Tuesday, 22 April 2025
สรรเพชญบุญญามณี

‘สส.สรรเพชญ’ ส่งเสียงหนุน พ.ร.ก.ปราบปรามมิจฉาชีพออนไลน์ ลั่น!! ปัญหาของ ปชช. รอไม่ได้ ขอสภาฯ ให้ความเห็นชอบ

เมื่อวานนี้ (3 ส.ค. 66) ในการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ณ ห้องประชุมสุริยัน อาคารรัฐสภา นายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายแสดงความเห็นต่อ พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 โดยนายสรรเพชญฯ กล่าวว่า 

"ตนเห็นด้วยกับพระราชกำหนดฉบับนี้ เนื่องจากเป็นปัญหาความเดือดร้อนที่ประชาชนได้รับผลกระทบกันเป็นจำนวนมาก สร้างความเสียหายให้กับประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศมูลค่ามหาศาล อีกทั้งพระราชกำหนดฉบับนี้ ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ในการที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยของสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องกันภัยพิบัติสาธารณะ ที่กำลังประสบกับปัญหาที่เกิดขึ้นท่ามกลางโลกไร้พรมแดน"

นายสรรเพชญ ได้กล่าวต่อว่า "ปัจจุบันพฤติกรรมของขบวนการนี้ มีความพยายามที่จะทำให้กระบวนการในการจับกุม และสอบสวนซับซ้อนมากยิ่งขึ้น รวมถึงใช้วิธีการต่าง ๆ ที่จะหลอกล่อ ขู่เข็ญให้ประชาชนหลงเชื่อและตกใจกลัวด้วยข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อ นามสกุล เลขบัตรประจำตัวประชาชน ข้อมูลเครดิตต่าง ๆ จนหลงเชื่อและต้องสูญเสียทรัพย์สิน เมื่อมิจฉาชีพเหล่านี้ได้รับเงินจากผู้เสียหายแล้วก็จะมีการโอนต่อกันเป็นทอด ๆ ผ่านบัญชีม้า ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทำงานยากมากยิ่งขึ้นซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นภัยร้ายแรงที่กำลังคุกคามสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน"

นอกจากนี้นายสรรเพชญฯ ยังได้กล่าวให้กำลังใจไปยังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ที่กำลังปฏิบัติงานเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในขณะนี้ รวมถึงได้ตั้งข้อสังเกตในโครงสร้างของคณะกรรมการว่าให้ควรมีภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยี เข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย รวมถึงหากเป็นไปได้อยากให้มีนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ แต่มีความชำนาญทางด้านเทคโนโลยีเข้ามาร่วมทำงานด้วยเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน

ในตอนท้าย นายสรรเพชญฯ กล่าวว่า "ปัญหาของประชาชนในขณะนี้รอไม่ได้แล้ว การมีพระราชกำหนดฯ นี้จะเป็นเกราะป้องกันและช่วยเหลือประชาชน ซึ่งหากสมาชิกท่านอื่น ๆ มีความเห็นว่าสมควรแก้ก็ค่อยยื่นร่างฉบับแก้ไขกลับเข้ามาเพื่อให้กฎหมายบังคับใช้ต่อไปได้" 

‘สรรเพชญ’ กระทุ้ง ‘กสทช.’ ควรทำงาน ‘จริงจัง-เต็มความสามารถ’ หลัง ‘แก๊งคอลเซ็นเตอร์ระบาดหนัก-ซิมม้าสะพัด’ ปชช.เดือดร้อน

เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 66 นายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายรับทราบรายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงิน สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 และรายงานการตรวจสอบการประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สิน สำหรับปี 2563 ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

นายสรรเพชญ กล่าวว่า “ข้อสังเกตรายงานการเงินของ กสทช. ที่เสนอมานี้ผมมีความเป็นห่วงต่อการดำเนินงานของ กสทช. เนื่องจากตามเอกสารที่ปรากฏตาม ข้อ 49 ของผู้ตรวจสอบบัญชีพบว่า กสทช. มีเรื่องข้อพิพาทและคดีความที่สำคัญที่สำนักงาน กสทช. เป็นผู้ยื่นฟ้อง จำนวนทุนทรัพย์รวมกว่า 4,700 ล้านบาท และที่สำนักงาน กสทช. เป็นผู้ถูกฟ้อง จำนวนทุนทรัพย์รวมกว่า 126,000 ล้านบาท ซึ่งข้อพิพาทเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่สำนักงาน กสทช. จะต้องเป็นผู้ที่ทำหน้าที่เพื่อพิทักษ์ไว้ซึ่งผลประโยชน์ของรัฐ เนื่องจากจำนวนทุนทรัพย์ทั้งสองกรณีนี้ เป็นจำนวนเงินที่มากและมีผลต่างกันที่มากพอสมควร จึงขอให้สำนักงาน กสทช. ได้ทำงานอย่างตรงไปตรงมา และหวังว่าท่านจะทำงานอย่างเต็มความสามารถเพื่อพิทักษ์และรักษาไว้ซึ่งประโยชน์ของพี่น้องประชาชน”

นายสรรเพชญ กล่าวอีกว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีการพิจารณา พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ซึ่งก็ได้มีการอภิปรายแสดงความเป็นห่วงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นของมิจฉาชีพออนไลน์หรือแก๊ง Call Center ที่กำลังระบาดและสร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนในขณะนี้ ในฐานะที่ กสทช. เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแล บริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ ในการออกหมายเลขโทรศัพท์ นายสรรเพชญฯ จึงได้ตั้งคำถามไปยัง กสทช. ในประเด็นต่าง ๆ 2 เรื่อง ได้แก่...

1. จากปัญหาการระบาดของแก๊ง Call Center ที่เกิดขึ้นท่านมีมาตรการในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและลดผลกระทบ ความเสียหายของพี่น้องประชาชนอย่างไรบ้าง เพราะปัญหานี้มีการใช้ซิมม้า ที่ล่าสุดได้มีการจับกุมโดยตำรวจไซเบอร์กว่า 1 แสน 8 พันซิม เมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา โดย กสทช. เองก็มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมหรือจำกัดเลขหมาย ได้มีการกำหนดให้มีการพิสูจน์ตัวตนของเจ้าของซิมหรือไม่? รวมถึงปัญหาสัญญาณอินเทอร์เน็ตชายแดน หรือ Operator กสทช. มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไร?

2. เป็นที่ทราบกันดีว่า สำนักงาน กสทช. เป็นองค์กรของรัฐที่ทำรายได้ให้รัฐมหาศาล เป็นเงินกว่าแสนล้านบาท ซึ่งการมีรายได้มหาศาลขนาดนี้ ประชาชนก็ตั้งความหวังไว้กับการทำงานของที่จะสามารถทำงานให้ตอบโจทย์กับความต้องการของประชาชน ในโลกปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งเทคโนโลยีและการสื่อสาร โดยในประเด็นนี้ สส.สรรเพชญได้สอบถามถึงการเตรียมการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงให้ทันกับยุคสมัยให้รอบคอบ รัดกุม และเกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างไร? และจะมีแนวทางในการขยายโครงข่ายของสัญญาณอินเทอร์เน็ต เพื่อให้ครอบคลุมการใช้งานของพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ห่างไกลของประเทศได้อย่างไรบ้าง?

อย่างไรก็ตาม นายสรรเพชญ หวังว่า กสทช. ในฐานะผู้มีอำนาจควบคุมและดูแลในเรื่องนี้จะทำได้แก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างมากมาย เพื่อให้เกิดกระโยชน์สูงสุดต่อประชาชน 

‘สรรเพชญ’ ยินดี ‘เศรษฐา’ นั่งนายกรัฐมนตรี  ยืนยัน!! พร้อมทำหน้าที่ฝ่ายค้านสุดความสามารถ

(24 ส.ค. 66) นายสรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งยกมืองดออกเสียงในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีตามมติพรรค ได้ออกมาแสดงความยินดีกับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ และยืนยันพร้อมเป็นฝ่ายค้านอย่างเข้มแข็ง ไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐบาล

โดยสรรเพชญ ระบุว่า วันนี้ ประเทศไทยของเราได้มีนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 เป็นที่เรียบร้อย ผมขอแสดงความยินดีกับคุณเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศไทย และขอเป็นกำลังใจให้รัฐบาลชุดใหม่ที่จะต้องทำงานอย่างหนัก เพื่อแก้ปัญหาที่รุมเร้าประเทศของเราอยู่ในขณะนี้ ทั้งปัญหาปากท้องของประชาชน และสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ ปัญหาสังคม และต่าง ๆ อีกมากมาย

อย่างไรก็ตาม นอกจากการมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพแล้ว ประเทศของเราจำเป็นต้องมีฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง ที่จะคอยตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจของรัฐบาล ไม่ให้รัฐบาลใช้อำนาจในทางที่ผิด เอื้อประโยชน์เพื่อพวกพ้อง อันนำมาซึ่งการทุจริตคอร์รัปชัน จนกลายเป็นต้นเหตุทางการเมืองที่ผ่านมา และผมเชื่ออย่างยิ่งว่าหากฝ่ายค้านทำงานอย่างมีคุณภาพแล้วนั้น ก็จะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับประเทศและประชาชนเช่นกัน ดังที่ผมเคยประกาศผ่านทางเฟซบุ๊กของผม เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2566 ภายหลังการเลือกตั้ง และ ณ วินาทีนี้ ความเชื่อของผมก็ยังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

ดังนั้น ผมในฐานะ สส.ของพรรคประชาธิปัตย์ โดยส่วนตัวผมแล้วผมไม่เห็นถึงความจำเป็นใด ๆ ที่พรรคฯ จะต้องไปเข้าร่วมรัฐบาล เนื่องจากจำนวน สส.พรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบัน นั้นมีมากกว่า 314 เสียง แล้ว ซึ่งถือเป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพมาก ๆ และถือว่ามีจำนวน สส. มากกว่าชุดรัฐบาลที่ผ่านมาเสียด้วยซ้ำ ดังนั้น จำนวนเสียง สส.ฝ่ายค้าน แทบจะไม่สามารถทำให้รัฐบาลสะดุดล้มได้เลย เว้นแต่รัฐบาลจะสะดุดขาตัวเอง

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมานั้น ผมจึงอยากให้พรรคฯ เดินหน้าทำหน้าที่เป็น ‘ฝ่ายค้านอย่างเข้มแข็ง’ เหมือนกับที่ประชาธิปัตย์เคยพิสูจน์ผลงานมาแล้วในอดีต เพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชน สำคัญที่สุดคือการกอบกู้ศรัทธาของพรรคให้กลับคืนมา

แต่ถ้าหาก สส. ส่วนใหญ่ของพรรคฯ คิดว่าอุดมการณ์ของผมนั้น ขัดแย้งกับเสียงส่วนใหญ่ ที่ได้อ้างกันอยู่ในขณะนี้ และไม่สามารถร่วมอุดมการณ์เดียวกันได้แล้ว ผมยินดีที่จะให้พรรคประชาธิปัตย์ ขับออกจากพรรค โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ เพราะผมไม่สามารถหักหลังพี่น้องชาวสงขลาที่ได้ให้โอกาสผมมาได้ และผมยินดีที่จะตั้งใจทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านอย่างมีคุณภาพ ตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มข้น ในฐานะผู้แทนของราษฎร ตามอุดมการณ์ที่ผมยึดถือมาตลอดครับ

สุดท้ายนี้ สิ่งที่ผมยึดถือและยึดมั่นเป็นสำคัญ ก็คือ คำขวัญของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ชาวประชาธิปัตย์ ยึดมั่นมาตลอด 77 ปี คือ สจฺจํ เว อมตา วาจา ‘คำสัตย์แล เป็นวาจาไม่ตาย’

‘สรรเพชญ’ หนุนญัตติ ศึกษา ส่งเสริม สร้างสันติภาพ-ดับไฟชายแดนใต้ พร้อมชูแผนพัฒนา ครอบคลุมทุกมิติ ย้ำ!! คำนึงถึงความรู้สึกคนในพื้นที่

เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 66 ที่ห้องประชุมสุริยัน อาคารรัฐสภา นายสรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายสนับสนุนญัตติ ‘ศึกษาติดตาม และส่งเสริม การสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้’ โดยกล่าวว่า ปัญหาเรื่องความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาที่สะสมมายาว นานกว่า 20 ปี ซึ่งนับตั้งแต่กระสุนนัดแรกที่ลั่นออกมาเมื่อปี 2547 จวบจนถึงปัจจุบัน เหตุการณ์ต่าง ๆ ก็ยังไม่ทุเลาเบาบางลงแต่อย่างใด ซ้ำร้ายเหตุการณ์ล่าสุดที่พึ่งเกิดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดเหตุระเบิดที่อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บหลายราย

นี่ยังไม่นับรวมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมาเป็นระยะเวลากว่า 19 ปี มีผู้เสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 7,520 คน (ข้อมูลจาก Deep South Watch เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2566) ผู้สูญหาย บาดเจ็บ ล้มตายก็มีจำนวนมาก ท่ามกลางความรุนแรงที่เกิดขึ้นนี้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เลยก็คือประชาชน ตนเห็นด้วยที่จะมีการศึกษาในเรื่องนี้ แต่ขออย่างเดียว คือ ขอให้การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาครั้งสุดท้าย ขอให้มีผลการศึกษาออกมาให้ชัด ศึกษาให้รอบด้าน และหวังว่าคงไม่ต้องมาศึกษากันเรื่องนี้อีก เพราะในอดีตที่ผ่านมา ตนเชื่อว่าสภาแห่งนี้ ก็เคยได้ศึกษากันมาหลายครั้ง และตนเชื่อว่าสภาที่มีมาชุดไหน ๆ ก็ต้องตั้งกรรมาธิการศึกษาเรื่องนี้ ไม่จบ ไม่สิ้น และหลายหน่วยงานก็ทำการศึกษาเช่นเดียวกัน

นายสรรเพชญ ได้นำเสนอประเด็นการพัฒนาพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยกัน 5 ประเด็น หลัก ๆ คือ ด้านการปกครอง ด้านการส่งเสริมการกระจายอำนาจ ด้านกระบวนการยุติธรรม ด้านงบประมาณ และด้านการศึกษา

โดยในประเด็นเรื่องของการปกครอง ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการให้มีการแบ่งแยกดินแดน เพราะประชาชนยังคงอยากเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย สิ่งนี้คณะกรรมาธิการฯ จะต้องตั้งหลักให้มั่น และชัดเจน ว่าจะไม่เสนอให้มีการแบ่งแยกดินแดน เพื่อขัดกับเจตนารมณ์ของประชาชน และสำคัญที่สุด คือ ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 1 ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้

ประเด็นต่อมา ด้านการส่งเสริมการกระจายอำนาจ ตนเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าท้ายที่สุดแล้ว การกระจายอำนาจนี้ จะเป็นการสะท้อนความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริงผ่านการตัดสินใจของประชาชน ในส่วนของด้านกระบวนการยุติธรรมนั้น ตนเห็นว่าความยุติธรรมที่ว่านี้ ไม่ใช่เฉพาะในมิติเรื่องกฎหมายเพียงเท่านั้น เพราะความยุติธรรมในทางกฎหมายเป็นบรรทัดฐานที่อารยประเทศพึงมี และกรณีการอุ้มฆ่าที่เคยมีเหมือนแต่ก่อน ตอนนี้ก็ไม่มีแล้ว ถือได้ว่าที่ผ่านมาเราได้แก้เรื่องกฎหมายไปแล้วส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่นอกเหนือจากเรื่องของกฎหมายคือ การพัฒนาพื้นที่และกระจายทรัพยากรต่าง ๆ ที่ควรให้กับคนในสามจังหวัดได้เข้าถึง ไม่เป็นคนชายขอบในสังคม รวมถึงชายแดนห่างไกลของประเทศไทย เราควรที่จะให้ความสำคัญเท่าเทียมเหมือนคนกรุงเทพฯ

นายสรรเพชญ กล่าวอีกว่า ในเรื่องของงบประมาณ วันนี้รายได้ต่อหัวของประชากรในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงต่ำอยู่ เฉลี่ยประมาณปีละ 60,000 บาท รัฐบาลจะต้องอัดฉีดงบประมาณลงไปในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ในสามจังหวัดชายแดนให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรที่ดินทำกิน ส่งเสริมการใช้พื้นที่นาร้างว่างเปล่าให้สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจ และส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางของความมั่นคงทางอาหารของโลก เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีอาชีพและรายได้เพิ่มมากขึ้น

ส่วนในด้านของการศึกษา วันนี้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีมหาวิทยาลัยครบทั้งสามจังหวัด ไม่ว่าจะเป็น ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, ม.ราชภัฏยะลา, ม.นราธิวาสราชนครินทร์ ฯลฯ แต่เรายังคงต้องเร่งยกระดับคุณภาพการศึกษา ให้สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ เหมาะสมกับสายอาชีพที่ให้ผู้เรียนจบออกมาแล้วมีงานทำและทำงานในสายงานที่ตนเองถนัด หวังว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญที่กำลังจะแต่งตั้งขึ้น จะศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาในสามจังหวัดชายแดนใต้ ให้ครอบคลุมทุกมิติ และให้คำนึงถึง ‘ความรู้สึก’ ของคนในพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การสร้างสันติภาพที่เป็นจริง

จับยามสามตา ทิศทางการเมือง ‘บุญญามณี’ เมื่อ ‘สรรเพชญ’ เปรย “ต้องทบทวนของตนเอง”

(10 ธ.ค. 66) น่าสนใจยิ่งกับบทบาทต่อไปของ ‘บุญญามณี’ ซึ่งหมายถึง ‘นิพนธ์ บุญญามณี’ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ ‘สรรเพชญ บุญญามณี’ สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ทายาททางการเมืองของนิพนธ์ บุญญามณี

น่าสนใจเพราะทั้ง ‘นิพนธ์’ และ ‘สรรเพชญ’ อยู่คนละขั้วกับทีมที่ชนะการเลือกตั้งในศึกชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ทีม ‘เฉลิมชัย ศรีอ่อน’ เข้ามาบริหารพรรคชุดใหม่ และตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ‘เดชอิศม์ ขาวทอง’ สส.สงขลา ที่อาจจะกล่าวได้ว่า ‘อยู่คนละฝั่ง’ กับนิพนธ์ ก็เข้ามานั่งเป็นเลขาธิการพรรค

ท่องยุทธภพไปเจอ ‘สรรเพชญ’ โพสต์ข้อความน่าสนใจยิ่งขึ้น

สจฺจํ เว อมตา วาจา
“คำสัตย์แล เป็นวาจาไม่ตาย”

คำขวัญที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป…

วันนี้ท่านอดีตหัวหน้าอภิสิทธิ์ฯ ได้พิสูจน์ให้ชาวประชาธิปัตย์เห็นแล้วว่า คำว่า ‘สัจจะ’ มีความหมายเพียงใด ท่านไม่เพียงแค่พูด แต่ท่านได้แสดงให้เห็น วันนี้คงเป็นอีกหนึ่งวันที่ชาวประชาธิปัตย์หลายๆ คนรวมถึงตัวผมเองต้องคิดทบทวนบทบาทของตัวเองอีกครั้งหนึ่งครับ

และขอให้พี่น้องมั่นใจว่า ผมจะยังคงทุ่มเททำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนต่อไปครับ

‘สฺจจํ เว อมตะวาจา’ เป็นคำขวัญประจำพรรคประชาธิปัตย์มายาวนาน อันเป็นการสะท้อนว่า “พลพรรคค่ายพระแม่ธรณีบีบมวยผม ต้องรักษาสัจจะ รักษาคำพูน การพูดความจริง จะเป็นอมตะ ไม่ตาย”

การที่สรรเพชญยกคำนี้ขึ้นมากล่าวอ้างในสถานการณ์นี้ จึงน่าสนใจ น่าคิดกับถ้อยคำที่ตามมากับคำว่า “ทบทวนบทบาทของตนเอง” จะตีความว่าอย่างไรกับวลี “ทบทวนบทบาทของตัวเอง” ก็ไม่อยากตีความ หรือคิดเอาเอง

เช่นเดียวกับบทบาททางการเมืองในอนาคตของ ‘นิพนธ์’ จะเดินหน้าภารกิจทางการเมืองอย่างไร หรือวางไว้เท่านี้ และให้ทายาททางการเมืองเดินหน้าต่อ

จับตาดูนะครับ ทิศทางทางการเมืองของ ‘บุญญามณี’ จะไปทางไหน และเป็นอย่างไร…

‘สรรเพชญ’ ห่วง!! ‘ค่าตั๋วเครื่องบิน’ ในประเทศพุ่ง จี้!! ภาครัฐเร่งแก้ปัญหา-ควบคุมราคาที่สูงเกินจริง

(16 ก.พ.67) นายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา ได้ออกมาแสดงความเห็นจี้ถามภาครัฐ ในการทำหน้าที่ควบคุม ‘ราคาตั๋วเครื่องบิน’ ซึ่งในปัจจุบันมีการปล่อยให้ราคาพุ่งสูงขึ้นมาก จนกลายเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง โดยเฉพาะใน Social Media ว่า “...ตนรู้สึกเป็นห่วงประชาชน ที่มีความจำเป็นต้องเดินทางในช่วงนี้ ที่ต้องเจอกับปัญหาราคาตั๋วแพงเกินความเป็นจริง จนหลายคนได้ล้มเลิกการเดินทางสัญจรออกไป ทั้งการเดินทางกลับบ้าน การท่องเที่ยว การติดต่อธุรกิจ ฯลฯ พร้อมติงภาครัฐ ที่ปล่อยให้ราคาตั๋วเครื่องบินแพงเกินความเป็นจริง จนอาจทำลายระบบเศรษฐกิจที่ต้องการกระตุ้น และกระจายรายได้ 

“...ผมรู้สึกเป็นห่วงประชาชน ที่จำเป็นต้องเดินทางโดยเครื่องบินในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเพื่อกลับไปเยี่ยมเยือนบ้าน เพื่อท่องเที่ยว หรือติดต่อธุรกิจก็ตาม เพราะขณะนี้ต้องเจอกับราคาตั๋วเครื่องบินภายในประเทศที่แพงขึ้น โดยไม่มีกลไกควบคุมราคาค่าตั๋วเครื่องบิน ที่แพงเกินความเป็นจริง จนกลายเป็นการทำลายโอกาสของพ่อแม่พี่น้อง และทำลายรายได้ที่จะเกิดขึ้นตามมา จนผมเริ่มไม่แน่ใจว่าแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจ และกระจายรายได้ ยังเป็นนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลนี้หรือไม่ หรือกระตุ้นเพียงคนรวย ตามที่เป็นข่าว ท่านลองคิดดูแล้วกัน หากจะบินจากกรุงเทพฯ ไปภูเก็ต ท่านต้องเสียค่าตั๋วเกือบ 15,000 บาท ต่อให้ท่านเป็นคนรวย ท่านอาจจะคิดไม่ตกแน่นอนว่าจะเดินทางดีหรือไม่? หากไม่สำคัญจริง ๆ อาจจะเลื่อนการเดินทางออกไปก่อน แล้วหากประชาชนมีธุระสำคัญต้องเดินทางโดยปัจจุบันทันด่วนล่ะ ? วันนี้เราต้องยอมรับนะครับ ค่าตั๋วสายการบินราคาประหยัด หรือสายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost) ภายในประเทศหากสูงกว่า 5,000 บาท ก็ถือว่าแพงมากแล้ว แต่ตอนนี้ราคาค่าตั๋วภายในประเทศทะลุไปหลักหมื่น ความรู้สึกมันไม่ใช่ มันฝืนความรู้สึกไปมาก เอาเปรียบประชาชนผู้โดยสารมากเกินไป ทั้งด้านคุณภาพและการบริการต่าง ๆ ก็สวนทางกัน ภาครัฐจำเป็นต้องควบคุมราคาตั๋วเครื่องบินไม่ให้สูงเหมือนในขณะนี้ และในขณะเดียวกันเมื่อผู้โดยสารต้องจ่ายราคาค่าตั๋วเครื่องบินที่สูงขึ้นแล้ว ก็หวังว่าสายการบินจะช่วยปรับปรุงการบริการต่าง ๆ ให้ดีขึ้นด้วย” 

นอกจากนี้ นายสรรเพชญ ยังให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกว่า “ในช่วงเทศกาลเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะถือเป็นการทำลายโอกาสทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจากการเดินทางสัญจร และการท่องเที่ยวภายในประเทศ นโยบายของรัฐบาลเองต้องการกระจายรายได้ และการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่กลไกการควบคุมราคาตั๋วเครื่องบินภายในประเทศกลับสวนทาง จากข่าวสารที่มีการพูดถึงในสังคมออนไลน์ขณะนี้ ผมจึงอยากเรียกร้องให้ กระทรวงคมนาคม โดยเฉพาะท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรลงมาติดตามและแก้ไขเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะมันคือโอกาสต่าง ๆ ของเรา ของพี่น้องประชาชน” 

ในตอนท้าย นายสรรเพชญ ยังตั้งข้อสังเกตถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรับผิดชอบการกำกับดูแลราคาค่าตั๋วเครื่องบิน ให้ออกมาชี้แจงความกระจ่างให้สังคมได้รับรู้ถึงแนวทางการกำหนดราคาตั๋วว่า “เท่าที่ทราบ หน่วยงานหลักที่กำกับราคาตั๋วเครื่องบิน คือ คณะกรรมการการบินพลเรือน โดยยึดตามประกาศคณะกรรมการการบินพลเรือน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณค่าโดยสารและค่าระวางสำหรับอากาศยานขนส่งในเส้นทางบินภายในประเทศ พ.ศ. 2561 ที่มีการกำหนดราคาเพดานขั้นสูงเอาไว้ ผมจึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ออกมาทำความเข้าใจถึงแนวทางการปรับลดราคา การกำหนดราคาตั๋วเครื่องบิน ต่อสาธารณชนเป็นระยะ ๆ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อไป เพราะหากเป็นเช่นนี้ต่อไปเกรงว่า หากไม่มีการควบคุมค่าตั๋วเครื่องบิน มันจะแพงขึ้นไปเรื่อย ๆ เป็นการเพิ่มภาระค่าครองชีพแก่ประชาชนอย่างมาก และอาจส่งผลให้ประชาชนเดินทางน้อยลงในอนาคตได้” นายสรรเพชญ กล่าวทิ้งท้าย

‘นิพนธ์-มาดามเดียร์-สรรเพชญ’ เปิดเวทีระดมสมอง รับฟังความคิดเห็น จากปชช.  เพื่อนำข้อมูลไปพัฒนา นำปัญหาไปแก้ ย้ำ!! ทำตามอุดมการณ์ เป็นฝ่ายค้านให้ดีที่สุด

เมื่อวานนี้ 7 เม.ย.67 ที่ จ.สงขลา นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย น.ส.วทันยา บุนนาค อดีตประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมือง พรรคประชาธิปัตย์ นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต สส. และนายสรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา เปิดเวทีระดมความคิดหัวข้อ “อยากเห็นสงขลาเป็นแบบไหน…แหลงได้เลยน้อง” โดย นายนิพนธ์ ถามนำว่า พี่น้องอยากเห็นอะไรในเมืองสงขลา และอยากเห็นประเทศไทยเดินไปทางไหนทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมฯ

น.ส.วทันยา กล่าวว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วและประชากรมีคุณภาพชีวิตที่ดี ส่วนใหญ่กระจายอำนาจและการสร้างการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นประเทศคอมมิวนิสต์หรือประชาธิปไตย เช่น จีนมีการปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ละมณฑลตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง เช่น เซินเจิ้น พัฒนาเป็นเมืองแห่งเทคโนโลยี ตัดสินใจเรื่องการใช้จ่ายเงินภาษีได้เอง สวิตเซอร์แลนด์มีการปกครองประชาธิปไตยแบบทางตรง ไม่ว่าจะเป็นเลือก สส. หรือผู้แทนรัฐ ประชาชนร่วมโหวตได้ทันที

“แม้ทั้งสองประเทศ มีระบอบการปกครองตรงข้ามกัน แต่ทั้งคู่กระจายอำนาจไปยังการปกครองท้องถิ่น สร้างความก้าวหน้าของประเทศ ย้อนกลับมามองที่ประเทศไทย ภาคใต้หารายได้เข้าประเทศมากมาย แต่รายได้กลับเข้าไปที่ส่วนกลาง และค่อยจัดสรรมาอีกที เราควรมีสิทธิร่วมกันออกแบบเมือง และชีวิตที่เราอยากได้ อีกไม่นานจะถึงการเลือกตั้ง อบจ. เป็นช่วงเวลาที่ดีที่เราจะผลักดันเรื่องนี้ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ”

นายสรรเพชญ กล่าวว่า จะนำปัญหาไปหารือในสภา เพื่อย้ำถึงปัญหาและความต้องการของประชาชนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และย้ำว่า ไม่ลืมพี่น้องที่โหวตให้เข้าไปในสภา ไม่ว่าอะไรจะขึ้นก็จะอยู่ตรงนี้ ทำตามอุดมการณ์ เป็นฝ่ายค้านให้ดีที่สุด เพราะเชื่อว่าอยู่ตรงไหนก็ทำงานได้เหมือนกัน หากเราไม่ได้แสวงหาประโยชน์เราก็พร้อมทำหน้าที่ทุกแบบอยู่แล้ว “ขายวัวขายที่ ผมขายได้ แต่ศักดิ์ศรีผมไม่ขาย ให้สมกับชาวสงขลาที่ไว้ใจผม”

ด้านนายสามารถ กล่าวถึงการแก้ปัญหาภาคใต้โดยรัฐบาล ว่า โครงการรถไฟฟ้าโมโนเรลหาดใหญ่ที่ นายนิพนธ์ เสนอตั้งแต่เป็นนายก อบจ. จนถึงตอนนี้ยังไม่ได้อนุมัติงบประมาณ แต่ตนกลัวว่ารัฐบาลจะเอางบไปสร้างที่เชียงใหม่ ทั้งที่สงขลา-หาดใหญ่ หาเงินเข้าประเทศได้เป็นล้านล้านบาท แต่งบประมาณหมื่นล้านเพื่อรถไฟฟ้าสายแรกในต่างจังหวัดกลับสร้างไม่ได้ ค่าตั๋วเครื่องบินกรุงเทพฯ-หาดใหญ่ ก็มีราคาแพงเพราะรัฐบาลตั้งเพดานราคาไว้สูง โครงการแลนด์บริดจ์ก็ไม่มีคนสนใจมาลงทุนเพราะมันจะไม่คุ้มทุน รัฐบาลต้องปรับโครงการด้วยการให้ความสำคัญกับการสร้างท่าเรือน้ำลึกและมอเตอร์เวย์ รวมไปถึงโครงการรถไฟทางคู่เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและโครงสร้างพื้นฐานของภาคใต้

ขณะที่เสียงจากภาคประชาชนสะท้อนว่าอยากให้ระดับด้านความปลอดภัย และพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวให้สะอาดสวยงามน่าเที่ยว ปรับภูมิทัศน์ด้วยการเอาสายไฟฟ้าลงดิน พร้อมทั้งพัฒนาระบบจราจรและขนส่งมวลนให้ง่ายต่อการเข้าถึงสถานที่ต่างๆ เพื่อเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยว สร้างอาชีพ และดูแลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยสวัสดิการ

ก่อนปิดการระดมความคิดเห็นนายนิพนธ์ บุญญามณีได้กล่าวสรุปว่าวันนี้คือความตั้งใจที่จะมารับฟังความคิด ความเห็นในแต่ละปัญหา ของแกนนำในอำเภอมืองสงขลาส่วนพื้นที่อื่นๆก็จะได้เปิดการรับฟังความคิดความเห็นในครั้งต่อๆไปเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาผ่านกลไกต่างๆต่อไป

‘สรรเพชญ’ ซัด ‘รัฐบาล’ กู้เงินสูงสุด เป็นประวัติการณ์  หวั่น!! ก่อหนี้ก้อนใหญ่ในอนาคต สวนทางนโยบาย ที่เคยหาเสียงไว้

(16 มิ.ย.67) นายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ได้ให้ข้อสังเกตต่อร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ที่กำลังจะเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาในวันที่ 19 – 21 มิถุนายน 2567 นี้ โดยนายสรรเพชญ กล่าวว่า แม้ว่าเอกสารร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ ซึ่งมีจำนวนกว่า 10,000 หน้า จะส่งมาให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ศึกษาทำความเข้าใจในเวลาไม่ถึงสัปดาห์ เพราะบรรดาเอกสารต่าง ๆ พึ่งมาถึงรัฐสภาและให้สมาชิกฯ ไปรับเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาซึ่งจะทำให้ทุกคนมีเวลาในการพิจารณาค่อนข้างน้อย แต่ตนมีความเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นลำดับต้น ๆ เพราะเกี่ยวเนื่องกับประชาชนโดยตรง อีกทั้งการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลเป็นการแสดงออกถึงความจริงใจของรัฐบาลในการทำหน้าที่ตามที่ได้แถลงนโยบายไว้ในรัฐสภา 

จากการที่ตนได้ศึกษาดูเอกสารงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2568 แล้ว เห็นว่างบประมาณดังกล่าวไม่ค่อยแตกต่างอะไรกับงบประมาณในปีที่ผ่าน ๆ มามากนัก ทั้งที่รัฐบาลชุดนี้มีอำนาจในการจัดสรรงบประมาณแทบจะ 100% สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับการจัดสรรงบประมาณในปี 2568 ที่มีการตั้งวงเงินกว่า 3.7 ล้านล้านบาท คือเรื่องของการกู้ขาดดุลที่มีการกำหนดวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณถึง 865,700 ล้านบาท ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์และเกือบเต็มเพดานกรอบวงเงินที่รัฐบาลสามารถกู้ได้ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง และเมื่อพิจารณาที่ประมาณการสถานะการคลังระยะปานกลางรัฐบาลมีการประมาณการว่าในปี 2568 จะมีรายรับประมาณ 2.8 ล้านล้านบาท และปี 2569 จะมีรายรับประมาณ 3 ล้านล้านบาท สิ่งที่น่ากังวลคือรัฐบาลจะมีรายได้ตามเป้าจริงหรือไม่ เพราะในปีที่ผ่าน ๆ มามักจะมีรายได้ไม่ตามเป้าแล้วจะทำให้รัฐบาลต้องกู้เพื่อชดเชยเงินคงคลังสูงขึ้นไปอีก ยิ่งกู้มากรัฐบาลก็เสี่ยงต่อการกู้ชนเพดานอันจะเกิดผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งจากการจัดสรรงบประมาณดังกล่าวนี้ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้มีความจริงใจและไม่กล้าที่จะทำอะไรใหม่ ๆ ยังทำงบประมาณแบบเดิม ๆ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ซึ่งสวนทางกับนโยบายที่จะให้คนไทยมีกิน มีใช้ ที่โฆษณาตอนหาเสียง 

ในงบประมาณปี 2568 นี้สิ่งที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนคือรัฐบาลมีการตั้งค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ จำนวนกว่า 152,700 ล้านบาทในงบกลาง เพื่อทำนโยบาย Digital Wallet ตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล ซึ่งตนไม่ได้ติดใจอะไรหากรัฐบาลต้องการที่จะทำนโยบายนี้ เพราะเป็นสิ่งที่รัฐบาลนี้ถนัดในการทำนโยบายโปรยเงินแบบ Helicopter Money ซึ่งแทนที่รัฐบาลจะหาเงินใหม่จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อดึงดูดนักลงทุนเข้าในประเทศเพื่อทำนโยบาย แต่รัฐบาลกลับใช้วิธีการแบบทางลัดโดยการกู้เงินเพื่อทำนโยบายดังกล่าว เสมือนเป็นการสูบเลือดของประชาชนดังที่ ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม เคยกล่าวไว้ว่า สิ่งที่รัฐบาลทำนั้นอธิบายง่ายๆ มันก็คือ หมอบอกว่าคนไข้ว่าต้องการเลือดใหม่ แต่แทนที่จะหาเลือดใหม่มาอัดฉีดให้กับคนไข้ แต่สิ่งที่หมอทำคือ ‘สูบเลือดออกจากคนไข้ แล้วนำมาฉีดคืนให้กับคนไข้ใหม่อีกครั้งหนึ่ง’ 

นอกจากนี้อีกสิ่งหนึ่งที่รัฐบาลจะต้องให้ความกระจ่างกับประชาชนคือ เงื่อนไขการใช้จ่ายเงินโครงการดิจิทัล วอลเล็ทสามารถซื้อโทรศัพท์ได้หรือไม่ เพราะถ้าหากซื้อได้ก็อาจเป็นการเอื้อนายทุนค่ายมือถือรายใหญ่ที่ขายเครื่องพร้อมแพคเกจให้กับประชาชนโดยใช้เงินจากโครงการของรัฐบาล  

“งบประมาณปี 2568 นี้ สิ่งที่รัฐบาลแสดงความสามารถให้เห็นได้ชัดเจนคือความสามารถในการกู้เงินและไปล้วงเงินจากที่อื่น ๆ มาได้ดีกว่าการหาเงินใหม่ ๆ เข้ามาในระบบ ซึ่งจนวันนี้แล้วรัฐบาลยังตอบไม่ได้ว่าจะหาเงินจากที่ไหนมาใช้คืนหรือชดเชยคืนเงินที่เอามาทำนโยบาย Digital Wallet นี้เลย” นายสรรเพชญกล่าวในตอนท้าย

‘สรรเพชญ’ จี้ รบ.เร่งโอนเงินเยียวยาน้ำท่วมช่วย ปชช. พร้อมเตรียมยื่นสารพัดปัญหาในสงขลาเข้า ครม. สัญจร

‘สรรเพชญ’ เรียกร้องรัฐบาลเร่งโอนเงินเยียวยาน้ำท่วม พร้อมเตรียมยื่นปัญหาในสงขลาเข้าที่ประชุม ครม. สัญจรเพื่อดันเมืองเก่าสงขลาสู่เมืองมรดกโลก

(5 ก.พ. 68) นายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา เขต 1 พรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการโอนเงินเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย หลังพบว่าประชาชนจำนวนมากยังไม่ได้รับเงินช่วยเหลือตามที่รัฐบาลประกาศไว้

นายสรรเพชญระบุว่า ตั้งแต่เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในหลายพื้นที่ของภาคใต้ รวมถึงสงขลา ประชาชนได้รับผลกระทบหนัก ทั้งบ้านเรือนเสียหาย รายได้ลดลง และภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศมาตรการเยียวยาครัวเรือนละ 9,000 บาท แต่กระบวนการจ่ายเงินล่าช้า ส่งผลให้ประชาชนยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ

“รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการโอนเงินเยียวยาโดยเร็วที่สุด เพราะขณะนี้ประชาชนยังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก และหากล่าช้าออกไป อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน ขณะนี้ หน่วยงานในพื้นที่แจ้งว่าต้องรอการพิจารณาอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีก่อนที่ธนาคารออมสินจะสามารถโอนเงินได้ อย่างไรก็ตาม จากการติดตามการประชุม ครม. ล่าสุด ยังไม่มีการนำเรื่องนี้เข้าพิจารณา ทำให้ประชาชนต้องรอการช่วยเหลือต่อไปโดยไม่มีกำหนด" นายสรรเพชญกล่าว

นอกจากนี้ นายสรรเพชญ ได้เตรียมนำเสนอปัญหาในพื้นที่อำเภอเมืองสงขลา ในการประชุม ครม. สัญจร วันที่ 18 กุมภาพันธ์ นี้ โดยประเด็นสำคัญ ได้แก่ ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก บริเวณห้าแยกน้ำกระจาย ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังที่ต้องเร่งแก้ไขโดยเฉพาะ โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมบริเวณแยกน้ำกระจาย จังหวัดสงขลา ทางหลวงหมายเลข 407 ตอน ควนหิน - เขารูปช้าง ระหว่าง กม.21+300 - กม.21+800 ระยะทาง 0.500 กิโลเมตร ซึ่งเป็นโครงการที่ตนได้ผลักดันในสภาผู้แทนราษฎรมาโดยตลอด ทั้งการปรึกษาหารือต่อประธานสภาฯ การตั้งกระทู้ถามกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง รวมถึงร่วมลงพื้นที่กับหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นโครงการที่จะช่วยบรรเทาปัญหาของประชาชนได้และสามารถเห็นผลได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองเก่าสงขลา เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจ และส่งเสริมให้เมืองเก่าสงขลาได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นมรดกโลก ในอนาคต

นายสรรเพชญเน้นย้ำว่า เมืองเก่าสงขลาเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ โดยเฉพาะสำหรับนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย และยังสามารถเชื่อมต่อไปยังสถานที่สำคัญต่าง ๆ ของจังหวัด เช่น หาดสมิหลา ซึ่งมีน้ำทะเลคุณภาพดีที่สุด ดังนั้น การส่งเสริมการท่องเที่ยวจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่และสร้างรายได้ให้ประชาชนมากขึ้น

ทั้งนี้ นายสรรเพชญยืนยันว่าจะใช้กลไกของรัฐสภาและผลักดันให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาเหล่านี้โดยเร็ว เพื่อให้ประชาชนได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึงและเป็นรูปธรรมต่อไป

‘สรรเพชญ’ ชี้ เหตุตึกสตง. ถล่ม เป็นบทเรียนราคาแพง ลั่น การใช้งบประมาณ ต้องคุ้มค่า - ปลอดภัย

เมื่อวันที่ (10 เม.ย.68) นายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา ในฐานะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งมีวาระสำคัญในการติดตามความคืบหน้าและตรวจสอบการใช้งบประมาณในโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ ที่เกิดเหตุพังถล่มจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568

การประชุมครั้งนี้มีผู้แทนจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงและให้ข้อมูลอย่างรอบด้าน อาทิ ผู้แทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน อธิบดีกรมบัญชีกลาง อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ นายกสภาวิศวกร นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

นายสรรเพชญ ระบุว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญที่สะท้อนให้เห็นว่า 'ความคุ้มค่า' จากการใช้งบประมาณ ต้องไม่ละเลย 'ความปลอดภัย' ในทุกขั้นตอนของกระบวนการก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ การควบคุมมาตรฐานทางวิศวกรรม การตรวจสอบคุณภาพวัสดุ การควบคุมผู้รับจ้าง รวมถึงการบริหารจัดการโครงการโดยรวม ซึ่งล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญที่มีผลต่อความมั่นคงของโครงสร้างและความปลอดภัยของประชาชน

“บทเรียนจากการใช้งบประมาณครั้งนี้ คือเสียงเตือนสำคัญถึงทุกภาคส่วนว่า ความคุ้มค่าและความปลอดภัย ต้องเดินเคียงข้างกันเสมอ ตนในฐานะกรรมาธิการฯ ยืนยันว่าจะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ชัดเจน และผลักดันให้เกิดการปรับปรุงแนวทางการบริหารโครงการภาครัฐในอนาคต โดยให้ความสำคัญกับทั้งประสิทธิภาพของงบประมาณและมาตรการความปลอดภัยอย่างแท้จริง” นายสรรเพชญกล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top