Sunday, 20 April 2025
สุริยะใสกตะศิลา

ประวัติศาสตร์อาจซ้ำรอย ‘จตุพร’ เห็นพ้อง ‘สุริยะใส’ แรงหนุน ‘บิ๊กตู่’ พุ่งแรงโค้งสุดท้าย ‘ทักษิณ-พิธา’ ตัวกระตุ้นชั้นดี อาจลงเอยเหมือนปี 2562

(12 พ.ค. 66) จากรายการ ‘ถลกข่าว ถลกคน’ รายการที่ล้วงลึกทุกฉากการเลือกตั้ง 2566 โดยสำนักข่าวออนไลน์ THE STATES TIMES ร่วมกับ TV Direct ช่อง 76 (จานดาวเทียม PSI) ใน EP.10ซึ่งอีก 2 วันจะถึงวันเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ มีนัยสำคัญต่อบ้านเมืองของเราอย่างยิ่ง แขกรับเชิญในครั้งนี้เป็น 2 แกนนำนักต่อสู้ นักวิชาการ

ท่านแรกเป็นอดีตแกนนำ นปช. อดีต ส.ส 2 สมัย พรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชาชน ปัจจุบันก็เป็นคนทำสื่อเหมือนกัน คณะหลอมหลวมประชาชนคนไทย คือ 'คุณจตุพร พรหมพันธ์ุ' อีกท่านเป็นนักวิชาการ ผู้ประสานงานของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ผ่านร้อน ผ่านหนาว ผ่านทุกข์มามากมาย วันนี้เป็นคณบดี วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต 'รศ.ดร.สุริยะใส กตะศิลา' และดำเนินรายการโดย นายสำราญ รอดเพชร สื่อมวลชนอาวุโส

>> สัปดาห์สุดท้ายก่อนเลือกตั้งมีอะไรผิดคาดหมายหรือไม่?

ดร.สุริยะใส กล่าวว่า “ต้องบอกว่ามันตรงกับที่คาดการณ์ นับวันยิ่งใกล้เลือกตั้ง การเลือกข้างยิ่งชัดขึ้น ระหว่างเอาคุณทักษิณ ไม่เอาคุณประยุทธ์ วันนี้คุณประยุทธ์ต้องขับเคี่ยวกับพลังเงียบ ต้องดึงพลังเงียบที่หายไป ที่ทิ้งไปกลับมา แต่เหมือนคุณประยุทธ์มีบุญเยอะ ตัวผมกับคุณจตุพรก็เห็นตรงกันว่าการที่คุณทักษิณออกมาขออนุญาตกลับบ้าน ก็เหมือนเป็นหัวคะแนนเบอร์ใหญ่ คุณพิธาก็มีกระแสเรื่อง ‘ช้างป่วย’ สิ่งเหล่านี้ทำให้กระแสของคุณประยุทธ์ถูกกระตุ้นและเป็นแรงกระเพื่อมได้มากขึ้น ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็มีบ้างเป็นเป็นกระแสรอง แต่ในช่วง 4-5 วันสุดท้ายเป็นอย่างไร นี่คือโจทย์ใหญ่

>> หลายพรรคเสนอสูตร ไม่เอาลุง ไม่เอาความขัดแย้ง หรือเลือก…ไม่รู้หวยจะออกยังไง

ดร.สุริยะใส กล่าวว่า “ต้องยอมรับว่าในภาพรวมการเมืองยังเป็น 2 ขั้วอยู่ การสร้างขั้วที่ 3 มันสร้างไม่ได้ตลอดเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ถ้ามันสร้างได้การเมืองจะไม่ขัดแย้งกันมาขนาดนี้ คือคนจะตีกันบางทีเข้าไปห้ามมันเจ็บตัวนะ พูดง่าย ๆ มาผิดจังหวะ จังหวัดที่เขากำลังร่ายรำ ถ้าจังหวะมันผิดมันหมดราคาไปเลย”

>>โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง มีอะไรผิดความคาดหมายหรือไม่?

นายจตุพร กล่าวว่า “นายทักษิณทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยหาเสียงให้กับพลเอกประยุทธ์ ถ้าพลเอกประยุทธ์ไม่มีนายทักษิณจะเหนื่อยกว่านี้ จะเสียเสียงที่เรียกตนเองว่าอนุรักษ์นิยม อาจไม่ฟื้นตื่นมาอย่างรุงแรงในปรากฏการณ์โค้งสุดท้าย”

“นายกทักษิณออกมาทวีตคำขออนุญาต 4 คำ และก็ปิดท้ายด้วยเจ้านายของเรา ทำให้เกิดแรงเหวี่ยงต่าง ๆ มันคล้าย ๆ ปี 62 ที่แบ่งเป็น 2 ซีกเลย สุดซ้ายก็ไปอนาคตใหม่ สุดขวาก็มาทางพลังประชารัฐ ขณะนั้นมีพลเอกประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” นายจตุพรกล่าว

นอกจากนี้นายจตุพรยังระบุอีกว่า “สิ่งที่น่าสนใจในรอบนี้คือ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็สร้างรอยแผลเอาไว้ เช่น กกต. จัดการการเลือกตั้งล่วงหน้าพบปัญหามากมาย ตั้งแต่ชื่อ เบอร์ หน้าคูหาเลือก การขนบัตรเลือกตั้ง หรือว่าจำนวนรายชื่อที่ไม่ตรงกับหน่วยหรือเขตเลือกตั้ง หมายความว่าแปะไว้ เป็นโมฆะได้ถ้าในอนาคตจะเลือกเส้นทางนี้”

“ดาบมีอยู่หลากหลายรูปแบบ รูปแบบเลือกตั้งเป็นโมฆะ วันนี้ถ้าเอาอันจริง ๆ ก็เป็นไปได้ ถ้าต้องการจะนำมาใช้ หรือการยุบพรรคก็เห็นได้ชัดว่าเกิน 1 พรรคการเมืองที่ไปอยู่ในแดนของการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง กฎหมายพรรคการเมือง” นายจตุพรกล่าว

>> แลนด์สไลด์พรรคเดียวเกิน 250 พรรค จะถึงหรือไม่?

นายจตุพร กล่าวว่า “เชื่อว่าตอนนี้คงยาก ผมเชื่อว่าไม่ถึง 250 หรือจะต่ำกว่า 200 เสียด้วยซ้ำ”

ดร.สุริยะใส กล่าวเสริมว่า “ตัวเลขค่อมกันอยู่ ฝั่งนี้ 270 ฝั่งนู้น 230 อย่าง 270 ต้องการ ส.ว. ร้อยกว่าเสียง จะไปหาจากไหนอีกเป็นร้อย มันเป็นไปไม่ได้เลย มีคนมาถามผมนะว่ารัฐบาลเสียงข้างน้อยตั้งได้ไหม ผมบอกเลยรัฐประหารเขาก็ทำมาแล้ว เลือกตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย มันจะเป็นไปไม่ได้ได้อย่างไร”

>>ทำไมสูตรเพื่อไทย+พลังประชารัฐเป็นไปไม่ได้เลย

นายจตุพรกล่าวว่า “เรื่องนี้ผมเปิดประเด็นเป็นคนแรก และที่ผ่านมาเพื่อไทยก็อึกอักมาตลอด แต่พอจวนตัวก็ออกมาปฏิเสธ แต่คนก็ไม่เชื่อแล้ว และลองสังเกต คนจากพรรคพลังประชารัฐย้ายไปอยู่เพื่อไทย ปราศรัยดุเดือดผิดสังเกต นั่นจึงทำให้ผมคิดว่า หากไม่มีปรากฏการณ์อะไร 2 พรรคนี้ก็จะไม่มารวมกัน แต่ถึงอย่างไร สูตรนี้ก็ยังไม่ปิดตาย”

>>คิดว่าไทม์ไลน์จะมีอะไรผิดเพี้ยนไปหรือไม่?

ดร.สุริยะใส กล่าวว่า “อยู่ที่ตัวเลขเหมือนกันนะ ครั้งที่แล้วก็เบียดกันที่ตัวเลข ก็เลยช้าไปด้วยตัวของมันเอง ครั้งนี้ก็เหมือนกัน แต่เขาเอาเหตุการณ์จากเลือกตั้งปี 62 มาเป็นบทเรียน หากสังเกตจะมีการเคลื่อนไหวของ 2-3 พรรค มีนัยของการใช้เกมมวลชน บริกรรมเกมมวลชนต่อเนื่องหลังวันที่ 14 พ.ค. 66 จะเป็นประเภทแบบว่าเสร็จเลือกตั้งไม่กลับบ้าน เขาจะต้องยื้อ ต้องงัดข้อกันเหมือนปี 62”

นอกจากนี้ยังกล่าวอีกว่า “ฝ่ายที่ไม่ได้จัดตั้งรัฐบาลครั้งที่แล้ว เขาแอคชันชัดเจนมาก มันเป็นสิทธิของเขา แต่ก็ทำให้เห็นว่าเขากังวล กลายเป็นเกมยื้อ จนอาจจะมีอะไรแทรกขึ้นมา เช่น การวินิจฉัยยุบพรรค การเลือกตั้งใหม่แบบยกแผงจนทำให้คะแนนสวิงกลับ อันนี้เรื่องใหญ่ วันที่ 14 พ.ค.นี้ เลือกตั้งเสร็จมันไม่ได้จบเลย แต่จะจบเพราะหีบใส่บัตรกลับบ้าน นำบัตรกลับไปนับ มันจบแค่นั้น แต่ว่าการเมืองมันเพิ่งเริ่ม”

>> หลัง 14 พ.ค. จะมีเหตุการณ์ เรื่องราวต่างๆ เกิดขึ้นมากมายเลยใช่หรือไม่

ดร.สุริยะใส กล่าวว่า “จะยุ่งไปหมดเลย หากพูดตรงๆ ไม่มีอคติชี้นำนะ ข้อร้องเรียนหลายเรื่องมีน้ำมากกว่าตอนปี 62 นะ ทั้งเรื่องเฉพาะตัวบุคคลและนโยบายหลายพรรค และทั้งหมดมันคาอยู่ในคำวินิจฉัยกกต. และยังไม่อ่าน ยังไม่ได้แจ้งผล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยุบพรรค ตัดสิทธิผู้สมัคร แต่อยู่ที่จะหยิบมาเล่นเวลาไหม เหมือนมีกระสุนบรรจุรอไว้อยู่แล้ว”

>> เหตุการณ์การเมืองจะไปลามไปถึงขั้นยุบพรรค แจกใบเหลืองใบแดง เลยหรือไม่?

นายจตุพร ได้กล่าวว่า “ผมเชื่อว่า กกต. ชุดนี้ เป็น กกต. ที่คนไม่รู้จักคณะกรรการเลย ที่สำคัญที่สุดคือ กกต. เงียบผิดสังเกต เพราะฉะนั้นผมมองว่า เรื่องประเด็นการยุบพรรคจะนำไปสู่หลาย ๆ เหตุการณ์ ถ้าคุมสถานการณ์ไม่ได้ ก็จะกลายเป็นอีกเรื่องเลยนะ ส่วนเรื่องการพลิกจากแพ้เป็นชนะ ผมพอจะเป็นร่อยรอย แต่หากสถานการณ์พลิกไปอีกแบบหนึ่ง ผลก็คงเป็นไปอีกแบบหนึ่ง”

นายจุตพรยังกล่าวอีกว่า “วันที่ 14 พ.ค. ไม่ใช่เป็นคำตอบสุดท้าย ระยะเวลาตามกฎหมายเลือกตั้ง มันทอดเวลายาวนาน ซึ่งจะทำให้อะไร ๆ เกิดขึ้นได้ เพราะ กกต. ก็ออกแบบเรื่องกระบวนการยุบพรรคอย่างรวดเร็ว แม้ตอนนี้เขายังไม่ลงมือ ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ได้ทำอะไร เพียงแต่ว่าถ้าทันทีที่มีการเลือกตั้งเสร็จแล้วมีการขยับ หนึ่ง เราจะเห็นการตัดสินโดยศาลรัฐธรรมนูญหลังจากการรับรอง หรือก่อนรับรอง ส.ส. ถ้าก่อนรับรอง ส.ส. ที่ได้รับการเลือกตั้งมา นี่คือจบเลยนะ สองก็คือถ้าไปลงดาบหลังจากศาลรัฐธรรมนูญรับรอง การย้ายพรรคที่กำหนดเอาไว้ แต่ไม่ได้ไปอย่างพร้อมเพรียงกัน นี่คือจุดหักเหของยอดจำนวน ทำให้จากชนะกลายเป็นแพ้ จากแพ้กลายเป็นชนะ”

เท่านั้นยังไม่พอ นายจตุพร กล่าวเสริมอีกว่า “ต้องยอมรับว่า ข้อเท็จจริงที่กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง มันมีอยู่จริง ชนิดที่ดิ้นกันไม่ออก เพียงแต่ว่า กกต. ก็ไม่เลือกใช้ในจังหวะนี้ แต่ผมเชื่อว่า กกต. จะเลือกใช้หลังจากเลือกตั้งได้เสร็จสิ้น”

>> พูดถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 9 พ.ค.66 ที่นายทักษิณ ชินวัตร ได้ทวีตข้อความออกมา 2 รอบ เกี่ยวกับการกลับมาที่ประเทศไทย

ดร.สุริยะใส กล่าวว่า “เราต้องยอมรับกันก่อนว่าคุณทักษิณอยากกลับบ้านแน่นอน และก็หาจังหวะกลับ และจังหวะกลับรอบนี้ก็คงเป็นจังหวะสุดท้าย เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นก็พอจะเข้าทางอยู่บ้าง เมื่อเทียบกับก่อนหน้านั้น ดูแนวโน้มแล้วก็คือน่าจะกลับจริง แต่จะกลับในเงื่อนไขไหน และการออกมาพูดแบบนี้ย้ำๆ ซ้ำๆ นายทักษิณมั่นใจแค่ไหนว่าจะส่งผลบวกกับพรรคเพื่อไทย?”

ดร.สุริยะใส ระบุอีกว่า “คนก็คงไม่อยากเห็นความวุ่นวายหลังเลือกตั้ง ภาพจำของคุณทักษิณมันมาพร้อมกับความวุ่นวาย นายทักษิณคงมั่นใจในตัวเอง แม้คะแนนคุณอุ๊งอิ๊งลดยังไง ก็สู้ได้”

ทางด้านนายจตุพร แสดงความคิดเห็นว่า “ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. ก็ใช้คำว่าขออนุญาต ถึง 2 ครั้ง วันที่ 9 พ.ค. ทวีตแรกก็ใช้คำว่าอนุญาต 2 ครั้ง และทวีตปิดท้ายด้วยคำว่า เจ้านายของเรา เพราะฉะนั้นวันเกิดของนายทักษิณคือ 26 ก.ค. หลังจากนั้น 2 วันคือวันเฉลิมพระชนมพรรษาในหลวง ร.10 ฉะนั้นการใช้คำว่าขออนุญาถึง 4 ครั้ง พร้อมกับคำว่า เจ้านายของเรา ผมมองว่านี่อาจจะเป็นปัญหา”

“คดีของนายทักษิณที่ศาลพิพากษาจำคุกไป 12 ปี มี 1 คดีที่โทษ 2 ปีมันขาดอายุความ แต่อีกคดีที่โทษ 10 ปี คดีไม่มีอายุความ ฉะนั้นในส่วนของคดีที่สิ้นสุดแล้ว ก็จะเป็นเรื่องของนายทักษิณกับราชทัณฑ์ หากนายทักษิณกลับมาประเทศไทยเมื่อใด ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองก็ต้องพาตัวไปส่งที่เรือนจำ จะเป็นอื่นไม่ได้” นายจตุพร กล่าว

นายจตุพร ยังกล่าวอีกว่า “ผมไม่ทราบว่านายทักษิณคิดด้วยสมมติฐานอะไร บางครั้งคนทั่วไปมองภายนอกก็คิดว่าฉลาดล้ำลึก แต่ในความเป็นจริงแล้ว หลายครั้งก็ไม่ใช่อย่างนั้น ในทางการเมือง หากคนจะเลือกยังไงเขาก็เลือก แต่ถ้าหากเป็นเหมือนเมื่อปี 2562 ตอนนั้นคะแนนกระจายออกเป็น 2 ทิศทาง คนที่รับไม่ได้กับเรื่องนายทักษิณก็เลือกพลเอกประยุทธ์ ส่วนใครที่ไม่ได้เห็นด้วยที่นายทักษิณจะกลับมาและไม่ได้ชอบพลเอกประยุทธ์ก็เลือกก้าวไกล ทำให้เพื่อไทยและประชาธิปัตย์ตายสนิท”

นอกจากนี้ นายจตุพร กล่าวเสริมว่า “เพราะฉะนั้น ในครั้งนี้ที่นายทักษิณออกมาก็ไม่ได้เป็นประโยชน์กับพรรคเพื่อไทยเลย แต่กลับไปสร้างแรงบวกให้กับพลเอกประยุทธ์ นายทักษิณกลายเป็นผู้ช่วยหาเสียงให้เลย คนฝั่งอนุรักษ์นิยมเขามองว่าคนที่จะมาสู้กับนายทักษิณได้ก็มีแต่พลเอกประยุทธ์เท่านั้น ในขณะที่คนอีกฝั่งก็มองว่าแนวทางที่นายทักษิณพยายามอยู่นั้นมันไม่ใช่ ก็จะไปเทคะแนนให้กับพรรคก้าวไกลหรือไทยสร้างไทย และบอกเลยว่าบริบทนี้จะนำพาสู่ความวุ่นวาย”

“คู่แข่งของพรรคเพื่อไทยในเวลานี้ คือพรรคก้าวไกลนะ ลองถามส.ส.ของเพื่อไทยสิว่าได้ประโยชน์อะไรจากสถานการณ์แบบนี้หรือเปล่า นี่จึงเป็นการสร้างความแข็งแรงให้พรรคก้าวไกล” นายจตุพร กล่าว

>> เมื่อถามว่าสุดท้ายแล้วคิดว่านายทักษิณจะกลับมาหรือไม่

นายจตุพร กล่าวว่า “คนมันโกหกจนกระทั่งไม่มีคนเชื่อแล้วเนี่ย พูดแบบนี้มา 20 ครั้งแล้ว ไหนจะที่พูดแบบไม่เป็นทางการอีกเป็นร้อยๆ ครั้งล่ะ และถ้าเกิดไม่กลับรอบนี้อีกล่ะ? จะเอาหน้าไว้บนคอไหวเหรอ?”

ส่วน ดร.สุริยะใส แสดงความคิดเห็นว่า “ผมคิดว่านายทักษิณ ตั้งใจกลับ แต่จะได้กลับหรือไม่ ก็ไม่รู้นะ เพราะมันไม่ง่ายนะที่จะให้การจัดตั้งรัฐบาลสอดรับกับการกลับมายังประเทศไทย ดูๆ แล้วก็มีแต่ความเสี่ยง มองไม่เห็นทางที่จะจบแบบแฮปปี้เลย เว้นแต่ว่าจะเคลียร์ตัวเองให้เรียบร้อย ยอมรับความผิดตามกฎหมาย”

>> เมื่อถามว่าคิดว่านายกคนที่ 30 จะเป็นคนเดียวกับนายกฯ คนที่ 29 ก็คือพลเอกประยุทธ์ใช่หรือไม่?

นายจตุพร กล่าวว่า “ตอนนี้ดูเหมือนพลเอกประยุทธ์จะไม่มีอะไร แต่จริงๆ เขามีแต้มต่อนะ เพราะสตาร์ตที่ 250 ในขณะที่คนอื่นสตาร์ตที่ 1”

ส่วน ดร.สุริยะใส กล่าวว่า “คิดว่าโอกาสที่พลเอกประยุทธ์จะได้เป็นนายกฯ มีสูง”

>> สุดท้ายให้ฝากถึงนายกฯ คนต่อไปที่จะเข้ามาบริหารประเทศไทย

ดร.สุริยะใสกล่าวว่า “ปัญหาในประเทศนี้มีเยอะ ส่วนปัญหาใหม่ที่รออยู่ก็แยะ แต่ที่แย่ก็คือมีคนจำนวนมากกำลังบอกว่าคำตอบสุดท้ายของประเทศคือ 14 พ.ค.นี้ ทั้งที่ 14 พ.ค. เป็นการเริ่มต้นของปัญหาใหม่ ๆ ดังนั้นการมองที่ไกลกว่าการเลือกตั้งเป็นวาระที่สำคัญ อย่างน้อยคนไทยทุกคนต้องเปลี่ยนมุมมอง ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาลก็ต้องเข้าใจว่าประเทศมีปัญหา และไม่แค่ตัดสินผลแพ้ชนะในวันเลือกตั้งเท่านั้น”

'สุริยะใส' ฟันธง!! วันนอร์ฯ ไม่ใช่ตัวกลางยุติปัญหา แต่เป็นเกม 'เพื่อไทย' บีบการตัดสินใจของ 'พรรคส้ม'

หลังจากที่มีข่าวว่าพรรคเพื่อไทยจะเสนอชื่อคนกลาง อย่าง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ชิงตำแหน่งประธานสภา เพื่อเป็นทางออกและแก้ปัญหาข้อยุติทั้งหมด

อย่างไรก็ตามข้อเสนอดังกล่าวนี้ก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุม ส.ส. รวมทั้งที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยว่าจะมีมติยืนตามนี้หรือไม่

ทั้งนี้ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ถือเป็นบุคคลที่เหมาะสมที่สุด เพราะมีประสบการณ์ เคยดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา และไม่มีความด่างพร้อย น่าจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเป็นกลาง เป็นที่ยอมรับและได้รับความเคารพจากบรรดา ส.ส.

จริงหรือ??? ที่วันนอร์ฯ จะมาเป็นตัวกลางยุติปัญหาเก้าอี้ประธานสภาในครั้งนี้ หรือจะเป็นเกมส์การเมืองของพรรคเพื่อไทย ถ้าเป็นอย่างนั้นพรรคก้าวไกล จะเเก้เกมนี้อย่างไร 

ผศ.ดร.สุริยะใส กตะศิลา คณบดี วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ให้สัมภาษณ์กับ THE STATES TIMES ในประเด็นนี้ว่า น่าจะเป็นการเสนอเพื่อแก้ปัญหาความไม่ลงตัวที่กำลังจะกลายเป็นประเด็นความขัดแย้งแตกแยกของ 8 พรรคร่วมรัฐบาลมากกว่า และเป็นการชิงไหว ชิงพริบ ที่เรียกว่า "เซียนเหยียบเมฆ" ของพรรคเพื่อไทย ที่อาจจะทำให้พรรคก้าวไกลตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง 

แม้พรรคเพื่อไทยจะไม่เสนอคนของพรรค แต่ไปเสนอนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา โดยอ้างว่าเป็นคนกลางของ 8 พรรคร่วมรัฐบาล แต่ก็รู้กันดีว่านายวันนอร์ฯ เป็นอดีต ส.ส. ของพรรคไทยรักไทยมาก่อน ก่อนจะมาตั้งพรรคประชาชาติ ก็เปรียบเสมือนเป็นคนของพรรคเพื่อไทย ฉะนั้น หมากเกมนี้ต้องกลับไปถามก้าวไกล ว่าจะยอมเล่นตามเกมเพื่อไทยหรือจะส่งคนสู้ แต่ถ้าส่งคนสู้ต้องมองว่าใครจะชนะ อาจจะไปหวยออกที่คนที่ 3 ต้องจับตามอง โดยส่วนตัวมองว่าไม่ว่าจะเป็นวันนอร์ฯ หรือนายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก ของพรรคก้าวไกล ไม่น่าจะมีใครชนะใคร จริง ๆ ตำแหน่งประธานสภาฯ ไม่ได้มีอำนาจอะไรมากนัก แต่ทางการเมืองก็จะมีจังหวะที่ทำให้เป็นประโยชน์ทางการเมืองได้อยู่ไม่น้อย 

การที่เพื่อไทยเสนอแบบนี้ นั่นหมายความว่า เพื่อไทยไม่ได้ยอมทำตามข้อเสนอของพรรคก้าวไกล เช่นเดียวกันก้าวไกลก็อาจจะไม่ยอมทำตามข้อเสนอของพรรคเพื่อไทย เกมนี้อาจจะลามไปถึงการเลือกนายกรัฐมนตรีที่ต้องติดตามกันต่อ

ผศ.ดร.สุริยะใส กล่าวต่อว่า ถ้าเกิดนายวันนอร์ฯ ได้เป็นประธานสภาจริง ๆ พรรคก้าวไกลต้องตอบตัวเองว่า ตำแหน่งประธานสภา ต้องเป็นของพรรคก้าวไกล ถ้าไม่ได้แล้วจะอย่างไรต่อ จะอธิบายประชาชนและผู้สนับสนุนพรรคอย่างไร  อีกประเด็นจะมั่นใจได้อย่างไร ว่าในอนาคตว่า MOU ที่ลงนามกันด้วยความชื่นมื่นเป็นเกมลวงทางการเมืองหรือไม่!!!

หลังจากนี้ตนมองว่า ก้าวไกลคงต้องเดินหน้าสู้ อยู่ ๆ จะไปยกตำแหน่งประธานสภาให้คุณวันนอร์ฯ ตามข้อเสนอของพรรคเพื่อไทย มันก็จะดูเป็นยอมง่ายไป จะไปอธิบายประชาชนที่เลือกตนเข้ามาทั้ง 14 ล้านเสียงอย่างไร สู้แล้วแพ้ยังพอตอบประชาชนได้ ครั้งนี้พรรคก้าวไกลต้องตอบโจทย์ที่พรรคเพื่อไทยโยนมาให้แล้วว่า จะเดินเกมยังไงต่อ แต่ที่แน่ ๆ พรรคก้าวไกลไม่น่าจะพร้อมเป็นฝ่ายค้าน เพราะเดินสายขอบคุณในนามพร้อมจัดตั้งรัฐบาล ดังนั้นต้องมองว่าพรรคก้าวไกลจะไปร่วมรัฐบาลในบริบทไหน สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ต้องน่าจับตามอง

เรื่อง: พัฒน์นรี ชัยเดชารัตน์ Content Manager

‘อ.สุริยะใส’ มอง!! ต้องวางกรอบภารกิจให้ชัดเจน ‘การเมืองท้องถิ่น-การเมืองระดับชาติ’ ชี้!! หากขาดสมดุล สุดท้ายก็สูญเปล่า ทำให้การเมืองไทย อยู่ในแค่วังวน การเลือกตั้ง

(9 ก.พ. 68) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุริยะใส กตะศิลา คณบดี วิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และ ผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย มหาวิทยาลัยรังสิต ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ การเลือกตั้ง ‘นายก อบจ.’ โดยมีใจความว่า ...

ภูมิทัศน์การเมืองไทย หลังเลือกตั้งนายก อบจ.

ผลการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ ชี้ให้เห็นถึงบทบาทที่เพิ่มขึ้นของพรรคการเมืองระดับชาติในเวทีการเมืองท้องถิ่น ซึ่งอาจส่งผลต่ออนาคตของการเมืองไทยในหลายด้าน

1.ผลการเลือกตั้งและการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
จากผลการนับคะแนนจากทั้ง 47 จังหวัดที่มีการเบือกตั้ง นายก อบจ.พบว่า ผู้สมัครที่สังกัดและประกาศตัวในนามพรรคการเมืองระดับชาติสามารถคว้าชัยชนะในระดับท้องถิ่นได้มากกว่าร้อยละ 90 
ส่วนผู้ที่ อ้างว่าลงนามอิสระที่ได้รับเลือกตั้งก็ไม่ได้อิสระจริงทั้งหมด แสดงถึงการขยายอิทธิพลของพรรคการเมืองระดับชาติเหล่านี้เข้าสู่การเมืองท้องถิ่นอย่างชัดเจน
ก่อนหน้านี้ การเมืองท้องถิ่นมักขับเคลื่อนโดย นักการเมืองท้องถิ่นที่มีฐานเสียงจากประชาชนในพื้นที่ แต่การเลือกตั้ง อบจ. ครั้งนี้ เห็นชัดว่าพรรคการเมืองระดับชาติเป็นผู้กำหนดทิศทางของการเลือกตั้ง
เมื่อนักการเมืองระดับชาติลงมามีบทบาทในการชี้นำผลการเลือกตั้ง เช่น คุณทักษิณ ชินวัตร ที่แสดงออกชัดเจนในการสนับสนุนผู้สมัครพรรคเพื่อไทย หรือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ที่ใช้เครือข่ายของพรรคภูมิใจไทยในการสนับสนุนผู้สมัครของพรรค
ผู้สมัครที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองระดับชาติ แทบไม่มีโอกาสได้รับเลือก เพราะกระแสพรรคการเมืองมีอิทธิพลมากกว่าตัวบุคคล

2.บทบาทของนักการเมืองระดับชาติในเวทีท้องถิ่น
การที่พรรคการเมืองระดับชาติใช้การเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นเวทีเผชิญหน้าหรือแข่งขันทางการเมือง ส่งผลให้ปัญหาท้องถิ่นอาจถูกบดบังด้วยประเด็นการเมืองระดับชาติ ผู้สมัครหลายคนมุ่งเน้นการนำเสนอนโยบายที่สะท้อนถึงทิศทางของพรรคมากกว่าการแก้ไขปัญหาเฉพาะของพื้นที่ ซึ่งอาจทำให้ความต้องการและปัญหาที่แท้จริงของชุมชนไม่ได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุด

3.ดาบ 2 คม อนาคตของการเมืองท้องถิ่น
การเข้ามามีบทบาทของพรรคการเมืองระดับชาติในเวทีท้องถิ่น อาจทำให้การเมืองท้องถิ่นสูญเสียความเป็นอิสระ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของเกมการเมืองระดับชาติ 
อย่างไรก็ตาม หากพรรคการเมือง สามารถผสานนโยบายระดับชาติให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่นได้ ก็อาจเป็นโอกาสในการพัฒนาพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ

4.นัยยะต่อ การเมือง ระดับชาติ
ผลการเลือกตั้ง อบจ. ครั้งนี้ อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงแนวโน้มในการเลือกตั้ง สส. ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พรรคที่ประสบความสำเร็จในระดับท้องถิ่นสามารถใช้โครงสร้างและเครือข่ายที่มีอยู่เพื่อสนับสนุนผู้สมัคร สส.ของพรรค 
นอกจากนี้ การที่พรรคการเมืองระดับชาติได้รับชัยชนะในระดับท้องถิ่น ยังช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้สนับสนุน และเพิ่มโอกาสในการได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมในการเลือกตั้ง

5. อนาคตผู้นำและขั้วการเมือง
ต้องยอมรับว่าบารมีทางการเมืองของคุณทักษิณ ชินวัตร หดหายไปมากพอสมควร เพราะในพื้นที่ที่มีความแน่นอนกลับไม่มีความแน่นอนอีกต่อไป การคาดหวังจำนวนสส. ในการเลือกตั้งครั้งหน้าในระดับ 200 ขึ้นไปจึงเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้ ในขณะที่ค่ายสีน้ำเงินบทบาทของคุณอนุทิน ชาญวีรกูล ที่ได้เพิ่มมาในพื้นที่สำคัญหลายจังหวัด ก็จะส่งผลให้ฐานะทางการเมืองของคุณอนุทิน เข้าใกล้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมากขึ้น เพราะมีต้นทุนเดิมจากสภาสูงอยู่แล้วและจำนวน สส. รอบหน้าก็มีแนวโน้มทะลุ 100 ยิ่งถ้ากระแสแดงและส้มอ่อนลง ก็ยิ่งเป็นประโยชน์โดยตรงกับค่ายสีน้ำเงินอยู่แล้ว

6.บทสรุป 
สังคมไทยต้องตอบและวางกรอบให้ชัดถึงบทบาท และภารกิจของการเมืองท้องถิ่นกับการเมืองระดับชาติและยุทธศาสตร์กระจายอำนาจต้องวางสมดุลให้ชัดเจนกว่านี้ ไม่เช่นนั้นการเลือกตั้งบ่อยๆ ถี่ๆ ทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นแต่ไม่สามารถสร้างผลลัพธ์ที่ขับเคลื่อนการเมืองไทยได้อย่างมีรูปธรรมและเกิดการพัฒนา ทางการเมืองอย่างแท้จริงสุดท้ายก็อาจสูญเปล่า ทำให้การเมืองไทยอยู่ในวังวนแค่การเลือกตั้งเท่านั้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top