Monday, 21 April 2025
สงครามโลกครั้งที่2

‘สเตฟาน บันเดรา’ กับกระแสนีโอนาซีในยูเครน ผู้ถูกกล่าวมีส่วนสังหารหมู่ชาวโปแลนด์และยิวช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

สเตฟาน บันเดรา (Stepan Bandera, 1909–1959) เป็นผู้นำของขบวนการชาตินิยมยูเครน (OUN – Organization of Ukrainian Nationalists) มีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องเอกราชของยูเครนจากสหภาพ โซเวียต ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาได้ร่วมมือกับฝ่ายอักษะ กลุ่มของเขา (OUN-B) ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงและการสังหารหมู่ชาวโปแลนด์และชาวยิวในโวลฮีเนีย (Volhynia) และกาลิเซีย (Galicia) ในช่วงปีค.ศ. 1943–1944

หลังการล่มสลายของจักรวรรดิรัสเซียในปี ค.ศ. 1917 ความพยายามสร้างรัฐชาติยูเครนเริ่มต้นขึ้น แต่ถูกรัฐโซเวียตควบรวมเข้าเป็นหนึ่งในสาธารณรัฐของสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ. 1922 การเรียกร้องเอกราชของยูเครนทำให้ยูเครนกลายเป็นกระแสต้านอำนาจของรัฐรัสเซีย-โซเวียต ในทศวรรษ 1930 การปราบปรามทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมโดยเฉพาะยุทธการกวาดล้างทางชนชั้นและความอดอยากครั้งใหญ่ (Holodomor) ได้ส่งผลต่อการตื่นตัวของแนวคิดชาตินิยมยูเครน

บันเดราได้เข้าร่วมกับองค์การชาตินิยมยูเครน (OUN) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อปลดปล่อยยูเครนจากการปกครองของทั้งโปแลนด์และโซเวียต โดยเน้นความรุนแรง การลอบสังหาร และการก่อกบฏในรูปแบบกองโจร ในปี ค.ศ. 1934 เขาถูกจับในโปแลนด์หลังการลอบสังหารรัฐมนตรีมหาดไทยของโปแลนด์แม้จะถูกจำคุกแต่เขายังคงได้รับความเคารพในหมู่ชาตินิยมยูเครน ในปีค.ศ. 1940 ขบวนการ OUN แบ่งออกเป็นสองฝ่าย: OUN-M นำโดยอันเดรย์ เมลนิก (Andriy Melnyk) และ OUN-B นำโดยสเตฟาน บันเดรา

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองกลุ่ม OUN-B (องค์การชาตินิยมยูเครน - ฝ่ายบันเดรา) ได้จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธของตนเองคือ กองทัพกบฏยูเครน «Українська повстанська армія, UPA» ขึ้นในปี ค.ศ. 1942 – 1943 โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างรัฐยูเครนอิสระภายใต้แนวคิดชาตินิยมสุดโต่ง หนึ่งในเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ของ UPA คือการขจัด 'ศัตรูภายใน' ได้แก่ ชาวโปแลนด์ ชาวยิวและชาวรัสเซียซึ่งถูกมองว่าเป็นอุปสรรคต่อการก่อตั้งรัฐชาติยูเครนที่ 'บริสุทธิ์ทางชาติพันธุ์' โดยชาวยิวถูกตราหน้าว่าเป็น 'ส่วนหนึ่งของคอมมิวนิสต์โซเวียต' และถูกกำจัดในฐานะศัตรูของรัฐยูเครนใหม่ ในช่วงเริ่มต้นของการยึดครองโดยนาซี (1941) สมาชิก OUN บางส่วนให้ความร่วมมือกับหน่วยสังหารของนาซี (Einsatzgruppen) ในการระบุตัวและข่มเหงชาวยิว ในช่วงปี ค.ศ. 1943 – 1944 กองกำลัง UPA ถูกกล่าวหาว่าดำเนินการ “การกวาดล้างชาติพันธุ์” (ethnic cleansing) ต่อชาวโปแลนด์ในภูมิภาคโวลฮีเนียและกาลิเซียซึ่งอยู่ภายใต้การยึดครองของนาซีเยอรมนีในเวลานั้น มีการจู่โจมหมู่บ้านชาวโปแลนด์กว่า 1,000 แห่ง รายงานจากทั้งฝั่งโปแลนด์และนักประวัติศาสตร์สากลระบุว่ามีชาวโปแลนด์เสียชีวิตราว 40,000 – 100,000 คน เหตุการณ์นี้ถูกเรียกว่า “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในโวลฮีเนีย” (Volhynian Genocide) โดยในปี ค.ศ. 2016 รัฐสภาโปแลนด์ลงมติประกาศว่าเหตุการณ์ในโวลฮีเนียเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยเจตนา

เมื่อเยอรมนีรุกรัสเซีย ในปี ค.ศ. 1941 บันเดราและ OUN-B ประกาศเอกราชของยูเครนในเมืองลวีฟ (Lviv) โดยหวังว่าเยอรมนีจะสนับสนุนรัฐยูเครนอิสระ แต่เมื่อฝ่ายนาซีไม่ยอมรับความเป็นเอกราชของยูเครนจึงทำให้บันเดราถูกจับโดยเกสตาโปและส่งไปยังค่ายกักกันซัคเซนเฮาเซน (Sachsenhausen) จนถึงปี ค.ศ.1944 แม้จะถูกกักขังแต่การกระทำของเขาถูกจดจำว่าเป็นก้าวที่กล้าหาญทางการเมืองในการประกาศเอกราชยูเครนอย่างเปิดเผย ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสงครามโลก

บันเดรานำเสนอแนวคิด “ยูเครนสำหรับชาวยูเครน” «Україна для українців» โดยเน้นการสร้างชาติผ่านการปลดปล่อยจากอำนาจโซเวียตและรัสเซีย การกำจัดอิทธิพลจากชาวยิวและโปแลนด์ การต่อสู้ด้วยกองกำลังกึ่งทหารและกองโจรในชนบทตะวันตก หลังถูกสังหารโดย KGB ในเยอรมนีตะวันตกในปี ค.ศ. 1959 ชื่อของสเตฟาน บันเดราได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการต้านโซเวียต โดยเฉพาะในยูเครนตะวันตก ซึ่งถือว่าเขาเป็น “นักสู้เพื่อเสรีภาพ” ขณะที่รัสเซียยังคงมองว่าเขาคือ “ผู้ทรยศและนาซี”

หลังเหตุการณ์ 'การปฏิวัติสีส้ม' (Orange Revolution) ในปีค.ศ. 2004–2005 ซึ่งนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ในยูเครน ประธานาธิบดีวิกเตอร์ ยูชเชนโกซึ่งมีจุดยืนในความเป็นชาตินิยมและความใกล้ชิดกับตะวันตกอย่างชัดเจน เขาได้ผลักดันแนวทางการฟื้นฟูประวัติศาสตร์ยูเครนผ่านมุมมองของชาตินิยมตะวันตก หนึ่งในนโยบายที่สำคัญคือการรื้อฟื้นบุคคลในประวัติศาสตร์ที่ต่อต้านจักรวรรดิรัสเซียและสหภาพโซเวียตให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของชาติยูเครน ในมุมมองของประธานาธิบดีวิกเตอร์ ยูชเชนโกบันเดราเป็น “นักสู้ผู้กล้าหาญเพื่ออิสรภาพของยูเครน” โดยไม่ให้ความสำคัญกับข้อครหาทางด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือกับนาซีหรือการใช้ความรุนแรงของ OUN-B

ในวันที่ 22 มกราคม ปีค.ศ. 2010 ซึ่งเป็นวันแห่งความสามัคคีของชาวยูเครน ประธานาธิบดีวิกเตอร์ ยูชเชนโกได้ลงนามใน คำสั่งประธานาธิบดีที่ 46/2010 «Указ Президента України № 46/2010» ยกย่องบันเดราเป็นวีรบุรุษแห่งยูเครน «Герой України» ซึ่งเป็นเกียรติสูงสุดที่มอบให้กับพลเมืองที่ทำคุณประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่ประเทศ

การประกาศยกย่องให้สเตฟาน บันเดราเป็นวีรบุรุษของชาติยูเครนนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองทั้งภายในและระหว่างประเทศกับรัสเซีย ในยูเครนตะวันตกโดยเฉพาะแคว้นลวิฟและอิวาโน-ฟรานคิฟส์ค ยกย่องบันเดราเป็น 'วีรบุรุษทางจิตวิญญาณ' เป็น 'วีรบุรุษ' แห่งการต่อสู้เพื่อเอกราช มีการตั้งอนุสรณ์สถาน รูปปั้น ถนน และโรงเรียนในชื่อของเขา ในทางตรงกันข้ามในยูเครนตะวันออกและใต้ซึ่งมีประชากรรัสเซียจำนวนมากตอบโต้ด้วยความไม่พอใจเห็นว่าเป็นการให้เกียรติแก่ 'ผู้ร่วมมือกับนาซี' ในขณะที่ชนกลุ่มน้อยชาวยิวและโปแลนด์ประท้วงต่อต้านอย่างรุนแรง โดยกล่าวถึงบทบาทของ OUN-B ในการสังหารหมู่พลเรือนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐสภายุโรปออกมาแสดงความ “เสียใจอย่างสุดซึ้ง” (deep regret) ต่อการยกย่องบันเดราของรัฐบาลยูเครน เนื่องจากอาจบั่นทอนกระบวนการสมานฉันท์และการยอมรับคุณค่าร่วมของยุโรป รัฐบาลรัสเซียออกมาประณามคำสั่งของยูเชนโกทันที โดยระบุว่าเป็น “การฟื้นฟูแนวคิดฟาสซิสต์ในยุโรปตะวันออก”ความขัดแย้งนี้กลายเป็น 'สนามรบทางประวัติศาสตร์' (memory war) ระหว่างยูเครนและรัสเซีย

หลังจากประธานาธิบดีวิกเตอร์ ยูชเชนโกพ่ายแพ้การเลือกตั้งและวิกเตอร์ ยานูโควิช ซึ่งมีจุดยืนฝักใฝ่รัสเซียขึ้นเป็นประธานาธิบดี คำสั่งที่ยกย่องบันเดราถูกศาลปกครองในเมืองโดเนตสค์ถูกเพิกถอนในปี ค.ศ. 2011 โดยระบุว่า “บันเดราไม่ใช่พลเมืองของยูเครน” (ตามกฎหมายว่าด้วยสถานะพลเมืองปี ค.ศ. 1991) จึงไม่มีสิทธิได้รับเกียรตินี้ อย่างไรก็ตามการยกย่องดังกล่าวยังคงมีผลในเชิงสัญลักษณ์ในหมู่ชาตินิยมยูเครนและยังเป็นหัวข้อสำคัญในการต่อสู้ทางความทรงจำ (memory politics) โดยกลุ่มขวาจัดหรือนีโอนาซีบางกลุ่มในยูเครน เช่น Azov Battalion หรือกลุ่ม Right Sector อ้างอิงและเชิดชูบันเดราในเชิงอุดมการณ์

การเชื่อมโยงทั้งหมดของรัฐยูเครนกับบันเดรานั้นเป็นการขยายผลเชิงโฆษณาชวนเชื่อของรัสเซีย โดยรัสเซียกล่าวหาว่ายูเครนเป็น 'รัฐนาซี' ทั้งที่ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกีนั้นเป็นชาวยิว รัสเซียใช้ บันเดราเป็นภาพแทนของ 'ความสุดโต่งของยูเครน' เพื่อให้การบุกยูเครนเป็น 'ภารกิจการต่อต้านนาซี' «денацификация Украины» สื่อรัสเซียอย่าง RT และ Sputnik รวมถึงนักคิดฝ่ายสนับสนุนรัฐ อย่างเช่น อเล็กซานเดอร์ ดูกิน (Aleksandr Dugin) ได้ใช้ภาพของบันเดราเป็นสัญลักษณ์ของ 'ภัยคุกคามฟาสซิสต์' โดยในสายตาของโปแลนด์ รัสเซีย และยิว บันเดราถูกมองว่าเป็น “พวกหัวรุนแรงทางชาติพันธุ์” ที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รัสเซียใช้คำว่า “บันเดรอฟซึ่ย” «бандеровцы» เป็นวาทกรรมหลักในการวาดภาพลักษณ์ของผู้นำและกองกำลังยูเครนว่าเป็นพวก “ฟาสซิสต์-นีโอนาซี”เป้าหมายคือ ลดทอนความชอบธรรมของรัฐบาลยูเครน โดยโยงกับประวัติศาสตร์ที่โหดร้ายของ OUN-B เห็นได้จากคำปราศรัยของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2024 ที่กล่าวว่า เราจะทำการดีนาซิฟิเคชันยูเครน «денацификация Украины»... เพื่อปกป้องผู้คนจากบันเดรอฟซี่และพวกนีโอนาซี...” สัญลักษณ์ของบันเดราถูกใช้เป็นข้ออ้างเชิงอุดมการณ์ว่า “ยูเครนไม่ใช่รัฐประชาธิปไตยแต่เป็นรัฐหัวรุนแรงที่เคารพบูชาผู้ร่วมมือกับนาซี”

​ในรัสเซียชื่อของ สเตฟาน บันเดรา (Stepan Bandera) ถูกนำมาใช้เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของความสุดโต่งและนีโอนาซีในยูเครนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการชี้นำและควบคุมความรับรู้ของประชาชนภายในประเทศ โดยเน้นไปที่ผู้สูงอายุที่มีความทรงจำเกี่ยวกับ "สงครามผู้รักชาติ" (Great Patriotic War) กับนาซีเยอรมนี​

การสร้างภาพศัตรูผ่านบันเดราของรัสเซีย โดยรัฐบาลและสื่อที่ควบคุมโดยรัฐได้ใช้ชื่อของบันเดราเพื่อเชื่อมโยงขบวนการชาตินิยมยูเครนกับนาซีเยอรมนี โดยเรียกผู้สนับสนุนยูเครนว่า "บันเดรอฟซี่" (Banderites) เพื่อสร้างความหวาดกลัวและความไม่ไว้วางใจต่อยูเครนในหมู่ประชาชนรัสเซีย ​โดยเน้นความทรงจำในสงครามโลกครั้งที่สองสำหรับผู้สูงอายุที่มีความทรงจำเกี่ยวกับสงครามกับนาซีเยอรมนี รัสเซียยังได้ใช้การเปรียบเทียบระหว่างบันเดรากับนาซีเพื่อกระตุ้นความรู้สึกชาตินิยมและความภาคภูมิใจในชัยชนะของสหภาพโซเวียตในสงครามครั้งนั้น ​รวมถึงการควบคุมสื่อและการเผยแพร่ข้อมูลโดยนำเสนอเนื้อหาที่เชื่อมโยงยูเครนกับนาซีและบันเดราอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างการรับรู้ที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ​

นอกจากนี้รัสเซียยังเชื่อมโยงยูเครนกับนาซีผ่านบันเดราเพื่อสร้างความชอบธรรมในการดำเนินการทางทหารของรัสเซียในยูเครน โดยอ้างว่ารัสเซียกำลังต่อสู้กับนีโอนาซีเพื่อปกป้องประชาชนช่วยกระตุ้นความรู้สึกชาตินิยมและความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของรัสเซีย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีความทรงจำเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่สอง

สรุป สเตฟาน บันเดรายังคงเป็นบุคคลที่มีภาพลักษณ์หลากหลายและเต็มไปด้วยความขัดแย้งในประวัติศาสตร์ยูเครนสมัยใหม่ สำหรับชาวยูเครนบางส่วนโดยเฉพาะกลุ่มชาตินิยม บันเดราคือวีรบุรุษผู้ต่อสู้เพื่อเอกราชจากสหภาพโซเวียต อย่างไรก็ตาม ในสายตาของชาวรัสเซียและประชาคมนานาชาติบางกลุ่มเขาถูกมองว่าเป็นผู้นำขบวนการหัวรุนแรงที่มีบทบาทในการร่วมมือกับนาซีและมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง รัสเซียใช้ชื่อของบันเดราเป็นสัญลักษณ์ของ "นีโอนาซีในยูเครน" เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการแทรกแซงทางทหาร โดยเฉพาะในการอ้างว่าการ "ลดทอนลัทธินาซี" «денацификация» เป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของปฏิบัติการทางทหารในยูเครน กระบวนการนี้ไม่เพียงแต่สะท้อนยุทธศาสตร์ด้านข้อมูลของเครมลินเท่านั้น หากแต่ยังชี้ให้เห็นถึงการใช้ประวัติศาสตร์และสัญลักษณ์ทางชาติพันธุ์-การเมืองเพื่อควบคุมการรับรู้ของประชาชนทั้งในและนอกประเทศ ในบริบทของสงครามรัสเซีย–ยูเครนการถกเถียงเกี่ยวกับตัวตนและบทบาทของบันเดราจึงไม่ได้เป็นเพียงการต่อสู้ทางประวัติศาสตร์เท่านั้น หากแต่กลายเป็นสงครามแห่งการเล่าเรื่อง (narrative war) ที่มีเดิมพันคือความชอบธรรมของรัฐชาติ และการกำหนดภาพลักษณ์ของศัตรูในสายตาสาธารณะ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top