'ดร.ปิติ' หวั่น!! Patani Colonial Territory ล้างสมองเด็ก จี้!! ฝ่ายความมั่นคงควรสอบ 'มูลนิธิคณะก้าวหน้า'
ไม่นานมานี้ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า...
เห็นการประชาสัมพันธ์บอร์ดเกม Patani Colonial Territory ที่ได้รับการสนับสนุนจากคณะก้าวหน้า แล้วค่อนข้างห่วงกังวล โดยเฉพาะประเด็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์
อาทิ ภาพการ์ดในเกมที่นำมาประชาสัมพันธ์ยังมีการทำซ้ำในประเด็นอ่อนไหว เรื่อง 'เอ็นร้อยหวาย' ที่ปัจจุบันในวงวิชาการยอมรับว่าเป็น 'เรื่องเสริมแต่งเพิ่มในภายหลัง' ที่ไม่เป็นความจริง แต่เป็นเรื่องราวที่สร้างขึ้นเพื่อสร้างความเกลียดชัง 'รัฐสยาม'
แต่ในเกมยังเอาเรื่องราวสร้างความหวาดกลัวนี้มาใช้ในการประชาสัมพันธ์
ผมไม่เห็นด้วยในการใช้ข้อมูลประวัติศาสตร์ที่ outdate มาสร้างความสุ่มเสี่ยงประเด็น Misinformation/Disinformation ในพื้นที่อ่อนไหวทางความมั่นคง ผ่านสื่อที่เข้าถึงเยาวชนที่อาจจะยังไม่รู้ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์
เรื่องนี้ ฝ่ายความมั่นคงควรนำมาพิจารณาครับ
สามารถอ่านข้อค้นพบทางประวัติศาสตร์ได้จากบทความนี้
https://so05.tci-thaijo.org/index.php/rusamelae/article/download/127668/96233/
จากการตรวจสอบเพจเฟซบุ๊ก Urban Creature พบข้อความระบุว่า...
Patani Colonial Territory บอร์ดเกมที่ชวนทุกคนตามรอยประวัติศาสตร์ที่หายไปของปาตานี
Patani (ปาตานี) คือพื้นที่ที่ครอบคลุมจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และบางอำเภอในจังหวัดสงขลา ผู้คนที่อาศัยส่วนใหญ่เป็นชาวมลายูและมุสลิม อาณาจักรปาตานีเคยรุ่งเรืองเมื่อสี่ร้อยปีก่อนจะถูกสยามยึดครองในช่วงต้นของยุครัตนโกสินทร์ และแบ่งพื้นที่สืบต่อมาเป็นจังหวัดต่างๆ ของภาคใต้เช่นปัจจุบัน
‘Patani Colonial Territory’ คือบอร์ดเกมที่เป็นผลผลิตจากกลุ่ม ‘Chachiluk (จะจีลุ)’ ร่วมกับสำนักพิมพ์ KOPI และได้รับทุนสนับสนุนโดย Common School มูลนิธิคณะก้าวหน้า โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งต่อประวัติศาสตร์ของอาณาจักรนี้ไม่ให้หายไป
กลุ่มจะจีลุเล่าถึงที่มาของชื่อกลุ่มว่ามาจากการละเล่นพื้นบ้านของเด็กๆ ในพื้นที่ปาตานี โดยเหตุผลที่ใช้ชื่อนี้เพราะอยากทำหน้าที่เป็นตัวแทนความสนุกสนาน และหวังเป็นสื่อในการเชื่อมต่อผู้คนให้ได้รับรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ รวมถึงนำเสนอเรื่องราวของปาตานีผ่านความสนุกในโลกของบอร์ดเกมที่จะชวนผู้เล่นมาประลองไหวพริบและกระตุ้นเตือนความทรงจำ ท้าทายให้ทุกคนได้ลองร้อยเรียงลำดับเหตุการณ์การผนวกรวมปาตานีเข้ากับสยาม โดยเกมนี้จะใช้จำนวนผู้เล่น 3 - 5 คน กับระยะเวลาเล่นราว 15 - 30 นาที
ในบอร์ดเกมหนึ่งชุดนั้นประกอบด้วย...
1) การ์ดเกม 52 ใบ โดยแบ่งออกไปเป็น 4 สี สีละ 13 ใบ
2) โทเคน 30 ชิ้น ประกอบด้วยโทเคนที่มีตัวเลข 1 - 5 สีละหนึ่งชุด และโทเคนไม่มีตัวเลข 5 สี บรรจุในถุงผ้า
3) ใบกำกับกติกาการเล่นแบบ 2 กติกา พร้อมกระดานนับคะแนนที่อยู่ในแผ่นเดียวกัน แบ่งเป็นแผ่นหน้าและหลัง
บอร์ดเกม Patani Colonial Territory ผลิตออกมาทั้งหมด 50 ชุด ซึ่งในช่วงเริ่มต้นนี้ทางทีมงานได้มีมติว่า จะแจกบอร์ดเกมทั้งหมดให้องค์กรต่างๆ กลุ่มนักศึกษา และกลุ่มอื่นๆ ต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศนายทะเบียนมูลนิธิ กรุงเทพมหานคร เรื่อง จดทะเบียนจัดตั้ง 'มูลนิธิคณะก้าวหน้า'
โดยประกาศดังกล่าวมีใจความว่า ด้วยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิคณะก้าวหน้า ต่อนายทะเบียนมูลนิธิกรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมการศึกษา วิจัย ด้านสังคมศาสตร์ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และอื่นๆ ส่งเสริมการแปลหนังสือภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทย เผยแพร่ความรู้หรือผลงานการศึกษาวิจัยด้านสังคมศาสตร์ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และอื่นๆ ให้แพร่หลายแก่ประชาชน ส่งเสริมเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้ดำเนินกิจกรรมค่ายศึกษาอบรมเกี่ยวกับการเสริมสร้างค่านิยมประชาธิปไตย ส่งเสริมและให้ทุนการศึกษาแก่เยาวชนที่ยากไร้ ส่งเสริมและสนับสนุนการสังคมสงเคราะห์ที่เกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้สูงอายุคนพิการ และผู้ด้อยโอกาส ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมการกีฬาทุกประเภทส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วยความเป็นกลาง และไม่ให้การสนับสนุนด้านการเงินหรือทรัพย์สินแก่นักการเมืองหรือพรรคการเมืองใด
