ่อนค่าไปพอสมควร ทำให้เงินบาท และค่าเงินในภูมิภาคแข็งค่ามากขึ้น  

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ซ้ำเติม ค่าเงินบาทให้แข็งค่ากว่าค่าเงินในภูมิภาค มาจากราคาทองคำในตลาดโลก ที่ทำระดับสูงสุดหรือออลล์ไทม์ไฮ ซึ่งส่วนใหญ่ค่าเงินบาทเป็นสกุลเงินที่เคลื่อนไหวกับทองคำมากกว่าค่าเงินภูมิภาค ทำให้เงินบาทแข็งค่ากว่าหลายประเทศ 

ทั้งนี้ สิ่งที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ไม่อยากเห็นคือ การผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่สูงมาก และยอมรับว่า ช่วงหลัง ค่าเงินบาทแข็งค่าค่อนข้างเร็ว โดยเฉพาะช่วงหลังตามการคาดการณ์การลดดอกเบี้ยของเฟด ทำให้ตั้งแต่ต้นปี จนถึงปัจจุบันเงินบาทแข็งค่าขึ้นแล้ว 3.1% 

สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ สาเหตุของการแข็งค่า หากมาจากเชิงปัจจัยโครงสร้าง มาจากปัจจัยเชิงพื้นฐาน หรือกรณีนี้ที่เงินบาทแข็งค่ามาจากการที่ดอลลาร์อ่อนค่า จากการที่เฟดลดดอกเบี้ย ก็ถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดแต่สิ่งที่ไม่อยากเห็นคือ การแข็งค่าขึ้นเร็ว และไม่ได้มาจากปัจจัยเชิงพื้นฐาน จากเงินร้อน(ฮอตมันนี่) หรือการเข้ามาเก็งกำไรระยะสั้น ที่ทำให้เกิดความผันผวนเกิดขึ้น ซึ่งไม่สะท้อนปัจจัยพื้นฐาน พวกนี้จะเซนซิทีฟมากกว่า แต่ปัจจุบันยังไม่เห็นสัญญาณดังกล่าว แต่ก็ต้องติดตามใกล้ชิด

ทรัมป์สั่งโรงกษาปณ์หยุดผลิตเหรียญ 1 เซนต์ เชื่อประหยัดงบ ตามคำแนะนำอีลอน มัสก์

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้สั่งการให้กระทรวงการคลังสหรัฐหยุดการผลิตเหรียญ 'เพนนี' หรือเหรียญ 1 เซนต์ หลังจากมีการชี้แจงว่าค่าใช้จ่ายในการผลิตเหรียญดังกล่าวสูงกว่ามูลค่าของมันเอง  

ตามรายงานจากกรุงวอชิงตันเมื่อวันที่ (10 ก.พ.68) ทรัมป์ได้โพสต์ข้อความผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย 'ทรูธ โซเชียล' โดยระบุว่า การผลิตเหรียญกษาปณ์ของสหรัฐในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีต้นทุนเกินกว่า 2 เซนต์ต่อเหรียญ ซึ่งถือเป็นการสูญเสียทรัพยากรอย่างมาก  

ในคำสั่งของทรัมป์ เขาได้กำหนดให้กระทรวงการคลังสหรัฐหยุดผลิตเหรียญเพนนีใหม่เป็นการชั่วคราว เพื่อประหยัดงบประมาณให้กับรัฐบาล

การตัดสินใจครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่สำนักงานประสิทธิภาพรัฐบาล (ดอจ) ภายใต้การนำของนายอีลอน มัสก์ ได้ยกประเด็นนี้ขึ้นมาในเดือนมกราคมที่ผ่านมา  

การลดต้นทุนการผลิตเหรียญในสหรัฐเป็นประเด็นที่ถูกถกเถียงกันมานานและเคยมีการนำเสนอร่างกฎหมายหลายฉบับในสภาคองเกรส แต่จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีกฎหมายใดที่ได้รับการอนุมัติจากสภา


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top