Thursday, 24 April 2025
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

‘ศปปส.' บุกร้องเรียนสำนักพุทธฯ เหตุ 'พระพยอม' เชียร์พิธาเกินงาม หวั่นเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม

(24 ก.ค. 66) กลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) นำโดย นายอานนท์ กลิ่นแก้ว และ นายนพดล พรหมภาสิต ประธานกลุ่มศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ หรือ ศชอ. พร้อมคณะ เดินทางมายังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อดำเนินการเรียกร้องให้ทางสำนักพุทธฯ ดำเนินการตามขั้นตอนกรณีพระพยอม กัลยาโณ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว พระนักเทศน์ชื่อดัง ภายหลังออกมาวิจารณ์การเมืองผ่านสื่อสังคมออนไลน์โดยมองว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่ได้เป็นนายกฯ เพราะถูกสกัดกั้นและจะได้คะแนนสงสารเยอะมาก คราวหน้ายิ่งกว่าแลนด์สไลด์

นายนพดล พรหมภาสิต ประธาน ศชอ. ระบุว่า "การกระทำของพระพยอม เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม ด้วยพระพยอมเป็นพระนักเทศน์ชื่อดัง หรือพระเซเลป การแสดงความคิดเห็นของพระพยอม คงปฎิเสธไม่ได้ว่า ได้กระทบในวงกว้าง หากพระพยอมยังมีพฤติกรรมวิพากษ์วิจารณ์ หรือพูดเกี่ยวกับการเมืองต่อไปเรื่อย ๆ อาจจะทำให้สังคมเกิดความแตกแยก และทำให้พุทธบริษัท 4 ไม่ว่าจะเป็น อุบาสก อุบาสิกา หรือใครอีกหลายๆคนรู้สึกไม่สบายใจ ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่า การแสดงความคิดเห็นทางด้านการเมือง จะแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง มีทั้งฝั่งที่เห็นด้วย และฝั่งที่ไม่เห็นด้วย

พฤติกรรมของพระพยอมที่เกิดขึ้น ทำให้ถูกมองว่าพระพุทธศาสนา กำลังจะถูกโยงเข้าไปในความขัดแย้งทางการเมือง จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรอย่างยิ่ง

พระพยอมควรระมัดระวังในการให้สัมภาษณ์ ไม่ต้องตอบทุกคำถามกับนักข่าวก็ได้ ควรสงบปากสงบคำ ถ้าคำถามนั้นทำให้เกิดเป็นประเด็นทางการเมืองที่นำไปสู่ความขัดแย้งของคนในสังคม"

'สำนักพุทธฯ' ประสาน 'ตร.ไซเบอร์' จัดการเพจดัง ใช้ AI ทำภาพพระ 'เล่นกีตาร์-แข่งจยย.' ไม่เหมาะสม

(7 พ.ย. 66) นายสุพัฒน์ เมืองมัจฉา ผอ.สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม ในฐานะโฆษกสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวว่า พศ.ทำหนังสือถึงตำรวจไซเบอร์ เพื่อขอความอนุเคราะห์ตรวจสอบข้อมูล หลังจากที่ พศ.ตรวจพบมีเพจเฟซบุ๊กนำเสนอรูปภาพที่ไม่เหมาะสมเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ที่สร้างขึ้นมาจากปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นภาพพระภิกษุกำลังเล่นดนตรี 9 ภาพ โดยอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่ภาพลักษณ์ของทางคณะสงฆ์ และอาจทำให้พุทธศาสนิกชนเกิดความไม่สบายใจเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว

นายสุพัฒน์ กล่าวว่า พศ.จึงขอความอนุเคราะห์ในการตรวจสอบข้อมูล เพื่อดำเนินการนำภาพที่ไม่เหมาะสมออกไป พร้อมกันนี้พศ.กำลังตรวจสอบแหล่งที่มาของภาพเอไอ พระสงฆ์แข่งจักรยานยนต์ เพื่อประสานตำรวจไซเบอร์ดำเนินการต่อไปด้วย

โฆษกพศ. กล่าวต่อว่า ขณะนี้พบว่ามีผู้ใช้เอไอไปสร้างภาพที่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อคณะสงฆ์เพิ่มมากขึ้น อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อผู้ที่พบเห็นภาพดังกล่าวได้ และถือว่าไม่เหมาะสมอย่างยิ่งที่มีการนำเอไอมาใช้สร้างภาพของพระสงฆ์ที่มีพฤติกรรมเสื่อมเสียแล้วนำส่งต่อในโลกออนไลน์ หากพบภาพที่สงสัยว่าเป็นพระสงฆ์ที่มีพฤติกรรมเสื่อมเสียจริงหรือไม่ สามารถแจ้งมาได้ที่เบอร์โทร 0-2441-7992

'สำนักพุทธฯ' ชี้!! ‘เชื่อมจิต’ ไม่มีในพระไตรปิฎก อีกทั้งยังขัดหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

(17 พ.ค. 67) หลังจากที่ ทนายอนันต์ชัย ไชยเดช ประธานมูลนิธิทนายกองทัพธรรม พร้อมด้วย ทนาย ดร.ประยุทธ ประเทศเสนา หรือมหาหมี รองประธานมูลนิธิทนายกองทัพธรรม, ต้นอ้อ มูลนิธิเป็นหนึ่ง, อี้ แทนคุณ ตัวแทนผู้เสียหาย, ดร.อธิเทพ ผาทา, อ.รัก คำราม และ แพรี่ ไพรวัลย์ วรรณบุตร และ พระวิเวก นามรุ่งโรจน์ เดินทางเข้าพบ พ.ต.ท.มนสิช ชุนดี รอง ผกก.(สอบสวน) กก.2 บก.บก.ปอท. แจ้งความเอาผิด นายพิชญะ, น.ส.นัฐพร พ่อแม่ของน้องไนซ์ อายุ 8 ปี พร้อมแอดมินเพจ หรือผู้ควบคุมเพจเฟซบุ๊ก นิรมิตเทวาจุติ, ผู้ใช้บัญชีติ๊กต็อก @niramittavajuti และบุคคลอื่นผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งใช้ชื่อของน้องไนซ์ นำเสนอบทความพร้อมคลิปวิดีโอบิดเบือน หรือเป็นเท็จนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์หลายครั้งหลายหน

โดยแจ้งความในข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก, การเรี่ยไร และฉ้อโกง พร้อมกับเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ พม. เข้ามาดูแลปัญหาดังกล่าว

เมื่อวันที่ 17 พ.ค. นายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงกรณีดังกล่าว ร่วมกับ นายอินทพร จั่นเอี่ยม ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.)

นายอินทพร จั่นเอี่ยม ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวว่า พศ.ไม่ได้นิ่งนอนใจ ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวมาตั้งแต่ต้น และมีทีมงานเฝ้าระวัง ได้รวบรวมข้อมูลรายละเอียดข่าวสารต่าง ๆ เรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคำสอนที่ผิดเพี้ยน เราได้กราบนมัสการพระมหาเถระ เพื่อขอคำแนะนำ ซึ่งพระมหาเถระได้ให้คำแนะนำ และขอให้ใช้สติ ทำให้รอบคอบ เพราะเรื่องนี้ละเอียดอ่อน เนื่องจากส่งผลกระทบต่อเด็กและครอบครัว

นายอินทพร กล่าวต่อว่า ตนได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง เป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลข่าวสาร การกระทำ ที่อาจจะเป็นภัย ผลกระทบต่อความมั่นคงต่อพุทธศาสนา แม้ พศ.จะไม่มีอำนาจห้าม ระงับ ยับยั้งกลุ่มบุคคลที่เผยแพร่พระธรรมคำสอนที่ผิดเพี้ยนไปจากพระไตรปิฎก แต่เราทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตลอด

นายอินทพร กล่าวต่อว่า หลังจากวันนี้ ตนจะนำเรื่องดังกล่าวเสนอเข้าที่ประชุมมหาเถรสมาคม เพื่อรับทราบส่วนทางที่ประชุมมหาเถรสมาคม มีมติให้ พศ.ดำเนินการอย่างไรต่อไปนั้น ตนจะแจ้งความคืบหน้าอีกครั้งหนึ่ง

นายบุญเชิด กิตติธรางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนา จังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า เมื่อตรวจสอบข้อมูล ศึกษาที่รายละเอียดในพระไตรปิฎก ฟันธงกันตรงนี้ว่า ไม่ปรากฏการเชื่อมจิตแต่อย่างใด และการเชื่อมจิต ยังขัดหลักธรรมคุณ 6 ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีดำรัสไว้ให้เราให้ศึกษา และปฏิบัติ

ส่วนเชื่อมจิต เชื่อมได้หรือไม่นั้น นายบุญเชิด กล่าวว่า ในพระไตรปิฎกไม่มีครับ แต่จะมีบุคคลบอกว่าในพระไตรปิฎกมี ซึ่งพยายามเทียบเคียงว่า ในสมัยพุทธกาลเคยมีพระพุทธเจ้าตรัส หรือสนทนาธรรมกับพระอรหันต์เป็นการเทียบเคียง คำถามตามมาคือว่า คนที่กล่าวว่าเชื่อมจิตนั้นเป็นอรหันต์หรือไม่?

กรณีที่เด็กกล่าวอ้างว่ามีการเชื่อมจิต กล่าวอ้างว่าเป็นบุตรพระพทุธเจ้า หรือกล่าวอ้างใด ๆ ในเรื่องอภินิหาร เกี่ยวกับความเชื่อความศรัทธานั้น เป็นเรื่องจริงหรือเรื่องไม่จริง นายบุญเชิด กล่าวว่า ไม่ปรากฏในพระไตรปิฎก เมื่อพระไตรปิฎกไม่มีปรากฏ คือ ไม่จริง และในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ไม่มีเรื่องแบบนี้ในพระไตรปิฎก แต่ถ้าในคติในพระพุทธศาสนาในมหายาน จะมีความเชื่อเรื่องนี้ แต่ในประเทศไทย เรายึดหลักความเชื่อในเถรวาทเท่านั้น

‘มหาเถรฯ-พศ.’ แจ้งทุกวัดห้ามบังคับตรวจหาเชื้อ HIV ก่อนบวช ชี้!! ไม่เข้าข่ายเป็นโรคน่ารังเกียจ พร้อมย้ำหลักสิทธิเสรีภาพบุคคล

(31 พ.ค. 67) นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า ตามที่ กสม. ได้ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนกรณีวัดแห่งหนึ่ง ในเขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร กำหนดให้ผู้สมัครบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ต้องแสดงผลการตรวจสุขภาพและการตรวจหาเชื้อเอชไอวี (HIV) โดย กสม. มีมติเมื่อเดือนก.ย. 2566 มีข้อเสนอแนะไปยังวัดดังกล่าว ให้ยกเลิกการตรวจหาเชื้อเอชไอวีของผู้ที่จะเข้ารับการอุปสมบท

พร้อมทั้งให้ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) แจ้งเวียนไปยังวัดที่อยู่ในสังกัดทุกวัดไม่ให้บังคับตรวจหาเชื้อเอชไอวี ของผู้ประสงค์จะเข้ารับการอุปสมบท เพื่อไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติ โดยไม่เป็นธรรม โดยใช้เหตุแห่งการติดเชื้อเอชไอวีมาเป็นข้อจำกัด ที่ลิดรอนโอกาสในการเข้าถึงเสรีภาพในการปฏิบัติธรรมตามหลักศาสนาพุทธ

เนื่องจากมีข้อมูลทางการแพทย์ยืนยันว่า เชื้อเอชไอวีจะไม่ติดต่อจากการทำกิจวัตรประจำวันทั่วไป ไม่ติดต่อผ่านทางระบบหายใจ อีกทั้งเป็นเชื้อที่ตายง่ายเมื่ออยู่นอกร่างกาย หากผู้ติดเชื้อได้รักษาอย่างถูกต้อง รับประทานยาต้านเชื้ออย่างต่อเนื่อง จะทำให้มีสุขภาพแข็งแรง และดำรงชีวิตได้เช่นเดียวกับคนปกติทั่วไป

ประกอบกับกฎมหาเถรสมาคม กำหนดเพียงว่าผู้ประสงค์จะบรรพชาต้องเป็นผู้มีร่างกายสมบูรณ์ และมีเพียงข้อห้ามที่ไม่อนุญาตให้บรรพชาอุปสมบทแก่คนที่มีโรคติดต่อเป็นที่น่ารังเกียจ เช่น วัณโรคในระยะอันตราย เท่านั้น โดยให้เป็นดุลพินิจของพระอุปัชฌาย์ แต่การใช้ดุลพินิจดังกล่าวต้องสอดคล้องกับข้อเท็จจริงอย่างสมเหตุสมผลตามบริบทของสังคมไทยและข้อมูลทางการแพทย์ ต้องคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของบุคคลด้วย

ล่าสุด เมื่อเดือนเม.ย.2567 พศ. ได้มีหนังสือแจ้งการแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอแนะของ กสม. โดยแจ้งมติมหาเถรสมาคม เรื่อง การตรวจหาเชื้อเอชไอวี กรณีบรรพชาอุปสมบทแก่บุคคลทั่วไป ระบุว่า มหาเถรสมาคมได้มีมติที่ 313/2567 รับทราบความเห็นของกระทรวงสาธารณสุขตามรายงานของ พศ. ว่าการติดเชื้อเอชไอวี ไม่ใช่โรค จึงไม่เข้าข่ายเป็นโรคที่น่ารังเกียจตามกฎมหาเถรสมาคม

ประกอบกับมีความเห็นของ ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษามหาเถรสมาคม ว่าการบังคับให้ผู้หนึ่งผู้ใดต้องตรวจหาเชื้อเอชไอวี ไม่อาจกระทำได้ตามกฎหมาย มตินี้ไม่กระทบต่อหน้าที่และอำนาจของพระอุปัชฌาย์และเจ้าอาวาสที่จะคัดกรองกุลบุตร และปกครองพระภิกษุสามเณรในสังกัด และ พศ. ได้ดำเนินการแจ้งเจ้าคณะใหญ่ทราบ และแจ้งพระอุปัชฌาย์ ถือปฏิบัติตามมติมหาเถรสมาคม เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ กสม. ขอชื่นชมมหาเถรสมาคมและพศ. ที่ได้ตรวจสอบและดำเนินการแก้ไขเรื่องนี้โดยเร็ว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top