'ไซบีเรียที่กำลังลุกไหม้' วิกฤตไฟป่ารัสเซียทวีความรุนแรง ท่ามกลางภาวะสงครามและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาไฟป่าได้กลายเป็นวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงและต่อเนื่องในรัสเซีย โดยเฉพาะในภูมิภาคไซบีเรียที่มีพื้นที่ป่าอันกว้างใหญ่ ความรุนแรงของไฟป่าในปี ค.ศ. 2024 และต่อเนื่องถึงเดือนเมษายน ค.ศ. 2025 ได้จุดกระแสความวิตกกังวลทั้งในประเทศและในเวทีระหว่างประเทศ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางบริบทของสงครามรัสเซีย–ยูเครนที่ยังดำเนินอยู่ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้น ไฟป่าในไซบีเรียจึงมิใช่เพียงแค่ภัยธรรมชาติ หากแต่เป็นภาพสะท้อนของความเปราะบางในเชิงนโยบายรัฐ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมในยุคแห่งความไม่แน่นอน
ภูมิภาคไซบีเรียมีลักษณะเป็นพื้นที่ทุนธรรมชาติที่สำคัญของโลกโดยเฉพาะป่าทุนดราและไทกาซึ่งทำหน้าที่ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ แต่การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในภูมิภาคนี้เร็วกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึงสองเท่าส่งผลให้แหล่งพีตและดินเยือกแข็ง (permafrost) เริ่มละลายทำให้เชื้อไฟเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันฝุ่นควันจากไฟป่าได้แพร่กระจายไกลถึงแคนาดาและยุโรปส่งผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์และคุณภาพอากาศโลก
จากรายงานจากหน่วยงานควบคุมป่าไม้ของรัสเซีย «Рослесхоз» ระบุว่า ในช่วงเมษายน ค.ศ. 2025 พื้นที่ป่าที่ได้รับความเสียหายจากไฟมีมากกว่า 500,000 เฮกตาร์ในไซบีเรียตะวันออกและตะวันตก โดยเฉพาะในแคว้นครัสโนยาสค์ «Красноярский край» แคว้นอีร์คุตสค์ «Иркутск» สาธารณรัฐบูเรียทเทีย «Бурятия» และสาธารณรัฐซาฮาหรือยาคูเทีย «Республика Саха (Якутия)» สาเหตุหลักเกิดจากอุณหภูมิที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยและความแห้งแล้งยาวนาน ซึ่งเป็นผลจากภาวะโลกร้อน ทั้งนี้ไฟป่าไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ในไซบีเรีย แต่ขอบเขตของมันในช่วงหลังเริ่มมีลักษณะเรื้อรังและควบคุมได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ ไฟป่าส่วนใหญ่เกิดจากการเผาหญ้าในไร่ที่ควบคุมไม่ได้ ผนวกกับสภาพอากาศแห้งจัดและลมแรง ทำให้ไฟลุกลามรวดเร็ว หลายหมู่บ้านถูกตัดขาด การอพยพดำเนินได้อย่างจำกัดเพราะทรัพยากรฉุกเฉินไม่เพียงพอ
สาเหตุและปัจจัยที่ทำให้ไฟป่ามีความรุนแรงมาจาก 1) สภาพอากาศแห้งแล้งและอุณหภูมิสูงผิดปกติ: ภูมิภาคไซบีเรียเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างมากในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ทำให้พื้นดินแห้งและเป็นเชื้อเพลิงที่ดีสำหรับไฟป่า 2) ไฟซอมบี้ (Zombie Fires) หรือที่บางครั้งเรียกว่า “Holdover Fires” หรือ “Overwintering Fires” คือไฟป่าที่ยังคงคุกรุ่นอยู่ใต้ดินในชั้นพีต (peat) หรืออินทรียวัตถุในดินแม้ผ่านฤดูหนาวไปแล้วกลับมาปะทุอีกครั้งเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นในฤดูใบไม้ผลิหรือฤดูร้อนที่มีสภาพอากาศแห้งและมีเชื้อเพลิงเพิ่มเติม โดยแทบไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า ไฟเหล่านี้สามารถปะทุขึ้นมาอีกครั้งและลุกลามอย่างรวดเร็ว โดยคำว่า “ซอมบี้” ใช้อุปมาว่าไฟพวกนี้เหมือนซากที่ไม่ยอมตายแม้จะถูกฝัง (ด้วยหิมะหรือความเย็น) แต่ก็ยังคง “มีชีวิต” อยู่ในความมืดใต้พื้นดิน แล้วกลับมา “ลุกขึ้น” ใหม่อย่างเงียบเชียบและอันตราย โดยนักวิทยาศาสตร์จาก Copernicus Atmosphere Monitoring Service (CAMS) และ University of Alaska ได้ระบุว่าไฟซอมบี้อาจกลายเป็นปรากฏการณ์ประจำปีของไซบีเรีย 3) การขาดแคลนทรัพยากรในการดับไฟ: เนื่องจากรัสเซียมีการส่งทหารจำนวนมากไปยังแนวรบในยูเครน ทำให้กำลังพลและอุปกรณ์ในการควบคุมไฟป่ามีจำกัด ส่งผลให้การดับไฟเป็นไปอย่างล่าช้าและไม่ทั่วถึง
ภายใต้ยุคของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน การจัดการไฟป่ามีลักษณะเฉพาะ 3 ประการ
1) การรวมศูนย์อำนาจ (Centralization) นับตั้งแต่การปฏิรูปรัฐบาลภูมิภาคในช่วงต้นทศวรรษที่ 2000 ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินพยายามลดบทบาทของผู้ว่าการท้องถิ่น โดยให้รัฐบาลกลางควบคุมการแต่งตั้งบุคลากรเจ้าหน้าที่และทรัพยากร ส่งผลให้เมื่อเกิดไฟป่าหน่วยงานท้องถิ่นมีอำนาจจำกัดในการตอบสนองอย่างมีประสิทธิภาพ
2) การจัดการเชิงภาพลักษณ์ (Symbolic Leadership) ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินมักลงพื้นที่หรือมีการประชุมวิดีโอแสดงความห่วงใยทุกครั้งที่เกิดไฟป่าใหญ่ เช่น เหตุการณ์ในแคว้นครัสโนยาสค์ หรือยาคูเทีย แต่การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างไม่ตามมา ทำให้เกิดคำวิจารณ์ว่าภาวะผู้นำของปูตินเป็นเพียงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์
3) การโยนความรับผิดชอบ (Blame Deflection) รัฐบาลมักอ้างว่าสาเหตุของไฟป่ามาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ หรือ พฤติกรรมมนุษย์ โดยหลีกเลี่ยงการพูดถึงข้อจำกัดของกลไกรัฐ ในบางกรณีประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินออกมาตำหนิรัฐบาลท้องถิ่นและสั่งการผ่านสื่อโดยไม่มีกลไกสนับสนุนอย่างเป็นระบบ
ท่ามกลางภาวะสงครามงบประมาณรัฐจำนวนมากถูกเบนไปยังการทหาร ทำให้ขีดความสามารถในการรับมือกับภัยพิบัติธรรมชาติลดลงอย่างเห็นได้ชัด ข้อมูลจาก Greenpeace Russia ระบุว่าในปี ค.ศ. 2023 พื้นที่ไฟป่าในไซบีเรียเกิน 4 ล้านเฮกตาร์ ขณะที่รัฐสามารถควบคุมได้เพียงไม่ถึงครึ่ง เนื่องจากหน่วยงานดับเพลิงในบางพื้นที่ขาดงบประมาณและบุคลากรเนื่องจากทรัพยากรถูกเบนไปสนับสนุนการทำสงครามในยูเครน จากรายงานของสื่ออิสระ The Insider มีการเปิดเผยว่าเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์สำหรับดับเพลิงในบางภูมิภาคถูกปรับใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางทหารในยูเครน เจ้าหน้าที่ภาคสนามจำนวนมากถูกส่งไปเป็นทหารหรือขาดงบในการฝึกอบรม ส่งผลให้ไฟป่าหลายแห่งลุกลามโดยไม่มีหน่วยงานรัฐเข้าไปควบคุมได้ทันท่วงที ทำให้เจ้าหน้าที่ดับไฟในหลายภูมิภาคต้องทำงานภายใต้ทรัพยากรจำกัด ในขณะที่การสื่อสารกับสาธารณะเกี่ยวกับภัยไฟป่ากลับไม่โปร่งใส ระบบเตือนภัยและการสื่อสารชำรุดล้าสมัยไม่ได้รับการพัฒนา เนื่องจากงบประมาณด้านความมั่นคงเน้นที่การทหาร ทั้งนี้วิกฤตไฟป่าจึงสะท้อนความล้มเหลวของรัฐในการวางนโยบายสิ่งแวดล้อมและจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน สิ่งนี้ทำให้เกิดคำถามว่า “รัฐบาลของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินสามารถรักษาความมั่นคงภายในได้จริงหรือไม่ ขณะที่ประเทศกำลังสู้รบภายนอก?”
ไฟป่าในไซบีเรียมีผลกระทบของต่อความมั่นคงและทรัพยากรธรรมชาติเป็นอย่างมาก ไฟป่าได้เผาทำลายพื้นที่ป่าไทกา (Taiga) ซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่สำคัญของโลก นอกจากนี้ยังสร้างความเสียหายต่อแหล่งทรัพยากรธรรมชาติของรัสเซีย เช่น น้ำมัน แร่ และไม้ ซึ่งไซบีเรียมีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจพลังงาน ไฟป่าอาจกระทบต่อเส้นทางรถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย ซึ่งเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ในการเชื่อมระหว่างรัสเซีย จีน และเอเชียตะวันออกไฟป่ายังส่งผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่นที่พึ่งพาการทำป่าไม้ การล่าสัตว์ และการเกษตร ทั้งยังทำลายระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนและเครือข่ายไฟฟ้า ชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกลจำนวนมากต้องอพยพ โดยไม่มีการชดเชยหรือการดูแลอย่างเป็นระบบ ในระดับมหภาคเศรษฐกิจรัสเซียที่เผชิญการคว่ำบาตรจากตะวันตกอยู่แล้วยิ่งได้รับผลกระทบซ้ำจากภัยพิบัติดังกล่าว สถานการณ์นี้ยิ่งเลวร้ายลงในพื้นที่ที่มีความตึงเครียดเชิงชาติพันธุ์ เช่น แคว้นที่อยู่ทางด้านตะวันออกที่ประชากรเป็นชนกลุ่มน้อย
การปล่อยให้ไฟป่าลุกลามในพื้นที่กว้างโดยไม่สามารถควบคุมได้ อาจกลายเป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงในหลายระดับ ดังนี้
1) ความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อม: ไฟป่าทำลายระบบนิเวศ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก และเร่งให้เกิดภาวะโลกร้อน
2) ความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ: สร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมไม้ การเกษตร และสุขภาพของประชาชน
3) ความมั่นคงทางสังคมและการเมือง: ความไม่พอใจของประชาชนในภูมิภาคที่รู้สึกว่าไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐบาลกลาง โดยเฉพาะในบริบทของสงครามอาจจุดชนวนให้เกิดการต่อต้านหรือกระแสชาตินิยมระดับภูมิภาคได้
โดยดานิล เบซโซนอฟ «Даниил Безсонов» นักรัฐศาสตร์ชาวรัสเซียเคยชี้ว่า “ปัญหาสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติที่ไม่สามารถควบคุมได้นั้นเป็นเหมือนสัญญาณอ่อนแอ (weak signal) ที่บ่งบอกถึงการเสื่อมถอยของกลไกรัฐในระดับภูมิภาค” นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศหลายคนได้ออกมาเรียกร้องให้รัสเซียหันมาสนใจปัญหาภายในประเทศก่อน โดยเฉพาะเรื่องไฟป่าในไซบีเรีย ซึ่งหากปล่อยไว้โดยไม่จัดการอย่างจริงจัง อาจกลายเป็นมหันตภัยรุนแรงซ้ำรอยอดีตอีกครั้ง องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและประชาชนทั่วไปมีการเปิดคำร้องผ่านเว็บไซต์ change.org เรียกร้องให้ทางการจัดการไฟป่าอย่างจริงจัง ซึ่งล่าสุดมีการรวบรวมลายมือชื่อมากกว่า 800,000 คน
การจัดการไฟป่าที่ล้มเหลวกลายเป็นแหล่งความไม่พอใจในบางภูมิภาคของไซบีเรีย เช่น การประท้วงในยาคูเตียและคราสโนยาร์สค์ที่ประชาชนเรียกร้องให้รัฐบาลกลางสนับสนุนการดับไฟมากขึ้น รวมถึงการวิจารณ์จาก NGOs และสื่ออิสระที่ถูกจำกัดการนำเสนอข้อมูลโดยรัฐ องค์กร NGOs เช่น Greenpeace Russia ที่นำเสนอข้อมูลด้านลบถูกประกาศเป็น 'องค์กรต่างชาติ' (foreign agent)
การรับมือกับไฟป่าในไซบีเรียยังมีมิติเชิงภูมิรัฐศาสตร์ เนื่องจากฝุ่นควันจากไฟป่าได้เคลื่อนข้ามพรมแดน และรัสเซียเองก็เป็นภาคีในความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่การบริหารจัดการภายในประเทศกลับสวนทางกับพันธะสัญญานานาชาติ ทำให้ภาพลักษณ์ของรัสเซียในเวทีโลกเสื่อมถอยยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปัญหาไฟป่าในไซบีเรียกลายมาเป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจจากองค์กรสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ ซึ่งใช้เป็นหลักฐานวิพากษ์นโยบายรัฐรัสเซียที่ให้ความสำคัญกับสงครามมากกว่าการปกป้องสิ่งแวดล้อม โดยรัสเซียถูกกล่าวหาว่าละเลยพันธะในสนธิสัญญาด้านสภาพภูมิอากาศ เช่น ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) โดยเฉพาะเมื่อไฟป่าในไซบีเรียเป็นสาเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูงต่อเนื่องกันหลายปี
บทสรุป ไฟป่าในไซบีเรียคือวิกฤตซ้อนวิกฤตที่เชื่อมโยงกันระหว่างสงคราม การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และการบริหารจัดการของรัฐในระยะยาว หากไม่มีการปฏิรูประบบจัดการสิ่งแวดล้อมและคืนอำนาจแก่ท้องถิ่นในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ไฟป่าจะไม่เพียงเผาผลาญต้นไม้ แต่จะกัดกร่อนเสถียรภาพของรัฐและความมั่นคงในระยะยาวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พร้อมกันนั้นสถานการณ์นี้ยังสะท้อนถึงความลักลั่นในการจัดลำดับความสำคัญของรัฐบาลกลางที่ให้ความสำคัญกับสงครามภายนอกมากกว่าสวัสดิภาพของประชาชนภายใน หากรัฐไม่สามารถหาจุดสมดุลระหว่าง “ความมั่นคงทางทหาร” กับ “ความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อมและมนุษย์” ได้ในระยะยาว ปัญหาอย่างไฟป่าอาจกลายเป็นชนวนเรื้อรังที่คุกคามเสถียรภาพของรัสเซียจากภายในต่อไปในอนาคต
