Wednesday, 23 April 2025
สถานการณ์น้ำ

“ประวิตร” เรียกประชุม สถานการณ์น้ำ สั่งเตรียมรับมือฤดูฝนภาคใต้ พร้อมเร่งวางแผนแก้ปัญหาน้ำเค็ม น้ำท่วมและน้ำแล้งซ้ำซาก

พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุม คณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 2/64 ณ ห้องประชุม สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เพื่อเตรียมรับมือฤดูฝนภาคใต้ รวมทั้งติดตามบริหารจัดการสถานการณ์ท่วมและน้ำแล้งในภาพรวม

โดยที่ประชุมรับทราบสถานการณ์สภาพอากาศ รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำปัจจุบัน ในพื้นที่ลุ่มต่ำ แหล่งน้ำขนาดใหญ่ - กลาง และเขื่อนระบายน้ำ ซึ่งในภาพรวมยังสามารถควบคุม โดยมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่งที่ต้องเฝ้าระวัง สำหรับการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัยในพื้นที่สำคัญทั่วประเทศ ระหว่าง ต.ค.- ธ.ค.64 มีแนวโน้มลดลง เว้นภาคใต้ มีพื้นที่เสี่ยงเพิ่มขึ้นจากฤดูฝนที่กำลังมาถึง โดยมีโอกาสสูงในการเกิดพายุเคลื่อนผ่านภาคใต้ มีพื้นที่เสี่ยง 725 ตำบล 43,495 หมู่บ้านใน 16 จว. ทุกหน่วยงานได้เตรียมความพร้อมรับมือกับอุทกภัย โดยได้ขุดลอกคูคลอง กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ทำพนังกั้นน้ำและก่อสร้างทางระบายน้ำไปยังพื้นที่รับน้ำ เพื่อลดความเสี่ยงและความเสียหายที่จะเกิดขึ้น 

สำหรับการบริหารจัดการนำ้ฤดูแล้ง ได้พิจารณาวางแผนจากการคาดการณ์นำ้ต้นทุน ปริมาณการใช้น้ำและพื้นที่เสี่ยงน้ำแล้ง พบความเสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภคใน 5 จว. 9 อำเภอ 25 ตำบล มีพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำแล้งด้านการเกษตร นอกเขตชลประทาน  11 จว. ซึ่งอยู่ระหว่างเร่งกำหนดมาตรการรองรับ ทั้งการเก็บกักน้ำ จัดหาแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่เสี่ยง การเติมน้ำ การจัดสรรน้ำฤดูแล้ง การวางแผนเพาะปลูกพืช การเตรียมน้ำสำรองในพื้นที่ลุ่มต่ำ การเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ รวมทั้งการติดตามประเมินผล

ทั้งนี้พล.อ.ประวิตร  ได้กล่าวแสดงความห่วงใยถึงประชาชนที่ยังได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ทั่วประเทศ โดยกำชับ สทนช.บูรณาการทำงานร่วมกับทุกหน่วยงาน ยังคงต้องติดตามสถานการณ์สภาพอากาศที่อาจพัฒนาก่อตัวเป็นพายุซ้ำเติมพื้นที่น้ำท่วมเดิม พร้อมทั้งให้เร่งระบายน้ำในพื้นที่น้ำท่วมขังเข้าแหล่งน้ำขนาดใหญ่และลำน้ำสายหลักตามแผนและสถานการณ์  ทั้งนี้ให้นำจุลินทรีย์มาใช้ปรับปรุงคุณภาพน้ำในพื้นที่ท่วมขังนานและเกิดการเน่าเสียหวั่นกระทบสร้างปัญหาโรคระบาด  โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ ขอให้ทบทวนปรับปรุงและซักซ้อมแผนเผชิญเหตุร่วมกัน และให้ตรวจสอบระบบเตือนภัยให้สามารถแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าในพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงนำ้ท่วมที่เคยเกิดปัญหา เพื่อลดผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้น 

'สุริยะ' จี้!! ทุกหน่วยงาน ก.อุตฯ ติดตามสถานการณ์น้ำ หากกระทบ 'ธุรกิจ-ประชาชน' ในพื้นที่ท่วม ให้รุดช่วยทันที

'สุริยะ' สั่งการหน่วยงานกระทรวงอุตสาหกรรม ติดตามสถานการณ์ฝนตกหนัก เตรียมความพร้อมหากเกิดผลกระทบแก่ผู้ประกอบการ และประชาชนในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในกระทรวงอุตสาหกรรม ติดตามสถานการณ์ เตรียมมาตรการป้องกันน้ำท่วมผลกระทบความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่ผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย โดยให้เข้าช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหาย รวมทั้งให้เตรียมมาตรการต่าง ๆ รองรับในทุกสถานการณ์ ทั้งในส่วนของอุตสาหกรรมจังหวัดที่กำกับดูแลสถานประกอบการอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยที่ดูแลนิคมอุตสาหกรรมในนิคมฯ กรมโรงงานอุตสาหกรรมที่ดูแลเขตประกอบการอุตสาหกรรมทั่วประเทศ และรวมไปถึงธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย กองทุนเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ให้ดูแลสินเชื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม

‘นายกฯ’ เตรียม!! ลงใต้ 6 ธ.ค. นี้ เพื่อช่วยเหลือชาว ‘สงขลา – ปัตตานี’

(1 ธ.ค. 67) หลังเกิดกระแสดรามาในโซเชียลว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่ลงพื้นที่ไปช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมชายแดนภาคใต้ แต่กลับเดินกับครอบครัวอยู่ที่เชียงใหม่-เชียงราย ซึ่งเป็นช่วงที่มีการประชุม ครม.สัญจร ล่าสุด มีรายงานว่า นายกฯ มีกำหนดการเตรียมลงพื้นที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดสงขลา และจังหวัดปัตตานี เพื่อเยี่ยมให้กำลังใจติดตามสถานการณ์น้ำ และเร่งรัดการเยียวยา และฟื้นฟูพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ในสัปดาห์หน้า ซึ่งในวันจันทร์ที่ 2 ธ.ค.จะมีการประชุม ศปช.เพื่อวางกำหนดการ และจุดที่จะลงไปติดตามตรวจเยี่ยม โดยวางไว้เบื้องต้นว่านายกรัฐมนตรีจะลงพื้นที่ในวันศุกร์ที่ 6 ธ.ค.นี้

นายกฯ ได้สั่งการไปยัง นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกฯ ให้ประสานหน่วยงานต่างๆ เพื่อเร่งรัดให้การช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัย โดยเฉพาะจุดที่ขาดแคลนเครื่องมือ และได้ประสานกระทรวงกลาโหมให้ทหารเข้าไปช่วยเหลือประชาชน โดยต้องการให้เร่งรัดขั้นตอนการเยียวยาให้เกิดความรวดเร็ว ไม่ให้ประชาชนต้องรอนาน

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ตั้งใจจะลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ตั้งแต่เกิดน้ำท่วมในช่วงแรกแล้ว แต่ติดภารกิจการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่วางกำหนดการไว้ก่อนหน้าแล้ว และหากไปในช่วงสถานการณ์น้ำท่วมหนัก จะเป็นภาระแก่เจ้าหน้าที่ที่เข้าไปช่วยเหลือประชาชนต้องมาคอยต้อนรับ โดยตลอดช่วงที่เกิดสถานการณ์น้ำท่วม นายกฯได้ติดตามและสั่งการนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมกองทัพ ลงไปช่วยประชาชนอย่างเต็มที่ ล่าสุดรัฐบาลได้มีการสั่งเบิกงบภัยพิบัติให้กับพื้นที่ภาคใต้ เพื่อเร่งช่วยเหลือประชาชน

‘พีระพันธุ์’ กำชับ!! ‘ปตท. - กฟผ.’ ดูแลประชาชน แก้ปัญหาขาดแคลน ‘ก๊าซ - น้ำมัน’ ในพื้นที่น้ำท่วม

(1 ธ.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ ส่งผลให้มีพี่น้องประชาชนที่ประสบเหตุ และได้รับความเดือดร้อนมากถึง 130,000 กว่าครัวเรือน ซึ่งกระทรวงพลังงาน ได้รับรายงานการขาดแคลนเรื่องน้ำมัน และก๊าซ จึงได้ประสานงานให้ บมจ. ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก ซึ่งรับผิดชอบงานในส่วนนี้ เข้าไปประสานงานกับส่วนราชการในพื้นที่ โดยล่าสุด ได้รับรายงานว่าขณะนี้สามารถขนส่งน้ำมัน และก๊าซลงในพื้นที่ได้แล้ว

"ล่าสุดได้รับรายงานว่า ตอนนี้เริ่มขนส่งน้ำมัน และก๊าซไปได้แล้ว แต่ต้องเปลี่ยนเส้นทางลำเลียงขนส่งไปใช้ทางหลวงหมายเลข 42 ซึ่งดำเนินการได้ช้ากว่าปกติ เพราะระยะทางไกลขึ้น และถนนก็คดเคี้ยวมาก ทำให้เดินทางลำบาก และไม่สามารถทำเวลาได้ตามที่เคยดำเนินการอยู่ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาระยะหนึ่ง" นายพีระพันธุ์ กล่าวระบุ

สำหรับในเรื่องไฟฟ้า ได้กำชับให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตรวจสอบสถานการณ์เกี่ยวกับการผลิต และส่งไฟฟ้าไปยังพื้นที่ต่าง ๆ เหล่านี้ด้วย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top