Tuesday, 22 April 2025
สะพานถล่ม

สะพานคนเดินในอินเดียพังถล่ม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างต่ำ 80 คน

เมื่อวันอาทิตย์ที่ (30 ต.ค. 65) ที่ผ่านมา เกิดเหตุสลดขึ้นในรัฐคุชราต ทางภาคตะวันตกของอินเดีย เมื่อสะพานคนเดินที่อัดแน่นไปด้วยนักท่องเที่ยวที่กำลังสนุกสานกับเทศกาลวันหยุดพังถล่ม และฉุดให้ผู้คนมากกว่าร้อยคนที่อยู่บนสะพานตกลงสู่แม่น้ำที่อยู่เบื้องล่าง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 81 คน

ภาพวิดีโอเผยให้เห็นนักท่องเที่ยวหลายสิบคนกำลังห้อยต่องแต่งอยู่บนสายเคเบิลและซากบิดเบี้ยวที่เหลืออยู่ของสะพานที่ทอดข้ามแม่น้ำมักชู ในเมืองมอร์บี โดยที่หน่วยฉุกเฉินพยายามหาทางช่วยเหลือพวกเขา บางส่วนปีนขึ้นไปบนซากหักพังเพื่อมุ่งหน้าเข้าหาตลิ่ง และบางส่วนตัดสินใจว่ายน้ำไปยังที่ปลอดภัย 

อย่างไรก็ตามมีผู้เคราะห์ร้ายจากเหตุการณ์นี้จำนวนมากและมีเด็กหลายคน

ประทีค วาซาวา ผู้อยู่ในเหตุการณ์และประสบเหตุด้วยตัวเอง เขาว่ายน้ำเข้าฝั่งหลังตกจากสะพาน และสัมภาษณ์กับสำนักข่าวท้องถิ่นว่า เห็นเด็กหลายคนตกลงแม่น้ำ “ผมอยากดึงเด็กบางส่วนในนั้นมาพร้อมกับผมด้วย แต่พวกเขาจมน้ำไปแล้ว หรือไม่บางคนก็ถูกกระแสน้ำซัดลอยไป” เขากล่าว พร้อมเล่าว่าสะพานพังถล่มภายในเวลาไม่กี่วินาที

ทางด้าน อาตุล ปราจาปาตี เจ้าหน้าที่แพทย์ของโรงพยาบาลประจำรัฐ ซึ่งอยู่ใกล้สถานที่เกิดเหตุ ระบุว่า “เราพบร่างไร้วิญญาณ 81 รายและได้เริ่มกระบวนการพิธีการทางศาสนาแล้ว” และบอกว่านอกจากผู้เสียชีวิตข้างต้น ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกหลายสิบคน

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่เปิดเผยว่ามีประชาชนมากกว่า 400 คนที่อยู่บนและแถว ๆ สะพานแขวนเก่าแก่ยุคอาณานิคมแห่งนี้ ในช่วงเวลาที่มันพังถล่ม ส่วนรัฐมนตรีมหาดไทยอินเดียเสริมว่ามีมากกว่า 150 คนที่อยู่บนตัวสะพาน

‘ชัชชาติ’ เชื่อ คานก่อสร้างทางยกระดับถล่ม ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย จี้!! ผอ.เขตลาดกระบังเร่งสอบสวนสาเหตุ เพื่อหาตัวผู้รับผิดชอบ

เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 66 นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวระหว่างลงพื้นที่เกิดเหตุคานโครงการก่อสร้างทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบังถล่ม ว่า ช่วงระหว่างก่อสร้างคือจุดอ่อนที่อันตรายที่สุด เนื่องจากคอนกรีตยังไม่แข็งตัว องค์ประกอบแต่ละส่วนของโครงสร้างยังไม่เชื่อมเป็นเนื้อเดียวกัน เพราะต้องร้อยชิ้นส่วนซึ่งเป็นคอนกรีตมาประกอบกัน เชื่อว่าไม่ใช่เหตุสุดวิสัย ตามหลักการ เหตุการณ์นี้ไม่ควรเกิดขึ้น อาจมีความผิดปกติเกิดขึ้นระหว่างก่อสร้าง เพราะฐานรากมีการลงเสาเข็มลึกถึงชั้นทราย

สำหรับ Launcher คือคาน 1 คาน เคลื่อนไหวได้ ประกอบด้วย ชิ้นส่วนคอนกรีต 20 ชิ้น ต้องใช้ลวดสลิงดึงส่วนประกอบแต่ละชิ้นมาต่อกัน เบื้องต้นสันนิษฐานว่า เกิดจากความไม่เสถียรระหว่างก่อสร้าง ส่วนจุดที่เสาขาด คาดว่ารับน้ำหนักมากเกินไป

นายชัชชาติ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องมีผู้รับผิดชอบ เพราะมีการก่อสร้างลักษณะนี้มากมายในกรุงเทพมหานครโดยไม่ต้องปิดพื้นที่ และไม่เคยเกิดปัญหาลักษณะนี้ ต่อไปต้องคัดเลือกผู้รับเหมาที่มีคุณภาพ เบื้องต้นอาจต้องปิดพื้นที่บริเวณเกิดเหตุ 3-4 วัน และคาดว่าจะรู้สาเหตุภายในคืนนี้ สำหรับผู้บาดเจ็บ ณ เวลานี้ ได้รับแจ้ง 8 คน เสียชีวิต 1 คน ยังไม่มีรายงานผู้สูญหาย ปัจจุบัน ได้แต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักงานเขตลาดกระบัง เป็นผู้บัญชาการเหตุ

‘ภรรยา’ สุดเศร้า พาลูก 2 คน รับศพ ‘วิศวกร’ สะพานถล่ม เผย สามีเป็นคนรักงานมาก รับจากกันเร็วเกินกว่าจะทำใจได้

(11 ก.ค. 66) ที่สถาบันนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ นางวินุด แสนสีมล อายุ 38 ปี ภรรยา พร้อมลูกชาย 2 คน วัย 6 ปี และ 13 ปี รวมถึงญาติพี่น้องของนายฉัตรชัย ประเสริฐ วิศวกรโครงการก่อสร้างสะพานทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง ที่เสียชีวิตจากเหตุสะพานถล่ม เดินทางมายื่นเอกสาร เพื่อขอรับศพกลับไปบำเพ็ญกุศลที่วัดพังกิ่ง ตำบลสมหวัง อำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง

นางวินุด เปิดเผยว่า รู้สึกเสียใจมาก การจากไปของสามีเกิดขึ้นรวดเร็วเกินกว่าจะทำใจได้ สามีเป็นคนรักงานในอาชีพวิศวกรเป็นอย่างมาก ก่อนหน้านี้ทำงานอยู่ที่ จ.สตูล โดยจะเดินทางกลับบ้านที่ กทม. 1-2 เดือนครั้ง กระทั่งย้ายมาทำงานที่โครงการดังกล่าวได้ประมาณ 4 เดือน ถือเป็นโอกาสดีที่ได้มาอยู่ใกล้บ้านและครอบครัว

นางวินุด กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาเขารักและทุ่มเทกับการทำงานเป็นอย่างมาก ก่อนหน้านี้ไม่มีลางสังหรณ์อะไร สามีออกไปทำงานตามปกติ ส่วนสาเหตุตนยังไม่ทราบและไม่กล้าจะฟันธง ที่ผ่านมาทางบริษัทได้เข้ามาติดต่อพูดคุยแสดงความเสียใจแล้ว แต่ไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด ขอให้จัดการงานศพให้เสร็จสิ้นเรียบร้อยก่อน

สำหรับผลการชันสูตรสาเหตุการเสียชีวิตเบื้องต้นเกิดจากของแข็งกระแทกบริเวณศีรษะ ทางครอบครัวจะเคลื่อนร่างกลับไปบำเพ็ญกุศลยังภูมิลำเนา ในวันพรุ่งนี้ (12 ก.ค.) เนื่องจากรอบิดาและมารดาของผู้เสียชีวิตที่กำลังเดินทางมาจาก จ.พัทลุง เพื่อมารับศพกลับไปบำเพ็ญกุศล

‘ดร.เอ้ สุชัชวีร์’ ตั้งคำถาม!! สังคมไทยจะปลอดภัย กี่โมง ลั่น!! ‘เสียใจ-คับแค้นใจ’ ในความวิบัติของ ‘พระราม 2’

(16 มี.ค. 68) ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ‘ดร.เอ้’ นักวิชาการ อดีตนายกสภาวิศวกร อดีตอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ ‘พระราม 2’ โดยมีใจความว่า ...

อีกแล้ว สะพานถล่ม คนตาย เพราะ "ไม่มีเจ้าภาพ" และ "ไม่ถอดบทเรียน 4 ข้อ" สังคมไทยจะปลอดภัย กี่โมง?

ผมได้ข่าว "สะพานถล่ม" แถวพระราม 2 ผมรู้สึก "เสียใจ" จนถึงระดับ "คับแค้นใจ" เพราะในฐานะวิศวกรโยธาคนหนึ่ง เป็นอดีตนายกสภาวิศวกร และอดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) ที่เห็น "ความวิบัติ" มานับครั้งไม่ถ้วน และเห็น "คนเจ็บ คนตาย" มานับไม่ถ้วนเช่นกัน แต่เหตุสลดก็ยังเกิดขึ้น ซ้ำซาก ในสังคมไทย

ผม "เตือนแล้ว" และ "แนะนำ" นับครั้งไม่ถ้วน แล้วเช่นกัน ทุกอย่างยังคงแย่เหมือนเดิม เพราะ "เราลืมง่าย" ทั้งผู้รับผิดชอบ หรือเจ้าของโครงการ ไม่จริงใจ "ไม่ถอดบทเรียน" เพื่อหาสาเหตุ นำไปสู่การ "เอาผิด" กับผู้กระทำผิด รอเรื่องเงียบ แล้วก็ปล่อยผ่าน คนทำผิดเขาก็รู้แกว ไม่ต้องใส่ใจ ไม่สนใจ จริงไหม

ผมขอเรียนว่า "สาเหตุการถล่ม" ของการก่อสร้าง มีไม่กี่เรื่อง วิศวกรโยธาเรียนกันมาทุกคน เพียงต้องถอดบทเรียน 4 ข้อ เพื่อหาสาเหตุ ดังนี้
1. ปัญหา "การออกแบบ" ไม่ได้มาตรฐาน
คือ วิศวกร หรือผู้ออกแบบ "คำนวนผิด" ทำให้การออกแบบต่ำกว่ามาตรฐาน เมื่อทำก่อสร้าง หรือเมื่อใช้งาน จึงไม่สามารถรับน้ำหนักได้ โครงสร้างจึงถล่ม 
กรณีนี้ ตรวจสอบได้จาก "รายการคำนวน" ก็บอกได้ว่า "ผู้ออกแบบ" ออกแบบผิดมารฐาน ต้องรับผิดชอบ 

2. ปัญหา "การก่อสร้าง" ไม่ได้มาตรฐาน
คือ "ผู้รับเหมา" และ "ผู้ควบคุมงาน" ไม่ทำตามแบบก่อสร้าง หรือ "ไม่ทำตามขั้นตอน" ที่ถูกต้อง โครงสร้างจึงถล่ม เพราะลดมาตรฐานการก่อสร้าง
กรณีนี้ ตรวจสอบด้วยการเก็บตัวอย่างเหล็ก ปูน มาทดสอบ ก็รู้ทันทีว่าทำผิด "ผู้รับเหมา" และ "ผู้คุมงาน" ต้องรับผิดชอบ

3. ปัญหา "การใช้งาน" ไม่ถูกต้อง
เมื่อออกแบบ และก่อสร้าง ถูกต้องตามมาตรฐาน แต่ "เจ้าของ" หรือ "ผู้ใช้งาน" ใช้งานผิดประเภท เช่น ออกแบบมาเป็นบ้านพักอาศัย แต่กลับแอบใช้เป็นโกดังเก็บของ น้ำหนักบรรทุกเกิน ก็พัง
กรณีนี้ เจ้าของ หรือผู้ใช้งาน ก็ต้องรับผิดชอบ

4. ปัญหา "ภัยพิบัติ' จากธรรมชาติ
หาก ออกแบบ ก่อสร้าง และใช้งาน "ถูกต้อง" แต่เกิดภัยธรรมชาติ เช่น "แผ่นดินไหว" หรือ "พายุรุนแรง" เกินกว่าที่กำหนดไว้ในกฏหมาย
กรณีนี้ คงถือเป็น "เหตุสุดวิสัย" แต่ผมย้ำว่า ต้องเกินกว่าที่กฏหมายกำหนดไว้เท่านั้น ถึงจะอ้างข้อนี้ได้ เพราะมีหลาย กรณี ที่จะ "เบี่ยงเบน" ประเด็น อ้างว่าสุดวิสัย ทั้งๆที่ ทำผิดข้อ 1-3 ที่เรามักเห็นๆกันอยู่ จริงไหมครับ?

ผม และแนวร่วม "ภาควิชาการ" และ "ภาคประชาชน" จึงพยายาม "แก้ปัญหา" ด้วยการเสนอ "กฏหมายเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ" ฉบับประชาชน ที่ต้องรอพี่น้องประชาชนมาลงชื่อให้เกิน 10,000 ชื่อ

สาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ การมี “เจ้าภาพ” ในการรับเรื่องร้องเรียน ติดตามการแก้ปัญหา ถอดบทเรียน นำไปสู่การหา "ผู้รับผิดชอบ" และ "เยียวยา" ผู้ประสบภัย ให้ได้รับความเป็นธรรม และยังจะทำหน้าที่ "ตรวจสอบสาเหตุอุบัติภัย" แทนหน่วยงานเจ้าของโครงการ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส 

แต่พอเรื่องโรงงานระเบิด รถบัสไฟไหม้ สะพานถล่ม เงียบไป ก็ไม่มีใครมาลงชื่อ ความตั้งใจดีๆนี้ จึงไม่ไปถึงไหน สักที

ผมจึงขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมลงชื่อ เสนอพรบ.ความปลอดภัยสาธารณะ ที่ thaipublicsafety.org เพื่อมี "เจ้าภาพ" ดูแล "สังคมไทยปลอดภัย" อย่ารอให้คนเจ็บ คนตาย มากกว่านี้เลยครับ

ด้วยความห่วงใย

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

กทพ. เปิดเส้นทางพิเศษบนทางด่วนเฉลิมมหานคร แก้รถติดพระราม 2 หลังเหตุชิ้นส่วนโครงสร้างถล่ม

(17 มี.ค. 68) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ดำเนินการทดลองเปิดช่องทางเบี่ยงบริเวณ ทางด่วนเฉลิมมหานคร เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนพระราม 2 หลังเกิดเหตุชิ้นส่วนโครงสร้างทางพิเศษถล่ม ส่งผลให้การสัญจรบนถนนเส้นหลักได้รับผลกระทบอย่างหนัก

จากเหตุการณ์ชิ้นส่วนโครงสร้างถล่มเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ส่งผลให้มีการปิดการจราจรบางช่องทางบนถนนพระราม 2 และส่งผลกระทบต่อผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นวงกว้าง กทพ. จึงได้เร่งแก้ไขปัญหาโดยเปิดช่องทางพิเศษบนทางด่วนเฉลิมมหานคร จากเส้นทางถนนพระรามสองมุ่งหน้าเข้าเมือง เพื่อขึ้นทางด่วนเฉลิมมหานครบริเวณด่านดาวคะนอง โดยจุดนี้เปิด ใกล้เคียงกับบริเวณที่มี ชิ้นส่วนโครงสร้างพังถล่มลงมา แต่ถัดออกมาประมาณ 300 เมตร 

โดยการเปิดให้บริการดังกล่าว เพื่อหวังลดปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนพระราม 2 และให้รถบางประเภทสามารถใช้เส้นทางเบี่ยงได้ในช่วงเวลาเร่งด่วน เพื่อลดปริมาณรถที่หนาแน่นบนถนนด้านล่าง คาดลดปัญหารถติดสะสมได้ 30%

กทพ. ระบุว่า การทดลองเปิดช่องทางเบี่ยงนี้เป็นมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการจราจร โดยจะมีการ ประเมินผลกระทบและปรับแผนการจราจรเพิ่มเติมหากจำเป็น นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงเร่งซ่อมแซมโครงสร้างที่เสียหาย เพื่อให้สามารถเปิดการจราจรได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้เน้นย้ำถึงการเร่งดำเนินการจัดการกู้คืนพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางสัญจรได้โดยเร็ว โดยขณะนี้ ใช้ระยะเวลาดำเนินการ 22 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นเร็วกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่คาดว่าจะเสร็จภายใน 7 วัน เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางสัญจรได้ตามปกติ โดยในวันพรุ่งนี้ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงไปใช้สะพานกรุงเทพ สะพานภูมิพลสะพานตากสิน สะพานพระราม 9 หรือสะพานทศมราชันในการเดินทาง เข้า - ออกเมือง หรือใช้เส้นทางถนนพื้นราบแทน

สำหรับเส้นทางเลี่ยง กทพ. แจ้งปิดทางขึ้นและลงด่านฯ ดาวคะนอง และถนนพระราม 2 พร้อมแนะเส้นทางเลี่ยงสำหรับผู้ต้องการใช้ทางพิเศษเฉลิมมหานคร โดยประชาชนที่จะเดินทางมุ่งหน้าไปสมุทรสาคร ให้ใช้สะพานพระราม 9 ให้ลงทางออกถนนสุขสวัสดิ์แทน เพื่อมุ่งหน้าไปถนนพระราม 2 ส่วนประชาชนที่ต้องการขึ้นทางด่วนเพื่อเข้าเมือง ขอให้ขับรถมุ่งหน้าไปแยกบางปะแก้วและใช้ถนนสุขสวัสดิ์ เพื่อไปใช้ด่านฯ สุขสวัสดิ์แทน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top