Sunday, 11 May 2025
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

'ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน' รับรางวัล 'อัลบี อวอร์ด'  หลังช่วยผู้ถูกดำเนินคดีเรียกร้องประชาธิปไตยในไทย

เมื่อไม่นานมานี้ มูลนิธิคลูนีย์เพื่อความยุติธรรม (Clooney Foundation for Justice - CFJ) มอบรางวัล ‘อัลบี อวอร์ด’ สาขาผู้ปกป้องประชาธิปไตย ให้แก่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จากการช่วยเหลือผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองจากการแสดงออกและเรียกร้องประชาธิปไตยในไทย

ข้อมูลจากหน้าแถลงข่าวของมูลนิธิเมื่อ 14 สิงหาคม ระบุว่า ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (ศูนย์ทนายฯ) องค์กรภาคประชาสังคมในประเทศไทย ได้รับรางวัลเนื่องจาก “การคุ้มครองนักเรียน นักศึกษา นักกิจกรรมและสื่อมวลชนเป็นพันรายที่ถูกจับกุมภายใต้กฎหมายของไทย ที่ทำให้การชุมนุมและการพูดโดยสันติเป็นอาชญากรรม”

มูลนิธิ CFJ ที่ตั้งขึ้นโดยอามัล คลูนีย์ ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและจอร์จ คลูนีย์ ดาราดังชาวอเมริกันผู้เป็นสามี มอบรางวัลอัลบีเป็นปีที่สอง รางวัลดังกล่าวตั้งขึ้นตามชื่อของอัลบี แซกส์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่มีบทบาทในการทำให้การแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้สิ้นสุดลง โดยรางวัลอัลบีส์นั้นมีขึ้นเพื่อให้ความสำคัญแก่ผู้ที่เสี่ยงภัยและอุทิศชีวิตให้กับความยุติธรรม

อามัล และจอร์จ คลูนีย์กล่าวในแถลงการณ์ว่า “ผู้ปกป้องความยุติธรรมอย่างกล้าหาญทั่วโลก ต่างเผชิญกับภัยอันตรายอย่างใหญ่หลวงที่ไม่สามารถขจัดได้ภายในชั่วข้ามคืน แต่สิ่งที่พวกเราสามารถทำได้ นอกเหนือไปจากงานรายวันของมูลนิธิ ก็คือการฉายสปอตไลท์ไปยังภัยอันตรายที่บุคคลเหล่านี้กำลังพบเจอ เพื่อเพิ่มเดิมพันต่อตัวผู้คุกคาม”

นอกจากศูนย์ทนายฯ แล้ว ผู้ได้รับรางวัลอัลบีครั้งที่สอง ได้แก่ ดร.เดนิส มุคเวเก นรีแพทย์ที่มีบทบาทช่วยชีวิตเหยื่อ และหยุดยั้งการใช้การข่มขืนเป็นเครื่องมือในสงครามในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก นิลูฟาร์ ฮาเมดี และเอลาเฮ โมฮาเมดี นักข่าวอิหร่านที่เปิดเรื่องราวการเสียชีวิตของ มาห์ซา อะมินี ที่นำไปสู่การประท้วงใหญ่ในอิหร่านเมื่อปี 2022 องค์กร Truth Hounds ที่มีบทบาทในการเปิดเผยอาชญากรรมสงครามในยูเครนจากการรุกรานของรัสเซีย และองค์กร Syrian Center for Media and Freedom of Expression สำหรับการรณรงค์ด้านสิทธิและเสรีภาพในประเทศซีเรีย

ทั้งนี้ ศูนย์ทนายฯ ก่อตั้งขึ้นไม่กี่วันหลังผู้นำเหล่าทัพและฝ่ายความมั่นคง ใช้กำลังยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่นำโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในเดือนพฤษภาคม 2014 และมีการเรียกบุคคลไปรายงานตัว จับกุม คุมขัง และนำประชาชนขึ้นไต่สวนบนศาลทหาร โดยศูนย์ทนายฯ ทำหน้าที่บันทึกข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทย ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ได้รับผลกระทบ และเผยแพร่ความรู้เรื่องกฎหมายและการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

ข้อมูลจากศูนย์ทนายฯ บันทึกว่า นับตั้งแต่การชุมนุมที่เรียกร้องการปฏิรูปการเมืองและปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เมื่อปี 2020 จนถึงเดือนสิงหาคม 2023 มีประชาชนถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและแสดงความเห็นทางการเมืองแล้วอย่างน้อย 1,925 คน ในจำนวนดังกล่าวมี 257 คนที่ถูกดำเนินคดีโดยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

สำหรับกำหนดการรับรางวัลจะมีขึ้น ที่ห้องสมุดสาธารณะ นครนิวยอร์ก ในเดือนกันยายนนี้

‘ทนายดัง’ เผย ตร.นำหมายบุกจับเจ้าของเพจ ‘ประชาชนเบียร์’ พร้อมยึดสิ่งของ ขอแรง ปชช.ช่วยกันติดตามเรื่องอย่างใกล้ชิด

(6 ม.ค. 67) นายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม กรรมการบริษัท ไทย แบรนด์ ลอว์ จำกัด และทนายความ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘นรเศรษฐ์ นาหนองตูม’ ระบุว่า…

“ด่วน!!! เจ้าหน้าที่ตำรวจนำหมายค้นและหมายจับไปจับกุมตัวเจ้าของเพจ ประชาชนเบียร์ พร้อมตรวจยึดสิ่งของต่าง ๆ ช่วยกันติดตามครับ”

หลังจากการโพสต์ข้อความดังกล่าว ได้มีผู้ใช้เฟซบุ๊กจำนวนหนึ่งเข้ามาแสดงความคิดเห็นและสอบถามว่า เพจประชาชนเบียร์ทำผิดข้อหาอะไรจึงถูกจับ อย่างไรก็ตาม จนถึงเวลาประมาณ 13.15 น.ที่ผ่านมา ยังไม่มีความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด

ทั้งนี้ เพจ ‘ประชาชนเบียร์’ เป็นโซเชียลมีเดียของกลุ่มผู้ที่สนับสนุน ให้ผู้ประกอบการรายย่อยผลิตเบียร์และสุราได้โดยเสรี ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายของพรรคก้าวไกล โดยเมื่อวานที่ผ่านมา ทางเพจยังได้โพสต์ข้อความว่า “ต่อให้ไม่มีเบียร์ พวกเราก็ต้มกันเองได้นะจ๊ะ” ล้อเลียนกรณีดรามา ‘เบียร์ เดอะวอยซ์’ นักร้องสาวที่กำลังมีประเด็นอยู่ในสังคมออนไลน์ขณะนี้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top