Sunday, 27 April 2025
อิรัก

30 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ‘ซัดดัม ฮุสเซน’ อดีตประธานาธิบดีอิรัก ถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ

เมื่อ 17 ปีที่แล้ว หรือ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ‘ซัดดัม ฮุสเซน’ อดีตประธานาธิบดีแห่งประเทศอิรัก ถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ

ย้อนเวลากลับไป ‘ซัดดัม ฮุสเซน’ เป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการก่อรัฐประหารในอิรัก ช่วงปี พ.ศ. 2511 โดยทำให้พรรคบะอัธ ที่เขาเป็นหัวหน้าพรรค ก้าวขึ้นสู่อำนาจในระยะยาว พร้อมกับที่ตัวเองขึ้นสู่ตำแหน่งรองประธานาธิบดี หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2522 เขาก็ก้าวเข้ามาเป็นประธานาธิบดีในที่สุด

‘ซัดดัม ฮุสเซน’ กลายเป็นที่จับตาของผู้คนทั้งโลก ในช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซีย (พ.ศ. 2534) จากการที่อิรักบุกยึดครองประเทศคูเวต เป็นเหตุให้เหล่าประเทศพันธมิตร ที่นำโดยสหรัฐอเมริกา ต้องนำกองกำลังทหารเข้าจัดการ สงครามครั้งนั้นกินระยะเวลาราว 5 สัปดาห์ ผลปรากฏว่ากองกำลังของซัดดัมเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แต่ก็ยังมีผลพวงของสงครามที่ถูกลากยาวต่อมาอีกหลายปี

ไฟแห่งสงครามครั้งนั้น สิ้นสุดลงจริง ๆ เมื่อราวปี พ.ศ. 2538 ก่อนที่ในเวลาต่อมา ซัดดัมจะถูกถอดถอนจากตำแหน่งประธานาธิบดีจากสหรัฐฯ และฝ่ายพันธมิตร พร้อมกับถูกจับกุมเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2546 เวลาผ่านไปกว่า 3 ปี เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ผู้พิพากษาศาลอิรัก ก็สั่งลงโทษประหารชีวิต ซัดดัม ฮุสเซน จากคดีสังหารหมู่ชาวชีอะห์ 148 ราย โดยเขาถูกประหารชีวิตด้วยการถูกแขวนคอในวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2549 หรือวันนี้เมื่อ 17 ปีก่อนนั่นเอง

‘อิรัก’ ออกกฎหมายต่อต้าน LGBTQ  โทษจำคุกสูงสุด 15 ปี แค่ส่งเสริมก็ถือว่าผิด 

(28 เม.ย. 67) รัฐสภาอิรักผ่านกฎหมายลงโทษผู้ที่มีความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันโดยมีโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี ในความเคลื่อนไหวที่รัฐสภาอิรักระบุว่า มีจุดมุ่งหมายเพื่อรักษาคุณค่าทางศาสนา

เอกสารสำเนากฎหมายระบุว่า กฎหมายนี้มีเป้าหมาย เพื่อปกป้องสังคมอิรักจากความเสื่อมทรามทางศีลธรรมและกระแสการเรียกร้องให้มีพฤติกรรมรักร่วมเพศที่กำลังครอบงำโลก

กฏหมายนี้ได้รับการสนับสนุนจากพรรคมุสลิมนิกายชีอะห์หัวอนุรักษ์ ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในรัฐสภาอิรัก

กฎหมายว่าด้วยการต่อต้านการค้าประเวณีและการรักร่วมเพศ” กำหนดให้บุคคลใดที่มีความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกัน จะต้องโทษจำคุกอย่างน้อย 10 ปีและสูงสุด 15 ปี และต้องโทษจำคุกอย่างน้อย 7 ปีสำหรับใครก็ตามที่ส่งเสริมการรักร่วมเพศหรือการค้าประเวณี

กฎหมายยังกำหนดให้การเปลี่ยนแปลงเพศทางชีวภาพถือเป็นอาชญากรรม และลงโทษคนข้ามเพศและแพทย์ที่ทำการผ่าตัดเปลี่ยนเพศ โดยมีโทษจำคุกสูงสุด 3 ปี

เดิมร่างกฎหมายดังกล่าวเสนอให้มีโทษประหารชีวิตด้วย แต่ได้รับการแก้ไขก่อนที่จะผ่านการพิจารณา ภายหลังการต่อต้านอย่างรุนแรงจากสหรัฐฯ และชาติยุโรป

ก่อนหน้านี้ อิรักไม่ได้กำหนดความผิดทางอาญาต่อกิจกรรมทางเพศของคนเพศเดียวกันอย่างชัดเจน แม้ว่าจะมีการใช้มาตราศีลธรรมที่กำหนดไว้อย่างหลวม ๆ ในประมวลกฎหมายอาญาเพื่อกำหนดเป้าหมายกลุ่ม LGBTQ และเคยเกิดกรณีที่ชาว LGBTQ ถูกกลุ่มสังหารเช่นกัน

ราชา ยูเนส รองผู้อำนวยการฝ่ายสิทธิ LGBTQ ขององค์กรฮิวแมนไรต์สวอตช์ กล่าวว่า “การที่รัฐสภาอิรักผ่านกฎหมายต่อต้าน LGBT ถือเป็นการตอกย้ำประวัติการละเมิดสิทธิของกลุ่ม LGBTQ ที่น่าตกใจของอิรัก และส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน”

ด้าน ราซอว์ ซาลิฮี จากแอมเนสตี อินเตอร์เนชันแนล บอกว่า “การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของ LGBTI ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และทำให้ชาวอิรักตกอยู่ในความเสี่ยง ซึ่งชีวิตของพวกเขาถูกไล่ล่าทุกวัน”

ในปีที่ผ่านมา พรรคการเมืองใหญ่ ๆ ของอิรักได้วิพากษ์วิจารณ์สิทธิของ LGBTQ มากขึ้น โดยธงสีรุ้งมักถูกเผาในการประท้วงโดยกลุ่มมุสลิมนิกายชีอะห์อนุรักษ์นิยม

ปัจจุบัน มีมากกว่า 60 ประเทศที่กำหนดความผิดทางอาญาสำหรับพฤติกรรมของคนรักเพศเดียวกัน ขณะที่มีกว่า 130 ประเทศรับรองหรือเปิดกว้างต่อความรักทุกรูปแบบ

'นายกฯ อิรัก' ลั่น!! ไม่ต้องการทหารสหรัฐฯ ในประเทศอีกต่อไป พร้อมระบุ!! อิรักสามารถรับมือกับกลุ่ม ISIS ได้ด้วยตนเอง

(17 ก.ย. 67) บลูมเบิร์ก รายงานว่า โมฮัมเหม็ด เชีย อัล-ซูดานี นายกรัฐมนตรีของอิรัก กล่าวว่า กองทัพสหรัฐฯ ไม่จำเป็นในประเทศของเขาอีกต่อไปแล้ว เนื่องจากพวกเขาประสบความสำเร็จเป็นส่วนใหญ่ในการปราบ ISIS และเขาวางแผนที่จะประกาศตารางเวลาการถอนกำลังทหารในเร็ว ๆ นี้

ปัจจุบัน สหรัฐฯ มีทหารประมาณ 2,500 นายในอิรัก ซึ่งเป็นมรดกจากกองกำลังผสมที่นำโดยสหรัฐฯ ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2014 เพื่อต่อสู้กับกลุ่มอิสลามที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ ISIS แม้ว่ากลุ่มนี้จะอ่อนแอกว่าเมื่อทศวรรษที่แล้วมากก็ตาม

สำหรับคำกล่าวในครั้งนี้ของนายกฯ อิรัก เป็นการตอกย้ำถึงจุดยืนของประเทศอีกครั้งในด้านความมั่นคง หลังจากเมื่อต้นปี สหรัฐฯ ได้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศใส่กองบัญชาการของกองกำลังระดมประชาชน (Popular Mobilization Forces) องค์กรร่ม (Umbrella Organization) ที่รัฐอิรักให้การสนับสนุน และประกอบด้วยกลุ่มก๊กติดอาวุธต่างๆ หลายสิบกลุ่ม จนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 2 ราย ซึ่งในเหตุโจมตีดังกล่าว ในนั้นรวมถึงมุชทาค ทาเลบ อัล-ไซดี ผู้นำกลุ่มฮะรอกัต ฮิซบุลเลาะห์ อัลนุจบา (Harakat Hezbollah al-Nujaba หรือ HHN) ที่วอชิงตันตราหน้าว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่ได้รับการหนุนหลังจากอิหร่าน

"กองกำลังระดมประชาชนเป็นตัวแทนในฐานะมีความเกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการกับรัฐ ขึ้นกับกองทัพของเรา และเป็นส่วนสำคัญของกองทัพของเรา" นายกฯ อิรักเน้นย้ำ "เราขอประณามการโจมตีนี้ที่เล็งเป้าหมายเล่นงานกองกำลังด้านความมั่นคงของเรา ซึ่งมีความสำคัญกว่าตัวอักษรและเจตนารมณ์ของคำสั่งจัดตั้งกองกำลังพันธมิตรนานาชาติ"

ขณะที่ เพนตากอน ได้เคยระบุถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า เป็นการกระทำที่จำเป็นและสมเหตุสมผล ท่ามกลางการโจมตีเล่นงานที่ตั้งทางทหารของอเมริการะลอกแล้วระลอกเล่าในภูมิภาค และแบกแดดเองเป็นฝ่ายเชิญกองกำลังอเมริกา ให้เข้าช่วยสู้รบกับกลุ่มก่อการร้ายรัฐอิสลาม (ไอเอส) 

ทั้งนี้ นายอัล-ซูดานี ยังระบุอีกว่า กลุ่มไอเอส ไม่ได้เป็นภัยคุกคามอิรักอีกต่อไป ขณะการเจรจายุติภารกิจต่อต้านกลุ่มไอเอสของแนวร่วมระหว่างประเทศที่นำโดยสหรัฐฯ ยังคงดำเนินต่อไป

30 ธันวาคม 2549 ประหารชีวิต ‘ซัดดัม ฮุสเซน’ อดีตประธานาธิบดีอิรัก

ย้อนกลับไปในอดีต ซัดดัม ฮุสเซน มีบทบาทสำคัญในการก่อรัฐประหารในอิรักเมื่อปี พ.ศ. 2511 ซึ่งทำให้พรรคบะอัธของเขาขึ้นสู่อำนาจ และเขาก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งรองประธานาธิบดี ก่อนจะขึ้นเป็นประธานาธิบดีในปี พ.ศ. 2522

ซัดดัมกลายเป็นที่จับตามองของโลกในช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซีย พ.ศ. 2534 เมื่ออิรักบุกยึดครองคูเวต ส่งผลให้เกิดสงครามกับประเทศพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐอเมริกา สงครามกินระยะเวลาประมาณ 5 สัปดาห์ และอิรักก็เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แม้ว่าสงครามจะสิ้นสุดในปี พ.ศ. 2538 แต่ผลพวงจากสงครามยังคงยืดเยื้อไปหลายปี

ซัดดัม ฮุสเซน กลายเป็นศัตรูสำคัญของสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2533 ถึงแม้ว่าในช่วงแรกสหรัฐฯ เคยช่วยอิรักในการทำสงครามกับอิหร่าน แต่เมื่อซัดดัมบุกยึดคูเวตเพื่อใช้แหล่งน้ำมันกระตุ้นเศรษฐกิจที่ถดถอยจากสงครามยาวนานกับอิหร่าน การกระทำนี้ถูกประณามจากนานาชาติและนำไปสู่การคว่ำบาตร รวมถึงการเริ่มต้นสงครามอ่าวเปอร์เซียในวันที่ 16 มกราคม 1991 เมื่อสหประชาชาติอนุมัติการใช้กำลังเพื่อลงโทษอิรัก

สงครามสิ้นสุดใน 6 สัปดาห์ เมื่อกองกำลังพันธมิตรสามารถขับไล่อิรักออกจากคูเวต หลังจากนั้น ซัดดัมตอบโต้การก่อจลาจลจากกลุ่มชีอะฮ์และชาวเคิร์ดด้วยการใช้กำลังอย่างรุนแรง

ภายใต้ข้อตกลงหยุดยิง อิรักถูกห้ามผลิตอาวุธเคมี ชีวภาพ และนิวเคลียร์ แต่การที่อิรักไม่ให้ความร่วมมือกับการตรวจสอบของสหประชาชาติ ทำให้สหรัฐฯ และอังกฤษใช้เหตุผลนี้ในการโจมตีทางอากาศในปี 1998 พร้อมกับประกาศสนับสนุนกลุ่มที่ต้องการโค่นล้มซัดดัม

หลังเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 สหรัฐฯ พยายามเชื่อมโยงซัดดัมกับกลุ่มก่อการร้ายและยืนยันในการปลดอาวุธรัฐบาลซัดดัม ในปี 2002 ซัดดัมยินยอมให้ฝ่ายตรวจสอบจากยูเอ็นเข้าประเทศ แต่ไม่ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ทำให้สหรัฐฯ และอังกฤษไม่พอใจและตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิรัก

วันที่ 17 มีนาคม 2003 จอร์จ ดับเบิลยู บุช ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ข่มขู่ให้ซัดดัมลงจากตำแหน่งภายใน 48 ชั่วโมง หากไม่เช่นนั้นจะประกาศสงคราม และเมื่อซัดดัมปฏิเสธ สหรัฐฯ และพันธมิตรจึงเปิดฉากโจมตีอิรักในวันที่ 20 มีนาคม

การโจมตีอย่างหนักทำให้ซัดดัมต้องหลบหนีพร้อมกับสมบัติของชาติ แต่ลูกชายของเขาสองคนถูกฆ่าตายในเมืองโมซุลเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2546 จนกระทั่งวันที่ 13 ธันวาคม ซัดดัมถูกจับกุม

ซัดดัมถูกนำตัวขึ้นศาลพิเศษในปี 2548 และถูกกล่าวหาว่าสั่งสังหารชาวชีอะห์ 148 คนในเมืองอัล-ดูจัย์ล ในเดือนกรกฎาคม 2549 ศาลตัดสินให้เขามีความผิดในข้อหาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และสั่งประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top