‘อมรัตน์’ ร่วมอ่านจดหมายเปิดผนึกถึงประธานศาลฎีกา หวัง!! ป้องสิทธิแสดงความเห็น ‘เยาวชน-ประชาชน’
“คุกควรขังผู้ปล้นอำนาจประชาชน ไม่ใช่ขังผู้เรียกร้องประชาธิปไตย” - ‘อมรัตน์’ ร่วมอ่านจดหมายเปิดผนึกถึงประธานศาลฎีกา ยืนยันจุดยืนปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นของเยาวชนและประชาชน
26 ต.ค. 64 ที่หน้าศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล, ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ส.ส.นครปฐม เขต 3 พรรคก้าวไกล และสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมทางการเมือง ร่วมกันอ่านจดหมายเปิดผนึกถึง ‘เมทินี ชโลธร’ ประธานศาลฎีกา เพื่อเรียกร้องต่อจุดยืนในการปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นทางการเมืองของเยาวชนและประชาชน
อมรัตน์ กล่าวว่า ในฐานะผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล จึงออกมาแสดงจุดยืนต่อสาธารณะ ดังที่ปรากฏเป็นข่าวของสื่อมวลชนตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. 63 ว่า…
“ยินดีใช้ตำแหน่งผู้แทนราษฎรไปประกันตัว หากเสรีภาพในการแสดงความเห็นที่ถูกรองรับไว้โดยรัฐธรรมนูญถูกพรากไปด้วยข้ออ้าง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” พร้อมโชว์ใบรับรองเงินเดือนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นเพราะว่า หลายปีที่ผ่านมานับจากรัฐประหาร 22 พ.ค. 57 ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลนี้ที่สืบทอดอำนาจในปัจจุบันซึ่งยาวนานใกล้เข้าปีที่ 8 แล้ว ประเทศถูกปกครอง ครอบงำด้วยความกลัว ผู้ที่รักประชาธิปไตย ให้คุณค่ากับหลักการสิทธิเสรีภาพ และความเท่าเทียม ตกอยู่ในความมืดมิดแห่งรัตติกาลอันยาวนานไม่เห็นแสงสว่าง ถูกปิดกั้นเสรีภาพในการคิด การพูด การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สุดในประเทศประชาธิปไตย เมื่อสิ้นสุดความอดทน เยาวชนหนุ่มสาวและประชาชนออกมาทวงคืนประชาธิปไตย ไล่นายกที่สืบทอดอำนาจจากการรัฐประหาร เรียกร้องให้ยุบสภาเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชน ยกเลิกอำนาจ ส.ว.(สมาชิกวุฒิสภา) ในการเลือกนายกรัฐมนตรี รวมไปถึงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้มีความเป็นสากลสอดคล้องกับยุคสมัย
“แต่ไม่ว่าจะออกมาส่งเสียงมากมายแค่ไหน ข้อเรียกร้องของพวกเขาถูกตั้งใจละเลยไม่ถูกได้ยิน สิ่งที่ได้รับคือการลุแก่อำนาจปราศจากมนุษยธรรม ใช้กำลังปราบปรามอย่างรุนแรงเกินกว่าเหตุ ใช้งบประมาณมากมายปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างบ้าคลั่งราวกับพวกเขาเป็นอริราชศัตรูเพียงแค่พวกเขาคิดต่างจากผู้ทรงอำนาจบาตรใหญ่ แจกคดีความถ้วนหน้าออกหมายเรียก หมายจับ ใช้กฎหมายปิดปาก จงใจใช้และต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ด้วยข้ออ้างเรื่อง Covid-19 อย่างปราศจากความละอายต่อสายตาชาวโลก”
อมรัตน์ ย้ำว่า สำหรับตนแล้วเยาวชนผู้กล้าหาญเหล่านั้น คือ นักต่อสู้ไม่ใช่นักโทษ คือเจ้าของอนาคตประเทศนี้ พวกเขาได้ก้าวข้ามเส้นแห่งความกลัวที่คนยุคตนไม่เคยเข้าข้ามพ้นเส้นนั้นมาได้ บัดนี้มีผู้ต้องหาคดี 112, 116, 215, พ.ร.บ.คอมพ์, พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ และพ.ร.ก.ฉุกเฉิน มากมายถึง 1,500 คน จาก 800 กว่าคดี โดยเฉพาะคดี 112 มีถึง 150 คน และส่วนใหญ่เป็นเยาวชน
“เราต้องยอมรับกันเสียทีว่า คดีมาตรา 112 เป็นคดีทางการเมือง จะต้องถูกแก้ไขด้วยวิถีทางการเมือง แทนใช้คุก ศาล ทหาร และใช้กฎหมายปิดปาก รวมทั้งกฎหมายหมิ่นพระมหากษัตริย์ เป็นประเด็นที่ประเทศไทยถูกองค์กรระหว่างประเทศ และประเทศต่าง ๆ วิพากษ์วิจารณ์ นับจากปี 54 ถึงปี 64 ถูกวิจารณ์มาแล้วไม่ต่ำกว่า 22 ครั้ง ถูกเสนอแนะให้แก้ไขในเรื่องอัตราโทษที่สูงเกินไป ไม่ได้สัดส่วนกับความผิดและไม่มีโทษขั้นต่ำ ไม่มีคำนิยามที่แน่นอนของคำว่าดูหมิ่น และกฎหมายนี้มีปัญหาการบังคับใช้ที่ถูกตีความอย่างไร้ขอบเขต รวมไปถึงไม่สอดคล้องกับหลักการสากลในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง” อมรัตน์ กล่าว
