Monday, 28 April 2025
อุตสาหกรรมการบิน

คมนาคม เตรียมมาตรการช่วยฟื้นอุตสาหกรรมการบิน เฟส 4

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนาอุตสาหกรรมการบินของไทย ประจำปี64 ว่า ขณะนี้ คณะกรรมการการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กบร.) และหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม ได้แก่ กรมท่าอากาศยาน ,บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หรือทอท., บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย ( บวท.) และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.) กำลังพิจารณามาตรการช่วยเหลืออุตสาหกรรมการบินระยะที่ 4 เพื่อช่วยฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบินในช่วงปี 65-68 ซึ่งคาดว่าเร็ว ๆ นี้ จะได้ข้อสรุป

ทั้งนี้ได้มอบนโยบายให้กรมท่าอากาศยาน ร่วมกับกรมการค้าภายใน ในการนำสินค้าทางการเกษตรมาขายและให้ประชาชนสามารถขนขึ้นเครื่องได้ ,ให้กรมท่าอากาศยาน จัดตั้งศูนย์จำหน่ายและกระจายสินค้าโอทอปในทุกสนามบิน นอกจากนั้นให้นโยบายกรมท่าอากาศยาน และ ทอท. ในการรับโอนย้ายสนามบินที่มีศักยภาพของ กรมท่าอากาศยาน เช่น สนามบินกระบี่ สนามบินอุดรธานี และสนามบินบุรีรัมย์ มาอยู่ในความรับผิดชอบ ทอท.  

ปัจจุบันอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทยสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 85,000 ล้านบาทต่อปี หรือประมาณ 7.7% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และสามารถสร้างการจ้างงานในระบบอุตสาหกรรมการบินโดยรวมได้กว่า 700,000 ตำแหน่ง ขณะที่อุตสาหกรรมการบินโดยรวมในประเทศไทยเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ ที่มีเครือข่ายการบินครอบคลุมเชื่อมโยงไปทั่วโลก และในประเทศไทยมีสนามบินภูมิภาคกว่า 39 สนามบิน 

‘CADT DPU’ เปิดสูตรใหม่ สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กรั้วกองบิน ติวเข้ม!! หลักสูตรสอบแอร์-สจ๊วตเชิงลึก ปูทางสู่อาชีพในฝัน

เมื่อวานนี้ (22 ก.ย. 66) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ น.ต.ดร.วัฒนา มานนท์ คณบดีวิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน (CADT : College of Aviation Development and Training ) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดเผยว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการบินฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้บุคลากรทั้ง 2 อุตสาหกรรมขาดแคลนจำนวนมาก จากผลสำรวจของ IATA พบว่าปัจจุบันสายการบินทั่วโลกมีจำนวนผู้โดยสารกลับมาใช้บริการ จำนวน 4,500 ล้านคนต่อปี ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด -19 ในปี 2562 ที่มีจำนวน 4,540 ล้านคน ส่วนรายได้ของภาคการบินฟื้นกลับมาประมาณ 8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สำหรับประเทศไทยมีเที่ยวบินเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ได้แก่ สนามบินสุวรรณภูมิมีทั้งหมด 826 เที่ยวบินต่อวัน ขณะที่สนามบินดอนเมืองมี 481 เที่ยวบินต่อวัน ซึ่งตัวเลขที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่ตั้งเป้าให้คนเดินทางท่องเที่ยวไทยจำนวน 30 ล้านคนต่อปี ขณะนี้ผ่านไป 8 เดือนมีผู้โดยสารเดินทางมาไทยแล้วจำนวน 17 ล้านคน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ น.ต.ดร.วัฒนา กล่าวว่า จากสถิติดังกล่าว CADT DPU ในฐานะสถาบันการศึกษา ที่มุ่งมั่น สร้างมืออาชีพด้านธุรกิจการบิน ได้เตรียมหลักสูตรผลิตบุคลากรเพื่อรองรับตลาดแรงงานด้านการบิน ด้วยการจัดหลักสูตรพิเศษ 2 หลักสูตร ดังนี้

หลักสูตรที่ 1 สำหรับกลุ่มเด็กชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายรวมถึงนักศึกษาใหม่ เป็นหลักสูตรสร้างแรงบันดาลใจ (Inspiration) ให้กับเด็ก โดยการจัดค่ายการบินร่วมกับ เพจเด็ก ม.ปลาย เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการบินทั้ง 9 กิจกรรมของการบินพลเรือน ที่สำคัญจะได้รู้ว่าตนเองเหมาะกับอาชีพอะไรสังกัดอยู่ส่วนไหน นอกจากนี้ ยังมีการเตรียม MOU (Memorandum of Understanding) กับสมาคมสโมสรลูกเสืออากาศ เพื่อดึงกลุ่มเด็กนักเรียนที่อาศัยอยู่ใกล้สนามบินหรือกองบินทั่วประเทศ มาเข้าร่วมกิจกรรมเรียนรู้เกี่ยวกับหลักสูตรการเรียนด้านการบิน โดยเตรียมเปิดตัวครั้งแรกที่กองบิน 46 จังหวัดพิษณุโลกในเร็วๆ นี้

คณบดี CADT DPU กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักสูตรที่ 2 เป็นกลุ่มนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ถึง ชั้นปีที่ 4  รวมถึงผู้ที่สำเร็จการศึกษาไปแล้วประมาณ 1-2 ปี ที่มีความฝันอยากก้าวเข้าสู่การเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ทางสถาบันการบิน (DAA) จึงเตรียมหลักสูตรติดปีกให้เป็นนางฟ้าอย่างสมบูรณ์แบบ ด้วยหลักสูตร Cabin Crew Born to be by DAA โดยรายละเอียดในหลักสูตรนั้น วันแรก Grooming day จะมีการเทรนด์การแต่งกายทำผม และเลือกเครื่องสำอางให้เหมาะกับโทนผิว

วันที่ 2 Personality day เทรนด์เรื่องบุคลิกภาพ การใช้สีหน้า และน้ำเสียงในการสนทนา รวมถึงเทคนิคการทำ Resume และการตอบคำถามให้โดนใจกรรมการ วันที่ 3 IATA Airline Customer Service เป็นการ Up Skill เพิ่มโอกาสให้ได้งานด้วย IATA Certificate ส่วนวันสุดท้าย Exclusive Interview Day จะสอนเทคนิคสอบสัมภาษณ์แบบกลุ่ม แบบเดี่ยว ทั้งเวอร์ชันภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยจะเริ่มเรียนทุกวันเสาร์จำนวน 4 สัปดาห์ ระหว่างวันที่ 21 ตุลาคม ถึง 11 พฤศจิกายน 2566 เวลา 09.00-16.00 น. สอบถามเพิ่มเติมที่ โทร. 061-863-7991 E-mail: [email protected] Line : @daa_dpu หรือคลิก Link  https://lin.ee/hHrcpYa  แบบฟอร์มลงทะเบียน https://forms.gle/R8ZF3ccMzu69UjWp9

“ถือเป็นครั้งแรกของ DAA ที่เปิดโอกาสให้คนที่มีความฝันอยากเป็นแอร์-สจ๊วต เข้ามาเทรนด์ก่อนสอบกับผู้เชี่ยวชาญมากประสบการณ์จากสายการบินต่าง ๆ ทุกคนที่เข้ามาอบรมจะได้รับความรู้เชิงลึกและเทคนิคการสัมภาษณ์งานที่ตรงใจกรรมการมากที่สุด ที่สำคัญหลังจากผ่านการอบรมสามารถสมัครสอบเพื่อรับ Certificate จาก IATA ได้อีกด้วย และสามารถนำไปแนบการสมัครงานเพิ่มโอกาสในการได้คะแนนพิเศษที่ไม่ควรพลาด

ผู้ที่ผ่านการอบรมจะมีความเป็นตัวเองอย่างสง่างาม มีความมั่นใจในการพิชิตใจกรรมการมากขึ้น ทั้งนี้หากผู้เข้าอบรมสามารถนำไปปฏิบัติได้ตามที่อบรม จะผ่านการสอบสัมภาษณ์ได้อย่างไม่ยากแน่นอน นอกจากนี้ทาง DAA ยังมีความพร้อมในการเปิดหลักสูตรพิเศษที่หลากหลาย หากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ บริษัทวิทยุการบิน พนักงานอำนวยการบิน เป็นต้น เปิดรับสมัครงานในตำแหน่งเฉพาะทาง เราพร้อมที่จะผลิตนักศึกษาให้ตรงกับความต้องการของแต่ละหน่วยงานในอุตสาหกรรมการบิน” คณบดี CADT DPU กล่าวในตอนท้าย

‘การบินไทย’ หวังผงาด!! ครองมาร์เกตแชร์ภูมิภาค 35% ขยายฝูงบิน 150 ลำ พร้อมปรับแผน เพื่อลดต้นทุนการซ่อม

(1 ธ.ค. 67) สถานการณ์อุตสาหกรรมการบินโลก IATA ประมาณการณ์รายได้รวมของสายการบินในปี 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ 119% ของรายได้รวมก่อนโควิด-19 โดยจะมีรายได้สูงถึง 996,000 ล้านดอลลาร์ เติบโตขึ้น 9.7% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งมีปัจจัยมาจากการเพิ่มขึ้นของผู้โดยสาร และการรักษาเสถียรภาพของผลตอบแทนต่อผู้โดยสาร

ขณะเดียวกัน IATA ยังคาดการณ์ว่าจำนวนผู้โดยสารทางอากาศทั่วโลกจะเติบโตถึง 2.1 เท่าภายในปี 2586 โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จะมีอัตราการเติบโตสูงสุดคิดเป็น 2 ใน 3 โดยประเมินว่าในช่วงปีดังกล่าวจะมีจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางทางอากาศสูงถึง 8,600 ล้านคน และสัดส่วน 46% เดินทางในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

จากแนวโน้มการขยายตัวของปริมาณการเดินทางดังกล่าว บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) วางแผนช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาด (มาร์เกตแชร์) ในฐานะสายการบินแห่งชาติที่ครองฐานการบินในประเทศไทย ซึ่งเป็นเดสติเนชั่นยอดฮิตของการเดินทางท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

‘ชาย เอี่ยมศิริ’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การบินไทยมุ่งมั่นจะเป็นสายการบินที่ให้บริการแบบเครือข่าย (Network Airline) เพื่อสร้างเป็นจุดแข็งในการขยายเครือข่ายเส้นทางบินในภูมิภาค โดยการขยายเครือข่ายเส้นทางบินระยะสั้นจะช่วยสร้างความได้เปรียบของบริษัท และเพิ่มความถี่และเวลาของเที่ยวบิน เพื่อเชื่อมต่อจุดบินเมืองใหญ่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกับฐานการบินสำคัญอย่างกรุงเทพฯ

โดยภายใต้แผนขยายบริการแบบเครือข่ายนั้น การบินไทยจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนฝูงบินรองรับ พร้อมทั้งปรับปรุงฝูงบินครั้งใหญ่ เพื่อให้การบินไทยสามารถบริหารจัดการต้นทุนด้านการบินอย่างมีประสิทธิภาพ 

ซึ่งปัจจุบันวางเป้าหมาย ‘ลดแบบเครื่องบินเหลือ 4 แบบ’ จากช่วงก่อนเกิดโควิด-19 การบินไทยมีฝูงบิน 8 แบบรวม103 ลำ ส่งผลให้ต้องแบกรับต้นทุนค่าซ่อมและอะไหล่ที่หลากหลาย โดยขณะนี้ได้ทำการปรับลดฝูงบินเหลือ 6 แบบรวม 79 ลำ และจะทยอยปรับลดต่อเนื่องในปี 2572 คาดเหลือ 5 แบบรวม 143 ลำ และท้ายที่สุดในปี 2576 จะเหลือ 4 แบบรวม 150 ลำ

สำหรับปลายทางของการปรับปรุงฝูงบิน ‘การบินไทย’ ในปี 2576 จะมีฝูงบินรวม 150 ลำ แบ่งเป็น เครื่องบินลำตัวกว้าง 98 ลำ และลำตัวแคบ 52 ลำ โดยมีประเภทเครื่องบิน ประกอบด้วย

• โบอิ้ง B777-300ER จำนวน 15 ลำ
• แอร์บัส A350 จำนวน 17 ลำ
• โบอิ้งตระกูล B787 จำนวน 66 ลำ
• แอร์บัส A320/A321 NEO จำนวน 52 ลำ

ทั้งนี้ การผลักดันแผนปรับปรุงฝูงบินดังกล่าว ปัจจุบันการบินไทยได้เจรจาและเข้าทำข้อตกลงกับ Boeing และ GE Aerospace เพื่อจัดหาเครืองบินลำใหม่จำนวน 45 ลำ พร้อมกับสิทธิในการจัดหาเพิ่มอีก 35 ลำ นอกจากนี้การจัดหาเครื่องบินลำตัวแคบ ปัจจุบันได้ทำการเจรจาและเข้าทำข้อตกลงกับ Lessor เพื่อจัดหาเครื่องบินลำใหม่รุ่นแอร์บัสA321 จำนวน 32 ลำ ซึ่งคาดว่าฝูงบินใหม่นี้จะทยอยรับมอบเข้ามาในปี 2570 – 2576

สูตรสำเร็จของการบินจากการวางแผนธุรกิจและปรับปรุงฝูงบินครั้งนี้ มีเป้าหมายจะครองมาร์เกตแชร์สำหรับผู้โดยสารที่เดินทางผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกลับมาในระดับ 35% ภายในปี 2572 เป็นต้นไป เพิ่มขึ้นหลังการปรับลดเครื่องบินและปรับปรุงฝูงบินในปี 2566 ที่การบินไทยมีจำนวนฝูงบิน 70 ลำ ครองมาร์เกตแชร์ 28% และจะเป็นผลบวกระยะยาวที่ทำให้การบินไทยสามารถบริหารต้นทุนทางการบิน ค่าซ่อมและอะไหล่เครื่องบินที่ลดลง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top