Tuesday, 22 April 2025
อ้ายจง

'ผู้บริหารจีน' ชิ่งลาออก!! หลังถูกจับได้ว่าไม่สนใจคุณภาพชีวิตพนักงาน  ภายใต้กระแสคนจีนต่อต้านวัฒนธรรมการทำงานหนักแบบอุทิศชีวิต

(12 พ.ค.67) เพจ 'อ้ายจง' ได้โพสต์ข้อความในกรณีที่ผู้บริหารฝ่าย PR ของบริษัทยักษ์ใหญ่จีนลาออกหลังแสดงทัศนคติ สนับสนุนการทำงานหนัก ไม่สนใจ Work-Life Balance ว่า...

ประเด็นนี้เป็นเรื่องราวของผู้บริหารหญิงฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ Baidu ที่กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลจีนเมื่อเร็วๆ นี้ หลังมีการเปิดเผยคลิปหลายคลิปที่แสดงถึงทัศนคติของเธอที่สนับสนุนการทำงานหนัก โดยไม่คำนึงถึงเวลาส่วนตัวหรือคุณภาพชีวิตของพนักงาน

โดยมีบางท่อนในการวิพากษ์วิจารณ์พนักงานคนหนึ่งที่ปฏิเสธการเดินทางไปดีลเรื่องธุรกิจเรื่องงานในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยกล่าวว่า "เหตุใดฉันจึงควรคำนึงถึงครอบครัวของพนักงานด้วย ฉันไม่ใช่แม่สามีของเธอ" 

นั่นเลยกลายเป็นดราม่าในโซเชียลจีนเลย โดยสื่อในจีนมีการรายงานถึงหุ้นของ Baidu ตก ราว 2.17% ในช่วงเวลาที่มีดราม่า

หลังจากโดนกระแสดรามาอย่างหนัก ผู้บริหารคนนี้จึงได้ออกมาขอโทษต่อสาธารณชน แสดงความเสียใจต่อความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ เธอยังให้คำมั่นว่าจะพัฒนาทักษะการสื่อสารของเธอและแสดงความเอาใจใส่ต่อเพื่อนร่วมงานมากขึ้น แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง

นอกจากนี้ ยังมีชาวเน็ตออกมาสำทับด้วยว่า สิ่งที่คทำงานยุคนี้ต่อต้าน จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องของการทำงานหนักหรอก แต่ต่อต้าน การเอาเปรียบของบริษัทมากกว่า

โดยทางเพจได้โพสต์เสริมประเด็นนี้ ว่า...ทุกวันนี้คนจีนเรียกร้องเรื่องทำงานหนักจนไม่มีเวลาส่วนตัวกันมากขึ้น อย่างที่เคยได้ยินประเด็น 996 หรือ ทำงาน 9AM ถึง 9PM 6 วันต่อสัปดาห์ จนจุดให้เกิดกระแสต่อมาจากคนจีนรุ่นใหม่ที่เริ่มมีแนวคิดที่เรียกว่า 躺平 หรือ 'นอนราบ' ซึ่งเป็นภาวะหมดความทะเยอะทะยานในชีวิต คือ ปล่อยจอยแล้ว เพราะเริ่มสงสัยว่า แนวคิดที่เคยมีมาตั้งแต่สมัยก่อน เรื่องทำงานให้หนักแล้วจะสบายในภายภาคหน้า มันจริงหรือไม่ ด้วยสภาพสังคมที่แข่งขันสูงกดดันมากและภาวะเศรษฐกิจ จะเป็นแบบนั้นได้จริงๆ หรือ

นักวิชาการ เจ้าของเพจดัง เผย ‘ชุดนักเรียนไทย’ ขายดีมากที่ ‘จีน’ ชี้!! เป็นกระแสจากสื่อบันเทิง ที่ตัวละครหลัก มักเป็น ‘นักเรียน’

(18 พ.ค. 67) อาจารย์ภากร กัทชลี อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเจ้าของเพจอ้ายจง ได้โพสต์ข้อความ เกี่ยวกับเรื่องที่ชุดนักเรียนของไทย กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในประเทศจีน โดยได้ระบุว่า ...

เมื่อช่วงมีนาคมปีที่แล้ว ผมมีโอกาสได้ให้สัมภาษณ์ทางสื่อที่ไทย เกี่ยวกับการวิเคราะห์กระแสชุดนักเรียนไทยในกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน และก็เริ่มเห็นใส่ในเมืองจีนมากขึ้น ซึ่งผมเคยเขียนวิเคราะห์ไว้แล้ว แต่อยากจะขอรีรันวิเคราะห์อีกครั้ง 

1. ทำไมกระแส 'ชุดนักเรียนไทย' ถึงจุดติดในกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนขนาดนี้? 
นอกจากเรื่องที่ดาราใส่แล้ว มีประเด็นอื่น ๆ เช่น ปัจจัยด้านสังคม วัฒนธรรม อะไรพวกนี้หรือไม่?

ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา คนจีนไม่น้อยมีโอกาสได้รับรู้เรื่องราวของไทยเป็นอย่างมาก ทั้งผ่านสื่อบันเทิงพวกภาพยนตร์ละครที่เข้าไปตีตลาดในจีน โดยเฉพาะภาพยนตร์ละครซีรีส์วัยรุ่น โดยถ้ายุคบุกเบิกเลย ก็อย่างเช่น รักแห่งสยาม สิ่งเล็กเล็กที่เรียกว่ารัก ซึ่งล้วนแต่ปรากฏชุดนักเรียนไทยอยู่ในเรื่อง 

โดยเฉพาะหนังไทยเรื่อง 'สิ่งเล็กเล็กที่เรียกว่ารัก' ที่ในสื่อและโลกออนไลน์จีน เมื่อนำเสนอกระแสชุดนักเรียนไทย ก็จะมีการอ้างอิงถึงภาพยนตร์เรื่องนี้

โดยบันเทิงไทยในยุคหลังจากยุคบุกเบิกในจีน ตามที่ผมระบุไปข้างต้น ก็มีอีกหลายเรื่องที่มีตัวละครหลักเป็นวัยเรียน วัยมัธยม อย่างเช่น ฉลาดเกมส์โกง 

และต้องยอมรับว่าซีรีส์วายหลายเรื่องที่เป็นที่นิยมในจีน ณ ปัจจุบัน ก็เป็นเรื่องราวของวัยรุ่น ทั้งระดับมัธยมปลายและมหาวิทยาลัย ซึ่งปรากฏชุดนักเรียน ชุดนักศึกษา ทำให้คนจีนได้เห็นและรับรู้ว่า นี่คือชุดนักเรียน นักศึกษาของในไทยนะ 

2. ชุดนักเรียนไทย มีความแตกต่างจากในจีนพอสมควร เนื่องจากถ้าในระดับโรงเรียนประถมและมัธยมจีนจะเป็นลักษณะของชุดวอร์ม ภายในชุดวอร์มนั้นจะใส่เป็นเสื้ออะไรก็ได้ทั่ว ๆ ไป 

ส่วนถ้าเป็นมหาวิทยาลัย จะใส่ชุดอะไรก็ได้แบบที่บ้านเราเรียกว่า 'ไปรเวท' ความแตกต่างตรงนี้จึงทำให้เกิดความสนใจ และกลายเป็นภาพจำไปแล้วว่า นั่นคือเครื่องแต่งกายของนักเรียนนักศึกษาไทย

3. หากดูแคปชัน และความคิดเห็นของคนจีนที่โพสต์เรื่องราวชุดนักเรียนไทย ในแพลตฟอร์มโซเชียลจีนหลัก ๆ ที่เป็นกระแส ก็คือ โต่วอิน (Douyin เป็นชื่อ TikTok เวอร์ชันจีน) และรวมถึงใน Xiaohongshu (เทียบเคียงได้กับ Instagram) อีกหนึ่งโซเชียลที่คนจีนนิยม ซึ่งเป็นโซเชียลไลฟ์สไตล์ คนจีนชอบโพสต์แชร์ โดยเฉพาะเกี่ยวข้องกับต่างประเทศ ชีวิตไปเที่ยว อะไรต่าง ๆ 

จะพบว่า แคปชันไม่น้อย จะมีอ้างถึงคำว่า JK ซึ่งมาจาก Joshi Kousei ภาษาญี่ปุ่น อันหมายถึง นักเรียนหญิงมัธยมปลาย ซึ่งคำนี้ว่ากันตามตรง ก็ใช้ได้ทั้งแบบกลาง ๆ และด้านมืด 

4. แต่ในความหมายที่คนจีนใช้คู่กับประเด็นชุดนักเรียนไทย ก็คือ เป็นJK เวอร์ชันไทย หมายถึง ชุดนักเรียนไทย นั่นเอง 

สื่อให้เห็นว่า ความเป็นจริงแล้ว "คนจีนรับรู้เกี่ยวกับชุดนักเรียนของประเทศอื่น โดยให้ความสนใจของชุดนักเรียนญี่ปุ่นมาก ในลักษณะของเอามาใส่เป็นชุดทั่วไป ชุดใส่เที่ยว ชุดแฟชั่น หรือชุดคอสเพลย์ (Cosplay)" แม้แต่ในไทยเอง 

"ทำให้พอชุดนักเรียนไทยเป็นกระแส ก็อยากจะใส่ตาม ซึ่งคิดว่าใส่ได้ เหมือนกับชุดนักเรียนญี่ปุ่น"

5. อ้ายจงยังได้วิเคราะห์ข้อมูลจากปริมาณการค้นหาคำที่เกี่ยวข้องบน Baidu ซึ่งยังคงเป็นแพลตฟอร์มค้นหาข้อมูล (ลักษณะเดียวกับ Google) ที่คนจีนยังนิยมใช้เป็นหลัก ก็พบว่า เมื่อเทียบเวลาเดียวกัน คนจีนค้นหาคำว่า ชุดนักเรียนญี่ปุ่น มากกว่า ชุดนักเรียนไทย ประมาณเท่าตัว และถ้าเทียบกับคำว่า JK制服 ซึ่งหมายถึง ชุดยูนิฟอร์มนักเรียนหญิง มัธยมปลายญี่ปุ่น ที่มีขายทั่วไปบนโลกออนไลน์จีน พบว่าต่างกันหลายสิบเท่า โดยชุดนักเรียนไทย จะค้นหาเพียงหลักร้อยต่อวัน ในขณะที่ JK制服 ค้นหาหลายพันต่อวัน

6. เมื่อวิเคราะห์เพิ่มเติมไปอีก ทำให้พบอีกว่า จริง ๆ แล้วคำว่า ชุดนักเรียนไทย มีปริมาณการค้นหาใน Baidu ในหลักหลายพันใน1วัน ในช่วงปลายเดือนตุลาคมปี 2555 (2012) ซึ่งมากที่สุด นับตั้งแต่มีการค้นหาคำนี้ใน Baidu และ มากกว่า ณ ตอนนี้ที่กำลังเป็นกระแสเสียอีก 

เมื่อไล่ตามไปดูข้อมูลที่ปรากฏบน Baidu ในช่วงเวลาดังกล่าว ปี 2555 พบว่า มีคอนเทนต์ที่รีวิวเกี่ยวกับชุดนักเรียนประเทศต่าง ๆ และระบุว่า ชุดนักเรียนชุดนักศึกษาไทยเป็นหนึ่งในชุดที่มีความน่าสนใจที่สุด และยังเป็นช่วงที่หนัง LOST IN THAILAND หนังที่มีการถ่ายทำในไทย ถ่ายทอดเรื่องราวในไทย ที่ดังเป็นพลุแตกในจีน จนเกิดการเที่ยวตามรอยของคนจีนในประเทศไทย 

7. ในช่วงปี 2566 ผมได้ถามทางเพื่อนคนจีน และ นศ.จีน พบว่า จำนวนไม่น้อย รู้สึกว่าเป็นกระแสในโลกออนไลน์เท่านั้น ยังไม่เห็นคนใกล้ตัว หมายถึงในประเทศจีนเอง ในเมืองของที่พวกเขาอยู่มีการเอามาใส่จริงจัง ถ้าเทียบกับชุดนักเรียนหญิงญี่ปุ่น โดยชุดนักเรียนไทย พวกเขาบอกว่า เห็นแต่ในโลกโซเชียล ที่คนจีนไปไทยแล้วไปใส่

แต่ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน 2567 ระยะเวลา 1 ปี ได้เห็นคนจีนในมหาวิทยาลัย และคนใกล้ตัวผม เริ่มใส่ชุดนักเรียนไทยมากขึ้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผมไปปักกิ่ง และหนานจิง ก็เห็นมีคนใส่

8. อ้ายจงได้ตรวจสอบบน E-commerce ภายใต้คำถามที่ว่า "ในจีนมีการขายและเริ่มมีการใส่ชุดนักเรียนไทยในจีนบ้างหรือไม่? หรือเกิดขึ้นแค่ในไทย ในกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่ไปไทย"

เมื่อค้นหาคำว่า 泰国 (ไทย) ใน Taobao (เถาเป่า) E-commerce จีน และเลือกเรียงลำดับตามจำนวนยอดขาย

สินค้าชุดนักเรียนไทยของร้านหนึ่ง อยู่ในอันดับต้น ๆ โดยบางร้านที่ขายระบุว่ามียอดขายรายเดือน มากกว่า 8000 ออร์เดอร์ และเริ่มมีรีวิวบนเถาเป่า ว่าซื้อแล้วนำไปใส่ถ่ายรูปตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในจีน แต่ก็ยังไม่ถือกับเป็นกระแสหลักวงกว้าง สำหรับกรณีใส่ในจีนนะครับ

9. ขอย้ำตามที่เขียนไปข้างบน ๆ แล้วว่า การใส่ชุดนักเรียนไทย หรือชุดนักเรียนของต่างประเทศ สำหรับคนจีนมองเป็นการใส่แบบคอสเพลย์ ใส่แบบแฟชั่น ดังนั้น โดยทั่วไปจึงอาจไม่ถูกระเบียบแบบที่ใส่จริง ๆ ในไทยครับ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top