Tuesday, 22 April 2025
สุขภาพจิต

"นายกฯ" ห่วง สุขภาพจิตวัยรุ่น ย้ำ หน่วยงานเฝ้าระวัง วอนผู้ปกครองให้ปิดบังข้อมูล อย่าป้องในทางที่ผิด

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมกังวลเป็นห่วงสุขภาพจิตวัยรุ่น จากสถานการณ์ปัจจุบัน พบว่ามีวัยรุ่นลงมือก่อเหตุกระทำความรุนแรงต่อบุคคลที่ใกล้ชิดในครอบครัว รวมถึงการฆ่าบุพการี ซึ่งเป็นเรื่องที่หดหู่บันทอนความรู้สึกของคนไทยทั้งประเทศเป็นอย่างมาก กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามปัญหา ตรวจสอบสาเหตุแรงจูงใจการก่อเหตุอย่างใกล้ชิด

นายธนกร กล่าวว่า วัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่สำคัญของชีวิต การเปลี่ยนแปลงของสังคม และสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัววัยรุ่น ทำให้วัยรุ่นมีความเครียด และบางครั้งไม่สามารถปรับตัวให้เผชิญกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ หากวัยรุ่นมีความเครียดสะสมในระดับที่มากเกินไปจะส่งผลกระทบทางด้านลบต่อปัญหาสุขภาพกาย ทำให้รู้สึกเครียด กังวล ซึมเศร้า ท้อแท้ หมดหวัง สับสนฟุ้งซ่าน เซ็ง กลัว ระแวง หงุดหงิดหรือครึกครื้น อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย รู้สึกไร้คุณค่าในตนเอง หรือคิดว่าตนเองเป็นภาระของผู้อื่น มองเห็นแต่ความผิดพลาดของตนเอง ทำให้ขาดประสิทธิภาพในการควบคุมตัวเอง ขาดการยับยั้งชั่งใจ ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี ลงมือกระทำใดลงไปเพียงเพราะอารมณ์ชั่ววูบ นอกจากนี้ การคบเพื่อน รวมถึงการใช้สารเสพติด ก็มีผลต่อสุขภาพจิตของวัยรุ่นด้วย

‘จีน’ มุ่งสร้างเสริมสุขภาพจิตที่ดีใน ‘กลุ่มเด็ก-วัยรุ่น’ ปกป้องเด็กจากภาวะวิตกกังวล - โรคซึมเศร้า

(12 ต.ค. 66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน เปิดเผยว่าหน่วยงานภาครัฐและภาคสังคมของจีนดำเนินความพยายามร่วมกันเพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตในหมู่เด็กและวัยรุ่นตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

อนึ่ง จีนเฉลิมฉลองวันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day) ครั้งที่ 32 ซึ่งตรงกับเมื่อวันอังคาร (10 ต.ค.) ภายใต้หัวข้อ ‘การส่งเสริมสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่น’

หลี่ต้าชวน เจ้าหน้าที่จากคณะกรรมการฯ กล่าวระหว่างงานแถลงข่าวที่จัดขึ้นเมื่อวันจันทร์ (9 ต.ค.) ระบุว่ากุญแจสำคัญในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตของวัยรุ่น คือการให้ความสำคัญกับการป้องกันเป็นอันดับแรก และดำเนินการป้องกันและควบคุมในสังคมวงกว้าง อีกทั้งเน้นย้ำความสำคัญในการจัดให้งานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในบริการสังคม บริการสาธารณสุข และระบบประกันสังคม

ข้อมูลการสำรวจสุขภาพจิตที่ครอบคลุมวัยรุ่นมากกว่า 30,000 คน ซึ่งจัดทำโดยสถาบันจิตวิทยา สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์ของจีน ในปี 2022 พบว่าร้อยละ 14.8 ของผู้ตอบแบบสำรวจมีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าในระดับต่าง ๆ โดยจำเป็นต้องมีการเข้าช่วยเหลือและการปรับเปลี่ยนที่มีประสิทธิภาพและทันเวลา

เจิ้งอี้ หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชเด็กจากโรงพยาบาลปักกิ่ง อันติ้ง สังกัดมหาวิทยาลัยการแพทย์นครหลวง ระบุว่าเด็กและวัยรุ่นอยู่ในช่วงที่มีการพัฒนาด้านสุขภาพจิตอย่างรวดเร็ว ภาวะทางจิตของพวกเขามีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากปัจจัยทางชีวภาพ สภาพจิตใจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

เย่ไห่เซิน นักจิตวิทยาคลินิกประจำโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในมณฑลหูหนานทางตอนกลางของจีน ระบุว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่มีแนวโน้มมีอาการทางสุขภาพจิตเพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยความผิดปกติทางจิต อาทิ ความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า พบได้เด่นชัดในเด็กและวัยรุ่น

คณะกรรมการฯ ดำเนินมาตรการหลายรายการเพื่อแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งรวมถึงการออกแนวปฏิบัติส่งเสริมบริการด้านสุขภาพจิต โดยเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ อีก 16 หน่วยงาน อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ ออกแผนปฏิบัติการระยะเวลา 3 ปี เพื่อปรับปรุงงานที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตของนักเรียน

แผนดังกล่าวกำหนดความรับผิดชอบของรัฐบาลระดับต่างๆ ในการสร้างเสริมสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่น อีกทั้งเน้นย้ำการประสานงานระหว่างหน่วยงานและความพยายามร่วมกันระหว่างสถาบันทางการแพทย์ โรงเรียน และครอบครัว

ขณะเดียวกัน รัฐบาลกลางได้จัดสรรกองทุนพิเศษเพื่อสนับสนุนการป้องกันและการรักษาความผิดปกติทางจิตที่พบบ่อย พร้อมทั้งสนับสนุนโครงการนำร่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต

หลี่กล่าวว่าการทดลองต่าง ๆ ถูกจัดขึ้นทั่วประเทศเพื่อเดินหน้าบริการด้านจิตวิทยาสาธารณะภายใต้การสนับสนุนของคณะกรรมการฯ โดยปัจจุบันหมู่บ้านและชุมชนร้อยละ 96 โรงเรียนประถมและมัธยมร้อยละ 95 ตลอดจนวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยทั้งหมดในพื้นที่นำร่องเหล่านี้ สามารถเข้าถึงบริการด้านจิตวิทยาสาธารณะได้แล้ว

อนึ่ง จีนยังทุ่มเทความพยายามอย่างต่อเนื่องในการเพิ่มการจัดสรรทรัพยากร การสนับสนุนทางการเงิน และการพัฒนาบุคลากรทั่วประเทศ เพื่อสร้างหลักประกันที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นสำหรับการส่งเสริมสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่น

‘สธ.’ กังวล!! เยาวชนป่วย ‘ซึมเศร้า’ พุ่ง เล็งพัฒนา ‘หมอพร้อม-AI’ ช่วยคัดกรอง

(16 ม.ค. 67) กระทรวงสาธารณสุข ห่วงปัญหาสุขภาพจิตคนไทย ‘เยาวชน’ มีภาวะซึมเศร้าสูง 2,200 ต่อประชากรแสนคน เผยผลสำเร็จใช้ปัญญาประดิษฐ์ DMIND เชื่อมโยงระบบ ‘หมอพร้อม’ ช่วยคัดกรองภาวะซึมเศร้าได้สะดวกรวดเร็วเกือบ 2 แสนคน พบภาวะเสี่ยงรุนแรง 8.7% เตรียมพัฒนาระบบเชื่อมข้อมูลสายด่วน 1323 เพื่อการดูแลกลุ่มวิกฤตเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายได้ทันท่วงที 

ผลสำรวจพบ UK เป็นชาติที่มีความทุกข์มากสุดอันดับ 2 ของโลก สุขภาพจิตดำดิ่งตั้งแต่โควิดระบาด ยังไม่พบเห็นสัญญาณการฟื้นตัว

(11 มี.ค.67) สหราชอาณาจักรกลายเป็นชาติที่ไร้ความสุขมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก จากผลสำรวจที่จัดทำโดย Sapien Labs กองทุนประสาทวิทยาศาสตร์ โดยผลสำรวจพบ สุขภาพจิตของชาวสหราชอาณาจักรดำดิ่งนับตั้งแต่วิกฤตโรคระบาดใหญ่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และยังไม่พบเห็นสัญญาณการฟื้นตัว

รายงานประจำปี ‘สถานะทางจิตของโลก’ Mental State of the World ของ Sapien Labs ซึ่งปีนี้จัดทำเป็นปีที่ 4 ได้ทำการประเมินสุขภาวะทางจิต (Mental Wellbeing) ของผู้เข้าร่วมทางอินเทอร์เน็ต 419,175 คน จาก 71 ประเทศ ซึ่งผลลัพธ์ได้ให้ภาพอันมัวหมองของโลกที่พูดภาษาอังกฤษ โดยใน 71 ประเทศ บรรดาชาติที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ (Anglophone) ไม่ว่าจะเป็นสหราชอาณาจักร ไอร์แลนด์ ออสเตรเลีย.และนิวซีแลนด์ อยู่ในลำดับล่างๆ โดยเฉพาะพลเมืองสหราชอาณาจักรที่มีความสุขมากกว่าประชาชนชาวอุซเบกิสถานเท่านั้น

ผลสำรวจจัดให้สหราชอาณาจักร ตามหลัง เยเมน 8 อันดับ และตามหลังยูเครน 12 อันดับ ในแง่ของสุขภาพจิตโดยรวมของประชาชน โดยประชาชนชาวสหราชอาณาจักรราว 36% บอกกับ Sapien Labs ว่าพวกเขาทั้ง "เป็นทุกข์และกำลังประสบปัญหา" ลดลงเพียงแค่ 0.7% จากปีที่แล้ว ครั้งที่พวกเขารั้งที่สุดท้าย ในการจัดอันดับ

เพื่อสรุปถึงสุขภาพจิตโดยรวมของประชาชนในแต่ละชาติ กองทุนแห่งนี้ได้ถามคำถามแต่ละคน 47 คำถาม เกี่ยวกับ ‘อารมณ์และทัศนะ’ ของพวกเขา อัตมโนทัศน์ด้านสังคม (Social-Self) แรงผลักดันและแรงจูงใจ การปรับตัวและความยืดหยุ่น เช่นดียวกับอื่นๆ แม้ Sapien Labs คำตอบของคำถามเหล่านี้เป็นลักษณะคำตอบแบบอัตนัย แต่รายงานต่างได้ผลสรุปออกมาคล้ายๆ กัน

ท่ามกลางมาตรฐานการดำรงชีพที่ตกต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ สำนักงานสถิติแห่งชาติสหราชอาณาจักรเผยแพร่รายงานเมื่อเดือนพฤศจิกายน พบว่า ชาวสหราชอาณาจักรมีความสุขและความพึงพอใจส่วนบุคคลลดลงในช่วงขวบปีสิ้นสุดเดือนมีนาคมปีก่อน และจากรายงานที่เผยแพร่ในนิตยสารทางการแพทย์ The Lancet เมื่อเดือนที่แล้ว พบว่าประชาชน 1.8 ล้านคน ปัจจุบันกำลังรอการเข้ารับการรักษาด้านสุขภาพจิต

ทั้งนี้ Sapien Labs ระบุว่า ระดับความผาสุกทางจิตของโลกที่พูดภาษาอังกฤษดำดิ่งลงระหว่างการแพร่ระบาดของโรคระบาดใหญ่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และภาวะตกต่ำนี้ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่พบเห็นสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น รายงานพบว่าความผาสุกทางจิตใจลดต่ำลงในประเทศต่างๆ ที่รับประทานอาหารแปรรูปโดยทั่วไป เด็กๆ มีสมาร์ทโฟนตั้งแต่อายุยังน้อย และความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวเหินห่าง ซึ่งประเทศต่างๆ ที่พูดภาษาอังกฤษทำคะแนนได้ค่อนข้างน้อยในมาตรวัดทั้ง 3 นี้

สาธารณรัฐโดมินิกันรั้งอันดับสูงสุดในบัญชีประเทศที่มีความสุขมากที่สุดในโลก ส่วนอันดับ 2 เป็นของศรีลังกาและแทนซาเนีย ตามมาเป็นอันดับ 3 โดยทุกประเทศที่ติดอันดับท็อปเท็นมาจากแอฟริกา เอเชีย หรือไม่ก็ละตินอเมริกา "รูปแบบดังกล่าวบ่งชี้ว่าความมั่งคั่งและเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วไม่จำเป็นต้องนำมาซึ่งความผาสุกทางจิตใจ" Sapien Labs ระบุ

‘จีน’ ผุดโครงการส่งเสริม ‘สุขภาพจิต’ นักเรียนทั่วประเทศ เล็งใส่ใจเด็กที่ถูกทิ้งตามลำพัง เหตุผู้ปกครองต้องไปทำงาน

(14 พ.ค.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า หนังสือเวียนจากกระทรวงศึกษาธิการของจีน เปิดเผยการดำเนินโครงการรณรงค์ทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมความตระหนักรู้และการศึกษาเกี่ยวกับสุขภาพจิตของนักเรียน โดยจะจัดต่อเนื่องตลอดเดือนพฤษภาคม และเป็นโครงการระยะหนึ่งเดือนโครงการแรกของจีนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้

หนังสือเวียนกำหนดให้หน่วยงานด้านการศึกษาท้องถิ่น จัดการศึกษาด้านสุขภาพจิตและโครงการแนะแนวสำหรับเด็กและนักเรียนในหลายระดับการศึกษา โดยหน่วยงานควรมุ่งให้ความใส่ใจกับสภาพจิตใจของเด็กที่ถูกทิ้งไว้ตามลำพังในพื้นที่ชนบทเนื่องจากผู้ปกครองต้องทำงานอยู่ในเมือง รวมถึงลูก ๆ ของแรงงานต่างถิ่น และจัดการให้คำปรึกษาและการบำบัดทางจิตวิทยากับเด็กกลุ่มดังกล่าวเมื่อจำเป็น

ด้านคณะครูควรเข้าร่วมการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาความรู้ด้านจิตวิทยา และช่วยดูแลสุขภาพจิตของนักเรียนผ่านงานสอนหนังสือ

ทั้งนี้ หน่วยงานด้านการศึกษาและโรงเรียนควรจัดการบรรยายและให้บริการคำปรึกษาแก่ผู้ปกครองเพื่อให้คำแนะนำเชิงวิชาการแก่พวกเขาเกี่ยวกับประเด็นนี้

เปิดผลสำรวจสุขภาพจิตคนไทย จาก DXT360 อึ้ง!! ร้อยละ 30 เครียดสะสมจากปัญหาการทำงาน

(10 ต.ค. 67) ในยุคปัจจุบันสังคมเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันอย่างรวดเร็ว สุขภาพจิตได้กลายเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกคนควรตระหนักและให้ความสนใจมากขึ้น ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องของอารมณ์และความคิดส่วนตัวเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงกับปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรมโดยรอบ การทำความเข้าใจถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตและความสุขของทุกคนในสังคม

ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตระบุว่า ในปี 2566 มีผู้ป่วยจิตเวชมารับบริการถึง 2.9 ล้านคนในประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของปัญหาสุขภาพจิต สาเหตุหนึ่งมาจากการที่สังคมไทยเริ่มเปิดใจยอมรับและเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตมากขึ้น นอกจากนี้ สภาพสังคมปัจจุบันยังมีปัจจัยหลายประการที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต เช่น ความไม่สมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว (Work-life balance) ที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของคนรุ่นใหม่ รวมถึงความหลากหลายของช่วงวัย (Generation gap) ในที่ทำงานซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งและความเครียด

บทความนี้ใช้เครื่องมือ DXT360 ฟังเสียงผู้คนบนสังคมออนไลน์ (Social Listening) ของ บริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด ผู้ให้บริการ Media Intelligence ในการรวบรวมข้อมูลเชิงลึกจากโซเชียลมีเดียระหว่าง 1 กันยายน - 4 ตุลาคม 2567 เพื่อทำความเข้าใจมุมมองและประสบการณ์ด้านสุขภาพจิตของผู้คนในสังคม

>>>การใช้โซเชียลมีเดียของคนไทยกับปัญหาสุขภาพจิต

จากการรวบรวมความคิดเห็นบนโซเชียลมีเดียพบว่าผู้คนส่วนใหญ่ 61% ใช้โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่เพื่อการโพสต์ระบายความรู้สึกและแสดงตัวตน รองลงมา 22% เป็นการเล่า แลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตของตนเองและผู้อื่น ซึ่งพบว่าผู้ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า มักได้รับผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพจิตด้วย 

ถัดมาอีก 11% พบว่า เป็นการให้ข้อมูลและคำแนะนำ ซึ่งเป็นการแบ่งปันข้อมูลที่เป็นประโยชน์และวิธีการดูแลรักษาสุขภาพจิตที่ดี และ 6% เป็นการให้กำลังใจ โดยผู้ใช้โซเชียลมีเดียแสดงความห่วงใยและให้กำลังใจแก่ผู้ที่กำลังเผชิญปัญหาสุขภาพจิต 

>>>ส่อง Insight เรื่องไหนกระทบใจชาวโซเชียลจนต้องระบาย

โลกออนไลน์กลายเป็นพื้นที่สำหรับการระบายความรู้สึกและแชร์ประสบการณ์ เผยให้เห็นถึงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของผู้คน ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน

>>>ปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต

ปัจจัยภายนอก คือ สิ่งแวดล้อมภายนอกซึ่งส่งผลต่อสภาพจิตใจโดยที่บุคคลไม่สามารถควบคุมได้โดยตรง พบว่า

-ปัญหาจากการทำงาน 30%: เนื่องด้วยการทำงานร่วมกับผู้คนที่มีความหลากหลาย และ การขาดสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงาน (Work life Balance) ซึ่งในขณะเดียวกันเราพบว่า ผู้คนส่วนใหญ่มีแนวโน้มให้ความสำคัญกับสุขภาพจิต โดยมีผู้ใช้โซเชียลจำนวนหนึ่งเลือกลาออกจากงานที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตมากกว่าการทนอยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่เหมาะสม ซึ่งสอดคล้องกับแคมเปญธีม 'Mental health at Work' จาก World Health Organization (WHO) เนื่องในวันสุขภาพจิตโลกปี 2024 ที่รณรงค์ให้ผู้คนทั่วโลกตระหนักถึงความเชื่อมโยงระหว่างสุขภาพจิตและการทำงาน เนื่องจากสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยส่งผลดีต่อสุขภาพจิต และในทางกลับกันสภาพแวดล้อมการทำงานที่ย่ำแย่ก็ส่งผลต่อปัญหาสุขภาพจิตเช่นกัน

-การรับรู้ข้อมูลมากเกินไป 18%: การรับรู้ข่าวสารเรื่องของคนอื่นมากเกินไป (Over information) โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับไอดอล ศิลปิน รวมถึงข่าวสารเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น ข่าวการเกิดภัยพิบัติ หรือ ข่าวอุบัติเหตุ 
-การเรียน/การศึกษา 14%: พบว่าผู้ที่อยู่ในวัยเรียนส่วนมากต่างละเลยสุขภาพในช่วงการสอบเพื่อผลคะแนนที่ดี
-ปัญหาขัดแย้งในครอบครัว 11%: ปัจจัยด้านครอบครัวส่วนใหญ่เกิดจากความเห็นต่างกันตามช่วงวัย (Generation Gap)

-ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล 10%: ชาวโซเชียลจำนวนหนึ่งระบุว่า ความเกรงใจและการละเลยความรู้สึก นำไปสู่ความขัดแย้งและความสัมพันธ์เชิงลบ เช่น คู่รัก หรือเพื่อน เป็นเหตุทำให้เกิดความขัดแย้ง และความ Toxic สะสม
-ปัญหาการดำเนินชีวิต 9%: โดยเฉพาะเรื่องการจราจรติดขัดและความไม่สะดวกในการสัญจรด้วยรถสาธารณะ นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ที่มีประสบการณ์เชิงลบจากการเผชิญกับพนักงานขายแบบ Hard Sell  เช่น การขายประกัน หรือการขายคอร์สเสริมความงาม ซึ่งสร้างความเครียดและความอึดอัดให้กับผู้บริโภคจนอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตที่สะสมได้

-ปัญหาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจ 7%: เช่น ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น
-การตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ 1%: เช่นโดนมิจฉาชีพแอบอ้างจนก่อให้เกิดความเสียหายทางการเงิน

>>>ปัจจัยภายในที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต

ปัจจัยภายใน มาจากพื้นฐานสภาพจิตใจ ร่างกาย ความรู้สึกนึกคิดของตัวบุคคลเอง ส่งผลต่อสุขภาพจิตของบุคคล สรุปได้ ดังนี้

-ปัญหาด้านสุขภาพกาย 42%: สภาพร่างกายเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อสภาวะจิตใจ
-การเห็นคุณค่าในตนเอง (Self-Esteem) 28%: ความรู้สึกเกี่ยวกับตนเองมีผลต่อสุขภาพจิต 
-ความคาดหวังในตนเอง 23%: เช่น ความคาดหวังคะแนนการสอบ หรือต้องการความสมบูรณ์แบบในการทำงาน  
-ประสบการณ์และภูมิหลัง 7%: ภูมิหลังส่วนตัวและประสบการณ์ฝังใจในวัยเด็กส่งผลระยะยาวต่อสุขภาพจิต

>>>พบจิตแพทย์เป็นเรื่องปกติ  

จากการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียลมีเดีย พบวิธีการฟื้นฟูสุขภาพจิตที่ผู้คนบนโซเชียลนิยมใช้ ดังนี้ 

1.การดูแลสุขภาพร่างกายและใส่ใจกับสุขภาพจิต (43%) โดยมีทั้งการออกกำลังกาย การเลือกรับประทานอาหารที่ชอบ รวมถึงยังพบว่าผู้คนส่วนใหญ่เปิดใจรับการปรึกษากับจิตแพทย์และรับการรักษาโดยใช้ยา
2.การเลือกรับสื่อบันเทิง (22%) ทั้งการดูหนัง ซีรีส์ รวมไปถึงการอ่านนิยายวายที่เริ่มมีบทบาทเข้ามาช่วยให้ผู้อ่านมีความบันเทิง ฟื้นฟูสุขภาพจิตได้
3.การทำ Social Detox (14%) เพื่องดหรือลดปริมาณการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย
4.การระบายความรู้สึก (9%) การพูดคุย ถ่ายทอดเรื่องราวออกมา ไม่ว่าจะเป็นการเขียนใส่กระดาษ การพูดคุยกับเพื่อนหรือคนในครอบครัว 
5.การปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อม (8%) เช่น การย้ายที่อยู่โดยออกมาอยู่คนเดียว การย้ายที่ทำงาน การเดินทาง การท่องเที่ยว เป็นต้น
6.Pet Therapy (4%) การใช้สัตว์เลี้ยงมาช่วยฮีลใจ หรือฟื้นฟูจิตใจ

จะเห็นได้ว่าในสังคมปัจจุบัน ผู้คนมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับสุขภาพจิตมากขึ้น และให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพจิตในรูปแบบต่าง ๆ ทั้ง การเลือกปรึกษาจิตแพทย์ นักจิตบำบัด และนักจิตวิทยา ซึ่งส่งผลให้เกิดการเติบโตของธุรกิจในด้านการดูแลสุขภาพจิต ทั้งโรงพยาบาล คลินิกจิตเวช และศูนย์เวลเนสต่าง ๆ นอกจากนี้ ความเข้าใจและการยอมรับเกี่ยวกับสุขภาพจิตที่เพิ่มขึ้นยังช่วยลดอคติทางสังคม ทำให้ผู้คนรู้สึกมีความปลอดภัยในการเข้าถึงการรักษาและการสนับสนุนทางจิตใจ การลงทุนในบริการเหล่านี้จึงไม่เพียงแต่ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้คน แต่ยังเป็นโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญในยุคที่ผู้คนมุ่งมั่นต่อการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมมากขึ้น

ข้อมูลทั้งหมดที่นำมาวิเคราะห์หา Insight รวบรวมข้อมูลจาก DXT360 (Social Listening and Media Monitoring Platform) ของบริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด (dataxet:infoquest) โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่  1 กันยายน - 4 ตุลาคม 2567


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top