Tuesday, 22 April 2025
เกรียงยศสุดลาภา

'รทสช.' ซัด กทม. ลอยแพ 'คลองโอ่งอ่าง' ไม่เหลือเค้า 'แลนด์มาร์ก' แห่งเมืองกรุง

เมื่อวานนี้ (7 มี.ค.67) นายเกรียงยศ สุดลาภา สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้หารือระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎรฝากถึงกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงการเสียโอกาสของ ‘คลองโอ่งอ่าง’ ว่า ปัจจุบันพื้นที่คลองโอ่งอ่างได้ถูกปล่อยทิ้งร้าง กลายเป็นพื้นที่ให้คนเร่ร่อนมาหลับนอน สร้างความไม่ปลอดภัยให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง

ทั้งนี้การพัฒนาคลองโอ่งอ่าง ซึ่งเริ่มต้นจากปี 2558 กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้มีโครงการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำพื้นที่สาธารณะ พร้อมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์ดูแลความสะอาดคลองโอ่งอ่าง แล้วนำมาทำเป็นพื้นที่ท่องเที่ยว ทำโครงการถนนคนเดิน พัฒนาทำน้ำดำที่เคยเน่าเสียให้เป็นน้ำใส มีการวางระบบท่อระบายน้ำเสียที่อยู่ริมคลองโอ่งอ่าง พัฒนาพื้นที่ 2 ข้างทางให้คนใช้ประโยชน์ร่วมกันจนกลายเป็น Landmark แห่งใหม่ของกรุงเทพฯ

อีกทั้งยังมีการจัดทำโครงการถนนคนเดินทุกวันศุกร์ วันเสาร์ และวันอาทิตย์ แต่ปัจจุบันพื้นที่เหล่านี้ ได้ถูกปล่อยทิ้งร้าง โดยที่ผ่านมาได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกอบการหลายรายที่ค้าขายในบริเวณดังกล่าวว่า ปัจจุบัน กทม. ไม่ได้ให้ความสำคัญจัดกิจกรรมถนนคนเดินเหมือนในอดีตอีกแล้ว และน้ำในคลองโอ่งอ่างเริ่มเน่าเสียอีกครั้ง น้ำในคลองที่เคยใสกลายเป็นน้ำดำ

“ขอหารือ ผ่านไปยังกทม. ว่า เพราะเหตุใดถึงไม่มีการพัฒนาจัดกิจกรรมและสิ่งดี ๆ ที่เคยทำมาให้ต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสร้างประโยชน์ สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ และยังสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการ รวมทั้งไม่ทำให้เกิดปัญหากับประชาชนในพื้นที่”

สำหรับ ‘คลองโอ่งอ่าง’ นั้น เป็นคลองที่มีความสำคัญกับกรุงเทพฯ มาตั้งแต่สมัยอดีต โดยเป็นช่วงหนึ่งของคลองรอบกรุง มีขอบเขตจากปากคลองมหานาคไปถึงปากคลองทางแม่น้ำเจ้าพระยาทางตอนใต้ มีระยะทางรวมประมาณ 750 เมตร และคลองโอ่งอ่าง ยังทำหน้าที่เป็นเส้นแบ่งเขตปกครองระหว่าง เขตพระนคร กับ เขตสัมพันธวงศ์ ด้วย

โดยในอดีต ‘คลองโอ่งอ่าง’ เป็นหนึ่งเส้นทางการค้าขายและเดินทางทางเรือมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จนเมื่อผ่านกาลเวลามาถึงปี 2526 กรุงเทพมหานครได้เปิดสัมปทานเปิดพื้นที่ให้เช่า บนคลองโอ่งอ่าง เพื่อย้ายผู้ค้าจากคลองถมเดิมมาที่คลองโอ่งอ่างนี้แทน จนกลายเป็นย่านสะพานเหล็กทับคลอง เป็นแหล่งขายเกม และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ชื่อดังของวัยรุ่นยุค 80-90 

ต่อมาในเดือนตุลาคม 2558 รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เข้ามาจัดระเบียบ กทม. โดยมติของรัฐบาลได้ทำการรื้อถอนอาคารร้านค้าต่าง ๆ บริเวณริมคลองโอ่งอ่างที่ถูกบดบังทัศนียภาพมานานกว่า 40 ปี เพื่อทำการปรับภูมิทัศน์ให้เป็นถนนคนเดินที่ร่มรื่นรวมถึงมีร้านค้าและมีความสวยงามทางศิลปะ เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ คล้ายกับคลองช็องกเยช็อน ในประเทศเกาหลีใต้

‘สส.รวมไทยสร้างชาติ’ จี้!! กทม. เร่งแก้ปัญหา ‘คลองช่องนนทรี’ หลังปล่อย ‘เน่า-รก-ร้าง’ ไม่สมเป็นสวนแลนด์มาร์กกลางกรุง

(17 ก.ค.67) นายเกรียงยศ สุดลาภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ และอดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตามที่ตนได้ลงพื้นที่สวนสาธารณะคลองช่องนนทรี โดยการลงพื้นที่ในครั้งนี้มาจากการรับข้อร้องเรียนจากประชาชน ผู้ประกอบการในพื้นที่ ประกอบกับสื่อต่าง ๆ ได้มีการเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับการขาดการบำรุงรักษาของคลองช่องนนทรี 

โดย นายเกรียงยศ เปิดเผยว่า ในการพัฒนาคลองช่องนนทรีมีเป้าหมายในการพัฒนาให้เป็นแลนด์มาร์กสำคัญของกรุงเทพมหานคร เป็นจุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีศักยภาพเป็นจุดถ่ายทำภาพยนตร์ โดยมีโมเดลจากคลองชองกเยชอน กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ที่ฟื้นฟูจากคลองที่ถูกเมินเป็นแลนด์มาร์กของเมือง 

ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ พบว่าคลองช่องนนทรีขาดการดูแลรักษาหลาย ๆ ประการ อาทิ น้ำเน่าเสียซึ่งปรากฏการเผยแพร่ผ่านสื่ออย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา การปรับปรุงภูมิทัศน์ผ่านต้นไม้ต่าง ๆ ถูกปล่อยรกร้าง ขาดการดูแลรักษาทำให้พืชบางส่วนแห้งตาย มีหญ้าและวัชพืชขึ้นรก เห็นได้ชัดว่าขาดการดูแลความสะอาดของพื้นที่ในภาพรวม

“เมื่อสภาพภูมิทัศน์โดยรวมของสวนสาธารณะคลองช่องนนทรีขาดเสน่ห์ จึงไม่มีผู้เข้ามาใช้งาน ดังนั้น หากไม่มีการแก้ปัญหาย่อมจะทำให้สวนสาธารณะคลองช่องนนทรีกลายเป็นสวนสาธารณะที่ไม่เป็นสาธารณะเพราะไม่มีผู้ใช้งาน จึงขอฝากไปยังกรุงเทพมหานครให้บำรุงรักษาโครงการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้งบประมาณจากภาษีประชาชนที่ใช้ไปในโครงการต่าง ๆ อย่างคุ้มค่า โดยตนจะนำปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งกระทู้ถามในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหา”

ทั้งนี้ สวนสาธารณะคลองช่องนนทรีได้มีการศึกษาและเริ่มทำสัญญาในสมัยที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยมีเจตนารมณ์ทำให้พื้นที่คลองช่องนนทรีเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กกลางเมืองไม่แพ้คลองชองกเยชอนของเกาหลีใต้

‘เกรียงยศ’ จี้!! กทม. ให้คำตอบ สะพานลาดกระบังถล่ม เร่ง!! เดินหน้าโครงการ คืนวิถีชีวิตให้ประชาชน

(21 ธ.ค. 67) นายเกรียงยศ สุดลาภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ เปิดเผยว่า 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงเย็นของวันที่ 10 กรกฎาคม 2566 เกิดเหตุการณ์สะพานอ่อนนุช-ลาดกระบังถล่ม เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และมีผู้ได้รับผลกระทบทั้งบาดเจ็บและขาดรายได้ 356 ราย 

จนถึงขณะนี้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นนานกว่า 1 ปีแล้วแต่กรุงเทพมหานครโดยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยังไม่มีการสรุปผลถึงสาเหตุของเหตุการณ์อันน่าสลดดังกล่าวได้อย่างชัดเจน แม้หลังเหตุการณ์จะมีการให้คำสัญญาว่าจะได้รับคำตอบถึงสาเหตุภายใน 7 วัน

ซึ่งประชาชนบริเวณนั้นได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก และได้มีการร้องเรียนมายังตน และจากการลงพื้นที่พร้อมกับสมาคมวิศวกร พบว่าสาเหตุสำคัญเกิดจากรอยต่อระหว่างแท่งคอนกรีตไม่ได้มาตรฐาน จึงมีการหักโค่นและถล่มลงมา นอกจากนี้แม้โครงการดังกล่าวจะมีมูลค่าโครงการมหาศาลแต่ไม่มีการว่าจ้างบริษัทควบคุมงาน 

นอกจากนี้แล้วโครงการดังกล่าวผ่านไปนานกว่า 2 ปีแล้วแต่ยังไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจน ตอม่อของโครงการที่จะมีการตั้งอยู่ในพื้นที่กรมชลประทานยังไม่มีการขออนุญาตจากกรมชลประทาน และยังไม่มีการลงโทษหรือการปรับผู้รับเหมาของโครงการดังกล่าว แม้ว่าจะมีความล่าช้ามาไม่น้อยกว่า 8 เดือนแล้ว

ดังนั้นจึงขอฝากไปยังกรุงเทพมหานครให้มีการเร่งรัดการดำเนินการโครงการดังกล่าว และชี้แจงถึงความคืบหน้าในโครงการดังกล่าว

‘เกรียงยศ’ เรียก สจส.กทม. เข้าให้ข้อมูล ‘ป้ายรถเมล์’ แบบใหม่ หลังพบงบก่อสร้างสูงถึง 3.3 แสน ทั้งที่ก่อนนี้เอกชนทำให้ฟรี

‘เกรียงยศ’ เรียก สจส.กทม. เข้าให้ข้อมูลกรณีป้ายรถเมล์ พบป้ายรถเมล์ราคาสูงถึง 3.31 แสน แพงกว่าบ้านน็อกดาวน์ทั้งหลัง เผยก่อนหน้านี้เอกชนสร้างให้ฟรี แนะทบทวนแนวทางก่อสร้างป้ายรถเมล์ใหม่

เมื่อวันที่ (26 ก.พ. 68) นายเกรียงยศ สุดลาภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการ ศึกษาและติดตามการขับเคลื่อนนโยบายการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมาธิการ ศึกษาและติดตามการขับเคลื่อนนโยบายการบริหารราชการรูปแบบพิเศษในวันนี้ ได้มีการเชิญผู้แทนจากกรุงเทพมหานครมาเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับป้ายรถเมล์รูปแบบใหม่ที่กรุงเทพมหานครดำเนินการก่อสร้าง 

จากกรณีการก่อสร้างป้ายรถเมล์แบบใหม่ของกรุงเทพมหานครรูปแบบใหม่นี้ได้เกิดข้อสงสัยแก่ประชาชนและสื่อมวลชนเป็นจำนวนมากถึงงบประมาณที่ใช้ในโครงการดังกล่าวค่อนข้างสูง แต่ป้ายรถเมล์รูปแบบที่จัดทำขึ้นมีราคาไม่ต่ำกว่า 2 แสนบาทและไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใด ๆ 

รวมถึงความแตกต่างในการก่อสร้างป้ายรถเมล์จากเดิมที่เคยใช้รูปแบบให้เอกชนดำเนินการก่อสร้างป้ายรถเมล์ให้โดยแลกกับสิทธิในการโฆษณาเพื่อประหยัดงบประมาณ 

นายเกรียงยศ กล่าวต่อว่าในครั้งนี้สำนักจราจรและขนส่ง(สจส.) กรุงเทพมหานคร ได้ชี้แจงว่าป้ายรถเมล์รูปแบบใหม่ แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบได้แก่ Type M ขนาด 3 ที่นั่ง มีราคาประมาณหลังละ 242,000 บาทต่อป้าย หากคิดราคาเป็นตารางเมตร ราคาตารางเมตรละ 35,000 บาท  และ Type L ขนาด 6 ที่นั่ง มีราคาประมาณหลังละ 331,000 บาทต่อป้าย หากคิดราคาเป็นตารางเมตร ราคาตารางเมตรละ 33,000 บาท 

ทางคณะอนุกรรมาธิการ ศึกษาและติดตามการขับเคลื่อนนโยบายการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ ได้ให้ข้อเสนอแก่ทาง สจส. ว่าสมควรทบทวนรูปแบบในการดำเนินการก่อสร้างป้ายรถเมล์ในปีงบประมาณต่อไปเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด เนื่องจากรูปแบบที่ใช้ในปัจจุบันมีราคาสูงกว่าปกติ โดยที่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยให้กับประชาชน เช่น กล้องวงจรปิด จอแสดงรายละเอียดเส้นทางเดินรถ ฯลฯ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top