Monday, 21 April 2025
หิมาลัยผิวพรรณ

‘ดร.หิมาลัย’ ลงพื้นที่ตรวจสอบ เคสปั๊มเติม ‘น้ำมันผสมน้ำ’ ให้ลูกค้า ชี้ ให้เป็นไปตาม กม. พร้อมกำชับพลังงานทั่วประเทศตรวจเข้ม

‘เสธหิ’ ที่ปรึกษา รมว.พลังงาน ชี้เคสปั๊มเติมน้ำมันผสมน้ำให้ลูกค้า ยกเป็นอุทาหรณ์ ส่วนคดีก็ว่าไปตามกระบวนของกฎหมาย พร้อมขอให้พลังงานจังหวัดแจ้งความดำเนินคดี ส่วนพนักงานสอบสวนมีหน้าที่สอบสวนเพื่อหาความจริงเพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับความเป็นธรรม

จากกรณีนางสมนึก สิทธิการณา พลังงานจังหวัดกาญจนบุรี เข้าพบ ร.ต.ท.ทัศเทพ เพร็ชศรี รอง สว. (สอบสวน) สภ.หนองปรือ เพื่อแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีเจ้าของปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งตั้งอยู่ท้องที่ ต.สมเด็จเจริญ อ.หนองปรือ จ.กาญจนบุรี ในข้อกล่าวหา กระทำผิดตาม พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 มาตรา 25 วรรค 3 และมาตรา 50 ซึ่งมีโทษตามมาตรา 48 และ 49

ขณะที่น้องชายเจ้าของปั๊มให้การว่าน้ำมันดีเซล B7 ที่บีบออกจากหัวจ่ายเพื่อให้ลูกค้าเมื่อวันที่ 22 เม.ย.เป็นน้ำมันที่มีน้ำเจือปนอยู่จริง ตามคลิปที่ผู้เสียหายไปโพสต์ลงในเฟซบุ๊ก โดยมีพนักงานเป็นผู้บีบตัวอย่างลงในแกลลอน ทางปั๊มเองไม่ทราบว่าสาเหตุที่มีน้ำเจือปนในน้ำมันเกิดจากสาเหตุใด ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

เมื่อวานนี้ (2 พ.ค.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้มอบหมายให้ ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ หรือเสธหิ ที่ปรึกษาเดินทางมาตรวจสอบและติดตามความคืบหน้ากรณีข้างต้น โดยมีนางนิภา ศรแก้ว ผู้อำนวยการกองคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง นายอัครเดช ศุกระกาญจน์ ผู้อำนวยการกองกฎหมาย กรมธุรกิจพลังงาน และนางสมนึก สิทธิการณา พลังงานจังหวัดกาญจนบุรี ร่วมกับ พล.ต.ต.กำธร อุ่ยเจริญ ผู้บังคับการศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 7 (ผบก.ศพฐ.7) พร้อมเจ้าหน้าที่ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 7

พ.ต.อ.สรวิชญ์ บัวกลิ่น ผกก.สภ.หนืองปรือ พ.อ.ทวี ดอนวิจิตร หัวหน้ากลุ่มงานประสานความมั่นคง กอ.รมน.จังหวัดกาญจนบุรี ร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงที่พบว่ามีน้ำปนในน้ำมันดีเซลบี 7 ที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่รถยนต์ของประชาชน และกำชับให้สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงตรวจสอบและดูแลเรื่องคุณภาพ รวมถึงปริมาตรน้ำมันให้เป็นไปตามกฎหมายเพื่อให้ประชาชนไม่ได้รับความเดือดร้อน

พร้อมกันนี้ กองคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงได้เก็บตัวอย่างน้ำมันเพื่อตรวจสอบคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน โดยมีน้องชายเจ้าของปั๊มพาตรวจสอบ ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง จึงแล้วเสร็จ

ทั้งนี้ ดร.หิมาลัย เปิดเผยภายหลังตรวจสอบว่า จากกรณีที่เกิดขึ้น นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวพัน ส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง เนื่องจากประชาชนได้จ่ายเงินค่าน้ำมันไปแล้ว ประชาชนต้องอยากได้น้ำมันที่มีคุณภาพและปริมาณที่ครบถ้วนตามจำนวนเงินที่จ่ายไป

หลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานราชการที่จะต้องลงมาตรวจสอบเรื่องเหล่านี้ ซึ่งขณะนี้ท่านรัฐมนตรีท่านทำงานอยู่หลายอย่าง เช่น ในระดับนโยบายท่านทำในเรื่องการปรับโครงสร้างต่าง ๆ เพื่อให้ได้รับน้ำมันที่มีความเป็นธรรม แต่ขณะเดียวกันเมื่อมาถึงระดับของประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงก็ต้องการให้ประชาชนได้รับสินค้าที่ตรงตามคุณภาพและปริมาณของน้ำมันตามที่ได้ระบุไว้ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ

สำหรับเรื่องที่เกิดขึ้นนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานอยากให้เจ้าที่ที่เกี่ยวข้องมีการตื่นตัว โดยพลังงานจังหวัดทุกจังหวัดจะต้องมีนโยบายแนวทางการตรวจสอบให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องที่เกิดขึ้นต้องขอขอบคุณสื่อมวลชนและประชาชนที่ร้องเรียนเพราะถือว่าช่วยเป็นหูเป็นตาให้ทางราชการ ซึ่งทางราชการต้องรีบเข้าไปแก้ไข ต้องฝากไปยังพลังงานจังหวัดทุกจังหวัดว่าต่อไปเมื่อได้รับเรื่องร้องเรียนแล้วจะมีวิธีการอย่างไรที่จะดำเนินการให้ผู้ร้องได้รับความพึงพอใจ และจะมีวิธีการอย่างไรเพื่อที่จะหาความจริงมาตอบประชาชนให้ได้

โดยการเดินทางมาในครั้งนี้ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการปั๊มน้ำมันเป็นอย่างดี เพื่อที่จะร่วมกันหาทางออก และหาคำตอบให้ประชาชนว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นมันเป็นการเจตนาหรือไม่เจตนา เพราะหากมีการพลั้งเผลอหรือบกพร่องตรงไหนผู้ประกอบการจะต้องไปทำการแก้ไข ในส่วนของคดีให้ว่ากันไปตามกฎหมาย โดยพลังงานจังหวัดมีหน้าที่แจ้งความดำเนินคดี ส่วนพนักงานสอบสวนมีหน้าที่สอบสวนเพื่อหาความจริงเพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับความเป็นธรรม

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จะถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาตของผู้ประกอบการหรือไม่นั้น คงยังตอบไม่ได้ ให้เป็นไปตามข้อกฎหมายเบื้องต้น ตนยังไม่ทราบว่าข้อกฎหมายเป็นอย่างไร ซึ่งตรงนี้ต้องรอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการสอบสวน รวมทั้งเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานได้ทำการตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดก่อนว่าจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนเกี่ยวกับความหนักเบาของพฤติกรรม

ซึ่งในข้อกฎหมายมีอยู่แล้ว ต่อไปลักษณะของการที่จะเพิ่มโทษอะไรต่าง ๆ ทางผู้บริหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเป็นผู้วินิจฉัยร่วมกัน แต่ขณะนี้ข้อกฎหมายที่มีอยู่จะต้องบังคับใช้ให้มีความยุติธรรมกับประชาชนและต้องให้ความยุติธรรมกับผู้ประกอบการด้วยว่าเขามีเจตนาอย่างไร ซึ่งต้องฝากไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ทำการสืบสวนสอบสวนเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงต่อไป

ในส่วนนโยบายขณะนี้รัฐมนตรีกำลังดำเนินการแก้ไข เช่น ตอนนี้ได้ให้มีการแจ้งต้นทุนน้ำมัน เพื่อเวลาที่รัฐบาลขอความร่วมมือหรือควบคุมราคาน้ำมันต่าง ๆ จะได้ทราบต้นทุนราคาน้ำมันที่แท้จริง ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการแจ้งต้นทุนราคาน้ำมันมาก่อนเลย ทำให้เราไม่สามารถทราบราคาต้นทุนน้ำมันที่แท้จริงได้ ต่อไปเมื่อรัฐบาลสามารถทราบราคาต้นทุนที่แท้จริงได้ จะทำให้รัฐบาลสามารถดูแลประชาชนได้ดีและมีความเป็นธรรมมากขึ้น

‘ดร.หิมาลัย’ ลงพื้นที่ ‘ลพบุรี’ พบปั๊มน้ำมัน มีค่ากำมะถัน สูงเกินเกณฑ์ เผย!! ดำเนินการตรวจสอบคุณภาพน้ำมัน ตามนโยบายของ ‘ท่านพีระพันธุ์’

เมื่อวานนี้ (5 ก.ค.67) ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ พร้อมด้วย นายทนงศักดิ์ วงษ์ลา พลังงานจังหวัดลพบุรี เจ้าหน้าที่ตำรวจกองวิทยาการพิสูจน์หลักฐานจังหวัดลพบุรี เดินทางมาที่ สภ.บ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี เพื่อติดตามการดำเนินคดี กับผู้ประกอบการปั๊มน้ำมัน

หลังจากที่ก่อนหน้านี้ สำนักงานพลังงานจังหวัดลพบุรี ออกตรวจสอบคุณภาพน้ำมันจากปั๊มน้ำมันต่างๆ ในพื้นที่ 3 อำเภอ ของจังหวัดลพบุรี ทั้งหมด 28 ปั๊ม โดยทางสำนักงานพลังงานจังหวัดลพบุรี ส่งน้ำมันไปตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพน้ำมันยังกรมธุรกิจพลังงาน

ต่อมาแจ้งผลการตรวจคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงมาที่พลังงานจังหวัดว่า มีผลค่ากำมะถันในน้ำมันเกินค่ามาตรฐานจำนวน 2 ปั๊ม พบผลการตรวจค่ากำมะถันนี้ สูงกว่า 240 PPM. เกินกว่าค่าปกติถึง 4 เท่า วัดจากค่ามาตรฐานของน้ำมันกำมะถันที่กำหนดไว้ 50 PPM.

ทางสำนักงานพลังงานจังหวัดลพบุรี เข้าแจ้งความดำเนินคดี กับสถานประกอบการทั้ง 2 แห่ง แล้ว โดยวันนี้มีผู้ประกอบการน้ำมันเชื้อเพลิงพร้อมกับทนายความ เดินทางมาเข้าร่วมประชุมกับเจ้าหน้าที่ด้วยเช่นกัน เบื้องต้นยังไม่ทราบสาเหตุที่ทำให้มีสารกำมะถันสูงกว่ามาตรฐาน

ดร.หิมาลัย กล่าวว่า ในขั้นต้นได้รับรายงานว่า สำนักงานพลังงานจังหวัดลพบุรี ตรวจสอบคุณภาพน้ำมันให้มีมาตรฐานตามนโยบายของ นายพีระพันธ์ุ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

ซึ่งเราก็ได้รับการร้องขอความเป็นธรรมมาจากผู้ประกอบการ วันนี้มานั่งประชุมกันทั้ง 2 ฝ่าย ทำความเข้าใจการทำงานของเจ้าหน้าที่ และเจ้าหน้าที่เองก็ทำงานที่ตรงไปตรงมา ซึ่งก็เป็นการปฏิบัติงานตามวงรอบ ขณะเดียวกันทางเราก็รับทราบปัญหาจากทางผู้ประกอบการด้วย

การหารือวันนี้ ถือว่าเป็นไปโดยดี เป็นการรับฟังข้อมูลจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชน เราต้องการที่จะดูแลผลประโยชน์ให้ประชาชนในเรื่องของน้ำมันให้มีคุณภาพและมีมาตรฐานเดียวกัน ดร.หิมาลัย กล่าว

ด้านนายทนงศักดิ์ กล่าวว่า ดำเนินการตรวจสอบตามปกติ คือ พลังงานจังหวัดลพบุรี มีแผนสุ่มตรวจในจังหวัด โดยขณะนี้มีอยู่ 3 พื้นที่ 3 อำเภอ ในการสุ่มตรวจทั้งหมด 28 ปั๊มที่ได้มา ไม่ได้เจาะจงปั๊มใดปั๊มหนึ่ง เมื่อส่งตรวจแล้วทางกรมธุรกิจพลังงานได้ส่งรายการแจ้งมาที่สำนักงานพลังงานจังหวัด ว่ามีผลเกินค่ามาตรฐานอยู่ 2 ปั๊ม คือมาตรฐานที่ประมาณ 50 PPM. ต่อปริมาณ แต่ว่าผลการตรวจของ ปั๊มทั้ง 2 แห่งสูงกว่า 240 PPM. และขณะนี้ขั้นตอนอยู่ระหว่างการดำเนินการในการแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมาย

‘พรรครวมไทยสร้างชาติ - รร.สตรีวัดระฆัง - 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ ร่วมมือ!! นำเยาวชน เรียนรู้ ประชาธิปไตย เข้าใจรากฐานของ ‘รัฐธรรมนูญ’

เมื่อวานนี้ (4 ธ.ค. 67) พรรครวมไทยสร้างชาติ จัดโครงการสัมมนาเชิงวิชาการและเผยแพร่ความรู้ ‘เบื้องแรกประชาธิปไตย: พัฒนาการปกครอง การปฏิรูปสยาม สภาพสังคมและเศรษฐกิจ เตรียมพร้อมสู่การมีรัฐธรรมนูญด้วยพระมหากรุณาธิคุณจากรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 7’ โดย ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ผู้อำนวยการพรรครวมไทยสร้างชาติ มอบหมายให้นายอิทธิพัทธ์ เศรษฐยุกานนท์ คณะทำงานรองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายวสวัตติ์ กลิ่นขจร เลขานุการผู้อำนวยการพรรครวมไทยสร้างชาติ
ดำเนินการโครงการในครั้งนี้

เป้าหมายในการจัดโครงการ เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้สร้างความรู้และความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยอย่างถ่องแท้ โดยมีนักเรียนโรงเรียนสตรีวัดระฆัง ให้ความสนใจเข้าร่วมกว่า 150 คน ซึ่งมีกิจกรรมดังต่อไปนี้

การรับชมภาพยนตร์ ‘2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ ที่ถ่ายทอดเรื่องราวประวัติศาสตร์ สร้างแง่คิดให้คนรุ่นหลังได้อย่างน่าสนใจ ร่วมกับนายวิวัธน์ จิโรจน์กุล ผู้กำกับภาพยนตร์ฯ 

ร่วมรับฟังบรรยายพร้อมเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งนำเสนอประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนผ่านการปกครองของไทยจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ประชาธิปไตย พร้อมทั้งได้เรียนรู้ถึงบทบาทสำคัญของพระมหากษัตริย์ในรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 7 ในการวางรากฐานสู่รัฐธรรมนูญไทย 

และเข้าเยี่ยมชมรัฐสภาไทย องค์กรสำคัญตามรัฐธรรมนูญไทย ได้สัมผัสบรรยากาศการทำงาน และได้ฟังบรรยายถึงบทบาทของรัฐสภา ที่มีผลต่อการปกครองบ้านเมืองและการบริหารประเทศในหลายด้าน

‘ดร.หิมาลัย’ นำทีมรวมไทยสร้างชาติ ลงพื้นที่!! ‘ลพบุรี’ บรรยายพิเศษ ให้ความรู้ ‘2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’

(14 ธ.ค. 67) ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ผู้อำนวยการพรรครวมไทยสร้างชาติ , สส.สัญญา นิลสุพรรณ , นางพิมพ์ปวีณ์ นิลสุพรรณ เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ , นายวสวัตติ์ กลิ่นขจร เลขานุการผู้อำนวยการพรรครวมไทยสร้างชาติ , นายอิทธิพัทธ์ เศรษฐยุกานนท์ คณะทำงานผู้อำนวยการพรรครวมไทยสร้างชาติ , นางปวีณา นิลแย้ม คณะทำงานผู้อำนวยการพรรครวมไทยสร้างชาติ , นายติน ตันติเตชะ หัวหน้าฝ่ายทะเบียนสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ  พร้อมคณะ เข้าร่วมกิจกรรมโครงการ ๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ และพบปะพี่น้องประชาชนชาวพัฒนานิคม ณ อาคารสหกรณ์การเกษตรพัฒนานิคมจำกัด ตำบลดีลัง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี  ในการนี้ได้รับการต้อนรับจาก นายบุญมี หรัดดี ประธาน อสม. จังหวัดลพบุรี , สุภกร กมลพัฒนะ รองประธาน อสม.จังหวัดลพบุรี , นายเดชวุฒิ นิลแย้ม อดีตนายอำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี พร้อมด้วยผู้นำท้องที่และท้องถิ่น

‘ดร.หิมาลัย’ โต้คนบงการเขียนบทความโจมตี ‘พีระพันธุ์’ ซัด!! ไร้ความเข้าใจนโยบาย แนะลาออกไปรับเงินเดือน บ.น้ำมัน

‘ดร.หิมาลัย’ ร่ายยาวสวนกลับบทความคนในกระทรวงพลังงานโจมตี ‘พีระพันธุ์’ ย้ำชัด หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ มุ่งทำเพื่อประชาชน ชี้ การสำรองน้ำมัน 90 วัน มีความจำเป็นด้านความมั่นคง ซัดคนเขียนบทความเพ้อเจ้อ ไม่รู้ข้อเท็จจริง ซัด ความคิดอคติแบบนี้ ลาออกไปรับเงินเดือนเอกชนเลยดีกว่า

(7 ม.ค. 68) ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ผู้อำนวยการพรรครวมไทยสร้างชาติ และที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ” กรณีมีบทความโจมตีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งถูกเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงานข่าว THE ROOM44 และทางเฟซบุ๊กพลังงานจังหวัดลำปางได้นำไปโพสต์ต่อ ก่อนจะถูกลบทิ้งในเวลาต่อมา 

โดย ดร.หิมาลัย ได้ระบุว่า รู้กฎหมาย และสำนึกในบุญคุณของประชาชนและประเทศชาติ

ตามที่เป็นข่าวฮือฮา ในเรื่องของการลงบทความ โจมตี พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ในหัวข้อ “ รู้กฎหมาย ไม่รู้เรื่อง พลังงาน” โดยผู้เขียนบทความ ผ่านเพจพลังงานจังหวัดลำปางนั้น เป็นเรื่องที่น่าตกใจเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะ เมื่อคุณ สายธาร ประสงค์ความดี พลังงานจังหวัดลำปาง ได้เปิดเผยว่า โพสต์ดังกล่าว มาจากทีมงานประชาสัมพันธ์จากส่วนกลาง ยิ่งน่ากังวลเป็นอย่างมาก

ผู้เขียนบทความ อ้างว่าเป็นคนในกระทรวงพลังงานที่อึดอัดกับการทำงานของ ท่านรัฐมนตรีพลังงานเป็นอย่างมาก ใช้คำพูดค่อนข้างรุนแรง ว่านโยบายของท่าน เป็นคำพูดสวยหรู ดันทุรัง เป็นการสร้างภาพ แสดงว่าผู้เขียนบทความ ไม่ได้ทำความเข้าใจอย่างแท้จริง กับนโยบาย ของนายพีรพันธุ์ฯ ที่ทำเพื่อประชาชน

ผมเคยเขียน บทความ และพูด ให้กลุ่มคนเล็กๆที่สนใจในเรื่องนี้ฟังหลายครั้ง ซึ่งหลังจากอธิบายด้วยภาษาง่ายๆ ก็สามารถสร้างความเข้าใจได้ แต่อาจจะยากสำหรับท่านผู้เขียนบทความท่านนี้ ท่านน่าจะมีการศึกษาที่สูงส่ง จนไม่เข้าใจ คำอธิบายง่ายๆ ของท่านรัฐมนตรีพลังงาน ผมใคร่ขอชี้แจง อีกสักครั้ง

การสำรองน้ำมัน 90 วันนั้น เป็นไปเพื่อความมั่นคงของประเทศ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ท่านอย่าคิดว่า สถานการณ์ที่จำเป็นจะไม่เกิดขึ้น ให้ย้อนไปดูสถานการณ์ของโลก ในปัจจุบันนี้ ที่มีความขัดแย้งอยู่ทั่วไปในภูมิภาค หากเกิดความขัดแย้งในภูมิภาคแถวนี้ และการขนส่งน้ำมันไม่สามารถจะทำได้ นั่นหมายความว่าธุรกิจภายในประเทศจะต้องหยุดชะงักหลังจากพ้น 30 วันไปแล้ว

การที่ประเทศมหาอำนาจ และประเทศที่ต้องการความมั่นคงทางเศรษฐกิจ กำหนดให้ระยะเวลา 90 วันนั้น ได้มีการคำนวนตามหลักวิชาการและประสบการณ์ อย่างถี่ถ้วนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นขบวนการขนส่ง การเจรจาคู่ขัดแย้ง การเปิดน่านน้ำ การบริโภคภายในประเทศ ตัวเลข 90 วัน จึงเป็นตัวเลขที่เหมาะสมที่สุด ที่สำคัญ ภาระในการสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคง ไม่ใช่ของประชาชน เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องแบกรับ แต่หากเกิดสถานการณ์ขึ้นจริง เขาก็สามารถ มีน้ำมันที่จะขาย สร้างรายได้ให้บริษัทฯ ในช่วงนั้นอยู่แล้ว ทีนี้เรามาตั้งคำถามต่อไปว่า ผู้เขียนบทความอ้างว่าหากใช้ระบบนี้ จะทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนเพิ่มขึ้น อาจจะถึงขั้นแบกรับไม่ไหวต้องถอนตัวออกจากธุรกิจไป ก็ต้องถามต่อไปว่า แล้วที่เขาไปทำธุรกิจน้ำมัน กับหลายประเทศ ที่กำหนดไว้ 90 วัน ทำไมเขาถึงทำได้ ก็เห็นข่าวว่ามีแหล่งน้ำมันที่ไหน บริษัทที่ท่านเป็นห่วงก็ไปแย่งประมูลทุกที่ไป อย่าไปกังวลแทนเขาเลยครับ

ผู้เขียนบทความ ยังเหวี่ยงแหระหว่างการสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคง ที่บริษัทผู้ค้า ต้องเป็นผู้สำรองเพื่อเป็นหลักประกันว่าท่านจะมีน้ำมันขายให้กับประชาชนในประเทศนี้ไม่ต่ำกว่า 90 วัน ไปพูดขยายความว่า รัฐจะต้องนำเงินจากภาษีประชาชนมาซื้อน้ำมันส่วนนี้ หากกระทรวงพลังงานมีข้าราชการแบบนี้อยู่ น่าเป็นห่วงนะครับ เพราะท่านนี้หากเป็นนักเรียนก็เป็นประเภทไม่สนใจเรียน เวลาครูสอนก็ไม่ฟัง ผลสอบมาก็ตก แล้วยังหน้าด้านไปติวเพื่อนอีก ถ้าไม่เข้าใจก็ย้อนกลับไปอ่านซ้ำๆหลายทีนะครับ ส่วนที่ท่านพูดถึงว่าอาจจะต้องใช้เงินภาษีประชาชนซื้อ น่าจะเป็น น้ำมันเพื่อความมั่นคงตามยุทธศาสตร์ชาติ ท่านพีรพันธุ์ ท่านก็มาคิดว่าเมื่อสำรองน้ำมันให้ประชาชนใช้ 90 วันแล้ว หากมีสถานการณ์เกิดขึ้น รัฐจะเอาน้ำมันที่ไหนมาบริหารด้านความมั่นคง เช่น ให้ทหารใช้เพื่อการป้องกันประเทศ ให้ตำรวจใช้เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม ให้หน่วยราชการต่าง ๆ ใช้ เพื่อให้บริการประชาชน ทำอย่างไรไม่ให้การใช้น้ำมันของภาครัฐไปเบียดบังประชาชนในสถานการณ์วิกฤต ท่านจึงคิดระบบสำรองน้ำมันเพื่อยุทธศาสตร์ชาติ และเชื่อไหมครับว่า ระบบของท่าน ไม่ต้องใช้เงินแม้แต่บาทเดียว ทำอย่างไรหรอครับ ท่านก็ใช้วิธีเก็บกองทุนน้ำมันเป็นน้ำมันครับ น้ำมันส่วนนี้แหละครับ ที่ที่รัฐจะใช้ เพื่อความมั่นคงของประเทศ และยังใช้เพื่อรักษาเสถียรภาพ ราคาน้ำมันด้วย ทำได้อย่างไรหรอครับ ผมจะอธิบายให้ฟัง

เรามาดูที่มาของกองทุนน้ำมันก่อนครับ ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ในช่วง วันที่ 5 ม.ย. 2510 - 10 มิ.ย. 2510 ได้เกิดสงคราม 6 วัน ระหว่าง อิสราเอลกับกลุ่มประเทศอาหรับ ได้แก่ จอร์แดน ซีเรีย และอียิปต์ ผลของสงครามทำให้เกิดวิกฤตการณ์ขาดแคนน้ำมันในตลาดโลกทำให้ราคาน้ำมันขึ้นสูงมาก ประเทศต่างๆจึงได้คิดระบบกองทุนน้ำมันเพื่อรักษาเสถียรภาพ ของราคาน้ำมันในประเทศตัวเองขึ้น ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆในยุโรปใช้วิธีตั้งกองทุนน้ำมันเป็นน้ำมัน คือเก็บน้ำมันเข้าคลังสำรองน้ำมันของประเทศ หากราคาน้ำมันขึ้นราคา ก็ใช้วิธีนำน้ำมันจากกองทุนน้ำมัน ออกสู่ท้องตลาด ทำให้มีน้ำมันเพียงพอต่อความต้องการ ราคาน้ำมันก็จะลดระดับลง ท่านพีรพันธุ์ก็นำความคิดนี้แหละครับ มาใช้ในประเทศเรา ระบบนี้มีข้อดีอย่างไรผมขอชี้แจงอย่างนี้นะครับ

ในปัจจุบัน กองทุนน้ำมันที่ตั้งขึ้นมาที่ประเทศอื่นเขาเก็บเป็นน้ำมัน แต่เราเก็บเป็นเงิน สภาพกองทุน ติดลบตลอดเวลา เพราะอะไรรู้มั้ยครับ เพราะมันผิดธรรมชาติครับ เจตนาการตั้งกองทุน เพื่อแบ่งกำไรจากผู้ประกอบการมาเข้ากองทุนในช่วงที่ราคาน้ำมันของตลาดโลกลดราคาลงและนำเงินส่วนที่เก็บไว้นี้จ่ายคืนให้ผู้ประกอบการในช่วงที่ราคาน้ำมันของตลาดโลกขึ้นราคา เพื่อเป็นการชดเชยให้ผู้ประกอบการสามารถขายน้ำมันในราคาที่ถูกลงได้ แต่มันผิดธรรมชาติอย่างไรรู้มั้ยครับ กองทุนน้ำมันที่เราตั้งใจเก็บจากกำไรของผู้ประกอบการกลับถูกนำไปบวก เพิ่มในราคาน้ำมันของเรา แสดงว่ากองทุนนี้โดนผลักภาระมาเป็นของประชาชน เท่านั้นยังไม่พอนะครับ สมมุติว่า วันนี้ ต้นทุนน้ำมันอยู่ที่ 20 บาท รัฐให้มีค่าใช้จ่ายต่างๆได้ 10 บาท ราคาขายจะเป็น 30 บาท รัฐแจ้งว่า ต้องการให้ลดราคาน้ำมันเหลือ 25 บาท นั่นหมายความว่ารัฐต้องชดเชยต้นทุนน้ำมันลิตรละ 5 บาทเพื่อให้ราคาลงมาที่ 25 บาท ประเด็นอยู่ตรงนี้นะครับ ที่ผ่านมารัฐไม่เคยทราบต้นทุนราคาน้ำมันที่แท้จริงเลย เมื่อรัฐ แจ้งให้ขายในราคา 25 บาท แล้วผู้ประกอบการแจ้งว่า ต้นทุนราคาน้ำมันของตัวเองอยู่ที่ 30 บาท ราคาขายจะต้องเป็น 40 บาท เมื่อรัฐต้องการให้ขาย ที่ 25 บาท นั่นหมายความว่า รัฐต้องจ่ายให้ผู้ประกอบการ 15 บาท ท่านเห็นอะไรไหมครับ เป็นเรื่องตลกสิ้นดี ถ้าเราไม่รู้ต้นทุนราคาน้ำมัน ผู้ประกอบการได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง ครั้งแรก กองทุนน้ำมันผู้ประกอบการก็ไม่ได้ควักกระเป๋า มาบวกเอากับผู้บริโภคเอาดื้อๆ เท่านั้นยังไม่พอเมื่อรับแจ้งควบคุมราคาน้ำมันก็มาเอาเงินของประชาชนกลับเข้ากระเป๋าของตัวเองอย่างหน้าตาเฉย ทีนี้เรามาดูนะครับ น้ำปลา มาม่า เนื้อหมู เนื้อไก่ ผู้ประกอบการยังต้องแจ้งต้นทุน จะขึ้นราคายังต้องขออนุญาต ที่ผ่านมาผู้ประกอบการน้ำมันขึ้นราคาได้ตามอำเภอใจ โดยอ้างว่าต้นทุนมีราคาสูงแล้วเมื่อรัฐขอดูก็ไม่ให้ นี่คือเหตุผลที่ท่านพีรพันธุ์ ต้องออกกฎหมายให้แจ้งต้นทุนราคาน้ำมัน เพื่อใช้คำนวณและหาค่าเฉลี่ยนำไปสู่การควบคุมราคาน้ำมันให้ขึ้นลงได้เดือนละ 1 ครั้ง สิ่งนี้มีผลในทางธุรกิจสูงมากนะครับ เพราะต้นทุนราคาน้ำมันนั้น เป็นต้นทุนสำคัญของภาคการผลิต อย่างน้อยราคาน้ำมันปรับเดือนละครั้ง ผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ ก็จะสามารถทราบต้นทุนการผลิตของตนเองในส่วนนี้ได้ ในขณะเดียวกันเมื่อรัฐแจ้งนโยบายราคาน้ำมัน รัฐก็จะรู้ต้นทุนที่แท้จริง ว่าจะต้องเอากองทุนอุดหนุนกลับไปให้กับผู้ค้าน้ำมันเป็นเงินเท่าไหร่ จึงจะเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย

ทีนี้มาดูต่อครับ ถ้าเราเก็บกองทุนน้ำมันเป็นน้ำมัน เวลารัฐจะอุดหนุน ก็จะอุดหนุนกลับไปเป็นน้ำมันใช่ไหมครับ ทีนี้ลองมาดูนะครับ ถ้ารับสั่งให้คงราคาน้ำมันที่ 25 บาท บริษัท A แจ้งว่า ต้นทุนเขาอยู่ที่ 20 + ค่าประกอบการตามที่รัฐให้อีก 10 บาท ราคาขายของเขา ก็จะเป็น 30 บาท รัฐต้องชดเชยให้เขา 5 บาทสมมุติเค้าขายไป 100 ลิตร รัฐต้องชดเชยเขา 500 บาท ราคาน้ำมันของเขา 30 บาท เขาจะได้น้ำมันกลับไปเท่าไร ก็เอา 500 หาร 30 บริษัท A ก็จะได้ นำมันกลับไป 16.667 ลิตร 

ที่นี้มาดู บริษัท B เจ้าเล่ห์หน่อย แจ้งต้นทุน 30+ ค่าประกอบการตามที่รัฐให้อีก 10 บาท ค้าขายของเขา ก็จะเป็น 40 บาท เมื่อรัฐสั่ง ให้ราคานโยบาย อยู่ที่ 25 บาท ถ้ารับเป็นเงินแบบเดิม และไม่มีการพิสูจน์ต้นทุนราคาน้ำมันเหมือนที่ผ่านมา บริษัท B ก็จะได้รับชดเชย 15 บาท ถ้าขายไป 100 ลิตร เขาจะได้รับชดเชยเป็นเงิน ถึง 1500 บาท แต่ถ้ากองทุนน้ำมันเป็นน้ำมัน ก็เอา 1500 หารด้วยราคาน้ำมัน 40 บาท ตามที่เขาแจ้ง เขาจะได้น้ำมันกลับไป 37.5 ลิตร 

เห็นหรือยังครับว่า การแจ้งต้นทุนราคาน้ำมัน สำคัญอย่างไร เพราะหาก บริษัท B แจ้งต้นทุนราคาน้ำมัน มาสูงกว่าราคากลางที่รัฐกำหนด บริษัท B จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า ต้นทุนราคาน้ำมันของตัวเองนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร หากชี้แจงไม่ได้ก็ต้องใช้ราคากลางที่รัฐกำหนด ซึ่งถ้าผู้ประกอบการทำธุรกิจอย่างตรงไปตรงมา ก็ไม่มีอะไรน่ากังวล

ท่านผู้เขียนบทความที่อ้างว่าเป็นคนในกระทรวงพลังงาน ยังพยายามที่จะใส่ร้ายท่านพีรพันธุ์ต่อไปอีกว่า ระบบ Cost Plus จะทำให้ประชาชนต้องมาแบกรับความเสี่ยง ผมว่าท่านน่ะเพ้อเจ้อ ท่านเขียนบทความนี้รู้สึกละอายบ้างไหมครับ วันนี้ประชาชนไม่ได้โง่นะครับ ทุกวันนี้น้ำมันที่ขายในประเทศถามจริงๆนะครับ เรือน้ำมันเข้ามาส่งที่ไหนครับ ที่แหลมฉบัง เกาะสีชังกับท่าเรือต่างๆในประเทศใช่ไหมครับ แล้วการไปอิงราคาหน้าโรงกลั่นสิงคโปร์ มีการเอาค่าขนส่งจากสิงคโปร์มาไทยบวกเข้าไปในต้นทุนราคาน้ำมัน ในฐานะที่ท่านเป็นข้าราชการกินเงินเดือนภาษีจากประชาชนท่านปล่อยให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ได้อย่างไรครับ ไม่ว่าจะเป็นการเอาเงินกองทุนน้ำมันไปบวกในโครงสร้างราคาน้ำมัน เอาค่าขนส่งไปบวกในโครงสร้างราคาน้ำมัน ทำไมท่านไม่ค้านเขาครับ แล้วไปห่วงเรื่องค่าการตลาดของเขาอีก ค่าการตลาดก็ไปบวกในโครงสร้างราคาน้ำมันอีก การตลาดของธุรกิจที่ไหนก็ตามก็ต้องเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการทั้งนั้นแหละครับ แล้วค่าการตลาดของบริษัทน้ำมัน มันมีอยู่จริงหรอครับ มันต้องโฆษณาต้องจัดอีเวนท์ ต้องสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ทำปั๊มน้ำมันหรอครับ ที่ผมสงสัยเนี่ยประชาชนหลายคนก็สงสัยท่านช่วยตอบผมด้วยนะครับ

และการที่ท่านพีรพันธุ์ มีแนวคิดให้ผู้ประกอบการเฉพาะด้านเฉพาะกลุ่ม สามารถรวมตัวกันจัดซื้อน้ำมันได้เอง ก็เพื่อลดภาระของประชาชน เช่นกลุ่มขนส่ง กลุ่มเกษตรกร กลุ่มประมง เมื่อเค้าซื้อน้ำมันได้ถูก ต้นทุนสินค้าจากกลุ่มพวกนี้ก็จะถูกลงไปด้วย เรื่องแบบนี้ท่านคิดไม่ออกจริง ๆ หรอครับ

ท่านรู้มั้ยครับ ว่าพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ทำงานหนักเพื่อประชาชนขนาดไหน ตีสองตีสามท่านยังส่งข้อความสั่งงานผมอยู่เลยครับ พอตอนเช้า ก่อน 8 โมงเช้าท่านถึงกระทรวงหรือทำเนียบแล้วครับ ท่านบอกผมว่าท่านต้องเร่งทำงานทุกวันเพราะไม่รู้ว่าจะอยู่ทำงานได้ถึงวันไหนท่านต้องการให้ทุก ๆ วันท่านได้ตอบแทนประชาชน ไม่ใช่คำพูดสวยหรูครับ พรรครวมไทยสร้างชาติไม่ใช่พรรคที่มีทุนหนา แต่อยู่ได้ด้วยศรัทธาและความรักจากประชาชน เราได้รับเงินอุดหนุนพรรคการเมืองจาก คณะกรรมการการเลือกตั้ง ปี 2568 เป็นอันดับ 1 เป็นจำนวนถึง 17,934,107.84 บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้ส่วนหนึ่งมาจากการบริจาคให้พรรคการเมืองของประชาชน ดังนั้น ทุกสิ่งอย่างที่พีรพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ทำนั้น เป็นเพราะรู้สำนึกในบุญคุณของประชาชนและประเทศชาติ สำหรับท่านผู้เขียนบทความ ในฐานะคนในกระทรวงพลังงานแต่ลงท้ายบทความว่า “ในฐานะผู้ผลิต” ผมขอแนะนำให้ท่านลาออกจากราชการ และไปรับเงินเดือนจากบริษัทผู้ค้าน้ำมันน่าจะถูกต้องกว่า

‘ดร.หิมาลัย’ แจงปม ‘พีระพันธุ์’ เร่งลดค่าน้ำมัน-ค่าไฟ หวังดึงนักลงทุนกลับไทย ย้ำ! ลดค่าไฟต่ำกว่า 4 บาท คิดไว้อยู่แล้ว

เร่งเดินหน้าเพื่อเศรษฐกิจไทย ‘หิมาลัย’ แจงปม ‘พีระพันธุ์’ เร่งลดค่าน้ำมัน-ค่าไฟ เหตุหวังดึงนักลงทุนกลับไทย 

เมื่อวันที่ (22 ม.ค. 68) ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ผู้อำนวยการพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้โพสต์คลิปวิดีโอ ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวอธิบายถึงสาเหตุที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กำลังเร่งดำเนินนโยบาย “รื้อ ลด ปลด สร้างพลังงานไทย” โดยเฉพาะการลดราคาด้านพลังงานลงหลายประเภท ทั้งราคาน้ำมันและค่าไฟว่า ก่อนอื่นต้องบอกว่าการพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศ คือ สิ่งสำคัญของประเทศไทยในทุกวันนี้ เพราะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยยังเดินหน้าต่อไปได้ แต่ทุกวันนี้นักลงทุนต่างชาติกลับถอนตัวการลงทุนในไทยออกไป ทั้งที่ระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของไทยก็มีความเพียบพร้อมและตอบโจทย์ โดยสาเหตุสำคัญเกิดจาก 2 ประการหลัก ๆ ประกอบด้วย

ประการแรก คือ เรื่องต้นทุนการขนส่ง ที่การขนส่งมีต้นทุนหลัก ๆ คือน้ำมัน ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำมันเบนซินของไทยอยู่ที่ประมาณลิตรละ 40.35 บาท แตกต่างจากเวียดนามและมาเลเซีย ที่ราคาอยู่ที่ลิตรละ 36.42 บาท และ 15.31 บาท ตามลำดับ ส่วนน้ำมันดีเซลของไทยอยู่ที่ลิตรละประมาณ 30.94 บาท ส่วนเวียดนามและมาเลเซีย ราคาอยู่ที่ลิตรละประมาณ 30.28 บาท และ 16.69 บาท ตามลำดับ เช่นนี้จะเห็นได้ว่าราคาน้ำมันในไทยแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน อันเป็นเหตุให้นักลงทุนถอนการลงทุนในไทยแล้วย้ายไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านแทน

ประการต่อมา คือ เรื่องค่าไฟ ค่าไฟในไทยช่วงปลายปี 67 ราคาหน่วยละ 4.18 บาท ส่วนช่วงระหว่างม.ค.- เม.ย. 68 ราคาหน่วยละ 4.15 บาทซึ่งแพงกว่าเวียดนามและมาเลเซียที่ค่าไฟอยู่ที่หน่วยละ 3.57 บาท และ 1.80 บาท ปัจจัยนี้ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ เพราะการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันต้องใช้ไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก

ด้วยสาเหตุดังกล่าวจึงทำให้นายพีระพันธุ์ เร่งรื้อโครงสร้างราคาน้ำมันควบคู่ไปกับการลดราคาน้ำมัน และหาทางลดค่าไฟฟ้าในไทยลง โดยหวังลดค่าไฟให้เหลือต่ำกว่าหน่วยละ 4 บาท เพื่อหวังดึงนักลงทุนต่างชาติกลับเข้าไทย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศไทยให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งตนเองก็ขอบคุณรัฐบาลที่สนับสนุนแนวคิดของนายพีระพันธุ์ ด้วย

ดร.หิมาลัย ระบุด้วยว่า นายพีระพันธุ์ เคยย้ำว่า การเข้ามาทำงานในฐานะฝ่ายบริหาร ในตำแหน่งรัฐมนตรี จะต้องทำงานทุกวินาทีให้ดีที่สุด

“นายพีระพันธุ์ เคยบอกว่า ได้เข้ามาทำงานเพื่อประเทศแล้วต้องพยายามทำงานให้เต็มที่ ทำงานทุกวินาที ที่สำคัญที่สุด คือ ต้องยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก” ดร.หิมาลัย ระบุ

ก.พลังงาน รุดตรวจสอบกรณีบุกรุกพื้นที่ ‘เขื่อนคิรีธาร’ พบแอบปลูกทุเรียนกว่า 260 ไร่ ขีดเส้น 30 วัน ให้ออกจากพื้นที่

กระทรวงพลังงาน นำสื่อมวลชนลงพื้นที่เขื่อนคิรีธาร จังหวัดจันทบุรี หลังพบการบุกรุกพื้นที่โครงการฯ ปลูกทุเรียน กว่า 260 ไร่ พบไม่ใช่ทุนจีน ได้รับฟังเสียงชาวบ้านพร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เวลาออกจากพื้นที่ 30 วัน ก่อนดำเนินคดีผู้บุกรุก พร้อมเดินหน้าปรับปรุงพื้นที่เพื่อบริหารจัดการน้ำและผลิตไฟฟ้าอย่างยั่งยืน

(26 ก.พ. 68) ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นายนันทนิษฎ์ วงศ์วัฒนา รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ผู้แทนกรมป่าไม้ ผู้แทนสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) และส่วนปกครองจังหวัดจันทบุรี และคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่โครงการไฟฟ้าพลังน้ำคิรีธาร จังหวัดจันทบุรี เพื่อตรวจสอบการบุกรุกพื้นที่โครงการหลังพบการใช้พื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาต โดยเฉพาะในพื้นที่เกาะกลางอ่างเก็บน้ำ(เกาะร้อยไร่) ซึ่งมีขนาดกว่า 260 ไร่ โดยการลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงและหาข้อสรุป พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการให้เกิดความถูกต้องและป้องกันการบุกรุกซ้ำในอนาคต

ดร.หิมาลัย กล่าวว่า ได้มีการร่วมประชุมหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี พพ. กรมป่าไม้ ส.ป.ก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางออกร่วมกัน และได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยพบการบุกรุกพื้นที่เพื่อทำการเกษตรและปลูกพืชเศรษฐกิจ อาทิ ทุเรียน ในหลายจุด ซึ่งพบว่าไม่ใช่ทุนจีนแต่อย่างใด โดยพื้นที่การบุกรุกบางส่วนอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและบางส่วนเป็นพื้นที่ ส.ป.ก. ที่ต้องตรวจสอบสิทธิ์ ที่ผ่านมาทาง พพ.ได้แจ้งความร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีกับผู้บุกรุกพื้นที่บริเวณเกาะร้อยไร่ 262 ไร่ และพื้นที่โดยรอบโครงการฯ 17 ราย  21 แปลง 

“การบุกรุกพื้นที่รัฐเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวต้องหมดไป กระทรวงพลังงานและภาครัฐ จะดำเนินการถึงที่สุด ใครทำผิดต้องรับผิด เขื่อนคิรีธารไม่ได้เป็นเพียงโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ แต่เป็นแหล่งน้ำสำคัญของประชาชน การใช้พื้นที่ต้องเป็นไปตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนและประเทศชาติ ทั้งนี้ ได้มีการรับฟังเสียงประชาชน โดยประชาชนที่ได้รับเอกสารสิทธิ์จากราชการ จะดำเนินการเยียวยา ส่วนประชาชนที่เข้าใจผิดในการเข้าใช้พื้นที่ กระทรวงพลังงานจะให้เวลา 30 วันในการออกจากพื้นที่ก่อนจะดำเนินคดีหากพบว่ายังมีการบุกรุกอยู่”  ดร.หิมาลัย กล่าว

นายนันทนิษฎ์ วงศ์วัฒนา รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน  กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมา พพ. ได้ดำเนินการตรวจสอบพื้นที่และแจ้งผู้บุกรุกพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 ถึงปัจจุบัน ได้ติดตาม ตรวจสอบและประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่เขื่อนคิรีธาร มีการลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกับกรมป่าไม้ โดย พพ. มีหนังสือขอยกเลิก หรือเพิกถอนสิทธิการครอบครองที่ดินบางส่วนจาก ส.ป.ก. และแจ้งความดำเนินคดีกับผู้บุกรุกที่ไม่มีเอกสารสิทธิ โดยการดำเนินคดีและมาตรการต่าง ๆ จะเป็นไปตามกรอบกฎหมาย พร้อมขอความร่วมมือจากประชาชนให้ปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อการผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำที่เป็นพลังงานสะอาด และบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ พพ. ยังเตรียมเพิ่มประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าพลังน้ำคิรีธารให้สามารถเพิ่มน้ำต้นทุน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า

‘พีระพันธุ์’ ควง ‘เสธหิ’ มอบบ้านพร้อมทุนการศึกษา เยาวชนชาวกรุงเก่า ‘นางสาวสรัญญา’ เรียนดีแต่ฐานะยากจน

‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ มอบบ้านและเกียรติบัตรแสดงความยินดี ให้กับนางสาวสรัญญา มาลาพัด “นักเรียนดี เยาวชนต้นแบบ” 

เมื่อวันที่ (2 มี.ค. 68) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายฝันเด่น จรรยาธนากร โครงการใจถึงใจ พร้อมคณะ ลงพื้นที่มอบบ้าน ชุดเครื่องมือช่างซ่อมรถยนต์และเกียรติบัตรแสดงความยินดีพร้อมทั้งทุนการศึกษาให้กับนางสาวสรัญญา มาลาพัด ซึ่งเป็น “นักเรียนดี เยาวชนต้นแบบ” 

พร้อมกันนี้ “มูลนิธิพระราหู” ยังได้สนับสนุนสร้างบ้านและอุปกรณ์ซ่อมรถยนต์ ตามโครงการ  “ใจถึงใจ” ให้กับ นายสรสัณฑ์ เรืองสวัสดิ์ นางสาวเรียม มาลาพัด นางสาวสรัญญา มาลาพัด เด็กหญิงสุนิสา เรืองสวัสดิ์ ซึ่งเป็นครอบครัวที่ได้รับการช่วยเหลือ โดย พ.ต.ท.เตชิต เขื่อนหมั่น นายโอภาส ศรีเจริญ พร้อมคณะ ให้การต้อนรับ 

การสนับสนุนในครั้งนี้คือกำลังใจสำคัญที่ให้นางสาวสรัญญา มาลาพัดและครอบครัวมีความมุ่งมั่น ตั้งใจ ในการศึกษา และใช้ชีวิตประจำวันอย่างมีความสุขต่อไป

‘ก.พลังงาน’ แจง ฝายธงน้อย ไม่ใช่สาเหตุน้ำท่วมน่าน พร้อมเดินหน้าบริหารจัดการน้ำท่วม-น้ำแล้งอย่างยั่งยืน

พพ.ชี้แจงข้อเท็จจริง ฝายธงน้อยไม่ใช่สาเหตุของน้ำท่วมจังหวัดน่าน พร้อมเดินหน้ามาตรการบริหารจัดการน้ำ แก้น้ำท่วมช่วยภัยแล้งอย่างยั่งยืน

ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายนันทนิษฎ์ วงศ์วัฒนา รองอธิบดี พพ., นายชลน่าน ศรีแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน,นายทรงยศ รามสูต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน,นายณัฐพงษ์ สุปริยศิลป์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน,นายมังกร ศรีเจริญกุล สมาชิกวุฒิสภา, ผู้นำส่วนปกครองท้องถิ่น, หอการค้าจังหวัดน่าน, กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาฝายธงน้อย จังหวัดน่าน เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบของโครงการต่อสถานการณ์ น้ำท่วมในพื้นที่ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2568 ณ ห้องประชุมบุญรอด-นิธิพัฒน์ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน

ดร.หิมาลัย เปิดเผยว่า ในที่ประชุมได้มีการนำเสนอผลการศึกษาทางอุทกวิทยา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าฝายธงน้อย ไม่มีผลกระทบต่อการเกิดน้ำท่วม โดยผลการจำลองสถานการณ์เปรียบเทียบระดับน้ำระหว่างกรณีที่มีฝายธงน้อยและไม่มีฝายธงน้อย พบว่าระดับน้ำแตกต่างกันเพียง 1-2 เซนติเมตร ซึ่งเป็นค่าที่ไม่มีนัยสำคัญต่อการเกิดน้ำท่วมในเขตเทศบาลเมืองน่าน ถึงแม้ว่าผลการศึกษาจะยืนยันว่าฝายธงน้อยไม่มีผลกระทบต่อสถานการณ์น้ำท่วม แต่เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พพ.มีแผนดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำและสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำธงน้อยเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตพลังงานสะอาด รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น พร้อมบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดมาตรการรองรับกรณีเกิดอุทกภัยในอนาคต

และจากการประชุมหารือร่วมกัน ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ข้อสรุปว่า โครงการฝายธงน้อยมีความสำคัญต่อการบริหารจัดการน้ำและพลังงานของจังหวัดน่านและประเทศ และไม่มีผลกระทบต่อสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดน่าน พพ.จะดำเนินการตามแผนที่กำหนดไว้ต่อไป เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ โดยจะทำการก่อสร้างประตูระบายน้ำและสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำธงน้อย ซึ่งการก่อสร้างประตูระบายน้ำเพิ่มเติม จะช่วยเพิ่มความสามารถในการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ในช่วงฤดูฝน ลดความเสี่ยงจากน้ำท่วมและสามารถ กักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง เพื่อสนับสนุนภาคการเกษตรและการอุปโภคบริโภคของประชาชนในจังหวัดน่าน และนอกจากบทบาท  ในการบริหารจัดการน้ำ โครงการดังกล่าวนี้จะช่วยในการพัฒนาพลังงานทดแทนของประเทศ โดยสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าสะอาดได้ถึง 11.10 ล้านหน่วยต่อปี ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 6,438 ตัน CO2 ต่อปี และลดการใช้น้ำมันดีเซลเพื่อผลิตไฟฟ้าถึง 3.59 ล้านลิตรต่อปี คิดเป็นมูลค่าประหยัดพลังงานกว่า 98.75 ล้านบาทต่อปี 

ดร.หิมาลัย กล่าวเพิ่มเติมว่า "วันนี้ถือเป็นก้าวสำคัญที่ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันพิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้าน และหาข้อสรุปร่วมกันได้อย่างเป็นเอกฉันท์ กระทรวงพลังงาน โดย พพ. พร้อมทำงานอย่างเต็มกำลังเพื่อให้โครงการฝายธงน้อยเป็นกลไกสำคัญในการแก้ปัญหาน้ำท่วมและช่วยลดภัยแล้งอย่างยั่งยืนต่อไป และพร้อมเข้าช่วยเหลือทันทีหากเกิดน้ำท่วมซ้ำระหว่างก่อสร้างประตูระบายน้ำเพิ่มเติม เราไม่ได้ทำเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง แต่เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ”

‘เสธ.หิ’ ออกโรงแจง 3 ประเด็น ปมตรวจสอบจ้างขุด-ขนถ่านหินแม่เมาะ ชี้ เป็นสิ่งควรทำเพื่อให้การประมูลโปร่งใส และเป็นประโยชน์ต่อ กฟผ.

(13 มี.ค. 68) ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ผู้อำนวยการพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...การตรวจสอบอย่างยุติธรรม เป็นสิ่งที่ควรกระทำ

วันนี้ผมได้ฟังสื่อใหญ่พร้อมพิธีกรผู้มีชื่อเสียงในวงการสื่อมวลชน ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ผลการตรวจสอบ การจ้างขุดถ่านหินเมืองแม่เมาะ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ซึ่งผลการออกตรวจสอบ ก็ออกมาทันเวลา ไม่ได้เกิดความเสียหายต่อกระบวนการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแต่อย่างใด ปฐมบทในเรื่องนี้ เกิดจากการร้องเรียนของผู้เข้าร่วมประมูลถึงความโปร่งใสของขั้นตอนต่างๆ ดังนั้นการที่ท่านพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สั่งตรวจสอบความถูกต้อง จึงเป็นเรื่องที่พึงควรจะทำ หลังจากการตรวจสอบแล้ว เมื่อไม่พบการกระทำที่ผิดระเบียบและกฎหมาย ก็แจ้งให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ รวมทั้งสามารถตอบคำถามให้ผู้ร้องเรียนเข้าใจในข้อสงสัยต่าง ๆ ได้

การตรวจสอบดังกล่าวจึงเป็นไปอย่างบริสุทธิ์และยุติธรรม ไม่ได้มีเจตนาจะทำให้ผู้ใดหรือผลประโยชน์ของส่วนรวมต้องเสียหาย ทั้ง 3 ข้อสังเกต ที่ส่งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตไปพิจารณานั้น ก็เป็นหน้าที่ของกรรมการผู้บริหารของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต จะเป็นผู้พิจารณาปรับปรุงแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยต่อการประมูลครั้งต่อไป ว่าได้คำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของรัฐและส่วนรวมแล้วหรือยัง

ผมขออาศัยพื้นที่ตรงนี้ ชี้แจงข้อสังเกต 3 ข้อ ที่ได้ส่งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ได้พิจารณาเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติได้

1.การขุด-ขนถ่านหิน ไม่จำเป็นต้องเร่งด่วน เรื่องนี้มีการกล่าวหาว่าท่านพีระพันธุ์ฯ จะเป็นต้นเหตุของค่าไฟแพง เนื่องจากหากไม่รีบดำเนินการจะต้องไปใช้ก๊าซ ซึ่งมีราคาแพงกว่าถ่านหินมาก 
มุมมองที่ว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนนั้น ผมคงไม่ต้องชี้แจงมาก เพราะทาง กฟผ.ได้โหมสื่อประชาสัมพันธ์ในเรื่องนี้ไปอย่างมากแล้ว แต่มาดูมุมมองที่ว่าไม่เร่งด่วนนั้น เป็นเพราะวิกฤตการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ไม่ได้ขยายตัวและส่งผลกระทบในวงกว้างอย่างที่วิตกกังวลในตอนแรกแต่อย่างใด รวมทั้งการขุด-ขน ตามสัญญาที่ผ่านมาก็สามารถทำได้เกินเป้า ทำให้มีปริมาณถ่านหินสำรองไว้ใช้สำหรับการผลิตได้ถึงประมาณ 3-4 เดือน 

ข้อสังเกตที่ 2.ควรเปิดประมูลตามปกติ และ 

3.ไม่จำเป็นต้องจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ อันนี้เป็นเหตุผลต่อเนื่องมาจากข้อสังเกตที่ 1 ซึ่งตรงไปตรงมาอยู่แล้ว แต่ผมอยากชี้แจงมุมความคิดอีกด้านซึ่งอาจตรงกันข้ามกับท่านพิธีกรดังนี้นะครับ 

ปัจจุบันเหมืองแม่เมาะมีผู้รับเหมาที่รับจ้าง ขุด-ขนดินและถ่าน อยู่จำนวน 2 รายใหญ่ 2 สัญญา คือ 

1.สัญญา 8 ผู้ได้สัญญาคือ บ.สหกล อิควิปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) SQ เริ่มสัญญา 1 ม.ค. 2559 ครบ สัญญา เม.ย.2569

2.สัญญา 9 ผู้ได้รับสัญญา บ.อิตาเลียนไทย ดีเวลเมนท์ จำกัด (มหาชน) ITD เริ่ม สัญญา 1 ม.ค.2562 ครบ สัญญา 31 ธ.ค.2571

ผมอยากให้ท่านดูเวลาที่ประมูลนะครับ สัญญาที่ 8 เริ่มสัญญา 1 ม.ค.2559 แสดงว่าขั้นตอนการประมูลอยู่ในปี 2558 ปีนี้ 2568 ก็คือ 10 ปี มาแล้วนะครับ สัญญาที่ 9 เริ่มสัญญา 1 ม.ค.2562 แสดงว่าขั้นตอนการประมูลอยู่ในปี 2561 ปีนี้ 2568 ก็คือ 7 ปี มาแล้วครับ ผมคิดแบบโง่ๆนะครับ เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีก้าวหน้าเร็วมาก ในปี 2558 กับปี 2561 อาจจะมีบริษัทที่มีเทคโนโลยี สามารถรับงานนี้ได้อยู่จำนวนหนึ่ง หากเราเปิดกว้างให้ประมูลตามปกติไม่เฉพาะเจาะจง ผมเชื่อว่าจะมีบริษัทที่มีเทคโนโลยีสามารถรับงานนี้ได้มากกว่าปี 2558 กับปี 2561 อย่างแน่นอน อีกข้อหนึ่งในเรื่องของเงินทุน เวลาที่ต่างกันมาถึง 10 ปี เนื่องจากความก้าวหน้าทางการเคลื่อนย้ายทุนของโลก ผมเชื่อว่าบริษัทที่มีเงินทุนที่สามารถจะทำงานนี้ได้ก็มีจำนวนมากกว่าในปี 2558 กับปี 2561 เช่นกัน

เนื่องจากระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเป็นระเบียบของตัวเอง ไม่ได้ใช้ระเบียบของทางราชการซึ่งมีความรัดกุมและโปร่งใส จากกรณีที่เกิดขึ้นนี้ ถึงเวลาแล้วหรือยังครับ ที่คณะผู้บริหารของ กฟผ. จะพิจารณาปรับปรุงแก้ไขระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างให้โปร่งใสและเป็นธรรมมากขึ้น อาจจะใช้ระเบียบของทางราชการมาใช้เลยก็ได้ เพื่อลดดุลย์พินิจของเจ้าหน้าที่และมีมาตรฐานมากขึ้น เช่นในการประมูลลักษณะนี้ ควรแยกซองเทคนิคกับซองราคา ออกจากกันหรือไม่ ควรประกาศผลซองเทคนิคก่อนหรือไม่ เพื่อให้ผู้ร่วมประมูลสามารถอุทธรณ์ โต้แย้ง และชี้แจงกับคณะกรรมการได้ เมื่อได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ว่าบริษัทใดผ่านทางด้านเทคนิค และสามารถทำงานได้ จึงค่อยเปิดซองราคาต่อไป เหมือนที่หน่วยราชการทั่วไปเขาทำ ก็น่าจะลดข้อกังวลสงสัยของบริษัทผู้ร่วมประมูลได้

มุมมองของผมที่นำเสนอมานี้ อาจจะแตกต่างจากความคิดของท่านพิธีกรทั้ง 2 ท่าน ตามที่กล่าวมานะครับ ผมมีความเห็นว่า การตรวจสอบของท่านพีรพันธุ์สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการทรงพลังงาน ในกรณีนี้เป็นสิ่งที่พึงกระทำ และเมื่อไม่พบความผิดตามระเบียบและกฎหมายก็รีบแจ้งให้ทาง กฟผ.ทราบ เพื่อรีบดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งผมยังไม่เห็นว่าการตรวจสอบนี้จะทำให้เกิดความเสียหายแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม น่าจะเป็นประโยชน์ ต่อผู้บริหาร กฟผ. ได้ไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไข ระเบียบปฏิบัติต่างๆให้ดียิ่งๆขึ้นไป เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top