Tuesday, 22 April 2025
เกษตร

'เฉลิมชัย' ไฮไลต์ 'ทุเรียนป่าละอู' เปิดมหกรรมผลไม้ที่ประจวบคีรีขันธ์

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ 'มหกรรมผลไม้และของดีป่าละอู' ประจำปี 2565 โดยมี นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) พร้อมด้วย นางสาวเสาวลักษณ์ ศุภกมลเสนีย์ รองเลขาธิการ มกอช. และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในพิธีฯ ณ องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

สำหรับโครงการดังกล่าว จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-17 กรกฎาคม 2565 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะทุเรียนป่าละอู ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน ซึ่งเป็นทุเรียนพันธุ์หมอนทองและพันธุ์ชะนีที่มีชื่อเสียง ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค และได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการส่งเสริมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับการผลิตทุเรียนในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในลักษณะของกลุ่มแปลงใหญ่ วิสาหกิจชุมชน และกลุ่มเกษตรกร โดยในส่วนของการยกระดับมาตรฐานสินค้าทุเรียน มีการส่งเสริมควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทุเรียน ทำให้ปัจจุบันมีเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนได้รับการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) จำนวน 390 ราย และได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) โดยเป็นทุเรียนป่าละอู จำนวน 83 ราย

‘อลงกรณ์’ นำทีมเกษตรลุยอีสานผนึกเครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดแก้ปัญหาผลกระทบภาคเกษตรและประมงจากการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของแม่น้ำโขง

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบูรณาการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อภาคการเกษตรและประมงจากการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของแม่น้ำโขง ครั้งที่ 1/2566 (เฉพาะกิจ) และติดตามผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนาด้านการเกษตรและด้านประมงในพื้นที่แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ.2566 – 2570 ณ โรงแรมบลู โฮเทล  นครพนม จ.นครพนม ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการฯ ขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 เพื่อร่วมกำหนดทิศทางการดำเนินงานโครงการที่เกี่ยวข้องและขับเคลื่อนแผนพัฒนาด้านการประมงในพื้นที่แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2566 – 2570 ประกอบด้วย 2 แนวทาง ได้แก่ แนวทางที่ 1 การพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง และแนวทางที่ 2 การบริหารจัดการด้านการประมงและทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีความยั่งยืนและคงความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ลุ่มน้ำ โดยบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษาศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรม (AIC) ประจำจังหวัด ภาคประชาชน และหน่วยงานในพื้นที่กลุ่มลุ่มน้ำโขง  

สำหรับการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งนี้นับเป็นการประชุมเฉพาะกิจนอกพื้นที่ครั้งแรกร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินโครงการ/กิจกรรม ด้านการประมงและด้านการเกษตร แบ่งเป็น ด้านการประมง รวมจำนวน 31 โครงการ งบประมาณทั้งสิ้น 13,012,140 บาท พื้นที่ดำเนินการ 8 จังหวัด ได้แก่ 

จังหวัดเชียงราย เลย หนองคายบึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี อาทิ โครงการการจัดการระบบนิเวศปลาหน้าวัด, โครงการธนาคารผลผลิตเกษตรด้านการประมงสนับสนุนธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วม, กิจกรรมส่งเสริมเยาวชนนักเพาะเลี้ยง, โครงการเพาะพันธุ์ปลายี่สกไทย (ปลาเอิน) ในแม่น้ำโขง เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำในพื้นที่แม่น้ำโขงและลำน้ำสาขา,  โครงการพัฒนาอาชีพการเลี้ยงปลาตะเพียนขาวในบ่อดิน เป็นต้น สำหรับด้านการเกษตรสำนักแผนงานและโครงการพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (สป.กษ.) ได้สรุปแผนงาน/โครงการภายใต้แผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืนระดับจังหวัด ปี 2566 – 2570 (ฉบับทบวน) รวมจำนวน794 โครงการ งบประมาณทั้งสิ้น 7,770,595,287 บาท แบ่งเป็น งบจังหวัด/กลุ่มจังหวัด 304 โครงการ งบประมาณ1,124,048,495 บาท งบปกติ 375 โครงการ งบประมาณ 6,600,923,240 บาท และงบอื่น ๆ 70 โครงการ งบประมาณ 45,623,552 บาทโดยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงนามหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาบรรจุแผนงาน/โครงการไว้ในคำของบประมาณประจำปีของหน่วยงานต่อไป

ที่ประชุมยังได้หารือและรับทราบในเรื่องอื่น ๆ ได้แก่ 

1. แนวทางการดำเนินการรักษาพันธุ์ปลาบึกในแม่น้ำโขง โดยกรมประมง ซึ่งมี 2 แนวทาง ดังนี้ 1.1) การอนุรักษ์นอกถิ่นแม่น้ำโขง โดยการปล่อยลงในแหล่งน้ำภายในประเทศ ซึ่งกรมประมงจะใช้แม่พันธุ์ปลาบึกรุ่น F1 เพื่อผลิตปลาบึกรุ่น F2 ที่ยังคงความหลากหลายทางพันธุกรรมและยังคงสามารถรักษาไว้ได้จากเดิมให้มากที่สุด โดยปลาบึกรุ่นลูกF2 นี้ สามารถนำไปเลี้ยงไว้ในอ่างเก็บน้ำเพื่อเป็นการนกษาพันธุ์ปลาลึกไว้นอกแหล่งที่อยู่อาศัย และใช้ประโยชน์เพื่อการเพาะเลี้ยงต่อไปได้ในอนาคต และ 1.2) สนับสนุนการเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์ให้แก่เกตรกร เนื่องจากปลาบึกมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง 

2. ความก้าวหน้าการดำเนินการของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาการเกษตรในพื้นที่แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืนทบทวนแผนพัฒนาการเกษตร ในพื้นที่แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน โดย สำนักแผนงานและโครงการพิเศษ สป.กษ. ได้ส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 8 จังหวัด รับทราบและดำเนินการตามแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ.2566 – 2570 และแผนพัฒนาด้านการประมงในพื้นที่แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2566 – 2570 แล้ว 

3. ความก้าวหน้าการศึกษาพลับพลึงแม่น้ำโขงและแผนการนำพลับพลึงแม่น้ำโขงกลับไปปลูกคืนถิ่นเดิม โอกาสนี้นายอลงกรณ์ ได้มอบต้นพันธุ์พลับพลึงแม่น้ำโขง (Crinum viviparum) (ที่เพาะพันธุ์จากเมล็ด) ซึ่งถือเป็นพืชเฉพาะถิ่นหายาก และเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ จำนวน 30 ต้น ให้แก่ นางอ้อมบุญ ทิพย์สุนา ผู้แทนสมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสานและ1จังหวัดภาคเหนือคือเชียงรายเพื่อนำไปจัดกิจกรรมให้ชุมชนในการปลูกในพื้นที่อาศัยเดิม ตำบลหาดคัมภีร์ อำเภอปากชม จังหวัดเลย ตามแผนการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุ์พลับพลึงแม่น้ำโขงของกรมประมงที่ทำการเก็บรวบรวมตัวอย่างต้นพันธุ์จากธรรมชาติ ตั้งแต่ปี 2564 และนำไปศึกษาเพาะเลี้ยงในระบบโรงเรือน และห้องปฏิบัติการจนได้ต้นพันธุ์ที่มีความสมบูรณ์ในปัจจุบัน 

“กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่งที่จะผลักดันและสนับสนุนการพัฒนาด้านการประมงในพื้นที่แม่น้ำโขงร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติสร้างความมั่นคงด้านอาชีพ พัฒนาขีดความสามารถในทุกด้าน เพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชนและเกษตรกร และคงความหลากหลายของทรัพยากรประมงในแม่น้ำโขงได้อย่างยั่งยืนต่อไป” นายอลงกรณ์ กล่าว

'เฉลิมชัย'มอบฟรุ้ทบอร์ดเร่งเดินหน้า 23 มาตรการเชิงรุกภายใต้แผนบริหารจัดการผลไม้ฤดูกาลผลิตปี 2566 'อลงกรณ์' ย้ำนโยบายรักษาคุณภาพมาตรฐานมุ่งสร้างแบรนด์ยกระดับราคาผลไม้ไทย กำชับใช้มาตรการเด็ดขาดป้องกันปัญหาทุเรียนอ่อนทุเรียนสวมสิทธิ์

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยวันนี้ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board)ว่า ได้มอบนโยบายต่อที่ประชุมดังนี้

1. การรักษามาตรฐานคุณภาพการผลิต การแปรรูป การส่งออกผลไม้ ตามมาตรฐาน GAP GMP และCovid Freeรวมทั้งต้องป้องกันและปราบปรามการ สวมสิทธิทุเรียน และทุเรียนอ่อนอย่างเด็ดขาด(2) สร้างแบรนด์ผลไม้ โดยมอบหมายกระทรวงพาณิชย์สนับสนุนการสร้างแบรนด์ทั้ง Product Brand และ Farm Brand เพื่อส่งเสริมมูลค่าการค้าและการตลาด (3) สนับสนุนการแปรรูปผลผลิตผลไม้เศรษฐกิจของไทย มอบหมายผู้แทนกระทรวงอุตสากรรม นำเสนอแผนการแปรรูปผลผลิตทางเกษตร โดยเฉพาะผลไม้ แก่คณะกรรมการ Fruit Board ในการประชุมคราวหน้า (4) การพัฒนาและการบริหารโลจิสติกส์ เพื่อการส่งออกผลไม้ และ (5) มอบหมายฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการ Fruit Board ประสานคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน จัดการประชุมติดตามสถานณ์การผลิตผลไม้ เพื่อรองรับสถานการณ์ผลิตผลไม้ ในฤดูปีผลิต 2566 โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดภาคตะวันออก ภาคเหนือ และภาคใต้ ทั้งนี้ ได้มอบหมายคณะอนุกรรมการ ภายใต้คณะกรรมการ Fruit Board ประชุมร่วมกับคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด และให้คณะอนุกรรมการ ฯ นำเสนอผลงานความก้าวหน้าการดำเนินงาน ต่อคณะกรรมการ Fruit Board ในการประชุมครั้งต่อไป

ในการนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบ ใน 4 แผนงานดังนี้ 1) “แผนบริหารจัดการผลไม้ภาคตะวันออก (ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง) ปี 2566” ตามแผนการบริหารจัดการผลไม้ แบบเบ็ดเสร็จด้วยตัวเอง ในเชิงคุณภาพสอดคล้องตามยุทธศาสตร์พัฒนาผลไม้ไทย พ.ศ.2565 - 2570 และในเชิงปริมาณโดยจัดสมดุลอุปสงค์ อุปทาน สรุปได้ดังนี้ 1.1) การบริหารจัดการเพื่อบริหารจัดการผลผลิต -ทุเรียน 758,438 ตัน -มังคุด 170,046ตัน -เงาะ 194,915ตัน -ลองกอง 16,981ตัน ให้เป็นไปตามกลไกตลาดปกติ รวมทั้งสิ้น 1,140,380 ตัน และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ปรับสัดส่วนข้อมูลแผนบริหารจัดการผลไม้ภาคตะวันออก ปี 2566 อีกครั้ง หลังการจากการประชุมจัดทำข้อมูลเอกภาพ ครั้งที่ 3 ในวันที่ 31 มีนาคม 2566 และแจ้งเวียนคณะกรรมการทราบอีกครั้ง 1.2) เสนอให้คณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) เป็นแกนหลักบริหารจัดการผลไม้ในพื้นที่ ปี 2566 ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย  1.3) กรณีที่การบริหารจัดการผลไม้ในพื้นที่มีปัญหา มอบหมายให้จังหวัดประสานกับฝ่ายเลขานุการคณะทำงานจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาผลไม้เศรษฐกิจล่วงหน้าทั้งระบบ และหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาใช้มาตรการที่เกี่ยวข้องมาดาเนินการช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป

2) “แผนบริหารจัดการผลไม้ภาคเหนือ (ลิ้นจี่) ปี 2566” ประกอบด้วย 2.1) แผนบริหารจัดการผลไม้ภาคเหนือ (ลิ้นจี่) ปี 2566 จำนวน 34,620 ตัน 2.2) มอบหมายให้คณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) เป็นแกนหลักบริหารจัดการผลไม้ในพื้นที่ ปี 2566 ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และ 2.3) กรณีที่การบริหารจัดการผลไม้ในพื้นที่มีปัญหา มอบหมายให้จังหวัดประสานกับฝ่ายเลขานุการคณะทำงานจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาผลไม้เศรษฐกิจล่วงหน้าทั้งระบบ และ/หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาใช้มาตรการที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป

3) คณะกรรมการ ได้มีมติรับทราบ ผลการดำเนินมาตรการบริหารจัดการผลไม้เชิงรุก ปี 2565 จำนวน 18 มาตรการ ของกระทรวงพาณิชย์ และมีมติเห็นชอบ “โครงการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2566”โดย กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ใช้งบประมาณจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร วงเงิน 895.56 ล้านบาท ประกอบด้วย 5 กิจกรรมหลัก และ 10 กิจกรรมย่อย ได้แก่ กิจกรรมที่ 1 : เสริมสร้างประสิทธิภาพการรวบรวมรับซื้อผลไม้จากเกษตรกร กิจกรรมที่ 2 : เชื่อมโยงกระจายผลไม้ออกนอกแหล่งผลิตและเพิ่มช่องทางการจาหน่ายผลไม้ กิจกรรมที่ 3 : ส่งเสริมการจาหน่ายผลไม้ กิจกรรมที่ 4 : ส่งเสริมการแปรรูปเพื่อการส่งออก กิจกรรมที่ 5 : ประชาสัมพันธ์และสร้างความเชื่อมั่นผลไม้ไทยปลอดภัยจากโควิด-19 

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนการดำเนินการตามนโยบายและมาตรการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2566 มีเป้าหมาย เป็นสินค้าผลไม้เศรษฐกิจสำคัญ อาทิ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลาไย ลิ้นจี่ ลองกอง มะม่วง สับปะรด ฯลฯ และผู้เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ เกษตรกร สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร สถาบันเกษตรกร ผู้ประกอบการค้าผลไม้ ผู้รวบรวม ผู้แปรรูป และผู้ส่งออก ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ได้รับมอบหมาย กรมการค้าภายใน ได้จัดประชุมผู้เกี่ยวข้อง 3 ฝ่าย ได้แก่ ภาคราชการ เอกชน และเกษตรกร เพื่อประเมินแนวโน้มสถานการณ์ด้านการผลิตการตลาดผลไม้ฤดูกาลผลิต ปี 2566 รวมถึงสภาพปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในฤดูการผลิตผลไม้ ปี 2566 และได้ร่วมกันกำหนดมาตรการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2566 
รวม 4 ด้าน 22 มาตรการ ได้แก่ (1) ด้านการผลิต (2) ด้านตลาดในประเทศ (3) ด้านตลาดต่างประเทศ และ (4) ด้านกฎหมาย ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำกลางน้ำ และปลายน้ำ 

4) ฝ่ายเลขานุการ ได้ขอเพิ่มวาระพิจารณา แนวทางการกระจายผลไม้สถาบันเกษตรกร นำเสนอโดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ และคณะกรรมการได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบ “โครงการสนับสนุนการกระจายผลไม้เพื่อยกระดับราคาของสถาบันเกษตรกร” มีสหกรณ์จำนวน 49 แห่ง ประกอบด้วยสหกรณ์ผู้กระจายสินค้าจำนวน 500 แห่ง สหกรณ์ระดับอำเภอ เครือข่ายสหกรณ์นอกภาคการเกษตรคู่ค้าทั่วไปทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สมาชิกสหกรณ์จำนวน 87,536 ราย เป้าหมายกระจายสินค้า 2,100 ตัน ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นชอบเป็นมาตรการที่ 23 และมอบหมายกรมส่งเสริมสหกรณ์นำเสนอขอรับงบประมาณสนับสนุนบรรจุภัณฑ์ 6.594 ล้าน จากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร

บัณฑิต ‘จุฬา-ธรรมศาสตร์-เกษตร’  กวาดตำแหน่งงาน จาก Top 20 บริษัทชั้นนำของไทย

ข้อมูลที่รวบรวมโดยเว็บไซต์ Candid Data เผยว่า บัณฑิตจาก ‘จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ ครองแชมป์สถาบันที่มีตำแหน่งงานในบริษัท Top 20 ของประเทศไทยสูงสุด ที่ 4,085 ตำแหน่ง ในขณะที่อันดับสองตกเป็นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ 2,572 ตำแหน่ง ส่วนอันดับสามได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่มีบัณฑิต 2,018 คน เข้าไปร่วมงานในหลากหลายตำแหน่งของบริษัทใหญ่ รวม 3 มหาวิทยาลัย มีจำนวนทั้งสิ้น 8,675 ตำแหน่ง

นอกจากนี้ ยังมีมหาวิทยาลัยชั้นนำอื่นๆ ที่ครองที่นั่งในบริษัทระดับท็อปของประเทศเช่นกัน อาทิ มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ฯลฯ รวมทั้งสิ้น 5,532 ตำแหน่ง
 ‘จุฬา - มธ. - เกษตร’ กวาดที่นั่งบริษัทดังกว่าครึ่ง

ตำแหน่งงานทั้งหมดจากการสำรวจในครั้งนี้มี 14,207 ตำแหน่ง เท่ากับว่า บัณฑิตจาก 3 มหาวิทยาลัย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กว่าที่นั่งไปทั้งสิ้น 61% คิดเป็นกว่าครึ่งจากจำนวนที่นั่งทั้งหมด โดยมหาวิทยาลัยที่ครองตำแหน่งสูงสุดอย่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครองตำแหน่งคิดเป็น 28.7% หรือมากกว่า 1 ใน 4 ของตำแหน่งทั้งหมดในบริษัทชั้นนำของไทย

นอกจากนี้ Candid Data ยังเผยว่าในบรรดาบริษัทที่ติดโผนั้น บัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครองอันดับสูงสุดในแทบทุกบริษัท ยกเว้น AIS, SCB, และ Boon Rawd Brewery ที่มีบัณฑิตจากรั้วเกษตรศาสตร์เข้าทำงานสูงสุด ส่วน Tesla นั้นมีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทำงานอยู่มากสุด
ชาวเน็ตตั้งข้อสงสัย ไหนว่าเรียนที่ไหนก็เหมือนกัน?

หลังบทความดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ก็ได้รับความสนใจจากชาวเน็ตเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีชาวเน็ตจำนวนไม่น้อยที่เข้ามาตั้งคำถามในทำนองว่า ‘ไหนว่าเรียนที่ไหนก็เหมือนกัน?’ สะท้อนปัญหาด้านความเชื่อมั่นที่บริษัทต่างๆ มีต่อสถาบันการศึกษาที่แตกต่างกัน รวมถึงคุณภาพการศึกษาจากสถาบันการศึกษาในประเทศไทยที่มีอยู่มากมาย

อีกด้านหนึ่ง ก็มีผู้ตั้งคำถามถึง ‘โอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่ต่างกัน’ โดยประชากรที่เกิดในบ้านที่มีชนชั้นทางเศรษฐกิจที่สูงกว่า ก็มีโอกาสที่จะเลือกมหาวิทยาลัยได้มากกว่า นำไปสู่โอกาสที่จะเข้าไปทำงานในบริษัทชั้นนำได้มากกว่าเช่นกัน

ที่ทำงาน / สถาบันการศึกษา ไม่ได้การันตีความสำเร็จในชีวิต
แม้บริษัทที่ทำการสำรวจนี้ จะเป็นบริษัทจาก “สุดยอดบริษัทที่คนรุ่นใหม่อยากร่วมงานด้วย 2023” ที่รวบรวมโดย WorkVenture แต่ก็มิได้หมายความว่ากลุ่มคนเหล่านี้คือผู้ประสบความสำเร็จอย่างสูงสุดในชีวิต เพราะเป้าหมายชีวิต และนิยามของความสำเร็จนั้นแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล บางคนนิยามความสำเร็จด้วยชื่อบริษัทที่ตนทำงาน, บางคนมองว่าการเป็นเจ้าของธุรกิจคือความสำเร็จ, บางคนมองหาความพอดีระหว่างชีวิตทำงานและชีวิตในมิติอื่นๆ

สถาบันการศึกษา องค์กรที่ทำงาน เป็นเพียงบันไดหนึ่งขั้นที่จะช่วยให้ชีวิตดำเนินไป พึงเลือกบันไดที่ใช่ ที่เหมาะสม เพื่อจะได้ก้าวไปสู่ ‘ความสำเร็จ’ ตามนิยามของตัวคุณเอง

ที่มา :  https://www.amarintv.com/spotlight/future-of-work/detail/47691
https://candiddata.co/2023/05/31/dashboard-graduate-placement-2023/

 

‘รมว.ปุ้ย’ สานต่อภารกิจ ‘ศูนย์นวัตกรรมจังหวัดมิเอะ-ไทย’ ดันส่งออกไทย ‘อาหาร-เกษตร’ แตะ 1.32 ล้านล้านในปี 70

(11 ม.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม จับมือผู้ว่าราชการจังหวัดมิเอะ ประเทศญี่ปุ่น ผลักดันต่อยอดความบันทึกความเข้าใจ (MOU) ขยายกรอบการทำงาน (Framework Agreement) ชูนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต ยกระดับเกษตรอุตสาหกรรมแปรรูป พร้อมจัดงานใหญ่ ‘นวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต Mie-Thailand’ ฉลองความสำเร็จครบรอบ 5 ปี พาเหรดผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมอาหารชื่อดังจากจังหวัดมิเอะ นำทัพสินค้าอาหารเกรดพรีเมียมมาให้ชม ชิม และจับคู่ธุรกิจภายในงาน ตั้งเป้าต่อยอดพัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์อาหารแห่งอนาคตร่วมกัน หวังเกิดการค้า การลงทุนระหว่างไทย-ญี่ปุ่น และคาดว่าจะสามารถเพิ่มสัดส่วนส่งออกกลุ่มสินค้าอาหารแปรรูปของไทยเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 60 หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.32 ล้านล้านบาท ภายในปี 2570

รมว.พิมพ์ภัทรา เปิดเผยว่า ประเทศไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์และความร่วมมือกันในทุก ๆ มิติมาอย่างยาวนานซึ่งปัจจุบันญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย เห็นได้จากการลงทุนของญี่ปุ่นในประเทศไทยมีมูลค่ากว่าร้อยละ 40 ของการลงทุนจากต่างชาติทั้งหมด ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม จึงให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นในการส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของสองประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารที่ได้มุ่งเน้นยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการไทยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับเวทีโลก ผ่านศูนย์นวัตกรรมมิเอะ-ประเทศไทย (Mie-Thailand Innovation Center) ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม, สถาบันอาหาร และจังหวัดมิเอะ ประเทศญี่ปุ่นเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งนับเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้ดียิ่งขึ้นและช่วยผลักดันให้การส่งออกสินค้ากลุ่มอาหารแปรรูปของไทยเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งคาดว่าไทยจะมีสัดส่วนการส่งออกกลุ่มสินค้าอาหารแปรรูปเพิ่มขึ้นร้อยละ 60 หรือคิดเป็นมูลค่ากว่าร้อยละ 1.32 ล้านล้านบาท ภายในปี 2570 

ขณะเดียวกัน กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ต่อยอดความร่วมมือกับจังหวัดมิเอะในการมุ่งเน้นพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมอาหารทั้งในด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคลและการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านนวัตกรรมอาหาร เพื่อช่วยยกระดับความสามารถการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทย และเสริมสร้างความแน่นแฟ้นของการเชื่อมโยงระหว่างภาคอุตสาหกรรมของทั้ง 2 ประเทศให้สามารถก้าวหน้าไปด้วยกันในลักษณะ win-win นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมมีความยินดีที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการค้า การลงทุนระหว่างไทยและญี่ปุ่น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการของทั้ง 2 ประเทศ

ด้านนายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำหรับศูนย์นวัตกรรมมิเอะ-ประเทศไทย จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2561 นับเป็นหนึ่งในเครือข่ายของศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ITC) ที่กระทรวงอุตสาหกรรมมอบหมายสถาบันอาหารดำเนินการ โดยได้ติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับการแปรรูปอาหารที่ได้รับจาก บริษัท ซูเอฮิโระ อีพีเอ็ม (SUEHIRO EPM) ประเทศญี่ปุ่น เพื่อช่วยยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการไทยในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารต้นแบบให้มีศักยภาพและเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร ดังนั้น ศูนย์นวัตกรรมฯ นี้ ถือเป็นกรณีความสำเร็จที่มีนัยสำคัญที่เป็นผลลัพธ์จากการร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในปี 2558 ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม และจังหวัดมิเอะ 

สำหรับการจัดงานในวันนี้เป็นการขยายความร่วมมือโดยการแลกเปลี่ยนกรอบการทำงาน (Framework Exchange) ระหว่างดีพร้อมและจังหวัดมิเอะ เพื่อต่อยอดความร่วมมือจากใน MOU ที่มุ่งเน้นการขยายโอกาสธุรกิจของเอสเอ็มอีทั้ง 2 ประเทศสู่ระดับสากล ด้วยการพัฒนาสินค้าอาหารและเกษตรแปรรูป ทักษะบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม นวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต ยกระดับเกษตรอุตสาหกรรมแปรรูป ตลอดจนเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมทั่วโลก เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเตรียมพร้อมรับกระแสความเปลี่ยนแปลงในบริบทต่าง ๆ และอยู่รอดได้ในโลกยุคใหม่อย่างมั่นคงและยั่งยืน 

นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา 
ศูนย์นวัตกรรมมิเอะ-ประเทศไทย ได้ดำเนินกิจกรรมทางวิชาการร่วมกันมาอย่างต่อเนื่องและการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากการใช้เครื่อง Twin Screw Extruder เพื่อช่วยยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการไทยในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารต้นแบบให้มีศักยภาพและเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร และกิจกรรมอื่น ๆ อาทิ การจัดแสดงผลิตภัณฑ์อาหารที่พัฒนาด้วยเทคโนโลยีจากเครื่อง Twin Screw Extruder ณ งาน THAIFEX 2019 การเข้าร่วมงานสัมมนาที่จังหวัดมิเอะ รวมทั้งนำผู้ประกอบการไทยร่วมกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) และสร้างเครือข่ายกับผู้ซื้อของประเทศญี่ปุ่น ณ จังหวัดมิเอะ โดยล่าสุดได้ร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืช จาก Isolate soy protein กับ Pea starch และนำมาทดลองปรุงอาหารเป็นเมนูกระเพาะปลาน้ำแดง เพื่อสอดรับแนวโน้มตลาดอาหาร Plant-based ที่กำลังมาแรง ซึ่งคาดว่าระหว่างปี 2566-2576 ตลาดอาหารโลกจะเติบโตเฉลี่ยต่อปีสูงถึงร้อย 12.2 โดยในปี 2566 ที่ผ่านมามีมูลค่าสูงถึง 11.3 พันล้านดอลลาร์ 

นอกจากวันนี้จะเป็นการฉลองความสำเร็จ 5 ปี ในการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมฯ แล้ว จังหวัดมิเอะยังได้นำคณะผู้แทนด้านเศรษฐกิจซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จังหวัดมิเอะ และผู้ประกอบการ จำนวน 14 ราย เข้าร่วมกิจกรรมเจรจาธุรกิจ (Business Matching) พร้อมบรรยายความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเครื่องจักรแปรรูปอาหารและเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างจังหวัดมิเอะ-ไทย ตลอดจนการสาธิตการปรุงอาหารจากวัตถุดิบที่มีชื่อเสียงของจังหวัดมิเอะ อาทิ เนื้อวัว ปลาดิบ เบียร์ และขนม นอกจากนี้ ยังจัดแสดงผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปอื่น ๆ ของจังหวัดมิเอะอีกด้วย

‘แรงงานไทย’ รีวิวทำอาชีพ ‘เกษตร’ ที่เกาหลีใต้ หลังมาถูกกฎหมาย ชี้!! ‘สภาพการเป็นอยู่แย่-เงินออกช้า-วันหยุดน้อย’ ไม่เป็นอย่างที่คิด

(18 ม.ค.67) แรงงานไทยในเกาหลีใต้ เปิดใจ มาทำงานจริงไม่เป็นอย่างที่ฝันไว้ สภาพการเป็นอยู่ย่ำแย่ ใช้ส้วมหลุม นอนตู้คอนเทนเนอร์ เงินเดือนออกไม่ตรง วันหยุดน้อย แนะนำ ให้เลือกสายงานเกษตรเป็นอันดับสุดท้าย

ใครอยากไปทำงานเกาหลีใต้ ลองฟังทางนี้ นายอภิสิทธิ์ แรงงานเกษตรในประเทศเกาหลีใต้ เปิดเผยว่า ตนได้สอบกับกรมแรงงาน เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566 เพื่อรับวีซ่า E-9 ในการประกอบอาชีพแรงงานเกษตรในต่างแดน

เมื่อได้มาทำงานจริง ตนได้ทำงานในสวนผักผสม อาทิ ผักสลัด กวางตุ้ง ผักชี โดยหลัก ๆ นั้น เถ้าแก่จะปลูกผักที่มีราคาดีตามแต่ฤดูกาล จากการทำงานมาตลอด 6-7 เดือน ทำให้ตัวเองรู้สึกเฟลมาก เนื่องจากสัญญาที่ทำไว้กับงานที่ต้องทำจริงนั้น แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

สำหรับสิ่งที่ตนเองไม่โอเคมาก ๆ คือห้องน้ำ ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงความสกปรก แต่เข้าขั้นโสโครก เนื่องจากเป็นส้วมหลุม ลำบากใจทุกครั้งที่ต้องเข้าห้องน้ำ หากเข้าช่วงหน้าร้อนก็จะมีแมลงวันบินตอมเยอะ ช่วงหน้าหนาวอุจจาระก็จะแข็งและกองซ้อนกัน ตนได้ขอร้องให้เถ้าแก่ปรับปรุงห้องน้ำแล้ว แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

เรื่องต่อมา คือ วันหยุด ในสัญญาที่เซ็นระบุว่า จะมีวันหยุดสัปดาห์ละ 1 วัน แต่ความจริงหากจะหยุด ต้องได้รับอนุญาตจากเถ้าแก่เท่านั้น บางเดือนก็ไม่ได้หยุด เวลางานก็ต้องนั่งย่อนานกว่า 5-6 ชั่วโมงเลยทีเดียว

ต่อมาคือเรื่องเงิน ตามสัญญาเถ้าแก่จะต้องให้เงินทุกวันที่ 25 ของทุกเดือน ซึ่งเงินออกตรงเวลาแค่เดือนแรก แต่ความเป็นจริงนั้นล่าช้ามาโดยตลอด ลำบากใจทุกครั้งที่ต้องทวงเงิน สำหรับเงินเดือนตามข้อกำหนดกระทรวงแรงงาน อยู่ที่ 1.8 ล้านวอน (ประมาณ 54,000 บาท) แต่หลังจากหักค่าประกันและค่าเช่าห้อง ตกแล้วจะเหลือ 1.3 ล้านวอน (ประมาณ 34,000 บาท) ซึ่งต้องแบ่งไว้ใช้เองและส่งกลับบ้าน พอคำนวณแล้ว ไม่ต่างจากทำงานที่ไทยเลย

สำหรับที่พัก ตนได้พักอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ และไม่อนุญาตให้ไปอยู่อพาร์ตเมนต์ ทั้งยังคิดค่าเช่าแพงถึง 9,000 บาทต่อเดือน น้ำไม่ค่อยไหล ฤดูหนาวต้องใช้น้ำบาดาล ด้านอาหาร มีเพียงข้าวเปล่าที่ฟรี ส่วนกับข้าวต้องซื้อมาทำเอง แม้กระทั่งน้ำเปล่าและน้ำมันก็ต้องใช้เงินส่วนตัวซื้อ

ตนเองยอมรับว่าพลาด เพราะตอนแรกตั้งใจจะสมัครเป็นแรงงานอุตสาหกรรม แต่สมัครไม่ทัน ซึ่งตั้งใจไว้แล้วว่าอยากมาทำงานที่นี่ จึงเลือกสอบแรงงานเกษตร และสอบผ่านจึงได้มาทำงานที่นี่

สุดท้ายนี้อยากฝากว่า ใครจะมาทำงานที่นี่ต้องยอมรับให้ได้กับสภาพความเป็นอยู่ รวมถึงต้องทำใจที่อาจถูกเถ้าแก่หักเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ หากไม่ทำโอทีอาจลำบากได้ ส่วนแรงงานผู้ชาย อยากให้เลือกสายงานเกษตรหรือปศุสัตว์ เป็นตัวเลือกสุดท้าย ให้เลือกสายงานอุตสาหกรรมและก่อสร้างก่อนเป็นอันดับแรก แต่หากย้อนเวลากลับไปก็จะเลือกมาทำงานอยู่ดี เพราะค่าแรงมากกว่าไทย สามารถสร้างตัวได้เร็วกว่าอยู่ในไทย

เกษตร-พาณิชย์ ผนึกกำลังกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงตรุษจีน รมช.ไชยา ให้ความมั่นใจ "ปศุสัตว์ OK" ปลอดภัย ไร้เนื้อเถื่อน

นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกิจกรรม “พาณิชย์สั่งลุย ลดราคาตรุษจีน ปีมังกรทอง 2024” โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดกิจกรรมดังกล่าว พร้อมร่วมกันลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมร้านจำหน่ายสินค้าในตลาดยิ่งเจริญ เขตบางเขน กรุงเทพฯ สำหรับวัตถุประสงค์การจัดกิจกรรม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคที่ต้องการซื้อสินค้าสำหรับไหว้บรรพบุรุษหรือเป็นของฝาก แก่ญาติในช่วงตรุษจีนว่าสินค้าที่ได้รับเป็นสินค้าราคาถูก และคุณภาพดี

รัฐมนตรีช่วยฯ ไชยา กล่าวว่า รู้สึกมีความยินดีที่ได้มาร่วมกิจกรรมกับทางกระทรวงพาณิชย์ และขอให้ผู้บริโภคมั่นใจว่า ร้านค้าที่ได้รับป้าย "ปศุสัตว์ OK" เป็นร้านค้าที่กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมปศุสัตว์รับรองว่า สะอาดปลอดภัย ถูกสุขอนามัย ทั้งเนื้อสุกร เนื้อไก่ ไข่ไก่ มาจากฟาร์มที่ได้มาตรฐาน (GAP) ผ่านกระบวนการเชือดชำแหละในโรงฆ่าสัตว์ที่ถูกกฎหมาย สามารถสอบย้อนกลับถึงแหล่งผลิตได้ จึงมั่นใจได้ว่า ไม่มีการนำเนื้อเถื่อนมาจำหน่ายแน่นอน

สำหรับโครงการปศุสัตว์ OK มีสินค้าที่อยู่ในขอบข่ายการรับรองของโครงการทั้งหมด 7 ชนิด ได้แก่ เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อเป็ดเนื้อโค ไข่ไก่สด ไข่เป็ดสด และไข่นกกระทาสด ปัจจุบันมีสถานที่จำหน่ายที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 9,239 แห่ง ทั่วประเทศแบ่งเป็นสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ 5,621 แห่ง และสถานที่จำหน่ายไข่สด 3,671 แห่ง ในส่วนกิจกรรมพาณิชย์สั่งลุยลดราคาตรุษจีน ปีมังกรทอง 2024 ดำเนินการโดยกระทรวงพาณิชย์ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลตรุษจีน ระหว่างวันที่ 7-10 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งมีการเปิดจุดจำหน่ายสินค้าเพื่อให้ประชาชนแวะเวียนเข้ามาจับจ่ายใช้สอย   ยกขบวนสินค้า ราคาสุดพิเศษ 13 หมวด 7,784 รายการ จากผู้ประกอบการ 259 ราย พร้อมกัน 18,500 แห่งทั่วประเทศ

ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีทั้งสองได้สักการะ และเติมน้ำมันตะเกียง ณ ศาลเจ้าพ่อสมบุญ บริเวณตลาดยิ่งเจริญ และอวยพรประชาชนผู้มาจับจ่ายใช้สอยที่ตลาดในโอกาสเทศกาลตรุษจีน อีกด้วย

‘ตั๊กแตนปาทังก้าโมจีน’ เลี้ยงง่าย ขายได้ราคาดี 360 บ./กก. อุดมไปด้วยโปรตีน เป็นที่ต้องการของตลาดแมลงทอด

(4 มิ.ย. 67) ที่ศูนย์เรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ บ้านไสใหญ่ หมู่ที่ 7 ต.อ่าวตง อ.วังวิเศษ จ.ตรัง นายอาคม ครชาตรี ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 7 ได้พาผู้สื่อข่าวเยี่ยมชมภายในศูนย์ฯ โดยเฉพาะที่ฐานการบิน ได้มีการเลี้ยงตั๊กแตนปาทังก้าโมจีน ซึ่งถือเป็นแมลงเศรษฐกิจตัวใหม่ โดยมีแนวคิดจากตัวเองไม่มีเวลาจึงได้ทดลองเลี้ยงจนประสบผลสำเร็จ และต่อยอดให้เกษตรกรลูกบ้านได้นำไปเลี้ยงสร้างรายได้ต่อไป

นายอาคม ครชาตรี บอกว่า สำหรับพื้นที่ตรงนี้เป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ ในพื้นที่ 5 ไร่ ซึ่งมีการปลูกไม้ป่า ไม้ใช้สอย เลี้ยงปลา เลี้ยงผึ้งโพรง และล่าสุดคือ เลี้ยงตั๊กแตนปาทังก้าโมจีน ซึ่งก็ได้นำมาทดลองเลี้ยงโดยศึกษาจากยูทูบ (Youtube) ประมาณเกือบปี โดยขณะนั้นไข่ตั๊กแตนขายอยู่ที่ขีดละ 1,000 บาท หรือกิโลกรัมละ 10,000 บาท และตนเองได้ทดลองซื้อมา จำนวน 3 ขีด ผลปรากฏว่าการเลี้ยงตั๊กแตนสร้างรายได้ดีจริง

ทั้งนี้ หลังจากที่ตั๊กแตนแตกตัวออกจากไข่ จากนั้นประมาณ 33 วัน ตั๊กแตนก็จะจับคู่กัน หลังจากนั้นก็ไข่ ซึ่งอายุตั๊กแตนที่สามารถขายได้ก็ประมาณ 2 เดือน หรือหลังจากที่พวกมันออกไข่ครั้งแรกก็สามารถจับขายได้เลย ซึ่งในพื้นที่แถวภาคใต้มีราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 360 บาท แต่ขณะนี้ผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด มีลูกค้าสั่งเข้ามาตลอด และในอนาคตกำลังเตรียมต่อยอดทำแปรรูปตั๊กแตนด้วย

สำหรับอาชีพเลี้ยงตั๊กแตนนั้น เหมาะสำหรับคนที่ไม่มีเวลามาก เพราะไม่ต้องซื้ออาหาร ไม่ต้องให้น้ำ ให้แต่ใบกล้วย ใบอ้อย ใบพืชต่าง ๆ ให้ตั๊กแตนกินเป็นอาหาร ส่วนพื้นที่เลี้ยงตั๊กแตนจะสร้างโรงเรือนที่มีมุ้งชนิดสีขาว ตรา 32 เพราะมีความทนเพื่อป้องกันตั๊กแตนกัดตัวมุ้ง ขณะที่พื้นโรงเรือนจะใส่ทรายเพื่อให้ตั๊กแตนได้วางไข่ ในส่วนของมูลตั๊กแตน ตนเองก็ยังนำไปใส่เป็นปุ๋ยให้กับพืชผักที่ปลูกไว้ ได้ประโยชน์ครบวงจรเลยทีเดียว

โดยตั๊กแตนปาทังก้าโมจีน สามารถนำไปบริโภคได้อย่างปลอดภัย เนื่องจากเลี้ยงแบบธรรมชาติ จึงไม่มีสารเคมีใด ๆ เลย ซึ่งเหมาะต่อการนำไปทำตั๊กแตนทอด เพราะมีคุณค่าทางอาหารคือโปรตีนสูง ทั้งนี้ หากผู้ใดสนใจอยากเรียนรู้เรื่องการเลี้ยง หรือจะซื้อตั๊กแตน สามารถติดต่อได้ทางเฟซบุ๊ก ผู้ใหญ่อาคม ครชาตรี หรือ โทร.094-709-7893

ครบรอบ 17 ปี สมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย จัดใหญ่ภายใต้แนวคิด 'เกษตรมูลค่าสูง : ทางรอดสู่อนาคตที่ยั่งยืน'

เมื่อวันที่ (27 พ.ย.67) สมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย จัดงานครบรอบ 17 ปี (25 ปี รวมพลคนข่าวเกษตร) ภายใต้แนวคิด 'เกษตรมูลค่าสูง : ทางรอดสู่อนาคตที่ยั่งยืน' ที่อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยได้รับเกียรติจากนายไชยา พรหมา อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงาน และดร.ดำรงค์ ศรีพระราม รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความเป็นกลางทางคาร์บอน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวต้อนรับและแสดงความยินดี ภายในงานมีการจัดนิทรรศการและบูธแสดงสินค้าด้านการเกษตรจากหน่วยงานต่างๆ และเกษตรกรกว่า 20 บูธ และเป็นการพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างสื่อมวลชนสายเกษตร ผู้ประกอบการ หน่วยงานราชการและเกษตรกร 

นายไชยา พรหมา อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าในยุคปัจจุบัน หากเราไม่เปลี่ยนแปลงการทำการเกษตรจากแบบดั้งเดิม ก็จะไม่สามารถก้าวพ้นความยากจนไปได้ และหากยังไม่เปลี่ยนวิธีการ ก็จะไม่สามารถเพิ่มขีดศักยภาพการแข่งขัน เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจที่พี่น้องเกษตรกร ซึ่งถือว่าเป็นคนส่วนใหญ่ เป็นฐานรากทางเศรษฐกิจของประเทศ ถึงแม้ว่า GDP ภาคการเกษตรของประเทศจะมีอัตราที่ไม่สูงนักเมื่อเปรียบเทียบกับภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ แต่ก็มีความจำเป็นที่ประเทศไทยหรือแม้แต่ประเทศมหาอำนาจที่จะต้องดูแลคนที่อ่อนแอกว่า ในขณะที่ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม แต่คนที่อยู่ในภาคเกษตรกลับอยู่ในสถานะความยากจน ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาได้มุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับการเพิ่มรายได้ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับเกษตรกร โดยนำนวัตกรรมใหม่ๆที่จะนำไปสู่กระบวนการผลิตที่เรียกว่าเกษตรเพิ่มมูลค่าหรือเกษตรพรีเมี่ยม ซึ่งไม่จำเป็นต้องผลิตจำนวนมาก ผลิตน้อยๆแต่ต้องเปี่ยมด้วยคุณภาพ ซึ่งผลผลิตทางการเกษตรหลายๆอย่างของพี่น้องเกษตรกร สามารถนำมาดัดแปลงเป็นสินค้าที่มีคุณภาพเพื่อเพิ่มมูลค่า ที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำได้ 

“แต่ความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกรจะดีขึ้นหรือไม่ดีขึ้น ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่ามาจากนโยบายของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันก็ให้ความสำคัญกับภาคการเกษตร ยังยึดมั่นที่จะเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรลืมตาอ้าปากได้ จึงฝากความหวังไว้กับทุกภาคส่วน และส่วนที่หนีไม่พ้นเป็นอย่างยิ่งคือ การสร้างความเข้าใจถึงมิติความสำคัญภาคการเกษตร ในการที่จะสื่อสารนโยบายสำคัญของรัฐบาลไปสู่พี่น้องเกษตรกรและประชาชนทั่วไป นั่นคือบทบาทของสื่อมวลชน ดังนั้นในวันนี้ถือว่าสื่อมวลชนภาคการเกษตร ได้ทำงานอย่างสุดความสามารถที่จะเป็นสะพานเชื่อม เพื่อนำข่าวสารที่สร้างสรรค์และถูกต้องไปสื่อให้เกษตรกรหรือประชาชน ดังนั้นผู้สื่อข่าวสายเกษตร จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อภาคเกษตรของไทย

นายภิญโญ แพงไธสง นายกสมาคมสื่อมวลชลเกษตรแห่งประเทศไทย กล่าวว่าสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทยมีอายุครบ 17 เต็มในปี 2567 นี้ แต่หากนับตั้งแต่การรวมตัวของพี่น้องสื่อมวลชนสายเกษตรฯ ที่ตั้งเป็นชมรมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย ก็นับรวมได้ 25 ปีได้ หากเปรียบกับคนเราก็เข้าสู่เบญจเพศ เป็นวัยหนุ่มวัยสาวที่มีไฟมีพลังมากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาสมาคมฯ ได้มีกิจกรรมมากมายทั้งด้านวิชาการและด้านสังคม โดยกิจกรรมที่จัดขึ้นแต่ละครั้ง ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสมาชิกฯ ผู้ประกอบการเอกชนและหน่วยงานภาครัฐ สำหรับในปีนี้ สมาคมฯได้จัดงานภายใต้แนวคิด“เกษตรมูลค่าสูง : ทางรอดสู่อนาคตที่ยั่งยืน” เพื่อเป็นสื่อกลางในฐานะสื่อมวลชน อันจะนำไปสู่การกระตุ้นให้เกิดการส่งเสริมเกษตรกรในการยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พ.ศ. 2561 - 2580 ที่ได้กำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน มีการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ลดความเหลื่อมล้ำของการพัฒนาประชากร เพื่อให้ได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาอย่างเท่าเทียมกัน สร้างความเจริญทางรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังเป็นการให้ความสำคัญกับการยกระดับรายได้ของกลุ่มเกษตรกร ตามนโยบายของรัฐบาลในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่า ภายใน 4 ปี ภายใต้แนวคิด "ตลาดนำ นวัตกรรมเสริมเพิ่มรายได้" อีกด้วย

สำหรับในปีนี้ สมาคมฯยังได้มีการมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ “รางวัลขวัญใจสื่อมวลชน” ให้กับเกษตรกรผู้มีความคิดสร้างสรรค์สร้างมูลค่าสินค้าเกษตรและมีคุณูปการต่อวงการเกษตร จำนวน 10 ท่าน ได้แก่
 
1.ไพฑูรย์ ฝางคำ วิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลผักไหม อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาอาชีพเกษตร สู่ความยั่งยืนด้วยการปรับวิธีคิด เปลี่ยนวิธีทำ สร้างกระบวนการรวมกลุ่ม สร้างเครือข่าย สร้างพลังในการขับเคลื่อนการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ด้วยการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต พัฒนาคุณภาพมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ เพิ่มมูลค่า สร้างอาชีพ สร้างรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องเกษตรกร

2.จุไรรัตน์ เชิดชิด วิสาหกิจชุมชนข้าวฮางบ้านสุขสำราญ ต.ฝั่งแดง อ.นากลาง จ. หนองบัวลำภู เป็นแกนนำในการรวมกลุ่มชาวนาในพื้นที่เพื่อปลูกแปรรูปครบวงจรจึงช่วยสร้างงาน สร้างรายได้กลับสู่ท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี ในนาม “กลุ่มข้าวฮางบ้านสุขสำราญ” ภายใต้การส่งเสริมของกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

3.คุณกมลวรรณ รุ่งประเสริฐวงศ์ “ไร่แสงสกุลรุ่ง” อำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี เป็นคนรุ่นใหม่ ที่สนใจเลี้ยง“ผำ” พืชน้ำที่มีคุณค่าทางอาหารสูง และสามารถนำไปจำหน่ายเป็นรายได้ให้กับครอบครัวและต่อยอดให้กับเกษตรกรในชุมชน แปรรูปสร้างความแตกต่างในตลาด เพิ่มมูลค่าและยอดขายให้สูงขึ้น

4.อร่าม ทรงสวยรูป เกษตรกรผู้สืบสานพันธุ์ข้าวไทย จากจังหวัดนครราชสีมา อดีตช่างภาพรางวัลพูลิตเซอร์ วัย 56 ปี ผันตัวเองเป็นชาวนาตามรอยบรรพบุรุษ เรียนรู้วิถีธรรมชาติ และยึดธรรมะเป็นที่มั่น ได้สร้างสุขทั้งร่างกายและจิตใจ อีกทั้งมีรายได้จากการทำเกษตรอินทรีย์ ยกระดับครอบครัวและยังช่วยสืบสานพันธุ์ข้าวไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

5.วัฒนชัย เกตุพลอย เกษตรกรจาก อ.วังจันทร์ จ.ระยอง เจ้าของสายพันธุ์ขนุนทองพลอย ที่ให้ผลตลอดปี ผลใหญ่ตั้งแต่ 20-60 กก. ซังน้อย เนื้อแน่น รสชาติหวานกรอบ ยางน้อย เนื้อสีเหลืองทอง โดยร่วมกับคณาจารย์หลายท่านจากหลากหลายสถาบันการศึกษา ในการวิจัยขนุนให้มีอายุหลังเก็บเกี่ยวให้นานขึ้น เหมาะกับการนำเนื้อมาแปรรูป และวางจำหน่ายตามร้านค้าโมเดิร์นเทรดชั้นนำทั่วประเทศ 

6.นางสาวธิติมา ตะรุสะ ประธานวิสาหกิจชุมชนภูริธาราพรรณ ต.ห้วยป่าหวาย อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี ผู้ยึดแนวทางหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9  มาปฏิบัติ โดยได้รับโอกาสจากสำนักงานเกษตรอำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ให้เข้าร่วมอบรมเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ หรือ Young Smart Farmer (YSF) และได้นำความรู้ที่อบรมมาปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ในสวนเพิ่มบุญ ของตนเอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพืชสมุนไพร เช่น กระชาย เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดต่อยอดพัฒนาสินค้าทางการเกษตร นำกระชายมาแปรรูป เพื่อสร่างมูลค่าเพิ่มและเพิ่มช่องทางการตลาดใหม่ๆ ภายใต้วิสาหกิจชุมชนภูริธาราพรรณ

7.วิสัน วงศ์เมือง เกษตรกรหัวก้าวหน้าแห่งตำบลสุขไพบูลย์ อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา ผู้สืบทอดความรู้และเทคนิคจากครอบครัว ผสมผสานกับความรู้สมัยใหม่ จนสามารถพัฒนาคุณภาพของผลผลิตได้อย่างต่อเนื่อง สร้างรายได้จากการปลูกกล้วยหอมทองทำให้ความเป็นอยู่ของครอบครัวดีขึ้น และเป็นต้นแบบให้เกษตรกรรายอื่นอีกด้วย

8.ชาลี จิตรประสงค์ ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งฉะเชิงเทรา เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ อาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อย ปี พ.ศ.2549 เจ้าของ สาริกาฟาร์ม ผู้มุ่งมั่นที่จะผลิตกุ้งสด สะอาด ปลอดภัยไร้สารตกค้าง เพื่อการส่งออกและจำหน่ายภายในประเทศ ที่มีคุณภาพ อย่างใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ 

9.สมบัติ สุขนันท์ เจ้าของสวนสมบัติอาณาจักรกล้วย ต.ไทรใหญ่ อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี  และปลูกกล้วย กว่า 500 ไร่ ที่ปลูกกระจายในพื้นที่จังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี พิจิตร และเชียงใหม่ และเป็นนักสะสมสายพันธุ์กล้วยแปลก กล้วยหายากเกือบ 250 สายพันธุ์ เช่น แส้หางม้า สายน้ำผึ้งเตี้ย นากค่อม นิ้วนางรำ หอมแคระ กล้วยเทพพนม กล้วยขนุน กล้วยน้ำว้าดำ กล้วยร้อยปลี เป็นต้น 

10.สิริพงศ์ วราศัย หรือที่คนในวงการกล้วยไม้ เรียกว่า อาจารย์โรจน์ ผู้คร่ำวอด ในวงการล้วยส่งออกรายใหญ่อันดับต้น ๆ ของประเทศ  ที่สืบทอดธุรกิจมาจากรุ่นคุณพ่อ ที่ทำธุรกิจกล้วยไม้เป็นรายแรกของไทย โดยรับช่วงต่อมาตั้งแต่ปี 2525 ทำให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ 

นับว่าเป็นกิจกรรมที่ช่วยสร้างขวัญและกำลังใจให้กับเกษตรกรหัวก้าวหน้า ที่จะเป็นแกนนำหรือต้นแบบให้กับเกษตรกรรายอื่นๆ ได้หันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาสินค้าเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าสูงในอนาคตต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top