Wednesday, 23 April 2025
วิกฤตฐานราก

'ดร.สุวินัย' เผย!! วิกฤตการณ์ฐานรากเมืองไทย 'กับดักหนี้-ขาดสภาพคล่อง' ทำศก.ไทยฟื้นตัวยาก

(5 ก.ค. 67) รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ ‘วิกฤตฐานราก, Balance Sheet Recession และกลุ่ม ALICE’ โดยระบุว่า…

‘วิกฤตฐานราก’, Balance Sheet Recession, The Lost Decades ฯลฯ... ตอนนี้เหล่านักเศรษฐศาสตร์ไทยกำลังพูดถึงเรื่องเดียวกัน

ถ้ามองภาพการเงินของเศรษฐกิจไทยขณะนี้ในรูปของ ‘งบดุล’ โดยที่ฝั่งซ้ายเป็นสินทรัพย์ ส่วนฝั่งขวาเป็นหนี้สิน

Balance Sheet Recession คือสภาพที่ฝั่งหนี้สูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ฝั่งสินทรัพย์มีมูลค่าลดลงเรื่อย ๆ ... สภาพเช่นนี้เป็น ‘กับดักหนี้’ ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวยากมาก

สภาพของครัวเรือนไทยจำนวนมากตอนนี้ กำลังตกลงอยู่ในกับดักหนี้สินที่มูลค่าหนี้รวมสูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ฝั่งทรัพย์สินมูลค่ากลับลดลงเรื่อย ๆ

ในสภาพ Balance Sheet Recession นโยบายการเงิน โดยเฉพาะการลดดอกเบี้ยไม่ใช่ทางออกในการแก้ปัญหากับดักหนี้ เพราะต่อให้ดอกเบี้ยถูกลง คนก็ไม่ค่อยกู้เพราะลำพังแค่หนี้เดิมก็อ่วมจะแย่อยู่เเล้ว ...ที่สำคัญแบงก์เองก็ไม่อยากปล่อยกู้ให้ครัวเรือนที่แบกหนี้หนักอยู่แล้ว

‘วิกฤติฐานราก’ รอบนี้จึงไม่เหมือน ‘วิกฤติต้มยำกุ้ง’ ในปี พ.ศ. 2540 ตรงที่รอบนั้นมันไปพังที่สถาบันการเงินเป็นหลัก กระทบกับคนรวยเป็นหลัก มันเจ็บหนักก็จริงแต่จบแค่นั้น

ส่วนครั้งนี้มันคือความฝืดเคืองขาดสภาพคล่องในวงกว้าง ในภาคครัวเรือนที่ต้องเติมรายได้เพื่อลดหนี้แก้หนี้ให้ได้ ว่าแต่ว่าหน้าตาตัวตนที่แท้จริงของครัวเรือนไทยจำนวนมากตอนนี้ เป็นอย่างไร?

คำตอบก็คือ ครัวเรือนไทยกลุ่มนี้ นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า ALICE หรือ Asset Limited, Income Constrained, Employed

การจำแนกตัวตนของกลุ่มชนชั้นกลางไทยที่วัดตามระดับรายได้

● ในปัจจุบัน การอยู่เหนือระดับเส้นความยากจน คือการมีรายได้ตั้งแต่เดือนละประมาณ 10,000 บาทขึ้นไป 

● ครัวเรือนที่มีระดับรายได้ต่อเดือนต่ำกว่าหมื่นนั้น จะอยู่แบบเดือนไม่ชนครึ่งเดือน คือมีรายจ่ายสูงถึง 147% ของรายได้

โดยที่ยอดจ่ายเงินกู้ตกอีกเดือนละ 29% รวมกันคือรายจ่าย 176% ของรายได้ แสดงว่าครัวเรือนกลุ่มนี้ต้องกู้มาโปะ 70%-80% ของรายได้ทบเข้าไปทุกเดือน

● ครัวเรือนที่มีรายได้เดือนละตั้งแต่ 1-2 หมื่นก็ไม่ได้ต่างกันนักคือ มีรายจ่าย 103% กับยอดจ่ายเงินกู้อีก 18% รวมมีค่าใช้จ่ายเป็น 121% ของรายได้ ครัวเรือนกลุ่มนี้ก็ต้องกู้มาโปะทุกเดือนเช่นกัน

● ครัวเรือนที่มีรายได้ 2-3 หมื่นต่อเดือน มีค่าใช้จ่ายกินอยู่บวกจ่ายเงินกู้ 112% ของรายได้

● ครัวเรือนที่มีรายได้ 3-5 หมื่นต่อเดือน มีค่าใช้จ่ายอยู่กินบวกจ่ายเงินกู้ 106% ของรายได้

● ครัวเรือนที่มีรายได้ 5 หมื่น - 1 แสนต่อเดือนถึงเริ่มจะมีรายได้เกินค่ากินอยู่จ่ายหนี้ อยู่ที่ 97% ของรายได้ คือมีรายได้ปริ่ม ๆ ไม่ต้องพึ่งเงินกู้มาโปะค่ากินอยู่ แต่แทบไม่มีเงินออม

● มีเฉพาะครัวเรือนกลุ่มรายได้เกินแสนบาทต่อเดือนเท่านั้นที่มีเหลือเก็บจริง ๆ คือมีค่ากินอยู่ อยู่ที่ 66% ของรายได้

● ซึ่งกลุ่มครัวเรือนชนชั้นกลาง ตั้งแต่ 1-5 หมื่น ที่รายได้พ้นเส้นความยากจน แต่มีไม่พอจะชนเดือนนั้น เขาเรียกคนกลุ่มนี้ว่า ALICE หรือ Asset Limited, Income Constrained, Employed

ซึ่งกลุ่ม ALICE นี้มีจำนวน 17.4 ล้านครัวเรือน คิดเป็นสัดส่วนถึง 72% ของประชากรประเทศไทย

สั้น ๆ มีผู้คนราว 3 ใน 4 ของประเทศนี้ ที่ต้องกู้มากินมาใช้เพิ่มขึ้นทุกเดือน เพียงเพื่อจะอยู่รอด 

หนี้ครัวเรือนในประเทศนี้จึงทะลุ 90% GDP มิหนำซ้ำในปัจจุบันสถาบันการเงินได้หยุดไม่ให้สินเชื่อกับ ALICE เพิ่มอีกแล้วด้วย

● เมื่อเอาภาพนี้ไปมองคู่กับสัดส่วนของ GDP ไทยและ สัดส่วนแรงงาน มันจะเห็นอะไรชัดขึ้น

กล่าวคือสัดส่วนของ GDP ไทยในตอนนี้คือ ภาคอสังหา 5%, เกษตร 9%, พาณิชย์ 16%, อุตสาหกรรม 30% และ บริการ 40% ของ GDP ตามลำดับ

ในขณะที่การจ้างงานราว 30% อยู่ภาคเกษตร, 20% อยู่ภาคอุตสาหกรรม และ อยู่ภาคบริการราวครึ่งหนึ่ง 50%

แสดงว่า 9% ของ GDP ในภาคการเกษตรนี้ต้องเอามาเลี้ยงคนทำงาน 30% ในภาคเกษตร นี่ยังไม่ต้องพูดถึงส่วนที่มันเข้ากระเป๋าทุนผูกขาดทางการเกษตร ถ้าหักส่วนนี้ออก มันจะเหลือถึงคน 30% ในภาคเกษตรจริง ๆ สักเท่าไร

● อสังหา 5% นั้นมันคงเอาไปรวมกับ 30% อุตสาหกรรม เป็น 35% ของ GDP เทียบกับจำนวนหนุ่มสาวโรงงาน 20%ในภาคอุตสาหกรรม มันก็ยังดูได้สัดส่วน แต่ภาคอุตสาหกรรมที่กำลังจะตายของประเทศไทย เพราะไม่สามารถแข่งขันกับกลุ่มทุนจีนที่กำลังเข้ามาฮุบกลืนธุรกิจอุตสาหกรรมของไทย... จะอุ้มชูคนกลุ่มนี้ได้นานแค่ไหน?

● หรือจะให้ 50% ของ GDP จากภาคบริการและท่องเที่ยว ที่ปัจจุบันก็จ้างงานแบกคนอยู่ 40% ของ GDP อยู่แล้ว ...จะต้องแบกรับภาระส่วนที่เหลือไปทั้งหมดอีกหรือ?

● สมัยวิกฤติต้มยำกุ้ง ปี พ.ศ. 2540 นั้น ผู้คนที่เผชิญมรสุม เขายังมีบ้าน มีชนบท มีนา มีไร่ ให้กลับ แต่คนพ.ศ. 2567 ที่กำลังเผชิญกับ ‘วิกฤติฐานราก’ หรือ Balance Sheet Recession อยู่ตอนนี้ โดยที่ภาคเกษตร 9% ของ GDP อุ้ม 30% ของแรงงานในภาคเกษตรอยู่แล้ว ภาคเกษตรที่หลังแอ่นอยู่แล้วจะรองรับพวก ALICE ให้กลับอยู่ด้วยอีกได้หรือเปล่า?

~ สุวินัย ภรณวลัย และเต่า วรเดช


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top