Friday, 23 May 2025
สมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย

อุปนายก TSEA ชี้คดีตึก สตง. ถล่ม ใช้เวลาสู้ในชั้นศาลนานเกิน 10 ปี หวั่นเป็นคดีที่ไม่มีใครต้องรับผิด!! แม้สร้างความเสียหายใหญ่หลวง

เมื่อวันที่ (7 พ.ค.68) นายชูเลิศ จิตเจือจุน อุปนายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย (TSEA) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจสอบจุดเกิดเหตุอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม เพื่อสังเกตการณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนและเก็บหลักฐาน โดยระบุว่าการลงพื้นที่ครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อทำความเข้าใจแนวทางการเก็บหลักฐานในคดีนี้ให้ชัดเจน

นายชูเลิศแสดงความกังวลกรณีที่กรุงเทพมหานครเตรียมส่งมอบพื้นที่คืนให้ สตง. ภายใน 4 วันข้างหน้า อาจทำให้สังคมตั้งคำถามเรื่องความเร่งรีบและความสมบูรณ์ของการเก็บหลักฐาน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากคดีใหญ่เช่นนี้ต้องใช้เวลาต่อสู้ในชั้นศาลยาวนาน อาจเกินกว่า 10 ปี หากไม่มีหลักฐานที่ละเอียดและได้มาตรฐาน อาจทำให้ไม่สามารถเอาผิดผู้เกี่ยวข้องได้

อย่างไรก็ตาม นายชูเลิศระบุว่า ได้รับการยืนยันจากทีมพนักงานสอบสวนแล้วว่า ได้ทำหนังสือถึง สตง. ขออายัดพื้นที่ต่อหลัง กทม. ส่งคืนพื้นที่ เพื่อให้การเก็บหลักฐานเสร็จสมบูรณ์ โดยจะยังไม่คืนพื้นที่จนกว่ากระบวนการสอบสวนจะแล้วเสร็จ

อุปนายก TSEA กล่าวเพิ่มเติมว่า หากเจ้าหน้าที่มีเวลาในการตรวจสอบมากขึ้น อาจพบชิ้นส่วนคอนกรีตหรือหลักฐานทางวิศวกรรมอื่นที่สมบูรณ์ ซึ่งอาจเป็นกุญแจสำคัญในการไขปริศนาสาเหตุการถล่มของอาคารและช่วยผลักดันให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นได้ในอนาคต

ส.วิศวกรฯ ผ่า 4 ปมเหตุอาคาร สตง. ถล่ม จี้สอบวิศวกร–ปรับกฎหมาย สกัดโศกนาฏกรรมซ้ำ

(22 พ.ค. 68) จากเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.7 ในเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2568 ส่งผลให้อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่กำลังก่อสร้างพังถล่ม มีผู้เสียชีวิตกว่า 100 ราย เบื้องต้นพบจุดเริ่มต้นถล่มน่าจะมาจากผนังปล่องลิฟต์ ซึ่งดึงให้โครงสร้างอื่นถล่มตาม ยังอยู่ระหว่างสอบสวนหาสาเหตุที่แท้จริง

นายอมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างฯ ระบุว่า มี 4 ปัจจัยที่ต้องตรวจสอบ ได้แก่ ความแรงของแผ่นดินไหว การออกแบบ การก่อสร้าง และคุณภาพวัสดุ โดยต้องอาศัยองค์ความรู้ด้านนิติวิศวกรรม พร้อมเก็บหลักฐาน วิเคราะห์โครงสร้าง และเปิดเผยผลต่อสาธารณะ

อีกทั้ง เรียกร้องให้สภาวิศวกรดำเนินการกับผู้เกี่ยวข้องทันที หากพบความผิด เช่น การปลอมลายมือชื่อ หรือวิศวกรไร้คุณสมบัติ โดยไม่ต้องรอให้มีผู้ร้องเรียน พร้อมเสนอเปิดประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อวางแนวปฏิบัติอย่างเร่งด่วน

ทั้งนี้ มีข้อเสนอให้ปรับปรุงกฎหมายหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.วิศวกร, พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร, พ.ร.บ.การผังเมือง ฯลฯ เพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการออกแบบ-ก่อสร้างอาคารในพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหว และสร้างระบบตรวจสอบที่โปร่งใสครอบคลุมทุกขั้นตอน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top