Wednesday, 3 July 2024
วิษณุเครืองาม

‘วิษณุ’ ย้ำราชทัณฑ์ 3 เรื่องดูแล ‘ทักษิณ’ กลับไทย ชี้!! ขออภัยโทษยื่นได้ตั้งแต่วันแรกที่ถูกคุมขัง

(27 ก.ค. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาการ รมว.ยุติธรรม ให้สัมภาษณ์กรณีที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เปิดเผยกำหนดการการเดินทางกลับประเทศไทยของนายทักษิณ ในวันที่ 10 ส.ค.นี้  ว่า นายทักษิณ ก็ทวีตข้อความเรื่องนี้ สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อได้รับรู้แล้ว ก็ต้องเตรียมการแต่ยังเร็วไปที่จะบอกว่าเตรียมการไว้อย่างไร โดยจะต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานมาก่อน เพราะทั้งหมดก็เพิ่งรู้พร้อมกันเมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา ว่าจะกลับวันที่ 10 ส.ค. นี้ ทีแรกนึกว่าจะกลับมาในวันเกิดคือวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา ด้วยซ้ำไป และก่อนหน้านั้นก็มีข่าวลือว่าจะเป็นวันที่ 31 ก.ค. ตนก็เชื่อไปแล้ว แต่เมื่อมาได้ยินจากปากนายทักษิณ ก็เป็นไปตามนั้น

ผู้สื่อข่าวถามว่าการที่นายทักษิณกลับมา จะทำให้การเมืองคึกคักขึ้นหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ แต่รู้อย่างเดียวว่าต้องปรับการเตรียมตัว เพราะวันเปลี่ยนแปลงไป และกลัวว่าจะกลับมาวันที่ 31 ก.ค. ซึ่งเป็นวันหยุด ก็จะยุ่งยากในการปฏิบัติภารกิจหลายอย่าง เนื่องจากศาลปิดทำการ

ผู้สื่อข่าวถามว่าครอบครัวนายทักษิณ มีความเป็นห่วงเมื่อเดินทางกลับมาถึงประเทศไทย นายวิษณุ กล่าวว่า ได้กำชับกรมราชทัณฑ์ให้ดูแลใน 3 เรื่องเป็นพิเศษ คือ 
1.ความปลอดภัย ซึ่งตรงนี้จะทำให้นายทักษิณได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างจากคนอื่น เพราะนักโทษอื่น ไม่มีปัจจัยเสี่ยงตอนนี้ 

2.ให้มีความสะดวกตามสมควร แต่ไม่สะดวกมากจนเป็นอภิสิทธิ์ เนื่องจากจะมีคนเข้าเยี่ยม โดยคาดว่าจะมีองค์การระหว่างประเทศ สิทธิมนุษยชน และแฟนคลับ มวลชน จำนวนมาก

3.ให้มีความสบายตามสมควร เพราะอายุเกิน 70 ปี และป่วย ก็คงไม่เหมือนกับคนที่อายุ 25 หรือ 30 ปี

เมื่อถามว่าเมื่อนายทักษิณกลับมา แล้วมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ จะมีผลอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ ต้องถามนายกรัฐมนตรีคนใหม่

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะได้เห็นภาพนายทักษิณ ที่เดินทางมาถึงแล้วปรากฏตัวกับสื่อมวลชนหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ ขอเวลาให้ตนได้ตั้งตัวก่อน ตอนนี้ยังไม่รู้

เมื่อถามว่าหลังจากนายทักษิณเดินทางกลับมาแล้ว มีโอกาสจะขอพระราชทานอภัยโทษได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นสิทธิของผู้ต้องขังทุกคนอยู่แล้ว เพียงแต่มีเงื่อนไขคือต้องเป็นผู้ที่อยู่ระหว่างการรับโทษต้องถูกคุมขัง ทั้งนี้เมื่อเดินทางมาถึงแล้ว ก็ต้องไปรับหมายขังที่ศาลฎีกา แต่ไม่ใช่เป็นการไปฟังคำพิพากษาเพราะคดีจบไปแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่าคดีที่เหลือจะเป็นอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นไปตามขั้นตอน ส่วนคดีที่เหลือนั้น ตนไม่ทราบว่ามีกี่คดี แต่คดีที่ต้องคำพิพากษาไปแล้วนั้นมี 3 คดีที่ถึงที่สุด โดยคดี 1 จำคุก 2 ปี คดีที่ 2 จำคุก 3 ปี และคดีที่ 3 จำคุก 5 ปี รวมทั้งหมดจำคุก 10 ปี ส่วนที่เหลือมีคดีที่หมดอายุความไปแล้ว และมีคดีที่ยังไม่ฟ้อง แต่เป็นเรื่องเล็กน้อย เช่น หลบหนีออกนอกประเทศแล้วถูกฟ้อง ก็เป็นอีกข้อหาหนึ่ง แต่อาจจะฟ้องหรือไม่ฟ้องก็ได้ ถ้าจะฟ้องต้องฟ้องตอนที่ได้ตัวมา

เมื่อถามว่าการที่นายทักษิณอายุ 74 ปี มีสิทธิพิเศษมากกว่านักโทษทั่วไปหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า มี โดยเกณฑ์ที่กำหนดคือ 1. ผู้ที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป 2.คนป่วย จะมีสิทธิโอกาสพิเศษบางอย่าง ซึ่งตรงนี้มีเสมอเท่ากันหมด ส่วนที่มีคำถามว่าอายุ 70 ปีขึ้นไปแล้ว จะให้ไปทำงานที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์แทนนั้น เรื่องนี้แล้วแต่กรมราชทัณฑ์ ที่ปฏิบัติกับนักโทษมาเยอะแล้วคงไม่ยุ่งยากอะไร

เมื่อถามย้ำว่าคนที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปจะมีอะไรพิเศษกว่าจากนักโทษทั่วไป เช่น การอยู่ห้องพิเศษ หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า มีโอกาสได้ทั้งนั้น แต่ขอให้ฝ่ายราชทัณฑ์ได้เตรียมการและรายงานมาอีกครั้ง แต่จะไปกักอยู่บ้านไม่ได้ ถึงอย่างไรก็ต้องเข้าเรือนจำ

ต่อข้อถามว่าในเรือนจำมีห้องพิเศษแยกเดี่ยวด้วยหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า มี สมัยนายราเกซ สักเสนา และนายวิโรจน์ นวลแข ก็มีหลายคน แต่ไม่ยืนยันว่าในห้องพิเศษนั้นมีเครื่องปรับอากาศด้วยหรือไม่ เพราะไม่รู้ว่านอนห้องไหน เบอร์อะไร ทั้งนี้นักโทษทั่วไปก็สามารถไปอยู่ในห้องแอร์ได้โดยเข้าไปทำงานในห้องแอร์ ไม่ใช่นอนในห้องแอร์

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีกำหนดเวลาหรือไม่ว่าต้องถูกคุมขังเป็นจำนวนกี่วัน จึงจะขอพระราชทานอภัยโทษได้ นายวิษณุ กล่าวว่า ใน 24 ชั่วโมง ก็ทำได้ แต่ไม่ทราบว่าเขาจะขอหรือไม่ จะไปพูดแทนไม่ได้

เมื่อถามว่าขั้นตอนการขอพระราชทานอภัยโทษต้องเริ่มต้นอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า เมื่อเดินทางกลับมาเรียบร้อยแล้ว เข้าสู่ระบบ และเมื่อเขาพร้อม ก็ต้องเขียนฎีกาอธิบายค่อนข้างยืดยาว เพราะเมื่อยื่นไปแล้ว แต่ถ้าไม่มีโปรดเกล้าฯ ลงมา จะยื่นอีกไม่ได้ภายใน 2 ปี

เมื่อถามว่ามีเกณฑ์กำหนดหรือไม่ว่าต้องถูกคุมขังกี่วัน แล้วแฟนคลับจึงจะเข้าไปเยี่ยมในเรือนจำได้ นายวิษณุ กล่าวว่า ปกติเยี่ยมได้อยู่แล้ว โดยคนในครอบครัวสามารถเยี่ยมได้ตั้งแต่วันแรก ส่วนการจะไปรับจากสนามบินนั้น ไม่ใช่แค่คนในครอบครัว แต่สื่อมวลชนก็ไปรับได้ และเชื่อว่า สื่อมวลชนแฟนคลับ และมวลชน ก็มีเป็นธรรมดา แต่จะไปรับได้ถึงขนาดไหนนั้นไม่รู้ และไม่รู้ว่าอะไรทักษิณจะมาโดยสายการบินอะไร ลงที่ไหน รู้แค่ว่าเป็นสนามบินดอนเมือง แต่ในสนามบินดอนเมืองก็ยังมีท่าอากาศยานกองบิน 6 (บน.6) รวมถึงยังมีสายการบินพาณิชย์และเอ็มเจ็ต อย่างน้อยก็ตัดสนามบินสุวรรณภูมิออกไป 

‘วิษณุ’ ชี้ช่อง แก้รัฐธรรมนูญ ลดขั้นตอนทำประชามติเหลือ 2 ครั้ง แนะ เลือกแก้มาตราเฉพาะหน้า-เว้นเรื่องยุ่งยาก ช่วยลดงบประมาณ

(24  ก.ย. 66) นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า เรื่องนี้ตอบไม่ถูก ให้เขาคิดกันเองเอง เพราะว่ายุ่งยากซับซ้อน ข้อสำคัญจะใช้วิธีไหนก็ตามควรจะหลบหลีกการทำประชามติหลายครั้ง และเห็นด้วยกับแก้ไขเป็นรายมาตรา ทีละหลายๆมาตรา เพราะรัฐธรรมนูญห้ามไว้แต่เพียงว่า ในกรณีที่เป็นการแก้ไขหมวด 1 ทั่วไป  หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หมวด 15 เรื่องการแก้ไขอำนาจและหน้าที่ขององค์กรอิสระ และการแก้ไขคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามขององค์กรอิสระ โดยเรื่องเหล่านี้ เมื่อแก้ไขวาระ1 วาระ2 และ วาระ3 แล้วเสร็จ ก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต้องทำประชามติ

นายวิษณุ กล่าวว่า การแก้ไข ที่ควรทำคือ ถ้าต้องการแก้เกี่ยวกับองค์กรอิสระ และไปกระทบกับเรื่องอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระ ตรงนี้ต้องทำประชามติ เพราะฉะนั้นเก็บไว้ทำคราวหลังได้หรือไม่ ตอนนี้ถ้าอยากแก้ไปก่อนคือหมวด 3 เรื่องสิทธิเสรีภาพ ซึ่งประชาชนต้องการและ หมวด 4 หน้าที่ของรัฐ หมวด 5 หน้าที่ของปวงชนชาวไทย หมวด 6แนวนโยบายแห่งรัฐ หมวด 7 รัฐสภา ซึ่งแก้ได้ตามใจชอบไม่ต้องทำประชามติ หมวด 8 ครม. หมวด 9 ผลประโยชน์ขัดแย้งกัน หมวด10 เรื่องศาล หมวด 11 องค์กรอิสระ ซึ่งเรื่องเหล่านี้แก้ได้หมด แต่พอไปถึงองค์กรอิสระอำนาจหน้าที่ และคุณสมบัติต้องห้ามจะไปเจอเรื่องทำประชามติ อย่าเพิ่งไปทำ

เมื่อถามว่าการทำประชามติควรทำครั้งเดียวตอนแก้ไขเสร็จแล้ว ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ที่ต้องทำประชามติเพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 256 กำหนดไว้ ถ้าแก้มาตรา256 ว่าการแก้รัฐธรรมนูญไม่ต้องทำประชามติ ก็ไม่ต้องทำประชามติ แต่การจะแก้หนแรกในเรื่องมาตรา 256 ต้องทำประชามติหนึ่งครั้งก่อน จะลบล้างเรื่องประชามติไปได้

เมื่อถามย้ำว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ต้องทำประชามติ 3-4 ครั้ง หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวย้ำว่า ต้องแก้ไขมาตรา 256 เสียก่อน พอเสร็จวาระ 1-3 ก็นำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไปจะไม่ได้เจอเรื่องทำประชามติ แต่ถ้าแก้ตามแนวทางของรัฐบาลก็ต้องทำประชามติ  1.ต้องทำประชามติแก้ทั้งฉบับว่าเห็นด้วยหรือไม่ 2.ต้องตั้งส.ส.ร. และ 3. ถ้าตั้งส.ส.ร. ต้องไปทำประชามติทั้งประเทศอีก  ซึ่งการทำประชามติครั้งหนึ่งใช่งบประมาณ 3 พันล้านบาท ฉะนั้นก็แก้ที่มาตรา256  แต่การแก้มาตรา256 หากพูดกันไม่ดีเพราะอาจไม่ผ่าน เพราะต้องผ่านความเห็นของส.ว.หรือไม่ และเขาก็กลัวว่าจะไปแก้อะไรต่อมิอะไรกัน อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยการทำประชามติควรทำ2 ครั้งก็ยังดี คือต้องเริ่มแก้ไข และตอนจบที่จะไปประกาศใช้

พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง 'วิษณุ-อาคม' เป็นกรรมการกฤษฎีกา

เมื่อวานนี้ (7 พ.ย.66) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งกรรมการกฤษฎีกา โดยมีรายละเอียดว่า

ตามที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งกรรมการกฤษฎีกา จำนวน 136 ราย ตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค. 2565 ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 6 ก.ย. 2565 นั้น เนื่องจากนายนพนิธิ สุริยะ กรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 14 ถึงแก่อนิจกรรม และนายอุดม รัฐอมฤต กรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 6 ขอลาออกจากตำแหน่ง ประกอบกับตำแหน่งประธานกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 2 ได้ว่างลง

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงได้ดำเนินการคัดเลือกบุคคลที่สมควรเป็นกรรมการกฤษฎีกาเสนอต่อคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วยประธานกรรมการกฤษฎีกาแต่ละคณะ พิจารณาและมีมติเห็นชอบผู้ที่สมควรเป็นกรรมการกฤษฎีกาตามมาตรา 13/1 แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2551 จำนวน 2 ราย ดังนี้

1.นายวิษณุ เครืองาม
2.นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ

โดยให้ผู้ได้รับแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการกฤษฎีกาซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งต่อไปแล้ว

บัดนี้ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งบุคคลทั้ง 2 ราย ดังกล่าว ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการกฤษฎีกา ตั้งแต่วันที่ 30 ต.ค.2566

ประกาศ ณ วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

‘เกณิกา’ ใส่ชุดใหญ่ ‘รังสิมันต์ โรม’ พูดเอามัน ตีกินไปวันๆ ‘มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ’ ยัน!! รัฐบาลพร้อมบริหารประเทศ ใช้คนมีประสบการณ์ ย่อมเป็นประโยชน์แก่ ปชช.

(1 มิ.ย.67) น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการที่นายรังสิมันต์ โรม สส.พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ระบุถึงการที่ท่านนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน แต่งตั้งนายวิษณุ เครืองาม เป็นที่ปรึกษาของนายกฯ เพราะขาดมือกฎหมาย ไม่มีความพร้อมในการบริหารราชการแผ่นดิน ว่า ไม่เป็นความจริงเหมือนที่นายรังสิมันต์พูดอย่างแน่นอน รัฐบาลมีความพร้อมในการบริหารงานอย่างเต็มที่ นโยบายหลายเรื่องมีความคืบหน้าอย่างเห็นได้ชัด การทำงานร่วมกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล มีความเหนียวแน่นเป็นเอกภาพ ให้เกียรติซึ่งกันและกัน การที่ สส.ฝ่ายค้าน พูดเช่นนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจกับความพยายามดิสเครดิตรัฐบาล สร้างความสับสน บั่นทอนความเชื่อมั่น

น.ส.เกณิกากล่าวว่า การที่บอกว่านายกฯ และรัฐบาลไม่พร้อมบริหารประเทศนั้น คงเป็นความเข้าใจผิดของนายรังสิมันต์คนเดียว หรืออาจแกล้งไม่เข้าใจ เพราะมักจะพูดเอามัน ตีกินไปวันๆ ที่ผ่านมา พรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค ต่างเคยเป็นรัฐบาลบริหารประเทศมาแล้วทั้งสิ้น มีผลงานที่ประชาชนจับต้องได้ มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในแต่ละด้าน ถ้าไม่พร้อมคงไม่มีใครเสนอตัวลงสนามเลือกตั้งอยู่แล้ว นายกฯ เองก็มุ่งมั่นทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน

“ดิฉันเคารพบทบาทของนายรังสิมันต์ โรม แต่ก็อยากให้ใจกว้างเหมือนท่านนายกฯ เพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าไปได้ แม้จะรู้ว่าการแต่งตั้งนายวิษณุ จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมา แต่ท่านมองเรื่องบ้านเมืองเป็นหลัก การเอาคนที่มีประสบการณ์เข้ามาช่วยงานให้บ้านเมือง ย่อมเป็นประโยชน์กับประชาชนมากกว่าการคำนึงถึงแต่เรื่องการเมือง ดังนั้น การมัวแต่มานั่งจับผิดรัฐบาลใช้ปากทำงาน ชี้นิ้วไปมาอย่างเดียว คนจะมองว่ามือไม่พายเอาเท้าราน้ำ” น.ส.เกณิกากล่าว

‘นักกฎหมายอิสระ’ โต้ ‘เนติบริกร-กฤษฎีกา’ ตีความกฎหมายผิด ย้อนถาม!! ถ้ามี ตำรวจถูกจับกลางบ่อน ยังต้องรอการสอบสวนอีกไหม

เมื่อวานนี้ (21 มิ.ย.67) จากกรณี นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี แถลงผลการสอบสวน ของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีที่ปรากฏเป็นข่าวต่อสาธารณชนเกี่ยวกับความขัดแย้ง ในเรื่องคดีของบุคลากรภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. และพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.

นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยได้ระบุว่า 

ผมเกรงว่า อ.วิษณุ และ คณะกรรมการกฤษฎีกา อาจตีความกฎหมายผิดพลาดนะครับ

ข้ออ้าง อ.วิษณุ เรื่อง มาตรา 120 วรรคท้าย เป็นเรื่องกรณีวินัยทั่วไป ที่อาจต้องรอการสอบสวนชัด ๆ เห็นได้จาก มาตรา 120 วรรคสามเอง ยังบอกว่าถ้าผิดชัดไม่ต้องรอการสอบสวนก็ได้ 

ส่วนกรณี บิ๊กโจ๊ก เป็นกรณี มาตรา 131 ใช้กับกรณีร้ายแรงยิ่งกว่าวินัยทั่วไปหรือความผิดอาญา กฎหมายให้อำนาจ นายกฯ หรือ ผบ.ตร. ดำเนินการสั่งให้ตำรวจออกจากราชการไว้ก่อนได้ ไม่ต้องรอการสอบสวน

ถ้านายตำรวจถูกจับกลางบ่อนพร้อมยาเสพติด อ้างว่าเดินหลงเข้าไปพอดี ยังต้องรอการสอบสวนไหมครับ ?


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top