Wednesday, 23 April 2025
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

‘จุรินทร์’ ประกาศนับหนึ่ง FTA ‘ไทย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์’ สร้างแต้มต่อการค้าไทย เปิดประตูสู่ตะวันออกกลาง

(18 เม.ย.66) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี ประเด็นความคืบหน้าการทำ FTA ระหว่างไทยกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่บริเวณหน้าตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล

นายจุรินทร์กล่าวว่า ตนเพิ่งเดินทางไปสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ตั้งใจไปเจรจาทำ FTA ระหว่างไทยกับยูเออี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังจากนั้น ภายใน 3 เดือนไทยและยูเออีสามารถตกลงกันได้ว่าจะมีการประกาศนับหนึ่งการเจรจายกร่าง FTA ระหว่างกันอย่างเป็นทางการ โดยได้นัดหมายกับรัฐมนตรีที่มีหน้าที่โดยตรงของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เพื่อประกาศเจรจาในวันที่ 9 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ ช่วงเที่ยง ถือว่าเป็นวันประวัติศาสตร์อีกวันหนึ่งที่เราสามารถทำ FTA กับยูเออีได้ภายในเวลา 3 เดือนหลังจากตนเดินทางไปเจรจา จะมีผลช่วยให้ได้แต้มต่อในการส่งสินค้าไปยังกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ถ้าเราได้ภาษีเป็นศูนย์ในการส่งไปยูเออีหรือดูไบ จะได้สิทธิกับกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council หรือ GCC ประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย คูเวต โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ และบาห์เรน) ไปด้วย

'สุริยะ' มั่นใจ 'โปรเจกต์แลนด์บริดจ์' เกิดแน่ หลังประธานดูไบเวิลด์ จ่อพบนายกฯ 1 ก.ค.นี้

(19 มิ.ย.67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย - อันดามัน หรือ แลนด์บริดจ์ โดยระบุว่า หลังจากที่ก่อนหน้านี้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้หารือกับผู้บริหารบริษัท Dubai Port World (DP World) เพื่อเชิญชวนให้มาลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ ล่าสุดสุลต่าน อะห์เหม็ด บิน สุลาเย็ม ประธานกลุ่มบริษัท และผู้บริหารของ DP World ประสานจะเดินทางมาหารือกับนายกฯ ในวันที่ 1 ก.ค.นี้

โดยกระทรวงฯ เตรียมความพร้อมนำคณะผู้บริหารของ DP World ลงพื้นที่จริงเพื่อสำรวจศักยภาพของการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งการประสานงานของทาง DP World ในครั้งนี้ ตอกย้ำได้ว่าโครงการแลนด์บริดจ์ เป็นโครงการที่ต่างชาติแสดงความสนใจร่วมทุน และจะเป็นโครงการที่เกิดขึ้นจริง 100% ภายในรัฐบาลนี้ โดยหากมีการลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์ จะช่วยกระตุ้นเม็ดเงินลงทุนลงระบบเศรษฐกิจมากถึง 1 ล้านล้านบาท

อย่างไรก็ดี DP World ถือเป็นบริษัทชั้นนำของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ซึ่งเชี่ยวชาญโลจิสติกส์ การขนส่งสินค้า การดำเนินงานท่าเรือ การขนส่งสินค้าทางทะเลและเขตการค้าเสรี ก่อตั้งปี 2548 ให้บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ 70 ล้านตู้ โดยมีเรือนำเข้า 70,000 ลำต่อปี คิดเป็น 10% ของปริมาณการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทั่วโลก และมีพื้นที่ให้บริการในท่าเรือ 82 แห่งใน 40 ประเทศ

ขณะที่ DP World เคยมีความร่วมมือกับกระทรวงคมนาคมในการพัฒนาสะพานเศรษฐกิจภาคใต้ โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเมื่อวันที่ 20 พ.ค.2551 ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอร่างบันทึกความเข้าใจในการให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าเพื่อศึกษาความเหมาะสมแนวทางการพัฒนาท่าเรือฝั่งทะเลอันดามันและสะพานเศรษฐกิจเชื่อมท่าเรือฝั่งอ่าวไทย

ทั้งนี้ มีการลงนามระหว่างสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และ DP World เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2551 ซึ่งอยู่ช่วงนายสันติ พร้อมพัฒน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐบาลพรรคพลังประชาชนที่ต่อมาถูกยุบพรรค และกลายมาเป็นพรรคเพื่อไทย โดยการลงนามครั้งนั้น สุลต่าน อะห์เหม็ด บิน สุลาเย็ม ประธานกรรมการบริหารกลุ่ม DP World มาลงนามด้วยตัวเอง

สำหรับ โครงการแลนด์บริดจ์ มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 1.001 ล้านล้านบาท จะแบ่งเป็น ท่าเรือฝั่งระนอง 330,810 ล้านบาท ท่าเรือฝั่งชุมพร 305,666 ล้านบาท และโครงสร้างพื้นฐานการเชื่อมต่อทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและทางรถไฟ 358,517 ล้านบาท โดย สนข.ศึกษาพบว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่มีความคุ้มค่าในการลงทุน มีผลตอบแทนการลงทุนโครงการวัดจาก Internal Rate of Return (IRR) สูงกว่า 10% ต่อปี อีกทั้งเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในพื้นที่ภาคใต้จาก 2% เป็น 10% ต่อเนื่องอย่างน้อย 10 ปี

ขณะที่สถานะปัจจุบันโครงการผ่านการศึกษาและเปิดรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชน รวมทั้งกระทรวงคมนาคมได้จัดโรดโชว์นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างเร่งผลักดัน พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (พ.ร.บ. SEC) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ และเป็นปัจจัยบวกสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนทั้งด้านกฎหมาย สิทธิประโยชน์ ตลอดจนการจัดเก็บอัตราภาษีเงินได้

ทั้งนี้ สนข.ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมาที่กระทรวงคมนาคมแล้ว เตรียมเสนอ ครม. พิจารณาเห็นชอบภายในเดือน ก.ย.นี้ ก่อนเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป ซึ่งมั่นใจว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2568 หลังจากนั้นมีเป้าหมายออกประกาศเชิญชวนนักลงทุนภายในไตรมาส 4 ปี 2568 พร้อมเปิดประมูลได้ภายในไตรมาส 2 ปี 2569 ก่อนจะเริ่มเวนคืนที่ดินในไตรมาส 4 ปี 2569 และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2569 เพื่อเปิดให้บริการในปี 2573

'ศาลชั้นต้นดูไบ' ตัดสิน 'อนุมัติจ่ายเงินเดือนด้วยคริปโต' สร้างบรรทัดฐานใหม่ให้เงินดิจิทัลถูกนำมาใช้ในวงกว้าง

เมื่อไม่นานมานี้ ศาลชั้นต้นแห่งดูไบได้ยืนยันถึงความถูกต้องตามกฎหมายของการจ่ายเงินเดือนด้วยสกุลเงินดิจิทัลภายใต้สัญญาจ้างงานในการตัดสินสำคัญเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2567 ซึ่งการตัดสินนี้มีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับคดีที่คล้ายคลึงกันที่เกิดขึ้นในปี 2566 ซึ่งศาลเดียวกันได้ยกฟ้องข้อเรียกร้องที่เกี่ยวข้องกับโทเค็น EcoWatt

โดยคำตัดสินที่ออกในคดีหมายเลข 1739/2024 (แรงงาน) ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในแนวทางการพิจารณาคดีของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับสกุลเงินดิจิทัลที่เพิ่มมากขึ้นในภูมิภาค

>>ข้อพิพาทการจ่ายเงินเดือนในรูปของสกุลเงินดิจิทัล

คดีนี้เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทที่โจทก์ ซึ่งเป็นลูกจ้าง เรียกร้องค่าจ้างที่ไม่ได้รับการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม และผลประโยชน์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงาน โดยในสัญญาของโจทก์ระบุเงินเดือนรายเดือนเป็นสกุลเงินทั่วไป พร้อมกับโทเค็น EcoWatt จำนวน 5,250 โทเค็น ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งศาลตัดสินให้โจทก์ชนะคดี โดยสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินเดือนที่ค้างชำระเป็นโทเค็น EcoWatt โดยอ้างว่านายจ้างไม่แสดงหลักฐานการชำระเงิน

ในคำให้การของนายจ้าง ได้โต้แย้งว่าโจทก์ถูกเลิกจ้างด้วยเหตุผลที่สมเหตุสมผล และการจ่ายเงินเดือนเป็นโทเค็น EcoWatt นั้นไม่สามารถบังคับใช้ได้ตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ศาลพบว่าสัญญาจ้างงานระบุการจ่ายเงินเป็นทั้งสกุลเงินทั่วไปและสกุลเงินดิจิทัลอย่างชัดเจน และนายจ้างไม่ได้ให้หลักฐานที่เพียงพอเพื่อพิสูจน์ว่าโทเค็น EcoWatt ได้รับการชำระเงินแล้ว

คำตัดสินดังกล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของข้อตกลงทางสัญญาที่ชัดเจนและความพร้อมของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในการปรับตัวให้เข้ากับแนวทางทางการเงินสมัยใหม่ นอกจากนี้ยังถือเป็นก้าวล่าสุดในแนวทางที่ก้าวหน้าของประเทศในการนำเอาและควบคุมอุตสาหกรรมคริปโตมาใช้

>>การพลิกคำตัดสินก่อนหน้านี้

การตัดสินดังกล่าวมีความแตกต่างอย่างชัดเจนกับคดีที่คล้ายกันในปี 2566 ซึ่งศาลเดียวกันได้ยกฟ้องข้อเรียกร้องที่เกี่ยวข้องกับโทเค็น EcoWatt ในกรณีดังกล่าว การที่พนักงานไม่สามารถระบุมูลค่าของสกุลเงินดิจิทัลได้อย่างชัดเจน ส่งผลให้ศาลปฏิเสธที่จะบังคับใช้การชำระเงิน

คำตัดสินในปี 2567 เน้นย้ำถึงท่าทีที่เปลี่ยนแปลงไปของศาลเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัล ด้วยการยอมรับว่าสกุลเงินดิจิทัลเป็นรูปแบบของค่าตอบแทนที่ถูกต้องและศาลได้สร้างบรรทัดฐานที่อาจส่งเสริมการนำสกุลเงินดิจิทัลมาใช้ในวงกว้างมากขึ้นในหลายภาคส่วน รวมถึงการจ้างงานด้วย

การตัดสินดังกล่าวมีพื้นฐานมาจากมาตรา 912 ของกฎหมายการทำธุรกรรมทางแพ่งของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และพระราชกฤษฎีกาของรัฐบาลกลางหมายเลข (33) ปี 2021 ซึ่งควบคุมการกำหนดและการจ่ายค่าจ้าง

ขณะที่ประเทศต่าง ๆ ยังคงวางตำแหน่งตัวเองให้เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมระดับโลก การตัดสินใจครั้งนี้อาจช่วยนำทางไปสู่การบูรณาการสกุลเงินดิจิทัลเพิ่มเติมในกรอบทางกฎหมายและเศรษฐกิจของภูมิภาค


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top