แอบส่อง!! คัดแข่งหัวหน้าพรรคทอรี่ สไตล์ผู้ดีอังกฤษ
อังกฤษได้ชื่อว่าเป็นแม่แบบของประชาธิปไตยที่มีการปกครองด้วยระบบที่มีหลายพรรคการเมือง พรรคใหญ่และเก่าแก่ที่เป็นที่รู้จักกันดีก็คือพรรคทอรี่หรือเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่าพรรคคอนเซอเวทีฟ อีกพรรคหนึ่งคือพรรคเลเบอร์หรือพรรคแรงงาน นอกจากสองพรรคนี้แล้ว อังกฤษก็ยังมีพรรคขนาดกลางอีกพรรคหนึ่งคือพรรคลิบเบอรัลเดโมแครต
แต่พรรคที่มีเสียงข้างมากและได้จัดตั้งรัฐบาลบ่อยครั้งกว่าก็คือพรรคคอนเซอเวทีฟที่บางครั้งก็เรียกกันว่าพรรคอนุรักษ์นิยมและขณะนี้พรรคนี้ก็เป็นรัฐบาลปกครองประเทศ
ในระยะ ๕-๖ ปีที่ผ่านมาพรรคอนุรักษ์นิยมมีการเปลี่ยนหัวหน้าพรรคมาแล้วสามคนหลังจากการลงประชามติว่าอังกฤษจะอยู่หรือออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปในปีค.ศ. ๒๐๑๖
เริ่มจากนายเดวิด แคมเมอรอนก่อนนายเดวิดประกาศลาออกในปี ค.ศ.๒๐๑๖ สาเหตุก็คือในการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไปในปี ค.ศ. ๒๐๑๕นายเดวิดประกาศว่าถ้าเขาชนะการเลือกตั้งเขาจะจัดให้อังกฤษมีการลงประชามติในการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ปรากฏว่านายเดวิด ชนะการเลือกตั้งเขาจึงจัดให้มีการลงประชามติตามสัญญา นายเดวิด สนับสนุนให้อังกฤษยังคงเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปต่อไป แต่ชาวอังกฤษส่วนใหญ่โหวตให้อังกฤษออก ดังนั้นเมื่อความเห็นของเขาไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากคนอังกฤษ นายเดวิดจึงอยู่ต่อไปไม่ได้
ขอแทรกข้อมูลตรงนี้สักหน่อยว่าเรื่องการออกจากสมาชิกสหภาพยุโรปนี่ในพรรคคอนเซอเวทีฟพูดกันมานาน แต่ไม่มีใครกล้าทำเรื่องประชามตินี้ เพราะมันมีผลมากมายและถ้าทำก็ต้องเสี่ยงว่าจะอยู่หรือไป ก็มีความเห็นของชาวอังกฤษที่ขัดแย้งกันและเช่นเดียวกันกับนักการเมือง บ้างก็ว่าอยู่ก็ดี บ้างก็ว่าออกจะดีกว่า
ต่อมานางเทเรซ่า เมย์ ได้รับเสียงสนับสนุนจากส.ส. ภายในพรรคอย่างท่วมท้นให้ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคและได้เป็นนายกรัฐมนตรีโดยตำแหน่ง แต่ระหว่างเป็นนายกฯไม่ถึงสามปีเธอก็ต้องลาออกเพราะรัฐบาลของเธอไม่สามารถที่จะดำเนินการต่อรองเจรจากับสหภาพยุโรปตามเงื่อนไขที่อังกฤษต้องการในการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปได้ มีข้อขัดแย้งหลายประการ อังกฤษถูกโดนรุมจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป เช่นเดียวกับตัวนางเทเรซ่าเอง เธอดูจะเสียเครดิทไปมากและจากการขัดแย้งกันเองภายในพรรควุ่นวายกันไปหมด จนเทเรซ่า เมย์แทบจะหมดสภาพ เธอยอมลาออกในปีค.ศ. ๒๐๑๙
การเมืองก็คือการเมืองไม่ว่าที่ไหนๆ ต้องมีพรรคมีพวก ส.ส.ในพรรคคอนเซอเวทีฟสนับสนุนให้นายบอริส จอนห์สันซึ่งตอนนั้นเป็นรัฐมนตรีร่วมคณะรัฐบาลของนางเทเรซ่าอยู่ ว่าน่าจะมาแทนที่นางเทเรซ่า และสามารถแก้ไขปัญหาการออกจากสมาชิกสหภาพยุโรปได้เร็วขึ้น เพราะนายบอริส คือตัวหลักคนหนึ่งในการที่สนับสนุนให้อังกฤษ ดีดตัวออกจากสหภาพยุโรปสำเร็จ เพราะฉะนั้นนายบอริส น่าจะเป็นคนที่ทำได้ตามที่อังกฤษต้องการ
และก็เป็นไปตามที่คิดกันในปี ค.ศ. ๒๐๑๙ ส.ส.พรรคคอนเซอเวทีฟก็เลือกนายบอริสขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค นายบอริสขึ้นชื่อว่าเป็นปลาไหลใส่เสก็ตเก่งคนหนึ่งเขาจึงต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่าเขาไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างง่ายๆต่อจากนางเทเรซ่า ดังนั้นหลังจากที่เขาได้เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่นานนักนายบอริสก็ประกาศยุบสภาให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ เกิดปรากฏการณ์ที่ฉงนๆกันอยู่คือว่าพรรคคอนเซอเวทีฟได้คะแนนเสียงข้างมากกว่าเดิมได้จัดตั้งรัฐบาลอีก
เมื่อได้เป็นนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งเสียงดีเช่นนี้ ด้วยความมั่นใจนายบอริสก็ดำเนินการเจรจาให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรปได้เร็วขึ้น แต่เมื่อปีที่แล้วนายบอริสก็มาตกม้าตายจากการบริหารประเทศในการระบาดของโรคโควิด ๑๙ ที่สับสนวุ่นวายทำให้คนอังกฤษเสียชีวิตเพราะโรคระบาดไปนับแสนคน แผนการที่รัฐบาลออกมารับมือถูกวิพากย์วิจารณ์ว่าไม่มีประสิทธิภาพและสร้างความโกลาหลให้กับประชาชนเพราะรัฐบาลนายบอริสเชื่องช้าและเพิกเฉยต่อการรับมือกับโรคระบาด
