(18 มิ.ย. 67) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ ‘สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง’ ทางช่องยูทูบ ‘แนวหน้าออนไลน์’ ในประเด็นการยุบพรรคก้าวไกล ซึ่งปัจจุบันคดีอยู่ในการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่ก่อนหน้านี้ ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า นโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ว่า…
แม้สถานการณ์จะเลวร้ายที่สุด คือพรรคถูกยุบและมีบุคคลถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง แต่ฝ่ายก้าวไกลก็มั่นใจว่าจะมีพรรคการเมืองมาสานต่อ
ซึ่งแม้จะเสีย สส. งูเห่าออกไปบ้าง แต่ก็เชื่อว่ายังมีแรงสนับสนุน ก็ทำให้เคลื่อนต่อไปได้ อย่างคณะก้าวหน้าที่ปัจจุบันก็เห็นเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ แน่นอนว่ากระทบตัวบุคคล คือมีคนถูกตัดสิทธิ์ แต่ในภาพรวมทางการเมืองไม่เปลี่ยนแปลง หากวันนี้พรรคก้าวไกลถูกยุบ ตนเชื่อว่าบรรดานักวิเคราะห์การเมืองก็คงมองว่า พรรคที่มารับช่วงต่อก็ยังมีโอกาสมากที่สุดที่จะชนะการเลือกตั้งครั้งหน้าอยู่ดี
อย่างไรก็ตาม ที่มีการลือกันว่าตนจะไปเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่ว่า ขอยืนยันว่าไม่รู้เรื่องและไม่เกี่ยวข้องด้วย อาจเป็นความเห็นส่วนตัวของคนที่พูดเรื่องดังกล่าวขึ้นมา แต่เขาคงไม่เอาตนไปเป็นหัวหน้าพรรค อีกอย่างเวลานี้เขาคงวุ่นอยู่กับการต่อสู้คดี ซึ่งที่คนรู้สึกว่าคดีพรรคก้าวไกลต้องเดินไปแบบนี้ เพราะเนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีที่มีคนไปร้องให้พรรคก้าวไกลหยุดการกระทำ และเมื่อศาลวินิจฉัยออกมาแบบนั้น คนก็ต้องมองว่าต้องมีคดีนี้ต่อมา
“ตอนนี้มันต้องต่อสู้เรื่องนี้เป็นหลัก ผมเข้าใจอย่างนั้น เพราะว่ามันก็ยากที่จะไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ เขาเปลี่ยนสิ่งที่เขาเคยเขียนไว้ในคำวินิจฉัยในคดีนั้น เพียงแต่ว่าตอนนี้ถ้าจะสู้ก็อาจจะต้องเป็นลงไปว่าเป็นเจตนาไหม? หยุดการกระทำแล้วต้องยุบไหม? มีอำนาจยุบหรือเปล่า? การดำเนินการในการยุบมันถูกต้องตามขั้นตอนไหม? ผมดูว่ามันก็จะไปในเรื่องพวกนี้มากกว่า” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นอกจากนี้ นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวต่อไปว่า…
ส่วนคดี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่มีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 40 คน ไปร้องศาลรัฐธรรมนูญให้ตรวจสอบกรณีการแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เนื่องจากนายพิชิตอาจขาดคุณสมบัติและเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ว่า ในประเทศไทย ทุกคดีจะคุยกันได้ 2 มุม คือมุมกฎหมายกับมุมการเมือง ซึ่งในความเห็นของตนอาจผิดก็ได้ แต่ในมุมกฎหมายหากพูดกันตามสามัญสำนึกก็มีความรู้สึกว่าค่อนข้างชัด
ซึ่งหากแต่งตั้งบุคคลที่มีประวัติแบบนี้ แล้วมีประมวลจริยธรรมอยู่ ถ้าบอกว่าไม่ผิดก็จะเกิดคำถามมากมายเหมือนกันว่าประมวลจริยธรรมเขียนไว้ทำไม? หรือแปลว่าอะไร? อย่างไรก็ตาม ในทางกฎหมายก็มีเรื่องของเทคนิคอยู่ เช่น หากเป็นเรื่องจริยธรรมจริงก็ควรไปผ่านช่องทางอื่นๆ มาก่อนหรือไม่? ซึ่งจริงๆ เหตุที่เกิดขึ้นจะบอกว่าไม่รู้เรื่องเลยก็คงไม่ได้ เพราะตอนตั้งรัฐบาลใหม่ๆ ก็มีชื่อนายพิชิตอยู่ในโผคณะรัฐมนตรี (ครม.) ด้วย แต่สุดท้ายก็ไม่ได้แต่งตั้ง ซึ่งก็เป็นเรื่องแปลกที่มีตำแหน่งรัฐมนตรีว่างอยู่ แต่การที่ไม่ตั้งก็เป็นที่รับรู้กันว่ามีเครื่องหมายคำถามเรื่องคุณสมบัติ
และแม้ในภายหลัง นายพิชิต จะลาออกจากตำแหน่ง รมต.ประจำสำนักนายกฯ แต่ก็เป็นเรื่องของนายพิชิต ส่วนนายกฯ เศรษฐา ก็จะยังต้องถูกตรวจสอบเรื่องการแต่งตั้งนายพิชิตต่อไป ถึงกระนั้น หากมามองในมุมการเมือง การที่นายเศรษฐาต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ มีผลกระทบสูง เพราะหากรัฐบาลชุดเดิมยังต้องการอยู่ด้วยกันต่อไป ทางพรรคเพื่อไทยยังเหลือรายชื่อบุคคลที่พรรคเสนอให้เป็นนายกฯ อีก 2 คน แต่คำถามคือเป็นที่เห็นพ้องต้องกันแล้วหรือยัง ที่สำคัญคือ การเลือกนายกฯ คนใหม่ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) จะไม่เกี่ยวข้องอีกแล้ว สมการก็เปลี่ยนไปอีก
ดังนั้น หากในมุมการเมืองแล้วก็อาจรอด เพราะไม่เช่นนั้นอาจเกิดเรื่องยุ่งๆ ตามมา แต่หากเป็นมุมกฎหมายสำหรับตนแล้วตรงไปตรงมาว่าค่อนข้างชัด ส่วนคำถามว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรืออุ๊งอิ๊ง หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่มีการเตรียมตัวกันมา เหมาะสมหรือยังกับการรับตำแหน่งนายกฯ เรื่องนี้อย่ามาถามตน แต่ตนถามว่าถามว่า โอกาสที่จะเป็นหรือไม่เป็นมาจากปัจจัยอะไร? เพราะจริงๆ ทุกคนก็พูดตรงกันว่าครอบครัวคิดอย่างไร? ซึ่งดูเหมือนครอบครัวเขาจะยังไม่พร้อม และตนก็รู้สึกแบบนั้นเช่นกัน แต่ปัญหาคือถ้าเอาอย่างนั้นแล้วจะมีตัวเลือกอื่นหรือไม่?
อย่างอีกชื่อหนึ่งในพรรคเพื่อไทย คือ นายชัยเกษม นิติสิริ ก็มีปัญหาเรื่องสุขภาพ หรือจะข้ามมาที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ก็มีคำถามว่าพรรคเพื่อไทยจะปล่อยมือจากตำแหน่งนายกฯ ด้วยเหตุผลใด? หรือจะย้ายขั้วไปเลย เป็นพรรคเพื่อไทยจับมือกับพรรคก้าวไกล ก็ยังมีปัญหาอีกว่าแล้วจะให้ฝ่ายไหนเป็นนายกฯ รวมถึงพรรคก้าวไกลก็ยังมีเรื่องยุบพรรคอยู่ ดังนั้น คดีนายกฯ เศรษฐา จะเป็นคดีที่ตัดสินแล้วจะเกิดเรื่องยุ่งมากที่สุด และหากถึงที่สุดจริงๆ ไม่ว่าจะพร้อมหรือไม่ก็ตาม ก็ต้องชู น.ส.แพทองธาร เพื่อให้รัฐบาลยังเป็นชุดเดิมและไม่กระทบพรรคเพื่อไทย
“ที่คิดว่าเขาจะไม่ได้เป็นก็มีแต่คนบอกว่าเพราะยังจะไม่ได้เป็นนะ ไมได้แปลว่าในอนาคตจะไม่ได้เป็น เพราะฉะนั้นถ้าเกิดดุลอำนาจที่ทางพรรคเพื่อไทยกับคุณทักษิณ (ทักษิณ ชินวัตร-อดีตนายกรัฐมนตรี) ยังถึงอยู่ ก็มีการมองอยู่ตลอดเวลาว่าวันใดวันหนึ่งคุณอุ๊งอิ๊งก็จะต้องขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี” นายอภิสิทธิ์ ระบุ
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวอีกว่า “ส่วนเรื่องที่วิเคราะห์กันว่า อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร กลับมาได้ เพราะมีการเจรจากันทางการเมืองโดยจำเป็นต้องให้นายทักษิณมาช่วยจัดการกับพรรคก้าวไกล เรื่องนี้ตนไม่อยากใช้คำว่าจัดการ คือเป็นวิธีที่ไม่ทำให้พรรคก้าวไกลได้อำนาจเท่านั้นเอง ไม่ใช่จัดการในความหมายว่าต่อกรหรือต่อสู้ และหากไม่นับบรรดากองเชียร์ ก็จะเห็นบุคคลระดับบนๆ ของพรรคเพื่อไทยตอบโต้พรรคก้าวไกลน้อยมาก”
ทั้งนี้ ต่อข้อสังเกตที่ว่า พรรคก้าวไกลอยู่เฉยๆ ก็ได้คะแนนเพิ่มขึ้น ในขณะที่พรรคเพื่อไทยนับวันมีแต่คะแนนจะต่ำลง จริงๆ ก็เป็นเช่นนั้น เพราะการรวมตัวกันของบรรดาพรรคการเมืองที่มาเป็นรัฐบาลชุดนี้ ต้องยอมรับว่าในใจลึก ๆ ของผู้สนับสนุนนั้นฝืนความรู้สึกอยู่แล้ว อาจจะยกเว้นอยู่บ้างกับพรรคภูมิใจไทย แต่พรรคอื่น ๆ มีลักษณะที่ฝืนอยู่แล้ว แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลข้ออ้างอะไร ทั้งหมดก็คือการไม่ให้พรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล และยิ่งการเลือกตั้งครั้งล่าสุด พรรคก้าวไกลได้ที่นั่ง สส. ในสภามากที่สุด อารมณ์ของสังคมอย่างไรก็ต้องไหลไปทางพรรคก้าวไกล
“ดังนั้นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลตั้งแต่ต้นที่พูดกันมา ถ้าจะหยุดยั้งก้าวไกลได้ พูดง่ายๆ การทำงานมันต้องเป็นที่ประทับใจจริง ๆ ซึ่งผมก็เคยวิเคราะห์ตั้งแต่แรกว่าบังเอิญมันไม่ง่าย เพราะสถานการณ์โลก สถานการณ์เศรษฐกิจโลก โครงสร้างเศรษฐกิจไทย อะไรอีกหลายอย่างตอนนี้มันไม่ค่อยเป็นใจให้เท่าไร นั่นก็เป็นปัจจัยลบอยู่แล้ว และตัวรัฐบาลเองก็ผ่านมาก็นานพอสมควร ก็ต้องยอมรับว่ายังไม่มีอะไรที่จะบอกได้ว่าเป็นผลงานที่ทำให้ประชาชนมีความรู้สึกว่าประทับใจ” นายอภิสิทธิ์ กล่าว