Tuesday, 22 April 2025
อุตสาหกรรมรวมใจ

‘เอกนัฏ’ นำทัพกระทรวงอุตฯ เร่งฟื้นฟูระบบน้ำประปา ช่วยผู้ประสบภัย จ.เชียงราย พร้อมพักชำระหนี้ ‘SMEs’ ที่ได้รับผลกระทบ ภายใต้โครงการ ‘อุตสาหกรรมรวมใจ’

(21 ก.ย.67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นำทีมข้าราชการ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบ พร้อมช่วยเหลือฟื้นฟูพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยในจังหวัดเชียงราย โดยวันนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะได้มอบท่อพีวีซี แข็ง ‘ท่อน้ำไทย’ ที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท เอจีซี วีนิไทย จำกัด (มหาชน) ให้กับทางองค์การบริหารส่วนตำบลเทอดไท อำเภอแม่ฟ้าหลวง จำนวน 8,360 เส้น นำไปฟื้นฟูระบบประปาภูเขา ผ่านโครงการ 'อุตสาหกรรมรวมใจ ช่วยผู้ประสบภัยจังหวัดเชียงราย' พร้อมมอบถุงยังชีพ ‘อุตสาหกรรมรวมใจ ช่วยพี่น้องชาวไทย’ บรรจุเครื่องอุปโภคบริโภคและสิ่งของจำเป็น เพื่อเป็นกำลังใจให้กับผู้ประสบอุทกภัย ณ หอประชุมบ้านเทอดไท หลังจากนั้น คณะได้เดินทางไปยังหมู่บ้านแม่หม้อ หมู่ 7 ตำบลเทอดไท เพื่อร่วมกันประกอบท่อประปาหมู่บ้านทดแทนท่อเดิมที่ถูกดินสไลด์ บรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นกับประชาชน

รัฐมนตรีฯ เอกนัฏ กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ ยังได้เข้าไปพบปะหารือกับผู้ประกอบการจังหวัดเชียงราย โดยทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย ได้รายงานว่า มีผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย จำนวน 22 ราย ประกอบกิจการผลิตเครื่องเรือน เครื่องตกแต่งภายใน ผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ อู่ซ่อมรถยนต์ โรงชำแหละเนื้อสัตว์ ผลิตชิ้นส่วนรองเท้า ผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยว เส้นขนมจีน สกัดน้ำมันพืช เมล็ดพันธุ์ทางการเกษตร ซึ่งเครื่องจักร เครื่องมือไฟฟ้า วัตถุดิบได้รับความเสียหาย ส่วนการประกอบกิจการดูดทราย รถยนต์ที่ใช้ประกอบกิจการ ตราชั่ง อุปกรณ์สำนักงาน เรือดูดทราย ได้รับความเสียหาย มูลค่าความเสียหายกว่า 23.6 ล้านบาท โดยทางกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ได้เข้าไปสำรวจพบว่า มีผู้ประกอบการที่ประสบอุทกภัยแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการพักชําระหนี้เงินต้น 3 เดือน จํานวน 8 ราย 

ทั้งนี้ทางกระทรวงฯ ได้เตรียมเจ้าหน้าที่ ทีมวิศวกร ช่างชุมชน หรือหน่วยงานตรวจสภาพ เพื่อช่วยเหลือ ซ่อมแซม และให้คําแนะนําเกี่ยวกับเครื่องใช้ไฟฟ้าให้กับประชาชนต่อไป 

“ผมและคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งลงพื้นที่เพื่อฟื้นฟู เยียวยา ให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ผู้ประกอบการ และโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ในวันนี้ขอมาให้กำลังใจกับพี่น้องประชาชนและผู้ประกอบการให้ทุกท่านผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้และกลับมาดำเนินชีวิตแบบปกติได้โดยเร็ว โดยหวังว่าโครงการ ‘อุตสาหกรรมรวมใจ’ ของกระทรวงฯ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเหลือ เยียวยา บรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ผ่านการฟื้นฟูระบบประปาภูเขา และพวกเราคนกระทรวงอุตฯ ขอยืนยันว่าจะเดินเคียงข้างพี่น้องประชาชนและผู้ประกอบการให้ก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้” นายเอกนัฏ กล่าวทิ้งท้าย

‘เอกนัฏ’ สั่ง ‘ดีพร้อม’ เร่งเดินหน้าช่วยผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เยียวยาเร่งด่วน-สนับสนุนเงินทุน-แผนรับมือในอนาคต เพื่อช่วยเหลือให้ครอบคลุมทุกมิติ

(22 ก.ย. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สั่งการให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งเดินหน้าช่วยเหลือผู้ประกอบการในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยผ่าน 3 มาตรการ ประกอบด้วย 1) มาตรการเร่งด่วนช่วยเหลือผู้ประสบภัยอุทกภัย 2) มาตรการฟื้นฟูหลังน้ำลด และ 3) มาตรการเตรียมความพร้อมด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย เพื่อช่วยผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย นอกจากนี้ ยังได้เดินหน้ามาตรการช่วยเยียวยาและฟื้นฟูสถานประกอบการเร่งด่วนผ่านการจัดกิจกรรมทำความสะอาดในสถานประกอบการ (Big Cleaning) พร้อมซ่อมแซม ปรับปรุงอุปกรณ์ และเครื่องจักร รวมถึงผลักดันสถานประกอบการที่ต้องการฟื้นฟูและเยียวยาให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนหมุนเวียนฯ กว่า 20 ล้านบาท

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ซึ่งเกิดจากเหตุการณ์ฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ส่งผลต่อที่อยู่อาศัย และการประกอบอาชีพของประชาชนทำให้ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังส่งผลต่อผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์ดังกล่าวอีกด้วย ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้สั่งการให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เร่งติดตามสถานการณ์ เพื่อช่วยเหลือและหามาตรการเยียวยาผู้ประกอบการในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งติดตามความเสียหายที่เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย โดยเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหาย รวมทั้งเตรียมมาตรการต่าง ๆ รองรับสถานการณ์หลังน้ำลด ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูในส่วนที่ได้รับความเสียหาย ตลอดจนแผนในการป้องกันหากเกิดสถานการณ์ดังกล่าวอีกครั้งทั้งในระยะฉับพลัน 

นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ได้ขานรับนโยบายเร่งด่วนจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยได้ดำเนินการสำรวจความต้องการของผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น พบว่าผู้ประสบอุทกภัยในหลายพื้นที่มีต้องการความช่วยเหลือ ฟื้นฟู และเยียวยาในกรณีต่าง ๆ ผ่าน 3 มาตรการ ได้แก่ 

1. มาตรการเร่งด่วนช่วยเหลือผู้ประสบภัยอุทกภัย ผ่าน “ถุงยิ้มพิมพ์ใจ MIND ไม่ทิ้งกัน” ของอุตสาหกรรมรวมใจ ไปยังผู้ประสบภัยด้วยสิ่งของเครื่องใช้จำเป็น ประกอบด้วย สิ่งของอุปโภค บริโภค และยารักษาโรค พร้อมเตรียมการรถบรรทุกและรถขนส่งสำหรับการบริจาคสิ่งของจากเครือข่ายดีพร้อม ทั้งผู้ประกอบการและสถาบันต่าง ๆ เพื่อส่งมอบให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย พร้อมส่งทีมวิศวกรและนายช่างเทคนิคช่วยซ่อมแซมอุปกรณ์ในเบื้องต้น รวมทั้งทำกิจกรรมทำความสะอาดในสถานประกอบการ (Big Cleaning) เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัยให้กลับสู่สภาพปกติโดยเร็ว 

2. มาตรการฟื้นฟูหลังน้ำลด ผ่านการให้คำปรึกษาปัญหาธุรกิจอุตสาหกรรมดีพร้อม โดยจัดทีมผู้เชี่ยวชาญ และที่ปรึกษา เพื่อเข้าประเมินสภาพปัญหาและวางแผน การฟื้นฟูสถานประกอบการ รวมทั้งบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรมผ่านศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรมดีพร้อม (DIPROM Business Service Center : DIPROM BSC) เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว การฟื้นฟู และปรับปรุงกระบวนการผลิต โดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค หรือ DIPROM CENTER ในพื้นที่ส่วนภูมิภาค จัดกิจกรรมช่วยเหลือ แนะนำในการปรับปรุงซ่อมแซม ฟื้นฟูเครื่องจักร ระบบไฟฟ้า ระบบหล่อลื่น รวมทั้งดำเนินกิจกรรม Re-Layout, Re-Engineering เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตให้กลับมาดำเนินการได้ เช่น การให้คำปรึกษา ปรับปรุง ฟื้นฟู เพื่อให้ระบบคุณภาพ GMP/HACCP/GHP กลับมาดำเนินการได้ปกติ พร้อมยกระดับศักยภาพการประกอบอาชีพสู่ธุรกิจอุตสาหกรรม ผ่านส่งเสริมผู้ประกอบการใหม่ เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพด้านการผลิต ด้านการบริการ ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ส่งเสริมให้ชุมชนเกิดรายได้ ลดรายจ่าย สามารถสร้างอาชีพใหม่ หรือนำไปประกอบอาชีพเสริมเพิ่ม ก่อให้เกิดความยั่งยืนในชุมชน พร้อมทั้งได้บูรณาการผ่านเครือข่ายดีพร้อม (DIPROM Connection) จับมือกับเครือข่ายทางการพัฒนาของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ของ SMEs เข้าสู่ช่องทางการตลาดทั้งรูปแบบออนไลน์ และออฟไลน์ อีกทั้ง ยังมีการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ สามารถได้รับการผ่อนผันการชำระหนี้ ได้รับการลดหย่อนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ มีสิทธิกู้เงินเพิ่มเติม และการขอกู้เงินเป็นกรณีพิเศษสำหรับลูกค้ารายใหม่ โดยวางกรอบวงเงินการช่วยเหลือกว่า 20 ล้านบาท

3. มาตรการเตรียมความพร้อมด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย ผ่านการจัดทำแผนรองรับการเกิดอุทกภัย เพื่อเตรียมความพร้อมด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยจัดทำ Check list เมื่อเกิดเหตุอุทกภัย การสร้างผนังกั้นน้ำ สอนวิธีการป้องกันอุปกรณ์เครื่องจักร เป็นต้น พร้อมติดตามสถานการณ์จากสถานการณ์น้ำท่วม โดยบูรณาการข้อมูลที่เกี่ยวข้องระหว่างหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อประเมินสถานการณ์ เตือนภัย และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ และทันท่วงที เพื่อรับฟังปัญหาผลกระทบแบบ Real Time พร้อมให้การช่วยเหลือเฉพาะหน้าแก่สถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบอย่างรวดเร็ว 

นายภาสกร ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกด้วยว่า “ดีพร้อม (DIPROM) ได้เร่งดำเนินการช่วยเหลือสถานประกอบการ และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยผ่าน 3 มาตรการดังกล่าว เพื่อให้ความช่วยเหลือนั้นครอบคลุมทุกมิติ และครอบคลุมทั่วประเทศ” นายภาสกร กล่าวทิ้งท้าย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top