Tuesday, 22 April 2025
สภาพอากาศ

เตรียมรับมือ!! ‘กรมอุตุฯ’ ออกประกาศเตือน รับมือ ‘พายุฤดูร้อน’ ช่วงวันที่ 12-14 มีนาคม แนะ!! ติดตามข่าวสารใกล้ชิด

(9 มี.ค. 66) กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง “พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทย ฉบับที่ 1 (71/2566) (มีผลกระทบในช่วงวันที่ 12 - 14 มีนาคม 2566)” ระบุว่า ในช่วงวันที่ 12 - 14 มีนาคม 2566 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อน ประกอบกับคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจะเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือ

ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ รวมถึงมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้ จึงขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายดังกล่าวที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย

จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ขณะที่รายงานลักษณะอากาศทั่วไป พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังอ่อนปกคลุมภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้มีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีหมอกบางในตอนเช้า มีอากาศร้อนกับฟ้าหลัวในตอนกลางวัน แต่ยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้าบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในระยะนี้ไว้ด้วย

สำหรับลมตะวันออกพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้ภาคใต้มีฝนบางแห่งเกิดขึ้นได้ ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

อนึ่ง ในช่วงวันที่ 12 - 14 มีนาคม 2566 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ โดยมีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดเข้ามาปกคลุมภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ประกอบกับคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจะเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือ ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อน ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น

ฝุ่นละอองในระยะนี้: ประเทศไทยตอนบนมีแนวโน้มการสะสมฝุ่นละออง/หมอกควันมาก เนื่องจากลมที่พัดปกคลุมมีกำลังอ่อนและการระบายอากาศไม่ดี

ผลรายงาน ชี้ บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกหลายแห่ง ไม่คืบหน้า!! ลดการปล่อยมลพิษ ตั้งแต่ปี 2018

จากรายงานของ ESG Book ชี้ว่า บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งทั่วโลก ไม่ได้ดำเนินมาตรการอะไรเลยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เพื่อลดการปล่อยมลพิษ ที่เป็นตัวการสร้างความร้อนให้กับโลก และการกระทำเหล่านี้ ทำให้โลกยากต่อการหลีกเลี่ยงภัยพิบัติธรรมชาติ ที่ทำให้เกิดความเสียหายได้อย่างรุนแรง พร้อมเผยว่า บริษัทหลายแห่ง มีแนวโน้มการดำเนินงานที่มีส่วนช่วยให้เกิดภาวะโลกร้อนในระดับที่รุนแรง หรือ ปกปิดค่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด 

ผู้ให้บริการข้อมูลด้านความยั่งยืนชั้นนำ พบว่า มีความพยายามเพียง 22% ของบริษัทมหาชนที่ใหญ่ที่สุด 500 แห่งของโลก มีการดำเนินการที่สอดคล้องไปกับ ‘ความตกลงปารีส’ ซึ่งเป็นความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมุ่งเป้าไปที่การควบคุมอุณหภูมิให้ไม่สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเหนือระดับอุณหภูมิก่อนยุคอุตสาหกรรม (Pre-Industrial Levels) 

นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศ วิเคราะห์ว่า การที่โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นเฉลี่ย 1.5 องศาเซลเซียส เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ นอกจากนี้ โอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมรุนแรง ภัยแล้ง ไฟป่า และการขาดแคลนอาหารอาจเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล

ทั้งนี้ ราว 45% ของบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเพิ่มความร้อนอย่างน้อย 2.7 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นระดับความร้อนรุนแรง ที่อาจทำให้ประชาชนหลายพันคนต้องเผชิญอากาศร้อนจัดจนเป็นอันตรายได้ 

‘ดาเนียล ไคลเออร์’ ประธานเจ้าหน้าที่ ESG Book กล่าวว่า ข้อมูลของพวกเขาสื่อความหมายอย่างชัดเจน ที่ผู้คนต้องเร่งดำเนินการมากขึ้น และต้องรีบจัดการอย่างรวดเร็ว หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานในวิธีการดำเนินงานของเศรษฐกิจโลก มันก็ไม่ชัดเจนว่า เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญได้อย่างไร

ในการวิเคราะห์ของ ESG Book กำหนด ‘คะแนนอุณหภูมิ’ ให้กับบริษัทโดยอ้างอิงข้อมูลการปล่อยก๊าซที่รายงานต่อสาธารณะ และปัจจัยต่างๆ เช่น เป้าหมายการลดมลพิษ เพื่อพิจารณาการมีส่วนร่วมของริษัทในการบรรลุสู่เป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ โดยการวิเคราะห์นี้ ครอบคลุมบริษัทในสหราชอาณาจักร จีน อินเดีย และสหภาพยุโรป ที่มีมูลค่าตลาดอย่างน้อย 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.45 แสนล้านบาท 

โดยความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศในสหรัฐฯ และจีนเริ่มดีขึ้น แม้ว่าจะยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ โดยในสหรัฐฯ บริษัทที่ดำเนินตามความตกลงปารีสคิดเป็น 20% เพิ่มจาก 11% ในปี 2018 ส่วนในจีน บริษัทที่ดำเนินตามความตกลงปารีสคิดเป็น 12% เพิ่มจาก 3% ในปี 2018

นอกจากนี้ นักลงทุนสถาบัน (Institutional Investors) ก็มีบทบาทสำคัญในการควบคุมเงินทุนให้มุ่งสู่เทคโนโลยีหมุนเวียนมากขึ้น จากข้อมูลของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ คาดว่า การลงทุนในพลังงานแสงอาทิตย์ จะแซงหน้าการลงทุนในการผลิตน้ำมันเป็นครั้งแรกในปีนี้

อย่างไรก็ตาม องค์การพลังงานระหว่างประเทศ หรือ ‘IEA’ คาดว่า จะมีเงินลงทุนมูลค่ามากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 34.5 ล้านล้านบาท จะไหลไปสู่น้ำมัน ก๊าซ และถ่านหินในปีนี้

ทั้งนี้ รายงานชิ้นนี้ เป็นหนึ่งในชุดข้อมูลล่าสุดที่บ่งชี้ให้เห็นว่า โลกอยู่ห่างออกไปจากเส้นทางที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ ขณะเดียวกัน บริษัทผู้ก่อมลพิษรายใหญ่ อย่าง Shell และ BP กำลังเปลี่ยนความสนใจหันมาสู่การผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล หลังจากผลกำไรพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากการที่ราคาน้ำมัน และก๊าซพุ่งทะยาน

ไคลเออร์ กล่าวว่า การผสมผสานระหว่างนโยบายของรัฐบาลที่เข้มงวดมากขึ้น และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค รวมถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จะต้องนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายในเส้นทางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน
 

‘บิ๊กป้อม’ หารือแนวทางรับมือสภาพอากาศผันผวน เร่งสร้างความเข้าใจ ปชช. ลดผลกระทบรุนแรง

(25 ส.ค. 66) ที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศแห่งชาติ (กนภ.) ครั้งที่ 3/66 มีนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว. ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม 

โดยที่ประชุมเห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบว่าด้วยการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งการปรับปรุงองค์ประกอบคณะอนุกรรมการภายใต้ กนภ.จำนวน 8 คณะ ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และเสนอให้ส่วนราชการต่างกระทรวง มีหน่วยงานรองรับร่วมขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าวไปด้วยกัน

นอกจากนั้นที่ประชุมรับทราบ การปรับปรุงกฎกระทรวงและการแบ่งส่วนราชการ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2566 ที่เปลี่ยนชื่อมาจาก กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยจะทำหน้าที่จะเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเป็นหน่วยประสานงานกลางของประเทศ ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงความร่วมมือระหว่างประเทศต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังเป็นหน่วยให้บริการข้อมูลข่าวสารเพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ ศึกษาวิจัย พัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยี เพื่อการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทุกภาคส่วนต่อไป

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า สภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลง ผันผวนและทวีรุนแรงมากขึ้น มีผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อมของประเทศอย่างมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่รอไม่ได้ต้องเตรียมการรับมือ จึงกำชับขอให้คณะกรรมการฯ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ศึกษา ติดตามและขับเคลื่อนดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่ายองค์กรที่เกี่ยวข้อง ทั้งในและระหว่างประเทศ เตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นไปด้วยกัน โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจและความร่วมมือกัน รับมือกับการเปลี่ยนแปลง ทั้งการป้องกันและการแก้ปัญหาไปพร้อม ๆ กัน เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้มากที่สุด

‘52 จังหวัด’ อ่วม!! ค่าฝุ่นพิษ PM 2.5 เกินมาตรฐาน วอนปชช.เฝ้าระวังสุขภาพ ใส่แมสก์ป้องกันอย่างมิดชิด

(11 ธ.ค.66) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ จิสด้า-GISTDA รายงานสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ด้วยข้อมูลจากดาวเทียมผ่านแอปพลิเคชัน ‘เช็คฝุ่น’ พบ 52 จังหวัดของประเทศไทย มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานเกินมาตรฐาน (มาตรฐานไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม.) ที่ส่งผลต่อสุขภาพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคกลาง อาทิ สิงห์บุรี ชัยนาท อ่างทอง ลพบุรี และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาทิ กาฬสินธุ์ อุดรธานี หนองคาย และมหาสารคาม ที่มีค่าคุณภาพอากาศระดับสีแดง

ในขณะที่กรุงเทพมหานคร พบค่าฝุ่น PM2.5 ระดับสีแดงสูงสุดเพียง 1 เขต คือที่เขตหนองแขม 82.3 ไมโครกรัม ส่วนพื้นที่เขตอื่นอยู่ระดับสีส้ม ซึ่งยังเกินมาตรฐานกว่า 40 เขต

ขณะเดียวกัน กรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์ฝุ่นเช้านี้เช่นกัน โดยระบุว่า

ตรวจวัดค่าฝุ่นละออง PM2.5 ได้ในช่วง 27.3-65.9 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) และพบว่าเกินมาตรฐาน (มาตรฐานไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม.) อยู่ในระดับสีส้มเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ จำนวน 71 พื้นที่ ได้แก่

1.แขวงหิรัญรูจี เขตธนบุรี กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 49.4 มคก./ลบ.ม.
2.ริมถนนกาญจนาภิเษก เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 50.5 มคก./ลบ.ม.
3.แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 46.7 มคก./ลบ.ม.
4.แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 39.1 มคก./ลบ.ม.
5.ช่องนนทรี เขตยานาวา กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 44.0 มคก./ลบ.ม.
6.ริมถนนพระราม 4 เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 40.4 มคก./ลบ.ม.
7.ริมถนนอินทรพิทักษ์ เขตธนบุรี กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 46.2 มคก./ลบ.ม.
8.ริมถนนลาดพร้าว เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 42.2 มคก./ลบ.ม.
9.ริมถนนดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 48.8 มคก./ลบ.ม.
10.แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 56.6 มคก./ลบ.ม.
11.เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 48.3 มคก./ลบ.ม.
12.เขตจอมทอง กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 44.4 มคก./ลบ.ม.
13.ริมถนนจรัญสนิทวงศ์ เขตบางพลัด กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 49.7 มคก./ลบ.ม.
14.เขตบางแค กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 40.4 มคก./ลบ.ม.
15.ริมถนนพระราม 2 เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 48.4 มคก./ลบ.ม.
16.เขตบางคอแหลม กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 39.2 มคก./ลบ.ม.
17.สวนหลวง ร.9 เขตประเวศ กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 39.1 มคก./ลบ.ม.
18.สวน 60 พรรษาสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 40.7 มคก./ลบ.ม.
19.สวนรมณีย์ทุ่งสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 40.2มคก./ลบ.ม.
20.สวนธนบุรีรมย์ เขตทุ่งครุ กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 39.4มคก./ลบ.ม.

21.สวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 44.2 มคก./ลบ.ม.
22.สวนเสรีไทย เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 46.4 มคก./ลบ.ม.
23.สวนบางแคภิรมย์ เขตบางแค กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 39.9 มคก./ลบ.ม.
24.สวนทวีวนารมย์ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 52.4 มคก./ลบ.ม.
25.สวนหนองจอก เขตหนองจอก กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 42.7 มคก./ลบ.ม.
26.สวนหลวงพระราม 8 เขตบางพลัด กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 43.0 มคก./ลบ.ม.
27.ริมถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 41.1 มคก./ลบ.ม.
28.ริมถนนสุขุมวิท เขตพระโขนง กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 42.2 มคก./ลบ.ม.
29.ริมถนนราษฎร์บูรณะ กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 47.2 มคก./ลบ.ม.
30.ริมถนนพระราม 5 เขตดุสิต กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 40.5 มคก./ลบ.ม.
31.ริมถนนกรุงเกษม เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 39.6 มคก./ลบ.ม.
32.ริมถนนตรีมิตร วงเวียนโอเดียน์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 47.5 มคก./ลบ.ม.
33.ริมถนนพระราม 6 เขตพญาไท กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 38.7 มคก./ลบ.ม.
34.ริมถนนลาดพร้าว ซอยลาดพร้าว 95 เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 54.2 มคก./ลบ.ม.
35.ริมถนนพระรามที่ 4 หน้าสามย่านมิตรทาวน์ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 37.6 มคก./ลบ.ม.
36.ริมถนนนราธิวาส เขตบางรัก กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 54.2 มคก./ลบ.ม.
37.แขวงทุ่งวัดดอน เขตสาทร กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 49.1 มคก./ลบ.ม.
38.ริมถนนซอยสุขุมวิท 63 เขตวัฒนา กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 43.0 มคก./ลบ.ม.
39.ริมถนนพัฒนาการ เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 52.4 มคก./ลบ.ม.
40.ริมถนนบางนา-ตราด เขตบางนา กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 55.3 มคก./ลบ.ม.

41.ริมถนนพหลโยธิน แยก ม.เกษตรศาสตร์ เขตจตุจักร กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 46.2 มคก./ลบ.ม.
42.เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 39.4 มคก./ลบ.ม.
43.ริมถนนสุขาภิบาล5 เขตสายไหม กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 43.8 มคก./ลบ.ม.
44.แยกสวนสยาม-รามอินทรา เขตคันนายาว กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 46.4 มคก./ลบ.ม.
45.ริมถนนลาดกระบัง เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 51.9 มคก./ลบ.ม.
46.ริมถนนสีหบุรานุกิจ เขตมีนบุรี กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 46.8 มคก./ลบ.ม.
47.ริมถนนเลียบวารี เขตหนองจอก กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 51.3 มคก./ลบ.ม.
48.ริมถนนศรีนครินทร์ เขตประเวศ กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 54.6 มคก./ลบ.ม.
49.ริมถนนรัชดาภิเษก-ท่าพระ เขตธนบุรี กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 47.5 มคก./ลบ.ม.
50.ริมถนนเจริญนคร เขตคลองสาน กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 51.9 มคก./ลบ.ม.

51.ริมถนนแยกท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 51.5 มคก./ลบ.ม.
52.ริมถนนซอยนิคมบ้านพักรถไฟธนบุรี 5 เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 57.7
53.ริมถนนพุทธมณฑล 1 เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 50.0 มคก./ลบ.ม.
54.ริมถนนคลองทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 59.1 มคก./ลบ.ม.
55.ริมถนนเพชรเกษม เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 51.1 มคก./ลบ.ม.
56.ริมถนนมาเจริญ เพชรเกษม 81 เขตหนองแขม กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 59.3 มคก./ลบ.ม.
57.ริมถนนเอกชัย เขตบางบอน กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 50.7 มคก./ลบ.ม.
58.ริมถนนประชาอุทิศ เขตทุ่งครุ กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 40.6 มคก./ลบ.ม.
59.ริมถนนสามเสน เขตพระนคร กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 41.8 มคก./ลบ.ม.
60.แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 47.8 มคก./ลบ.ม.

61.แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 44.0 มคก./ลบ.ม.
62.แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 46.2 มคก./ลบ.ม.
63.ริมถนนพหลโยธิน เขตบางเขน กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 48.9 มคก./ลบ.ม.
64.เขตสะพานสูง กรุงเทพฯ : มีค่าเท่ากับ 39.5 มคก./ลบ.ม.
65.ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี : มีค่าเท่ากับ 55.9 มคก./ลบ.ม.
66.ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี : มีค่าเท่ากับ 55.9 มคก./ลบ.ม.
67.ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี : มีค่าเท่ากับ 48.5 มคก./ลบ.ม.
68.ต.ทรงคนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ : มีค่าเท่ากับ 56.2 มคก./ลบ.ม.
69.ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ : มีค่าเท่ากับ 65.9 มคก./ลบ.ม.
70.ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร : มีค่าเท่ากับ 56.4 มคก./ลบ.ม.
71.ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร : มีค่าเท่ากับ 47.8 มคก./ลบ.ม

‘นักวิจัยจีน’ ผุด ‘เสื้อผ้าพลังงานแสงอาทิตย์’ ประสิทธิภาพสูง ช่วยคุมอุณหภูมิร่างกายมนุษย์ให้รู้สึกสบาย แม้อากาศผันผวน

เมื่อวานนี้ (17 ธ.ค.66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ทีมนักวิจัยของจีนจากมหาวิทยาลัยหนานไคออกแบบระบบเสื้อผ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ยืดหยุ่น พึ่งพาพลังงานในตัวเอง และมีประสิทธิภาพสูง ซึ่งช่วยควบคุมให้ร่างกายมนุษย์คงอยู่ในช่วงอุณหภูมิที่ทำให้รู้สึกสบาย แม้ว่าอุณหภูมิสิ่งแวดล้อมจะผันผวน

ระบบเสื้อผ้าที่ขับเคลื่อนด้วยเซลล์แสงอาทิตย์แบบยืดหยุ่นนี้ไม่ต้องอาศัยแหล่งพลังงานภายนอก ยกเว้นเพียงแสงแดด และต่างจากเสื้อผ้าควบคุมความร้อนรุ่นก่อนหน้า ตรงที่สามารถสร้างความอบอุ่นและทำความเย็นด้วยอุปกรณ์ไฟฟ้าที่สามารถปรับเปลี่ยนอุณหภูมิสองทางตลอดทั้งวัน

การศึกษาระบุว่าอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถควบคุมอุณหภูมิได้ตลอด 24 ชั่วโมง หลังได้รับพลังงานแสงอาทิตย์เพียง 12 ชั่วโมง

นอกจากนั้น อุปกรณ์ข้างต้นทำงานเพื่อรักษาอุณหภูมิผิวหนังของมนุษย์ให้อยู่ในช่วงที่ทำให้รู้สึกสบาย ระหว่าง 32-36 องศาเซลเซียส แม้อุณหภูมิสิ่งแวดล้อมจะเปลี่ยนแปลงที่ระหว่าง 12.5-37.6 องศาเซลเซียส

อุปกรณ์ใหม่นี้สามารถช่วยปรับปรุงความปลอดภัยและความรู้สึกสบายของร่างกายมนุษย์ ท่ามกลางอุณหภูมิสิ่งแวดล้อมที่ผันผวน และยังอาจยืดระยะการเอาชีวิตรอดในสภาพแวดล้อมที่รุนแรง เช่น ในอวกาศ หรือบนดาวเคราะห์ดวงอื่น

อนึ่ง การศึกษาฉบับดังกล่าวเผยแพร่เมื่อวันศุกร์ (15 ธ.ค.) ในวารสารไซแอนซ์ (Science)

‘จีน’ เผย ‘ท่องเที่ยวเชิงอุตุนิยมวิทยา’ เทรนด์ตลาดเกิดใหม่มาแรง ชู ‘การท่องเที่ยว-ภูมิอากาศ-ภูมิทัศน์-วัฒนธรรม’ ดึงเม็ดเงินเข้าประเทศ

(21 ธ.ค. 66) สำนักข่าวซินหัว, เจิ้งโจว รายงานจากสถาบันพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอุตุนิยมวิทยาแห่งประเทศจีน ระบุว่า การท่องเที่ยวเชิงอุตุนิยมวิทยาในจีนเติบโตอย่างต่อเนื่องช่วงไม่กี่ปีมานี้ และจะรักษาแนวโน้มการเติบโตที่รวดเร็วในปีต่อๆ ไป จนเกิดเป็นตลาดการท่องเที่ยวเกิดใหม่

รายงานว่า ด้วยการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอุตุนิยมวิทยาจากสถาบันฯ ที่เผยแพร่ในการประชุมการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงอุตุนิยมวิทยาแห่งประเทศจีน ครั้งที่ 2 ระยะ 2 วัน เผยว่า การพัฒนาที่รวดเร็วของการท่องเที่ยวดังกล่าวในจีน มีปัจจัยหลักมาจากการแสวงหาประสบการณ์ด้านอุตุนิยมวิทยาอันเป็นเอกลักษณ์ที่เพิ่มขึ้นของประชาชน รวมถึงนวัตกรรมและการยกระดับอย่างต่อเนื่องของการท่องเที่ยว

รายงานที่เผยแพร่ในการประชุมฯ ซึ่งปิดฉากลงเมื่อวันพุธที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา ในมณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีน คาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมบริการเชิงอุตุนิยมวิทยาของจีนจะมีมูลค่าสูงกว่า 3 แสนล้านหยวน (ราว 1.5 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2025

‘ชวีหย่า’ เลขาธิการสมาคมอุตุนิยมวิทยาแห่งประเทศจีน กล่าวว่า ดวงอาทิตย์ขึ้นที่สวยงาม พายุฝนฟ้าคะนองที่งดงาม ผืนฟ้าที่เต็มไปด้วยดวงดาว น้ำแข็งและหิมะ น้ำค้างแข็ง และป่าฝนล้วนเป็นทรัพยากรการท่องเที่ยวเชิงอุตุนิยมวิทยา

อนึ่ง ทรัพยากรการท่องเที่ยวเชิงอุตุนิยมวิทยา แบ่งแบบกว้างออกเป็น 3 หมวดหมู่ ได้แก่

1.) ทรัพยากรภูมิทัศน์และสภาพอากาศ อาทิ เมฆ ฝน หิมะ แสงสว่าง และปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่พบได้ยาก

2.) ทรัพยากรภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม อาทิ การรักษาสุขภาพ ประสบการณ์ และวัตถุโบราณภูมิอากาศบรรพกาลที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศ

3.) ทรัพยากรเชิงอุตุนิยมวิทยาแนวมนุษยนิยม อาทิ อุตุนิยมวิทยาและประวัติศาสตร์ ภูมิทัศน์ที่มนุษย์สร้างขึ้น ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกและสิ่งก่อสร้างที่มนุษย์สร้างขึ้น

‘ดร.เสรี’ ชี้!! ปีนี้มีสิทธิร้อนเพิ่ม ผลพวงที่ส่งต่อมาจากปี 2023

(11 ม.ค. 67) รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ รองประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า #โลกร้อนสุด 2023 อะไรจะเกิดขึ้นตามมาในปี 2024 นอกเหนือการควบคุม

ปี 2023 เป็นปีที่นักวิทยาศาสตร์ไม่ได้มีการคาดการณ์ไว้ว่าจะเป็นปีที่ร้อนที่สุด แต่อุณหภูมิเฉลี่ยกลับเพิ่มขึ้นกว่า 1.48oC เมื่อ 100 ปีที่แล้ว และสูงกว่าปี 2016 ที่เคยเป็นสถิติสูงสุด ปัจจัยสำคัญอันหนึ่งมาจากปรากฏการณ์ El Nino ที่กำลังเกิดขึ้น และคาดการณ์ว่าจะแตะระดับสูงสุด ในเดือนมกราคมปีนี้ ดังนั้นการเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงสภาพอากาศสุดขั้วต่างๆจึงเกิดตามมาโดยไม่สามารถควบคุมได้ ดังตัวอย่างการเกิดคลื่นความร้อน และไฟป่าในแคนาดา US และยุโรป น้ำท่วมใหญ่ในแอฟริกาตะวันออก รวมทั้งน้ำท่วมรุนแรงในภาคใต้ประเทศไทย

จากข้อมูลอุณหภูมิเฉลี่ยรายวันในปี 2023 ยังบ่งชี้ว่าตั้งแต่เดือนมิถุนายน อุณหภูมิเฉลี่ยรายวันทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (173 วันที่อุณหภูมิสูงเกิน 1.5 oC) ตั้งแต่มนุษย์เริ่มมีการใช้พลังงานฟอสซิล ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงยังคงไม่มั่นใจว่าเหตุการณ์ความรุนแรงจากสภาพอากาศสุดขั้วใด จะเกิดขึ้นบ้าง และจะเกิดขึ้นเมื่อไรในอนาคต แม้แต่การคาดการณ์ปริมาณฝนยังมีความคลาดเคลื่อนสูง และไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าในระยะยาวเป็นรายเดือน รายฤดูกาล เป็นต้น เนื่องจากอุณหภูมิน้ำทะเลก็ยังสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์เหมือนกัน

ดังนั้นด้วยโมเมนตัม และการถ่ายทอดพลังงานความร้อนต่อเนื่องจากปี 2023 ทำให้ปี 2024 จึงเป็นปีที่มีความเสี่ยงสูงที่จะร้อนกว่าปี 2023 การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิดังกล่าวบ่งชี้การเกิดขีดจำกัด 1.5oC ตามข้อตกลงปารีสซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยในรอบ 20-30 ปี และอาจจะแตะ 3oC จากการประเมินรายงาน NDC (National Determined Contribution) ของแต่ละประเทศที่ส่งมาในปัจจุบัน ดังนั้นเหตุการณ์ความรุนแรงจากสภาพอากาศสุดขั้วจึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และต้องเฝ้าระวังกันต่อไป 

กรุงโซลยังอ่วม หิมะตกหนัก 2 วันติด สะสมสูงกว่า 40 ซม. กระทบขนส่งเครื่องบิน-รถไฟล่าช้า

(28 พ.ย.67) สำนักข่าวยอนฮับของเกาหลีใต้รายงานว่า หลายพื้นที่ของกรุงโซลยังคงเผชิญกับสถานการณ์หิมะตกหนักติดต่อกันเป็นวันที่สอง โดยมีหิมะสะสมสูงสุดในหลายพื้นที่ เช่น เมืองยงอินในจังหวัดคยองกีที่มีหิมะสะสม 47.5 เซนติเมตร ขณะที่บางส่วนของกรุงโซล เช่น เขตกวานัก มีหิมะสะสมหนาถึง 40.2 เซนติเมตร

ปริมาณหิมะเฉลี่ยในกรุงโซลวัดได้ 28.6 เซนติเมตร ซึ่งถือว่าเกิดขึ้นไม่บ่อยในฤดูหนาว โดยสถิติสูงสุดของหิมะที่ตกในพื้นที่นี้คือ 31 เซนติเมตร เมื่อเดือนมีนาคม ปี 1922 นับว่าเป็นสถานการณ์หิมะตกที่รุนแรงสุดในรอบร้อยปี

การจราจรในกรุงโซลและพื้นที่ใกล้เคียงติดขัดอย่างหนัก เนื่องจากมีการปิดถนนบางส่วน รวมถึงเขตกวางจินที่ต้นไม้ล้มขวางถนนเพราะน้ำหนักของหิมะ ส่วนระบบรถไฟหลายสายล่าช้า เนื่องจากต้องเคลียร์กิ่งไม้และหิมะออกจากราง โดย Korea Railroad เพิ่มขบวนรถไฟอีก 10 ขบวนในชั่วโมงเร่งด่วน 

โรงเรียนบางแห่งในกรุงโซลและพื้นที่โดยรอบปิดทำการหรือเลื่อนเวลาเริ่มเรียน ขณะที่เที่ยวบินระหว่างประเทศ 114 เที่ยวบินและภายในประเทศ 28 เที่ยวบินถูกยกเลิก

มีผู้เสียชีวิต 2 รายจากอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับหิมะ รายแรกในเมืองยงอินจากต้นไม้ล้มทับ และอีกรายในเมืองพยองแท็กจากโครงสร้างถล่มขณะเคลื่อนย้ายหิมะ  

คาดว่าหิมะในกรุงโซล อินชอน และคยองกีตอนเหนือจะหยุดตกในช่วงบ่ายวันที่ 28 พฤศจิกายน ส่วนพื้นที่อื่น ๆ เช่น คังวอน ชุงชอง และชอลลา จะยังคงมีหิมะตกต่อเนื่อง โดยเกาะเชจูอาจเผชิญหิมะตกถึงช่วงเช้าวันที่ 30 พฤศจิกายน

‘ดร.เสรี’ ฟันธงชี้!! หลังปีใหม่นี้ มีหนาวต่อแน่ กทม. อาจจะลงไปถึง!! 15℃ วันที่ 6 มกรา นี้

(5 ม.ค. 68)  รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการ ‘ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต’ โพสต์ข้อความผ่านโซเชียลมีเดีย ระบุว่า …

#สวัสดีหลังปีใหม่สภาพอากาศหนาวเย็นช่วงแรก 5-6-7 มกราคมนี้

มาแล้วครับหนาวจริงหนาวจังหนาวแรกปีใหม่ระหว่าง 5-7 มกราคม โดยจะหนาวสุดในวันที่ 6 มกราคมนี้ครับ อุณหภูมิจะลดลงไปอีก 2-3℃ อุณหภูมิต่ำสุด กทม. และปริมณฑลอาจจะลงไปถึง 15℃ส่วนภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 12℃ความหนาวเย็นจะอยู่กับเราจนถึงประมาณวันที่ 20 มกราคม จะเริ่มอุ่นขึ้น

ส่วนเรื่องของฝนก็ยังคงไม่มีอะไรน่ากังวลน่ะครับช่วงนี้ แม้ว่ามีโหราจารย์หลายสำนัก ฟันธงปีนี้จะเป็นปีดุ น้ำท่วมหนัก แต่การคาดการณ์ทางวิทยาศาตร์บ่งชี้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกปี 2568 จะต่ำกว่าปีที่แล้ว แต่ยังคงเป็นปีที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 1.41℃ (ปีที่แล้ว > 1.5℃) จากยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ดังนั้นสภาวะโลกร้อน และ Climate Change ยังคงส่งผลกระทบกับโลกต่อไป ประกอบกับเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงสุดขั้ว เช่นกรณี Rain bomb ไม่สามารถคาดการณ์ระยะยาวได้ จึงควรตระหนัก และตั้งอยู่ในความไม่ประมาทครับ

‘ดร.ธรณ์’ สงสัย?? การแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ทำไม?? เพิ่งจะทำ ทั้งที่รู้ล่วงหน้า อย่างน้อย 3 วัน

(26 ม.ค. 68) ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ PM2.5 โดยมีใจความว่า .
ผมไม่มีความคิดเห็นต่อวิธีการแก้ไขปัญหาฝุ่นที่ออกมาเพราะมี 2 มุมมอง แต่ที่สงสัยคือช่วงเวลาที่ทำ

ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน เราพอทำนายสถานการณ์ฝุ่นล่วงหน้าอย่างน้อยก็ 3 วัน โดยดูจากสภาพอากาศ 

ผมจึงสงสัยว่าทำไมมาตรการต่างๆ ที่ทำในกรุงเทพและจังหวัดรอบๆ บางอย่างก็ไม่สอดคล้องกับช่วงเวลาของฝุ่นที่พอคาดเดาได้ด้วยเทคโนโลยีและหลักวิชาการ

เราโดนฝุ่นหนักๆ กันมาตั้งแต่กลางสัปดาห์ก่อน แต่ไม่มีมาตรการใดชัดเจน 

มาถึงวันเสาร์ เราขึ้นรถไฟฟ้าฟรี ต่อเนื่องไปอีกทั้งสัปดาห์ ถึงวันที่ 31 มกราคม

นอกจากนี้ ยังพอทราบว่า โรงเรียนบางแห่งปิด ให้เรียนออนไลน์ในสัปดาห์หน้า รวมถึงมหาลัยบางแห่งที่ให้อาจารย์เลือก ซึ่งส่วนใหญ่ก็คงเป็นออนไลน์ (เน้นย้ำ - บางแห่ง)

แต่ดูจากโมเดลพยากรณ์ต่างๆ สถานการณ์ฝุ่นจะคลี่คลายในวันจันทร์ 

และต่อเนื่องถึงอังคารและพุธ ที่อาจมีฝุ่นกลับมาบ้าง แต่ก็ไม่แรงเหมือนสัปดาห์ก่อน

หลังจากนั้นยังทำนายไม่ได้ หมายถึงบอกไม่ได้

ที่สงสัยคือช่วงฝุ่นแรงๆ ที่พอรู้ล่วงหน้า เราไม่ทำอะไร 

พอฝุ่นเริ่มหายไป เรากลับทำนี่นั่นตามกระแส

กระแสจะเกิดเมื่อมีฝุ่นหนัก เพราะคนมองเห็นด้วยตา แต่อากาศที่เอื้อต่อฝุ่นจะอยู่เพียงไม่กี่วัน

หากเรารอให้ฝุ่นเยอะจนเกิดกระแส จากนั้นค่อยทำ เวลามันจะเหลื่อมกันแบบนี้เสมอ

เอาเป็นว่าในวันจันทร์ หากเป็นไปตามพยากรณ์
พ่อแม่อาจมึน สงสัยว่าทำไมลูกถึงอยู่บ้านเรียนออนไลน์ ทั้งที่ฟ้าใส ก่อนเดินมึนๆ ขึ้นรถไฟฟ้าฟรีโดยใช้เงินภาษีต่อไปทั้งสัปดาห์
ก็ได้แต่ตั้งคำถามไว้แบบมึนๆ เหมือนกัน

ฝุ่นมา เราตกใจ ฝุ่นหาย เราทำ!!


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top