Monday, 28 April 2025
อุตสาหกรรมหุ่นยนต์

‘รมว.ปุ้ย’ เร่ง ‘สมอ.’ ออกมาตรฐานรองรับการพัฒนาอุตฯ หุ่นยนต์ เสริมบทบาทภาคการผลิต-ความปลอดภัย-ปฏิบัติการทางการแพทย์

(26 มิ.ย. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้ง First s-curve และ New S-curve เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ 

กระทรวงอุตสาหกรรมขานรับนโยบายดังกล่าว โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่ออนาคต รวมทั้งได้มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เร่งกำหนดมาตรฐานเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าว 

โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ที่ใช้ในการอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มศักยภาพในการกระบวนการผลิต เช่น หุ่นยนต์ที่ใช้ในการเชื่อมโลหะในอุตสาหกรรมยานยนต์ หุ่นยนต์ที่ใช้ในกระบวนการอัดฉีดพลาสติก และหุ่นยนต์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น หุ่นยนต์ที่ใช้ปฏิบัติการทางการแพทย์ มีระบบประสาทสัมผัสด้านความปลอดภัย มีการเรียนรู้คำสั่งและสามารถควบคุมได้ 

ซึ่งมติที่ประชุมคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบมาตรฐานที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ จำนวน 6 มาตรฐาน ได้แก่ มาตรฐานหุ่นยนต์แขนกลอุตสาหกรรม ที่ใช้ทำงานเสี่ยงอันตรายในโรงงานอุตสาหกรรมแทนแรงงานคน จำนวน 2 มาตรฐาน และหุ่นยนต์ดูแลส่วนบุคคล จำนวน 4 มาตรฐาน ได้แก่ หุ่นยนต์บริการในร้านอาหาร หุ่นยนต์เคลื่อนย้ายคน หุ่นยนต์ที่ช่วยประกอบชิ้นส่วนหรือยกของ และหุ่นยนต์ช่วยเหลือผู้สูงอายุ 

ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ยกระดับความปลอดภัย และยังเป็นการเตรียมการเพื่อรองรับการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยอีกด้วย

นายบรรจง สุกรีฑา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) กล่าวว่า นอกจากบอร์ดจะเห็นชอบมาตรฐานหุ่นยนต์ที่ใช้ในการอุตสาหกรรมแล้ว ยังมีมติเห็นชอบมาตรฐานที่ สมอ. เสนอ จำนวนรวมทั้งสิ้น 150 เรื่อง เช่น ลวดเหล็กกล้าเคลือบสังกะสีผสมอะลูมิเนียม ดวงโคมไฟฟ้าฝังพื้น ดวงโคมไฟฟ้าใช้ในที่เลี้ยงสัตว์น้ำและพืชน้ำ ดวงโคมไฟฟ้าสำหรับสระว่ายน้ำ ระบบรางจ่ายไฟฟ้าสำหรับดวงโคมไฟฟ้า ยางรัดของ เครื่องมือเครื่องจักรที่ใช้ในไร่สวนและสนามหญ้า โคมไฟหน้าและท้ายรถยนต์ โคมไฟตัดหมอกด้านหน้ารถยนต์ ไฟเลี้ยวรถยนต์ อุปกรณ์สัญญาณเสียงเตือนในรถยนต์ อุปกรณ์ล็อกประตูรถยนต์ การป้องกันการโจรกรรมยานยนต์ทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก อุปกรณ์มองภาพของรถยนต์ กระจกมองหลังรถยนต์ รวมทั้งมาตรฐานวิธีทดสอบต่าง ๆ 

พร้อมทั้ง ได้อนุมัติรายชื่อมาตรฐานที่ สมอ. จะจัดทำเพิ่มเติมในปี 2567 อีกจำนวน 44 เรื่อง เช่น เต้าเสียบ-เต้ารับ กรวยจราจรจากน้ำยางข้น กำแพงกันเสียงชนิดดูดซับเสียงจากฟองน้ำยางธรรมชาติ และมาตรฐานวิธีทดสอบต่าง ๆ เป็นต้น รวมเป็นมาตรฐานที่ สมอ. จะจัดทำในปีนี้กว่า 1,300 เรื่อง

ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่ามาตรฐานหุ่นยนต์ทั้ง 6 เรื่องที่บอร์ดมีมติเห็นชอบ เป็นมาตรฐานด้านความปลอดภัยของหุ่นยนต์ที่อ้างอิงตามมาตรฐานสากล มีรายการทดสอบด้านความปลอดภัยที่สำคัญ เช่น ระบบกักเก็บพลังงาน การปล่อยมลพิษทางด้านเสียง การสั่น ความร้อน การแผ่รังสี การรบกวนทางแม่เหล็กไฟฟ้า การเบรกและการหยุดฉุกเฉิน การควบคุมความเร็ว ความแรง และพลังงานที่เกิดจากการสัมผัสระหว่างผู้ใช้งานกับหุ่นยนต์ มีการควบคุมการทำงานของเซ็นเซอร์ และอุปกรณ์ตรวจจับต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ใช้งาน สามารถใช้งานหุ่นยนต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย 

สำหรับการกำหนดมาตรฐานของ สมอ. ในปีนี้ ตามนโยบาย Quick win ของรัฐมนตรีพิมพ์ภัทรา ที่ตั้งเป้าไว้ไม่ต่ำกว่า 1,000 เรื่อง ซึ่งขณะนี้ สมอ. คาดว่าจะกำหนดมาตรฐานได้ 1,300 เรื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมให้นำไปใช้ในกระบวนการผลิต และยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทย เลขาธิการ สมอ. กล่าว

‘ฟีโบ้’ เดินหน้าผลิตบุคลากรป้อนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ยกระดับสู่สถาบันชั้นนำด้านวิทยาการหุ่นยนต์ในอาเซียน

(11 ก.พ. 68) เนื่องในโอกาสครบรอบ 65 ปี แห่งการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และ 30 ปี แห่งการก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้)  ในการนี้ ฟีโบ้จึงได้จัดกิจกรรมพิเศษภายใต้หัวข้อ “30 ปี ฟีโบ้: Robotics for Sustainable Future” เพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จและแสดงศักยภาพของประเทศไทยในด้านวิทยาการหุ่นยนต์และนวัตกรรมที่น่าสนใจ และกำลังเป็นกระแส รวมถึงการจัดแสดงผลงานตัวอย่างหุ่นยนต์ล้ำสมัย และนิทรรศการในรูปแบบอินเตอร์แอคทีฟ จัดขึ้น ณ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) ระหว่างวันที่ 6-8 กุมภาพันธ์ 2568

ผศ. ดร.สุภชัย วงศ์บุณย์ยง ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) กล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2538 ฟีโบ้ได้ก่อตั้งขึ้นเป็นศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาหุ่นยนต์ภาคสนาม โดย ดร.ชิต เหล่าวัฒนา มีพันธกิจด้านการพัฒนางานวิจัย และบริการวิชาการ ต่อมาในปี พ.ศ.2546 ได้ยกวิทยฐานะเป็น “สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม” โดยเริ่มแรกเป็นการจัดการเรียนการสอนระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ในหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เป็นที่แรกของไทย หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2552 จึงได้เปิดรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ให้บริการวิชาการแก่สังคม รวมถึงงานวิจัยพัฒนาที่เกี่ยวกับหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ตลอดจนเทคโนโลยีอื่น ๆ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันครบรอบ 30 ปี

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ฟีโบ้สามารถสร้างกำลังคนหรือบุคลากรด้านวิศวกรหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติออกสู่สังคมตั้งแต่ระดับปริญญาตรี โท เอก รวมทั้งสิ้นกว่า 700 คน มีการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมากกว่า 1,000 แห่ง  ทั้งการจัดฝึกอบรมให้กับบุคลากรภาคอุตสาหกรรม เช่น โครงการ EEC ที่มีการอบรมไปแล้วกว่า 3,000 คน คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่าหนึ่งหมื่นล้านบาท โครงการหุ่นยนต์ภาคอุตสาหกรรม หุ่นยนต์บริการ หุ่นยนต์ทางการแพทย์ หุ่นยนต์ Entertainment และอื่นๆ ที่เป็นงานด้านวิจัยและพัฒนา (Research and Development: R&D) มากกว่า 300 โครงการ ปัจจุบันฟีโบ้ มุ่งมั่นเพื่อยกระดับเข้าสู่สถาบันชั้นนำระดับอาเซียนทางด้านวิทยาการหุ่นยนต์ รวมทั้งสร้างเครือข่ายพัฒนาหลักสูตรด้านหุ่นยนต์ ครูและนักเรียนของโรงเรียนทั่วประเทศภายใต้โครงการ School Consortium มากกว่า 100 โรงเรียน

“เนื่องจากทิศทางของโลกและเป็นนโยบายของ มจธ. ที่มุ่งไปในเรื่องความยั่งยืน หรือ Sustainability เราจึงต้องการให้งาน 30 ปี ฟีโบ้: Robotics for Sustainable Future ทำให้เห็นว่าหุ่นยนต์ จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับความยั่งยืนอย่างไร หรือทำให้เกิด Robotic Future ได้อย่างไร ดังนั้น ภายในงานที่จัดขึ้นก็จะมีส่วนที่เป็นการจัดนิทรรศการแสดงผลงานของนักวิจัย ภาคอุตสาหกรรม และผลงานของนักศึกษา รวมถึงงานเสวนาที่ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญและผู้เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้ประกอบการด้านหุ่นยนต์อัตโนมัติ และ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทั้งในและต่างประเทศมาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และเทรนด์ของโลกจากนี้เข้าด้วยกัน” ผศ. ดร.สุภชัย กล่าว 

ภายในงาน ประกอบด้วย 4 ส่วน คือ โซนที่หนึ่ง โซนจัดนิทรรศการประวัติฟีโบ้และพันธมิตรที่เป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จของฟีโบ้ โซนที่สอง โซนการจัดแสดงหุ่นยนต์มาทำกิจกรรมต่างๆ ภายใต้ธีม Robotics ไทยแทร่ เป็นการผสานเทคโนโลยีแห่งโลกเสมือนกับหุ่นยนต์และ AI ที่จะสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ชมในรูปแบบความเชื่อไทยๆ เช่น หุ่นยนต์เขียนผ้ายันต์ ร่างทรง คนเล่นของ ซุ้มมือปืน เป็นต้น และยังมีห้องแสดงศิลปะดิจิทัลแบบ 360 องศา (Immersive Room) ให้ผู้ร่วมงานได้เข้าไปร่วมสนุก นอกจากนี้ยังมีการแสดงเทคโนโลยีสุดล้ำจากบริษัทชั้นนำ อาทิ หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ที่มีระบบการจำลองการเคลื่อนไหวที่ล้ำสมัย และ Robo Dog จากพันธมิตร มาร่วมโชว์ในงานนี้ด้วย 

โซนที่สาม จะเป็นการแสดงนิทรรศการผลงานไอเดียและอินโนเวชันของนักวิจัย อาจารย์ และนักศึกษา ชั้นปี 1 ถึงปี 4 ที่จะเป็นงานด้านอุตสาหกรรมและงานทางการแพทย์ รวมถึงงานหุ่นยนต์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับความยั่งยืน  ส่วนในโซนที่สี่ จะเป็นโซน Professional ที่เกิดจากความร่วมมือกันทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีการประชุมวิชาการ การจัดสัมมนาเชิงอภิปรายจากผู้เชี่ยวชาญในวงการและจากภาคอุตสาหกรรม พันธมิตรและผู้ประกอบการด้านหุ่นยนต์อัตโนมัติในประเทศไทย อาทิ สมาคมซีไอโอไทย (Thai Chief Information Officer Association: TCIOA) สมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (TARA) สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (FTI) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (CoRE) ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) และกิจกรรมสำหรับเยาวชนและผู้สนใจเกี่ยวกับ VR โดย NVIDIA บริษัทชิปกราฟิกชั้นนำ มาร่วมจัดเวิร์กช็อป การจำลองโลกของหุ่นยนต์ไซเบอร์และจำลองโลกของ AI เข้าด้วยกัน

ผู้อำนวยการ ฟีโบ้ ยังได้กล่าวถึงทิศทางว่า “ฟีโบ้ ตั้งเป้าหมายไปสู่ “One of the Most Attractive Robotics Institutes in ASEAN” ภายในปี 2027 ดังนั้น การดำเนินงานนับจากนี้ คือ การสร้างคน โดยจะเน้นการเรียนการสอนที่พัฒนา Soft Skill ให้นักศึกษามากขึ้น เพื่อให้เขาได้เรียนรู้และปรับตัวได้ตลอดเวลา ควบคู่กับการพัฒนาความรู้และความสามารถพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพ (Hard Skill) อย่างเข้มข้น ซึ่งนักศึกษาจะได้รับประสบการณ์ (Learning Experience) ที่เขาจะหาไม่ได้จากที่อื่น เพื่อพัฒนาทักษะ High Skill และ R&D ให้นักศึกษาที่จบจากฟีโบ้ สามารถยืนอยู่ในเวทีทั้งในระดับประเทศและบนเวทีโลกได้ และการสร้างเทคโนโลยี เราจะมุ่งสร้างเทคโนโลยีที่สร้างผลกระทบสูง เน้นแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในโลก (Real World Problem) พัฒนานวัตกรรม R&D ให้เป็น World Class Attractive นี่คือทิศทางที่ฟีโบ้กำลังจะมุ่งไป”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top