Tuesday, 22 April 2025
สหรัฐอเมริกา

จีนสั่งห้ามส่งออก ‘สินค้าสองทาง’ ให้สหรัฐฯ หวั่นกระทบความมั่นคง พร้อมขึ้นบัญชีดำ 16 หน่วยงานมะกัน

(6 เม.ย. 68) กระทรวงพาณิชย์ของจีนออกแถลงการณ์ประกาศมาตรการควบคุมการส่งออกครั้งใหม่ โดยมีมติ ห้ามการส่งออกสินค้าที่ใช้ได้ทั้งในทางพลเรือนและทางทหาร (สินค้าสองทาง) ไปยัง หน่วยงานของสหรัฐอเมริกา 16 แห่ง พร้อมทั้งระบุว่า ได้เพิ่มชื่อหน่วยงานเหล่านี้ลงในบัญชีควบคุมการส่งออกของจีนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

มาตรการดังกล่าวมีขึ้นท่ามกลางบรรยากาศความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสองมหาอำนาจโลก โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ การควบคุมเทคโนโลยีขั้นสูง อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และการถ่ายโอนเทคโนโลยีที่มีความอ่อนไหว

แถลงการณ์ของกระทรวงพาณิชย์จีนระบุว่า การดำเนินมาตรการนี้มีเป้าหมายเพื่อ “ปกป้องผลประโยชน์ความมั่นคงแห่งชาติของจีน และรักษาความเป็นธรรมทางการค้า” โดยสินค้าสองทาง (Dual-use Goods) ที่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดนี้ ครอบคลุมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ซอฟต์แวร์ควบคุมอัตโนมัติ เทคโนโลยีการสื่อสาร และอุปกรณ์ที่สามารถประยุกต์ใช้ในด้านการทหาร

อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯ ไม่ได้เปิดเผยรายชื่อของหน่วยงานทั้ง 16 แห่งอย่างละเอียด แต่คาดว่ารวมถึงหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันประเทศ การวิจัยด้านความมั่นคง และอุตสาหกรรมอาวุธ

นักวิเคราะห์ระบุว่า การดำเนินการครั้งนี้อาจเป็นการตอบโต้โดยตรงต่อมาตรการจำกัดการส่งออกชิป และเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ที่มีต่อจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และอาจนำไปสู่ความตึงเครียดทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศที่ยืดเยื้อยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ จีนย้ำว่า ยังคงยึดมั่นในหลักการการค้าที่ยุติธรรมและเปิดกว้าง แต่ก็จะไม่ยอมให้มีการใช้นโยบายทางเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการกดดันหรือแทรกแซงกิจการภายในของประเทศ

16 เมษายน พ.ศ. 2550 โศกนาฏกรรมกราดยิง ‘เวอร์จิเนียเทค’ คร่าผู้บริสุทธิ์ 32 ชีวิต กลายเป็นจุดเปลี่ยนระบบสุขภาพจิตและกฎหมายอาวุธปืนสหรัฐฯ

เหตุกราดยิงมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียเทค ที่คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ 32 ราย ถือเป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญและร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา โดยเกิดขึ้นในเช้าวันจันทร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2550 ผู้ก่อเหตุคือ โช ซึงฮุย (Cho Seung-Hui) นักศึกษาชาวเกาหลีใต้ อายุ 23 ปี ซึ่งศึกษาอยู่ในคณะศิลปศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้

เหตุการณ์เริ่มขึ้นเวลา 07.15 น. เมื่อโชยิงนักศึกษาและพนักงาน 2 รายเสียชีวิตภายในหอพัก จากนั้นอีกประมาณ 2 ชั่วโมงต่อมา เขาย้ายไปยังอาคารเรียนนอร์ริส ฮอลล์ และเปิดฉากยิงแบบไม่เลือกเป้าหมาย โดยใช้อาวุธปืนพก 2 กระบอก ก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างหนักภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่นาที ก่อนที่จะปลิดชีพตนเอง

แม้โชจะไม่ได้ทิ้งจดหมายลาตายอย่างเป็นทางการ แต่มีการพบเทปวิดีโอและเอกสารจำนวนมากที่เขาส่งไปยังสถานีโทรทัศน์ NBC News ในระหว่างพักการก่อเหตุ ซึ่งแสดงถึงอาการจิตใจไม่มั่นคง ความเครียด ความโกรธแค้น และความรู้สึกว่าถูกสังคมทอดทิ้ง

โช ซึงฮุย ได้รับการวินิจฉัยว่ามีปัญหาทางสุขภาพจิตมาก่อนหน้านี้ และเคยถูกสั่งให้เข้ารับการบำบัด อย่างไรก็ตาม ระบบการควบคุมอาวุธปืนของสหรัฐฯ ในขณะนั้นยังมีช่องโหว่ ทำให้เขาสามารถซื้อปืนได้ตามกฎหมาย

เหตุการณ์นี้สร้างความตื่นตระหนกไปทั่วประเทศสหรัฐฯ และทั่วโลก จุดประกายให้เกิดการถกเถียงอย่างจริงจังเกี่ยวกับ การควบคุมอาวุธปืน, ระบบสุขภาพจิต, และความปลอดภัยในสถานศึกษา 

เริ่มที่ มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียเทคมีการปรับปรุงมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด นอกจากนี้หน่วยงานด้านกฎหมายของรัฐเวอร์จิเนีย ได้ดำเนินการปิดช่องว่างของกฎหมายเกี่ยวกับการขายอาวุธให้ผู้ที่มีประวัติด้านสุขภาพจิต อีกทั้งเหตุการณ์นี้ยังถูกใช้เป็นกรณีศึกษาในการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ และในการกำหนดแผนฉุกเฉินของสถานศึกษาทั่วประเทศ

สหรัฐฯ ขีดเส้นตาย ‘ม.ฮาร์วาร์ด’ 30 เม.ย. นี้ หากไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลวีซ่า เสี่ยงถูกตัดสิทธิ์รับนักศึกษาต่างชาติ และระงับเงินหนุน 2.7 ล้านดอลลาร์

(17 เม.ย. 68) คริสตี โนเอม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่า มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดอาจถูกตัดสิทธิ์ในการรับนักศึกษาต่างชาติ หากไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของรัฐบาลกลางเกี่ยวกับการแบ่งปันข้อมูลผู้ถือวีซ่าบางราย ซึ่งทางการอ้างว่าเกี่ยวข้องกับ “กิจกรรมที่ผิดกฎหมายและรุนแรง”

โนเอมเปิดเผยว่าเธอได้ส่งจดหมายถึงมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยกำหนดให้ตอบกลับและยืนยันการให้ข้อมูลอย่างครบถ้วนภายในวันที่ 30 เมษายนนี้ มิเช่นนั้น ฮาร์วาร์ดจะเสี่ยงต่อการสูญเสีย “สิทธิพิเศษในการรับนักศึกษาต่างชาติ” ซึ่งถือเป็นมาตรการกดดันที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

พร้อมกันนี้ กระทรวงฯ ยังได้ระงับเงินอุดหนุน 2 รายการที่จัดสรรให้กับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 2.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 99.9 ล้านบาท)

“บางทีมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดควรสูญเสียสถานะยกเว้นภาษีและถูกเรียกเก็บภาษีในฐานะหน่วยงานทางการเมือง หากยังคงสนับสนุนหรือส่งเสริมความผิดปกติทางการเมือง อุดมการณ์ และการก่อการร้าย จำไว้ว่าสถานะยกเว้นภาษีขึ้นอยู่กับการกระทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ!” ทรัมป์โพสต์บน Truth Social เมื่อวันอังคาร

ทางด้านโฆษกของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดระบุว่า ทางมหาวิทยาลัยได้รับจดหมายจากกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิแล้ว และยืนยันจุดยืนว่า ฮาร์วาร์ดจะไม่ยอมลดทอนความเป็นอิสระ หรือสละสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แม้จะเผชิญแรงกดดันทางการเมืองก็ตาม โดยจะยังคงปฏิบัติตามกฎหมายของสหรัฐฯ อย่างเคร่งครัด

ก่อนหน้านี้ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ออกแถลงการณ์ว่ามหาวิทยาลัยกำลังพยายามรับมือกับกระแสต่อต้านชาวยิว รวมถึงแนวคิดอคติในรูปแบบอื่น ๆ ภายในรั้วมหาวิทยาลัย ขณะเดียวกันก็ยังให้ความสำคัญกับเสรีภาพทางวิชาการและสิทธิในการชุมนุมอย่างสงบ

ทั้งนี้ รัฐบาลทรัมป์เคยประกาศแนวทางเข้มงวดต่อมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่เปิดพื้นที่ให้กับการชุมนุมประท้วง โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาที่แสดงจุดยืนสนับสนุนสิทธิของชาวปาเลสไตน์และวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอิสราเอล โดยมองว่าการประท้วงบางส่วนมีลักษณะต่อต้านชาวยิวและสนับสนุนกลุ่มฮามาส ซึ่งสหรัฐฯ ระบุว่าเป็นองค์กรก่อการร้าย

ขณะที่นักเคลื่อนไหวและกลุ่มผู้ชุมนุมแย้งว่า รัฐบาลกำลังพยายามผูกโยงการสนับสนุนสิทธิมนุษยชนของชาวปาเลสไตน์เข้ากับความรุนแรงหรือแนวคิดสุดโต่ง เพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการควบคุมการแสดงออกทางการเมืองในสถาบันการศึกษา

สถานการณ์ดังกล่าวจึงสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านของนโยบายภายใต้การนำของทรัมป์ ที่กำลังเดินหน้ากดดันมหาวิทยาลัยชั้นนำ โดยเฉพาะผู้ที่มีจุดยืนและท่าทีไม่สอดคล้องกับนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลสหรัฐฯ ในบริบทของตะวันออกกลาง

‘สหรัฐฯ’ ประกาศคว่ำบาตรน้ำมัน ‘อิหร่าน’ มุ่งเป้าสกัดโรงกลั่นน้ำมันขนาดเล็กของจีน

(17 เม.ย. 68) รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ โดยมุ่งเป้าไปที่การส่งออกน้ำมันของอิหร่าน ซึ่งคราวนี้รวมถึงการคว่ำบาตรโรงกลั่นน้ำมันขนาดเล็กของจีน หรือที่รู้จักกันในชื่อ "Teapot Refinery" เป็นครั้งแรก

กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุว่า โรงกลั่นน้ำมันขนาดเล็กแห่งหนึ่งของจีนได้ซื้อน้ำมันดิบจากอิหร่านมูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นการละเมิดมาตรการคว่ำบาตร และนับเป็นโรงกลั่นน้ำมันจีนแห่งที่สองที่ถูกดำเนินมาตรการลงโทษจากฝั่งสหรัฐฯ

ที่ผ่านมา โรงกลั่นน้ำมันขนาดเล็กของจีนมักไม่ถูกรวมอยู่ในรายชื่อเป้าหมายของการคว่ำบาตร เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับระบบการเงินของสหรัฐฯ ค่อนข้างน้อย ต่างจากบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ของรัฐบาลจีนที่ได้หยุดซื้อน้ำมันจากอิหร่านไปก่อนหน้านี้ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบ

ที่ผ่านมา โรงกลั่นน้ำมันขนาดเล็กของจีนมักไม่ถูกรวมอยู่ในรายชื่อเป้าหมายของการคว่ำบาตร เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับระบบการเงินของสหรัฐฯ ค่อนข้างน้อย ต่างจากบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ของรัฐบาลจีนที่ได้หยุดซื้อน้ำมันจากอิหร่านไปก่อนหน้านี้ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบ

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังได้คว่ำบาตร บริษัทและเรือบรรทุกน้ำมันหลายแห่ง ที่มีบทบาทในการขนส่งน้ำมันของอิหร่านไปยังจีน ผ่านเครือข่ายลับที่เรียกว่า “กองเรือเงา (Shadow Fleet)” ซึ่งถูกใช้ในการหลีกเลี่ยงการตรวจสอบและเลี่ยงมาตรการจากนานาชาติ

จีนในฐานะ ผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของอิหร่าน ยังคงมีบทบาทสำคัญในตลาดพลังงานโลก โดยเฉพาะโรงกลั่นน้ำมันขนาดเล็กที่ยังคงเป็นลูกค้าหลักของอิหร่านผ่านระบบการค้าทางเลือกที่ใช้ เงินหยวน แทนดอลลาร์สหรัฐ และอาศัยเครือข่ายตัวกลางเพื่อลดการตรวจสอบจากสหรัฐฯ

สำหรับมาตรการล่าสุดนี้สะท้อนถึงความพยายามของรัฐบาลวอชิงตันในการปิดช่องโหว่ทางเศรษฐกิจของอิหร่าน และกดดันจีนให้ร่วมมือในประเด็นการบังคับใช้คว่ำบาตรระดับโลก

กลไกภาษีนำเข้า ของ 2 ชาติมหาอำนาจ ไทยจะไปในทิศทางไหน ในโค้งสุดท้าย

(19 เม.ย. 68) เศรษฐกิจไทยที่ยังไม่ฟื้นตัว กำลังเผชิญกับความท้าทาย และอุปสรรคใหญ่ ที่จะเป็นตัวกำหนดทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้ และปีถัดๆ ไป จากการขึ้นภาษี 36% จากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นแรงกระทบสำคัญ ที่กระทบทั้งภาคส่งออกและเศรษฐกิจโดยรวม ข้อมูลจากภาคเอกชนชี้ว่าไทยอาจสูญเสียมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐฯ ถึง 7-8 แสนล้านบาท ซึ่งอาจทำให้ GDP ไทยลดลงต่ำกว่า 2%

มาตรการกดดันในสงครามการค้าที่ทวีความรุนแรง ของ 2 ชาติมหาอำนาจ สหรัฐอเมริกา และ จีน กำลังจะผลักให้ประเทศต่างๆ จำเป็นต้องเลือกข้าง ในการดำเนินกิจกรรมการค้าระหว่างประเทศ 

ปัจจุบันไทยนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท แต่ไทยส่งออกสินค้าไปสหรัฐ 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้มียอดเกินดุลการค้า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ประชุมระหว่างหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ ทั้งกระทรวงการคลัง ธปท., บีโอไอ สภาอุตสาหกรรมฯ สภาหอการค้าฯ เมื่อวันที่ 3 เมษายน ที่ผ่านมา เห็นชอบร่วมกันหาแนวทางนำเข้าสินค้าที่จำเป็น เพื่อลดยอดเกินดุลการค้าให้เหมาะสม ผ่านหลายมาตรการ เช่น การนำเข้าข้าวโพดจากสหรัฐเพิ่มเติมบางส่วน แทนนำเข้าจากประเทศอื่น

ทีมเศรษฐกิจ ของรัฐบาล จำเป็นต้องหามาตรการอื่นๆ มาเพิ่มเติมแบบเร่งด่วน เพราะ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่คาดหวังจะให้เกิดพายุทางเศรษฐกิจ กลายเป็นลมแผ่วๆ ที่กระตุ้นการเติบโตเศรษฐกิจแทบจะไม่ได้เลยในช่วงปีที่ผ่านมา มาเจออีกอุปสรรคใหญ่กับนโยบายภาษีนำเข้าของ ‘ทรัมป์’ … รัฐบาลไทย จะไปยังไงต่อ ?

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และ ประธานคณะกรรมการนโยบายการเงิน ได้ทำหนังสือเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อ ชี้แจงการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 อัตราเงินเพื่อทั่วไปที่เผยแพร่โดยกระทรวงพาณิชย์ของเดือนมกราคม 2568 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา (เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ถึงเดือนมกราคม 2568) อยู่ที่ร้อยละ 0.6 ซึ่งต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินในปัจจุบัน ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีข้อตกลงร่วมกัน เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 กำหนดให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงร้อยละ 1-3 เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสำหรับระยะปานกลาง

สถานการณ์ตลาดหุ้นไทย (SET) คงบอกได้ว่า ยังกู่ไม่กลับ หลังหลุด 1,200 จุด ไปต่ำกว่า 1,100 จุด ในวันที่ 8 เมษายน 2568 ที่ 1,074.59 จุด ก่อนที่จะกลับมาป้วนเปี้ยนแถว 1,130-1,150 จุด โดยหุ้นใน SET100 แดงเกือบยกแผง นักลงทุนไม่เชื่อมั่นต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่มี กังวลการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ที่จะกระทบต่อการส่งออกสินค้าอีก

ข่าวการปรับ ครม.ของ ‘รัฐบาล’ โดยเฉพาะ ทีมเศรษฐกิจ เริ่มหนาหูขึ้น นอกจากจะเป็นประเด็นทางเศรษฐกิจ เช่น โครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่ยังดำเนินการไม่ครบทุกเฟส รวมถึงร่างกฎหมายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ที่ยังไม่สามารถเดินหน้าต่อได้จากแรงต้านทั้งในและนอกสภา ยังมีกระแสความเห็นต่างภายในพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะท่าทีของพรรคภูมิใจไทยต่อกฎหมายคาสิโน 

จะปรับ จะเปลี่ยน ก็รีบทำ เพราะหลายๆ อย่าง เห็นได้ชัดเจนว่า ยังทำได้ไม่ดีพอ..!!

ปักกิ่งลั่น…ขอไม่ทนกับการกลั่นแกล้งจากสหรัฐฯ ที่ใช้นโยบายเลือกข้างเป็นอาวุธ หวังตัดจีนพ้นเวทีเศรษฐกิจ

(21 เม.ย. 68) กระทรวงพาณิชย์ของจีนออกแถลงการณ์เตือนประเทศคู่ค้าไม่ให้ยอมรับแรงกดดันจากสหรัฐฯ ในการจำกัดความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีน เพื่อแลกกับการยกเว้นภาษีศุลกากร โดยระบุว่าจีนจะดำเนินมาตรการตอบโต้หากผลประโยชน์ของตนถูกละเมิด 

โฆษกกระทรวงพาณิชย์ของจีนกล่าวว่า จีน “คัดค้านอย่างหนักแน่น” ต่อแนวทางดังกล่าว ซึ่งถือเป็นการบิดเบือนกลไกการค้าสากลและทำลายหลักการของการค้าเสรีอย่างร้ายแรง 

“การประนีประนอมไม่ได้นำมาซึ่งสันติภาพ และการประนีประนอมไม่ได้สร้างความเคารพ” โฆษกกล่าว พร้อมย้ำว่า “การแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวชั่วคราวโดยไม่คำนึงถึงผู้อื่น เพื่อแลกกับสิ่งที่เรียกว่าข้อยกเว้น เปรียบเสมือนการขอหนังเสือ สุดท้ายแล้วเสือจะไม่เกิดประโยชน์ใดๆ และจะส่งผลเสียต่อทั้งผู้อื่นและตัวเราเอง”

“จีนจะไม่ยอมรับข้อตกลงใดๆ ที่ไม่เคารพต่อผลประโยชน์ของจีน หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเดินหน้าตามแนวทางนี้ จีนพร้อมจะใช้มาตรการตอบโต้อย่างเด็ดขาด”

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าว Bloomberg และ Financial Times รายงานตรงกันว่า สหรัฐฯ กำลังพิจารณาใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นเครื่องต่อรอง เพื่อชักจูงประเทศคู่ค้า เช่น เม็กซิโก เวียดนาม หรือชาติอาเซียน ให้ลดการนำเข้าเทคโนโลยีหรือสินค้าจากจีน รวมถึงจำกัดการลงทุนของบริษัทจีนในภาคส่วนยุทธศาสตร์

ท่าทีดังกล่าวของสหรัฐฯ ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจผ่านวิธีการ “แยกเศรษฐกิจ” (Decoupling) ซึ่งทำลายหลักความเป็นธรรมในการค้าระหว่างประเทศ และสร้างความไม่แน่นอนให้กับเศรษฐกิจโลกในภาพรวม

สถานการณ์นี้ส่งผลให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากทั้งสองฝ่าย โดยจีนพยายามเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้ากับภูมิภาคนี้ ขณะที่สหรัฐฯ พยายามจำกัดอิทธิพลของจีนในภูมิภาค 

ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก โดยนักวิเคราะห์เตือนว่าความขัดแย้งที่ยืดเยื้ออาจชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลก

สำหรับประเทศไทยและประเทศในอาเซียน การรักษาสมดุลระหว่างสองมหาอำนาจนี้เป็นสิ่งที่ท้าทาย โดยต้องพิจารณาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคงในระยะยาว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top