Tuesday, 22 April 2025
ศาลปกครอง

เตรียมร้องต่อ! ศรีสุวรรณ จ่อยื่น ป.ป.ช. หลัง ศาลปค.เพชรบุรี สั่งเพิกถอนใบอนุญาตฟาร์มเลี้ยงไก่กำนันดังราชบุรี

เมื่อวันที่ 29 ก.ย. นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า ตามที่สมาคมฯ ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านในพื้นที่หมู่ 2, หมู่ 11, หมู่ 12 ต.รางบัว และหมู่ 10 ต.จอมบึง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ว่าได้รับความเดือดร้อน และเสียหายจากการที่นายก อบต.รางบัว และปศุสัตว์ราชบุรี ได้อนุญาตให้กำนันตำบลรางบัว และนายทุนทำฟาร์มเลี้ยงไก่ขนาดใหญ่ 2 ฟาร์มกว่า 1 แสนตัว ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนจากกลิ่นเหม็น น้ำเสีย และมีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรคไข้หวัดนก หรือเชื้อ H5N1 และเชื้อ H5N8 จนสมาคมฯ ต้องนำชาวบ้านไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพชรบุรีเมื่อ 29 พ.ย. 62 แล้วนั้น

บัดนี้ศาลปกครองเพชรบุรีได้มีคำพิพากษาออกมาแล้วเมื่อวันที่ 28 ก.ย. 64 ที่ผ่านมา โดยมีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ประเภทการเลี้ยงไก่ ลงวันที่ 11 ก.ย. 62 และใบอนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตฟาร์มของกำนันในพื้นที่ดังกล่าว ฉบับวันที่ 10 ก.ย. 63 ที่นายกอบต.รางบัว ออกให้เสีย โดยให้มีผลย้อนหลังนับแต่วันที่มีคำสั่งออกใบอนุญาตและคำสั่งต่ออายุใบอนุญาตโดยทันที

‘ศาลปกครอง’ สั่งเพิกถอน ‘ระเบียบกกต.’ ให้ผู้สมัคร สว.ติดประกาศแนะนำตัวออกสื่อได้

(24 พ.ค. 67) ที่ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาเพิกถอนระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 2567 ในส่วนข้อ 3 ข้อ 7 ทั้งฉบับแรก และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 8 เฉพาะฉบับแรกที่บังคับใช้ในช่วง 27 เม.ย. 67 - 15 พ.ค. 67 และข้อ 11 (2) และ (3) โดยให้ผลย้อนหลังนับตั้งแต่ระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้ทั้งสองฉบับ ในคดีที่ นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการสำนักข่าวประชาไท ยื่นฟ้อง กกต. และคดีที่ นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และพวก รวม 6 ราย ยื่นฟ้อง กกต.และประธาน กกต.ร้องขอให้เพิกถอนระเบียบ กกต.ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 2567 เนื่องจากเห็นว่าระเบียบดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้ขาดการมีส่วนร่วมประชาชนตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้

โดยศาล ให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ให้ สว.เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยมีหน้าที่สำคัญหลายประการ และมีหน้าที่ให้ความเห็นชอบกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ และมีผลบังคับใช้กับทุกคนในราชอาณาจักรไทย ดังนั้น การทำหน้าที่ของ สว. ย่อมมีผลกระทบต่อประชาชนชาวไทย จึงควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ แม้ว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.2561 กำหนดให้ผู้สมัครคัดเลือกกันเอง ไม่ได้ให้ประชาชนมีสิทธิเลือก สว. แต่รัฐธรรมนูญได้มีการรับรองเสรีภาพของบุคคลในการแสดงความคิดเห็นการพูด การเห็น การคิด การเขียน การโฆษณา การสื่อความหมายอื่น ๆ การที่ระเบียบ กกต. การที่ กกต.ออกระเบียบดังกล่าวด้วยการจำกัดข้อมูลประวัติและประสบการณ์ของผู้สมัคร รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้สมัคร สว. สามารถแนะนำตัวเฉพาะกับผู้สมัคร สว. ด้วยกันเท่านั้น และการห้ามผู้สมัครในสายอาชีพสื่อมวลชน และศิลปินนักแสดง ใช้ความสามารถในวิชาชีพของตัวเอง เพื่อประโยชน์ในการแนะนำนั้น จึงเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้สมัคร สว. เกินกว่าเหตุ และถือว่าไม่เป็นการรักษาความมั่นคงของรัฐ หรือความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล หรือเพื่อรักษาศีลธรรมอันดีของประชาชน ระเบียบพิพาทนี้จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ส่วนระเบียบข้อ 11 (5) ที่กำหนดห้ามผู้สมัครแนะนำตัวทางวิทยุโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง เคเบิลทีวี หรือสื่อสิ่งพิมพ์ รวมถึงการให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนนั้น ศาลเห็นว่าระเบียบข้อนี้เป็นการห้ามเฉพาะผู้สมัคร สว. ไม่ได้เป็นการห้ามสื่อมวลชน จึงไม่อาจมองว่าเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อในการนำเสนอข่าวสารแต่อย่างใด จึงพิพากษาให้เพิกถอนระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 2567 ในส่วนข้อ 3 ข้อ 7 ทั้งฉบับแรก และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 8 เฉพาะฉบับแรกที่บังคับใช้ในช่วง 27 เม.ย. 67 - 15 พ.ค. 67 และข้อ 11 (2) และ (3) โดยให้ผลย้อนหลังนับตั้งแต่ระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้ทั้งสองฉบับ 

‘ศรีสุวรรณ’ ยื่นศาลปกครองฟ้อง ‘ภูมิธรรม’ ฐานละเลยหน้าที่ ปมเปิดประมูลขายข้าว 10 ปี

(31 พ.ค.67) ที่ศาลปกครองกลาง นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เข้ายื่นศาลปกครองฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ องค์การคลังสินค้า (อคส.) และคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ฐานใช้อำนาจโดยมิชอบและละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา 9 (1)(2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 ในข้อหาดำเนินการประมูลขายข้าวเก่า 10 ปี ขัดต่อประกาศของกระทรวงสาธารณสุข และประกาศของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อพิจารณามีคำสั่งระงับหรือให้ อคส. กระทรวงพาณิชย์ หรือ นบข. สั่งทบทวนการจัดทำ TOR ประมูลขายข้าวเก่าดังกล่าวเสียใหม่ และเพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้บริโภคต่อไป และในการยื่นฟ้องในวันนี้ ได้ขอให้ศาลมีคำสั่งหรือกำหนดมาตรการอย่างใด ๆ เพื่อคุ้มครองชั่วคราวด้วยการสั่งระงับการยื่นซองและเปิดซองประมูลข้าวดังกล่าวที่จะมีขึ้นในเดือนมิ.ย.2567 นี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนไว้ก่อนด้วย

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า กรณีรัฐบาลมีนโยบายนำข้าวสารเก่ามีอายุ 10 ปี จากโครงการรับจำนำข้าวสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในโกดังจังหวัดสุรินทร์ทั้ง 2 โกดัง ปริมาณ 15,000 ตันออกมาประมูลขาย โดยไม่ให้ผู้เข้าร่วมประมูลตรวจสอบคุณภาพข้าวอีก ทั้งที่มีข้อมูลที่ขัดกันระหว่างนักวิชาการจากสถาบันวิชาการต่าง ๆ กับข้อมูลของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ขัดแย้งกัน เกี่ยวกับคุณภาพของข้าวเก่า 10 ปีจะนำมาบริโภคได้หรือไม่ ประชาชนไม่รู้ว่าจะเชื่อใคร

นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า มีนักวิชาการ และทางมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ออกมาบอกว่า ข้าวเก่าอายุ 10 ปี ไม่มีคุณค่าทางอาหาร รวมถึงมีความเสี่ยงในเรื่องของจุลินทรีย์ เชื้อโรค สารพิษ เพราะต้องมีการอบข้าว ๆ ทุก 6 เดือนอยู่แล้ว โดนอาจจะมีสารพิษเหล่านี้เจือปนอยู่ โดยรัฐบาลมีความพยายามแก้เกม โดยส่งตัวอย่างไปให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้พิสูจน์ แต่กรมวิทย์ฯ ได้พิสูจน์แล้วก็มีบางส่วนที่ระบุว่าข้าวมีการเจือปนของตัวมอด แมลง ต่าง ๆ ซึ่งไม่เหมาะกับการนำมาเป็นอาหาร เพียงแต่ว่าสารพิษต่าง ๆ ที่มีคนวิตกนั้นไม่เกินไปกว่าที่มาตรฐานกำหนด แต่ในทางวิชาการ การหยิบสุ่มตรวจข้าวไม่มีใครรู้ว่าสุ่มจากจุดไหนของกองข้าว หรือนำมาจากแหล่งใด เพราะกรมวิทย์ฯ อยู่ที่สำนักงานของตัวเอง เขาไม่ได้ไปสุ่มตรวจที่โกดังข้าว จึงเป็นข้อสงสัยอาจนำข้าวจากที่อื่นมาให้กรมวิทย์ฯ สุ่มตรวจก็ได้

“การที่รัฐบาลผลักดันให้มีการออกมาจำหน่ายข้าว เพื่อให้ข้าวโครงการรับจำนำข้าวเมื่อปี 2555-2556 หมดไปอาจจะเป็นประเด็นทางการเมืองมากกว่าคุณภาพชีวิตของประชาชน เพราะเงื่อนไขทีโออาร์ไม่มีข้อจำกัดให้ผู้ที่จะประมูลได้ดำเนินการนำข้าวดังกล่าวไปขาย หรือจำหน่ายให้กับประชาชนในประเทศ ซึ่งการส่งออกข้าวก็จะเป็นการดิสเครดิต คุณภาพ และชื่อเสียงของข้าวไทยที่สั่งสมมานำ 10 ปี 100 ปี” นายศรีสุวรรณ กล่าว

เมื่อถามว่าประชาชนยังไม่เชื่อมั่นผลการตรวจสอบสารปนเปื้อนข้าวของรัฐบาล ควรเปิดโอกาสให้แล็บเอกชน มาร่วมตรวจสอบได้หรือไม่นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า หากรัฐบาลมีความจริงใจต่อประชาชน ควรจะตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมา โดยเชิญนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาหรือแล็บทดสอบต่าง ๆ มาดำเนินการตรวจสอบคุณภาพเข้า โดยเริ่มตั้งแต่การไปสุ่มเก็บตัวอย่างให้เป็นไปตามหลักวิชาการ ในการสุ่มเก็บตัวอย่างกองข้าวทั้งด้านข้าง ด้านกลาง ด้านใน ต้องเก็บตัวอย่างให้ครบทุกพื้นที่ ไม่ใช่หยิบเอาตัวอย่างจากไหนมาก็ไม่รู้แล้วมาอ้างว่าเป็นข้าวมาจากโกดังข้าว ซึ่งประชาชนไม่มีใครสนใจแล้ววันนี้

‘คปภ.’ ชนะคดี ‘สินมั่นคงฯ’ ฟ้องเรียกค่าเสียหาย 4 หมื่นล.  กรณีสั่งห้ามยกเลิกกรมธรรม์ประกันโควิด ‘เจอ-จ่าย-จบ’

(18 มิ.ย.67) ศาลปกครองกลาง ได้นัดฟังคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 752/2565 กรณีบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ยื่นฟ้อง สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) เพื่อเรียกค่าเสียหาย 4 หมื่นล้านบาท โดยศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาให้สำนักงาน คปภ. เป็นฝ่ายชนะคดี ซึ่งคำพิพากษาดังกล่าวไม่เกินความคาดหมายของสำนักงาน คปภ. เนื่องจาก สำนักงาน คปภ. ออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ห้ามการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยโควิด เว้นแต่ปรากฏหลักฐานชัดเจนต่อบริษัทว่าผู้เอาประกันภัยได้กระทำการทุจริตหรือฉ้อฉลประกันภัย เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์จากการประกันภัย

โดยมูลเหตุสำคัญในการออกคำสั่งดังกล่าวมาจากในช่วงกลางปี 2564 สถานการณ์โควิด-19 ระบาดอย่างหนัก บริษัท สินมั่นคงประกันภัยฯ ซึ่งเป็นบริษัทประกันภัยที่ขายประกันภัยโควิดแบบเจอ-จ่าย-จบ หรือ COVID 2 in 1 นับ 1,000,000 ฉบับ ได้ส่งหนังสือถึงลูกค้าของบริษัทฯ โดยกล่าวอ้างเหตุของการบอกเลิกสัญญาสรุปได้ว่าเป็นผลสืบเนื่องจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้ผู้เอาประกันภัยของบริษัทฯ ได้รับความเดือดร้อนเสียหายในช่วงเวลาที่เกิดโรคระบาดอย่างรุนแรง เกิดความตื่นตระหนกแก่ผู้เอาประกันภัยของบริษัทอื่นและกรมธรรม์อื่นว่าจะถูกบอกเลิกกรมธรรม์หรือไม่ และทำให้เกิดกระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์ธุรกิจประกันภัยในแง่ลบ จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาไม่ให้ลุกลาม เพราะถ้าหากบริษัท สินมั่นคงประกันภัยฯ สามารถบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิดได้เป็นผลสำเร็จ ก็สุ่มเสี่ยงที่จะถูกนำไปเป็นโมเดลให้กับบริษัทประกันภัยรายอื่น ๆ สามารถบอกเลิกกรมธรรม์ในลักษณะเดียวกันนี้ได้เช่นกัน ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างกับประชาชนที่ถือกรมธรรม์ประกันภัยโควิดรายอื่นทั้งหมดด้วย

สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย รวมทั้งมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านประกันภัยให้กับประชาชนผู้เอาประกันภัย จึงได้อาศัยฐานอำนาจที่มีอยู่ออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ห้ามการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยโควิด เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนที่ถือกรมธรรม์ประกันภัยโควิด 19 ทั้งระบบจำนวน 16 ล้านฉบับ มูลค่าสินไหมทดแทนเกือบ 100,000 ล้านบาท ให้ได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยต่อไปจนกว่าจะหมดอายุกรมธรรม์ 

นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. เล็งเห็นว่าหากปล่อยให้มีการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ในขณะที่สถานการณ์โควิดรุนแรงและประชาชนหาซื้อประกันภัยโควิด-19 ไม่ได้ ก็จะเป็นการปล่อยปละละเลยให้บริษัทผู้รับประกันภัยใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและเอาเปรียบประชาชนจนถึงขั้นอาจถูกมองได้ว่าเป็นการลอยแพประชาชนไปตามยถากรรม เนื่องจากหากประชาชนรู้ว่าจะถูกยกเลิกกรมธรรม์เมื่อเกิดภัย ก็คงไม่มีใครซื้อประกันภัยอย่างแน่นอน 

ดังนั้น คำพิพากษาในคดีนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะถ้าหากสำนักงาน คปภ. เป็นฝ่ายแพ้คดี ก็อาจถูกนำไปใช้เป็นบรรทัดฐานใหม่ให้กับบริษัทผู้รับประกันภัยใช้เป็นแนวทางบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยประเภทอื่น ๆ หากเห็นว่ารับประกันภัยไปแล้ว แต่มีแนวโน้มที่บริษัทผู้รับประกันภัยจะต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนมาก บริษัทผู้รับประกันภัยอาจใช้เป็นเหตุในการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยได้แบบเหมาเข่งในทุกกรณี ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในสารบบของธุรกิจประกันภัยทั่วโลกมาก่อน และอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อระบบประกันภัยในภาพรวมทั้งหมด

สำนักงาน คปภ. ขอกราบขอบพระคุณศาลปกครองกลางที่ให้ความเป็นธรรมกับหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่กำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย รวมถึงคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนด้านการประกันภัย ให้ปฏิบัติตาม กฎ กติกา มีจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ และพร้อมที่จะดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะและรักษาความเชื่อมั่นของระบบประกันภัยไทยไว้อย่างสุดกำลังความสามารถ เพื่อให้ระบบประกันภัยไทยเป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จริง

‘ศรีสุวรรณ จรรยา’ เดินหน้าฟ้อง ‘กรมประมง-บิ๊กเอกชน’ ที่ศาลปกครองกลาง ชี้!! เป็น ‘อาชญากรรมด้านสิ่งแวดล้อม’ ทำชาวประมงเสียหาย หลายหมื่นล้าน

(29 ก.ค. 67) นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฎเป็นการทั่วไปว่ากรมประมง โดยคณะกรรมการ IBC อนุญาตให้บิ๊กเอกชนเพียงรายเดียวนำเข้าปลาหมอคางดำจากประเทศกานาเมื่อปี 53 แม้จะมีการอ้างว่าได้ทำลายหมดไปแล้ว แต่ทว่าปลาชนิดดังกล่าวกลับมาแพร่ระบาดทำลายสัตว์น้ำอย่างล้างผลาญไปทั่วกว่า 25 จังหวัด ชาวประมงเพาะเเลี้ยงสัตว์น้ำเสียหายรวมนับหมื่นล้านบาท โดยเฉพาะในพื้นที่อ่าวไทย-อันดามันในขณะนี้ ถือได้ว่าเป็น ‘อาชญากรรมด้านสิ่งแวดล้อม’ ที่ร้ายแรงที่สุดของชาติ กรมประมงรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ต้นแต่กลับไม่ดำเนินการเอาผิดบิ๊กนายทุนที่นำเข้าแต่อย่างใด แต่กลับนำเงินภาษีของประชาชนทั้งประเทศมาแก้ไขปัญหาตลอดมาหลายพันล้านบาทและจะยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่ละอาย

องค์การรักชาติ รักแผ่นดิน และชาวประมงที่เดือดร้อนและเสียหาย จึงไม่อาจปล่อยให้กรมประมงและบิ๊กนายทุนลอยนวลไปได้ จึงจะนำความไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อให้ศาลออกคำบังคับใช้กฎหมายให้เอาผิดบิ๊กเอกชนต้นเหตุของปัญหาและให้รับผิดชอบต่อความเสียหายของชาวประมงทั้ง 25 จังหวัด และสั่งให้ฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำที่สูญหายไปให้กลับมาดังเดิมต่อไป โดยจะไปยื่นฟ้องในวันอังคารที่ 30 ก.ค.67 เวลา 10.00 น. ณ ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ

ประธานศาลปกครองสูงสุด แถลงนโยบาย เน้นย้ำการบริหารจัดการคดีและบังคับคดีด้วยความเป็นธรรม รวดเร็ว พร้อมยกระดับการปฏิบัติงานด้วยเทคโนโลยี ก้าวสู่ศาลปกครองอิเล็กทรอนิกส์ที่สมบูรณ์

เมื่อวานนี้ (3 ต.ค.67) เวลา 09.30 น. นายประสิทธิ์ศักดิ์ มีลาภ ประธานศาลปกครองสูงสุด ได้แถลงนโยบายการบริหารงานศาลปกครอง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-2570 เพื่อให้ตุลาการศาลปกครอง ข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ตลอดจนบุคลากรของศาลปกครองและสำนักงานศาลปกครอง นำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติราชการณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 10 อาคารศาลปกครองถนนแจ้งวัฒนะ และถ่ายทอดสัญญาณผ่านระบบLive Streaming และระบบ Cisco WebexMeetings ให้แก่บุคลากรของศาลปกครองและสำนักงานศาลปกครองทั้งในส่วนกลางและในภูมิภาค ได้ร่วมรับฟังโดยพร้อมเพรียงกัน

ประธานศาลปกครองสูงสุดได้เน้นย้ำและให้ความสำคัญกับการอำนวยความยุติธรรมทางปกครองด้วยความเป็นธรรม รวดเร็ว ทันสมัย เพื่อเสริมสร้างธรรมาภิบาลในสังคม พร้อมทั้งขับเคลื่อนศาลปกครองเป็นระบบศาลอิเล็กทรอนิกส์ และมีมาตรฐานการบริหารจัดการคดีที่เป็นสากลจึงได้กำหนดนโยบายหลัก
ในการดำเนินงานของศาลปกครอง 

ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-2570 ดังนี้
1. บริหารจัดการคดีและบังคับคดีด้วยความเป็นธรรม รวดเร็ว โดยการเร่งรัดและติดตาม
การบริหารจัดการคดีให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายในแผนปฏิบัติราชการของสำนักงานศาลปกครอง
พ.ศ. 2566-2570 ในส่วนของการบริหารจัดการคดีค้างนั้น ตั้งเป้าหมายว่า เมื่อสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2570 จะไม่มีคดีค้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 ลงไป และคดีค้างของปี พ.ศ. 2565-2567 จะคงเหลือไม่เกินร้อยละ 25 ของคดีค้างทั้งหมด สำหรับกรณีคดีรับเข้าใหม่และคดีที่อยู่ระหว่างดำเนินการจะต้องพยายามบริหารจัดการคดีให้แล้วเสร็จในกรอบระยะเวลาตามประกาศศาลปกครอง เรื่อง กำหนดระยะเวลาดำเนินงานคดี
ในศาลปกครอง พ.ศ. 2566 

ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายดังกล่าว จะต้องเร่งรัดขั้นตอนการกลั่นกรอง
ร่างคำวินิจฉัยที่ค้างอยู่จำนวนมาก รวมถึงจัดทำแนวคำวินิจฉัยต้นแบบ เพื่อเป็นแนวทางในการเรียบเรียง
คำพิพากษาหรือคำสั่งได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมาตรฐานเดียวกัน พร้อมทั้งพัฒนา ปรับปรุงกฎหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการพิจารณาพิพากษาคดี

นอกจากนี้ จะต้องรณรงค์ให้ความรู้ประชาชนในการใช้ระบบงานคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์
พร้อมส่งเสริมให้บุคลากรศาลปกครองขับเคลื่อนการอำนวยความยุติธรรมทางปกครองโดยใช้ระบบงาน
คดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์อย่างสมบูรณ์ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการสัมมนาปัญหากฎหมายปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ให้บุคลากรศาลปกครอง ปฏิรูประบบงาน โดยการสนับสนุนให้วิเคราะห์ปัญหาที่ส่งผลต่อการพิจารณาคดีที่ล่าช้า และนำมาสู่
การกำหนดแนวทางแก้ไขที่ชัดเจน รวมถึงส่งเสริมให้ตุลาการศาลปกครองนำกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
ในคดีปกครองมาใช้ในการระงับข้อพิพาททางปกครอง และส่งเสริมความร่วมมือของคู่กรณีให้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย เพื่อยุติข้อพิพาทด้วยความเรียบง่าย รวดเร็ว 

รวมทั้งผลักดันการใช้ระบบไกล่เกลี่ย
ข้อพิพาทในคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้คดีเสร็จจากศาลโดยเร็ว และปรับปรุงกฎหมายและระเบียบ
ที่เกี่ยวข้องให้เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาระบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครอง ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนให้ศึกษาวิเคราะห์ผลการดำเนินการ ปัญหาอุปสรรค ข้อขัดข้องเกี่ยวกับรูปแบบของกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครองให้เหมาะสมกับประเภทและลักษณะของคดี

ในขณะเดียวกันก็จะพัฒนาระบบยุติธรรมสิ่งแวดล้อมของศาลปกครองที่ยั่งยืน เป็นธรรม โดยผลักดันการปรับปรุงพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ที่เกี่ยวข้องกับ
คดีปกครองด้านสิ่งแวดล้อม และยกระดับความรู้ของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมสิ่งแวดล้อม
ทั้งบุคลากรศาลปกครอง หน่วยงานทางปกครอง และเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งส่งเสริมระบบยุติธรรมสิ่งแวดล้อมของศาลปกครองให้มีมาตรฐาน

ในส่วนของการบังคับคดีปกครอง จะเร่งรัดการบังคับคดีปกครองให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลา และต้องนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบังคับคดี รวมทั้งส่งเสริมให้บุคลากรศาลปกครองใช้ระบบการบังคับคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนแก้ไข ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับวิธีพิจารณาคดีปกครองทางอิเล็กทรอนิกส์ชั้นบังคับคดี และศึกษาเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครองชั้นบังคับคดีด้วย

2. เสริมสร้างธรรมาภิบาลในสังคม โดยการส่งเสริมสนับสนุนการวิเคราะห์เหตุแห่งการฟ้องคดี เพื่อเสนอแนวปฏิบัติราชการที่ดีจากคำวินิจฉัยของศาลปกครอง เผยแพร่ต่อหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐให้แพร่หลายส่งเสริมให้ศูนย์การเรียนรู้ศาลปกครองออนไลน์(ALL Cloud) เป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้เกี่ยวกับหลักกฎหมายปกครองและแนวทางการปฏิบัติราชการที่ดีจากคำวินิจฉัยของ
ศาลปกครองเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงและเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา รวมถึงเสริมสร้างกลไกภาคประชาชนให้มีส่วนร่วมในการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของศาลปกครองในการอำนวยความยุติธรรมทางปกครอง เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างแพร่หลายและครอบคลุมทุกภาคส่วน

3. ส่งเสริมผลักดันระบบศาลปกครองอิเล็กทรอนิกส์ (e-Admincourt) ในประเด็นนี้เป็นเป้าหมายหลักที่สำคัญ โดยจะผลักดันให้นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยมาใช้ในการพัฒนาและยกระดับ
การปฏิบัติงานของศาลปกครองและขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นศาลปกครองอิเล็กทรอนิกส์
(e-Admincourt) ที่สมบูรณ์ ทั้งในส่วนของระบบที่สนับสนุนการให้บริการและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน (e-Service) ระบบการใช้งานของศาลปกครอง (e-Court) ตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการทั้งการไกล่เกลี่ย
ข้อพิพาท การพิจารณาพิพากษาคดี และการบังคับคดีปกครอง และระบบการใช้งานของสำนักงาน
ศาลปกครอง (e-Office) ให้มีความพร้อมสอดคล้องกัน 

นอกจากนี้ จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ระบบเครือข่าย การเชื่อมโยงข้อมูล และระบบความมั่นคงปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนในการใช้ระบบศาลปกครองอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงเพิ่มจำนวนห้องพิจารณา/ไต่สวนคดี
ทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Courtrooms) เพื่อรองรับปริมาณการใช้งานที่มากขึ้น เสริมสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลและใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ และเตรียมความพร้อมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อวางระบบและรากฐานของศาลปกครองที่จะก้าวสู่การเป็นศาลปกครองอัจฉริยะ (Smart Admincourt)ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2571-2575 ต่อไป

4. พัฒนาองค์กรให้ทันสมัย มีมาตรฐานในระดับสากล โดยการพัฒนาระบบวิธีการปฏิบัติงานของศาลปกครองและสำนักงานศาลปกครองให้มีความทันสมัย โปร่งใส และยึดหลักธรรมาภิบาล โดยผสานการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินงาน เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่สะดวก ถูกต้อง และรวดเร็ว
นอกจากนี้ จะเร่งรัดการก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลปกครองในภูมิภาค เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทางปกครองได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น 
ในด้านการพัฒนาบุคลากร 

ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนการขับเคลื่อนภาระงานต่าง ๆ ก็จะส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ และทักษะที่จำเป็นในการปฏิบัติงาน พร้อมทั้งปลูกฝังวัฒนธรรม
ศาลปกครอง (TRUST) ให้บุคลากรทุกคนสามารถดำรงตนได้อย่างเหมาะสม มีสุขภาพกาย สุขภาพใจที่ดี และมีคุณภาพชีวิตที่ดีในการทำงาน

สำหรับการพัฒนาองค์กรให้มีมาตรฐานในระดับสากล จะเสริมสร้างความร่วมมือทางการศาลและวิชาการกับองค์กรในประเทศและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ให้กับบุคลากรของศาลปกครองและเผยแพร่ภาพลักษณ์ที่ดีของศาลปกครอง รวมถึงสนับสนุนการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนามาตรฐานการบริหารจัดการคดีให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเป็นสากล

ท้ายนี้ ประธานศาลปกครองสูงสุดขอให้ความเชื่อมั่นว่า จะมุ่งมั่นและทุ่มเทในการนำพาศาลปกครองให้ไปสู่การบรรลุเป้าหมายสำคัญ นั่นคือศาลปกครองเป็นระบบศาลอิเล็กทรอนิกส์ และมีมาตรฐานการบริหารจัดการคดีที่เป็นสากล ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2570 โดยขอให้บุคลากรของศาลปกครองและสำนักงานศาลปกครองทุกคน ร่วมกันขับเคลื่อนงานของศาลปกครองตามนโยบายสำคัญข้างต้น
ให้ดำเนินไปอย่างราบรื่นและประสบความสำเร็จ เพื่อให้ศาลปกครองเป็นที่พึ่งของประชาชน และเป็นกำลังสำคัญในการสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคมไทยต่อไป

ศาลปกครอง มีคำสั่ง ค้างค่าปรับ ‘ใบสั่งจราจร’ ให้!! ต่อทะเบียนได้ พร้อมป้ายเสียภาษี ชี้!! ชำระภาษี เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวรถ แต่ทำผิดกฎจราจร เป็นเรื่องของบุคคล

(21 ธ.ค. 67) ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษา ตามคดีหมายเลขดำที่ 2120/2567 คดีหมายเลขแดงที่ 2682/2567 ลงวันที่ 18 ธ.ค.2567 เกี่ยวกับการต่อภาษีรถยนต์ ที่ค้างค่าปรับใบสั่ง ตามกฎหมายจราจร ระหว่าง นายอำนาจ ผู้ฟ้องคดี กับผู้ถูกฟ้องคดี ประกอบด้วย กรมการขนส่งทางบก ที่ 1 อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ที่ 2 สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 ที่ 3 ฝ่ายทะเบียนสำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 ที่ 4 นายทะเบียนตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ที่ 5 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 6 ผู้ถูกฟ้องคดี

เรื่องคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร และการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวว่าเกินสมควร

คดีนี้อธิบดีศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีโดยเร่งด่วนตาม ข้อ 49/2 วรรคหนึ่ง แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543

ตามฟ้องโจทก์ระบุว่า นายทะเบียน กรมการขนส่งทางบก ไม่ออกป้ายภาษีวงกลมให้ โดยส่งมอบแค่ใบเสร็จชำระค่าภาษีประจำปีแล้วประทับตรา ว่าใช้แทนเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีไม่เกิน 30 วัน ให้แทน พร้อมเอกสารที่ปรินต์จากเครื่องคอมพิวเตอร์ แสดงรายละเอียดข้อมูลการกระทำความผิดตามกฎหมายจราจร

โดยอ้างข้อตกลงที่ทำขึ้นระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กับกรมการขนส่งทางบก เพียงฝ่ายเดียว เป็นการละเลยและไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการของพระราชบัญญัติการจราจรทางบก ดังนั้นจึงไม่มีอำนาจในการชะลอการออก ป้ายภาษีวงกลม ให้กับเจ้าของรถที่ค้างชำระค่าปรับจราจร

“หลักการชำระภาษีรถเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวรถ แต่การทำผิดกฎจราจรเป็นเรื่องของบุคคล การนำ 2 เรื่องมาเชื่อมโยงกันจึงไม่ถูกต้อง เป็นการบังคับทางอ้อมให้เจ้าของรถต้องยินยอมชำระค่าปรับ” คำฟ้องตอนหนึ่งระบุ

ทั้งนี้ ศาลปกครองกลาง ยังสั่งให้ กรมการขนส่งทางบก จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีด้วย

“พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 ออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีรถประจำปี พ.ศ. 2568 ให้แก่ผู้ฟ้องคดี ทั้งนี้ภายในสามวันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นเงินจำนวน 3,151.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาซึ่งออกตามความในมาตรา 7 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้ไม่เกินอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตามคำขอของผู้ฟ้องคดี ทั้งนี้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด ยกฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 คืนค่าธรรมเนียมศาลบางส่วนตามส่วนของการชนะคดีให้แก่ผู้ฟ้องคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก” 

ท้ายคำพิพากษาระบุ

‘สมาคมนักบินไทย’ เตรียมยื่นศาลปกครอง 14 มี.ค.นี้ ขอให้คุ้มครองเพิกถอนมติ ‘นักบินต่างชาติบินในประเทศ’

(12 มี.ค. 68) สมาคมนักบินไทยยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง วันที่ 14 มี.ค.นี้ ขอคุ้มครองชั่วคราว เพิกถอนคำสั่งกระทรวงแรงงาน กรณีอนุญาตให้สายการบินใช้นักบินต่างชาติบินในประเทศ

จากกรณีที่ ครม.มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2567 อนุญาตให้สายการบินทำการจัดหาเครื่องบินแบบ Wet Lease (เช่าเครื่องบินพร้อมนักบิน) เป็นการชั่วคราวเป็นเวลา 1 ปี สิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2568 (ต่ออายุให้ครั้งละ 6 เดือน เป็นจำนวน 2 ครั้ง) ซึ่งในขณะนี้มีสายการบินไทยเวียตเจ็ท เพียงสายการบินเดียวที่ใช้สิทธินี้ ดังนั้นจะเห็นนักบินต่างชาติ สามารถทำการบินเส้นทางบินในประเทศได้

ล่าสุด กัปตัน ธีรวัจน์ อังคสกุลเกียรติ นายกสมาคมนักบินไทย กล่าวว่า ในวันที่ 14 มีนาคม 2568 นี้ สมาคมนักบินไทย เตรียมจะเดินทางไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง เพิกถอนคำสั่งประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่องการอนุญาตให้นักบินต่างด้าว(นักบินต่างชาติ) สามารถบินในประเทศได้ 

โดยสมาคมนักบินไทยจะยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง  เพื่อขอให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว กรณี กระทรวงแรงงานและคณะรัฐมนตรี อนุญาตให้นักบินต่างชาติสามารถเข้ามาปฏิบัติการบินในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราว ผ่านแนวทาง การเช่าเครื่องบินพร้อมลูกเรือ (Wet Lease) ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อนักบินไทยที่กำลังว่างงานเป็นจำนวนมาก

ทำไมสมาคมนักบินไทยต้องยื่นฟ้องศาลปกครอง กระทบต่ออาชีพนักบินไทย ปัจจุบันมีนักบินไทยจำนวนมากที่ยังว่างงานและพร้อมปฏิบัติการบิน แต่การเปิดช่องให้นักบินต่างชาติเข้ามาทำงาน อาจเป็นการลดโอกาสในการจ้างงานของนักบินไทย

ขัดต่อกฎหมายแรงงานไทย ตามประกาศกระทรวงแรงงาน งานควบคุมอากาศยานภายในประเทศถือเป็นอาชีพที่สงวนไว้สำหรับคนไทยเท่านั้น ยกเว้นกรณีบินระหว่างประเทศ

กระทบต่อมาตรฐานอุตสาหกรรมการบินไทยในระยะยาว หากปล่อยให้แนวทาง Wet Lease กลายเป็นแนวปฏิบัติปกติ อาจส่งผลให้สายการบินลดการลงทุนในการพัฒนานักบินไทย และกระทบต่อความมั่นคงของอุตสาหกรรมการบินของประเทศ

สมาคมนักบินไทยขอเรียกร้องให้ภาครัฐทบทวนมาตรการดังกล่าว และให้ความสำคัญกับนักบินไทยเป็นลำดับแรก

พวกเราขอยืนยันว่าจะดำเนินการเพื่อปกป้องสิทธิ์ของนักบินไทยทุกคน และขอแรงสนับสนุนจากสมาชิกและผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการบินให้ร่วมกันแสดงจุดยืนที่สมาคมนักบินไทยยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง ขอให้คุ้มครองชั่วคราว กรณีการอนุญาตให้นักบินต่างชาติปฏิบัติการบินภายในประเทศ 

กัปตัน ธีรวัจน์ กล่าวต่อว่า สำหรับข้อสังเกตเกี่ยวกับความถูกต้องของประกาศฉบับนี้

ข้อสังเกตที่ 1 การออกประกาศนี้ขัดกับหลักเกณฑ์ทางกฎหมายเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับ 2 กฎหมายหลัก ได้แก่
พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 

พระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497
ประกาศกระทรวงแรงงาน ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า ห้ามคนต่างด้าวขับขี่เครื่องบินภายในประเทศ ตาม มาตรา 7 ของพระราชกำหนดฯ

อย่างไรก็ตาม มาตรา 14 ของกฎหมายเดียวกันอนุญาตให้มีข้อยกเว้นได้เฉพาะ 3 กรณีเท่านั้น คือ

เพื่อรักษาความมั่นคงของประเทศ
เพื่อรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ
เพื่อป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ
กรณีนี้ แม้จะอ้างว่าเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว แต่ก็ไม่น่าจะเข้าข่าย “ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ” ในระดับที่กฎหมายกำหนด จึงไม่ควรสามารถใช้ มาตรา 14 เป็นเหตุผลในการออกข้อยกเว้น

ข้อสังเกตที่ 2: ขัดต่อกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ
กฎหมาย พระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 กำหนดชัดเจนว่า นักบินที่ปฏิบัติหน้าที่ต้องมีสัญชาติไทย โดยอ้างอิงจาก

มาตรา 44 ของพระราชบัญญัติฯ ซึ่งกำหนดว่าผู้ประจำหน้าที่ต้องมีสัญชาติไทย หากจะมีข้อยกเว้น ต้องได้รับการอนุมัติจาก ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ซึ่ง ยังไม่มีการออกประกาศยกเว้นใด ๆ

กรณีนี้ Wet Lease ถือว่านักบินเป็นผู้ประจำหน้าที่ ตามนิยามของพระราชบัญญัติการเดินอากาศ แต่กลับไม่มีการประกาศยกเว้นจาก CAAT ก่อน กระทรวงแรงงานและคณะรัฐมนตรีจึง ไม่มีอำนาจออกประกาศอนุญาตให้คนต่างด้าวปฏิบัติหน้าที่นักบินในประเทศ ถือเป็นการออกประกาศที่อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ทำให้สมาคมนักบินไทย ได้เข้ายื่นคำร้องต่อ ศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้มีคำสั่ง คุ้มครองชั่วคราว กรณี กระทรวงแรงงานและคณะรัฐมนตรี อนุญาตให้นักบินต่างชาติสามารถเข้ามาปฏิบัติการบินในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราว ผ่านแนวทาง การเช่าเครื่องบินพร้อมลูกเรือ (Wet Lease) ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อนักบินไทยที่กำลังว่างงานเป็นจำนวนมาก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top