Tuesday, 22 April 2025
สะพานพระราม8

‘ชัชชาติ’ รับ!! สื่อสารพลาด ปม ‘รทสช.’ ยิงเลเซอร์หาเสียง ชี้!! ไม่ดำเนินคดี เพราะเอกสารแนบขออนุญาตมาแล้ว

‘ชัชชาติ’ ชี้ เข้าใจผิด รทสช.ฉายเลเซอร์หาเสียง สะพานพระราม 8 สั่งหยุดแล้วไม่เอาผิด บทเรียนสื่อสารคลาด ‘อ่านเอกสารไม่ละเอียด’

(9 พ.ค. 66) ที่ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และ นายสุพจน์ หล้าจำศิล ผอ.สำนักปกครองและทะเบียน แถลงข่าวชี้แจงข้อความหาเสียงของ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากการฉายข้อความบนเสาสะพานพระราม 8 ในช่วงค่ำของเมื่อวานนี้ (8 พ.ค.) สืบเนื่องจากการที่ น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ทำหนังสือส่งถึง นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัด กทม.ขออนุญาตใช้สถานที่ลานริมแม่น้ำสวนหลวงพระราม 8 ตั้งแต่วันที่ 8-12 พ.ค.2566 เวลา 20.00-02.00 น.ของทุกวัน พร้อมแนบรายละเอียดจุดที่ใช้งานและรูปแบบการใช้ โดยระบุว่า จะมีการฉายข้อความ ว่า “22 รวมไทยสร้างชาติ” นั้น

นายชัชชาติกล่าวว่า กทม.ไม่อนุญาตให้มีการฉายข้อความบนเสาสะพานพระราม 8 เนื่องจากไม่ได้เป็นพื้นที่อนุญาตให้หาเสียง รวมถึงส่วนของสะพานพระราม 8 อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักการโยธา ทั้งนี้ ตามหนังสือมีการขออนุญาตใช้พื้นที่บริเวณสวนหลวงพระราม 8 และใต้สะพานพระราม 8 กทม.จึงได้อนุญาตไป เพราะนึกว่าเป็นการปราศรัยหาเสียงแบบปกติ แต่เอกสารแนบมีการระบุขอฉายข้อความ ซึ่งทางเราอาจจะดูไม่ละเอียด จึงต้องให้ความเป็นธรรมด้วย แต่เมื่อพบแล้วจึงให้ระงับการกระทำดังกล่าว

“คงไม่มีเจตนาที่ไม่ถูกต้อง ทางผู้สมัครส่งหนังสือมีการระบุขอฉายข้อความ แต่เราอาจจะเห็นตรงนี้ไม่ชัดเจน ซึ่งพอทราบเรื่องแล้วก็ไม่ได้อนุญาตให้มีการฉาย เพราะการฉายบนเสามีประเด็นเรื่องคนขับรถไปมา เรื่องความสนใจ และอยู่นอกพื้นที่ที่กำหนดไว้” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า ต้องการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมาฟังการปราศรัยหาเสียงเป็นหลัก แต่คงไม่อนุญาตให้มีการฉายข้อความบนอาคารของ กทม. เพราะอาจจะเกิดปัญหา ทั้งนี้ ถือเป็นบทเรียนที่ต้องดูหนังสือขอต่างๆ ละเอียดให้มากขึ้น

เมื่อถามว่าจะมีการดำเนินคดีกับผู้ทำผิดหรือไม่ นายชัชชาติกล่าวว่า ไม่มีการดำเนินคดี ทุกคนมาด้วยความบริสุทธิ์ใจ ผู้สมัครก็ทำหนังสือขออนุญาตมา แต่เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน ไม่คิดว่าจะมีการฉายภาพ แต่เมื่อทำแล้วก็สั่งให้หยุดการกระทำดังกล่าว

ส่วนเรื่องที่จะผิดระเบียบของ กกต.หรือไม่นั้น คงเป็นอีกเรื่อง ไม่เกี่ยวกับทาง กทม. แต่จะมีการทำหนังสือชี้แจงส่งไปทางสำนักงาน กกต.กทม.ทราบ

“ยืนยันไม่มีการลำเอียง อาจเป็นความคลาดเคลื่อนในแง่ของการสื่อสาร เป็นความผิดพลาดที่ไม่ตั้งใจ ทุกคนมีเจตนาดีที่อยากให้การปราศรัยหาเสียงเป็นไปตามที่เรากำหนดไว้” นายชัชชาติกล่าว

นายสุพจน์กล่าวว่า หนังสือฉบับดังกล่าวได้ขออนุญาตใช้พื้นที่สวนหลวงพระราม 8 ซึ่งผู้ว่าฯกทม.ประกาศเป็นพื้นที่หาเสียงอยู่แล้ว ไม่ว่าพรรคการเมือง หรือผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สามารถมาขออนุญาตใช้ได้อยู่แล้ว โดยมีเงื่อนไขตามที่สำนักสิ่งแวดล้อมกำหนดไว้แต่ละสวน เช่น การใช้ไฟฟ้าภายในสวน ผู้มาขออนุญาตต้องชำระค่าไฟฟ้าด้วย

15 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 ‘ในหลวง ร.9’ โปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้าง ‘สะพานพระราม 8’ หวังบรรเทาการจราจรจากสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า

‘สะพานพระราม 8’ เกิดจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อครั้งที่เสด็จทรงเยี่ยมพระอาการประชวรของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นถึงปัญหาการจราจรของสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรุงเทพมหานครก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มอีก 1 แห่ง เพื่อบรรเทาการจราจรบนสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า รองรับการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรี และเป็นจุดเชื่อมต่อส่วนสุดท้ายของโครงข่ายจตุรทิศ ตะวันตก-ตะวันออก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ทั้งนี้ สะพานพระราม 8 จะช่วยเชื่อมการเดินทางระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรีให้สะดวกสบายขึ้น ซึ่งจะช่วยระบายรถบนสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าได้ถึง 30% และบนสะพานกรุงธนอีก 20% และยังสามารถลดมลพิษทางอากาศบริเวณในเมือง โดยเริ่มเปิดให้ใช้ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 เวลา 7:00 น. ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดสะพานพระราม 8 อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 กันยายน ปีเดียวกัน

>> สำหรับการออกแบบ

ความโดดเด่นสวยงามที่เกิดขึ้น ผสมผสานไปด้วยศิลปะแบบไทย จากแนวคิดในการสร้างเพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร กรุงเทพมหานครจึงได้อัญเชิญ ‘พระราชลัญจกร’ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำพระองค์ มาเป็นต้นแบบในการออกแบบทางสถาปัตยกรรม

ส่วนประกอบต่าง ๆ ของสะพานเน้นความโปร่งบาง เรียบง่าย และสวยงาม วัสดุที่ใช้ในโครงสร้างของสะพานเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม เช่น ในส่วนสะพานเสาสูงรูปตัว Y คว่ำ เป็นเสาคอนกรีตเสริมเหล็ก ทำหน้าที่หิ้วส่วนโครงสร้างสำคัญอื่น ๆ ของสะพาน ซึ่งมองเห็นได้ในระยะไกล ๆ ได้ออกแบบโดยใช้เค้าโครงมโนภาพของเรือนแก้ว

บริเวณด้านล่างซึ่งเป็นฐานของเสาถูกพัฒนาเป็นสวนสาธารณะ หรือสวนหลวงพระราม 8 ซึ่งมีก่อสร้างพระบรมรูปรัชกาลที่ 8 ที่ใหญ่กว่าขนาดพระองค์จริง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาเปิดพระบรมรูปอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2555


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top