Friday, 5 July 2024
สาธารณสุข

‘เพื่อไทย’ ชู ยกระดับบริการด้านสุขภาพอย่างทั่วถึง จัดเก็บข้อมูลในระบบคลาวด์-เข้ารักษาได้ทุกพื้นที่ทั่วไทย

(26 เม.ย.66) เพจเฟซบุ๊กพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความถึงระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ที่อธิบายโดย นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ผู้ช่วยหาเสียงพรรคเพื่อไทย และ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พรรคเพื่อไทย โดยระบุว่า…

พรรคเพื่อไทยจะยกระดับนโยบายโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคที่พรรคไทยรักไทยทำไว้เมื่อ 22 ปีที่แล้ว ซึ่งหากได้กลับมาเป็นรัฐบาลในสมัยหน้า พรรคฯ จะดำเนินโครงการนี้ต่อ พร้อมกับการปฏิรูปงบประมาณทั้งระบบ ควบคู่กับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการบริหารจัดการโครงการฯ อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะโอนมอบภารกิจในการเป็นหน่วยงานรับประกันด้านสุขภาพของประชาชนให้กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แทนที่โรงพยาบาลเหมือนในอดีต 

พร้อมนี้ ยังจะเพิ่มงบประมาณในโครงการเป็น 1.6-1.7 แสนล้านบาทต่อปี เพื่อให้สปสช.ดำเนินโครงการอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ประชาชนไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ใดได้รับบริการด้านสุขภาพอย่างทั่วถึง สามารถเลือกแพทย์และโรงพยาบาลได้ตามที่ตัวเองต้องการ 

นอกจากนี้ ยังจะให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเก็บข้อมูลและประวัติการรักษาพยาบาลของคนไข้ไว้ในระบบคลาวด์ เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างกัน ซึ่งจะทำให้การเรียกหาข้อมูลของคนไข้ทำได้อย่างสะดวกไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ไหน

‘พปชร.’ ชูนโยบาย ‘ลุงป้อมพาหมอไปหา’ ยกระดับ สธ.ทั้งระบบ ช่วยคนไทยใกล้ชิดหมอแค่ปลายนิ้ว ด้วยมือถือเพียงเครื่องเดียว

(3 พ.ค. 66) เพจของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้มีการเผยแพร่คลิปที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับ การพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศไทยด้วย นโยบาย ‘ลุงป้อมพาหมอไปหา เอายาไปส่ง’ มีเนื้อหาระบุว่า…

“จะหาหมอทั้งทีต้องเดินทาง ต้องรอคิว เข้าถึงการรักษายากลำบาก แต่วันนี้จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะพรรคพลังประชารัฐจะนำระบบ Telelmed หรือการแพทย์ทางไกลมาใช้ โดยจะทำให้เห็นว่า ไม่ว่าประชาชนอยู่ที่ไหน ก็สามารถพบแพทย์ได้ ซึ่งนโยบายนี้ คือสิ่งที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จะทำให้เกิดขึ้นทันทีที่เข้ามาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศภายหลังการเลือกตั้ง โดยคนไทยทุกคนจะต้องมีสุขภาพที่ดี ด้วยเทคโนโลยีสาธารณสุขใหม่ ไม่ว่าอยู่ไกลแค่ไหน คนไทยก็ใกล้หมอกว่าที่เคย”

พล.อ.ประวิตร ได้กล่าวว่า จากนี้ไปไม่ว่าจะพบแพทย์จ่ายยาหรือดูแลรักษา จะสามารถเข้าถึงที่บ้านของคนไทยทั่วประเทศ แม้ในพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพที่ดี ได้ใกล้ชิดหมอมากกว่าเดิม พรรคพลังประชารัฐจะใช้เทคโนโลยีทางไกล เชื่อมต่อทุกบริการทางการแพทย์ คนไทยจะใกล้หมอแค่ปลายนิ้ว เจ็บป่วยจะจัดการได้ด้วยโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียว

'นพ.กวิน' สำรวจ!! นโยบายสาธารณสุขของพรรคเพื่อไทย เห็นด้วย!! สร้างรพ.รัฐขนาด 120 เตียงขึ้นไปประจำทุกเขตในกทม.

(3 ก.ย. 66) นายแพทย์กวิน ก้านแก้ว แพทย์ผู้อุทิศตนให้กับการรักษาคนไข้โดยไม่เคยย่อท้อ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Kawin Kankeow' ระบุว่า...

หนึ่งในนโยบายด้านสาธารณสุขของพรรคเพื่อไทยที่ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งคือ กทม.ต้องมีโรงพยาบาลรัฐขนาด 120 เตียงขึ้นไปประจำทุกเขต

หลายคนอาจไม่เห็นด้วยกับนโยบายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ 30 บาทรักษาทุกโรค ยิ่งในช่วงหลังมีการพูดถึงว่าเป็นต้นเหตุทำให้ภาระงานของบุคลากรสาธารณสุขเพิ่มมากขึ้น ผมไม่คิดเช่นนั้นครับ 

ผมคิดว่านโยบายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ 30 บาทรักษาทุกโรค คือการปฏิวัติระบบบริการสุขภาพที่เป็นประโยชน์อย่างมากกับคนไทยอย่างแท้จริง ก่อนหน้านี้คนยากจนมีโอกาสเข้าถึงการรักษาโรคได้โดยผ่านการสงเคราะห์ และด้วยนโยบายดังกล่าวทำให้คนไทยทุกคนไม่ว่าจะยากดีมีจนมีโอกาสเข้าถึงการรักษาโรคได้อย่างเท่าเทียมกันและเสมอภาคกัน

ฉะนั้น ผมจึงไม่เห็นด้วยเลยกับนโยบายการร่วมจ่ายของประชาชน เพราะเมื่ออยู่ในท้องถิ่นทุรกันดารเงินหลักร้อยบาทขึ้นไปก็ไม่ใช่เงินจำนวนที่ทุกคนมีพร้อมจะจ่าย

ทุกวันนี้ผมคิดว่าทุกจังหวัดของประเทศไทยยกเว้นกรุงเทพมหานคร ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาโรคได้อย่างเหมาะสมแล้วผ่านการให้บริการของโรงพยาบาลรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข

แต่สำหรับกรุงเทพฯ โรงพยาบาลที่ให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลเอกชน เพราะโรงพยาบาลรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในกรุงเทพฯ มีน้อยมากๆ

ความแตกต่าง คือ การพิจารณาการใช้ทรัพยากรในการรักษาและการส่งต่อผู้ป่วยสำหรับโรงพยาบาลรัฐย่อมมีข้อจำกัดน้อยกว่าโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งมีปัจจัยเรื่องเงินเป็นตัวตั้ง

จากประสบการณ์ส่วนตัวของผมพบว่าผู้ป่วยที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ เข้าถึงการรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ด้อยกว่าผู้ป่วยที่อาศัยอยู่ต่างจังหวัด บางกรณีการลงทุนย้ายไปรักษาที่โรงพยาบาลรัฐในต่างจังหวัดสำหรับคนกรุงเทพฯ อาจจะคุ้มกว่าด้วยซ้ำ

ดังนั้น การที่จะมีนโยบายสร้างโรงพยาบาลรัฐในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น ย่อมทำให้คนกรุงเทพฯ เข้าถึงการรักษาโรคต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น ส่วนตัวผมคิดว่าไม่จำเป็นต้องสร้างทุกเขต ควรจะสร้างโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่เป็นจุดๆ ดีกว่า เพราะการเดินทางในกรุงเทพฯ สะดวกสบายอยู่แล้ว และการสร้างโรงพยาบาลเล็กๆ หลายๆ แห่งมีความสิ้นเปลืองในแง่ของการกระจายทรัพยากรที่มากกว่า

นอกจากนโยบายการสร้างโรงพยาบาลรัฐในกรุงเทพฯ แล้ว การเปลี่ยนแปลงในระบบสาธารณสุขที่ผมอยากเห็นอีกประการหนึ่งคือ การกำหนดโครงสร้างให้โรงพยาบาลและสถานบริการสาธารณสุขของรัฐในแต่ละจังหวัดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อยู่ภายใต้ผู้บริหารที่สามารถกำหนดนโยบายและทิศทางการทำงานได้ทั้งจังหวัด

...และไม่เห็นด้วยเลยกับการนำโรงพยาบาลและสถานบริการสาธารณสุขไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การที่โรงพยาบาลแต่ละแห่งในจังหวัดอยู่ภายใต้การกำกับดูแลเป็นเอกเทศไม่ขึ้นแก่กัน ทำให้ทิศทางการพัฒนาเป็นไปอย่างสะเปะสะปะและไม่เกิดการแชร์ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดร่วมกัน

โรงพยาบาลรัฐทุกแห่งไม่จำเป็นต้องพยายามเพิ่มศักยภาพให้เท่าเทียมกันหมด ตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลที่อยู่ในอำเภอเล็กๆ ซึ่งอยู่ใกล้โรงพยาบาลจังหวัดมากๆ อาจไม่จำเป็นต้องมีการรักษาที่ซับซ้อน เช่น การผ่าตัดหรือการคลอดบุตร เลย การที่มี CEO ของจังหวัดในการวางแผนการให้บริการสาธารณสุขทั้งจังหวัดจะทำให้การจัดสรรทรัพยากรกระจายได้อย่างเหมาะสมกว่า

นอกจากนี้สิ่งที่ผมอยากเห็นอีกอย่างคือ การควบรวมสิทธิการรักษาหลักทั้งสามคือ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, ระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการรักษาของข้าราชการ เข้าด้วยกัน

ถ้าเรามั่นใจว่าปัจจุบันระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทำได้ดีแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องมีระบบอื่นอีก เพราะการดูแลรักษาคนไทยทุกคนควรมีมาตรฐานเดียวที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน และระบบประกันสังคมควรจะดูแลเฉพาะในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรค เช่น การออมเงิน การชดเชยรายได้ ในขณะที่ข้าราชการอาจได้สิทธิบางอย่างเพิ่มเติม เช่น ค่าบริการห้องพิเศษ

...เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นแพทย์ ก็หวังว่าจะได้เห็นนโยบายดีๆ เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ครับ

ครม.มอบ ‘หมอชลน่าน’ ตั้ง กก.ยกระดับบัตรทอง-ระบบสาธารณสุข ไฟเขียว ให้ผู้ป่วยเลือก รพ.ได้เอง ย้ำ ยึดผู้ใช้บริการเป็นศูนย์กลาง

13 ก.ย. 66 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรก ว่า ภารกิจทางด้านสาธารณสุขนั้น ได้มอบหมายให้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไปแต่งตั้งคณะทำงานยกระดับมาตรฐานการบริการโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) เช่น ในการไปรับบริการที่โรงพยาบาล จากเดิมที่ต้องรอคอยนานเป็นวันเพื่อพบแพทย์เพียง 2 นาที จากนี้จะเป็นระบบการนัดหมายเข้ารับบริการ เพื่อจะได้ไม่ต้องรอคอยที่โรงพยาบาลทั้งวัน หรือในบางกรณีที่เป็นเพียงการนัดหมาย เพื่อติดตามอาการ หรือรับยาเท่านั้น อาจไม่จำเป็นต้องเดินทางไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลแล้ว แต่สามารถให้ญาติ ประสานผ่านระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อขอรับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้านได้

นายชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ในเรื่องของการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า ซึ่งจากเดิมจะต้องมีการขอใบส่งตัวจากโรงพยาบาลต้นทาง ที่มีความยุ่งยาก และใช้เวลานาน ต่อจากนี้ไม่ต้องไปขอใบส่งตัวแล้ว เพราะข้อมูลผู้ป่วยมีอยู่ในฐานระบบที่เชื่อมโยงกันอยู่

นายชัย กล่าวว่า ที่สำคัญจากนี้ไม่ต้องมีโรงพยาบาลประจำแล้ว จากนี้หากผู้ป่วยอยู่ใกล้โรงพยาบาลไหน หรือชอบใจ มั่นใจโรงพยาบาลไหน ก็สามารถไปได้เลย เหมือนประกันเอกชนคอยดูแลสามารถเลือกไปโรงพยาบาลไหนก็ได้ นี่คือเวอร์ชันใหม่ เป็นเวอร์ชันที่เอาผู้ใช้บริการเป็นศูนย์กลาง ให้ประชาชนมีความสะดวก ไม่ใช่ให้ผู้ให้บริการมีความสะดวก นี่เป็นเรื่องใหม่มากๆ เป็นการยกระดับอย่างเห็นได้ชัด

‘ยูเอ็น’ ชี้!! สงครามซูดาน ทำการแพทย์วิกฤต ขาดแคลนยา-จนท. หลังยอดเด็กเสียชีวิตจากโรคหัด-ขาดสารอาหาร ทะลุ 1,200 ราย

(20 ก.ย. 66) สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ดร.อัลเลน ไมนา ผู้อำนวยการด้านสาธารณสุขของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ได้กล่าวในการประชุมขององค์การสหประชาชาติที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา ว่า มีเด็กมากกว่า 1,200 คนที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบได้เสียชีวิตลงจากโรคหัดและภาวะทุพโภชนาการในค่ายลี้ภัยที่ประเทศซูดาน นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พร้อมแสดงความกังวลว่าตัวเลขดังกล่าวอาจเพิ่มสูงขึ้นกว่านี้

การสู้รบระหว่างกองทัพซูดานและกองกำลัง Rapid Support Forces (อาร์เอสเอฟ) ซึ่งเป็นกองกำลังกึ่งทหารที่ขณะนี้กินเวลาไปแล้วเกือบ 6 เดือน นับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนเมษายน ได้ทำให้ภาคสาธารณสุขในประเทศซูดานล่มสลายลง จากการโจมตีกันโดยตรงของทั้งสองฝ่าย รวมถึงเกิดปัญหาขาดแคลนเจ้าหน้าที่และยารักษาโรค

ด้านองค์การกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) กังวลว่าทารกแรกเกิดจำนวนหลายพันคนจากทารกทั้งหมด 333,000 คนที่มีกำหนดจะคลอดลืมตาดูโลกก่อนสิ้นปีนี้จะเสียชีวิตลง

นายเจมส์ เอลเดอร์ โฆษกของ UNICEF กล่าวให้เหตุผลในที่ประชุมว่า “ทารกแรกเกิดและแม่ต้องการการดูแลที่มีทักษะในการคลอดบุตร อย่างไรก็ตาม ในประเทศที่ประชากรหลายล้านคนต้องติดอยู่ท่ามกลางสมรภูมิรบหรือต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น รวมถึงมีการขาดแคลนอุปกรณ์การแพทย์อย่างหนัก การดูแลดังกล่าวนับวันจะยิ่งลดน้อยลง”

นายเอลเดอร์ยังกล่าวด้วยว่า ทุกๆ เดือนเด็กจำนวนราว 55,000 คนในประเทศซูดาน ต้องเข้ารับการรักษาจากภาวะทุพโภชนาการขั้นร้ายแรงที่สุด แต่กลับมีศูนย์โภชนาการที่ยังคงเปิดให้บริการในกรุงคาร์ทูมอยู่เพียงไม่ถึง 1 ใน 50 แห่ง ขณะที่เหลือศูนย์โภชนาการที่ยังคงเปิดให้บริการในภูมิภาคดาร์ฟูร์ตะวันตกเหลืออยู่เพียง 1 ใน 10 แห่ง

‘สธ.’ เตือน!! ‘คนเลี้ยงนก’ เฝ้าระวัง ‘ไข้นกแก้ว’ หลังยุโรประบาดหนัก ชี้ ติดต่อจากสัตว์สู่คนได้ อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ทำให้ปอดอักเสบรุนแรง

(8 มี.ค. 67) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีพบการระบาดของโรคซิตตาโคซิส หรือ โรคไข้นกแก้ว ในหลายประเทศแถบยุโรป มีผู้เสียชีวิต 5 ราย โดยพบเชื้อในนก สัตว์ปีกในป่า และสัตว์เลี้ยงหลายชนิด ว่า โรคไข้นกแก้ว (Psittacosis) เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่พบได้ยาก แต่ไม่ใช่โรคติดต่ออุบัติใหม่ และมียาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาได้ เชื้อโรคนี้มักจะก่อโรคในนกที่เป็นสัตว์เลี้ยง เช่น นกแก้ว เป็นต้น

ในอดีตเคยมีการระบาดในนกแก้วในหลายประเทศ เช่น เม็กซิโก สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ คอสตาริกา ออสเตรเลีย ส่วนในประเทศไทยเคยมีการรายงานจากการวิจัยสำรวจในสัตว์ปีก ว่าพบเชื้อแบคทีเรียนี้เช่นกัน

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า โรคนี้ไม่แพร่กระจายโดยการกินสัตว์ที่ติดเชื้อ การติดเชื้อในคนส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากนกที่ติดเชื้อ จัดอยู่ในกลุ่มโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยผ่านทางการหายใจเอาเชื้อที่ขับออกมาจากปัสสาวะ อุจจาระ หรือสิ่งคัดหลั่งที่มีการปนเปื้อนของนกที่ติดเชื้อ

ผู้ที่ติดเชื้อจะมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ และทำให้เกิดอาการปอดอักเสบรุนแรงได้ บางรายอาจมีอาการเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ปัจจุบันยังไม่มีรายงานว่าพบผู้ป่วยโรคนี้ในระบบเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค

อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุข โดย กรมควบคุมโรค ประสานไปยังจุดประสานงานกฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR) เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมในกรณีที่พบการระบาดหรือการติดเชื้อของโรคดังกล่าว และประสานไปยังกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมปศุสัตว์ และเครือข่ายมหาวิทยาลัย ซึ่งมีความร่วมมือกันเรื่องสุขภาพหนึ่งเดียว (One health) เพื่อประสานข้อมูล และร่วมมือกันเฝ้าระวังโรคทั้งในคนและในสัตว์

โดยโรคนี้อยู่ในระบบเฝ้าระวังแบบ Event base surveillance หรือการเฝ้าระวังเหตุการณ์ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ติดตามอย่างใกล้ชิดทุกวัน

“กลุ่มเสี่ยงที่ต้องให้ความสำคัญในการเฝ้าระวังการติดเชื้อ ได้แก่ ผู้เลี้ยงนก สัตวแพทย์ หรือบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับนก แม้โรคนี้จะยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่สามารถป้องกันเบื้องต้นได้ โดยเลือกซื้อนกเลี้ยงจากร้านขายสัตว์เลี้ยงที่น่าเชื่อถือและมีสุขอนามัยที่ดี

ผู้เลี้ยงต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันการติดเชื้อในนก เช่น การรักษาความสะอาด ไม่ให้นกอยู่กันอย่างแออัด แยกสัตว์ป่วยออกจากสัตว์ปกติ เป็นต้น ส่วนประชาชนทั่วไปควรหลีกเลี่ยงใกล้ชิดกับสัตว์ป่วย

หากจำเป็นต้องสัมผัสต้องป้องกันตนเอง สวมถุงมือ และหมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ บุคลากรที่มีความเสี่ยงในการสัมผัสใกล้ชิดกับนก ต้องหมั่นคอยสังเกตอาการตนเองและอาการของสัตว์อยู่เสมอ หากมีอาการผิดปกติ ให้รีบปรึกษาแพทย์และแจ้งประวัติเสี่ยง” นพ.ชลน่าน กล่าว

‘ดีอี - สธ.’ จับมือพัฒนาระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุข เชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพประชาชนไว้บนระบบเดียวกัน ยกระดับ 30 บาท

เมื่อวานนี้ (29 มี.ค.67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันเปิดโครงการ ‘พัฒนาระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุขของประเทศไทย’ ภายใต้กิจกรรมที่ 1 ‘การพัฒนาบริหารจัดการการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพทั่วประเทศ’ โดยมีนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี พร้อมด้วยนายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนายธีรวุฒิ ธงภักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตลอดจนคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่กระทรวงดีอีและกระทรวงสาธารณสุข พร้อมผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงาน ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ โดยภายในงานได้มีการเสวนา ในหัวข้อ ‘ความเป็นมาของโครงการ เป้าหมาย การใช้บริการ Cloud การ Exchange ข้อมูล’ ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นายธีรวุฒิ ธงภักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนายแพทย์สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ กระทรวงสาธารณสุข

นายประเสริฐ กล่าวว่า กระทรวงดีอี โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) มุ่งมั่นที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุขเป็นสิ่งสำคัญและมุ่งมั่นให้บริการแก่ประชาชน โดยจัดให้มีระบบคลาวด์กลาง GDCC เพื่อให้บริการด้านการประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลที่ปลอดภัยสำหรับหน่วยงานภาครัฐ สนับสนุนบริการภาครัฐตามยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งนี้ การพัฒนาระบบสารสนเทศแพลตฟอร์มกลางบนคลาวด์มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับ รพ.สต.ทั่วประเทศ ที่ขาดแคลนบุคลากรด้านคอมพิวเตอร์และงบประมาณ ซึ่งระบบนี้จะได้รับการดูแล ปรับปรุงและพัฒนาจากหน่วยงานส่วนกลางแบบออนไลน์ เป็นการลงทุน สำหรับการพัฒนาและดูแลระบบที่มีต้นทุนต่ำ แต่สามารถเชื่อมโยงการดูแลสุขภาพทุกระดับ ระบบสารสนเทศจะมีระบบประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ (Cloud Computing) ในรูปแบบ Private Cloud ที่มีความยืดหยุ่นในการใช้งาน มีการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ช่วยลดงบประมาณให้กับภาครัฐ ในระยะยาวได้ โดยกระทรวงดีอีจะดำเนินการจัดหา พัฒนา ดูแลระบบคลาวด์กลางสำหรับข้อมูลสุขภาพที่มีความปลอดภัย พร้อมกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

“สดช. และ สธ. ในฐานะหน่วยงานรัฐผู้ดำเนินงานให้บริการโครงการคลาวด์กลาง เชื่อมั่นว่าระบบนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการดูแลสุขภาพของประชาชน และเป็นการขับเคลื่อนสู่ Health 4.0 อย่างเป็นระบบ ซึ่งโครงการนี้ไม่เพียงแค่เป็นการปรับปรุงการบริหารจัดการข้อมูลสุขภาพเท่านั้น แต่ยังเป็นการลงทุนที่สำคัญในการเดินหน้าของประเทศไทยสู่ Health 4.0 ที่จะช่วยสร้างพื้นที่ในการพัฒนาและส่งเสริมนวัตกรรมในด้านสุขภาพอย่างยั่งยืน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวย้ำ 

ขณะที่ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีนโยบายเร่งผลักดันการพัฒนาระบบสุขภาพระดับชาติ เพิ่มขีดความสามารถด้านสาธารณสุข สร้างบทบาทของนวัตกรรมด้านสุขภาพ รวมถึงสร้างสภาพแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพดิจิทัล เพื่อให้ประชาชนทุกคน ทุกพื้นที่ มีโอกาสเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีการพัฒนาระบบสุขภาพดิจิทัลมาอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือ ‘แอปพลิเคชันหมอพร้อม’ แพลตฟอร์มสุขภาพดิจิทัลที่มีผู้ใช้งานกว่า 25.4 ล้านคน รวมถึงการพัฒนาโรงพยาบาลในสังกัดให้เป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะ นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการให้บริการ มีการเชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพของประชาชนบนฐานข้อมูลที่มีความปลอดภัย ช่วยให้ประชาชนเข้ารับบริการได้อย่างสะดวก รวดเร็วลดการรอคอยและลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้

“สำหรับโครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางฯ ซึ่งเป็นความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุข โดยศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และ กระทรวงดีอี โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ริเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2565 เป้าหมายสำคัญคือ การพัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูลสุขภาพของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั้งปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ และส่วนกลาง ให้อยู่บนระบบเดียวกัน รวมทั้งยกระดับการทำงานหน่วยงานรัฐด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย พร้อมระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ตามมาตรฐานสากล ISO 27001 ช่วยป้องกันไม่ให้ข้อมูลรั่วไหลหรือถูกโจรกรรม และสามารถนำข้อมูลสำคัญมาวิเคราะห์เพื่อวางแผนในการบริหารจัดการด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทยได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งยังรองรับการขับเคลื่อนนโยบายยกระดับ 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ที่ต้องมีการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพจากโรงพยาบาลภาครัฐ โรงพยาบาลเอกชน คลินิก ร้านยา ร้านแล็บที่เข้าร่วมโครงการ ทำให้ผู้ให้บริการทางการแพทย์ทราบข้อมูลสุขภาพชุดเดียวกัน เช่น ประวัติการแพ้ยา แพ้อาหาร การรักษาที่ผ่านมา ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ สามารถให้การรักษาผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว

‘จีน’ เดินหน้าปรับปรุง ‘บริการทางการแพทย์’ เพื่อผู้ป่วย ครอบคลุมขั้นตอนนัดหมาย - หนุนการดำเนินงานของรพ.

(9 พ.ค. 67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สิงรั่วฉี รองหัวหน้าสำนักบริหารการแพทย์ สังกัดคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน เปิดเผยว่า หน่วยงานสาธารณสุขของจีนให้ความสำคัญกับการปรับปรุงประสบการณ์ของผู้ป่วยขณะเข้ารับการดูแลทางการแพทย์ และมีการดำเนินสารพัดมาตรการเกี่ยวกับเรื่องนี้

สิงรั่วฉีกล่าวว่า มีการดำเนินมาตรการต่าง ๆ เช่น ปรับปรุงกระบวนการนัดหมายทางการแพทย์เพื่อลดระยะเวลารอของผู้ป่วย และสนับสนุนโรงพยาบาลจัดสรรการบริการบำบัดรักษาแบบสหวิทยาการ เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้ป่วย โดยปัจจุบันมีโรงพยาบาลให้บริการแบบสหวิทยาการกว่า 2,400 แห่ง

ขณะเดียวกันโรงพยาบาลเหล่านี้กำลังใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง และคณะกรรมการฯ ดำเนินโครงการปรับปรุงการบริการดูแลและรักษาพยาบาลเพื่อรับรองผู้ป่วยและตอบสนองความต้องการทางคลินิกได้ดียิ่งขึ้นในปีที่ผ่านมา

สิงรั่วฉีเสริมว่า ปัจจุบันมีสถาบันการแพทย์มากกว่า 3,000 แห่ง ให้บริการที่เกี่ยวข้องตามบ้านของผู้ป่วย ขณะหลายภูมิภาคอย่างปักกิ่ง ซานตง และเจียงซู ดำเนินการปฏิรูปและปรับใช้ทรัพยากรจากสังคมเพิ่มเติมเพื่อให้บริการดูแลรักษาพยาบาลแก่ประชาชนสูงอายุ

‘สมศักดิ์’ ย้ำ!! ครอบครอง ‘ยาบ้า 1 เม็ด’ ก็จับ แต่มีสิทธิ์ขอบำบัดได้ หากพิสูจน์ว่าเป็นผู้ติดยาจริง

(18 มิ.ย. 67) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการประกาศกฎกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการครอบครองยาบ้า 1 เม็ด ว่า เมื่อวานนี้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว หากมียาบ้าในครอบครอง 1 เม็ดก็จับ แต่ก็มีสิทธิ์ที่จะขอบำบัดได้ โดยต้องพิสูจน์ว่าตนเองเป็นผู้ติดยา ซึ่งการพิสูจน์เป็นหน้าที่ของตำรวจ โดยมติคณะรัฐมนตรีได้ขอให้ใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ครอบคลุมในประเด็นที่ว่าถ้ามีผู้เสพต้องรู้ว่าเอายาบ้ามาจากไหน 1 ผู้เสพต้องมี 1 ผู้ขาย หากเจ้าหน้าที่ตำรวจทำได้ครบวงจร ตนเชื่อว่ายาบ้าจะลดน้อยลงทันที ถ้าไม่มีผู้ขาย ผู้เสพก็ลดลง ซึ่งปัจจุบันผู้เสพที่เข้าบำบัดในโรงพยาบาล สีเหลืองสีแดง ประมาณ 110,000 คน ก็จะลดลงทันที แต่ขอให้มีกระบวนการยึดทรัพย์ ถ้าไม่มีก็แก้ไม่หาย หากเราแก้แต่ปลายน้ำ ก็ขอให้ต้นน้ำช่วยกันด้วย แม้จะจับรายใหญ่ที่อยู่ต่างประเทศไม่ได้ ก็ขอให้จับผู้เสพและผู้ขาย 

ส่วนการยึดทรัพย์คนที่ชี้เบาะแสก็จะมีส่วนแบ่ง 5% ขณะที่คนที่ทำคดีตั้งแต่ต้นจนถึงชั้นอัยการที่ส่งฟ้อง จะได้ส่วนแบ่ง 25% ซึ่งกฎหมายฉบับใหม่จะดำเนินคดีได้เร็วขึ้น โดยใช้เวลาประมาณ 2 ปี ก็น่าจะยึดทรัพย์ได้ทั้งหมด

ส่วนการเปิดรับฟังความคิดเห็นกรณีการนำกัญชากลับมาเป็นยาเสพติด มีประชาชนเห็นด้วยมากน้อยแค่ไหนนั้น นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ในช่วงแรกคนไม่เห็นด้วยกับตนที่จะเอากัญชากลับไปเป็นยาเสพติดจำนวนมาก แต่ตอนนี้ความเห็นเริ่มใกล้เคียงกันแล้ว ซึ่งจะครบกำหนดการรับฟังในวันที่ 25 มิถุนายนนี้

เมื่อถามว่าจะนำผลรับฟังความคิดเห็นนี้มาตัดสินเลย หรือ จะต้องฟังผลทางวิทยาศาสตร์เพิ่มเติมอีกหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ทางคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด จะมีการประชุมกันอีกครั้ง นำข้อมูลมาคุยกันให้ตกผลึก ว่าสุดท้ายแล้วจะเป็นอย่างไร ซึ่งก็ยังสามารถปรับปรุงได้ ถ้าหากมีคำแนะนำจากประชาชนในลักษณะของการทำประชาพิจารณ์


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top