30 พฤศจิกายน 2560 ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ถึงแก่อนิจกรรม จากหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ในวัย 68 ปี
ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ เกิดเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2492 ที่บ้านตาล ต.กำแพงเซา อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เรียนจบระดับปริญญาตรีจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเรียนปีที่ 1-2 ก่อนที่จะได้รับทุนการศึกษา Frank Bell Appleby เพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีปีที่ 3-4 ด้านรัฐศาสตร์ที่ Claremont Men’s College, Claremont University และศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและเอกที่ Harvard University ด้านรัฐศาสตร์ โดยได้รับทุนจาก Rockefeller
หลังจากจบการศึกษาปริญญาเอกจาก Harvard University ดร. สุรินทร์ กลับมาเป็นอาจารย์ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตามเงื่อนไขของทุนการศึกษาที่ได้รับ โดยเริ่มทำงานในปี พ.ศ. 2525
ชีวิตการเมืองของดร. สุรินทร์เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2529 เมื่อได้รับการชักชวนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จังหวัดนครศรีธรรมราช จากพรรคประชาธิปัตย์ แม้ว่าในตอนแรก ดร. สุรินทร์ จะไม่ตอบรับทันที แต่ในที่สุดเขาก็ยอมรับคำชวนและได้รับเลือกตั้งเป็น สส.
เมื่อเข้ารับตำแหน่ง สส. ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ชักชวนให้ ดร. สุรินทร์ มารับหน้าที่เป็นเลขานุการประธานสภาฯ หลังจากนั้น เมื่อมีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ในปี พ.ศ. 2531 ดร. สุรินทร์ ได้รับเลือกตั้งอีกครั้งและได้รับแต่งตั้งให้เป็นเลขานุการของ ไตรรงค์ สุวรรณคีรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
จากประสบการณ์การศึกษาด้านรัฐศาสตร์ ทำให้ ดร. สุรินทร์ ถูกมองว่าเหมาะสมในการทำงานในกระทรวงมหาดไทย และในปี พ.ศ. 2535 เมื่อชวน หลีกภัย ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ดร. สุรินทร์ จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลชวน หลีกภัย 1 (พ.ศ. 2535-2538)
ในปี พ.ศ. 2540 เมื่อประเทศไทยเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ ต้มยำกุ้ง และรัฐบาล พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกจากตำแหน่ง ทำให้ชวน หลีกภัย กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ดร. สุรินทร์ ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลชวน หลีกภัย 2 (พ.ศ. 2540-2544) และมีบทบาทสำคัญในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ รวมถึงการผลักดันบทบาทของอาเซียนในการแก้ปัญหาภายในกลุ่มสมาชิก
ในปี พ.ศ. 2551 ประเทศไทยได้รับสิทธิในการเสนอชื่อผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศได้เสนอชื่อ ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ เป็นเลขาธิการอาเซียน ซึ่งเขาดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ถึง 2555 ในระหว่างนั้น ดร. สุรินทร์ ได้ดำเนินการให้ประเทศสมาชิกอาเซียนให้สัตยาบันกฎบัตรอาเซียน และรณรงค์ให้ประชาชนในประเทศสมาชิกตระหนักถึงความสำคัญของอาเซียน
หลังจากหมดวาระการดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียน ดร. สุรินทร์ ยังคงทำงานเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับอาเซียนต่อไป ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มอบตำแหน่งธรรมศาสตราภิชาน ประจำคณะรัฐศาสตร์ เพื่อเป็นเกียรติแก่ ดร. สุรินทร์
