Tuesday, 22 April 2025
หนีห่าว

หนีห่าว!! อ้าว!! นึกว่าทักทาย ที่แท้!! ‘เหยียดผิว’ ‘ฝรั่ง’ รุ่นใหม่ ใช้ด้อยค่า ‘เอเชีย’ ในโลกออนไลน์

(20 เม.ย. 68) นายนิธิพัฒน์ พันธุ์ธุมจินดา นักธุรกิจ ฟาร์มปลาสวยงาม โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Nitipat Bhandhumachinda ว่า …

เมื่อวานนั่งถกกับลูกสาว ว่า"หนีห่าว"เป็นการเหยียดตรงไหน

เพราะผมเองก็มองว่า ตนเองเวลาไปต่างประเทศเช่นไปเยอรมัน ก็พูดคำว่า "Good Morning" กับฝรั่งมังค่าเสมอ ไม่เคยพูดว่า "Guten Morgen" ก็ไม่เห็นมีใครเขาว่าอะไร

ลูกสาวก็อธิบายให้ผมเข้าใจว่า การใช้คำว่า"หนีห่าว" ในปัจจุบันนั้น ชาวต่างชาติหลายๆคนจะใช้ ในนัยยะที่ซ่อนความเหยียดผิว ซึ่งคนรุ่นเดียวกับลูกสาวผมจะเจอบ่อยๆในสังคมออนไลน์

มันจะไม่ใช่การทักทายธรรมดา แต่เป็นการจงใจเหยียดแบบเหมารวมที่มีรากฐานมาจากแนวความคิดแบบ Sinophobia ที่ไม่ชอบคนจีน หรือวัฒนธรรมและค่านิยมแบบคนจีน แล้วก็ลามไปสู่คนเอเชียโดยรวม ที่ฝรั่งอาจมองว่าหน้าตาก็คล้ายๆกัน

ซึ่งสำหรับผมก็เป็นความรู้ใหม่ เพราะคนสมัยนี้เขาจะไม่เหมือนสมัยผมเด็กๆที่อยากจะเหยียดก็เหยียดกันตรงๆ เช่นผมเดินอยู่บนถนนในนิวยอร์คช่วงปี พศ. ๒๕๒๔ มีฝรั่งตะโกนมาทางผมว่า "Chink" แล้วเอานิ้มจิ้มตาตัวเองพร้อมกับหัวเราะขำขัน ก็ต้องกลับบ้านมาถามคำแปล แล้วก็เลยรู้ว่าโดนเหยียด

มาสมัยนี้การเหยียดกันตรงๆมันทำไม่ได้แล้ว แต่ก็อาจมีบางคนที่ยังมีจิตสำนึกที่อยากจะเหยียดใครต่อใครเพื่อลดปมด้อยของตน ก็อาจหาแนวทางอื่นมาเหยียดกันแบบซ่อนเร้นเช่นนี้เป็นต้น

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการพูดคำว่า"หนีห่าว"กับคนไทย หรือคนเอเชียไหนๆที่ไม่ใช่คนจีน สำหรับผมแล้วก็ต้องมองบริบทโดยรวม เพราะหลายๆครั้งชาวต่างชาตินั้นๆ อาจพูดทักทายเป็นปรกติโดยไม่ได้คิดจะดูถูกอะไรใดๆ ก็เป็นไปได้ด้วยเช่นกัน

กรณีน้องทรายนั้น ผมไม่ได้เคยร่วมกิจกรรม หรือร่วมงานอะไรใดๆด้วย จึงไม่สามารถให้ความเห็นอะไรใดๆได้มากนัก แต่เท่าที่มองจากภายนอกนั้น น้องเขาก็มีจิตสำนึกที่รักธรรมชาติ และมีความชัดเจนเชิงอุดมคติ

แต่ผมเองก็ให้ความเป็นธรรมกับองค์กรและบุคลากรทุกๆคนของกรมอุทยานฯ ที่ต่างก็มุ่งมั่นทำงาน ทำหน้าที่ที่ตนรับผิดชอบ แต่อาจไม่สามารถประสานการทำงานกับน้องทรายได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จะด้วยเหตุผลอะไรใดๆก็ตาม

ส่วนเรื่องการเหยียดนั้น สมัยปัจจุบันที่ทำงานกับลูกค้าซึ่งทุกคนเป็นชาวต่างชาตินั้น หากมีใครถามว่าเคยโดนเหยียดอะไรบ้างไหม
ก็ตอบได้ตรงๆว่าไม่เคยเลย

เพราะเวลาผมทำอะไรผิดพลาด ลูกค้าเขาไม่ต้องหานัยยะมาเหยียดอะไรใดๆให้เสียเวลา
ด่าผมตรงๆเลย ง่ายกว่าเยอะนะครับ

‘ฝรั่ง’ ทักคนเอเชียว่า ‘หนีห่าว’ อาจไม่ได้ตั้งใจจะล้อเลียน แค่ดูไม่ออกว่าเป็นเชื้อชาติไหน แต่ไม่ได้เจตนาจะด้อยค่า

(20 เม.ย. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘Aroonsri Chaiyachatti Harrison’ ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า …

ช่วงนี้ดูเหมือนจะมีประเด็นร้อนเกี่ยวกับการที่ฝรั่งทักคนเอเชียด้วยประโยคภาษาจีนอย่าง “หนีห่าว” กันอีกแล้ว เลยอยากมาเล่าแชร์ประสบการณ์ส่วนตัวนิดนึงค่ะ

ตอนเด็ก ๆ เคยตามคุณพ่อไปอยู่ยุโรป ที่ประเทศหนึ่งในอดีตยูโกสลาเวีย สมัยนั้นชาวยุโรปแถบนั้นไม่ค่อยมีโอกาสได้เจอคนเอเชียตัวจริง ๆ เท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะเห็นแค่ในหนังหรือทีวี พอได้เจอกับของจริง ก็แยกไม่ค่อยออกหรอกค่ะ ว่าใครเป็นคนจีน คนไทย คนญี่ปุ่น หรือฟิลิปปินส์

จริง ๆ แม้แต่เราบางครั้ง ยังแยกไม่ออกเลยว่าฝรั่งที่เจอเป็นคนอังกฤษ อเมริกัน หรือยุโรปชาติไหน ต้องฟังสำเนียงก่อนถึงจะพอเดาได้

ย้อนกลับมาที่ประสบการณ์ตรงย้ายมานิวยอร์ก ตอนเรียนอยู่ก็ทำงานพาร์ตไทม์เป็นบาร์เทนเดอร์ ลูกค้าฝรั่งเข้ามาคุยด้วยบ่อย ๆ ถามว่าเราเป็นคนชาติไหน มีบางคน โดยเฉพาะฝรั่งรุ่นเก่า ๆ ที่ยังใช้คำว่า Oriental ซึ่งสมัยนี้ถือว่าคำนี้ไม่เหมาะสมแล้ว เพราะมันเป็นการเหมารวมคนเอเชียแบบไม่มีความเข้าใจ คล้าย ๆ กับเวลาพูดถึง Oriental rug — มันเป็นภาษาที่สะท้อนยุคสมัยที่ยังไม่เปิดกว้างทางวัฒนธรรมเท่าไหร่

สมัยนััน80s-90s คำถามที่โดนถามบ่อยมากคือ :
What kind of asain are you?
What are you made of? (อันนี้ชอบบบมากตลกดีส่วนใหญ่จะเป็นคำถามจากคนสูงอายุหน่อย เรามักจะตอบกวนๆว่า “Mom and dad of course” 
So you are an Oriental from Thailand?

สรุป :
• “Oriental” ใช้กับวัตถุได้ เช่น “Oriental rug” แต่ไม่ควรใช้กับ “คน” อีกแล้ว
• เวลาฝรั่งพูดแบบนี้ในปัจจุบันอาจโดนมองว่าไม่สุภาพ หรือ outdated มาก ๆ
นอกจากนี้ก็มีบางคนที่แค่ไม่รู้จริง ๆ หรือที่เรียกว่า ignorance ไม่ได้ตั้งใจเหยียด แต่ไม่รู้ว่าคนเอเชียมีหลายเชื้อชาติ หลายภาษา หลายวัฒนธรรม ไม่ได้เหมารวมได้ง่าย ๆ

บางครั้งก็มีเจอแบบไม่โอเค เช่น แซวทำตาเฉียงเลียนแบบคนจีน ทั้งที่เราไม่ใช่คนจีนก็ตาม ซึ่งตรงนี้มันก็สะท้อนว่าเขายังไม่เข้าใจเรื่องความหลากหลายของเอเชียดีนัก

แต่ในหลาย ๆ ครั้ง ฝรั่งที่ทักเราเป็นภาษาจีน ก็อาจจะเป็นแค่การพยายามจะเชื่อมต่อ อยากทักทายด้วยคำไม่กี่คำที่เขาพอรู้ อาจเพราะเพิ่งเคยมาเที่ยวเอเชียครั้งแรก แล้วตื่นเต้น อยากสื่อสารกับคนท้องถิ่น แม้จะผิดภาษา แต่เจตนาก็ไม่ได้มุ่งร้ายอะไร

สุดท้ายแล้ว เราว่ามันอยู่ที่ “เจตนา” ค่ะ
ถ้าไม่ได้ตั้งใจเหยียด ดูถูก หรือทำให้รู้สึกด้อยค่า ก็คงไม่จำเป็นต้องซีเรียสเกินไป

เพราะบางที แม้แต่คนไทยเองก็มีหน้าตาหลากหลาย บางคนดูเหมือนจีน บางคนดูเหมือนแขก หรืออื่น ๆ ซึ่งแม้แต่เราเองยังแยกไม่ออกในบางครั้ง แล้วจะคาดหวังให้ฝรั่งที่ไม่คุ้นชินกับความหลากหลายของเอเชียแยกออกเป๊ะ ๆ คงเป็นเรื่องยาก

แต่แน่นอนว่า ถ้ามันเลยเถิดไปจนถึงการล้อเลียนหรือทำให้อีกฝ่ายรู้สึกถูกด้อยค่า นั่นก็ถือเป็นปัญหาจริง ๆ และเข้าใกล้เรื่อง cultural appropriation มากขึ้น — คือการเอาวัฒนธรรมของคนอื่นมาใช้ผิดที่ผิดทาง ไม่ให้เกียรติ หรือทำให้มันดูตลกไป ซึ่งเรื่องแบบนี้ก็ควรถูกพูดถึงและทำความเข้าใจกันให้มากขึ้นเช่นกันค่ะ

บางครั้งในชีวิตเราก็เลี่ยงไม่ได้หรอกค่ะ ที่จะต้องเจอกับคนที่มีทัศนคติไม่ดี เหยียดเชื้อชาติ หรือพูดจาไม่เหมาะสมกับเราโดยตรง ไม่ว่าด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม

ถ้าคุณรู้สึกว่าคำพูดหรือท่าทีของเขาเป็นการเหยียดเราจริง ๆ สิ่งที่ง่ายที่สุด และทรงพลังที่สุดที่คุณทำได้… คือ “ยิ้ม” ค่ะ

ใช่ค่ะ - แค่ยิ้ม

เพราะบางทีความสุภาพ และความสงบนิ่งของเราเองนั่นแหละ ที่จะทำให้คนที่เหยียดเรารู้สึกละอายใจในพฤติกรรมของตัวเอง โดยที่เราไม่ต้องลดตัวลงไปตอบโต้ด้วยความโกรธหรือความเกลียดชัง

การยิ้ม ไม่ได้แปลว่าเรายอมรับการกระทำของเขา
แต่เป็นการแสดงให้เห็นว่า เรา “เหนือกว่า” การเหยียดนั้นมากแค่ไหน

ในโลกที่เต็มไปด้วยความเข้าใจผิดและอคติ
การรักษาความสงบภายในใจ และตอบกลับด้วยความสุภาพ
คือการต่อสู้ที่สง่างามที่สุด

อย่าลืมสิว่าประเทศเราคือสยามเมืองยิ้ม 
ด่ากลับเป็นภาษาไทยด้วยรอยยิ้มค่ะ   ทำบ่อยมากเวิร์คทุกครั้ง ด่าสามีด้วยรอยยิ้มนางยังไม่โกรธ 

‘ครูเดวิด’ ฟาดฝรั่งพูดหนีห่าวเหยียด ‘ทราย สก๊อต’ ชี้ดูถูกคนไทยมากไปแล้ว!

(21 เม.ย. 68) หลังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ร้อนแรงในสังคมออนไลน์ จากกรณี “ทราย สก๊อต” นักอนุรักษ์ทะเลชื่อดัง เจ้าของฉายา “มนุษย์เงือก” หรือ “อควาแมนเมืองไทย” โพสต์คลิปเหตุการณ์ขณะเกิดการปะทะคารมกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติรายหนึ่งที่แสดงพฤติกรรมเชิงเหยียดเชื้อชาติ ด้วยการทักทายว่า ‘หนีห่าว’

ในคลิปดังกล่าว ทรายสก๊อตได้ตักเตือนนักท่องเที่ยวรายนั้นถึงความไม่เหมาะสมของคำพูด ซึ่งสะท้อนการเหมารวมและเหยียดชาวเอเชียอย่างชัดเจน แต่กลับไม่ได้รับคำขอโทษหรือท่าทีสำนึกใด ๆ จากอีกฝ่าย จึงตัดสินใจสั่งให้เรือเดินทางกลับฝั่ง พร้อมทั้งอธิบายเพิ่มเติมว่า การเหยียดคนไทยหรือชาติพันธุ์ใด ๆ ถือเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ในแผ่นดินไทย

ต่อมา “ครูเดวิด วิลเลี่ยม” (David William) ติ๊กต็อกเกอร์ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย และมีผู้ติดตามกว่า 3 ล้านคน ได้ออกมาแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนต่อเหตุการณ์นี้ผ่านช่องทางโซเชียลของเขา โดยระบุว่า

“ฝรั่งเขาดูถูกคนไทย แล้วพี่รับไม่ได้… คุณมาเที่ยวประเทศที่โคตรสวยงาม การรับผิดชอบเบื้องต้น ไม่เอาขยะทิ้งลงทะเล ไม่ใช่เรื่องยาก มันเป็นสิ่งที่ควรทำ... แต่บางคนกลับมองว่า เมืองไทยคือที่ที่อยากทำอะไรก็ได้ เพราะมีเงิน และไม่ต้องให้เกียรติคนท้องถิ่น...”

เขายังเสริมอย่างตรงไปตรงมาว่า คำว่า ‘หนีห่าว’ กลายเป็นคำพูดที่ฝรั่งใช้ในเชิงเหมารวมคนเอเชียว่าเป็นคนจีน ทั้งที่ผู้รับคำพูดนั้นไม่ใช่ และถือเป็นการดูถูกที่ไม่ควรเกิดขึ้นในสังคมที่เปิดกว้างเช่นนี้

“ทำไมฝรั่งมาประเทศไทยแล้วรู้สึกว่าทำอะไรก็ได้? เป็นเพราะเขาดูถูกพวกเรา… ความใจดีของคนไทย อ่อนน้อม เกรงใจ เป็นสิ่งที่สวยงาม แต่บางที… ความน่ารักของเราก็ต้องมีขอบเขต”

เขาทิ้งท้ายอย่างหนักแน่นว่า หากชาวต่างชาติไม่เคารพกฎหมายหรือวัฒนธรรมไทย ก็ควร “กลับบ้านไปเลย” พร้อมเสนอแนวคิดว่า คนไทยควร “เกรงใจฝรั่งให้น้อยลง” เพื่อสร้างความเท่าเทียมทางวัฒนธรรม และไม่เปิดช่องให้ใครมาหยามศักดิ์ศรีคนไทยบนผืนแผ่นดินตัวเอง

ขณะเดียวกัน ชาวเน็ตหลายคนร่วมแสดงความเห็นสนับสนุนทั้งทรายและครูเดวิด โดยเฉพาะในประเด็นความเท่าเทียม การเคารพซึ่งกันและกัน และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่ใช่หน้าที่ของเจ้าหน้าที่เพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นความรับผิดชอบร่วมของทุกคน ไม่ว่าคุณจะเป็นคนไทยหรือชาวต่างชาติ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top