10 ปี 'ไทยถือครองทองคำ' สัดส่วนเพิ่มอันดับ 2 ของเอเชีย
ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนการถือครอง ‘ทองคำ’ ของประเทศไทย เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จนกลายมาเป็นอันดับ 2 ของทวีปเอเชีย!!

ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนการถือครอง ‘ทองคำ’ ของประเทศไทย เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จนกลายมาเป็นอันดับ 2 ของทวีปเอเชีย!!
รายงานล่าสุด!! จาก World Gold Council เผย!! ไทยมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอันดับ 9 ของโลก และมีทองคำสำรองอันดับ 18 ของโลก
(4 ก.ย. 67) สภาทองคำโลก (World Gold Council) เผยแพร่บทวิเคราะห์แนวโน้มของทองคำตามกรอบแนวทางการประเมินมูลค่าของ QaurumSM และสภาทองคำโลก โดยได้วิเคราะห์ว่าหากทิศทางเศรษฐกิจโลกและอัตราดอกเบี้ยยังคงสอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาดในปัจจุบัน ทองคำอาจจะยังคงได้รับแรงหนุนจากการลงทุนต่อไป
รายงานภาพรวมของทองคำช่วงกลางปีที่สภาทองคำโลกได้เผยแพร่ยังชี้ให้เห็นว่าทองคำมีผลตอบแทนดีกว่าสินทรัพย์หลักส่วนใหญ่ในครึ่งแรกของปี 2567 ที่ผ่านมา โดยในช่วงสิ้นเดือนมิถุนายน 2567 ทองคำพุ่งขึ้นสูงถึง 12% และเกือบแตะ 15% ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม ผลตอบแทนของทองคำในครึ่งแรกของช่วงครึ่งปีหลังนี้มีความแข็งแกร่ง แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกอยู่ในระดับสูงและเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ซึ่งมักจะเป็นสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อทองคำ
มีสาเหตุหลายประการด้วยกันที่จะทำให้ทองคำมีผลตอบแทนที่ดีอย่างต่อเนื่อง สภาทองคำโลกได้เริ่มเห็นว่านักลงทุนได้หันกลับมาสนใจในทองคำอีกครั้ง จากกระแสการลงทุนที่ไหลเข้าสู่กองทุนซื้อขายแลกเปลี่ยน (ETF) ทองคำสำหรับนักลงทุนในภูมิภาคยุโรปตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม และในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยการลดลงของอัตราดอกเบี้ยควบคู่กับความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงมีอยู่ อาจช่วยสนับสนุนแนวโน้มนี้ต่อไป
คุณฮวน คาร์ลอส อาร์ทิกัส (Juan Carlos Artigas) หัวหน้าฝ่ายวิจัยระดับโลกของสภาทองคำโลก กล่าวว่า “เช่นเดียวกับในเศรษฐกิจระดับโลก ดูเหมือนว่าทองคำกำลังรอปัจจัยที่จะเข้ามากระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจเกิดขึ้นในรูปแบบของกระแสการลงทุนจากทางตะวันตกในขณะที่อัตราดอกเบี้ยลดลง หรือตัวชี้วัดระดับความเสี่ยงต่าง ๆ ที่สูงขึ้น ถึงแม้ว่าแนวโน้มของทองคำในอนาคตอาจจะยังมีความท้าทายอยู่บ้าง แต่ความต้องการทองคำเพื่อใช้เป็นกลยุทธ์ในการจัดสรรสินทรัพย์นั้นกำลังเพิ่มสูงขึ้น”
คุณฮวน กล่าวเสริมว่า “ในขณะที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน นักลงทุนจึงต้องการรู้ว่าแนวโน้มของทองคำที่ผ่านมาจะยังสามารถดำเนินต่อไปหรือจะลดความร้อนแรงลง ในอดีตตลาดมักมองเฉพาะที่อัตราดอกเบี้ยและค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเท่านั้นในการกำหนดมุมมองเกี่ยวกับทองคำ ซึ่งหากมองจากแนวทางดังกล่าว การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 นั้นน่าจะส่งผลเชิงลบต่อทองคำ แต่ราคาทองกลับพุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์หลายครั้ง และมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งในตลอดทั้งไตรมาสที่ 2”
สภาทองคำโลกคาดว่าความต้องการทองคำของธนาคารกลางในปีนี้จะยังคงสูงกว่าแนวโน้มที่ผ่านมา ซึ่งเป็นมุมมองที่สอดคล้องกับ Metals Focus โดยการคาดการณ์นี้ได้รับการสนับสนุนจากรายงานผลการสำรวจจากธนาคารกลางของสภาทองคำโลกที่ได้แสดงให้เห็นว่าผู้จัดการด้านทุนสำรองทองคำยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อทองคำต่อไป อย่างไรก็ตามมีรายงานว่าธนาคารกลางบางแห่งซึ่งรวมถึงธนาคารประชาชนจีน (PBoC) นั้นได้ปรับลดปริมาณการซื้อทองคำลง
นักลงทุนชาวเอเชียยังได้มีบทบาทสำคัญต่อผลการดำเนินงานของทองคำในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเห็นได้ชัดจากความต้องการในทองคำแท่งและเหรียญทองคำ รวมถึงการไหลเข้าของกระแสการลงทุนใน ETF ทองคำในไตรมาสที่ 2 ของปี 2567
ด้าน คุณเซาไก ฟาน (Shaokai Fan) หัวหน้าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมประเทศจีน) และหัวหน้าธนาคารกลางระดับโลกของสภาทองคำโลก กล่าวว่า “ความต้องการทองคำผู้บริโภคของประเทศไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 ได้เพิ่มขึ้นถึง 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อยู่ที่ระดับจำนวน 9 ตัน ซึ่งถือว่าเป็นการเติบโตคิดเป็น % ที่สูงที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สำหรับไตรมาสที่ 2 และแม้ว่าราคาทองคำได้พุ่งสูงขึ้น ความต้องการทองคำทั่วโลกก็ยังคงเพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 1,258 ตัน และถือเป็นไตรมาสที่ 2 ของปีที่แข็งแกร่งที่สุดเท่าที่เราได้เก็บรวบรวมข้อมูลมา
ทั้งนี้ เมื่อมองไปในอนาคต คำถามคือมีปัจจัยอะไรบ้างที่จะผลักดันให้ทองคำยังคงมีความน่าสนใจเป็นอันดับต้น ๆ ในกลยุทธ์การลงทุนต่อไป คุณฟาน มองว่า จากการคาดการณ์และรอคอยมาเป็นระยะยาวนานว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยในอีกไม่นานนี้ ทำให้กระแสการลงทุนได้ไหลเข้ากองทุน ETF ทองคำเพิ่มขึ้น เนื่องจากนักลงทุนจากตะวันตกหันกลับมาให้ความสนใจอีกครั้ง การฟื้นตัวของการลงทุนจากกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง อาจเปลี่ยนแนวโน้มการเคลื่อนไหวของความต้องการทองคำในช่วงครึ่งหลังของปี 2567”
โดยสรุปแล้วทองคำอาจยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบที่จำกัด (Rangebound) หากธนาคารกลางสหรัฐใช้เวลานานกว่าที่คาดการณ์ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มที่ทองคำจะมีผลตอบแทนสูงกว่าจากจุดนี้ โดยอาจเกิดจากแรงหนุนของกระแสการลงทุนในฝั่งตะวันตก ในทางกลับกันหากความต้องการทองคำของธนาคารกลางลดลงอย่างมาก และอัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับสูงเป็นระยะเวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้ และความเชื่อมั่นของนักลงทุนเอเชียเปลี่ยนไป นักลงทุนอาจเห็นการปรับฐานในช่วงครึ่งปีหลัง
ทั้งนี้การวิเคราะห์ของสภาทองคำโลกได้แสดงให้เห็นว่าทองคำมีบทบาทสำคัญในการกระจายความเสี่ยง และเป็นแหล่งสภาพคล่องทางการเงิน ควบคู่ไปกับการให้ผลตอบแทนระยะยาวในเชิงบวก
(11 ก.พ.68) รายงานแนวโน้มความต้องการทองคำประจำไตรมาสที่ 4 และการสรุปภาพรวมตลอดปี 2567 ของสภาทองคำโลก (World Gold Council: WGC) ได้เปิดเผยข้อมูลความต้องการทองคำทั่วโลกที่รวมปริมาณการซื้อขายทองคำนอกตลาดหลักทรัพย์ (Over-the-counter: OTC) ซึ่งได้ทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ด้วยจำนวนรวม 4,974 ตัน โดยประเทศไทยได้ก้าวขึ้นเป็นตลาดทองคำที่มีความแข็งแกร่งในปี 2567 และมีปริมาณความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำสูงเป็นอันดับ 7 ของโลก ที่จำนวน 39.8 ตัน คิดเป็นการเติบโตสูงถึง 17% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
สภาทองคำโลกระบุว่าความต้องการทองคำทั่วโลกในปี 2567 นั้นได้รับแรงขับเคลื่อนจากการซื้อทองคำอย่างต่อเนื่องและแข็งแกร่งของธนาคารกลาง และการเติบโตของความต้องการทองคำเพื่อการลงทุน ราคาทองคำที่ทำสถิติสูงสุดใหม่หลายครั้งและปริมาณความต้องการที่พุ่งสูงในปีที่ผ่านมา ได้ร่วมกันส่งผลให้ความต้องการทองคำรวมมีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3.82 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
ธนาคารกลางยังคงซื้อทองคำในปริมาณที่มหาศาลอย่างต่อเนื่องในปี 2567 โดยมีปริมาณการซื้อในระดับสูงกว่า 1,000 ตัน เป็นปีที่สามติดต่อกัน และการเข้าซื้อทองคำที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของธนาคารกลางในไตรมาสที่ 4 จำนวน 333 ตัน ได้ส่งผลให้ยอดรวมการซื้อทองคำของธนาคารกลางตลอดทั้งปีอยู่ที่ 1,045 ตัน
ด้านความต้องการทองคำเพื่อการลงทุนทั่วโลกนั้นได้เพิ่มขึ้นถึง 25% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 1,180 ตัน ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 4 ปี โดยได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของการลงทุนในกองทุนซื้อขายแลกเปลี่ยน (ETF) ทองคำแท่งสำหรับนักลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 ทั้งนี้กองทุน ETF ทองคำทั่วโลกได้เพิ่มปริมาณทองคำจำนวน 19 ตันในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 นับว่าเป็นกระแสการลงทุนในทิศทางไหลเข้าต่อเนื่องกันเป็นไตรมาสที่สองสำหรับสินทรัพย์ประเภทนี้ ขณะที่ความต้องการในทองคำแท่งและเหรียญทองคำทั่วโลกยังคงระดับใกล้เคียงกับปี 2566 อยู่ที่ปริมาณ 1,186 ตันสำหรับปี 2567 โดยประเทศไทยมีระดับความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำในไตรมาสที่ 4 จำนวน 14.6 ตัน เพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ทำให้ปริมาณความต้องการของประเทศไทยรวมตลอดทั้งปี 2567 อยู่ที่จำนวน 39.8 ตัน
เนื่องจากสภาวะราคาทองคำที่พุ่งสูง สภาทองคำโลกจึงมองว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อความต้องการทองคำเครื่องประดับนั้นเป็นแนวโน้มที่ไม่น่าแปลกใจ โดยปริมาณการบริโภคทองคำเครื่องประดับทั่วโลกสำหรับปี 2567 ได้ลดลง 11% อยู่ที่ระดับ 1,877 ตัน อย่างไรก็ตามความต้องการทองคำเครื่องประดับของไทยยังคงแข็งแกร่งและปรับลดลงเพียง 2% และมีความต้องการรายปีรวมเป็น 9.0 ตัน ทั้งนี้การลดลงของความต้องการทองคำเครื่องประดับทั่วโลกส่วนใหญ่นั้นมีที่มาจากประเทศจีน ซึ่งปรับลดลง 24% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่อินเดียยังมีปริมาณความต้องการที่แข็งแกร่งและลดลงเพียง 2% เท่านั้น ภายใต้สภาวะของราคาทองคำที่ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์
นายเซาไก ฟาน (Shaokai Fan) หัวหน้าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมประเทศจีน) และหัวหน้าฝ่ายธนาคารกลางระดับโลก ของสภาทองคำโลก กล่าวว่า “ราคาทองคำที่สูงต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2567 นั้นถือว่าเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับผู้บริโภคในตลาดกลุ่มประเทศอาเซียน อย่างไรก็ตามประเทศไทยนับว่ามีความแข็งแกร่งกว่าตลาดอื่น ๆ โดยมีปริมาณการบริโภคทองคำเครื่องประดับของไทยลดลงเพียง 2% ขณะที่ทั่วโลกได้ปรับลดลง 11% เราเชื่อว่าส่วนหนึ่งมาจากเศรษฐกิจภายในประเทศที่ได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งช่วยจำกัดระดับการปรับตัวลดลงของปริมาณความต้องการทองคำเครื่องประดับได้”
คุณเซาไก ฟาน กล่าวเสริมว่า “ปีที่ผ่านมานับว่าเป็นปีที่ความต้องการลงทุนในทองคำแท่งและเหรียญทองคำของประเทศไทยแข็งแกร่งมาก และสูงเป็นอันดับที่ 7 ของโลก โดยคนไทยได้มองว่าทองคำเป็นสินทรัพย์เชิงกลยุทธ์ที่ทั้งสามารถสร้างผลตอบแทนในระยะยาว และช่วยลดผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและตลาดหุ้นในประเทศได้ นอกจากนี้การเติบโตของแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อการออมทองคำในรูปแบบดิจิทัล ยังได้ช่วยสนับสนุนให้ความต้องการทองคำของประเทศไทยนั้นแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง”
สภาทองคำโลกยังได้ระบุว่า ทองคำในภาคเทคโนโลยีได้ทำสถิติรายไตรมาสที่แข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 เป็นต้นมา โดยมีความต้องการจำนวน 84 ตัน การเติบโตของปริมาณทองคำที่ใช้ในเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และอิเล็กทรอนิกส์อย่างต่อเนื่อง ได้ทำให้ความต้องการทองคำในภาคเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า คิดเป็นปริมาณสุทธิรายปีรวม 326 ตัน
ด้านอุปทานทองคำทั่วโลกได้เพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบเป็นรายปี และทำระดับสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ที่ 4,794 ตัน จากทั้งการผลิตของเหมืองแร่และการรีไซเคิลทองคำที่เพิ่มสูงขึ้น
ด้านนายหลุยส์ สตรีท (Louise Street) นักวิเคราะห์การตลาดอาวุโส ของสภาทองคำโลก กล่าวว่า “ทองคำยังคงเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในปี 2567 โดยราคาทองคำได้ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 40 ครั้งในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามแนวโน้มความต้องการทองคำนั้นไม่ได้สม่ำเสมอตลอดทั้งปี 2567 โดยภาคธนาคารกลางมีความต้องการที่แข็งแกร่งในไตรมาสที่ 1 ก่อนจะชะลอตัวลงในช่วงกลางปี และกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งในช่วงไตรมาสที่ 4 ขณะที่นักลงทุนฝั่งตะวันตกได้หันกลับมาสนใจลงทุนในทองคำอีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งเมื่อรวมกับกระแสเงินทุนจากฝั่งเอเชียที่เพิ่มสูงขึ้น ได้ส่งผลให้กระแสการลงทุนในกองทุน ETF ทองคำทั่วโลกปรับทิศทางเป็นเชิงบวกในไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปี โดยความเคลื่อนไหวนี้มีที่มาจากการที่ธนาคารกลางหลายแห่งได้เริ่มต้นวัฏจักรการปรับลดอัตราดอกเบี้ย รวมถึงความไม่แน่นอนในระดับโลกที่เพิ่มสูงขึ้นจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐ และความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลาง”
คุณหลุยส์ สตรีท ได้กล่าวเสริมว่า “ในปี 2568 นี้ เราคาดว่าธนาคารกลางจะยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันตลาดทองคำต่อไป สนับสนุนด้วยนักลงทุนในกองทุน ETF ทองคำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากอัตราดอกเบี้ยปรับลดลง แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะยังมีความผันผวนก็ตาม ในทางกลับกันทองคำเครื่องประดับอาจยังคงชะลอตัวต่อไป เนื่องจากราคาทองคำที่สูงและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงตามไปด้วย ความไม่แน่นอนด้านภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจมหภาคนั้นน่าจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญของปี ซึ่งสภาวะนี้จะช่วยเสริมความต้องการทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ช่วยรักษามูลค่าและเป็นเครื่องมือลดผลกระทบจากความเสี่ยง"
(21 มี.ค. 68) ในปี 2024 เป็นปีที่ 3 ติดต่อกันที่การถือครองทองคำของธนาคารกลางทั่วโลกทะลุ 1,000 เมตริกตัน โดยเพิ่มขึ้นรวมกันกว่า 1,044.6 เมตริกตัน ตามรายงานล่าสุดของ สภาทองคำโลก (WGC) สะท้อนแนวโน้มการกระจายความเสี่ยง และลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่กำลังเผชิญความไม่แน่นอน
ธนาคารกลางหลายประเทศ โดยเฉพาะใน เอเชีย ตะวันออกกลาง และละตินอเมริกา หันมาเพิ่มทองคำสำรองเพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดการเงินโลก รวมถึงการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่ทำให้หลายชาติเริ่มมองหาทางเลือกอื่นนอกเหนือจากดอลลาร์สหรัฐ
“ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีความเสี่ยงจากคู่สัญญา (counterparty risk) และสามารถรักษามูลค่าได้ในระยะยาว ทำให้หลายประเทศใช้เป็นเครื่องมือกระจายความเสี่ยงของทุนสำรองระหว่างประเทศ” สภาทองคำโลก (WGC) ระบุ
ทั้งนี้ ปริมาณทองคำสำรองของธนาคารกลางเพิ่มขึ้นกว่า สองเท่า ระหว่างปี 2021 ถึง 2024 โดยสัดส่วนของทองคำในทุนสำรองเงินตราต่างประเทศทั่วโลกเพิ่มขึ้นจาก 12.9% ในปลายปี 2021 เป็น 15.3% ในสิ้นปี 2023 และแตะระดับ 18.4% ในปลายปี 2024
จากผลสำรวจของ WGC ในปี 2024 พบว่า 81% ของผู้บริหารธนาคารกลางทั่วโลกคาดการณ์ว่าปริมาณทองคำสำรองจะเพิ่มขึ้นในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดย WGC ระบุว่าแนวโน้มการซื้อทองคำของธนาคารกลางจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันความต้องการทองคำในปีนี้
สำหรับ 10 อันดับประเทศที่ถือครองทองคำมากที่สุดในโลก ประกอบด้วย
1. สหรัฐอเมริกา – ครองแชมป์อันดับ 1 ด้วยทองคำสำรอง 8,133.46 เมตริกตัน มากที่สุดในโลก และยังคงเป็นหนึ่งในเสาหลักของระบบการเงินระหว่างประเทศ
2. เยอรมนี – มีทองคำสำรอง 3,351.53 เมตริกตัน ถือเป็นประเทศที่มีทองคำมากที่สุดในยุโรป และมีการนำทองคำที่เคยฝากไว้ในต่างประเทศกลับคืนมาเพื่อเสริมความมั่นคงทางการเงิน
3. อิตาลี – อยู่ในอันดับ 3 ด้วยปริมาณทองคำ 2,451.84 เมตริกตัน ซึ่งธนาคารกลางของอิตาลียังคงถือครองไว้โดยไม่มีแผนขายออก
4. ฝรั่งเศส – ตามมาติด ๆ ในอันดับ 4 กับทองคำสำรอง 2,437 เมตริกตัน ซึ่งถูกเก็บรักษาเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ด้านเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ
5. รัสเซีย – รั้งอันดับ 5 ด้วยทองคำ 2,332.74 เมตริกตัน โดยรัสเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่เพิ่มทองคำสำรองอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพื่อลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ
6. จีน – มีทองคำสำรอง 2,279.56 เมตริกตัน โดยรัฐบาลจีนยังคงซื้อทองคำเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงและเสริมอำนาจทางเศรษฐกิจ
7. สวิตเซอร์แลนด์ – แม้จะเป็นประเทศขนาดเล็ก แต่มีทองคำสำรองถึง 1,039.94 เมตริกตัน ซึ่งสะท้อนถึงความสำคัญของทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย
8. อินเดีย – ถือครองทองคำ 876.18 เมตริกตัน โดยอินเดียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความต้องการทองคำสูงที่สุดในโลก เนื่องจากวัฒนธรรมและเศรษฐกิจที่ผูกพันกับทองคำ
9. ญี่ปุ่น – มีทองคำสำรอง 845.97 เมตริกตัน โดยธนาคารกลางญี่ปุ่นใช้ทองคำเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์รักษาเสถียรภาพทางการเงิน
10. เนเธอร์แลนด์ – ปิดท้าย 10 อันดับแรกด้วยทองคำสำรอง 612.45 เมตริกตัน โดยมีนโยบายเก็บรักษาทองคำในประเทศและทยอยนำทองคำที่เคยฝากไว้ในต่างประเทศกลับคืน
ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า แนวโน้มการสะสมทองคำจะดำเนินต่อไป โดยเฉพาะจากประเทศที่ต้องการลดการพึ่งพาระบบการเงินตะวันตก และป้องกันความเสี่ยงจากมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ
การเคลื่อนไหวนี้เป็นสัญญาณว่า โลกกำลังปรับโครงสร้างระบบการเงินระหว่างประเทศครั้งใหญ่ ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์
สหรัฐอเมริกา นำโด่งครองเบอร์ 1 ของโลก
ส่วนไทยรั้งที่ 23 ของโลก แต่เป็นอันดับ 9 ของเอเชีย