Tuesday, 22 April 2025
อาจารย์อุ๋ย

‘อ.อุ๋ย ปชป.’ แนะ!! นายกฯ สานต่อ ‘คนละครึ่ง-เราเที่ยวด้วยกัน’  แทนการผลักดันเงินดิจิทัล ที่ไม่รู้ว่าจะได้เมื่อไรและเสี่ยงผิดกม. 

(8 ก.พ.67) จากกรณีที่ ป.ป.ช. ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับโครงการเงินดิจิทัลของรัฐบาลนายกเศรษฐา ว่าต้องระมัดระวังด้านข้อกฎหมายหลายประการ ซึ่งมีโอกาสจะทำให้โครงการเงินดิจิทัลต้องล่าช้าออกไปอย่างไม่มีกำหนด นั้น นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย อดีตผู้สมัคร สส. กรุงเทพมหานคร เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ให้ความเห็นว่า ตนเพิ่งได้ลงพื้นที่สำรวจกิจกรรมทางเศรษฐกิจระดับฐานรากในพื้นที่เขตบางกะปิ เช่น บริเวณตลาดนัดการกีฬาแห่งประเทศไทย ซอยมหาดไทย (รามคำแหง 65) และย่านการค้าหน้าและหลังมหาวิทยาลัยรามคำแหง พบว่าปัญหาส่วนใหญ่ของประชาชนคือ การขาดเงินหมุนเวียนระยะสั้นเพื่อนำมาจับจ่ายใช้สอย บวกกับหนี้ครัวเรือนที่พุ่งขึ้นสูง ทำให้ต้องจำกัดการใช้จ่ายเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น เช่น อาหารการกินราคาประหยัด ค่าเดินทาง ค่าโทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต ค่ารักษาพยาบาล ฯลฯ ทำให้สินค้าและบริการอย่างอื่นขายแทบไม่ได้เลย ต้องทยอยปิดตัวเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลให้เกิดการว่างงานเพิ่มมากขึ้น 

ดังนั้นรัฐบาลควรเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากโดยเร็ว หากจะรอให้โครงการเงินดิจิทัล ซึ่งยังติดขัดข้อกฎหมายอีกหลายประการ ยังขาดความชัดเจนว่าจะเริ่มได้เมื่อไหร่ ก็อาจจะไม่ทันการกับความต้องการของประชาชน ตนจึงเสนอให้รัฐบาลสานต่อโครงการคนละครึ่ง ซึ่งทำให้เกิดภาระทางการคลังน้อยกว่าเพราะรัฐบาลออกเงินเพียงครึ่งเดียวของราคาสินค้าและบริการ นำเม็ดเงินเข้าสู่ผู้ประกอบการโดยตรงและพุ่งเป้าไปที่คนที่ต้องการใช้เงินจริงๆ นอกจากนี้ระบบต่างๆ ของโครงการคนละครึ่งได้ถูกวางไว้เรียบร้อยแล้ว โดยไม่ปรากฏข้อติดขัดทางกฎหมาย พร้อมใช้งานได้ทันที ดีกว่าที่จะรอโครงการเงินดิจิทัล ซึ่งไม่รู้จะได้ใช้เมื่อไหร่ และต้องเสียเวลากับการออกแบบโครงสร้างระบบอีก 

นอกจากนี้อีกไม่กี่เดือนก็จะเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ ซึ่งรัฐบาลคิดจะฉลองยาวถึง 21 วัน ตนก็คิดว่าเป็นโอกาสอันดีที่รัฐบาลชุดปัจจุบันจะสานต่อโครงการ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายส่งเสริม Soft Power ที่รัฐบาลกำลังผลักดันอยู่เช่นกัน 

ทั้งนี้ตนเชื่อว่าหากนายกเศรษฐาและรัฐบาลสานต่อทั้งสองโครงการของรัฐบาลชุดที่แล้ว จะได้รับเสียงชื่นชมจากประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายอย่างแน่นอน เพราะแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลยึดถือประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศเป็นสำคัญอยู่เหนือสิ่งอื่นใด

‘อาจารย์อุ๋ย’ เตือน!! ‘นักการเมือง’ พยายามจะเข้าเยี่ยม ‘ทักษิณ’ ชี้!! ขัดประมวลจริยธรรม ซ้ำ!! ‘พักโทษ’ ไม่ได้แปลว่า ‘บริสุทธิ์’

เมื่อวานนี้ (18 ก.พ.67) นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการอิสระด้านกฎหมาย โพสต์เฟสบุ๊กแสดงความเห็นว่า…

“เห็นมีกระแสข่าวว่านักการเมืองบางคนโดยเฉพาะฝ่ายรัฐบาลแสดงความกระเหี้ยนกระหือรือจะไปเข้าเยี่ยม/ขอคำปรึกษาจากคุณทักษิณที่บ้านจันทร์ส่องหล้ากันใหญ่ ซึ่งผมเห็นแล้วไม่สบายใจอย่างมาก 

ประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2564 ข้อ 10 (9) กำหนดว่า ข้าราชการการเมืองจะต้องไม่คบหาหรือให้การสนับสนุนแก่ผู้ประพฤติผิดกฎหมาย ผู้มีอิทธิพล หรือผู้มีความประพฤติ หรือมีชื่อในทางเสื่อมเสีย อันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชน

ในพระราชหัตถเลขาอภัยโทษ กล่าวไว้ชัดแจ้งว่าคุณทักษิณยอมรับว่าได้กระทำความผิดฐานทุจริตจริงตามคำพิพากษา และได้สำนึกผิดแล้ว ประเด็นที่ว่าคุณทักษิณผิดจริงหรือไม่จึงยุติโดยสิ้นเชิง ไม่ต้องโต้แย้งกันอีกว่าเป็นเพราะรัฐประหารหรือถูกกลั่นแกล้ง และการได้รับการอภัยโทษหรือพักโทษ ก็ไม่ได้แปลว่าคุณทักษิณจะกลายเป็น ‘ผู้บริสุทธิ์’ เพราะนี่เป็นส่วนหนึ่งของรับโทษทัณฑ์ สิ่งที่คุณทักษิณทำไปนั้นผิดกฎหมายบ้านเมืองอย่างชัดแจ้ง ซึ่งต่างจากการนิรโทษกรรมที่จะทำให้สิ่งที่กระทำกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีความผิด

ดังนั้นจึงต้องถือว่าคุณทักษิณเป็น ‘ผู้ประพฤติผิดกฎหมาย’ และเป็น ‘ผู้มีชื่อในทางเสื่อมเสีย’ อันอาจกระทบต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชน ซึ่งหากข้าราชการการเมืองคนใดไปคบหาหรือให้การสนับสนุน ก็จะต้องกลายเป็นผู้กระทำผิดประมวลจริยธรรมข้างต้น และอาจเป็นสารตั้งต้นในการถูกดำเนินคดีทางจริยธรรมต่อไป

ผมจึงอยากฝากให้นักการเมืองทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่มีตำแหน่งแห่งหน ว่าคิดจะทำอะไร หัดเกรงอกเกรงใจประชาชนด้วยครับ

ด้วยความปรารถนาดี”

'อ.อุ๋ย-ปชป.' ชี้ ศึกสองบิ๊กตำรวจ แค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง  ยังมีปมอีกมากที่อยู่ใต้น้ำ แนะ!! ดึง ปชช.ร่วมตรวจสอบกาะทำงาน 

(24 มี.ค.67) นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการด้านกฎหมายและอดีตผู้สมัคร ส.ส. กทม เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความเห็นกรณีความขัดแย้งระหว่าง ผบ.ตร และรอง ผบ.ตร. จนสุดท้ายทำให้นายกรัฐมนตรีต้องเข้ามาหย่าศึก โดยการสั่งย้ายทั้งสองคนกลับเข้าสำนักนายก ฯ ว่า...

กรณีการสั่งย้ายดังกล่างเป็นแค่การลูบหน้าปะจมูก เพื่อแก้ปัญหาหาเฉพาะหน้าให้จบ ๆ ไปเท่านั้น เพราะความขัดแย้งระหว่างสองบิ๊กตำรวจ เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่ออกมาพ้นน้ำให้เห็นเพียงเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น ยังมีอีกมากที่อยู่ใต้น้ำ ซึ่งต้องรอการสะสาง ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาการวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่ง ปัญหาการรับส่วยสินบน ปัญหาการไม่รับแจ้งความ ปัญหาเกี่ยวกับขอบเขตการใช้กำลังในการปฏิบัติหน้าที่ ฯลฯ ซึ่งตนขอเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น ดังนี้...

1. ค่าตอบแทนและสวัสดิการของตำรวจ ต้องเพียงพอให้ดำรงชีพได้อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ต้องหาเศษหาเลย โดยเฉพาะระดับปฏิบัติการ ค่าใช้จ่ายในการทำงานต้องเบิกได้เต็มจำนวน
2. ต้องใช้ระบบคุณธรรมในการเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง ใครทำดี บำบัดทุกข์บำรุงสุขเพื่อประชาชนต้องได้ดี ใครทำชั่วทุจริตกินสินบาทคาดสินบนต้องได้ชั่ว (ถูกลงโทษ)  
3. กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น หรือหน่วยงานอื่นที่เชี่ยวชาญกว่า (Decentralization) เช่น การสอบสวน ควรให้อัยการเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เพื่อแบ่งเบาภาระและตรวจสอบถ่วงดุล รวมทั้งการย้ายภาระงานบางส่วนให้ อปท. เช่น งานจราจร หรือคดีที่มีโทษเล็กน้อยหรือปรับเพียงสถานเดียว โดยใช้วิธีกระจายอำนาจอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพิ่มอัตรากำลังและค่าตอบแทนพนักงานสอบสวนที่มีความรู้กฎหมายระดับเนติบัณฑิต
4. ออกกฎหมายกำหนดขอบเขตการใช้กำลังและหลักการการใช้กำลังขั้นถึงตาย (Use of Deadly Force) แยกต่างหากไปจากการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายของประชาชน เพื่อคุ้มครองตำรวจจากการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อทำให้ตำรวจมีความมั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่มากขึ้นเพื่อคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน
5. เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมีส่วนในการตรวจสอบการทำงานของตำรวจมากขึ้น สร้างระบบให้ประชาชนสามารถรีวิว (Review) การทำงานของตำรวจได้ และมีผลต่อการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง 

ทั้งนี้ย้ำว่าที่ตนเสนอมาเป็นเพียงข้อเสนอแนะในกรอบกว้าง ๆ เท่านั้น เพราะตนเชื่อว่าทุกคนในแวดวงตำรวจรู้ปัญหาและรู้วิธีแก้ไขอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามีความกล้าที่จะลงมือทำหรือไม่ สุดท้ายแล้วตำรวจต้องตรวจสอบอยู่เสมอว่าประชาชนต้องการอะไรจากตำรวจ จากนั้นตำรวจจะต้องปรับปรุงตนเองเพื่อตอบสนองความต้องการนั้นให้ได้ ต้องพิจารณาให้ดีว่าประเทศไทย คนไทยต้องการอะไร และอยากจะปรับปรุงตำรวจไปในทิศทางไหน แล้วเลือกวิถีทางของตัวเอง

'อาจารย์อุ๋ย-ปชป.' จี้!! ทบทวน ‘คาสิโนถูกกฎหมาย’ บ่อนทำลายพระพุทธศาสนา-ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 67

(5 มิ.ย.67) จากกรณีล่าสุดที่โครงการสถานบันเทิงครบวงจร หรือ Entertainment Complex ซึ่งจะมีการเปิดคาสิโน หรือบ่อนพนันถูกกฎหมายเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในอีกสองสัปดาห์นั้น นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการด้านกฎหมายและอดีตผู้สมัคร สส. กรุงเทพมหานคร เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กว่า...

รัฐธรรมนูญ 2560 หมวด 6 มาตรา 67 วรรค 2 กำหนดให้รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาทเพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทําลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด

นอกจากนี้ ในสิงคาลกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง 11/182/140 ยังกำหนดโทษของการพนันไว้ 6 ประการว่า 'โทษในการประกอบเนือง ๆ ซึ่งการพนัน อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ผู้ชนะย่อมก่อเวร 1 ผู้แพ้ย่อมเสียดายทรัพย์ที่เสียไป 1 ความเสื่อมทรัพย์ในปัจจุบัน 1 ถ้อยคำของคนเล่นการพนัน ซึ่งไปพูดในที่ประชุม ฟังไม่ขึ้น 1 ถูกมิตรอมาตย์หมิ่นประมาท 1 ไม่มีใครประสงค์จะแต่งงานด้วย 1' และการพนันยังเป็นหนึ่งในอบายมุข 6 ซึ่งหมายถึงวิถีชีวิต 6 อย่าง แห่งความโลภ และความหลงที่ทำให้เกิดความเสื่อม ความฉิบหายของชีวิต อันประกอบด้วย การดื่มน้ำเมา เที่ยวกลางคืน เที่ยวดูดการละเล่น เล่นการพนัน คบคนชั่วเป็นมิตร และเกียจคร้านการงาน 

ดังนั้น การที่รัฐบาลพยายามผลักดันให้มีบ่อนการพนันถูกกฎหมาย อันเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนกระทำในสิ่งที่ขัดต่อหลักธรรมของพระพุทธศาสนา ทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมถอยลง แทนที่จะส่งเสริมและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ จึงเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าว 

นอกจากนี้หากจะอ้างเรื่องเศรษฐกิจเป็นเหตุผลในการทำคาสิโนถูกกฎหมายตามโมเดล มาเก๊า สิงคโปร์ หรือกัมพูชานั้น ผมมองว่า ฟังไม่ขึ้น เพราะมาเก๊าและ สิงคโปร์ก็เป็นเกาะเล็ก ๆ ไม่มีทรัพยากร ส่วนประเทศไทยมีของดีและสถานที่ดี ๆ มากมายที่หากมีการพัฒนาและบริหารจัดการอย่างเป็นระบบแล้วจะสามารถดึงดูดนักลงทุนและนักท่องเที่ยวได้อีกมาก โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งบ่อนการพนัน ส่วนกัมพูชาก็มีบ่อนปอยเปตมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 แต่ก็ไม่ได้ทำให้ระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 

ผมจึงอยากฝากให้รัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลคิดให้รอบด้าน นอกเหนือไปจากการกดเครื่องคิดเลขเพื่อหาตัวเลขทางเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว เพราะความสูญเสียทางสังคม ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาหนี้ครัวเรือน ฯลฯ ที่อาจจะเกิดจากการมีบ่อนคาสิโน เป็นสิ่งที่ไม่อาจประเมินเป็นตัวเงินได้ และไม่สามารถเยียวยาแก้ไขให้กลับเป็นดังเดิมได้ในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งผู้ที่จะแบกรับปัญหาเหล่านี้ก็คือลูกหลานของเราและของท่านผู้อนุมัติโครงการนี้นั่นเอง ด้วยความปรารถนาดี

'อาจารย์อุ๋ย ปชป.' ยินดี!! ไทยสมัครเป็นสมาชิก BRICS สะท้อนการรับมือระเบียบโลกใหม่จากหลายขั้วได้อย่างเหมาะสม

(19 มิ.ย. 67) จากกรณีที่ประเทศไทยได้แสดงเจตจำนงที่จะเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่ม BRICS เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา นั้น นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการด้านกฎหมายและอดีตผู้สมัคร สส.กรุงเทพมหานคร เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

ผมเห็นด้วยและขอแสดงความยินดีกับการที่ไทยแสดงความจำนงเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันของประเทศตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ ซึ่งจนถึงปัจจุบันประกอบด้วย บราซิล, อินเดีย, จีน, แอฟริกาใต้, อิหร่าน, อียิปต์, เอธิโอเปีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วมีขนาดเศรษฐกิจถึงร้อยละ 28.3 ของโลก และมีจำนวนประชากร ร้อยละ 45.5 ของประชากรโลก โดยรัฐสมาชิกจะยึดถือหลักการความเสมอภาค มีผลประโยชน์ร่วมกัน และไม่แทรกแซงกิจการภายใน ซึ่งสอดคล้องกับหลักการที่บัญญัติไว้ในกฎบัตร ASEAN 

โดยการเป็นสมาชิกนี้จะทำให้ไทยได้ประโยชน์ในหลายด้าน อาทิเช่น ยกระดับบทบาทของไทยในเวทีโลก เพิ่มบทบาทของไทยในการกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และเพิ่มโอกาสของไทยในการมีส่วนร่วมสร้างระเบียบโลกใหม่ที่มีความยุติธรรมมากขึ้น เพื่อยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า ทุนสำรอง การสื่อสารข้อมูล คุ้มครองการลงทุน ส่งเสริมการลงทุน ทลายกำแพงการค้า (Trade Barrier) และค้าขายด้วยสกุลเงินอื่นนอกเหนือจากดอลลาร์สหรัฐ 

นอกจากนี้เรายังเพิ่งแสดงความจำนงขอเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD ซึ่งเป็นกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วกว่า 30 ประเทศ ในยุโรปและอเมริกา และเราก็ยังคงเป็นสมาชิก APEC อยู่ด้วยซึ่งมีทั้งสหรัฐอเมริกา, จีน และรัสเซีย เป็นสมาชิกเช่นกัน ดังนั้น ใครจะมาบอกว่าเราเลือกข้าง คงไม่ใช่ แต่เป็นการแสวงหาโอกาสเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ 

ด้วยสภาวการณ์ของโลกปัจจุบันที่มีความแปรปรวนและยืดหยุ่นสูง ประกอบกับเงื่อนไขทางภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศไทย การรักษาสมดุลระหว่างขั้วอำนาจโลกอย่างเหมาะสมและมียุทธศาสตร์เท่านั้น ที่จะทำให้ประเทศไทยพัฒนาก้าวหน้าอย่างมั่นคงและมีศักดิ์ศรีในเวทีโลก ผมขอให้กำลังใจรัฐบาลในเรื่องนี้และขอให้รัฐบาลใช้โอกาสอันมีค่านี้ สร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศไทยและคนไทยครับ ด้วยความปรารถนาดี"

'อาจารย์อุ๋ย' ชี้!! แจกเงินหมื่น เหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ห่วง!! รัฐไร้แผนระยะยาว โดยเฉพาะการแก้หนี้ครัวเรือนไทย

(28 ก.ย.67) จากกรณีที่รัฐบาลได้ดำเนินการแจกเงินหนึ่งหมื่นบาทให้ประชาชนแล้วกว่า 3 ล้านคน นั้น นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรือ 'อาจารย์อุ๋ย' นักวิชาการด้านกฎหมายและอดีตผู้สมัคร สส. กรุงเทพมหานคร เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความเห็นว่า

เงินหนึ่งหมื่นบาทนั้น เมื่อเทียบกับค่าครองชีพในยุคปัจจุบัน รวมกับภาระหนี้ครัวเรือนที่ประชาชนต้องแบกรับอยู่ขณะนี้ ผมคาดว่าใช้เวลาประมาณสองอาทิตย์ เงินที่ได้รับมาก็คงหมดลง เงินหนึ่งหมื่นบาทก็เหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ที่ไม่นานก็จะละลายหายไป ซึ่งผมก็ยังไม่เห็นว่า รัฐบาลจะมีแผนระยะยาวอย่างไร เมื่อถึงเวลานั้น เพราะปัญหาเศรษฐกิจในขณะนี้ เกิดขึ้นจากหลายปัจจัยในเชิงโครงสร้าง ซึ่งสั่งสมมาเป็นเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศที่ถดถอย สังคมผู้สูงอายุ และที่สำคัญคือ ปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะในระดับกลางและระดับล่าง ซึ่งทำให้อัตราการจับจ่ายใช้สอยหดตัวลงในระดับรุนแรง โดยเฉพาะหลังวิกฤตโควิด 

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า ในปี 2566 ครัวเรือนทั่วประเทศ มีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนทั้งสิ้นครัวเรือนละ 197,255 บาท และในสิ้นปี 2567 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแตะระดับ 91.4% ต่อ GDP และที่น่าห่วงคือ คือ 2 ใน 3 ของบัญชีหนี้ครัวเรือนไทยเป็น ‘สินเชื่อที่ไม่สร้างรายได้’ กล่าวคือ เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล 39% และบัตรเครดิต 29% ซึ่งเป็นหนี้เพื่อการอุปโภค ใช้แล้วหมดไป ไม่ช่วยให้มีรายได้เพิ่มหรือมีชีวิตดีขึ้นในอนาคต

ปัญหาในขณะนี้คล้ายกับปี 40 ตรงที่ว่าเป็นปัญหาเกี่ยวกับการขาดสภาพคล่อง ขาดเงินทุนหมุนเวียน เพียงแต่คราวนี้ไม่ได้เกิดกับบริษัทการเงิน แต่เกิดกับพี่น้องประชาชนในระดับกลางถึงระดับรากหญ้า แม้เม็ดเงินอาจจะไม่มากเท่าปี 40 แต่กระจายตัวเป็นวงกว้างและลึกกว่า จนส่งผลกระทบไปถึงเศรษฐกิจระดับบน ดังนั้นหนทางแก้ปัญหาประการหนึ่งคือ ต้องเปิดทางให้ลูกหนี้ในระดับบุคคลธรรมดาที่มีหนี้ไม่มาก (เช่น ไม่เกิน 1 ล้านบาท) ยื่นคำขอฟื้นฟู เพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยใช้หลักการเดียวกับการยื่นขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้นิติบุคคลและ SME 

ซึ่งหลักการสำคัญของการฟื้นฟูกิจการหรือฟื้นฟูหนี้ครัวเรือนสำหรับบุคคลธรรมดาก็คือ การกำหนด ‘สภาวะพักชำระหนี้’ (automatic stay) ให้อำนาจลูกหนี้จัดการสินทรัพย์ตัวเองต่อไปได้ จัดทำแผนฟื้นฟูหนี้สินเพื่อยื่นต่อเจ้าหนี้ได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าวันไหนจะถูกเจ้าหนี้รายไหนมาฟ้องร้องหรือบังคับคดี ซึ่งปัจจุบันลูกหนี้ประเภทบุคคลธรรมดาที่ไม่ใช่ SME ยังไม่มีสิทธิดังกล่าว ซึ่งกระบวนการนี้อาจจะต้องมีการตั้งองค์กรเชิงสถาบันขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนสำหรับหนี้ครัวเรือนโดยเฉพาะ

และเมื่อลูกหนี้สู่กระบวนการฟื้นฟูหนี้สินแล้ว ก็จะมีเวลาหายใจ ลืมตาอ้าปาก มีกำลังใจทำงาน เพราะเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ หลุดพ้นจากวงจรอุบาทว์ที่ต้องก่อหนี้ใหม่เพื่อใช้หนี้เก่าอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และสุดท้ายแล้วกำลังซื้อในระดับกลางและล่างก็จะฟื้นตัวอย่างยั่งยืน 

ผมจึงขอฝากท่านนายกแพทองธารให้เร่งผลักดันมาตรการนี้โดยเร็วครับ ด้วยความปรารถนาดี

‘อ.อุ๋ย ปชป.’ ผนึก อ.ย. – ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ - สภาผู้บริโภค เร่งเอาผิดอาหารเสริมลวงโลก แฉ! บางรายคล้าย ‘ดิไอคอนกรุ๊ป’

อาจารย์ อุ๋ย ปชป. ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการกับผู้แทนจากราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาและสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อเอาผิดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่โฆษณาหลอกลวง 

เมื่อวานนี้ (28 ต.ค.67) นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการด้านกฎหมายและอดีตผู้สมัคร สส. กรุงเทพมหานคร เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะที่ปรึกษากฎหมายของราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการกับคณาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจักษุ ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และผู้แทนจากสภาองค์กรของผู้บริโภค โดยมีวาระการประชุมที่สำคัญ คือการทบทวนกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งการป้องกัน ปราบปราม การโอ้อวด หลอกลวงทางการโฆษณาผลิตภัณฑ์ และกระบวนการรักษาใด ๆ ซึ่งแอบอ้างเพื่อใช้ในการป้องกันรักษาโรคตา ที่ไม่ได้มาตรฐาน อย่างยั่งยืน

ซึ่งที่ประชุมได้อภิปรายถึงอุปสรรคของการบังคับใช้กฎหมายเพื่อเอาผิดกับเจ้าของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่โฆษณาหลอกลวง โดยเฉพาะเกี่ยวกับดวงตา เช่น การอวดอ้างว่ากินแล้วตาใส มองชัด ไม่มัว สายตาดีขึ้น ฯลฯ ซึ่งปรากฏทั่วไปตามแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งล้วนแต่เป็นข้อความเท็จ และทำให้ผู้บริโภคที่หลงเชื่อ สูญเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ และขาดโอกาสในการรักษา ทำให้โรคลุกลามจนรักษาได้ยาก หรือรักษาไม่หาย ซึ่งกฎหมายปัจจุบันกำหนดโทษปรับและจำคุกที่ค่อนข้างเบา ทำให้ผู้กระทำผิดไม่เกรงกลัว ซึ่งจะต้องมีการเสนอปรับปรุงแก้ไขกฎหมายต่อไป และนายประพฤติได้เสนอให้ใช้ พรบ. คอมพิวเตอร์ ในการเอาผิดการกระทำในลักษณะนี้ เพราะมีโทษที่หนักกว่ากฎหมายอาหาร และพิจารณาทำ MOU กับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย และเผยแพร่ความรู้ความเข้าที่ถูกต้องให้กับผู้บริโภคต่อไป

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเกี่ยวกับดวงตาที่โฆษณาหลอกลวงบางราย ใช้กลยุทธ์การตลาดคล้าย ‘ดิไอคอนกรุ๊ป’ กล่าวคือ มีการจัดสัมมนาอบรม โฆษณาเชิญชวนให้เข้าเป็นสมาชิก ชักชวนให้สร้างเครือข่าย และตอกย้ำถึงความร่ำรวยอย่างรวดเร็วจากการเข้าร่วมเครือข่าย ซึ่งจะต้องให้ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ทำการเฝ้าระวังและสืบสวนสอบสวนในเชิงลึกเพื่อดำเนินการป้องปรามต่อไป เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนเป็นวงกว้างซ้ำรอยคดีดิไอคอนกรุ๊ป  

ทั้งนี้ ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย เริ่มก่อตั้งเมื่อ ปี พ.ศ. 2499 เป็นหน่วยงานในกำกับดูแลของแพทยสภา ทำหน้าที่ฝึกอบรมแพทย์ทั่วไปที่ต้องการประกอบวิชาชีพเป็นจักษุแพทย์ กำหนดและควบคุมมาตรฐานทางวิชาการในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมของจักษุแพทย์และเผยแพร่ความรู้ทางจักษุวิทยา อันเป็นประโยชน์แก่ประชาชนและแก่วิชาชีพเวชกรรม

‘อาจารย์อุ๋ย’ ชี้!! ‘เมียนมาร์’ ใช้กำลังเกินกว่าเหตุ ยิงเรือประมงไทย ละเมิด!! หลักกฎหมายระหว่างประเทศ จี้!! รัฐบาลดำเนินการตอบโต้

(1 ธ.ค. 67) นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการด้านกฎหมายและอดีตผู้สมัคร สส. กรุงเทพมหานคร เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความเห็นผ่านเฟสบุ๊กว่า

กรณีที่เรือรบเมียนมายิงเรือประมงไทย 3 ลำ จนทำให้ลูกเรือบาดเจ็บ 2 คน เสียชีวิต 1 คน และจับกุมเรือประมงไทย 1 ลำพร้อมลูกเรือ 31 ไว้นั้น กฎบัตรสหประชาชาติ (UN Charter) มาตรา 51 ให้สิทธิแก่รัฐสมาชิกในการใช้กำลังป้องกันตนเองโดยใช้อาวุธ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีการรุกล้ำน่านน้ำหรือไม่ ด้วยหลักจารีตประเพณีและคำพิพากษาของศาลระหว่างประเทศว่าด้วยกฎหมายทะเล (International Tribunal for the Law of the Sea) ซึ่งได้เคยวางหลักไว้ในคดี SAINT VINCENT AND THE GRENADINES V. GUINEA ว่า การใช้กำลังอาวุธด้วยการยิงเข้าใส่เรือประมงจนเกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตของลูกเรือ ถือเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ และละเมิดหลักกฎหมายระหว่างประเทศ 

ทั้งนี้ ภายใต้หลักกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐทุกรัฐจักต้องหลีกเลี่ยงการใช้กำลังอาวุธให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เมื่อทำการเข้าจับกุมเรือ แม้ว่าจะเป็นเรือที่ทำผิดกฎหมายก็ตาม เพราะการใช้กำลังอาวุธจะทำให้มีความเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะทำให้คนของชาติอื่นต้องบาดเจ็บหรือเสียชีวิต และจะทำให้เกิดความบาดหมางต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยไม่จำเป็น ซึ่งวิธีที่ยึดถือปฏิบัติกันมาในทางระหว่างประเทศเมื่อพบเรือต่างชาติที่ต้องสงสัย คือการเตือนด้วยเสียงหรืออาณัติสัญญาณในรูปแบบที่เห็นได้ชัดให้เรือต้องสงสัยนั้นหยุด และหากเรือต้องสงสัยนั้นไม่ตอบสนองหรือไม่หยุด เจ้าหน้าที่จึงสามารถเข้าขึ้นเรือและใช้กำลังเข้าควบคุมความสงบเรียบร้อยได้ หรือหากเรือต้องสงสัยนั้นมีการใช้กำลังอาวุธยิงเข้าใส่ เจ้าหน้าที่จึงสามารถใช้อาวุธยิงตอบโต้ได้ หากปรากฎข้อเท็จจริงว่าเจ้าหน้าที่เมียนมายิงเข้าใส่เรือประมงไทยโดยไม่มีการเตือนหรือแจ้งล่วงหน้าให้หยุดเรือจึงเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุและละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

ซึ่งรัฐบาลไทยต้องเรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมาเยียวยาความเสียหาย และปล่อยตัวลูกเรือที่ถูกจับโดยเร็ว มิเช่นนั้นจะต้องดำเนินมาตรการตอบโต้ (retortion/reprisal) เช่น ส่งทูตกลับประเทศ ปิดน่านน้ำ ปิดชายแดน จำกัดการนำเข้าสินค้า บอยคอตสินค้า ตัดความช่วยเหลือต่าง ๆ กับประเทศเมียนมา ฯลฯ ซึ่งเป็นการกระทำที่ทำได้ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อผดุงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีของประเทศไทยและเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนไทยที่ประสบเหตุ อย่างเต็มที่ ด้วยความปรารถนาดี 

‘อาจารย์อุ๋ย’ ชี้!! ‘เมียนมาร์’ ใช้กำลังเกินกว่าเหตุ ยิงเรือประมงไทย ละเมิด!! หลักกฎหมายระหว่างประเทศ จี้!! รัฐบาลดำเนินการตอบโต้

(1 ธ.ค. 67) นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการด้านกฎหมายและอดีตผู้สมัคร สส. กรุงเทพมหานคร เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความเห็นผ่านเฟสบุ๊กว่า

กรณีที่เรือรบเมียนมายิงเรือประมงไทย 3 ลำ จนทำให้ลูกเรือบาดเจ็บ 2 คน เสียชีวิต 1 คน และจับกุมเรือประมงไทย 1 ลำพร้อมลูกเรือ 31 ไว้นั้น กฎบัตรสหประชาชาติ (UN Charter) มาตรา 51 ให้สิทธิแก่รัฐสมาชิกในการใช้กำลังป้องกันตนเองโดยใช้อาวุธ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีการรุกล้ำน่านน้ำหรือไม่ ด้วยหลักจารีตประเพณีและคำพิพากษาของศาลระหว่างประเทศว่าด้วยกฎหมายทะเล (International Tribunal for the Law of the Sea) ซึ่งได้เคยวางหลักไว้ในคดี SAINT VINCENT AND THE GRENADINES V. GUINEA ว่า การใช้กำลังอาวุธด้วยการยิงเข้าใส่เรือประมงจนเกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตของลูกเรือ ถือเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ และละเมิดหลักกฎหมายระหว่างประเทศ 

ทั้งนี้ ภายใต้หลักกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐทุกรัฐจักต้องหลีกเลี่ยงการใช้กำลังอาวุธให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เมื่อทำการเข้าจับกุมเรือ แม้ว่าจะเป็นเรือที่ทำผิดกฎหมายก็ตาม เพราะการใช้กำลังอาวุธจะทำให้มีความเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะทำให้คนของชาติอื่นต้องบาดเจ็บหรือเสียชีวิต และจะทำให้เกิดความบาดหมางต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยไม่จำเป็น ซึ่งวิธีที่ยึดถือปฏิบัติกันมาในทางระหว่างประเทศเมื่อพบเรือต่างชาติที่ต้องสงสัย คือการเตือนด้วยเสียงหรืออาณัติสัญญาณในรูปแบบที่เห็นได้ชัดให้เรือต้องสงสัยนั้นหยุด และหากเรือต้องสงสัยนั้นไม่ตอบสนองหรือไม่หยุด เจ้าหน้าที่จึงสามารถเข้าขึ้นเรือและใช้กำลังเข้าควบคุมความสงบเรียบร้อยได้ หรือหากเรือต้องสงสัยนั้นมีการใช้กำลังอาวุธยิงเข้าใส่ เจ้าหน้าที่จึงสามารถใช้อาวุธยิงตอบโต้ได้ หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าเจ้าหน้าที่เมียนมายิงเข้าใส่เรือประมงไทยโดยไม่มีการเตือนหรือแจ้งล่วงหน้าให้หยุดเรือจึงเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุและละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

ซึ่งรัฐบาลไทยต้องเรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมาเยียวยาความเสียหาย และปล่อยตัวลูกเรือที่ถูกจับโดยเร็ว มิเช่นนั้นจะต้องดำเนินมาตรการตอบโต้ (retortion/reprisal) เช่น ส่งทูตกลับประเทศ ปิดน่านน้ำ ปิดชายแดน จำกัดการนำเข้าสินค้า บอยคอตสินค้า ตัดความช่วยเหลือต่าง ๆ กับประเทศเมียนมา ฯลฯ ซึ่งเป็นการกระทำที่ทำได้ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อผดุงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีของประเทศไทยและเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนไทยที่ประสบเหตุ อย่างเต็มที่ ด้วยความปรารถนาดี 

‘อ.อุ๋ย’ เห็นต่าง ปมตบรางวัลตำรวจปล่อย นทท. กระชากคอเสื้อ ชี้! เป็นดาบสองคม ทำกฎหมายไทยไร้ความศักดิ์สิทธิ์

(2 ม.ค. 68) อาจารย์อุ๋ย ปชป. ชี้!  มอบรางวัลตำรวจไม่ตอบโต้นักท่องเที่ยวกระชากคอเสื้อ เป็นดาบสองคม สร้างบรรทัดฐานที่บิดเบี้ยว ทำกฎหมายไทยไม่ศักดิ์สิทธิ์ ตำรวจไทยปฏิบัติหน้าที่ยากขึ้น ย้ำ! การบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยต่างหาก คือการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับการท่องเที่ยว 

เมื่อวันที่ (1 ม.ค. 68) นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการด้านกฎหมายและอดีตผู้สมัคร สส. กรุงเทพมหานคร เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความเห็นผ่านแพลตฟอร์ม X ว่า “จากกรณีที่ มีนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น ฝ่าฝืนกฎหมายโดยการปล่อยโคมลอยสีแดง บริเวณถนนคชสาร ซอย 3 ใกล้กับประตูท่าแพ โดยมีกลุ่มนักท่องเที่ยวจำนวนมากห้อมล้อม และเชียร์กันอย่างสนุกสนาน จนเกิดการกระทบกระทั่งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าไปห้ามปราม จนมีการกระชากคอเสื้อของตำรวจ นั้น

แม้สุดท้ายเหตุการณ์จะจบลงด้วยดี จนมีการมอบรางวัลให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่มีความอดทนอดกลั้น ซึ่งผมก็เคารพในการตัดสินใจของตำรวจผู้ปฏิบัติงานและผู้มอบรางวัล อย่างไรก็ดี ผมมีข้อกังวลว่าการมอบรางวัลให้กับการปฏิบัติหน้าที่ลักษณะนี้ คือการไม่ตอบโต้กับผู้ที่พยายามใช้กำลังทำร้ายเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบ และไม่ดำเนินคดีกับผู้ฝ่าฝืนกฎหมายโดยการปล่อยโคมลอย จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานว่า การไม่ใช้อำนาจจับกุมผู้กระทำผิด กับการไม่บังคับใช้กฎหมายในเวลาที่ต้องใช้ คือการปฏิบัติหน้าที่ที่เจ้าหน้าตำรวจทุกนายควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง งั้นหรือ ? แบบนี้ต่อไปใครจะกระชากคอเสื้อตำรวจก็ได้ สุดท้ายขอโทษแล้วจบ งั้นหรือ ? 

ซึ่งผมเชื่อว่าหากเหตุการณในลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยและยึดถือสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา เยอรมนี ฝรั่งเศส หรือแม้แต่ประเทศญี่ปุ่นเอง หากมีผู้ที่ทำผิดกฎหมาย และพยายามกระชากคอเสื้อเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบ จะมีเจ้าหน้าที่อย่างน้อยสามถึงห้าคนเข้ามารุมล้อมและจับใส่กุญแจมือและส่งเข้ารถคุมขังทันที ซึ่งหากทำอย่างถูกต้องตามหลักการการจับกุม ผู้ถูกจับกุมจะไม่เกิดการบาดเจ็บรุนแรงแต่อย่างใด และจะต้องถูกดำเนินคดีจนถึงที่สุด เพราะถือเป็นการทำลายภาพลักษณ์การท่องเที่ยว เพราะทำให้เกิดความวุ่นวายไม่สงบเรียบร้อย 

นักท่องเที่ยวปกติ (ขอเรียกว่านักท่องเที่ยว “สีขาว”) เขาจะนิยมเที่ยวประเทศที่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเขาและครอบครัวสามารถท่องเที่ยวได้อย่างสบายใจโดยไม่ต้อกังวลกับโจรผู้ร้าย ในขณะที่นักท่องเที่ยวสีเทาหรือสีดำ จะชอบไปท่องเที่ยวประเทศที่การบังคับใช้อ่อนแอ หละหลวม สามารถใช้เงินและอิทธิพลเหนือกฎหมายได้ ผมจึงขอฝากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไปพิจารณา ว่าอยากได้นักท่องเที่ยวแบบไหน และขอย้ำว่าการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยต่างหาก คือการสร้างภาพลักษณ์การท่องเที่ยวที่ได้ผลดีที่สุด ด้วยความปรารถนาดี” 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top