Thursday, 4 July 2024
เกษตรกร

'มิสเตอร์เอทานอล' เตือนรัฐบาลอย่าทอดทิ้งเอทานอล พลังงานไทยจากหยาดเหงื่อของเกษตรกรกว่า1ล้านครัวเรือน

“อลงกรณ์”ห่วงอุตสาหกรรม
เอทานอลล่มสลายเกษตรกรล่มจม
เสนอ 5 มาตรการเดินหน้าอุตสาหกรรมเอทานอล

วันนี้นายอลงกรณ์ พลบุตร ฉายา“มิสเตอร์เอทานอล”(Mr.Ethanol)และรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊ค“อลงกรณ์ พลบุตร”เรื่อง อย่าทอดทิ้งเอทานอล พลังงานไทยจากหยาดเหงื่อเกษตรกร“แสดงความกังวลต่อนโยบาย”เอทานอล“ของกระทรวงพลังงานพร้อมเสนอ 5 มาตรการเดินหน้าอุตสาหกรรมเอทานอลโดยมีข้อความดังต่อไปนี้

อลงกรณ์ขับรถไถจากสวนจิตรลดาบุกทำเนียบรัฐบาลในเดือนกันยายนปี2544เพื่อโปรโมทโครงการเอทานอลจนคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในสัปดาห์ถัดมา

”อย่าทอดทิ้งเอทานอล พลังงานสะอาดจากหยาดเหงื่อของเกษตรกรไทย“

ผมกังวลใจที่ทราบว่ากระทรวงพลังงานจะไม่สนับสนุนเอทานอลน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพที่ผลิตจากอ้อยและมันสำปะหลังโดยการจำหน่ายน้ำมันจะเหลือเพียง น้ำมันเบนซินและน้ำมันแก๊สโซฮอล์95 (E10) ทั้งที่ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) สนับสนุนE20จะทำให้
การใช้เอทานอลลดลงถึง50%กระทบต่อเกษตรกรและอุตสาหกรรมเอทานอลที่ประเทศไทยเริ่มมาตั้งแต่ปี2544จนปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานเอทานอล28โรงมีกำลังการผลิต 6.8 ล้านลิตรต่อวัน เป็นอันดับ 7 ของโลก ซึ่งทุกวันนี้ผลิตเพียง3.1-3.2 ล้านลิตรต่อวัน หากในอนาคตปรับเหลือแค่ E10 ก็จะลดลงไปอีก50% อาจถึงการล่มสลายของอุตสาหกรรมเอทานอลและเกษตรกรล่มจม

“เมื่อปี2543เกิดวิกฤติการณ์น้ำมันประเทศไทยกระทบรุนแรงเพราะนำเข้าน้ำมันถึง90% ผมเสนอให้ประเทศไทยผลิตน้ำมันเอทานอล(แอลกอฮอล์)จากพืชซึ่งมีโรงงานต้นแบบของในหลวงในวังสวนจิตรลดาจึงได้รับแต่งตั้งจากรัฐมนตรีวิทยาศาสตร์ฯ.(ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์)เป็นประธานโครงการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากพืชในต้นปี2544และเสนอรายงานต่อคณะรัฐมนตรี(ฯพณฯ.ชวน หลีกภัย)ให้ความเห็นชอบให้ผลิตเอทานอลเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อวันที่19 กันยายน 2544 เพื่อลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ ลดคาร์บอนและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยชาวไร่มันสำปะหลังซึ่งเป็นวัตถุดิบในการแปรรูปเป็นน้ำมันเอทานอลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจนได้รับฉายา”มิสเตอร์เอทานอล“ 

นับเป็นเวลากว่า20ปีที่อุตสาหกรรมเอทานอลเติบโตและมีน้ำมันแก๊สโซฮอล์(เบนซิน-แก๊สโซลีนผสมเอทานอล-แอลกอฮอล์)จำหน่ายทุกปั้มทั่วประเทศ มีน้ำมัน E10 E20และE85 (EคือEthanol, E10คือเอทานอล10%เบนซิน90% E20และE85มีส่วนผสมเอทานอล 20%และ85%) โดยอุตสาหกรรมยานยนต์ยอมรับการปรับแต่งเครื่องยนต์และอุตสาหกรรมน้ำมันก็ให้การสนับสนุน

การที่รัฐบาลปัจจุบันโดยกระทรวงพลังงานจะลดการส่งเสริมสนับสนุนจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเอทานอลและเกษตรกรชาวไร่อ้อยชาวไร่มันสำปะหลังประสบความเดือดร้อนอย่างรุนแรงเพราะเพียงแค่มีข่าวว่าจะลดเหลือเพียงน้ำมันE10ชาวไร่ก็ถูกกดราคาแล้ว

ผมจึงขอเสนอมาตรการให้รัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงพลังงานพิจารณา ดังต่อไปนี้
1. ส่งเสริมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง E20 เป็นน้ำมันพื้นฐานและยังคงจำหน่ายน้ำมัน E85
2. ขยายเวลาการบังคับ “มาตรการยกเลิกชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ” ตาม พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 รอบ2 เป็นเวลา 2 ปี ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ ก็เป็นราคาตามกลไกตลาดโลกและต้นทุนของเอทานอลอยู่แล้ว โดยกองทุนน้ำมันฯ ไม่ได้นำเงินไปช่วยชดเชยราคาแต่อย่างใด และยังเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ อีกด้วย
3. ส่งเสริมเอทานอลเกรดอุตสาหกรรมให้สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นได้ อาทิ ไบโอพลาสติก,อุตสาหกรรมยา,อุตสาหกรรมสีทาบ้านและอุตสาหกรรมเคมี เป็นต้นโดยแก้ไขหรือยกเลิก พระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 เพราะปัจจุบันเอทานอลไม่สามารถนำมาใช้ด้วยเกรงจะถูกนำไปผลิตเป็นเหล้าเถื่อนกระทบบริษัทผลิตเหล้าและองค์การสุราทั้งที่มีมาตรการป้องกันได้เหมือนการนำเอทานอลมาใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิง

4. ส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมไบโอรีไฟนารี่(Biorefinery)คืออุตสาหกรรมพลังงานและเคมีชีวภาพซึ่งเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตเพื่อต่อยอดเพิ่มมูลค่าเอทานอล
5. เพิ่มศักยภาพการส่งออกเอทานอล โดยภาครัฐสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต(Productivity)ของโรงงานและชาวไร่ให้มีผลผลิตสูงขึ้นสามารถแข่งขันชิงตลาดโลกได้
ประเทศของเราผลิตเอทานอลได้เกือบ7ล้านลิตรต่อวันแต่กลับหยุดส่งออกเอทานอลตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2556 หรือ11ปีมาแล้วโดยรัฐบาลขณะนั้นออกมาตรการระงับการส่งออกด้วยเกรงเอทานอลจะไม่พอใช้ในประเทศ โดยยกเว้นให้ส่งออกเป็นบางกรณี เช่น เดือนมีนาคม 2557 มีการส่งออกจำนวน 4 ล้านลิตรและเดือนธันวาคม 2563 ส่งออกเพียง 5.4 หมื่นลิตร มีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และอังกฤษ ปัจจุบันกำลังการผลิตใช้เพียงครึ่งเดียวเหลือวันละ 3 ล้านลิตร หากส่งออกได้ก็จะเพิ่มกำลังผลิตได้เต็มกำลังการผลิตจริง 

“รถจดทะเบียนสะสมมีกว่า 44 ล้านคัน ส่วนรถไฟฟ้ามีแสนกว่าคัน ดังนั้นน้ำมันสำหรับรถสันดาปภายในยังมีความต้องการอีกมาก การผลิตน้ำมันชีวภาพ(Biofuel)ทั้งเอทานอลและไบโอดีเซลมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงานและรัฐบาลใช้กองทุนน้ำมันอุดหนุนราคาดีเซลและแก๊สกว่าแสนล้านบาทโดยไม่ได้อุดหนุนราคาแก๊สโซฮอลล์มิหนำซ้ำกลับจะทำลายรากฐานของการพึ่งพาตัวเองของประเทศที่เราสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมเอทานอลจนเติบใหญ่เป็นอันดับ7ของโลกและช่วยลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ เรามาไกลเกินกว่าจะหันหลังกลับ ผมขอให้กระทรวงพลังงานและรัฐบาลทบทวนนโยบายเสียใหม่ อย่าทอดทิ้งเอทานอล พลังงานไทยจากหยาดเหงื่อของเกษตรกรกว่า1ล้านครัวเรือน “

‘สส.รวมไทยสร้างชาติ’ วอน!! รัฐช่วยเหลือเกษตรกร ‘สวนทุเรียน’ ภาคใต้ หลังเผชิญปัญหาภัยแล้ง เพราะหากเสียหายต้องปลูกใหม่นาน 7-8 ปี

(20 มิ.ย.67) นายวิชัย สุดสวาสดิ์ สส. จังหวัดชุมพร เขต 1 พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ร่วมอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ว่า ก่อนอื่นขอชื่นชมการจัดสรรงบประมาณไปสู่กระทรวงต่าง ๆ เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน แต่ทั้งนี้ ตนอยากจะย้ำเตือนในเรื่องการแก้ปัญหาภัยแล้งทั่วประเทศ โดยเฉพาะในโซนภาคใต้ พื้นที่จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างทุเรียนอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ทว่าเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดดังกล่าวต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก

แต่ทั้งนี้ ต้องขอชื่นชม ท่านนายกรัฐมนตรี ที่ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานดำเนินการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรชาวสวนทุเรียน แต่อย่างไรก็ดี ขอเรียนไปถึงท่านรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้ช่วยจัดสรรงบประมาณเพื่อดูแลและแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้กับเกษตรกรอย่างทั่วถึงทุกพื้นที่

นายวิชัย กล่าวด้วยว่า ในพื้นที่ภาคใต้โดยเฉพาะจังหวัดชุมพร มีการขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนเพิ่มมากขึ้นทุกปี เพราะถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจอันดับหนึ่งที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรมากที่สุด ซึ่งจากข้อมูลการส่งออกทุเรียนของจังหวัดชุมพรในปี 2566 ที่ผ่านมา พบว่า มีสูงถึง 223,140 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 37,200 ล้านบาท สูงกว่าพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ และยังมีส่วนช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนต่าง ๆ ทั้งการจ่ายค่าแรงงาน ค่าปุ๋ย และอุปกรณ์ทางการเกษตรต่าง ๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องยอมรับว่า ทุเรียนนั้นเป็นพืชที่ต้องการน้ำในการหล่อเลี้ยง หากในพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ย่อมทำให้ได้รับความเสียหายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เพราะฉะนั้น ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ต้องลงมาดูแลและแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนทุเรียน อย่าปล่อยให้ทุเรียนของเขาได้รับความเสียหาย แล้วต้องกลับมาเริ่มต้นการปลูกใหม่อีก 7 - 8  ปี ถึงจะได้รับผลผลิตอีกครั้ง 

“จากการเก็บข้อมูลและลงพื้นที่พบพี่น้องเกษตรกร ได้รับเสียงสะท้อนมาว่า ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ชุมพรและจังหวัดใกล้เคียง เผชิญปัญหาภัยแล้งมาตั้งแต่ปี 2566 ที่รุนแรงต่อเนื่องประมาณ 5 - 6 เดือน แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาจากนั้นในปี 2567 ก็มีปัญหาอีก 4 - 5 เดือน และผมเชื่อว่าในปี 2568 ปัญหาเหล่านี้ก็จะกลับมาอีกเช่นเคย ดังนั้น จึงอยากจะฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยเฉพาะกระทรวงหลัก ๆ อย่าง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่รับผิดชอบกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ให้ช่วยเข้ามาดูแลแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน ด้วยการเจียดเงินงบประมาณ 2,000 - 3,000 ล้านบาท จากงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรกว่า 10,000 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องชาวสวนทุเรียน ซึ่งไม่เพียงแค่จังหวัดชุมพรและภาคใต้เท่านั้น แต่รวมไปถึงชาวสวนทุเรียนในภาคตะวันออก ที่รอการช่วยเหลืออยู่เช่นกัน”

นายวิชัย กล่าวย้ำว่า อยากจะขอให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ช่วยไปศึกษาและช่วยหาแนวทางในเรื่องการนำน้ำจากใต้ดินขึ้นมาใช้ให้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องเกษตรกร และขอให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องบูรณาการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะในโซนที่มีปัญหาเรื่องภัยแล้งทั่วประเทศอย่างเร่งด่วน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top