‘ปูติน’ ลั่น!! ไม่ยอมให้ ‘ยูเครน’ มีอาวุธนิวเคลียร์ แม้นักวิชาการตะวันตก จะออกมาให้การสนับสนุน
(18 พ.ย. 67) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวจากทางฝากยูเครนว่าเจ้าหน้าที่บางคนในเคียฟของยูเครนกำลังคิดใคร่ครวญในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์มาเพื่อต่อกรกับทางรัสเซีย สถานการณ์ดังกล่าวเริ่มจากความเสี่ยงที่โดนัลด์ ทรัมป์ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯอาจยุติการสนับสนุนของวอชิงตันต่อยูเครน ส่งผลให้ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกีต้องดิ้นรนหาทางออกในการป้องปรามรัสเซียด้วยอาวุธนิวเคลียร์ ทั้งนี้แนวโน้มของสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเดือนก่อนประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกีกล่าวในเดือนตุลาคมว่าเขาได้บอกกับทรัมป์ระหว่างการประชุมเมื่อเดือนกันยายนที่นิวยอร์กว่ายูเครนจะเข้าร่วมกับ NATO หรือไม่ก็พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งเซเลนสกีอ้างว่าทรัมป์ได้ยินเขาแล้ว และกล่าวว่า ‘เป็นการตอบโต้ที่ยุติธรรม’ อย่างไรก็ตาม คำแถลงของเซเลนสกีทำให้เกิดการคาดเดาว่าโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของยูเครนจะเป็นไปได้จริงหรือไม่จากมุมมองทางเทคโนโลยีและการเมือง จากการที่ติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนมาอย่างยาวนาน วันนี้ผมจะมาไขข้อสงสัยข้อนี้ให้ทุกท่านได้ทราบกัน
หลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ.1991 ยูเครนได้รับมรดกจากคลังแสงนิวเคลียร์ที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก อย่างไรก็ตามภายใต้บันทึกข้อตกลงบูดาเปสต์ปี ค.ศ. 1994 เคียฟยอมจำนนต่อตะวันตกโดยยอมปลดอาวุธนิวเคลียร์ของตนเพื่อแลกกับการรับประกันความปลอดภัยจากสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักรและรัสเซีย ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาบันทึกข้อตกลงบูดาเปสต์ถูกโจมตีเนื่องจากรัสเซียละเมิดโดยการรุกรานยูเครนอย่างเปิดเผยโดยที่สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรไม่สามารถรับประกันความมั่นคงของยูเครนได้ แม้ว่าพวกเขาได้จัดหาอาวุธจำนวนมหาศาลให้กับเคียฟ หลังจากการรุกรานเต็มรูปแบบของรัสเซียเริ่มขึ้นในต้นปี ค.ศ. 2022 ในทางการเมืองเคียฟจะต้องเผชิญกับความยากลำบากอย่างมากหากตัดสินใจผลิตอาวุธนิวเคลียร์เพื่อใช้เป็นเครื่องป้องปรามรัสเซีย โดยอาจต้องเผชิญหน้ากับการตอบโต้ครั้งใหญ่จากพันธมิตรตะวันตกที่กองทัพยูเครนต้องพึ่งพาอาวุธธรรมดาเพื่อต่อสู้กับการรุกรานเต็มรูปแบบของรัสเซียซึ่งขณะนี้เข้าสู่ปีที่สามแล้ว
นักวิชาการตะวันตกหลายคนออกมาสนับสนุนยูเครนให้มีอาวุธนิวเคลียร์เพื่อป้องปรามการรุกรานจากรัสเซีย ยกตัวอย่างเช่น คลอส มาธีเซน (Claus Mathiesen) อาจารย์ประจำสถาบันกลาโหมแห่งเดนมาร์กและอดีตผู้ช่วยทูตทหารประจำยูเครน กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “เห็นได้ชัดว่าอาวุธนิวเคลียร์ก่อนหน้านี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการป้องปราม แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นเครื่องมือที่น่ารังเกียจ โดยรัสเซียยึดครองดินแดนยูเครนได้ประมาณ 100,000 ตารางกิโลเมตร และกำลังขู่ว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์โจมตียูเครน หากดินแดนเหล่านี้ถูกยึดไป ความเป็นไปได้ประการหนึ่งสำหรับยูเครน คือการตอบโต้การป้องปราม โดยการจัดหาอาวุธนิวเคลียร์ด้วยตัวเอง” ดร.เจนนี มาเทอร์ส (Jenny Mathers) อาจารย์ด้านการเมืองระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยอาเบอริสต์วิธในสหราชอาณาจักร กล่าวว่าเซเลนสกี "แสดงเหตุผลที่ดีว่าทำไมรัฐต่างๆ มากมายจึงพยายามแสวงหาอาวุธนิวเคลียร์ ... เพราะอาวุธนิวเคลียร์ถูกมองว่าเป็นผู้รับประกันความปลอดภัยขั้นสูงสุดจากการโจมตีโดยตรงโดยรัฐที่มีอำนาจมากกว่า แม้ว่าอาวุธนิวเคลียร์จะมีประโยชน์เพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยในสนามรบ และไม่ได้ป้องกันรัฐที่ครอบครองอาวุธเหล่านั้นจากการพ่ายแพ้ทางทหารด้วยน้ำมือของฝ่ายตรงข้ามที่ไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์” เจริ ลาวิไคเนน (Jyri Lavikainen) ผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องปรามด้วยนิวเคลียร์ที่สถาบันกิจการระหว่างประเทศแห่งฟินแลนด์ เชื่อว่า “ยูเครนจำเป็นต้องมีการป้องปรามด้วยนิวเคลียร์เพื่อประกันความมั่นคงที่ยั่งยืน ...การตัดสินใจของรัสเซียที่จะโจมตียูเครนและใช้มาตรการบังคับทางนิวเคลียร์นับตั้งแต่วันแรกของการรุกราน ได้เผยให้เห็นถึงอันตรายของการถูกทิ้งไว้นอกร่มนิวเคลียร์ ...การป้องปรามด้วยนิวเคลียร์เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อตอบโต้การบังคับขู่เข็ญด้วยนิวเคลียร์ อย่างไรก็ตาม อกาสที่ดีที่สุดสำหรับยูเครนที่จะได้รับผลประโยชน์จากการป้องปรามด้วยนิวเคลียร์คือการเข้ารับเป็นสมาชิกของ NATO โดยเร็วที่สุด”
แม้ว่าในปัจจุบันยูเครนจะไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ แต่ก็ไม่ใช่มือใหม่ในอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ ในสมัยสหภาพโซเวียต โรงงานพิฟเดนมาช (Pivdenmash) ในเมืองดนีโปร (Dnipro) ของยูเครนผลิตขีปนาวุธที่สามารถบรรทุกหัวรบนิวเคลียร์ได้ในขณะที่โรงงานเคมีปรีดนิพรอฟสกี้ (Prydniprovsky Chemical Plant) ในเมืองคาเมียนสค์ (Kamianske) แคว้นดนีโปรเปตรอฟสค์เป็นหนึ่งในกระบวนการแปรรูปแร่ยูเรเนียมสำหรับโครงการนิวเคลียร์ของสหภาพโซเวียต โดยเป็นผู้เตรียมเยลโลว์เค้กซึ่งเป็นขั้นตอนกลางในการแปรรูปแร่ยูเรเนียม นอกจากนี้ยังมีแหล่งสะสมยูเรเนียมในโชฟติ โวดี (Zhovti Vody) ในแคว้นดนีโปรเปตรอฟสค์อีกด้วย ยูเครนยังมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สี่แห่งในแคว้นซาโปริซเซีย, ริฟเน, คเมลนีตสกี และแคว้นมิโคลายิฟ แม้ว่าปัจจุบันโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในแคว้นซาโปริซเซียอยู่ภายใต้การยึดครองของรัสเซีย
คำถามที่ว่ายูเครนสามารถผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้หรือไม่นั้น ปัจจุบันยูเครนไม่ได้ผลิตขีปนาวุธนิวเคลียร์แต่มันก็เป็นเรื่องง่ายสำหรับเคียฟที่จะสร้างมันขึ้นมา โรเบิร์ต เคลลี่ (Robert Kelley) วิศวกรที่มีประสบการณ์มากกว่า 35 ปีในศูนย์อาวุธนิวเคลียร์ของกระทรวงพลังงานกล่าวว่า “เป็นไปได้ที่ยูเครนจะสร้างระเบิดฟิชชันยูเรเนียมแบบดั้งเดิมภายในห้าปี..มันค่อนข้างง่ายที่จะทำในศตวรรษที่ 21 การสร้างระเบิดฟิชชันพลูโทเนียมของยูเครนจะยากกว่า และมันจะยากต่อการซ่อนด้วย โดยจะใช้เวลาห้าถึง 10 ปีในการสร้างเครื่องปฏิกรณ์พลูโตเนียม” เขายังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ยูเครนอาจจะสามารถสร้างอุปกรณ์นิวเคลียร์ที่ยังไม่ได้ผ่านกระบวนการพัฒนาใดๆ โดยไม่ได้รับความช่วยเหลือจากประเทศอื่น สำหรับอาวุธนิวเคลียร์ที่ซับซ้อนกว่านี้ จะต้องซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ของรัสเซียและผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ชาวยูเครนต่างยืนยันว่ายูเครนมีความสามารถในการผลิตระเบิดนิวเคลียร์ โดยเสริมว่าอาจต้องใช้เวลาหลายปี” เจริ ลาวิไคเนน (Jyri Lavikainen) กล่าวว่า“ยูเครนจะมีความรู้และทรัพยากรที่จะกลายเป็นรัฐอาวุธนิวเคลียร์อย่างแน่นอน หากยูเครนตัดสินใจทำเช่นนั้น”เทคโนโลยีที่ต้องการนั้นอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมสำหรับหลายประเทศ และแน่นอนว่าไม่ใช่สำหรับยูเครน เนื่องจากเป็นที่ตั้งองค์ประกอบสำคัญของศูนย์อาวุธนิวเคลียร์ของโซเวียต ตอนที่ยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต” “...ยูเครนสามารถพัฒนาทั้งหัวรบนิวเคลียร์และยานพาหนะบรรทุกได้ เนื่องจากมีอุตสาหกรรมทางทหาร แหล่งสะสมยูเรเนียม และภาคพลังงานนิวเคลียร์ที่จำเป็น”
นิโคไล โซคอฟ (Nikolai Sokov) เจ้าหน้าที่อาวุโสของศูนย์การลดอาวุธและการไม่แพร่ขยายแห่งกรุงเวียนนา (the Vienna Center for Disarmament and Non-Proliferation) ให้ความเห็นว่า สำหรับยูเครนการสร้างระเบิดนิวเคลียร์ "ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้แต่จะต้องใช้เวลาหลายปี เงินจำนวนมาก และมีแนวโน้มว่าจะต้องได้รับการสนับสนุนจากภายนอก อย่างน้อยก็ในด้านอุปกรณ์"” “ยูเครนไม่มีความสามารถทางอุตสาหกรรมในการผลิตและบำรุงรักษาคลังแสงนิวเคลียร์ ไม่มีวัสดุฟิสไซล์ ความสามารถในการเสริมสมรรถนะ การผลิตพลูโตเนียม และองค์ประกอบส่วนใหญ่ที่นำไปใช้ในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์” ในขณะที่ลิวิว โฮโรวิตซ์ (Liviu Horovitz) ผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องปรามนิวเคลียร์แห่งสถาบันกิจการระหว่างประเทศและความมั่นคงแห่งเยอรมนี (the German Institute for International and Security Affairs) กล่าวด้วยว่ายูเครนจะต้องเผชิญกับความท้าทายหากตัดสินใจสร้างระเบิดนิวเคลียร์ เพราะโครงการอาวุธนิวเคลียร์ดังกล่าวอาจมีต้นทุนหลายพันล้านดอลลาร์ โดยโครงการระเบิดนิวเคลียร์แบบดั้งเดิมที่สุดที่เน้นไปที่เครื่องหมุนเหวี่ยงยูเรเนียมอาจมีราคาประมาณ 100 ล้านดอลลาร์ โครงการระเบิดพลูโตเนียมจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์)
ในขณะเดียวกันการโจมตีทางอากาศของรัสเซียเป็นภัยคุกคามต่อโรงงานนิวเคลียร์ของยูเครน รัสเซียซึ่งมีคลังแสงมากมายทั้งขีปนาวุธธรรมดาและขีปนาวุธแบบธรรมดา สามารถโจมตีโรงงานใดๆ ของยูเครนที่พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่ยูเครนจะสามารถดำเนินโครงการนี้สำเร็จได้ตราบใดที่สงครามยังดำเนินต่อไป โดยรัสเซียจะดำเนินการโจมตีสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาวุธนิวเคลียร์โดยเร็วที่สุดเท่าที่สามารถระบุได้เพื่อขัดขวางโครงการนิวเคลียร์รวมถึงการก่อวินาศกรรมและการลอบสังหารด้วย ซึ่งคล้ายกับการขัดขวางโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านโดยการลอบสังหารนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ชาวอิหร่าน 5 คน ระหว่างปีค.ศ. 2010 – 2020 โดยอิสราเอล
นอกจากนี้การสร้างระเบิดนิวเคลียร์อาจส่งผลกระทบทางการเมืองของยูเครน โดยยูเครนเป็นผู้ลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ และการถอนตัวออกจากสนธิสัญญาจะทำให้เกิดการตอบโต้จากทั้งสหรัฐฯ และพันธมิตรในยุโรปของยูเครน สนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์เป็นรากฐานสำคัญของนโยบายนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ และพันธมิตรอื่นๆ ทุกรายของยูเครน โครงการอาวุธนิวเคลียร์จะเป็นอันตรายต่อความสัมพันธ์กับหุ้นส่วนชาวตะวันตกของยูเครน ดังนั้นพันธมิตรของยูเครนจึงมีแนวโน้มที่จะกดดันให้ยุติโครงการทันทีที่ถูกค้นพบ สหรัฐอเมริกา ตะวันตก และประชาคมระหว่างประเทศส่วนใหญ่จะต่อต้านยูเครนหรือรัฐอื่นๆ ที่ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์หากแสวงหาเพื่อครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ และจะตอบโต้โดยการคว่ำบาตรยูเครนทั้งทางการฑูตและเศรษฐกิจเช่นเดียวกันกับกรณีของอิหร่าน
นอกจากนี้นักวิเคราะห์ชาวตะวันตกยังมีแนวโน้มในการตีความการดำเนินโครงการนิวเคลียร์ของยูเครนว่าเป็นการยกระดับสงครามครั้งใหญ่ โดยมองว่าโครงการนิวเคลียร์ของยูเครนจะยิ่งนำไปสู่ความไม่มั่นคง และเพิ่มความเสี่ยงที่จะขยายสงครามไปสู่ระดับการทำลายล้างที่มากยิ่งขึ้น พันธมิตรตะวันตกอาจจะหยุดให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครน หากยูเครนเริ่มพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ เพราะมันขัดต่อความคิดเห็นของสาธารณชนภายในประเทศ
มิคาอิล โปโดเลียกที่ปรึกษาระดับสูงของเซเลนสกีกล่าวอย่างชัดเจนว่าแม้จะติดอาวุธปรมาณู เคียฟก็ไม่สามารถขัดขวางรัสเซียได้ อาวุธนิวเคลียร์ในคลังแสงของยูเครนจะไม่มีอำนาจที่จะหยุดยั้งรัสเซีย ซึ่งมีข้อได้เปรียบทางการทหารอย่างท่วมท้น เขาโพสต์ลงบนทเลแกรมเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน 2024 ที่ผ่านมา “...แม้ว่ายูเครนจะต้องสร้างอาวุธนิวเคลียร์ในอนาคตอันใกล้นี้ ..แต่ก็ไม่สามารถขัดขวางจักรวรรดิรัสเซียที่มีคลังแสงนิวเคลียร์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกได้...”
ตามเอกสารของสถาบัน think tank ของยูเครนซึ่งร่วมเขียนโดยโอเล็กซี ยิจฮัก (Oleksii Yizhak) เจ้าหน้าที่จากสถาบันการศึกษายุทธศาสตร์แห่งชาติของยูเครน เชื่อว่าพวกเขาจะสามารถสร้างระเบิดปรมาณูที่ใช้พลูโทเนียมได้ภายในไม่กี่เดือน คล้ายกับระเบิดปรมาณูที่สหรัฐฯ ทิ้งที่นางาซากิในปี ค.ศ. 1945 โดยใช้พลูโทเนียมจากแท่งเครื่องปฏิกรณ์เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ใช้แล้ว เอกสารดังกล่าวซึ่งอ้างโดยหนังสือพิมพ์ The Times ของอังกฤษ ระบุว่าเคียฟสามารถควบคุมเครื่องปฏิกรณ์ที่ปฏิบัติการได้ 9 เครื่องและสิ่งนี้จะทำให้ยูเครนสามารถเรียกพลูโตเนียมได้เจ็ดตัน ซึ่งสามารถสร้างหัวรบที่มีน้ำหนักทางยุทธวิธีหลายกิโลตัน ยูเครนสามารถใช้อาวุธดังกล่าวทำลายฐานทัพอากาศรัสเซียทั้งหมด หรือสถานที่ปฏิบัติงานนอกชายฝั่งทางทหาร อุตสาหกรรมหรือโลจิสติกส์” อย่างไรก็ตาม กีออร์จี้ ทีคี (Heorhii Tykhyi) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศยูเครน ตอบโต้คำกล่าวอ้างที่ว่าเคียฟสามารถพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์ได้ภายในไม่กี่เดือน “...เราไม่ได้ครอบครอง พัฒนา หรือตั้งใจที่จะรับอาวุธนิวเคลียร์ ยูเครนทำงานอย่างใกล้ชิดกับ IAEA และมีความโปร่งใสในการตรวจสอบ ซึ่งห้ามการใช้วัสดุนิวเคลียร์เพื่อวัตถุประสงค์ทางทหาร”
ท้ายที่สุดแล้วประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินแห่งรัสเซียคงไม่ยอมให้ยูเครนมีอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในครอบครอง โดยเขากล่าว่า “การสร้างอาวุธนิวเคลียร์ในโลกสมัยใหม่นั้นไม่ใช่เรื่องยาก ...ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม มอสโกจะไม่ยอมให้ยูเครนมีอาวุธนิวเคลียร์” ความเคลื่อนไหวใดๆ ก็ตามของยูเครนเพื่อให้ได้อาวุธนิวเคลียร์ไม่สามารถปกปิดได้และจะได้รับการตอบโต้ที่เหมาะสมจากรัสเซีย
