Tuesday, 22 April 2025
สนามบิน

‘เศรษฐา’ ตรวจความคืบหน้า สนามบิน ‘เพชรหัวหิน’  เตรียมเดินหน้าสู่ การเป็น ‘Aviation Hub-Tourism Hub’ 

(16 มิ.ย.67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ทวิตผ่าน X ว่า 

สนามบิน ‘เพชรหัวหิน’ คืบหน้าไปมาก เราเดินหน้าสู่การเป็น Aviation Hub และ Tourism Hub ครับ

ก่อนหน้านี้ผมเคยมาตรวจความพร้อม และเร่งรัดการขยายรันเวย์ที่นี่แล้วครั้งหนึ่ง วันนี้ใช้เวลาช่วงวันหยุดมาตรวจความพร้อมของที่นี่อีกครั้ง เพราะตอนนี้มีสายการบินพาณิชย์ของแอร์เอเชียเปิดให้บริการในเส้นทางบิน หัวหิน-เชียงใหม่ แล้ว วันละ 1 เที่ยวบิน ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวมากขึ้น

เพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ ถือเป็นประตูบานหนึ่งสู่การเป็น Aviation Hub และ Tourism Hub โดยทางสายการบินแอร์เอเซียพร้อมเปิดเส้นทางบินจากภูมิภาคอื่นทั้งอีสาน และใต้ มาลงที่นี่เพิ่มเติมด้วย ซึ่งผมได้กำชับท่านรัฐมนตรีสุริยะ และท่านปลัดคมนาคม ที่เดินทางมาตรวจสนามบินด้วยกันวันนี้ เร่งดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ให้บริการ และประสานกับสายการบินพาณิชย์ต่าง ๆ ที่พร้อมให้บริการในพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากสามารถเปิดเส้นทางบินเพิ่มได้ครับ

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่แล้วครั้งหนึ่งในช่วงการประชุมครม. สัญจรที่จังหวัดเพชรบุรี  และ จะมีการเปลี่ยนชื่อจากท่าอากาศยานหัวหินเป็นท่าอากาศยาน “เพชรหัวหิน”เพื่อรองรับและเชื่อมโยงการท่องเที่ยวระหว่างหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์กับจังหวัดเพชรบุรี   ขณะเดียวกันก็เตรียมที่จะขยายเส้นทางเพิ่มจากเดิมที่มีเพียงแค่หัวหินเชียงใหม่ ไปยังพื้นที่ภาคอีสานและภาคใต้และในอนาคตจะมีการเปิดเส้นทางเพิ่มจากหัวหินไปมาเลเซีย

‘ทีทีเอเอ’ เผย ‘ไทยเที่ยวนอก’ โตแผ่ว เหตุ!! เศรษฐกิจเงินฝืด สะเทือนกำลังซื้อ

(23 ต.ค. 67) นายเจริญ วังอนานนท์ นายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (ทีทีเอเอ) เล่าว่า แม้ภาพรวมตลาดคนไทย ‘เที่ยวต่างประเทศ’ ในเดือน ต.ค. จะมีจำนวนมากกว่าเดิม เนื่องจากตรงกับช่วงปิดภาคเรียน ผู้ปกครองนิยมพาบุตรหลานไปเที่ยวต่างประเทศเพื่อพักผ่อนและรับประสบการณ์ใหม่ๆ แต่ถ้าหากมองแนวโน้มช่วง ‘ไฮซีซัน’ นับจากนี้ไปจนถึงต้นปี 2568 อาจจะมีจำนวนไม่มากนัก! เพราะยังมี ‘ปัจจัยกดดัน’ จากภาวะเศรษฐกิจ คนส่วนใหญ่ยังคงระมัดระวังการใช้จ่าย กลุ่มที่ออกเดินทางตอนนี้คือกลุ่มที่มีศักยภาพใช้จ่ายสูง

สมาคมฯ ประเมินว่าตลาดไทยเที่ยวนอกปีนี้จะเพิ่มขึ้น 5-7% เทียบกับปีที่แล้ว แม้จะมีมาตรการวีซ่าฟรีในหลายประเทศ หนุนการเดินทางระหว่างกันง่ายขึ้น ทำให้การเติบโตเป็นไปตามคาด แต่จากการประชุมร่วมกับการท่องเที่ยวของจีน พบว่ายอดคนไทยไปจีนเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้มาก

หากประเมินภาพรวม 9 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.) จะเห็นเทรนด์การเดินทางช่วงต้นปีดีมาก แต่พอเข้ากลางปีตัวเลขกลับไม่ได้ดีขนาดนั้น มีปัจจัยกระทบทั้งภาวะเงินเฟ้อ เศรษฐกิจไม่ค่อยดี แม้ ‘เงินบาทแข็งค่า’ จะเอื้อต่อการจับจ่ายในต่างประเทศของคนไทยก็ตาม ก่อนที่สถานการณ์จะปรับตัวดีขึ้นในเดือน ต.ค. เนื่องจากนักท่องเที่ยวไทยส่วนใหญ่จองสินค้าและบริการล่วงหน้าไปแล้ว

จากภาพที่เห็นคนไทยในสนามบินหนาแน่น โดยเฉพาะส่วนขาออกไปเที่ยวต่างประเทศ ตรงนี้มองว่าเป็นเพราะสนามบินหลักๆ ในไทยไม่ได้ใหญ่มากขนาดนั้น พื้นที่มีจำกัด และการบินในเส้นทางเดียวกัน ช่วงเวลาเดียวกัน ทำให้ผู้โดยสารที่ไปสนามบินเวลาชนกัน สะท้อนเป็นภาพความหนาแน่นออกมา

สำหรับตลอดปี 2567 คาดว่าจะมีคนไทยไปเที่ยวต่างประเทศราว 10 ล้านคน ยังไม่สามารถกลับไปเท่าจุดเดิมเมื่อปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด ซึ่งมีคนไทยไปเที่ยวต่างประเทศราว 12-13 ล้านคนได้ การกลับไปถึงจำนวนดังกล่าวยังต้องใช้เวลา เพราะมีปัจจัยแทรกซ้อนมาเป็นตัวฉุดรั้ง ทั้งปัญหาเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว เงินเฟ้อ สงครามในตะวันออกกลาง สร้างความกังวลเพิ่มขึ้นต่อการออกเดินทาง

ส่วนปัจจัยเงินบาทแข็งค่าไม่ได้สนับสนุนการเดินทางมากนัก เพราะค่าใช้จ่ายในการออกไปเที่ยวต่างประเทศก็ปรับขึ้นด้วย ต้นทุนการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นหมด ทั้งค่าโรงแรม ค่าอาหาร ค่ารถ เฉลี่ยต้นทุนการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 10-15%

“ในญี่ปุ่นที่เงินเยนอ่อนค่าลง แต่ยอดคนไทยก็เพิ่มขึ้นไม่ได้มากนัก เพราะต้นทุนค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวสูงขึ้นกว่าเดิมเฉลี่ย 15-20% ทำให้การเติบโตของตลาดไทยเที่ยวนอกไม่ได้หวือหวา มีปัจจัยรบกวน ทำให้คนเดินทางไม่ได้เพิ่มมากขึ้นเท่าที่ควร” นายกทีทีเอเอกล่าว

ด้านรายงานข่าวจาก ‘องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น’ (JNTO) ระบุว่า สถิติ ‘นักท่องเที่ยวไทย’ เดินทางเข้า ‘ญี่ปุ่น’ ในช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.) ของปี 2567 มีจำนวนสะสม 752,000 คน เพิ่มขึ้น 19.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ยังถือว่าติดลบ 13.4% หรือคิดเป็นการฟื้นตัว 86.6% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด

นักท่องเที่ยวไทยยังคงรั้งอันดับ 6 ของตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าญี่ปุ่นสูงสุด จากจำนวนสะสมรวม 26,880,200 คนในช่วง 9 เดือนแรก ซึ่งเติบโต 54.7% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และเติบโต 10.1% แซงช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยอันดับ 1 เกาหลีใต้ มีจำนวน 6,468,600 คน ส่วนอันดับ 2 จีน 5,247,500 คน อันดับ 3 ไต้หวัน 4,585,800 คน อันดับ 4 ฮ่องกง 1,972,000 คน และอันดับ 5 สหรัฐ 1,960,100 คน

คาดผู้โดยสารปี 67 แตะ 120 ล้าน AOT ยกระดับการให้บริการ นำระบบไบโอเมตริกมาใช้ทดแทนการเช็กอินใน 6 สนามบิน

(30 ต.ค. 67) นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ทอท. สร้างประสบการณ์การให้บริการท่าอากาศยานที่ทันสมัย นำระบบพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล (Automated Biometric Identification System: Biometric) ด้วยเทคโนโลยี Facial Recognition มาใช้ในการระบุตัวตนของผู้โดยสาร 

โดยพัฒนาและทดสอบระบบฯ ให้มีความพร้อมใช้งานเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบาย รวดเร็ว รวมทั้งช่วยลดระยะเวลาในการรอคิวของแต่ละจุดบริการภายในท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ ทอท. ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) และท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.) ซึ่งในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 เปิดให้ใช้งานสำหรับผู้โดยสารภายในประเทศ และในวันที่ 1 ธันวาคม 2567 พร้อมใช้งานสำหรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ผู้โดยสารจำเป็นต้องยินยอมให้ใช้ข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล

สำหรับผู้โดยสารที่ต้องการใช้งานระบบ Biometric สามารถลงทะเบียนใช้งานเมื่อมาเช็กอินที่สนามบินโดยมี 2 วิธี ได้แก่ 

1) เช็กอินที่เคาน์เตอร์เช็กอิน ผู้โดยสารแจ้งเจ้าหน้าที่สายการบินให้ลงทะเบียนใบหน้าในระบบBiometric ผ่านเครื่องตรวจบัตรโดยสาร (เครื่อง CUTE) โดยระบบฯ จะดำเนินการจัดเก็บข้อมูลใบหน้าและข้อมูลเอกสารการเดินทางของผู้โดยสารในรูปแบบของ Token ไว้ในระบบฯ 

2) เช็กอินที่เครื่องเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ (เครื่อง CUSS) โดยหลังจากเช็กอินเสร็จแล้ว ให้ผู้โดยสารเลือกสายการบินที่เดินทาง ต่อด้วยเลือก “Enrollment” จากนั้นสแกน barcode จากบัตรโดยสารขึ้นเครื่อง (Boarding Pass) เสียบหนังสือเดินทาง (Passport) หรือบัตรประชาชน และสแกนใบหน้าเป็นขั้นตอนสุดท้าย ถือเป็นการเสร็จสิ้นการลงทะเบียน ซึ่งระบบฯ จะดำเนินการจัดเก็บข้อมูลใบหน้าและข้อมูลเอกสารการเดินทางของผู้โดยสารในรูปแบบของ Token ไว้ในระบบฯ เช่นเดียวกัน ซึ่งเมื่อดำเนินการเรียบร้อยแล้วถือว่าผู้โดยสารได้ให้ความยินยอมให้ใช้ข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลแล้ว เมื่อผู้โดยสารจะโหลดกระเป๋าสัมภาระผ่านเครื่องรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (เครื่อง CUBD) ตลอดจนผ่านจุดตรวจค้น รวมทั้งขั้นตอนขึ้นเครื่อง ไม่ต้องแสดง Passport และ Boarding Pass อีกต่อไป ทั้งนี้ เป็นการยินยอมให้ใช้ข้อมูล Biometric สำหรับการเดินทางเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

นายกีรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ระบบ Biometric จะช่วยเพิ่มความสะดวกและรวดเร็วให้กับผู้โดยสารตั้งแต่การเช็กอินจนถึงการขึ้นเครื่อง โดยผู้โดยสารสามารถลงทะเบียนใบหน้าผ่านเครื่องเช็กอินและจุดบริการต่าง ๆ ทำให้ไม่จำเป็นต้องแสดงพาสปอร์ตและบัตรโดยสารในแต่ละจุดอีกต่อไป เนื่องจากระบบ Biometric สามารถรองรับและเชื่อมต่อกับระบบบริการผู้โดยสารขึ้นเครื่อง หรือ CUPPS (Common Use Passenger Processing System) ที่ ทอท. ได้ติดตั้งและใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ทั้ง 5 ระบบ ได้แก่ 

1) เครื่อง CUTE หรือเครื่องตรวจบัตรโดยสารซึ่งใช้งานโดยเจ้าหน้าที่สายการบิน 

2) เครื่อง CUSS หรือ เครื่องเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ 

3) เครื่อง CUBD หรือเครื่องรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ 

4) ระบบ PVS (Passenger Validation System) สำหรับตรวจสอบยืนยันตัวตนผู้โดยสาร 

5) ระบบ SBG (Self-Boarding Gate) หรือระบบประตูทางออกขึ้นเครื่อง ทำให้ข้อมูลต่าง ๆ ถูกเชื่อมโยงเข้าสู่เครือข่ายอย่างสมบูรณ์

นายกีรติ ได้กล่าวถึงปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ ทอท. ว่า ในปีงบประมาณ 2567 (ตุลาคม 2566 - กันยายน 2567) มีผู้โดยสารมาใช้บริการรวมกว่า 119.29 ล้านคน เพิ่มขึ้น 19.22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็น ผู้โดยสารระหว่างประเทศ 72.67 ล้านคน เพิ่มขึ้น 34.82% และผู้โดยสารภายในประเทศ 46.62 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.01% และมีเที่ยวบินรวม 732,690 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 14.5% แบ่งเป็น เที่ยวบินระหว่างประเทศ 416,190 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 29.63% และเที่ยวบินภายในประเทศ 316,500 เที่ยวบิน ลดลง 0.73% โดยเฉพาะที่ ทสภ. มีผู้โดยสาร 60 ล้านคน เพิ่มขึ้น 24.04% และมีเที่ยวบิน 346,680 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 17.88% ทดม. มีผู้โดยสาร 29.15 ล้านคน เพิ่มขึ้น 13.25% และมีเที่ยวบิน 197,250 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 11.47% ทชม. มีผู้โดยสาร 8.82 ล้านคน เพิ่มขึ้น 13.14% และมีเที่ยวบิน 57,780 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 9.68% ทชร. มีผู้โดยสาร 1.9 ล้านคน ลดลง 1.96% และมีเที่ยวบิน 12,260 เที่ยวบิน ลดลง 3.37% ทภก. มีผู้โดยสาร 16.40 ล้านคน เพิ่มขึ้น 25.94% และมีเที่ยวบิน 98,710 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 19.97% และ ทหญ. มีผู้โดยสาร 3.03 ล้านคน ลดลง 5.14% และมีเที่ยวบิน 19,730 เที่ยวบิน ลดลง 5.84% ทั้งนี้ มีผู้โดยสารแยกตามสัญชาติ 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน อินเดีย เกาหลีใต้ รัสเซีย และญี่ปุ่น

ทั้งนี้ จากข้อมูลการจัดสรรตารางบินฤดูหนาว 2024/2025 (W2024/2025) ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง มีเที่ยวบินได้รับการจัดสรรเวลารวม 370,239 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากฤดูหนาวในปีที่ผ่านมา (W2023/2024 ) 22.1% แบ่งเป็น เที่ยวบินระหว่างประเทศ 222,780 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 33.1% เที่ยวบินภายในประเทศ 147,459 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 8.5% มีแนวโน้มจำนวนผู้โดยสารรวมทั้งระหว่างประเทศและในประเทศเพิ่มขึ้น 23% และเส้นทางระหว่างประเทศที่มีผู้โดยสารเดินทางเข้าประเทศไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน มาเลเซีย อินเดีย สิงคโปร์ และฮ่องกง

สำหรับในปีงบประมาณ 2568 (ตุลาคม 2567 - กันยายน 2568) ทอท. คาดว่าจะผู้โดยสารมาใช้บริการท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง รวมกว่า 129.97 ล้านคน เพิ่มขึ้น 8.95% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็น ผู้โดยสารระหว่างประเทศ ประมาณ 78.61 ล้านคน เพิ่มขึ้น 8.17% และผู้โดยสารภายในประเทศ ประมาณ 51.36 ล้านคน เพิ่มขึ้น 10.18% ขณะที่คาดว่าจะมีเที่ยวบินรวมประมาณ 808,280 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 10.32% แบ่งเป็น เที่ยวบินระหว่างประเทศประมาณ 453,750 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 9.02% และเที่ยวบินภายในประเทศประมาณ 354,530 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 12.02% โดยเฉพาะที่ ทสภ. คาดว่าจะมีผู้โดยสารประมาณ 64.44 ล้านคน เพิ่มขึ้น 7.40% และมีเที่ยวบินประมาณ 376,820 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 8.69% ทดม. มีผู้โดยสารประมาณ 33.2 ล้านคน เพิ่มขึ้น 13.91% และมีเที่ยวบินประมาณ 223,200 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 13.00%

ทอท. มุ่งพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในท่าอากาศยานให้ทันสมัยทันต่อความต้องการของผู้ใช้บริการท่าอากาศยาน เพื่อสร้างประสบการณ์การเดินทางที่น่าประทับใจ ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ ทอท. ที่จะเป็นผู้ดำเนินการและจัดการท่าอากาศยานที่ดีระดับโลก

คิกออฟ 1 ธ.ค.!! สแกนใบหน้าขึ้นเครื่อง ทั้งในประเทศ-ระหว่างประเทศ ไม่ต้องโชว์พาสปอร์ต-บัตรโดยสาร

(28 พ.ย.67) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เปิดเผยว่า พร้อมให้บริการระบบพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล (Biometric) สำหรับผู้โดยสารทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2567 ที่สนามบินทั้ง 6 แห่งของ AOT ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ท่าอากาศยานดอนเมือง, ท่าอากาศยานเชียงใหม่, ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย, ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้โดยสาร โดยลดเวลาการใช้บริการที่แต่ละจุดบริการเหลือเพียง 1 นาที จากเดิมที่ใช้เวลา 3 นาที

ผู้โดยสารที่ต้องการใช้งานระบบ Biometric สามารถลงทะเบียนได้เมื่อเช็กอินที่สนามบินใน 2 วิธี คือ 
1. เช็กอินที่เคาน์เตอร์สายการบิน โดยแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ลงทะเบียนใบหน้าในระบบ Biometric ผ่านเครื่องตรวจบัตรโดยสาร ซึ่งระบบจะบันทึกข้อมูลใบหน้าและเอกสารการเดินทาง
2. เช็กอินที่เครื่องเช็กอินอัตโนมัติ (CUSS: Common Use Self Service) โดยเลือกสายการบินและยินยอมลงทะเบียนใบหน้าในระบบ (Consent Notice) แล้วดำเนินการเช็กอินจนได้รับบัตรโดยสารขึ้นเครื่อง (Boarding Pass) หลังจากนั้น ผู้โดยสารจะทำการสแกนบาร์โค้ดในบัตรโดยสารและทำการเสียบหนังสือเดินทางหรือบัตรประชาชน ก่อนสแกนใบหน้าเป็นขั้นตอนสุดท้ายในการลงทะเบียน

หลังจากเสร็จสิ้นการลงทะเบียน ผู้โดยสารสามารถโหลดกระเป๋าสัมภาระผ่านเครื่องรับกระเป๋าอัตโนมัติ (CUBD: Common Use Bag Drop) และผ่านจุดตรวจค้นต่างๆ โดยไม่ต้องแสดงพาสปอร์ตและบัตรโดยสารอีกต่อไป ข้อมูลผู้โดยสารที่ถูกบันทึกจะถูกลบทิ้งภายใน 48 ชั่วโมง ตามมาตรฐานความปลอดภัยและกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ของประเทศไทย

เตรียมเปิดสนามบินนานาชาติแห่งใหม่เดือนกรกฎาคมนี้ รับการท่องเที่ยวและธุรกิจเติบโต ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดในเอเชีย

(25 มี.ค. 68) กัมพูชาประกาศเตรียมเปิดสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยจะตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว หลังจากที่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเผชิญการแข่งขันที่ดุเดือดเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก

สนามบินแห่งใหม่ของพนมเปญ ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างเป็นทางการในชื่อ สนามบินนานาชาติเทโช เริ่มสร้างขึ้นในปี 2562 ครอบคลุมพื้นที่ 6,425 เอเคอร์ ตั้งอยู่ที่ชายแดนของจังหวัดกันดาลและตาแก้ว ห่างจากเมืองหลวงไปทางใต้ประมาณ 30 กิโลเมตร

ซึ่งเป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐบาลกัมพูชาและภาคเอกชน จะเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงการเดินทางทั้งในและต่างประเทศ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมาตรฐานระดับสากล คาดว่าจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้มากถึง 10 ล้านคนในปีแรกของการเปิดใช้งาน

โครงการนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาเศรษฐกิจของกัมพูชา ซึ่งต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการดึงดูดนักท่องเที่ยวและการลงทุนจากต่างชาติ ท่ามกลางการเติบโตที่รวดเร็วของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในประเทศไทย เวียดนาม และมาเลเซีย ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญในตลาดนี้

สถาปนิกของสนามบินแห่งนี้คือบริษัท Foster + Partners ของประเทศอังกฤษ โดยเว็บไซต์ของบริษัทระบุว่า “การออกแบบสะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกที่แข็งแกร่งของสถานที่ และตอบสนองต่อสภาพภูมิอากาศแบบเขตร้อน”

ส่วนอาคารเทอร์มินัลตั้งอยู่ใต้สิ่งที่เรียกว่าหลังคาทรงโค้งเดี่ยวที่เป็นโครงเหล็กน้ำหนักเบา พร้อมหน้าจอนวัตกรรมที่กรองแสงธรรมชาติและส่องสว่างให้กับพื้นที่เทอร์มินัลอันกว้างใหญ่

การก่อสร้างจะดำเนินการเป็น 3 ระยะ โดยในระยะแรกคาดว่าสนามบินจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 13 ล้านคนต่อปี และจะเพิ่มความจุเป็น 30 ล้านคนหลังปี 2030 และสูงสุด 50 ล้านคนในปี 2050

สนามบินแห่งนี้จะเป็นสนามบินหลักแห่งที่สองของกัมพูชาที่จะเปิดให้บริการภายในระยะเวลาสองปี โดยในปี 2023 สนามบินนานาชาติเสียมเรียบ-อังกอร์ ซึ่งได้รับเงินทุนจากจีนได้เริ่มเปิดให้บริการในจังหวัดเสียมเรียบทางตะวันตกเฉียงเหนือ ห่างจากนครวัดซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศซึ่งมีอายุกว่าหลายศตวรรษไปทางทิศตะวันออกประมาณ 40 กิโลเมตร 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การท่องเที่ยวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้แต่ละประเทศในภูมิภาคต่างพยายามลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน กัมพูชาหวังว่าการเปิดสนามบินแห่งใหม่จะช่วยเสริมสร้างการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศ

สนามบินแห่งนี้จะเปิดให้บริการในช่วงฤดูร้อนของปี 2024 ซึ่งเป็นช่วงที่การท่องเที่ยวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มฟื้นตัวหลังจากผลกระทบของการระบาดใหญ่ของ COVID-19 โดยคาดว่าการเดินทางทางอากาศจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในเสาหลักที่สนับสนุนเศรษฐกิจของกัมพูชา ตามข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยว กัมพูชาต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 6.7 ล้านคนในปี 2024 ซึ่งเพิ่มขึ้น 23% จากปี 2023

ทั้งนี้ รัฐบาลกัมพูชามั่นใจว่าโครงการสนามบินแห่งใหม่จะเป็นจุดเริ่มต้นในการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวในระยะยาว และจะช่วยให้ประเทศสามารถแข่งขันได้ในตลาดการท่องเที่ยวที่มีการแข่งขันสูงในภูมิภาคนี้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top