Monday, 21 April 2025
อุทกภัย

‘นายกฯ’ สั่งทุกหน่วยเร่งช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมพัทลุง พร้อมเยียวยาโดยเร็ว หลังเหตุการณ์เริ่มคลี่คลาย

(26 ม.ค. 67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ติดตามสถานการณ์ฝนถล่มและเกิดอุทกภัยฉับพลัน จากเหตุฝนตกหนักในพื้นที่จังหวัดพัทลุงติดต่อและสะสมเป็นเวลา 3 วัน โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ริมเทือกเขาบรรทัด อ.ศรีนครินทร์ ทำให้เกิดน้ำป่าไหลทะลักลงจากภูเขาบรรทัดอย่างรุนแรง ไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนอย่างรวดเร็ว และทำให้ทั้งชาวบ้านและนักท่องเที่ยวไม่สามารถออกจากพื้นที่ได้ รวมถึงปิดกั้นการจราจรไม่สามารถผ่านได้

นายกฯ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการสรรพกำลัง พลเรือน ทหาร และเจ้าพนักงาน เข้าคลี่คลายสถานการณ์ทันที อพยพประชาชน ยกสิ่งของขึ้นที่สูง รวมทั้งการอพยพเด็ก นักเรียน ในพื้นที่ประสบภัยออกจากโรงเรียน ไปพำนักในที่ปลอดภัย หยุดการเรียนการสอนชั่วคราว

พร้อมสั่งการเรื่องการแจ้งเตือนเหตุให้เตรียมรับมือจากสถานการณ์ ไม่ให้บกพร่องเนื่องจากยังมีฝนตกต่อเนื่องติดต่อกัน จึงขอให้หน่วยงาน เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เจ้าพนักงานปกครองให้บูรณาการงานเพื่อป้องกันเหตุและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นตามมา สำหรับการดูแลช่วยเหลือประชาชนจากเหตุการณ์นี้ ขอให้หน่วยงานทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ ดูแลที่พักพิงของนักเรียนและประชาชนให้มีอาหาร ยารักษาโรค และของใช้จำเป็น รวมไปถึงการเยียวยาซ่อมแซมอาคารบ้านเรือน และสถานศึกษาให้กลับมาสู่สภาพปกติโดยเร็ว

พิษณุโลก มทบ.39 ตรวจความพร้อมการบรรเทาสาธารณภัย เตรียมรับมือเหตุอุทกภัยในปี 2567

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2567 เวลา 1000 พลตรี กฤษณะ ภู่ทอง ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 39 / ผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย มณฑลทหารบกที่ 39 พร้อมคณะผู้บังคับบัญชา ให้การตรวจเยี่ยมการตรวจสภาพความพร้อมของศูนย์บรรเทาสาธารณภัยมณฑลทหารบกที่ 39 โดย กองร้อยบรรเทาสาธารณภัยและส่วนสนับสนุนที่เกี่ยวข้อง ณ ลานด้านหน้ากองบัญชาการมณฑลทหารบกที่ 39 ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก เพื่อตรวจสอบโครงสร้างและประเมินขีดความสามารถของกำลังพลในการรองรับสถานการณ์อุทกภัยเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์ดังกล่าว ในด้านต่างๆ อาทิ การใช้ยุทโธปกรณ์, การช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำ, การทำลายสิ่งกีดขวางเพื่อเปิดเส้นทาง, การปฐมพยาบาลเบื้องต้น (CPR) และการสนับสนุนรถครัวสนาม - รถน้ำ เป็นต้น โดยได้จำลองสถานการณ์น้ำป่าไหลหลาก – ดินโคลนถล่ม ในพื้นที่ ตำบลชมพู อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก สาธิตการปฏิบัติแบบเสมือนจริง และผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 39 ได้มอบแนวทางและข้อห่วงใยแก่กำลังพลทุกนาย โดยเน้นย้ำเรื่องของความปลอดภัย ความถูกต้องเป็นสำคัญ

ซึ่ง ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยมณฑลทหารบกที่ 39 มีขีดความสามารถทั้งด้านกำลังพลและยุทโธปกรณ์ ในการร่วมสนับสนุนศูนย์บัญชาการประจำพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติ ในพื้นที่รับผิดชอบทั้งจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดสุโขทัย หน่วยงานต่างๆ สามารถขอรับการสนับสนุนผ่านกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน จังหวัดพิษณุโลก (ฝ่ายทหาร)

หรือสามารถประสานขอความช่วยเหลือมายังศูนย์บรรเทาสาธารณภัยมณฑลทหารบกที่ 39 โทรศัพท์ 055 – 906450, 055 – 244529

ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยมณฑลทหารบกที่ 39 
ศูนย์ประชาสัมพันธ์มณฑลทหารบกที่39 

‘รัดเกล้า’ เผย รัฐบาลเตรียมแผนรับมือหน้าฝน ปี 67 จ่อป้องกัน-แก้ปัญหา ‘อุทกภัย’ ไม่ให้กระทบประชาชน

(5 ก.ค. 67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้ติดตามและรายงานความคืบหน้าการเกิดสถานการณ์สาธารณภัยที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ พื้นที่ ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้มีข้อสั่งการ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 ให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 โดยเพื่อให้การเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยตลอดช่วงฤดูฝน ปี 2567 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและแผนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงให้สอดคล้องกับมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 ของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

โดยกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดดำเนินการ ดังนี้ 1.การเตรียมความพร้อม ทั้งการติดตามสภาพอากาศ การจัดทำแผนเผชิญเหตุอุทกภัย การตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงสถานที่ใช้กักเก็บ/กั้นน้ำ การระบายน้ำและการเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำ และการแจ้งเตือนภัย 2.การเผชิญเหตุ เมื่อเกิดหรือคาดว่าจะเกิดสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ให้ดำเนินการตามแนวทาง คือจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ระดับจังหวัด อำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเมื่อเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ ให้มอบหมายฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัคร และประชาชนจิตอาสา เฝ้าระวังพื้นที่ชุมชน พื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ สถานที่สำคัญต่าง ๆ

รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า การจัดชุดปฏิบัติการเร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย โดยเฉพาะด้านการดำรงชีพตามวงรอบอย่างต่อเนื่อง ให้รายงานสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม และผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางตามช่องทางที่กำหนด เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการประเมินสถานการณ์ และเสนอความเห็นต่อผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติในการตัดสินใจ สั่งการในเชิงนโยบายต่อไป

ส่วนกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานครดำเนินการ ดังนี้ 1.การเตรียมความพร้อม โดยเฝ้าระวังติดตามข้อมูลสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำท่วมที่อาจส่งผลให้เกิดอุทกภัยในช่วงฤดูฝน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนเผชิญเหตุ ตลอดจนการประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการสื่อสารแจ้งเตือนประชาชนให้รับทราบสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น การตรวจสอบพื้นที่เขตชุมชน พื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ และเส้นทางคมนาคมที่มักเกิดปัญหาน้ำท่วมขังเมื่อฝนตกหนัก พร้อมทั้งเร่งเปิดทางน้ำโดยการดูดเลน ขุดลอกท่อระบายน้ำ ทำความสะอาดร่องน้ำเพื่อเตรียมรองรับน้ำฝน และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ

ขณะที่พื้นที่คู คลอง แหล่งน้ำต่าง ๆ ที่เป็นพื้นที่รองรับน้ำและเส้นทางระบายน้ำลงสู่แม่น้ำสายต่างๆ ให้เร่งกำจัดวัชพืช ขยะ สิ่งกีดขวางทางน้ำอื่น ๆ เพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำให้สามารถรองรับน้ำฝน และน้ำจากท่อระบายน้ำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เตรียมความพร้อมบุคลากร วัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลสาธารณภัย เพื่อใช้ในการเผชิญเหตุให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่เสี่ยงในแต่ละเขตพื้นที่ พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องจักรกลสาธารณภัยไว้ในพื้นที่เสี่ยงเป็นการล่วงหน้า โดยให้ประสานการปฏิบัติการร่วมกับจังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกับกรุงเทพมหานคร เพื่อดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างเป็นระบบ และเตรียมแผนสำรองในการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการแก้ไขปัญหากรณีฉุกเฉินอื่นๆ

นางรัดเกล้า กล่าวว่า 2.การเผชิญเหตุ เมื่อเกิดฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้จุดชุดปฏิบัติการเร่งเข้าตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงที่มักเกิดปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณผิวการจราจร หรือตามเขตชุมชน พร้อมทั้งทำการแก้ไขปัญหาที่ส่งผลต่อการกีดขวางการระบายน้ำทันที หากเกิดกรณีน้ำท่วมขังบนผิวการจราจร ให้บูรณาการการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกการจราจรโดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน ตลอดจนให้ความช่วยเหลือผู้ขับขี่ที่อาจประสบปัญหาเครื่องยนต์ดับบนผิวจราจรที่มีน้ำท่วมขัง ส่วนในช่วงของการเกิดฝนฟ้าคะนอง และฝนตกหนักให้กำกับเจ้าหน้าที่ประจำจุดสูบน้ำดำเนินการตามแผนอย่างต่อเนื่อง หากเกิดปัญหาระหว่างการปฏิบัติงานให้เร่งทำการแก้ไขตามแผนสำรอง และประสานการปฏิบัติร่วมกับชุดปฏิบัติการของการไฟฟ้านครหลวงอย่างใกล้ชิดและให้ความสำคัญกับการสร้างการรับรู้กับประชาชน

“โดย มท. ได้เสนอเรื่องดังกล่าวเพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบ ซึ่งเรื่องนี้เข้าข่ายที่ต้องนำเสนอ ครม. ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 มาตรา 4(1) เรื่องที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี หรือให้ต้องเสนอ ครม. และ เรื่องที่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินนอกเหนือจากที่ได้รับอนุมัติไว้แล้ว ตามกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรืองบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม” นางรัดเกล้า ระบุ

'กองทัพเรือ' โดยหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ช่วยเหลือประชาชน จากอุทกภัย

เมื่อวานนี้ (22 ก.ค.67) พลเรือโทสมรภูมิ จันโท ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน กองทัพเรือ สั่งการให้ กรมทหารราบที่ 1 กองพลนาวิกโยธิน จัดกำลังพล เข้าช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ณ บริเวณ ตลาดเจริญสุข ต.ท่าช้าง อ.เมือง จว.จันทบุรี 

ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ ที่ได้กำหนดเป็น "มอตโต้" แนวทางในการปฏิบัติงานของกำลังพลทุกระดับไว้คือ "เทิดทูนสถาบัน ยึดมั่นระเบียบวินัย ประชาชนภูมิใจ ทะเลไทยมั่นคง" Fit for the Future

‘เศรษฐา’ เป็นห่วง ‘ประชาชน – ผู้ประสบเหตุอุทกภัย’ สั่ง!! ผู้ว่าฯ - หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งให้ความช่วยเหลือโดยด่วน

(28 ก.ค. 67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้รับรายงานสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่เพราะฝนตกต่อเนื่องตั้งแต่เมื่อ 27 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยเฉพาะที่จังหวัดตราด และจันทบุรี ที่มีปริมาณน้ำฝนสูงสุด ขณะนี้สถานการณ์ในบางพื้นที่เริ่มคลี่คลายแล้ว

แต่ก็ยังมีหลายพื้นที่ที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้เร่งให้ความช่วยเหลือโดยด่วน และทางกระทรวงเกษตรฯ ได้กำชับให้ หน่วยงานในพื้นที่เร่งช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรที่พื้นที่เพาะปลูกได้รับความเสียหาย รวมถึงดูแลช่วยเหลือฟาร์มปศุสัตว์ที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะเรื่องการหาที่พักพิงชั่วคราวให้

ฝากพี่น้องทุกคนที่อยู่ในพื้นที่ฝนตกชุกและมีความเสี่ยงน้ำหลาก ติดตามการแจ้งเตือนจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และฝากท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

รวมไปถึงอำนวยการให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบเป็นไปด้วยความรวดเร็ว และขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ด่านหน้าที่ทำงานอย่างแข็งขันเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในช่วงนี้ด้วย นายกรัฐมนตรีกล่าวทิ้งท้าย

สุโขทัย-รองนายกรัฐมนตรี ตรวจติดตามสถานการณ์อุทกภัยจังหวัดสุโขทัย สั่งการทุกหน่วยงานสำรวจพื้นที่น้ำท่วม เร่งเยียวยาประชาชน

วันนี้ (31 ส.ค. 67) เวลา 11.00 น. ณ ห้องประชุมศรีนคร ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดสุโขทัย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี  เป็นประธานประชุมตรวจติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดสุโขทัยโดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ ส.ส.สุโขทัย เขต 1 ร่วมประชุมโดยรับฟังรายงานสรุปสถานการณ์อุทกภัยจากนายสุชาติ ทีคะสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย และสถานการณ์น้ำในภาพรวมของจังหวัดสุโขทัย โอกาสนี้ หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

โดยรองนายกรัฐมนตรี เน้นย้ำถึงการให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัย ให้ทุกหน่วยบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่ โดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้นำเสนอขอความอนุเคราะห์งบประมาณให้กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย เพื่อดำเนินการก่อสร้างกำแพงป้องกันตลิ่ง ดังนี้

1.หมู่ 6 ตำบลคลองกระจง อำเภอสวรรคโลก ระยะทาง 300 เมตร
2.หมู่ 7ตำบลท่าทอง อำเภอสวรรคโลก ระยะทาง 800 เมตร
3.หมู่ 5 ตำบลคลองตาล อำเภอศรีสำโรง ระยะทาง 150 เมตร
4.หมู่ 6 ตำบลวังใหญ่ และหมู่ 8 ตำบลวังทอง อำเภอศรีสำโรง ระยะทาง 990 เมตร
5.หมู่ 1 , หมู่ 6 และหมู่ 7 ตำบลปากแคว อำเภอเมืองสุโขทัย ระยะทาง 2,400 เมตร
6.ตำบลยางซ้าย อำเภอเมืองสุโขทัย ระยะทาง 5,000 เมตร
7.ขอปรับปรุงพื้นที่รับน้ำนอง บริเวณตำบลยางซ้าย และตำบลปากพระ อำเภอเมืองสุโขทัย ในรูปแบบบางระกำโมเดล

ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี ให้คำมั่นจะเร่งผลักดันให้มีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยลุ่มแม่น้ำยมในระยะยาวต่อไป จากนั้นได้เยี่ยมโรงครัวศูนย์ประสานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และพบปะให้กำลังใจพร้อมมอบถุงยังชีพให้แก่ผู้ประสบอุทกภัย อำเภอเมืองสุโขทัย ณ อาคารอเนกประสงค์ ศาลากลางจังหวัดสุโขทัย พร้อมกล่าวพบปะให้กำลังใจประชาชนว่ารัฐบาลห่วงใยพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ได้สั่งการให้ทุกภาคส่วน เร่งฟื้นฟู และช่วยเหลือให้กลับคืนสู่สภาพปกติโดยเร็ว ยืนยันรัฐบาลพร้อมเร่งแก้ปัญหาในระยะยาว หลักสำคัญคือพลังความร่วมมือทั้งหมดของประชาชนคนไทยที่จะร่วมมือกันฟันฝ่าอุปสรรคครั้งนี้ไปได้ ต่อจากนั้น รองนายกรัฐมนตรีและคณะ ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำ ณ ประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ และประตูระบายน้ำคลองหกบาท ต.ป่ากุมเกาะ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย ก่อนที่จะเดินทางไปยังจังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดชัยนาท เพื่อหารือแนวทางการบริหารจัดการน้ำร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต่อไป

‘สเปน’ ระดมพลครั้งใหญ่!! หลายหมื่นนาย เพื่อกู้ภัยน้ำท่วมครั้งร้ายแรงสุดในประวัติศาสตร์

(3 พ.ย. 67) นายเปโดร ซานเชส นายกรัฐมนตรีสเปน แถลงสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ในพื้นที่แคว้บบาเลนเซีย โดยระบุว่า รัฐบาลส่งทหารจำนวน 5,000 นาย ไปสนธิกำลังกับตำรวจ และกองกำลังพลเรือน อีกจำนวน 5,000 นาย เพื่อเข้าไปช่วยเหลือด้านการกู้ภัยในพื้นที่ประสบอุทกภัยดังกล่าว ซึ่งได้รับความเสียหายอย่างหนัก

รายงานข่าวแจ้งว่า จากการที่ทางการสเปนระดมกำลังพลครั้งใหม่ล่าสุด ทำให้ในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม มีเจ้าหน้าที่ของทางการเข้าไปช่วยกู้ภัยมีจำนวนมากกว่า 17,000 นายแล้ว ซึ่งถือเป็นการระดมพลด้านความมั่นคงครั้งใหญ่ที่สุดในช่วงที่ประเทศปลอดสงคราม

ขณะที่ จำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุน้ำท่วมข้างต้น เพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 214 รายแล้ว ซึ่งถือเป็นเหตุอุทกภัยที่คร่าชีวิตผู้คนมากที่สุดในรอบ 57 ปีของภูมิภาคยุโรป หลังจากเมื่อปี 1967 (พ.ศ. 2510) เกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่ที่โปรตุเกส ที่มีผู้เสียชีวิตมากถึง 500 รายด้วยกัน

‘เอกนัฏ’ เร่งช่วย ‘น้ำท่วมใต้’ สั่งด่วน!! กระทรวงอุตฯ รีบส่ง!! ‘ถุงยังชีพ’ ให้ชาวบ้าน พร้อมมาตรการช่วยเหลือ

(30 พ.ย. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงการติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ว่า ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานในสังกัดติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อม วัสดุ อุปกรณ์ บุคลากร และประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งดูแลอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยด่วน รัฐมนตรีฯ พร้อมลงไปช่วยเหลือพี่น้องภาคใต้ด้วยตัวเอง หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นในเร็ววัน นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม จะดำเนินมาตรการ ‘อุตสาหกรรมรวมใจ ช่วยพี่น้องชาวไทย’ โดยจัดตั้งศูนย์ประสานงานกระจายความช่วยเหลือที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 จังหวัดสงขลา เพื่อจัดส่งถุงยังชีพเครื่องอุปโภคบริโภคไปบรรเทาความเดือดร้อนและเป็นกำลังใจให้กับพี่น้องประชาชน

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรม และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา ได้ลงพื้นที่มอบของอุปโภคบริโภคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดสงขลาแล้ว ได้แก่ ตำบลพังลา ตำบลคลองแงะ ตำบลพะตง จังหวัดสงขลา เพื่อแบ่งปันน้ำใจช่วยผู้ประสบน้ำท่วมภาคใต้

“ขอร่วมส่งกำลังใจให้กับพี่น้องชาวใต้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในครั้งนี้ ขอให้ทุกท่านผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้และกลับมาดำเนินชีวิตในรูปแบบปกติได้โดยเร็ว กระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมเดินเคียงข้างพี่น้องประชาชนให้ก้าวข้ามช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้” นายเอกนัฏ กล่าวทิ้งท้าย

‘นายกฯ’ เตรียม!! ลงใต้ 6 ธ.ค. นี้ เพื่อช่วยเหลือชาว ‘สงขลา – ปัตตานี’

(1 ธ.ค. 67) หลังเกิดกระแสดรามาในโซเชียลว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่ลงพื้นที่ไปช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมชายแดนภาคใต้ แต่กลับเดินกับครอบครัวอยู่ที่เชียงใหม่-เชียงราย ซึ่งเป็นช่วงที่มีการประชุม ครม.สัญจร ล่าสุด มีรายงานว่า นายกฯ มีกำหนดการเตรียมลงพื้นที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดสงขลา และจังหวัดปัตตานี เพื่อเยี่ยมให้กำลังใจติดตามสถานการณ์น้ำ และเร่งรัดการเยียวยา และฟื้นฟูพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ในสัปดาห์หน้า ซึ่งในวันจันทร์ที่ 2 ธ.ค.จะมีการประชุม ศปช.เพื่อวางกำหนดการ และจุดที่จะลงไปติดตามตรวจเยี่ยม โดยวางไว้เบื้องต้นว่านายกรัฐมนตรีจะลงพื้นที่ในวันศุกร์ที่ 6 ธ.ค.นี้

นายกฯ ได้สั่งการไปยัง นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกฯ ให้ประสานหน่วยงานต่างๆ เพื่อเร่งรัดให้การช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัย โดยเฉพาะจุดที่ขาดแคลนเครื่องมือ และได้ประสานกระทรวงกลาโหมให้ทหารเข้าไปช่วยเหลือประชาชน โดยต้องการให้เร่งรัดขั้นตอนการเยียวยาให้เกิดความรวดเร็ว ไม่ให้ประชาชนต้องรอนาน

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ตั้งใจจะลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ตั้งแต่เกิดน้ำท่วมในช่วงแรกแล้ว แต่ติดภารกิจการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่วางกำหนดการไว้ก่อนหน้าแล้ว และหากไปในช่วงสถานการณ์น้ำท่วมหนัก จะเป็นภาระแก่เจ้าหน้าที่ที่เข้าไปช่วยเหลือประชาชนต้องมาคอยต้อนรับ โดยตลอดช่วงที่เกิดสถานการณ์น้ำท่วม นายกฯได้ติดตามและสั่งการนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมกองทัพ ลงไปช่วยประชาชนอย่างเต็มที่ ล่าสุดรัฐบาลได้มีการสั่งเบิกงบภัยพิบัติให้กับพื้นที่ภาคใต้ เพื่อเร่งช่วยเหลือประชาชน

‘พีระพันธุ์’ กำชับ!! ‘ปตท. - กฟผ.’ ดูแลประชาชน แก้ปัญหาขาดแคลน ‘ก๊าซ - น้ำมัน’ ในพื้นที่น้ำท่วม

(1 ธ.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ ส่งผลให้มีพี่น้องประชาชนที่ประสบเหตุ และได้รับความเดือดร้อนมากถึง 130,000 กว่าครัวเรือน ซึ่งกระทรวงพลังงาน ได้รับรายงานการขาดแคลนเรื่องน้ำมัน และก๊าซ จึงได้ประสานงานให้ บมจ. ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก ซึ่งรับผิดชอบงานในส่วนนี้ เข้าไปประสานงานกับส่วนราชการในพื้นที่ โดยล่าสุด ได้รับรายงานว่าขณะนี้สามารถขนส่งน้ำมัน และก๊าซลงในพื้นที่ได้แล้ว

"ล่าสุดได้รับรายงานว่า ตอนนี้เริ่มขนส่งน้ำมัน และก๊าซไปได้แล้ว แต่ต้องเปลี่ยนเส้นทางลำเลียงขนส่งไปใช้ทางหลวงหมายเลข 42 ซึ่งดำเนินการได้ช้ากว่าปกติ เพราะระยะทางไกลขึ้น และถนนก็คดเคี้ยวมาก ทำให้เดินทางลำบาก และไม่สามารถทำเวลาได้ตามที่เคยดำเนินการอยู่ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาระยะหนึ่ง" นายพีระพันธุ์ กล่าวระบุ

สำหรับในเรื่องไฟฟ้า ได้กำชับให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตรวจสอบสถานการณ์เกี่ยวกับการผลิต และส่งไฟฟ้าไปยังพื้นที่ต่าง ๆ เหล่านี้ด้วย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top