Wednesday, 23 April 2025
อุทยานทับลาน

'กรมอุทยานฯ' เปิดรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การปรับปรุงแนวเขต 'อุทยานฯ ทับลาน' ตามมติ ครม.

ไม่นานมานี้ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ เปิดเผยว่า อุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดสระแก้ว เปิดรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน ในการกำหนดพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดสระแก้ว ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 

โดยการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน (จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดปราจีนบุรี) แจ้งมติคณะทำงานพิจารณาปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการมาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) ภายใต้คณะอนุกรรมการการปรับปรุงแผนที่ แนวเขตที่ดินของรัฐ (One Map) ครั้งที่ 4/2566 เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2566 เห็นชอบผลดำเนินการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐฯ (One Map) ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน เพื่อให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบหมายกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นำเรื่องเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ พิจารณาดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 

โดยให้ส่วนราชการดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบต่อไป สำหรับพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ที่จะผนวกเพิ่มประมาณ 110,000 ไร่ ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสมต่อไป

โดยการกำหนดพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดสระแก้ว มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 เห็นชอบแนวทางของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขตปี พ.ศ. 2543 ในการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน

สำหรับอุทยานแห่งชาติทับลาน มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอปักธงชัย อำเภอวังน้ำเขียว อำเภอครบุรี อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี มีเนื้อที่ประมาณ 1,387,375 ไร่ หรือ 2,235.80 ตารางกิโลเมตร ซึ่งหากมีการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานตามแนวเขตใหม่นี้ จะมีผลทำให้อุทยานแห่งชาติทับลานมีเนื้อที่ลดน้อยลงไปประมาณ 265,000 ไร่ และแม้จะมีการเสนอผนวกพื้นที่ทางตอนเหนือในท้องที่ตำบลจระเข้หิน อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา เพิ่มเข้ามาอีกประมาณ 80,000 ไร่ ก็ยังไม่สามารถที่จะยืนยันว่าจะผนวกเพิ่มได้หรือไม่ 

เนื่องจากพบว่ามีราษฎรถือครองที่ดินอยู่เป็นจำนวนมาก รวมทั้งยังอยู่ในขั้นตอนของการหาข้อยุติกับกรมป่าไม้ เนื่องจากมีแผนงานโครงการปลูกป่าที่มีงบประมาณต่อเนื่อง รวมทั้งมีการจัดตั้งป่าชุมชนไปเป็นส่วนใหญ่แล้ว 

ทั้งนี้ ในการเพิกถอนอุทยานแห่งชาติ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน จะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน ตามมาตรา 8 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ให้สงวน อนุรักษ์ คุ้มครอง และบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืน เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาดำเนินการในพื้นที่อื่น ๆ ด้วย

อย่างไรก็ตาม ตามระเบียบในการกำหนดพื้นที่บริเวณใดเป็นอุทยานแห่งชาติ การขยายอุทยานแห่งชาติ หรือการเพิกถอนอุทยานแห่งชาติไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน จะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการ จึงได้เปิดรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้องและประชาชน ในการกำหนดพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดสระแก้ว จึงขอเชิญชวนแสดงความคิดเห็น ระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน - 12 กรกฎาคม 2567 ผ่านเว็บไซต์ https://portal.dnp.go.th/Content/nationalpark?contentId=37163 

สำหรับการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน ในการกำหนดพื้นที่ให้เป็นอุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดสระแก้ว (ปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน จากการสำรวจแนวเขตเมื่อปี พ.ศ. 2543 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566) สามารถอ่านรายละเอียดก่อนแสดงความคิดเห็นได้ทางลิงก์ด้านล่างนี้

*ข้อมูลประกอบการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วม
https://drive.google.com/file/d/1-2KFhTMMbPkXii1qYcuIAOR1Jfz1bHty/view?usp=sharing

#SAVEทับลาน สะท้อนปัญหาที่ดินทับซ้อนในสังคมไทย รัฐต้องคำนึง ‘สิทธิชุมชน’ ควบคู่ ‘อนุรักษ์ป่าไม้’ ของชาติ

(11 ก.ค. 67) มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (ม.ส.ท.) เผยแพร่บทความเกี่ยวกับ ‘ทับลาน’ โดยระบุว่า…ในช่วงสัปดาห์นี้ ในแวดวงผู้สนใจเรื่องทรัพยากรป่าไม้คงไม่มีกระแสใดแรงเท่า #SAVEทับลาน ที่ปรากฏอยู่ตามหน้าสื่อต่าง ๆ รวมทั้งโซเชียลมีเดีย การปะทะทางความคิดของกลุ่มที่ต้องการอนุรักษ์ผืนป่าแห่งนี้กับกลุ่มที่มีความเห็นว่าชุมชนที่อยู่มาก่อนมีการประกาศเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติควรมีสิทธิเหนือที่ดินนั้นเป็นไปอย่างเข้มข้นและเป็นที่จับตาของผู้คนในสังคม

ที่มาของแฮชแท็ก #SAVEทับลาน เกิดจากการที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดรับฟังความคิดเห็นในการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2566 เห็นชอบแนวทางของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขตปี พ.ศ. 2543 ซึ่งจะมีผลให้เนื้อที่อุทยานลดลงประมาณ 265,000 ไร่ จึงทำให้ประชาชนที่เป็นห่วงทรัพยากรป่าไม้ของประเทศออกมาแสดงความคิดเห็นและคัดค้านการใช้เส้นปรับปรุงแนวเขตดังกล่าว

ปัญหาที่ดินทับซ้อนระหว่างพื้นที่ทำกินของชุมชน พื้นที่ป่าไม้ หรือพื้นที่ที่ถูกประกาศให้เป็นป่าอนุรักษ์เป็นปัญหาเรื้อรังยาวนานที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ไม่เฉพาะกับอุทยานแห่งชาติทับลานเท่านั้น ต้นตอของปัญหาส่วนใหญ่มีความคล้ายคลึงกัน เกิดจากการที่ราษฎรเข้าไปบุกเบิกแผ้วถางทำกินในพื้นที่ซึ่งในขณะนั้นอาจเป็นพื้นที่ป่าไม้ตามพรบ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 หรือพื้นที่ป่าสงวน บางพื้นที่การเกิดขึ้นของชุมชนอาจเกิดจากนโยบายของรัฐเป็นตัวกระตุ้น เช่น การส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจ การย้ายถิ่นฐานที่เกิดขึ้นในยุคสงครามเย็น หรือการส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นต้น 

แต่เมื่อมีการประกาศพื้นที่อนุรักษ์ อาจด้วยระยะเวลาในการดำเนินงานที่จำกัด เทคโนโลยีที่ยังไม่ก้าวหน้า หรือด้วยอีกหลายปัจจัย ทำให้เกิดแนวเขตซ้อนทับกับที่ทำกินของชุมชน หรืออีกประการหนึ่งคือการที่ราษฎรบุกรุกพื้นที่ป่าไม้เพื่อการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ จนทำให้พื้นที่ไม่คงสภาพป่า จึงมีการมอบพื้นที่นั้นให้กับสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (สปก.) นำไปจัดสรรให้แก่เกษตรกรเพื่อประกอบอาชีพทางการเกษตรต่อไป และแม้ว่าเงื่อนไขของที่ดินสปก.นั้นห้ามซื้อขายเปลี่ยนมือและมีวัตถุประสงค์เพื่อการเกษตรเท่านั้น แต่บริเวณอุทยานแห่งชาติทับลาน จะเห็นโรงแรม ที่พัก รีสอร์ท ตั้งอยู่ในพื้นที่สปก.จำนวนมาก ซึ่งไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้

ในกรณีของอุทยานแห่งชาติทับลานนั้น การยกเลิกแนวเขตเดิมและใช้แนวเขตใหม่จะทำให้พื้นที่ 3 กลุ่มคือ กลุ่มที่มีปัญหาที่ดินทับซ้อนกับ สปก. กลุ่มที่อยู่อาศัยมาก่อนมติครม. 2541-2557 และกลุ่มนายทุนที่มีคดีความอยู่กว่า 400 คดี อยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติโดยอัตโนมัติ ซึ่งเสียงจากคนในพื้นที่ระบุว่าพื้นที่เหล่านั้นไม่ได้เป็นพื้นที่ที่มีสภาพป่าแต่อย่างใด และคนในพื้นที่เองก็ต้องการให้มีการปรับปรุงแนวเขตอุทยานฯ เพื่อการแก้ไขปัญหาแนวเขตทับซ้อนอย่างจริงจัง

ความตั้งใจในการรักษาพื้นที่ป่าไม้ของชาติไว้เพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศนั้น เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง แต่สิทธิของชุมชนก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพื้นที่ที่จะถูกกันออกไม่มีสภาพเป็นป่าแล้วก็ควรจะส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ในส่วนของพื้นที่ที่มีคดีความเรื่องการบุกรุกพื้นที่อุทยานฯ ก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย และหากชุมชนสามารถพิสูจน์ได้ว่าตั้งถิ่นฐานมาก่อนการประกาศเป็นพื้นที่อุทยานฯ หรือก่อนมติครม. 2541-2557 ก็ควรมีสิทธิได้รับความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยเช่นกัน แต่รัฐควรส่งเสริมอาชีพ และการทำเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บนฐานการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืน โดยเร่งรีบดำเนินการพิสูจน์สิทธิในที่ดินควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้นและเป็นธรรม 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top