วุฒิสภา-สสส.-ภาคีเครือข่าย เดินหน้ารณรงค์-ผนึกกำลังตร. สร้างความปลอดภัยทางม้าลาย หลังพบคดีอุบัติเหตุคนเดินเท้าเฉลี่ย 2,500 รายต่อปี
จับมือตำรวจไทย สร้างมาตรการควบคุม-บังคับใช้กฎหมาย ด้านไรเดอร์-ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ ร่วมขับเคลื่อนขับขี่ปลอดภัยลดอุบัติเหตุ
เมื่อวันที่ (21 กรกฎาคม 2565) ณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สภากาชาดไทย สำนักงานเขตปทุมวัน และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรม หยุดสูญเสีย หยุดรถ ให้คนข้ามทางม้าลาย #ความดีที่คุณทำได้ ครั้งที่ 6 “ก้าวเดินอย่างปลอดภัยบนทางม้าลาย ตำรวจจราจรไทยร่วมดูแล” พร้อมมอบสื่อให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อนำไปใช้ในการรณรงค์สื่อสารสร้างความเข้าใจกับประชาชนและบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ต่างๆ เพื่อสร้างความปลอดภัยบนทางม้าลาย
ด้วยการลดความเร็วเขตชุมชนและชะลอก่อนถึงทางแยกทางข้าม
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา และประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา กล่าวว่า “รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลงให้เหลือไม่เกิน 12 คนต่อประชากรแสนคน ภายในปี 2570 โดยใช้แนวคิดเน้นการจัดการเชิงระบบวิถีแห่งความปลอดภัย (Safe System Approach) โดยระบบที่ปลอดภัยจะช่วยป้องกัน และลดความสูญเสีย ซึ่งกว่า 6 เดือนที่ผ่านมา กิจกรรม หยุดสูญเสีย หยุดรถ ให้คนข้ามทางม้าลาย ขับเคลื่อนทำงานรณรงค์ปลูกจิตสำนึกอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างวินัยจราจร วันนี้เรายังเดินหน้ารณรงค์อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความมั่นใจให้คนข้ามทางม้าลาย
การจัดกิจกรรมครั้งนี้ ได้ร่วมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญยิ่งที่มีหน้าที่กำกับดูแล บังคับใช้กฎหมาย จึงมีข้อเสนอเชิงนโยบายเสนอต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเพื่อพิจารณาให้เกิดความปลอดภัย 3 ด้าน คือ
1. การบริหารจัดการ การบังคับใช้กฎหมายและการกำกับติดตาม โดยเฉพาะการบังคับใช้และมีมาตรการดูแล ณ ทางแยก-ทางข้าม โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ที่ยังมีทั้งการจอดรถทับทางม้าลาย-ไม่หยุดให้คนข้าม
2. มาตรการและมาตรฐานความปลอดภัย เช่น มาตรฐานสัญลักษณ์จราจรทางถนน และการกำหนด Speed Zone จำกัดความเร็วในเขตชุมชน
3. การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย เช่น นำเทคโนโลยีเสริมการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ฝ่าฝืน การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับกรมการขนส่งทางบกและกรุงเทพมหานคร วางแนวทางควบคุม/บังคับใช้กฎหมาย และสร้างวัฒนธรรมองค์กรด้านความปลอดภัย
