Tuesday, 22 April 2025
อีอีซี

อีอีซี ชูศักยภาพพลังคนรุ่นใหม่ ร่วมโครงการ “อีอีซี สแควร์” เดินหน้าสร้างสรรค์นวัตกรรมดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชน พร้อมผนึกกำลังทุกภาคส่วนผลักดันสร้างโอกาสขยายผลโครงการจริง

​เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 นางธัญรัตน์ อินทร รองเลขาธิการสายงานพื้นที่และชุมชน สกพอ. หรือ อีอีซี เป็นประธานพร้อมมอบรางวัลในงานประกาศรางวัลโครงการ อีอีซี สแควร์ ประจำปี 2566 (EEC2 : Environmental Empowerment CAMP & CONTEST) ณ โรงแรมบางแสนเฮอริเทจ จังหวัดชลบุรี ซึ่งได้รับเกียรติจากผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน อาทิ นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านพื้นที่และชุมชน นายณัฐพงษ์ สงวนจิตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา นายชัยพร  แพภิรมย์รัตน์ ปลัดจังหวัดชลบุรี 

นายฉัตรชัย ทิมกระจ่าง นายกเทศมนตรีเมืองศรีราชา นายณัฏฐ์ธน สาตรจีนพงษ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี ผศ.ดร.ณยศ คุรุกิจโกศล ผู้รักษาการแทนรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยบูรพา ธนาคารกรุงไทย จำกัดบริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เข้าร่วมชมผลงานและแสดงความยินดีแก่เยาวชน โดยโครงการ อีอีซี สแควร์ ประจำปี 2566 ได้สร้างการมีส่วนร่วม และสิ่งเสริมให้เยาวชนใน อีอีซี แสดงศักยภาพผ่านการประกวดการสร้างสรรค์โครงงานนวัตกรรม และการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อช่วยพัฒนาสิ่งแวดล้อมท้องถิ่นในมิติต่างๆ ตามบริบทของพื้นที่ พร้อมสร้างโอกาสการขยายผลจริงในชุมชน 

​ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจากคณะกรรมการประเมินผลงานเยาวชนซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจาก EECi. NECTEC สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาพื้นที่ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยศิลปากร PTTGC และธนาคารไทยพาณิชย์ โดยผลงานดีเด่น รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ โรงเรียนเซนต์หลุยส์ฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา กับการออกแบบและพัฒนาถังดักไขมันในน้ำเสียเพื่อใช้ในครัวเรือน รองชนะเลิศอันดับ 1 โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ 2 จังหวัดฉะเชิงเทรา กับโครงการ Smart farm feeding เครื่องให้อาหารปลาอัตโนมัติและติดตามอุณหภูมิน้ำผ่าน Application และรองชนะเลิศอันดับ 2 โรงเรียนหมอนทองวิทยา จังหวัดฉะเชิงเทรา กับผลงานโครงการกระถางจากธรรมชาติ โดยนำฟางข้าวมาแปรรูปเป็นกระถางเพื่อลดมลภาวะทางอากาศจากการเผาฟางข้าว  
​นอกจากนี้ ยังมีรางวัลพิเศษแห่งความประทับใจ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกรุงไทย อีก 5 รางวัล ได้แก่ รางวัล Best Content Creator ได้แก่ โรงเรียนมกุฎเมืองราชวิทยาลัย จังหวัดระยอง รางวัล Best Impact ได้แก่ โรงเรียนแปลงยาวพิทยาคม จังหวัดฉะเชิงเทรา รางวัล School Supporter ได้แก่ โรงเรียนบ้านสวน (จั่นอนุสรณ์) จังหวัดชลบุรี รางวัล Young EEC Square Courage ได้แก่ โรงเรียนวัดป่าประดู่ จังหวัดระยอง และรางวัล Start Up DNA ได้แก่ โรงเรียนอัสสัมชัญระยอง จังหวัดระยอง 

​สำหรับโครงการ อีอีซี สแควร์ นับเป็นโครงการสำคัญที่ อีอีซี สร้างการมีส่วนร่วมและพัฒนาศักยภาพเยาวชน ซึ่งได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 โดยในปี 2566 นี้ได้เปิดรับสมัครเยาวชนระดับมัธยมศึกษาในพื้นที่อีอีซี มีเยาวชนเข้าร่วมจำนวน 17 โรงเรียน และได้รับการเรียนรู้เกี่ยวกับ อีอีซี การนำเทคโนโลยีนำเทคโนโลยี board Kidbright มาปรับใช้ในการทำโครงงาน ซึ่งตั้งใจให้เยาวชนที่เรียนเรื่อง coding ในโรงเรียนอยู่แล้วได้เข้าใจว่าสิ่งที่เรียนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาผลงานที่เป็นประโยชน์ได้อย่างไร รวมถึงมีการพัฒนาทักษะต่าง ๆ เช่น การทำงานเป็นทีม การศึกษาดูงานกระบวนการผลิตแบตตารีลิเทียมในอุตสาหกรรมจริง เป็นต้น และที่สำคัญ อีอีซี ได้รับความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนหลายหน่วยงาน ให้ความสนใจนำผลงานเยาวชนไปพัฒนาต่อยอดขยายผลจริงในชุมชน ในโรงงาน และสร้างโอกาสต่อยอดเชิงพาณิชย์อีกด้วย

'อีอีซี' ร่วม 'CtrlS' ทุนบิ๊กอินเดีย ตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ระดับโลกใน EECd เชื่อ!! ช่วยดึงเม็ดเงินลงทุนกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ไหลเข้าไทย

(2 ก.พ. 67) ดร.นลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย และ H.E. Mr. Nagesh Singh เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยาน พิธีลงนามสัญญาเช่าพื้นที่ราชพัสดุในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ภายในพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล หรือ EECd จังหวัดชลบุรี ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และ บริษัท CtrlS Datacenters จากประเทศอินเดีย เพื่อตั้งโครงการไฮเปอร์สเกลดาต้าเซ็นเตอร์ (Hyperscale Datacenter) ในประเทศไทย โดยมี ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ อีอีซี และ Mr.Siddharth Singh รองประธานอาวุโสฝ่ายการตลาด (Senior Vice President, Marketing) บริษัท CtrlS Datacenters เป็นผู้ลงนามสัญญา

การลงนามสัญญาฯ ครั้งนี้ เพื่อประกาศถึงความสำเร็จรับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษของพื้นที่อีอีซี โดยบริษัท CtrlS ผู้ประกอบการดาต้าเซ็นเตอร์ชั้นนำระดับโลก (Hyperscale Tier4) จากประเทศอินเดีย และรายใหญ่ที่สุดในเอเชีย ได้เช่าพื้นที่ภายในเขต EECd ซึ่งเป็นพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษจากอีอีซี จำนวน 25 ไร่ ระยะเวลา 50 ปี ลงทุนโครงการไฮเปอร์สเกลดาต้าเซ็นเตอร์ หรือ ศูนย์จัดเก็บข้อมูลที่สามารถรองรับปริมาณข้อมูลด้านดิจิทัลได้สูงสุด และถือเป็นการขยายฐานการลงทุนนอกประเทศครั้งแรก รับกลุ่มลูกค้าด้านบริการข้อมูลชั้นนำระดับโลก มีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 15,000 ล้านบาท สร้างรายได้จากการเช่าพื้นที่ให้อีอีซี ประมาณ 1,300 ล้านบาท สนับสนุนการจ้างงานในพื้นที่ประมาณ 1,000 อัตรา เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี การฝึกอบรมที่เกี่ยวข้องกับ บริการระบบข้อมูล (Cloud Service) รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมใหม่เพื่อความยั่งยืน ตามนโยบายหลักของรัฐบาล และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยกระดับการแข่งขันของประเทศ 

ทั้งนี้ การลงทุนโครงการไฮเปอร์สเกลดาต้าเซ็นเตอร์ จะใช้เทคโนโลยีจัดการพลังงาน และพลังงานสะอาดรองรับกำลังไฟฟ้าสูงสุด 150 เมกะวัตต์ รวมทั้งที่ตั้งจะอยู่ใกล้สถานีเคเบิลใต้น้ำชลี 3 จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อที่มีความพร้อมทั้งโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำและภาคพื้นดิน สามารถเชื่อมต่อระหว่างประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา, จีน, ญี่ปุ่น, สิงคโปร์ และไต้หวัน ด้วยระบบเคเบิลใต้น้ำประสิทธิภาพสูง และเชื่อมต่อไปยังดาต้าเซ็นเตอร์ และนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยคาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการเฟสแรกในปี 2568 และจะเป็นโครงการสำคัญ ให้ประเทศไทยก้าวสู่ศูนย์กลางดิจิทัลแห่งภูมิภาค รองรับนักลงทุนในและต่างประเทศในธุรกิจดิจิทัลขั้นสูง เช่น 5G ระบบ AI, Cloud, IoT, Smart City และสามารถดึงดูดผู้ประกอบการด้านบริการข้อมูลระดับโลกให้เข้าลงทุนในพื้นที่อีอีซี ต่อไป 

อีอีซี ร่วมมือ มูลนิธิเสนาะอูนากูลม.บูรพา พร้อมภาคีเครือข่าย เปิดเวทีสัมมนา “บริหารจัดการน้ำภาคตะวันออก” สร้างความมั่นคงทรัพยากรน้ำผลักดันลงทุนเศรษฐกิจสีเขียวสู่การพัฒนาพื้นที่ อีอีซีและชุมชนอย่างยั่งยืน  

เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2567) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)หรืออีอีซี ร่วมกับมูลนิธิเสนาะ อูนากูล มหาวิทยาลัยบูรพา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA)และศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจพอเพียง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) จัดงานสัมมนาวิชาการประจำปี เรื่องสถานการณ์ภาคตะวันออก พ.ศ. 2567 หัวข้อ “ระบบนิเวศของภาคตะวันออก และการบริหาร จัดการน้ำ”ณ หอประชุมธํารงบัวศรีมหาวิทยาลัยบูรพา โดยมีดร. ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานมูลนิธิเสนาะ อูนากูล เป็นประธาน ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ อีอีซี ร่วมปาฐกถาพิเศษ ดร.วัชรินทร์ กาสลัก อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวให้การต้อนรับ พร้อมด้วยผู้เข้าร่วมเสวนา และนำเสนอกรณีศึกษาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา กรรมการมูลนิธิเสนาะ อูนากูลดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการ TDRI ดร.ดิชพงษ์ ภูมิเกียรติศักดิ์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาระบบนวัตกรรม GISTDA นายสมชาย หวังวัฒนาพาณิช ประธานสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน ส.อ.ท.เป็นต้น และมีดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI ร่วมดำเนินการเสวนา 
 ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานมูลนิธิเสนาะ อูนากูลกล่าวว่า งานสัมมนาฯ ครั้งนี้เพื่อเป็นเวทีกลางแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกให้มีใช้อย่างยั่งยืน ทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ สร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐโดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชนรวมทั้งภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาสังคม ตลอดจนสถาบันการศึกษาและเยาวชน อีกทั้งเพื่อนำเสนอ“รายงานการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน ภาคตะวันออกพ.ศ. 2565”เรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก ให้สาธารณชนโดยรวมได้รับทราบสถานภาพปัญหาและข้อเสนอแนะ โดยมูลนิธิเสนาะ อูนากูล ได้จัดทำรายงานชิ้นนี้เพื่อติดตามสถานการณ์การพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออกตามแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และนำเสนอข้อมูลโดยสรุป หรือDashboardเรื่อง State of the Eastern Regionเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงใน 3 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงข้อมูลจากการสำรวจความคิดเห็นประชาชนและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับการพัฒนาในพื้นที่

ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ อีอีซี กล่าวถึง การบริหารความพิเศษเพื่อโอกาสของ อีอีซี ซึ่งเป็นการพัฒนาภายใต้แนวคิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยได้ใช้ข้อมูลเดียวกับแนวคิดการพัฒนาอีอีซี กลไกในการขับเคลื่อนการลงทุนและการบริหารงานใน สกพอ. การส่งเสริมการให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ การพัฒนาพื้นที่เพื่อจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจ การเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง และการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อีอีซี รวมถึงสิทธิประโยชน์ และมาตรการอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนที่ สกพอ. พร้อมให้บริการมาตั้งแต่วันที่1 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำการขับเคลื่อนการพัฒนาตามแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 
2566 – 2570 

สำหรับงานสัมมนาวิชาการฯ ครั้งนี้ ได้นำเสนอกรณีศึกษาในการจัดการน้ำในพื้นที่ทั้งที่ใช้ระบบเทคโนโลยีขั้นสูงและพลังของชุมชน เช่นระบบ Actionable Intelligence Policy (AIP) ที่ GISTDA ได้พัฒนาและทดลองดำเนินการเพื่อเสริมการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อีอีซีและกรณีศึกษาชุมชนในท้องถิ่นที่บ้านมาบจันทร์ จังหวัดระยอง ซึ่งมีความเข้มแข็งในการจัดการทรัพยากรน้ำด้วยตนเอง เพื่อให้เห็นถึงศักยภาพและทางเลือกในการแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำในพื้นที่

นอกจากนี้ ภายในการเสวนาโต๊ะกลมเรื่องการจัดการน้ำในภาคตะวันออกซึ่งมี ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์  ประธาน TDRI ดำเนินการเสนวนา ได้เจาะลึกถึงข้อเสนอหลักจากรายงานการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน ภาคตะวันออก พ.ศ. 2565 ดังกล่าวรวมทั้งได้มีการอภิปรายจากมุมมองของหน่วยงานภาครัฐ ผู้เชี่ยวชาญ และองค์กรผู้ใช้น้ำโดยเฉพาะภาคเอกชน รวมทั้ง TDRI GISTDA สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติและสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืนของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
โดยในรายงานฯ ได้มี4ข้อเสนอหลัก ถึงเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกได้แก่
1)ปรับวิธีคิดของภาครัฐในการจัดการทรัพยากรน้ำ ทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน โดยให้คำนึงถึงการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ 2)เสริมสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งของท้องถิ่น ชุมชน และองค์กรผู้ใช้น้ำ โดยพัฒนาบุคลากรและเพิ่มทักษะความรู้ ให้กับบุคลากรในองค์กรทุกระดับ 3)พัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ หรือที่เรียกว่า Integrated Area-based Water Resource Management (IWRM)โดยอาจดำเนินการในลักษณะSandboxในอีอีซี4)เตรียมแผนรองรับ ป้องกัน และลดผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเผชิญกับภัยภูมิอากาศ ในเขตพื้นที่อีอีซีรวมถึงพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกของประเทศไทย

EEC เปิด 'ศูนย์เครือข่ายพลังสตรี อีอีซี' นำร่อง!! สร้างกลไกมีส่วนร่วมชุมชน เชื่อมประโยชน์การลงทุนสู่การพัฒนาพื้นที่และชุมชนอย่างยั่งยืน

(25 มี.ค. 67) ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี ร่วมกับนายชัยพร แพภิรมย์รัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นางธัญรัตน์ อินทร รองเลขาธิการสายงานพื้นที่และชุมชน สกพอ. และนายวีกิจ มานะโรจน์กิจ นายอำเภอบางละมุง เข้าร่วมกิจกรรมเปิดศูนย์เครือข่ายพลังสตรี อีอีซี นำร่อง ณ ศูนย์เรียนรู้วิถีชาวนาภูมิปัญญาชุมชน ตำบลหนองปลาไหล จังหวัดชลบุรี เพื่อเป็นเสมือนตัวแทน อีอีซี ในการสร้างการรับรู้และความเข้าใจ บอกเล่าถึงประโยชน์และความคืบหน้าในการพัฒนาพื้นที่ อีอีซี ให้กับชุมชนในอำเภอบางละมุง รวมทั้งเป็นศูนย์กลางดำเนินกิจกรรมของเครือข่ายพลังสตรี อีอีซี ซึ่งเป็นกลไกหลักและเป็นตัวแทนของ อีอีซี ในการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี

ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ อีอีซี กล่าวว่า ศูนย์เครือข่ายพลังสตรี อีอีซี จะช่วยเป็นแกนกลางในการผลักดันให้สินค้าและบริการของชุมชนเป็นส่วนหนึ่งใน Supply Chain ของนักลงทุน ซึ่งเป็นแนวทางการดำเนินงานสำคัญในปัจจุบัน ในการส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงประโยชน์จากการลงทุนมาสู่การพัฒนาพื้นที่ และชุมชนอย่างยั่งยืน ผ่านกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมจากกลุ่มพลังสตรี อีอีซี ที่ได้ร่วมเป็นกระบอกเสียงสำคัญสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่ ได้รับข่าวสารและข้อมูลที่ถูกต้อง เข้าถึงประโยชน์จากการพัฒนาอีอีซีได้อย่างทั่วถึง และถือเป็นช่องทางสำคัญในการรับฟังความคิดเห็น และรับฟังข้อมูล เกี่ยวกับอีอีซี รวมถึงจะสนับสนุนให้กลุ่มพลังสตรี อีอีซี ได้รวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมประโยชน์ต่อสาธารณในพื้นที่ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้สามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ รวมถึง สกพอ. ก็มีกิจกรรมในการสนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหรือวิสาหกิจเพื่อสังคมผ่านกลไกความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายต่างๆ

เพื่อให้เครือข่ายพลังสตรี อีอีซี ได้มีบทบาทเพิ่มขึ้นในการเตรียมความพร้อมการนำประโยชน์จากการลงทุนในพื้นที่ให้สามารถยกระดับเศรษฐกิจชุมชน สร้างโอกาสให้แก่สินค้าชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น และการท่องเที่ยวของชุมชนให้มีมาตรฐาน รองรับการเข้ามาใช้จ่ายของคนที่มาทำงานใน อีอีซี มีศูนย์กลางในการพบปะทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน

สกพอ. ได้จัดตั้งศูนย์เครือข่ายพลังสตรี อีอีซี นำร่องในชุมชน จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ศูนย์เรียนรู้วิถีชาวนาภูมิปัญญาชุมชน ตำบลหนองปลาไหล อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอปลวกแดง ตำบลปลวกแดง อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง และชมรมผู้สูงอายุดอกลำดวน มัสยิดดารุ้ลดอยร็อต ตำบลหมอนทอง อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ทั้งนี้ ปัจจุบันมีเครือข่ายพลังสตรี อีอีซี รวมกว่า 600 คน เป็นตัวแทนสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน และร่วมกับอีอีซี ในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ร่วมกันพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิต ตลอดจนรายได้ของชุมชนอย่างต่อเนื่อง

สำหรับที่ตั้ง ศูนย์เครือข่ายพลังสตรี อีอีซี ณ ศูนย์เรียนรู้วิถีชาวนาภูมิปัญญาชุมชน ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชนที่สะท้อนความโดดเด่นด้านการทำนาด้วยภูมิปัญญาการปลูกข้าวที่มีมาตั้งแต่อดีต ปัจจุบันเขตพื้นที่ ต.หนองปลาไหล มีพื้นที่นาประมาณ 190 ไร่ แม้ว่าปัจจุบันจะมีพื้นที่ทำนาลดลง แต่ชาวบ้านยังคงอนุรักษ์และสืบสานอาชีพการทำนา ด้วยการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้วิถีชาวนาภูมิปัญญาชุมชน เพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่และผู้ที่สนใจได้เข้ามาเรียนรู้ เป็นอีกหนึ่งเส้นทางท่องเที่ยวด้านการเกษตร ที่นักท่องเที่ยวสามารถร่วมกิจกรรมได้ อาทิ ทดลองดำนา เกี่ยวข้าว ชมดนตรีพื้นบ้าน ทดลองทำอาหารพื้นบ้านจากวัตถุดิบท้องถิ่น เป็นต้น

อนุชุมชนฯ ลงพื้นที่ฉะเชิงเทรา ขับเคลื่อนการเชื่อมโยงประโยชน์จากการลงทุนสู่ประชาชนและชุมชนในพื้นที่ อีอีซี

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567 คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการเชื่อมโยงประโยชน์จากการลงทุนสู่การพัฒนาพื้นที่และชุมชน นำโดย รองศาสตราจารย์มณฑล แก่นมณี ประธานอนุกรรมการ พร้อมด้วย นายธนาคม จงจิระ รองประธานฯ และอนุกรรมการ รวมทั้งผู้บริหาร สกพอ. นางธัญรัตน์ อินทร รองเลขาธิการฯ สายงานพื้นที่และชุมชน และเจ้าหน้าที่ สกพอ. นายอาทร เสริมศักดิ์ศศิธร ประธาน YEC และผู้ผแทน YEC ได้เดินทางลงพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อเรียนรู้แนวทางการช่วยเหลือเกื้อกูลกันของนิคมอุตสาหกรรม ฯ และชุมชนรอบโครงการอย่างเป็นรูปธรรม และการยกระดับผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นให้มีมูลค่าสูงขึ้นของวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ รวมถึงร่วมประชุมหารือกับหน่วยงานในพื้นที่และผู้นำท้องถิ่นเกี่ยวกับแนวทางการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกผ่านโครงการ EEC Tambon Mobile Team คณะอนุกรรมการฯ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของ สกพอ. ได้ลงพื้นที่ประชุมหารือและศึกษาแนวทาง การดำเนินงาน 'เขาดิน โมเดล' 

ซึ่งเป็นตัวอย่างความสำเร็จของการช่วยเหลือเกื้อกูลและสนับสนุนส่งเสริมกันของนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ และชุมชนรอบโครงการทั้งด้านที่ดิน ด้านอาชีพ และด้านสิ่งแวดล้อม ณ ศูนย์เรียนรู้ “ทุ่งสมุนไพรป่าชายเลน” แห่งแรกของประเทศไทย โดยมีนางสาวกุลพรภัสร์ วงค์มาจารภิญญาประธานผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทคซิตี้ ให้การต้อนรับ ทั้งนี้ ได้มีการหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางส่งเสริมผลิตภัณฑ์สมุนไพรในชุมชนให้มีมูลค่าสูงขึ้น และสามารถขยายช่องทางการตลาดได้มากขึ้น ซึ่งจะนำไปขยายผลในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอื่น ๆ ต่อไป จากนั้น ได้เข้าเยี่ยมชมโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนและระบบกักเก็บพลังงานแบบครบวงจร ของบริษัท บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานที่ทันสมัยและใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เกิดจากการร่วมลงทุนระหว่างกลุ่มบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ กับ บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ไต้หวัน) ผลผลิตของโรงงานแห่งนี้ถือเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ อีอีซี  

นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการฯ ได้ร่วมประชุมหารือร่วมกับนายศักรินทร์ ศรีสมวงศ์ นายอำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา และผู้นำท้องถิ่น ประกอบด้วย นายหิรัญ หริ่มเจริญ กำนันตำบลหนองตีนนก นายสมศักดิ์ ไหลไผ่ทอง ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 4 และนายเมืองแมน มนจ้อย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 ตำบลหนองตีนนก และนายวิลาศ สุวินัย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองตีนนก เป็นต้น เกี่ยวกับแนวทางการทำงานร่วมกันในการสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่ อีอีซี รวมทั้งการเตรียมพื้นที่และชุมชนให้มีความพร้อมและศักยภาพที่จะรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ผ่านโครงการ EEC Tambon Mobile Team จากนั้น ได้เข้าเยี่ยมวิสาหกิจชุมชนเกษตรผสมผสานและการแปรรูปตำบลหนองตีนนก ซึ่งได้รับรางวัลชมเชยจากการประกวดวิสาหกิจชุมชนดีเด่น ระดับจังหวัด ประจำปี 2567 วิสาหกิจชุมชนแห่งนี้เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มกันของประชาชนในชุมชนเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่สมาชิก ด้วยการปลูกผักและเลี้ยงสัตว์ด้วยวิธีการธรรมชาติ ให้สมาชิกมีอาหารที่ปลอดภัยอย่างเพียงพอ ส่วนรายได้ที่เกิดจาการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรจะนำมาปันผลให้แก่สมาชิก และช่วยเหลือสมาชิกยามเจ็บป่วย มีการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อลดต้นทุนการผลิตและรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับการประกอบธุรกิจแบบ BCG โดยคณะอนุกรรมการฯ จะนำข้อมูลและบทเรียนแห่งความสำเร็จไปเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการเชื่อมโยงจากการลงทุนสู่พื้นที่และชุมชน ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของคณะอนุกรรมการฯ ต่อไป

อีอีซี เปิดศูนย์เครือข่ายพลังสตรี อีอีซีนำร่อง อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง สร้างกลไกการรับรู้ถึงระดับชุมชน ดึงพลังท้องถิ่นร่วมพัฒนาอีอีซีต่อเนื่อง

ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ อีอีซี กล่าวว่า ศูนย์เครือข่ายพลังสตรี อีอีซี จะเป็นกลไกสำคัญ เพื่อสื่อสารสร้างการรับรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่ อีอีซี และประโยชน์สำคัญที่ในพื้นที่จะได้รับ ผ่านกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง อีกทั้ง กลุ่มเครือข่ายพลังสตรี อีอีซี จะร่วมเป็นแกนกลางในการผลักดันให้สินค้าและบริการของชุมชนเป็นส่วนหนึ่งใน Supply Chain ของนักลงทุน ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญเพื่อขับเคลื่อนการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยศูนย์เครือข่ายพลังสตรี ที่อำเภอปลวกแดงแห่งนี้ จะร่วมกับอีอีซี ทำกิจกรรมประโยชน์ต่อสาธารณในพื้นที่ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น

เพื่อให้สามารถต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชน สินค้าและบริการ ในระดับวิสาหกิจชุมชน ไปสู่การพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ ผ่านกลไกความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนจากพื้นที่ อีอีซี ได้มีช่องทางการตลาดที่กว้างขวางยิ่งขึ้น สร้างโอกาสให้แก่สินค้าชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น และการท่องเที่ยวของชุมชนให้มีมาตรฐาน รองรับการเข้ามาใช้จ่ายของนักลงทุน และผู้ที่จะมาทำงานในพื้นที่ อีอีซี ต่อไป

อีอีซี เดินหน้าสร้างการรับรู้ระดับพื้นที่ต่อเนื่อง เปิดศูนย์เครือข่ายพลังสตรี อีอีซี นำร่อง ฉะเชิงเทรา ดึงพลังสตรี ร่วมพัฒนาอาชีพ สานต่อภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างรายได้เข้าถึงชุมชน

ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี ร่วมกับ นายประสิทธิ์ อินทโชติ ปลัดจังหวัดฉะเชิงเทรา นายธีระพล สุ่มมาตย์ นายอำเภอบางน้ำเปรี้ยว และนางธัญรัตน์ อินทร รองเลขาธิการสายงานพื้นที่และชุมชน สกพอ. เข้าร่วมกิจกรรมเปิดศูนย์เครือข่ายพลังสตรี อีอีซี นำร่อง ณ ชมรมผู้สูงอายุ ดอกลำดวน มัสยิดดารุ้ลคอยร็อต อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง และให้กลุ่มสตรีในพื้นที่เป็นกระบอกเสียงสำคัญ บอกเล่าถึงประโยชน์และความคืบหน้าในการพัฒนาพื้นที่ อีอีซี เข้าตรงถึงชุมชน และเป็นศูนย์กลางดำเนินกิจกรรมของเครือข่ายพลังสตรี อีอีซี ในพื้นที่ สร้างโอกาสการพัฒนาและเติบโตไปพร้อมกับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งการยกระดับคุณภาพชีวิตให้พื้นที่และชุมชน  

ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ อีอีซี กล่าวว่า การเปิดศูนย์เครือข่ายพลังสตรี อีอีซี นำร่อง ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ครั้งนี้ ถือเป็น ศูนย์ฯ พลังสตรี นำร่องในพื้นที่ อีอีซี ครบทั้ง 3 จังหวัด ซึ่งที่ผ่านมา อีอีซี ได้เปิดอย่างเป็นทางการแล้ว 2 แห่ง ได้แก่ ศูนย์เรียนรู้วิถีชาวนาภูมิปัญญาชุมชน อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี และศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง เพื่อดึงพลังของกลุ่มสตรี มาเป็นตัวแทนสร้างความเข้มแข็งระดับชุมชน ร่วมถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่ อีอีซี และประโยชน์สำคัญที่จะได้รับ ผ่านกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง อีกทั้ง กลุ่มเครือข่ายพลังสตรี อีอีซี จะเป็นกลไกสำคัญผลักดันให้สินค้าและบริการของชุมชนให้เป็นส่วนหนึ่งใน Supply Chain ของนักลงทุน ซึ่งถือเป็นแนวทางสำคัญที่อีอีซี จะส่งเสริมคู่ไปกับการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ศูนย์เครือข่ายพลังสตรี นำร่อง ฉะเชิงเทรา แห่งนี้ จะประสานกับอีอีซี ทำกิจกรรมประโยชน์ต่อสาธารณในพื้นที่ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น สามารถต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชน สินค้าและบริการ ในระดับวิสาหกิจชุมชน ไปสู่การพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ ผ่านกลไกความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนจากพื้นที่ อีอีซี มีช่องทางการตลาดที่กว้างขวางยิ่งขึ้น สร้างโอกาสให้แก่สินค้าชุมชน สานต่อภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่ รวมถึงการท่องเที่ยวของชุมชนให้มีมาตรฐาน รองรับการเข้ามาใช้จ่ายของนักลงทุน และผู้ที่จะมาทำงาน และอยู่อาศัยในพื้นที่ อีอีซี ต่อไป

สำหรับที่ตั้งศูนย์เครือข่ายพลังสตรี อีอีซี ณ ชมรมผู้สูงอายุดอกลำดวน ตั้งอยู่ภายในมัสยิสดารุ้ลคอยร๊อต อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชุมชนชาวมุสลิม แต่สามารถอยู่ร่วมกับชาวพุทธได้อย่างกลมกลืน พื้นที่นี้จึงเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมอย่างแท้จริง รวมทั้งเป็นเครือข่ายศูนย์กสิกรรมธรรมชาติที่เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร และสามารถนำความรู้ประสบการณ์กลับมาขยายผลในพื้นที่ทั้งประชาชนและโรงเรียนต่าง ๆ มีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต กิจกรรมตลาดนัดในชุมชนเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ทำให้มีผู้มาติดต่อ และเข้ามาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ เยาวชนจากโรงเรียนหมอนทองวิทยา ยังเป็นเครือข่ายเยาวชน อีอีซี ที่เข้มแข็งมีผลงานด้านการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชน ได้รับรางวัลจากโครงการ อีอีซี สแควร์ ถึง 2 ปี ศูนย์เครือข่ายพลังสตรี อีอีซี ณ ชมรมผู้สูงอายุดอกลำดวน จึงเป็นอีกกลไกสำคัญของ อีอีซี ที่สามารถขยายการรับรู้และสร้างความเข้มแข็งไปยังกลุ่มผู้นำศาสนา ชุมชน และเยาวชนในพื้นที่ได้อีกด้วย

อีอีซี ผนึกกำลัง อบจ.ระยอง สถานศึกษา ภาคเอกชน ส่งเสริมการใช้ระบบสารสนเทศในการขนส่งสาธารณะ ในพื้นที่ อีอีซี

เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2567 ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การสนับสนุนการใช้ระบบสารสนเทศสำหรับการขนส่งสาธารณะ ร่วมกับ ดร.ปิยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง รองศาสตราจารย์ ดร.วัชรินทร์ กาสลัก อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา รองศาสตราจารย์ ดร.สถาพร เชื้อเพ็ง รองอธิการบดีวิทยาเชตศรีราชามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนายอินทัช มาศวงษ์ปกรณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เวีย กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อผลักดันให้เกิดการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศผ่านระบบแอปพลิเคชั่นให้บริการรถโดยสารสาธารณะ ผ่านความร่วมมือจากหน่วยงานดังกล่าว ณ ห้อง Conference 1-2 สำนักงานอีอีซี ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ อีอีซี กล่าวว่า การลงนาม MOU ครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือสำคัญ เพื่อสร้างต้นแบบการใช้ระบบสารสนเทศสำหรับการขนส่งสาธารณะในพื้นที่อีอีซี โดยนำระบบแอปพลิเคชั่น ViaBus ที่พัฒนาโดยบริษัทเอกชนมาใช้ประโยชน์ในการติดตามรถโดยสารสาธารณะ ในแบบเรียลไทม์ โดยจะนำร่องให้บริการในรถโดยสารสวัสดิการของ มหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงรถโดยสารสาธารณะของ อบจ.ระยอง ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ใช้บริการ นักเรียน นักศึกษา รวมถึงประชาชนทั่วไป ได้รับความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ผ่านการใช้ระบบฯ ดังกล่าว ซึ่งจะช่วยยกระดับการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ ให้มีความทันสมัย ปลอดภัย อำนวยความสะดวกให้เกิดการบริหารเวลา รองรับการวางแผนเดินทางของประชาชนในพื้นที่อีอีซี

ทั้งนี้ ความร่วมมือตาม MOU จะเป็นการร่วมกันผลักดันให้เกิดการใช้ระบบสารสนเทศ สำหรับระบบขนส่ง สาธารณะในพื้นที่อีอีซี ให้เกิดการใช้อย่างแพร่หลายต่อไป โดยจะประสานความร่วมมือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน และผู้ที่สนใจอื่น ๆ เพื่อยกระดับโครงข่ายการเดินทาง ระบบคมนาคมในพื้นที่อีอีซี ด้วยเทคโนโลยีที่ ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ เชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐาน รองรับการเดินทางของประชาชนอย่างไร้รอยต่อ ยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชนภายในพื้นที่อีอีซีอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป ดร.ปิยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง กล่าวว่า การมีระบบขนส่งมวลชนที่ดีสำหรับจังหวัดระยอง เป็นความฝันของคนระยอง และของผมที่อยากจะทำให้กับคนระยอง แต่จากการพูดคุยในหลายครั้ง หลายเวที การที่จะปฏิรูประบบขนส่งในจังหวัดระยองอย่างเต็มรูปแบบ มันมีข้อจำกัดในการดำเนินการอยู่หลายประเด็น ทั้งทางด้านภาระทางงบประมาณ ด้านกฎหมาย และด้านผลกระทบต่อระบบเดิมที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นประเด็น ละเอียดอ่อนและไม่ได้ขึ้นอยู่กับ อบจ.ระยอง แต่เพียงฝ่ายเดียว ดังนั้นภาพความฝันที่สมบูรณ์ของผมคงต้องใช้เวลา แต่ผมยังคงเชื่อว่ามันต้องเกิดขึ้นได้แน่นอน การร่วมมือกับ อีอีซี ในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะเติมความฝันของผมให้มีภาพชัดขึ้น ผมเชื่อว่าการนำแอปพลิเคชั่น ViaBus ไปประยุกต์ใช้ จะส่งประโยชน์ต่อคนระยอง ต่อ อบจ.ระยอง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาโครงการ “รถสาธารณะไฟฟ้าวิ่งเลียบชายหาดแหลมเจริญ” ที่ อบจ.ระยอง กำลังดำเนินการอยู่ แอปพลิเคชั่น ViaBus นี้จะเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งของโครงการ ที่จะสร้างความสะดวกให้แก่กลุ่มผู้ใช้บริการโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ และจะเป็นประโยชน์ในการต่อยอดสำหรับโครงการอื่นๆ ของ อบจ.ระยอง ต่อไปได้อย่างแน่นอน
รองศาสตราจารย์ ดร.วัชรินทร์ กาสลัก อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยบูรพา มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือในครั้งนี้ ในการร่วมกับ อีอีซี นำแอปพลิเคชั่น ViaBus มาใช้ประโยชน์เป็นระบบเพิ่มเติมจากแอปพลิเคชั่น BBUTransit ที่มหาวิทยาลัยได้พัฒนาและใช้ติดตามรถสวัสดิการของมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน เพื่อขยายการอำนวยความสะดวกให้แก่กลุ่มนิสิต บุคลากร ประชาชน และผู้รับบริการภายในมหาวิทยาลัยให้กว้างขวางมากขึ้น ทั้งนี้จากเป้าหมายของมหาวิทยาลัยบูรพาที่ว่า “เราจะทำให้ ม.บูรพา ให้เป็นมหาวิทยาลัยแห่ง EEC” มหาวิทยาลัยบูรพาหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือกับ อีอีซี ผ่านแอปพลิเคชั่น ViaBus ในครั้งนี้ จะสามารถเป็นต้นแบบให้สามารถขยายผลการใช้ประโยชน์ไปยังพื้นที่อื่นๆ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ อีอีซี สามารถผลักดันการเชื่อมต่อโครงข่ายด้านคมนาคมขนส่งและยกระดับการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะในพื้นที่ได้สำเร็จ ทำให้ระบบขนส่งสาธารณะมีความทันสมัย ปลอดภัย อำนวยความสะดวก ให้เกิดการบริหารเวลา รองรับการวางแผนการเดินทางของประชาชนในพื้นที่อีอีซีต่อไป
รองศาสตราจารย์ ดร.สถาพร เชื้อเพ็ง รองอธิการบดีวิทยาเชตศรีราชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือกับ อีอีซี นำแอปพลิเคชั่น ViaBus ไปใช้ เพื่อยกระดับมาตรฐานการให้บริการรถสวัสดิการของวิทยาเขตศรีราชาในปัจจุบัน ให้มีความมีความ ทันสมัยมากขึ้น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือกับ อีอีซี ในครั้งนี้ จะเกิดประโยชน์ต่อนิสิตบุคลากร รวมถึงประชาชนและผู้มาติดต่อ เพื่อการวางแผนการเดินทางในพื้นที่วิทยาเขตได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ทาง วิทยาเขตศรีราชาหวังว่า การร่วมมือในครั้งนี้จะสามารถเป็นต้นแบบได้อย่างสมบูรณ์ตามเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ และมีความยินดีให้การสนับสนุนในการขยายผลการใช้ประโยชน์ไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั้งในพื้นที่ อีอีซี และในวิทยาเขตอื่นของ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ต่อไป นายอินทัช มาศวงษ์ปกรณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เวีย กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ทางบริษัทเวีย กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยยกระดับระบบขนส่งสาธารณะ อำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารในการวางแผนและบริหารเวลาการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะประจำทางและรถโดยสารให้บริการของหน่วยงาน โดยนวัตกรรม ViaBus นั้นให้บริการด้านการติดตามและนำทางรถโดยสารแบบเรียลไทม์ เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถเข้าถึงข้อมูลการเดินทางในระบบรถโดยสารได้ง่ายขึ้น เช่น ตำแหน่งรถ สถานี(ป้าย) เส้นทาง ทำให้ผู้โดยสารสามารถตัดสินใจในการเดินทาง รวมถึงบริหารเวลาและวางแผนการการเดินทางได้ดีขึ้นและไม่ใช่เพียงผู้โดยสารเท่านั้น นวัตกรรม ViaBus นี้ยังนำเทคโนโลยีระบบบริหารจัดการ มาช่วยเหลือผู้ประกอบการเดินรถให้สามารถบริหารจัดการการเดินรถได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีความอัตโนมัติและตอบโจทย์ความต้องการของผู้โดยสารมากขึ้นทั้งนี้ ความร่วมมือตาม MOU ในครั้งนี้จะถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่จะทำให้เกิดการพัฒนาการยกระดับการคมนาคมขนส่งแบบบูรณาการ ทำให้ทันสมัยยิ่งขึ้น ช่วยให้เสริมสร้างเศรษฐกิจ เกิดประโยชน์ต่อประชาชนผู้เดินทางได้รับการเดินทางที่ทันสมัยและไร้รอยต่อ และสามารถยกระดับการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกต่อไป

อีอีซี ร่วม ทน.แหลมฉบัง เซ็น MOU ส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ (Smart City)

ที่ ห้องประชุมเมืองใหม่ 2 เทศบาลนครแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และนางจินดา ถนอมรอด นายกเทศนตรีเทศบาลนครแหลมฉบัง ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่อง การอนุญาต หรือรับแจ้ง รวมถึงการบังคับการตามกฎหมายว่าด้วยการขุดดินและถมดิน กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข และกฎหมายว่าด้วยโรงาน และเรื่อง การส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ (Smart City) โดยมี นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ สายงานเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ อีอีซี และนายสันติ ศิริตันหยง รองนายกเทศมนตรีนครแหลมฉบัง  คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธี

ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ อีอีซี กล่าวว่า การลงนามฯ MOU ระหว่าง อีอีซี และเทศบาลนครแหลมฉบัง ครั้งนี้ เพื่อใช้เป็นแนวทางความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อโครงการในเขตส่งเสริมพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้ได้รับบริการจากภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (EEC One Stop Service) และจะช่วยลดขั้นตอนในการประกอบธุรกิจให้นักลงทุน หรือผู้ที่ต้องการขอใบอนุมัติ ใบอนุญาต ได้รับบริการสะดวกรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยอีอีซี จะเป็นผู้ให้บริการทั้งในส่วนการรับคำขอรับใบอนุญาต ใบรับแจ้งตามกฎหมายว่าด้วยการขุดดินและถมดิน กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข และกฎหมายว่าด้วยโรงงาน และเทศบาลนครแหลมฉบัง จะร่วมสนับสนุนในกระบวนการออกใบอนุญาต ใบรับแจ้ง และใบรับรองตามกฎหมายดังกล่าว ถือเป็นการบูรณาการการปฏิบัติงาน และแลกเปลี่ยนข้อมูล องค์ความรู้ในการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐทั้งสองหน่วยงาน อันเป็นการส่งเสริมการลดขั้นตอนการประกอบธุรกิจให้มีความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การลงนาม MOU ด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ในพื้นที่ อีอีซี ทั้ง 2 หน่วยงาน จะร่วมกันสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมดิจิทัล หรือระบบบริการเมืองอัจฉริยะ รวมทั้งจะสนับสนุนบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ทั้งด้านพัฒนาข้อมูล และพัฒนาระบบให้บริการเมือง ที่เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมบริการดิจิทัล เพื่อการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบของเทศบาลนครแหลมฉบัง นางจินดา ถนอมรอด นายกเทศมนตรีเทศบาลนครแหลมฉบัง กล่าวเสริมว่า ทางเทศบาลนครแหลมฉบัง พร้อมให้การสนับสนุนโครงการร่วมกับ อีอีซี ซึ่งทางรัฐบาลได้มอบหมายให้พื้นที่นครแหลมฉบัง เป็นส่วนหนึ่งของอีอีซี  ซึ่งในวันนี้ทางนครแหลมฉบัง ได้มีโอกาสลงนามความร่วมมือ MOU นับเป็นแนวทางการดำเนินการร่วมกันในการอนุมัติ  การขออนุญาตถมดินขออนุญาตก่อสร้างในพื้นที่แหลมฉบัง การอนุญาตตามขอบเขตของกฎหมาย มุ่งเน้นการพัฒนาการดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานทั้งสอง ลดความสับสน และความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติหน้าที่ และจะเป็นการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร หรือ One Stop Service ได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงได้ร่วมกันสนับสนุนขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ที่จะเป็นโอกาสสำคัญเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน และประชาชนทั่วไป ถึงการพัฒนาพื้นที่ อีอีซี ที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของพื้นที่และชุมชม เพื่อพัฒนาให้แหลมฉบังเจริญเติบโตตามนโยบายของรัฐบาล ได้อย่างต่อเนื่อง

นิราช/นันทพล ทิพย์ศรี ชลบุรี 0909535645

บอร์ด EEC เห็นชอบ แก้สัญญารถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน เตรียมเสนอ ครม. ปลดล็อกพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภาคตะวันออก

(15 ต.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 4/2567 วันที่ 11 ตุลาคม 2567 ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล โดยมี นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นเลขานุการการประชุมฯ ทั้งนี้ กพอ. ได้พิจารณาและมีมติในเรื่องสำคัญ ดังนี้

1.เห็นชอบหลักการการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน โดยการปรับปรุงสัญญาร่วมลงทุนเพื่อผลักดันให้โครงการฯ สามารถเดินหน้าต่อไปได้ บนพื้นฐานที่ภาครัฐไม่เสียประโยชน์ และภาคเอกชนไม่ได้ประโยชน์เกินสมควร โดยจะเสนอการแก้ไขสัญญาต่อ ครม. เพื่อพิจารณาใน 5 ประเด็น ประกอบด้วย

1)วิธีชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุน (Public Investment Cost : PIC) จากเดิม เมื่อเอกชนเปิดเดินรถไฟความเร็วสูงฯ รัฐจะแบ่งจ่ายเป็นจำนวน 149,650 ล้านบาท เป็น จ่ายเป็นงวดตามความก้าวหน้าของงานที่ รฟท. ตรวจรับ วงเงินไม่เกิน 120,000 ล้านบาท โดยเอกชนต้องวางหลักประกันเพิ่มเติมจากสัญญาเดิม รวมเป็นจำนวน 160,000 ล้านบาท เพื่อรับประกันว่าจะก่อสร้างและเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงฯ ได้ภายใน 5 ปี ทั้งนี้ กรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างจะทยอยตกเป็นของภาครัฐ (รฟท.) ทันทีตามงวดของการจ่ายเงิน

2)กำหนดการชำระค่าสิทธิให้ร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) โดยให้เอกชนแบ่งชำระค่าสิทธิจำนวน 10,671.09 ล้านบาท เป็น 7 งวด เป็นรายปี จำนวนเท่า ๆ กัน โดยต้องชำระงวดแรก
ณ วันที่ลงนามแก้ไขสัญญา ในการนี้ เอกชนจะต้องวางหนังสือค้ำประกันที่ออกโดยธนาคาร ในมูลค่าเท่ากับค่าสิทธิ ARL รวมถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเงินอื่นที่ รฟท. ต้องรับภาระ

3)กำหนดส่วนแบ่งผลประโยชน์ตอบแทน (Revenue Sharing) เพิ่มเติม หากในอนาคตอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของโครงการฯ ลดลงอย่างมีนัยสําคัญ และเป็นผลให้เอกชนได้ผลประโยชน์ตอบแทน (IRR) เพิ่มขึ้นเกิน 5.52% รฟท.มีสิทธิเรียกให้เอกชนชําระส่วนแบ่งผลประโยชน์เพิ่มได้ ตามจำนวนที่จะตกลงกันต่อไป

4)การยกเว้นเงื่อนไขการออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Proceed : NTP) โดยให้คู่สัญญาจัดทำบันทึกข้อตกลงยกเว้นเงื่อนไข NTP ที่ยังไม่สำเร็จ เพื่อให้ รฟท. สามารถออก NTP ได้ทันทีเมื่อลงนามสัญญาที่แก้ไขตามหลักการทั้งหมดนี้

5)การป้องกันปัญหาในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการฯ โดยปรับปรุงข้อสัญญาในส่วนของเหตุสุดวิสัยและเหตุผ่อนผัน ให้สอดคล้องกับสัญญาร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในโครงการอื่น

ที่ประชุม กพอ. มีมติให้ สกพอ. ดำเนินการนำเสนอหลักการแก้ไขปัญหาโครงการฯ ใน 5 ประเด็นดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบการทบทวนมติ ครม. เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2561 และให้คู่สัญญาร่วมกันเจรจาร่างสัญญาแก้ไข และเสนอต่อคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการฯ พิจารณา และนำส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาก่อนนำเสนอ กพอ. และ ครม. เพื่อให้ ครม. เห็นชอบการแก้ไขสัญญาอีกครั้ง ก่อนคู่สัญญาจะลงนามในสัญญาฉบับแก้ไขต่อไป

2. เห็นชอบการปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา จากการที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) พ้นจากสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ ตั้งแต่ปี 2563 ทำให้ไม่สามารถเป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance Repair and Overhaul : MRO) ที่สนามบินอู่ตะเภาได้ และ สกพอ. เห็นว่าโครงการดังกล่าวมีความจำเป็นต่อการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และการยกระดับขีดความสามารถในการให้บริการซ่อมบำรุงอากาศยานของประเทศไทย ตลอดจนเพิ่มศักยภาพของช่างอากาศยานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และจำเป็นต้องขับเคลื่อนการดำเนินโครงการต่อไปให้เหมาะสมตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป กพอ. ได้มีมติเห็นชอบการปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินโครงการ โดยให้ยกเลิกการเป็นโครงการร่วมลงทุนตามที่ ครม. อนุมัติไว้ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2561 และให้ สกพอ. ดำเนินการจัดหาผู้เช่าที่ดินราชพัสดุในเขตส่งเสริม : เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) เพื่อดำเนินกิจกรรมศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ตามมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 และ ระเบียบคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข การเช่าที่ดินราชพัสดุที่ประกาศเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. 2562 ต่อไป โดย สกพอ. จะนำเสนอให้ ครม. รับทราบมติ กพอ. ดังกล่าว และพิจารณายกเลิกมติ ครม. วันที่ 30 ตุลาคม 2561 ในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

2.รับทราบความก้าวหน้าการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยเฉพาะด้านการพัฒนาเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม 4 โครงการใหญ่ และการชักชวนการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ 5 คลัสเตอร์ ได้แก่ การแพทย์และสุขภาพ ดิจิทัล ยานยนต์สมัยใหม่ เศรษฐกิจ BCG และบริการ โดยในช่วงตั้งแต่มกราคม 2566 ถึงกันยายน 2567 สกพอ. ได้ดำเนินการชักชวนนักลงทุน 139 ราย โดยมีนักลงทุนที่สนใจการลงทุนใน 5 กลุ่มคลัสเตอร์ดังกล่าวและได้ทำหนังสือแสดงเจตจำนง (LOI) รวม 35 ราย จำนวน 36 โครงการ มีการยื่นข้อเสนอโครงการฯ เพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายอีอีซีแล้ว จำนวน 12 โครงการ มีมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 135,000 ล้านบาท


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top