Tuesday, 22 April 2025
สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค

สคบ. เตรียมออกกฎหมายคุม ‘กล่องสุ่ม’ ชี้!! อาจเข้าข่ายการพนัน

‘สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค’ เอาจริง เตรียมออกกฎหมายควบคุมการขายสินค้าประเภท ‘กล่องสุ่มปริศนา’ เผย อาจมีความผิดตามกฎหมายการพนัน นอกจากนี้ หากสินค้าในกล่องไม่มีฉลาก และไม่ระบุราคา ผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคอีก

จากกรณี แม่ค้าออนไลน์สุดฮอต ‘พิมรี่พาย’ ได้ไลฟ์ขายสินค้าออนไลน์ในเพจพิมรี่พายขายทุกอย่าง ได้สร้างมิติใหม่แห่งการขาย หลังบิวตี้บล็อกเกอร์มาขอเปิดกล่องสุ่มเครื่องสำอาง ราคา 1 แสนบาท ได้เงิน 100 ล้านในเวลา 10 นาที

ต่อมา ได้ทำการขายกล่องสุ่มราคา 1 หมื่นบาทอีกครั้ง และขายได้เงิน 100 ล้านบาท ในเวลา 5 นาที สำหรับก่อนหน้านี้ กล่องสุ่มราคา 1 แสนบาทนั้น ลูกค้าได้นำออกมาเปิดเผยกันเป็นจำนวนมาก พบมีทั้งเครื่องสำอางเคาน์เตอร์แบรนด์จำนวนมาก และยังมีทอง, ไอโฟน ยันรถยนต์! Suzuki Celerio ราคาต่ำ ๆ ก็ 3 แสนกว่าบาทไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. มีรายงานว่า รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) นายสุวิทย์ วิจิตรโสภา ได้ออกมากล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า...

“ขณะนี้คณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณาของ สคบ. เตรียมพิจารณาการออกกฎกระทรวง เพื่อมาควบคุมการโฆษณาขายกล่องสุ่มปริศนา ซึ่งปัจจุบัน กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในช่องทางออนไลน์ และมักมีการใช้บุคคลที่มีชื่อเสียง ทั้งเน็ตไอดอล, ยูทูบเบอร์ หรือดารานักร้องมารีวิว และโฆษณาชักชวนให้ผู้บริโภคมีความสนใจ จนหลงเชื่อและซื้อสินค้า ซึ่งการออกกฎหมายฉบับนี้จะกำหนดหลักเกณฑ์, วิธีการ และเงื่อนไขต่าง ๆ ให้ชัดเจน เพื่อช่วยคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรม”

ทั้งนี้ สคบ. มองว่า ปัญหาสำคัญสำหรับการโฆษณาหรือจำหน่ายกล่องสุ่มมี 2 ประเด็นหลัก โดยประเด็นแรก อาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการพนัน ที่ดูแลโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย หากไม่ได้ทำการขออนุญาตอย่างถูกต้อง หรือไม่ผ่านการตรวจสอบ ส่วนประเด็นที่สองเกี่ยวข้องกับผู้บริโภค เพราะการระบุข้อมูลในกล่องว่ามีเพียงประเภทสินค้า เช่น เครื่องสำอาง หรือของใช้ โดยไม่ได้ระบุรายละเอียดสำคัญของสินค้า ทั้งฉลากและราคา มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคต้องได้รับข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณนาของสินค้าที่ถูกต้องครบถ้วน เพื่อให้ผู้บริโภคเห็นสินค้าได้อย่างชัดเจนว่ามีความจำเป็นก่อนตัดสินใจซื้อ

‘สคบ.’ เผย กฎหมายเปิดดูสินค้าออนไลน์ก่อนจ่าย มีผลบังคับใช้ 3 ต.ค. นี้ คาด!! ช่วยแก้ปัญหา ‘นักช้อปออนไลน์’ สามารถ ‘ปฏิเสธชำระเงิน-ไม่รับสินค้าได้’

(7 ก.ค.67) นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการว่าด้วยสัญญา ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ให้ความเห็นชอบร่างประกาศที่เกี่ยวข้องกับการที่ผู้บริโภคสามารถขอเปิดดูสินค้าได้ก่อนชำระเงินค่าสินค้า สำหรับการซื้อสินค้าออนไลน์จ่ายเงินปลายทางนั้น ล่าสุด ประธานคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา ได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ‘ให้ธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทางเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. 2567‘ แล้ว เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2567นั้น ล่าสุดประกาศ สคบ. ดังกล่าว ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ที่ผ่านมา และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 3 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป ซึ่งการมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เพื่อให้ผู้ประกอบการขนส่งสินค้า และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้มีระยะเวลาในการเตรียมตัวที่เหมาะสม

นางสาวจิราพร กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้จะช่วยแก้ปัญหาให้นักช้อปออนไลน์ โดยการใช้ ‘มาตรการส่งดี (Dee-Delivery)’ ให้ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าที่เรียกเก็บเงินปลายทางจากผู้บริโภค ต้องระบุรายละเอียดในหลักฐานการรับเงิน เช่น ชื่อ-สกุล และหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ส่งสินค้า หมายเลขติดตามพัสดุ ข้อมูลพัสดุ จำนวนเงินที่เรียกเก็บปลายทาง รวมถึงให้สิทธิผู้บริโภคปฏิเสธไม่รับสินค้า หรือมีสิทธิได้รับค่าสินค้าคืน โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจถือเงินไว้ก่อนเป็นเวลา 5 วัน ก่อนนำส่งเงินให้กับผู้ส่งสินค้า เพื่อให้ผู้บริโภคมีโอกาสแจ้งเหตุที่ขอคืนสินค้าและขอเงินคืน

นอกจากนี้ ยังให้สิทธิผู้บริโภคสามารถเปิดดูสินค้าก่อนชำระเงินได้ โดยบันทึกภาพถ่ายหรือวิดีโอไว้เป็นหลักฐาน หากสินค้าไม่ตรงตามที่สั่งซื้อ ผู้บริโภคสามารถปฏิเสธการชำระเงินและไม่รับสินค้าได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์โดยตรงกับประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภค และจะช่วยแก้ไขปัญหาการถูกหลอกขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์อีกด้วย

‘นิด้าโพล’ เผยผลสำรวจ ปชช. ไม่เชื่อสินค้าที่ ‘ดารา-อินฟลูฯ’ รีวิว ชี้!! ร้องเรียนกับสื่อ ได้รับความเป็นธรรม รวดเร็วกว่าไปหา ‘สคบ.’

(20 ต.ค. 67)  ศูนย์สำรวจความคิดเห็น ‘นิด้าโพล’ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง ‘ใครจะคุ้มครองผู้บริโภค’ ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 15-16 ตุลาคม 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการโฆษณาสินค้าของดารา และอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) คนดัง การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงการโฆษณาสินค้าของดารา อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของประชาชน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 42.21 ระบุว่า ไม่ส่งผลเลย รองลงมา ร้อยละ 22.98 ระบุว่า ส่งผลมาก ร้อยละ 19.01 ระบุว่า ค่อนข้างส่งผล และร้อยละ 15.80 ระบุว่า ไม่ค่อยส่งผล

ด้านความเชื่อของประชาชนที่มีต่อดารา อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ใช้สินค้าจากการโฆษณาจริง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 52.29 ระบุว่า ไม่เชื่อว่าใช้สินค้านั้นจริง รองลงมา ร้อยละ 22.98 ระบุว่า เชื่อว่าใช้สินค้านั้นเป็นบางครั้ง ร้อยละ 20.53 ระบุว่า เชื่อว่าใช้สินค้านั้นเฉพาะตอนโฆษณา ร้อยละ 3.89 ระบุว่า เชื่อว่าใช้สินค้านั้นจริง และร้อยละ 0.31 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ด้านความรู้สึกของประชาชนต่อการโฆษณาสินค้าที่มีของแถมจำนวนมาก และ/หรือ ลดราคาเยอะ ๆ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 34.12 ระบุว่า จะตั้งข้อสงสัยว่า คุณภาพสินค้าอาจไม่ดี รองลงมา ร้อยละ 30.23 ระบุว่า เป็นแค่วิธีการโฆษณาชวนเชื่อ ร้อยละ 23.89 ระบุว่า ไม่คิดจะซื้อสินค้าที่โฆษณาแบบนี้ ร้อยละ 19.47 ระบุว่า จะตั้งข้อสงสัยว่า มีเงื่อนไขอะไรแอบแฝงอยู่หรือเปล่า ร้อยละ 19.24 ระบุว่า จะตั้งข้อสงสัยว่า ต้นทุนสินค้าน่าจะถูกมาก ร้อยละ 17.94 ระบุว่า จะตั้งข้อสงสัยว่า สินค้านั้นอาจใกล้หมดอายุการใช้งาน ร้อยละ 8.63 ระบุว่า จะขอเปรียบเทียบคุณภาพกับสินค้าที่เหมือนกันหรือใกล้เคียงก่อนตัดสินใจ ร้อยละ 8.17 ระบุว่า จะขอเปรียบเทียบราคากับสินค้าที่เหมือนกันหรือใกล้เคียงก่อนตัดสินใจ ร้อยละ 7.02 ระบุว่า จะลองสั่งมาใช้ดู ร้อยละ 4.27 ระบุว่า ถ้าเป็นสินค้าที่ใช้เป็นประจำ จะซื้อสินค้านั้นทันที ร้อยละ 2.14 ระบุว่า สนใจที่จะซื้อสินค้านั้นทันที (แม้ว่าจะไม่เคยใช้ก็ตาม) และร้อยละ 0.38 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

สำหรับการร้องเรียนจากการถูกเอาเปรียบหรือหลอกลวงให้ซื้อสินค้าหรือลงทุน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 41.22 ระบุว่า ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ รองลงมา ร้อยละ 30.08 ระบุว่า ไปร้องเรียนกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ร้อยละ 25.19 ระบุว่า ไม่ร้องเรียนใด ๆ ร้อยละ 15.50 ระบุว่า ไปร้องเรียนกับสื่อ ร้อยละ 12.06 ระบุว่า ไปร้องเรียนกับศิลปิน ดารา หรือจิตอาสาคนดัง เช่น หนุ่ม กรรชัย กัน จอมพลัง บุ๋ม ปนัดดา เป็นต้น ร้อยละ 5.57 ระบุว่า ไปร้องเรียนกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง (ไม่รวม สคบ.) ร้อยละ 2.60 ระบุว่า ไปร้องเรียนกับทนายคนดัง ร้อยละ 1.68 ระบุว่า ไปร้องเรียนกับองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ที่เกี่ยวข้อง เช่น มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค และร้อยละ 0.92 ระบุว่า ไปร้องเรียนกับนักการเมือง

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงการร้องเรียนที่ได้รับความเป็นธรรมเร็วที่สุดจากการถูกเอาเปรียบหรือหลอกลวงให้ซื้อสินค้าหรือลงทุน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 24.81 ระบุว่า ไปร้องเรียนกับสื่อ รองลงมา ร้อยละ 23.05 ระบุว่า ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ ร้อยละ 15.88 ระบุว่า ไปร้องเรียนกับศิลปิน ดารา หรือจิตอาสาคนดัง เช่น หนุ่ม กรรชัย กัน จอมพลัง บุ๋ม ปนัดดา เป็นต้น ร้อยละ 15.80 ระบุว่า ไปร้องเรียนกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และไม่ร้องเรียนใด ๆ ในสัดส่วนที่เท่ากัน ร้อยละ 1.91 ระบุว่า ไปร้องเรียนกับทนายคนดัง ร้อยละ 1.45 ระบุว่า ไปร้องเรียนกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง (ไม่รวม สคบ.) ร้อยละ 0.92 ระบุว่า ไปร้องเรียนกับองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ที่เกี่ยวข้อง เช่น มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค ร้อยละ 0.07 ระบุว่า ไปร้องเรียนกับนักการเมือง และร้อยละ 0.31 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top